--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เสียงสะท้อนชาวนา:ลดราคาจำนำข้าว !!?


เจ๊งจำนำข้าว ,ลดราคาจำนำ

การขาดทุนไม่ได้มาจากเกษตรกรแต่เป็นการจัดการของรัฐ : เสียงสะท้อนชาวนา รัฐจ่อลดราคาจำนำข้าว

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย เปิดเผย กรณีที่รัฐจะลดราคาโครงการรับจำนำข้าวเหลือ 12,000-13,000 บาท/ตันนั้น จะต้องหารือกับเกษตร และสมาคมเกษตรกรและชาวนาไทย หากเสียงส่วนใหญ่ยอมรับได้ ก็ไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตามปัจจุบันที่ราคาข้าวในโครงการรับจำนำกำหนดไว้ที่ ตันละ 15,000 บาทที่ความชื้น 15 % นั้น ในทางปฏิบัติเกษตรกรขายข้าวได้ที่ราคาตันละ 12,000-13,000 บาทเท่านั้นเนื่องจากโรงสีต้องหักค่าความชื้นที่เกินกว่ากำหนด

ดังนั้นหากรัฐบาลปรับลดราคารับจำนำมาที่ ตันละ 12,000-13,000 บาท ในขณะที่ค่าความชื้นยังอยู่ที่ 15 % นั้น จะส่งผลให้เกษตรกรได้รับราคาที่ตันละ 10,000-11,000 บาทหรืออาจจะหย่อนกว่า 10,000 บาทเล็กน้อย ทั้งนี้เพราะข้าวในเขตภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่จะมีการเก็บเกี่ยวช่วงที่ฝนตกทุกปี ในขณะที่ต้นทุนการผลิตข้าวยังสูงอยู่ประมาณไร่ละ 6,500 บาท ผลผลิตต่อไร่ หรือเฉลี่ยที่ตันละ 8,000 บาท จะเท่ากับว่าเกษตรกรได้รับกำไรจากการปลูกข้าวน้อยมาก อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลต้องการปรับลดราคาลงเพื่อลดการขาดทุนนั้นทางเกษตรกรก็ยินดี แต่รัฐบาลควรพิจารณาในรายละเอียดอย่างรอบคอบด้วย

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า เพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวเป็นประโยชน์ ถึงเกษตรกรรายย่อยอย่างแท้จริง รัฐบาลควรทบทวนโครงการจากเป้าหมายที่ต้องการรับจำนำทุกเม็ด เป็นการกำหนดโควตารายได้เกษตรกรรายย่อยที่ครอบครัวละ 500,000 บาท วิธีการนี้จะดีกว่าที่รัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณา กำหนดเพดานรับจำนำไว้ที่ครอบครัวละ 25 ตัน ทั้งนี้เพราะเกษตรกรรายย่อยบางส่วนสามารถผลิตได้ถึง 30 ตัน ข้าวที่เกินกว่าโควตาที่ได้รับจำเป็นต้องขายในตลาดที่ราคาต่ำกว่า

นายภาณุพงศ์ ภัทรคนงาม รองประธานสภาเกษตรกร จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ทางสภาเกษตรกรทั้งในส่วน จ.ขอนแก่นและทั่วประเทศ ต่างไม่เห็นด้วย เนื่องจากราคาจำนำข้าวที่กำหนดไว้ตันละ 15,000 บาทนั้น จริงๆ เกษตรกรจำนำได้ไม่ถึงอยู่แล้ว ได้ราคาอยู่ที่ตันละ 12,000-13,000 บาท หากมีการปรับราคาจำนำข้าวเหลือ 12,000-13,500 บาท เกษตรกรก็ไม่ได้อะไรเลย

เมื่อนำไปจำนำจริงๆ จะเหลือประมาณ 7,000-8,000 บาท เหมือนกับตอนไม่ได้มีโครงการรับจำนำข้าว หากได้เงินจากการจำนำข้าวเท่านี้ไม่คุ้มกับต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งค่าปุ๋ย แรงงาน แต่ปัญหาการขาดทุนของรัฐบาล ไม่ใช่ความผิดของเกษตรกร เป็นเรื่องการบริหารจัดการของรัฐบาลมากกว่า ที่ส่งผลกระทบทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์

ดังนั้นสภาเกษตรกร จ.ขอนแก่น รวมทั้งสภาเกษตรกรจากทั่วประเทศ จึงได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่าที่จะมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

"ปัญหาที่มีผลต่อการขาดทุนเป็นเรื่องของข้าวในโกดังที่หายไป รวมทั้งการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ เป็นผลทำให้รัฐบาลขาดทุนมากกว่า อยากให้รัฐบาลให้ความสนใจกับข้าวนึ่งส่งออกมากกว่า เพราะเป็นสินค้าที่ต่างประเทศต้องการ”นายภาณุพงศ์ กล่าว

นายสมัย สายอ่อนตา เกษตรบ้านหนองแต้ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เมื่อก่อนไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยไม่ได้ดีตามไปด้วย ตอนนี้ไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 3 แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น

ปัญหาของรัฐบาลตอนนี้อยู่ที่ การบริการจัดการด้านการเงิน มากกว่าที่จะมาจากเกษตรกร หากรัฐบาลจะปรับลดราคาจำนำข้าวจริงคงไม่ได้แตกต่างจากเมื่อก่อน ดังนั้นไม่ต้องมีโครงการเลยจะดีกว่า

นายบุญเลี้ยง ศรีบัวขับ ชาวนา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า หากรัฐลดราคาจำนำข้าวลง ชาวนาคงเดือดร้อนแน่นอนเพราะปีที่ผ่านมารัฐบาลประกาศราคาจำนำข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท แต่ฤดูเก็บเกี่ยวที่ผ่านมาตนนำข้าวเข้าโครงการแต่ขายได้ตันละ 11,500 บาท เพราะว่าถูกหักความชื้น และกว่าจะได้รับเงินก็ต้องรอถึง 3 เดือน หากรัฐบาลลดราคารับจำนำข้าวเปลือกลงอีก 15-20% รับไม่ไหวแน่นอน

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น