เนื่องด้วยผู้เขียนมีความสนใจวิชากฎหมายอวกาศ เมื่อได้เห็นมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่ให้เหตุผลอ้างอิงถึงประเด็นกฎหมายอวกาศ จึงเห็นควรแสดงข้อคิดเห็นบางประการ โดยจะพิเคราะห์ “เหตุผลทางกฎหมาย” ที่ปรากฏในมติดังกล่าว เฉพาะประเด็นเกี่ยวกับเขตอำนาจรัฐของไทยในอวกาศเป็นสำคัญ หาได้มีความมุ่งหมายที่จะพิจารณาความถูกต้องหรือความชอบด้วยกฎหมายของมติดังกล่าวไม่ เพราะเป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งต้องแยกพิจารณาต่างหากตามหลักกฎหมายปกครอง อันอยู่นอกเหนือความสนใจของผู้เขียน
ข้อเท็จจริง
การประกอบกิจการให้บริการดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๓ หน่วยงานหลัก คือ ๑. สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) เป็นเวทีกลางเพื่ออำนวยการจัดสรรสิทธิวงโคจร ๒. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มีสถานะเป็นผู้บริหารจัดการแทนรัฐบาลไทย และ ๓. สำนักงานคณะกรรมกรกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้กำกับดูแลและออกใบอนุญาต
ประเทศไทยได้รับสิทธิวงโคจรจาก ITU โดยจะต้องส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรภายในเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะเสียสิทธิวงโคจร ช่วงต้นปี ๒๕๕๕ ตำแหน่งวงโคจรที่ ๑๒๐ องศาตะวันออก จะครบกำหนดระเวลาที่ประเทศไทยจะต้องส่งดาวเทียมเพื่อรักษาสิทธิวงโคจร คณะรัฐมนตรีได้มีมติวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๔ มอบหมายให้บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการรักษาตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม และการนำเอกสารข่ายงานดาวเทียม (filings) ที่ตำแหน่ง ๑๒๐ องศาตะวันออกให้บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ไปใช้งานสำหรับดาวเทียมที่จะจัดหามา โดยให้กระทรวง ICT ประสานงานกับกสทช. พิจารณาอนุญาตให้บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลและการอนุญาตที่สอดคล้องกับกฎหมายต่อไป
บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้นำดาวเทียมเอเชียแซท ๖ ของจีนเข้าสู่วงโคจรดังกล่าวแล้ว แต่บริษัทจะต้องสร้างดาวเทียมของไทยขึ้นมาภายใน ๒ ปีแทนดาวเทียมเอเชียแซท ๖ ทำให้บริษัทต้องขอรับใบอนุญาต การให้บริการเพื่อนำบริการลงมาสู่ประเทศไทย ประเภทใบอนุญาตแบบที่สามตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
ที่ประชุมกทค. ในการประชุมครั้งที่ ๒๒/๒๕๕๕ ได้แบ่งการพิจารณาใบอนุญาตแบบที่สามประเภทผู้ให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม (Satellite Network Operator: SNO) ออกเป็น ๒ แนวทาง คือ ใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ใช้เอกสารการจองสิทธิวงโคจรดาวเทียมของประเทศไทย และเป็นเจ้าของดาวเทียมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม และใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มิได้เป็นเจ้าของดาวเทียม แต่สามารถเช่าซื้อช่องสัญญาณดาวเทียม (transponder) จากผู้ประกอบการต่างประเทศ
ต่อมาที่ประชุมกทค. ครั้งที่ ๒๔/๒๕๕๕ วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ ได้พิจารณาเรื่องการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามเพื่อให้บริการโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียม รวมถึงประเด็นว่าได้มีการใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมหรือไม่ มิฉะนั้นจะต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ตามมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
มติที่ประชุม
“ที่ประชุมได้พิจารณาด้วยเหตุผลตามที่กลุ่มงานการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ๒ เสนอแนวทางการพิจารณาอนุญาตตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับการอนุญาต และกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสาร พิจารณา ประกอบกับ รศ. ดร. สุธี อักษรกิตติ์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารดาวเทียม ได้ให้ข้อมูลในการประชุม กทค. ครั้งที่ ๒๒/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ สรุปได้ว่า เขตอธิปไตยของชาติอยู่ในชั้นบรรยากาศที่ความสูงไม่เกิน ๑๐๐ กิโลเมตร แต่เนื่องจากดาวเทียมที่จะอนุญาตนี้ จะโคจรอยู่ที่ระดับความสูงมากกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร จึงถือว่าอยู่นอกเขตอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย และถึงแม้ดาวเทียมจะมีการใช้คลื่นความถี่ในการติดต่อสื่อสารก็ตาม แต่เนื่องจากดาวเทียมโคจรอยู่นอกเขตอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย จึงไม่เข้าลักษณะตามนัยมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ประกอบกับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว (ผู้เขียนบทความเข้าใจว่าหมายถึงพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔) และมีลักษณะการดำเนินการประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพิจารณาอนุญาตตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับการอนุญาต และกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสาร ซึ่ง กทค. ได้รับทราบแล้วในการประชุม กทค. ครั้งที่ ๒๒/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕พิจารณา ดังนั้น จึงมีมติดังนี้
๑. อนุมัติให้ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม เพื่อให้บริการโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียมทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม เพื่อให้บริการโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียม ต้องปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลที่มีผลบังคับใช้ในอนาคตด้วย
๒. มอบหมายให้กลุ่มงานการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ๑ เร่งรัดดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาออกใบอนุญาตให้แก่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ตามที่ได้รับอนุมัตินี้ต่อไป
เมื่อพิจารณา “เหตุผลทางกฎหมาย” จากมติที่ประชุมข้างต้นแล้ว มีข้อสังเกตโดยสังเขป ดังนี้
(๑) นอกโลกนอกอำนาจ
เหตุผลในมติข้างต้น อ้างว่ากรณีไม่เข้าลักษณะตามนัยมาตรา ๔๕ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งมาตรา ๔๕ ไม่ใช้บังคับ เนื่องจากตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารดาวเทียมแล้ว ดาวเทียมอยู่ที่ระดับความสูงมากกว่า ๑๐๐ กิโลเมตรจึงถือว่าอยู่นอกเขตอำนาจอธิปไตยของไทย อนึ่ง มาตรา ๔๕ กำหนดว่า “ผู้ใดประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมต้องได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่” และตามมาตรา ๔ กิจการโทรคมนาคม รวมถึงกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารด้วย อย่างไรก็ดี ประเด็นตามเหตุผลดังกล่าวมิได้อยู่ที่มาตรา ๔๕ จะมีเนื้อหาอย่างไร แต่อยู่ที่มาตราดังกล่าว (และอาจรวมถึงบรรดากฎหมายไทยทั้งหลายด้วย) ไม่อาจใช้บังคับได้เพราะดาวเทียมอยู่ในอวกาศซึ่งนอกเขตอำนาจอธิปไตยของไทย
(๒) ผู้เชี่ยวชาญในปัญหากฎหมาย
ประเด็นที่มีการอ้างอิงผู้เชี่ยวชาญนั้นเป็นปัญหากฎหมายระหว่างประเทศ แต่ กทค. กลับอ้างอิงผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารดาวเทียม มิใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ทั้งๆ ที่ในวงการกฎหมายระหว่างประเทศเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าประเด็นการกำหนดเขตระหว่างห้วงอากาศกับห้วงอวกาศเป็นปัญหาทางกฎหมายและการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ใช่ปัญหาทางวิทยาศาสตร์หรือปัญหาทางเทคนิคแต่ประการใด ทั้งนี้คณะอนุกรรมการเทคนิคและวิทยาศาสตร์ของคณะกรรมการว่าด้วยการใช้อวกาศในทางสันติแห่งสหประชาชาติ (COPUOS) ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้เคยให้ข้อสรุปไว้ว่า “เป็นไปไม่ได้ในปัจจุบันที่จะกำหนดเกณฑ์ทางเทคนิคและวิทยาศาสตร์ซึ่งจะทำให้ได้นิยามห้วงอวกาศที่ถูกต้องและถาวร” (It is not possible at the present time to identify scientific or technical criteria which would permit a precise and lasting definition of outer space. UN Doc. A/6804, Annex II, para. 36) เหตุดังนี้ต่อมาปัญหาดังกล่าวจึงได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการกฎหมายของ COPUOS แต่ก็ไม่ได้ข้อยุติ และยังคงอยู่ในวาระการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกฎหมายดังกล่าว (Report of the Legal Subcommittee on its fifty-first session, held in Vienna from 19 to 30 March 2012, UN Doc. A/AC.105/1003, para. 79) ประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงต้องพิจารณาทางปฏิบัติของรัฐ (state practice) เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติศาสตร์ในการก่อตัวของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ อีกทั้งเรื่องเขตอำนาจอธิปไตยจะมีขอบเขตเพียงใดก็เป็นข้อความคิดทางกฎหมายเช่นกัน ดังนั้น การรับฟังพยานผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าในเรื่องใดสมควรอ้างอิงผู้เชี่ยวชาญที่ตรงกับประเด็นของเรื่อง แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญท่านนั้นๆ อาจมีความรู้ข้ามสาขาที่ตนเชี่ยวชาญก็ตาม
(๓) จุดยืนของประเทศไทยต่อเขตแดนอวกาศ
ประเทศไทยเคยแสดงจุดยืนอย่างเป็นทางการต่อสหประชาชาติในเรื่องเขตแดนอวกาศ ดังปรากฏในเอกสารสหประชาชาติ A/AC.105/865/Add.6 ลงวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๒๐๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๓) ดังนี้ “แม้ว่าประเทศไทยจะยังมิได้พัฒนากฎหมายภายในประเทศหรือทางปฏิบัติของประเทศใดๆ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมเกี่ยวกับนิยาม และ/หรือการกำหนดเขตของห้วงอวกาศกับห้วงอากาศ แต่ประเทศไทยได้มีจุดยืนสอดคล้องกันตลอดว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นกฎหมายที่คลาสสิกอย่างมิอาจปฏิเสธได้ ซึ่งจำเป็นต้องทำให้กระจ่างชัดโดยด่วน” (Although Thailand has not yet developed any national legislation or national practices that related directly or indirectly to the definition and/or delimitation of outer space and airspace, Thailand has consistently taken the position that there is an undeniably classic legal issue that needs urgent clarification.) จากข้อความนี้จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีจุดยืนที่ยอมรับว่าการกำหนดเขตอวกาศเป็นปัญหามายาวนานไม่เป็นที่ยุติและต้องการทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้ ซึ่งต่างจากคำอธิบายในมติดังกล่าว
นอกจากนี้ก่อนวันมีมติ กทค. ดังกล่าวเพียงไม่กี่เดือนประเทศไทยได้แสดงความเห็นไว้ในเอกสารสหประชาชาติ A/AC.105/865/Add.11 ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๑๒ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ว่า “ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีกฎหมายภายในประเทศหรือทางปฏิบัติของประเทศเกี่ยวกับนิยามและการกำหนดเขตของห้วงอวกาศกับห้วงอากาศ” (Thailand currently does not have national legislation or a national practice relating to the definition and delimitation of outer space and airspace) แสดงให้เห็นเพิ่มเติมว่านอกจากประเทศไทยจะยอมรับถึงปัญหาการกำหนดเขตอวกาศแล้ว ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีทางปฏิบัติในเรื่องดังกล่าว คือไม่เคยกำหนดว่าเขตอธิปไตยในห้วงอากาศของประเทศจำกัดอยู่ที่ใด
(๔) ปัญหาสถานะวงโคจรค้างฟ้า มิใช่ปัญหาการกำหนดเขตแดนอวกาศ
ประเด็นที่อยู่ในการพิจารณาตามมตินั้นเกี่ยวกับดาวเทียมของไทยในวงโคจรค้างฟ้า ซึ่งอยู่เหนือผิวโลกขึ้นไปประมาณ ๓๖,๐๐๐ กิโลเมตร หากจะพิจารณาในแง่เขตแดนอวกาศ ก็ควรตั้งประเด็นเพียงว่า “วงโคจรค้างฟ้าอยู่ในห้วงอวกาศหรือไม่” มิใช่ “ห้วงอวกาศเริ่มต้น ณ จุดใด” ซึ่งเป็นประเด็นที่แตกต่างกันอย่างมาก เพราะเมื่อกล่าวถึงวงโคจรค้างฟ้านั้นเกือบทุกประเทศเห็นตรงกันว่าอยู่ในห้วงอวกาศ จะยกเว้นก็แต่ประเทศโคลัมเบียที่รัฐธรรมนูญระบุให้วงโคจรค้างฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตด้วย ส่วนประเด็นหลังนั้นเป็นที่ถกเถียงกันเหลือเกินว่าอวกาศจะเริ่มต้น ณ จุดใด แม้จะไม่เป็นที่ยุติแต่ที่ชัดเจตคือวงโคจรค้างฟ้าอยู่ในห้วงอวกาศ ด้วยเหตุนี้การให้เหตุผลในมติดังกล่าวจึงมีลักษณะไม่ตรงกับประเด็นที่พิจารณา
(๕) เขตอำนาจรัฐมิใช่เขตอำนาจอธิปไตย
การให้เหตุผลในมตินี้มีความเข้าใจเรื่องการใช้บังคับกฎหมายไทยต่างไปจากหลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะขอบเขตการใช้บังคับกฎหมายต้องเป็นไปตามหลักเขตอำนาจรัฐ (state jurisdiction) มิใช่หลักอำนาจอธิปไตย (sovereignty) ทั้งนี้หลักเขตอำนาจรัฐนั้นมีทั้งการบังคับใช้กฎหมายตามหลักดินแดน (territory) ซึ่งจะกล่าวว่าเป็นไปตามหลักอำนาจอธิปไตยก็ได้ และการบังคับใช้กฎหมายตามหลักบุคคล (personality) ซึ่งมีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ไม่ว่าบุคคลสัญชาติไทยนั้นจะอยู่ในราชอาณาจักรหรือนอกราชอาณาจักร กฎหมายไทยก็มีผลใช้บังคับได้เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นการไม่ถูกต้องที่จะอ้างการใช้บังคับกฎหมายโดยอิงกับหลักอำนาจอธิปไตยแต่ประการเดียว แม้ประเทศไทยไม่มีอำนาจอธิปไตยแต่ก็อาจมีเขตอำนาจได้ อีกทั้งยังมีเขตอำนาจรัฐในลักษณะอื่นอีก แต่ไม่ขอกล่าวในที่นี้
(๖) เขตอำนาจและการควบคุม
ประเด็นเขตอำนาจรัฐเหนือดาวเทียมนั้น สนธิสัญญาอวกาศ ค.ศ. ๑๙๖๗ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่า “รัฐภาคีสนธิสัญญานี้ซึ่งได้ทำทะเบียนวัตถุที่ส่งไปยังอวกาศไว้ ยังคงมีเขตอำนาจและการควบคุมเหนือวัตถุนั้น ... ในขณะที่อยู่ในอวกาศ” (A State Party to the Treaty on whose registry an object launched into outer space is carried shall retain jurisdiction and control over such object … while in outer space) สาระสำคัญของข้อนี้คือประเทศไทยต้องทำทะเบียนดาวเทียมไว้และในฐานะที่เป็นรัฐเจ้าของทะเบียนย่อมคงมีเขตอำนาจและการควบคุมเหนือดาวเทียมนั้นแม้จะอยู่ในอวกาศก็ตาม หลักกฎหมายข้อนี้แตกต่างไปจากเหตุผลในมติข้างต้น เพราะยอมรับว่าดาวเทียมที่มีทะเบียนไทยยังคงอยู่ภายใต้ “เขตอำนาจและการควบคุม” ของประเทศไทย แม้ดาวเทียมนั้นจะโคจรอยู่ในอวกาศซึ่งนอก “เขตอำนาจอธิปไตย” ของไทยก็ตาม ด้วยเหตุนี้ เหตุผลที่ปรากฏในมติข้างต้นจึงมีผลเสมือนเป็นการลดทอนเขตอำนาจรัฐของประเทศไทยที่มีอยู่เหนือดาวเทียมของไทยในอวกาศ
(๗) กิจกรรมแห่งชาติในอวกาศ
การใช้คลื่นความถี่นอกราชอาณาจักรหรือนอกโลกนั้น นอกจากจะเป็นการใช้สิทธิในคลื่นความถี่ที่ประเทศไทยได้สิทธิมาตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของประเทศไทยแล้ว ยังเป็น “กิจกรรมแห่งชาติในอวกาศที่ดำเนินการโดยองค์กรที่มิใช่รัฐบาล” (national activities in outer space carried on by non-governmental entities) ตามข้อ ๖ ของสนธิสัญญาอวกาศ ค.ศ. ๑๙๖๗ ด้วย บทบัญญัตินี้กำหนดให้ประเทศไทยมีความรับผิดชอบระหว่างประเทศต่อกิจกรรมในอวกาศที่ดำเนินการโดยเอกชนไทย และที่สำคัญกิจกรรมดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การอนุญาตและการกำกับดูแลอย่างต่อเนื่องของประเทศไทย (The activities of non-governmental entities in outer space… shall require authorization and continuing supervision by the appropriate State Party to the Treaty.) จะเห็นได้ว่ากิจกรรมของไทยที่กระทำนอกโลกเช่นว่านี้ กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดให้เป็นหน้าที่ของไทยที่จะต้องดำเนินการอนุญาตและกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากอ่านข้อ ๖ ของสนธิสัญญาอวกาศ ค.ศ. ๑๙๖๗ ประกอบกับมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ แล้ว ต้องตีความว่าแม้การใช้คลื่นความถี่จะเป็นกิจกรรมในอวกาศซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร แต่ก็ใช้บังคับมาตรา ๔๕ ได้โดยสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่
(๘) ไม่ปรากฏเหตุผลในเชิงเนื้อหา
น่าเสียดายที่มติข้างต้นไม่ได้กล่าวถึงเหตุผลประการอื่นอันจะทำให้ไม่ต้องใช้บังคับมาตรา ๔๕ ไว้ด้วยเลย การอ้างว่าดาวเทียมในอวกาศอยู่นอกเขตอำนาจมีผลเท่ากับว่ายังไม่มีการวินิจฉัยในประเด็นสารบัญญัติ ซึ่งเป็นไปได้ที่โดยเนื้อหาและวัตถุประสงค์ของมาตรา ๔๕ เองจะไม่ใช้บังคับแก่กรณีดังกล่าว ตัวเอย่าง เช่น คำสัมภาษณ์ของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่กล่าวว่า “การประกอบกิจการดาวเทียมอยู่ในขอบเขตของ พ.ร.บ. กสทช. ถือเป็นการดำเนินการด้านโทรคมนาคม การออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการเป็นหน้าที่ กสทช. โดยตรง แต่จะวินิจฉัยว่าคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการดาวเทียม อาทิ การอัพลิงก์ดาวน์ลิงก์ระหว่างสถานีฐานภาคพื้นดินกับดาวเทียมในอวกาศเป็นการใช้คลื่น เพื่อกิจการโทรคมนาคมหรือวิทยุคมนาคม หากเป็นการใช้คลื่นเพื่อกิจการโทรคมนาคม พ.ร.บ. กสทช. กำหนดให้ต้องจัดสรรคลื่นด้วยการประมูลเท่านั้น ไม่สามารถใช้วิธีการอื่นได้ แต่ถ้ามองว่าเป็นการใช้คลื่นวิทยุคมนาคม กฎหมายไม่ได้ระบุวิธีจัดสรรไว้” (ประชาชาติธุรกิจ, ๑๓ ธ.ค. ๒๕๕๔) หรือ ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ได้อธิบายในทำนองว่า การได้สิทธิในคลื่นความถี่มาจากการประสานงานคลื่นความถี่ตามขั้นตอนของ ITU ย่อมมิใช่เป็นการขอคลื่นความถี่จาก กสทช. จึงไม่ต้องอยู่ภายใต้มาตรา ๔๕ (“ประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตและกำกับดูแลกิจการดาวเทียม สื่อสารของไทย” http://www.blognone.com/node/40270) การให้เหตุผลในลักษณะนี้แม้จะถูกจะผิดประการใดแต่อย่างน้อยก็มิได้ส่งผลในเชิงลดทอนเขตอำนาจของไทยในการใช้บังคับกฎหมาย
(๙) ปัญหาอยู่ที่การบังคับวิธีการประมูลคลื่นความถี่เพียงสถานเดียว
ปัญหาทั้งหมดของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่มาตรา ๔๕ กำหนดให้ใช้ “วิธีการประมูลคลื่นความถี่” ไว้เพียงวิธีการเดียว ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ของกิจการดาวเทียม อันเป็นเหตุให้ผู้เกี่ยวข้องต้องพยายามหาแนวทางการตีความกฎหมายเพื่อให้ทางปฏิบัติดำเนินการไปได้ โดยเลี่ยงไม่ต้องอยู่ภายใต้วิธีการประมูลคลื่นความถี่ การตีความเช่นนี้ในแง่หนึ่งเท่ากับเป็นการยืนยันความชอบธรรมของบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็นบทบัญญัติที่มีปัญหามาก
สิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสมควรกระทำ คือ ยืนยันว่าประเทศไทยมีเขตอำนาจในกิจกรรมอวกาศของตน พร้อมทั้งแสดงจุดยืนว่าวิธีการประมูลคลื่นความถี่ไม่เหมาะสมแก่กิจการดาวเทียมในแง่มุมต่างๆ (ดังเช่นกรณีแคนาดาที่วงการดาวเทียมพร้อมใจกันคัดค้านวิธีการประมูล http://www.ic.gc.ca/eic/site/smt-gst.nsf/eng/sf09539.html และหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมในประเทศต่างๆ ว่าใช้รูปแบบใดบ้าง จนท้ายที่สุดได้ออกกรอบการประมูลคลื่นความถี่ในแคนาดา (Framework for Spectrum Auctions in Canada) โดยได้ให้ระบุถึงกิจการที่ไม่เหมาะสมกับการประมูลซึ่งหนึ่งในนั้นคือกิจการดาวเทียม http://www.ic.gc.ca/eic/site/smt-gst.nsf/vwapj/dgso-001-11-framework-e.pdf/$FILE/dgso-001-11-framework-e.pdf) ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้มีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายต่อไป แต่หากเห็นว่าในระยะสั้นไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จได้อันจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างมาก เช่น วิธีการประมูลคลื่นความถี่เป็นอุปสรรคที่อาจทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียสิทธิในตำแหน่งวงโคจรค้างฟ้าและคลื่นความถี่ที่เกี่ยวข้อง (ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าว “กสทช.ยันต้องเปิดประมูลดาวเทียม”, กรุงเทพธุรกิจ, ๑๔ มิ.ย. ๒๕๕๔, น.๓; “กสทช.ปริ๊ดแตก! ไอซีทีใช้เป็นแพะเสียโคจร ๑๒๐ องศา”, ข่าวหุ้น, ๒๓ มิ.ย. ๒๕๕๔, น.๘.) หากเป็นกรณี “จำเป็นเร่งด่วน” เช่นนี้ระบบกฎหมายก็เปิดช่องให้รัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนดเพื่อแก้ปัญหาได้อยู่แล้ว เพียงแต่เราจะเลือกแนวทางใดเท่านั้น เมื่อเลือกแนวทางตีความเพื่อแก้ปัญหานอกจากจะส่งผลเป็นการสร้างความชอบธรรมให้บทบัญญัติที่มีปัญหาแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นการทำผิดกฎหมายเสียเองได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องตระหนักด้วยว่าไม่มีกฎหมายฉบับใดจะมีเจตนารมณ์เพื่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้ที่ดำเนินการรักษาสิทธิในตำแหน่งวงโคจรค้างฟ้าและคลื่นความถี่ที่เกี่ยวข้องของไทย ถ้าการตีความเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ก็ควรมีการกล่าวถึงสภาพความจำเป็นเร่งด่วน และผลของการตีความก็ควรมีลักษณะเฉพาะกรณี มิใช่วางเป็นบรรทัดฐานทั่วไป
โดยสรุปแล้ว แม้ผู้เขียนจะเห็นด้วยกับผลของมติข้างต้นสักเพียงใดก็ไม่อาจเห็นด้วยกับคำอธิบายเหตุผลทางกฎหมายที่ปรากฏในมติข้างต้นได้เลย ทั้งในเรื่องเขตแดนอวกาศ และการไม่ใช้บังคับกฎหมายไทยแก่ดาวเทียมไทยซึ่งอยู่ในอวกาศ เนื่องจากเป็นคำอธิบายที่มีความแตกต่างจากจุดยืนของประเทศไทยที่แจ้งต่อสหประชาชาติ แตกต่างจากหลักกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับเขตอำนาจรัฐ และแตกต่างจากบทบัญญัติของสนธิสัญญาอวกาศ ค.ศ. ๑๙๖๗ ในเรื่องเขตอำนาจและการควบคุมเหนือวัตถุอวกาศ ตลอดจนการอนุญาตและการกำกับดูแลเอกชนในการดำเนินกิจกรรมอวกาศ ส่วนมติดังกล่าวจะมีความถูกต้องหรือชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายปกครองต่อไป ซึ่งต้องพิจารณาเหตุผลอื่นอีกหลายประการประกอบกัน โดยอาจรวมถึงความจำเป็นเร่งด่วนอันสืบเนื่องจากการรักษาสิทธิตำแหน่งวงโคจรค้างฟ้าและคลื่นความถี่ที่เกี่ยวข้องด้วย
------------
บทความนี้เป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการโดยส่วนตัวของผู้เขียน มิได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่หรือมีความสัมพันธ์ด้วย ไม่ว่าทางหนึ่งทางใด
ที่มา.ISRA Institute Thai Press Development Foundation
สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น