--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

จำนำข้าวกับมูดี้ส์ !!?

เรื่องจำนำข้าวจะยังเป็นปัญหาถกเถียงโต้แย้งกันต่อไปอีก จะนานแค่ไหนนั้นก็คงขึ้นอยู่กับความสามารถในการหมุนเงินของรัฐบาล
   
และการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องจำนำข้าวก็มิได้เกิดเฉพาะภายในประเทศไทย แต่สื่อต่างประเทศ , องค์กรต่างประเทศก็ให้ความสนใจวิพากษ์วิจารณ์กันด้วย ที่น่าสนใจคือสื่อต่างประเทศนั้นวิจารณ์ในแง่ลบ ตั้งแต่ปีที่แล้ว เช่น บทความของ ฟิลิป เบาว์ริง ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์วอลสตรีทภูมิภาคเอเชีย วิจารณ์นโยบายอุดหนุนราคาข้าวและยางพาราของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ผ่านพ้นมา 1 ปี ว่าเห็นได้ชัดว่านโยบายประชานิยมเหล่านี้ กำลังเพิ่มปัญหายุ่งยากต่อการคลังของประเทศ และไทยยังมีปัญหาสำคัญกว่าที่ซ่อนอยู่ใต้นโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรที่ไม่เข้าท่านี้ คือปัญหาช่องว่างรายได้ระหว่างคนชนบทกับคนเมืองที่ยังถ่างกว้าง
   
เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักข่าวรอยเตอร์ก็วิพากษ์วิจารณ์อีก และที่กำลังฮือฮากันมากก็คือ เรื่องที่ มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ระบุในรายงาน "แนวโน้มเครดิตของมูดีส์" ฉบับวันที่ 3 มิ.ย.2556 ว่า ความเสียหายในช่วงที่ผ่านมาจากโครงการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2554-2555 และความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจากการที่รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไปนั้น จะทำให้เป็นเรื่องยากมากขึ้นที่รัฐบาลจะบรรลุเป้าหมายงบประมาณสมดุลภายในปี 2560 และเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของไทย ซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ Baa1 โดยแนวโน้มมีเสถียรภาพ
   
ในสายตามูดี้ส์นั้น โครงการรับจำนำข้าวเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของไทย
   
ซึ่งแน่นอนว่า ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องโต้แย้งกลับ
   
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า กรณีที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ระบุถึงโครงการรับจำนำข้าวจะส่งผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยระยะยาวนั้น รัฐบาลไม่ได้ตั้งใจจะทำโครงการรับจำนำข้าวถาวร และที่ผ่านมาภาครัฐพยายามจัดทำโซนนิ่งเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตข้าว เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับชาวนาไทยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนโครงการรับจำนำในปีต่อไปยืนยันว่ามีเงินใช้เพียงพอจากกรอบเดิม 4.1 แสนล้านบาท ไม่ต้องกู้เพิ่ม
   
ชาวนาไทยต้องรับทราบด้วยว่า ข้าราชการระดับสูงบอกว่า "รัฐบาลไม่ได้ตั้งใจจะทำโครงการรับจำนำข้าวถาวร" หมายความว่าอาจจะเลิกรับจำนำข้าวเมื่อไหร่ก็ไม่รู้
   
ทางฝ่ายการเมืองนั้น   นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลัง กล่าวว่า ได้รับทราบรายงานฉบับดังกล่าวของมูดีส์แล้ว และคิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)และสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) น่าจะมีการให้ความเห็นและคำอธิบายเรื่องนี้ตอบกลับไปยังมูดีส์ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา มูดีส์อาจได้ข้อมูลโครงการนี้จากสาธารณชนมากกว่าจะได้ข้อมูลที่เป็นทางการ
   
ผลการขาดทุนอะไรเท่าไหร่ ตัวเลขของมูดี้ส์ไม่ตรงกับของทางการ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ท่านบอกว่า โครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาลย่อมขาดทุนแน่นอน เพราะเป็นการซื้อสินค้าเกษตรในราคาสูง เพื่อช่วยพยุงสร้างรายได้แก่เกษตรกร แต่จะต้องระบายออกในราคาใกล้เคียงกับราคาตลาด อีกทั้งโครงการรับจำนำไม่ใช่เป็นโครงการที่แสวงหาผลกำไร ดังนั้น การขาดทุนจึงเป็นเรื่องปกติ แต่ตัวเลขการขาดทุนไม่น่าจะมากถึง 2.6 แสนล้านบาท เพราะใช้เงินสำหรับโครงการรับจำนำปี 54/55 รวม 2 รอบ 3.37 แสนล้านบาท และเงินที่คาดการณ์ว่าจะใช้ของปี 55/56 อีก 3.02 แสนล้านบาท ขณะที่การคืนเงินจากการขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลให้กระทรวงการคลังนั้น ยังถือว่าใกล้เคียงกับแผนที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด แต่อาจล่าช้าบ้างเพราะผู้ซื้อยังขนข้าวไม่หมด
   
ก็อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า เรื่องนี้ยังต้องเถียงกันไปอีกนาน แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ควรลืมคำเตือนของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ที่มา.สยามรัฐ
========================================

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น