--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Unintended Consequences : ผล (ร้าย) ที่ไม่ได้ตั้งใจ !!?

โดย:วีระ  มานะคงตรีชีพ

Consequences หรือ ผล (ร้าย) ที่ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นหลักเศรษฐศาสตร์ที่รู้กันมานมนานกาเล แต่จนแล้วจนรอดผู้มีอำนาจก็ยังคงออกนโยบายประเภท “รู้ทั้งรู้ถึงผลร้ายที่จะตามมา” หลังจากนั้นก็ช่วยกัน “ดันทุรัง” ปกป้องคุ้มครองนโยบายดังกล่าว ประเภท “สีข้างแดงเถือก” บ้าง “น้ำตาไหลท่วมจอ” บ้าง จนในที่สุดก็ค่อยๆ ชิ่งหนีจากนโยบายดังกล่าว โดยวิธีหาแพะ (เช่นปรับออกรัฐมนตรีบางคนที่น่าจะโยงให้เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าวได้ชัดที่สุด) หรือไม่ก็ถือโอกาสยุบสภา (หากคะแนนเสียงของพรรคตนในสนามเลือกตั้งยังไม่บอบช้ำเท่าไหร่นัก) ฯลฯ
   
ในตอนท้ายผมก็ได้พูดถึงสาเหตุ และยอมรับว่ายากที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ “นโยบายที่มีเจตนาดี” แต่ “ผลลัพธ์เลวร้าย” ในประเทศไทย
   
สัปดาห์นี้ผมจะอธิบายเพิ่มเติมว่าทำไม และในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทย เราจะยังสามารถคาดหวังอะไรจากนโยบายรัฐได้อีกหรือ?
ประชานิยมกับ Unintended Consequences
   
ศาสตราจารย์ Robert K. Merton ศึกษาวิเคราะห์วิจัย และสรุปสาเหตุที่ทำให้เกิด Unintended Consequences ไว้ตั้งแต่ปี 1936 ซึ่งผมได้สรุปย่อไว้ในตอนที่แล้ว ฉะนั้นจะไม่นำมาพูดซ้ำอีก
   
แต่จะขออนุญาตย้ำว่า นโยบายของรัฐแทบจะทุกนโยบายล้วนแต่มีโอกาสเกิด Unintended Consequences ทั้งสิ้น ฉะนั้นต้องขออนุญาตให้กำลังใจรัฐบาลทุกรัฐบาลก่อนว่าหากท่านมีเจตนาดีต่อประชาชนแล้วล่ะก็ อย่ากลัวว่านโยบายของท่านจะเกิด Unintended Consequences แล้วจะถูกก่นด่า หรือทำให้พรรคของท่านแพ้เลือกตั้ง ฯลฯ จนทำให้ไม่กล้าจะดำเนินนโยบายอะไรเลย     ผมขออนุญาตยกตัวอย่างการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาวิกฤติการเงินหลังปี 2540 ในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลเป็นห่วงภาพพจน์ของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก ในสายตาไอเอ็มเอฟ ในสายตานักลงทุนต่างชาติ ฯลฯ วิตกกังวลว่าหากเข้าไปอุ้มกิจการต่างๆ จะถูกหาว่าเล่นพรรคเล่นพวก ยังติดอยู่ในระบบ Cronyism ฯลฯ ทำให้ออกนโยบายที่ค่อนข้างจะไม่ Realistic และค่อนข้าง Destructive กับระบบการค้าการผลิต และระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เช่น สั่งปิดบริษัทเงินทุนเกือบหมด สั่งตัดวงเงินสินเชื่อ แช่แข็งเงินฝาก และทำการขายทอดตลาดสินทรัพย์โดยไม่มีการแบ่งแยก (Good Bank/Bad Bank) ทั้งยังห้ามลูกหนี้กลับมาซื้อของตนเองคืน (Moral Hazard) ฯลฯ
   
ทั้งหมดล้วนเป็นนโยบายที่มุ่งหวังจะก่อให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ซึ่งท้ายที่สุดก็คือทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น (แม้ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลในยุคนั้น จะชี้ว่าเป็นนโยบายตามใบสั่งคุณพ่อ  และเป็นขบวนการปล้นชาติปล้นประชาชนที่มโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยก็ตาม)
   
ทว่า สิบห้าสิบหกปีให้หลัง แทบทุกคนในประเทศไทย และนักวิชาการทุกคน นักธุรกิจทุกคนต่างตระหนักดีว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลในครั้งนั้น (ไม่ว่าจะแก้ตัวว่าไม่มีทางเลือก ฯลฯ หากไม่ทำเช่นนั้นประเทศอาจจะ “เจ๊ง” ไปแล้วก็ได้ ฯลฯ) ก่อให้เกิด Unintended Consequences มากมายเหนือคณานับ (หลายคนบอกว่าไม่ใช่ Unintended ตรงกันข้าม รัฐบาลในยุคนั้น “ตั้งใจ” ให้เกิดผลร้ายต่างๆ ตามมา ซึ่งส่วนตัวผมยังไม่ปักใจเชื่อ เพราะหนึ่งผมไม่ชอบมองคนในทางเลวร้ายขนาดนั้น และสองผมคิดว่าเป็นความโง่เขลาของคนมากกว่า)
   
ผู้คนจำนวนมากได้สัมผัส หรือได้รับผลจาก Unintended Consequences เหล่านั้นด้วยตัวเอง หลายคนเจ็บปวดทนทุกทรมานอย่างแสนสาหัส เสียชีวิตไปก็มีจำนวนไม่น้อย แม้กระทั่งบางคนที่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายดังกล่าวก็มีชีวิตอยู่อย่างไม่ค่อยมีความสุขเท่าใดนักจนถึงทุกวันนี้
   
ฉะนั้น หากมองย้อนกลับ ทำไมรัฐบาลยุคนั้นจึงดำเนินนโยบายเช่นนั้น
    หากจะใช้ทฤษฎีของ Robert Merton ก็คงหนีไม่พ้น
    หนึ่ง โง่และเขลา
    สอง ผิดพลาด (เพราะโง่)
    สาม ผลประโยชน์เฉพาะหน้าแก่ตนเองและพวกพ้อง (คอรัปชั่น?)
    สี่ คติความเชื่อ
    ห้า ขี้กลัว กลัวจนกระทั่งสิ่งที่กลัวเกิดขึ้นเป็นจริงในที่สุด
   
ส่วนตัวผมไม่อยากปักใจเชื่อว่าผู้เยี่ยมยุทธ์ในรัฐบาลยุคนั้นเป็นคนโง่ หรือเขลา จริงอยู่อาจจะขาดประสบการณ์อยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับโง่อย่างแน่นอน ส่วนเรื่องคติความเชื่อและความเป็นคนขี้กลัว น่าจะเป็นอะไรที่ควรวิเคราะห์เจาะลึก  เพราะผมสังเกตจากรัฐบาลถัดมา (รัฐบาลคุณทักษิณ) ท่านมี “ความกล้า” ที่จะทำอะไรตามคติความเชื่อ ที่ค่อนข้าง “ก้าวหน้า” และมีความเด็ดขาดที่จะดำเนินนโยบายอย่างเร่งด่วน ทันกาล
   
ซึ่งผลก็คือ ระบบการเงินฟื้นตัวเร็วขึ้น และระบบเศรษฐกิจกลับมามีชีวิตชีวาได้อย่างน่าทึ่ง
   
และที่ทุกคนยอมรับ (ด้วยความรู้สึกลึกๆ ในใจที่ต่างกัน)  เหมือนกันก็คือ นโยบายของรัฐบาลทักษิณเป็น “นโยบายประชานิยม” ที่สมบูรณ์แบบที่สุดตั้งแต่มีระบบพรรคการเมืองในประเทศไทย และเป็นนโยบายประชานิยมที่ “โดนใจ” ประชาชนในระดับรากหญ้ามากที่สุดอีกด้วย
   
เช่นนี้ แปลว่านโยบายที่ไม่มี Unintended Consequences หรือมีก็น้อยมาก ก็คือ “นโยบายประชานิยม” ใช่ไหม?
   
ผู้ที่น่าจะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดก็คงหนีไม่พ้น “รัฐบาลปัจจุบัน” เพราะนโยบายประชานิยมที่ฮือฮาที่สุดของรัฐบาลปัจจุบัน และที่กำลังก่อให้เกิด Unintended Consequences ที่อาจจะ Snow-balling รัฐบาลจนเสียศูนย์ได้ก็คือ “นโยบายจำนำข้าว (ทุกเม็ด)” นั่นเอง

นโยบายจำนำข้าว (ทุกเม็ด) :  ในที่สุดก็หนีไม่พ้น The Law of Unintended Consequences
   
นโยบายจำนำข้าว (ทุกเม็ด) ทำท่าจะเข้าตำราโบราณที่ว่า “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา”
   
เริ่มต้นจากการเป็นนโยบายประชานิยมที่ทรงพลัง ฟาดกวาดพรรคคู่แข่งจนแทบจะตกเวทีการเมือง แทบจะไม่เหลือที่ยืนหยัดกาย
   
วันนี้ จะทำอะไรก็ยากที่จะไม่ถูกตำหนิติเตียน จะเดินหน้าต่อก็ถูกก่นด่า ด้วยตัวเลขขาดทุนมหึมา จะลดราคาจำนำ ก็ถูกแฟนต่อว่าหาว่าหลอกลวง จะเลิกเสียก็เหมือนขาไก่ที่แม้เนื้อจะเหลือน้อยนิด แต่ก็ยังดูดได้หวานๆ เค็มๆ
   
ชะรอยจะเข้าตำรา “เอียวสิ้ว” ในสามก๊กเสียแล้วกระมัง?  (อ่านต่อตอนจบสัปดาห์หน้า).
                       
ที่มา.ไทยโพสต์
////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น