--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ครม.ปู 5 ปรับเพื่อรับ หรือปรับเพื่อรุก!!?

กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลภายใต้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการปรับครั้งที่ 5 โดยเป็นการปรับครั้งใหญ่กว่าครั้งที่ผ่านมา จากในโผปรับกว่า 18 ตำแหน่ง โดยใน ครม.ชุดนี้ ประกอบด้วยบุคคลจากหลายส่วน ทั้งฟากของรัฐบาลของอดีตพรรคไทยรักไทย สัดส่วนโควตาพรรคร่วมรัฐบาลเอง และคนนอกที่มีประสบการณ์ในการบริหารกระทรวง กรมต่างๆ เพื่อศักยภาพในการบริหารประเทศที่เพิ่มขึ้น



คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เมื่อมองดูถึงแผนนโยบายบริหารของพรรคเพื่อไทยในด้านต่างๆ ครั้งที่เคยหาเสียงสัญญาไว้ ซึ่งบางนโยบายประสบความสำเร็จ บางนโยบายกำลังดำเนินการ และบางนโยบายต้องประสบปัญหาด้านต่างๆ โดยไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง ด้านสังคมวัฒนธรรม ซึ่งล้วนแต่ต้องผ่านฝ่ายบริหารอย่างรัฐบาลที่มีหน้าที่โดยตรง
ปัญหาที่รัฐบาลประสบ
ด้านเศรษฐกิจ

จากปัญหาด้านต่างๆ จะเห็นได้ว่าเรื่องที่รัฐบาลประสบปัญหามากที่สุด คงจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ตั้งให้เป็นวาระหลักในการบริหารประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตและเร่งปรับแนวเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการจำนำข้าว โครงการรถคันแรก โครงการปรับปรุงสาธารณูปโภค ฯลฯ

ซึ่งโครงการเหล่านี้ต้องมีนำเม็ดเงินของรัฐลงทุนก่อน ซึ่งหากมองตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วหากการกระตุ้นนั้นได้ผล รัฐก็จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นไปด้วย ทั้งด้านการสนับสนุน และเสถียรภาพของรัฐบาลในการบริหารงานด้านอื่นๆ ต่อไป แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องประสบปัญหาสำคัญด้านเศรษฐกิจ จาก 2 ส่วน



ส่วนแรกเป็นปัญหาภายใน จากการกระจุกตัวของเงินเฉพาะคนรวย และเม็ดเงินเหล่านั้นไปไม่ถึงประชาชนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องการนำลงไปอัดฉีด เช่น นโยบายจำนำข้าวที่ก็เม็ดเงินก็ยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะโรงสีและพ่อค้าข้าวรายใหญ่ทำให้เม็ดเงินเหล่านั้นไปไม่ถึงชาวนา ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการยอมขาดทุนของรัฐบาล โดยให้ชาวนาเป็นผู้กระตุ้นเศรษฐกิจจากการจับจ่ายใช้สอยนั้นก็ต้องมีปัญหาเกิดขึ้น

ส่วนสองเป็นปัญหาจากภายนอก ด้วยสภาพของเศรษฐกิจโลกตอนนี้อยู่ในช่วงซบเซา และตลาดค้าหลักของไทยนั้นก็อยู่ในช่วงดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรป ซึ่งแม้จะมีการกระตุ้นจากประเทศเหล่านี้ สภาพเศรษฐกิจโลกก็ดูท่าที่จะไม่ดีขึ้น ทำให้รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ต้องประสบปัญหานี้อย่างปฏิเสธไม่ได้
ด้านการเมือง

ปัญหาที่รัฐบาลต้องประสบด้านการเมืองคงหนีไม่พ้นปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องประสบปัญหาอย่างมากในการบริหารประเทศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และเป็นวาระหลักที่หลายฝ่ายมีความต้องการให้แก้ แต่การแก้เหล่านั้นรัฐบาลต้องรับมือกับกระแสโต้จากหลายฝ่าย ด้วยเหตุผลหลักว่าเป็นการแก้ให้พวกพ้องตัวเอง

ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้น หากเรามองล้วนมีปัญหาทั้งด้านที่มาและเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นการให้อำนาจของศาล องค์กรอิสระที่มากเกินไป ทำให้ฝ่ายบริหารทำงานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะกลัวว่าจะผิดกฎหมาย หรือต้องระวังการถูกฟ้องร้องจากฝ่ายต่างๆ ซึ่งไม่ผิดจากครั้งที่ก่อนมีรัฐธรรมนูญปี 2540 อำนาจบริหารไม่มี ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 เพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายบริหาร แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 มิได้เป็นเช่นนั้น

ด้านฐานมวลชน จะเห็นได้ว่าเป็นวาระหลักของมวลชนเสื้อแดงที่สนับสนุนรัฐบาลให้มีการแก้ไข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับฝ่ายบริหารและลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร ซึ่งมีรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นเสมือนตัวประสานทางอำนาจของกลุ่มอำนาจฝ่ายทำรัฐประหารที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ปรับเพื่อรุก/ปรับเพื่อรับ:

หากมองดูถึงหน้าตาของคณะรัฐมนตรีในโผชุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 5 จะทำให้เห็นอะไรบางอย่างและใครคุมกระทรวงใด ซึ่งหากมองในตำแหน่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่งควบกระทรวงกลาโหม การกลับมาของคุณปวีณา หงสกุล ที่มานั่งคุมกระทรวงพัฒนาสังคม โยกคุณนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ไปนั่งกระทรวงพาณิชย์ โยกคุณเฉลิม อยู่บำรุง จากรองนายกรัฐมนตรีไปนั่งกระทรวงแรงงานและให้คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง นั่งคุมกระทรวงการคลังและรองนายกเช่นเดิม แต่เพิ่มบทบาทให้ไปดูแลด้านนโยบายจำนำข้าวโดยเฉพาะ และอีกหลายท่านตำแหน่งอื่นๆ


คุณนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล

สิ่งที่จะชี้ของการปรับครั้งนี้ คงต้องพุ่งเป้าไปที่หน้าตาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์ใช้เลือก คือ ความสามารถของบุคคลที่ต้องใช้ในการบริหารกระทรวงดังกล่าวและความใสสะอาดในการบริหารงานที่ผ่านมา เพื่อไร้ข้อโต้แย้งของฝ่ายตรงข้าม เพื่อเป็นการลดจุดบอดของรัฐบาล และลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในการบริหารงานของรัฐบาล เช่นฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ที่มองว่าการปรับคณะรัฐมนตรีชุดนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนหน้าเค้กเท่านั้น แต่เนื้อเคยยังเป็นเช่นเดิม และการปรับคณะรัฐมนตรีชุดเก่าเพื่อลดความขัดแย้งในด้านการตรวจสอบ

แต่แน่นอนว่า จุดมุ่งหมายที่รัฐบาลต้องทำให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นเสมือนการลุกคืบของรัฐบาล และต้องทำเพื่ออนาคตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในสมัยต่อไป คือ ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพรัฐบาลให้เพิ่มขึ้น และด้านการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นเรื่องที่เรียกได้ว่าจะเป็นจุดสกัดกั้นรัฐบาลในอนาคต หากถูกโจมตีในอนาคต นี้จึงเป็นการปรับทั้งเพื่อรุกและเพื่อรับต่อไปในอนาคตของรัฐบาล

ที่มา.Siam Intelligence Unit
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น