--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ไม่จริง ไม่เชื่อ !!!??

เพิ่งได้ไปเห็นนครวัดนครธมเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นได้แต่งะเง้อมองข้ามชายแดนไปยังฝั่งปอยเปตอยู่ 2-3 ครั้ง ยามที่ไปสัมมนาหรือทัศนศึกษาใกล้ๆ บริเวณนั้น แล้วไปเดินดู "ของปลอม ของปล่อย" แถวตลาดโรงเกลือ อรัญประเทศ
   
ครั้งแรกที่มาชายแดนระหว่างไทยกับเขมรก็คือตอนที่อายุ 10 ขวบ ซึ่งเป็นเวลาที่ผ่านมากว่า 40 ปี จำได้ว่าฝั่งตลาดปอยเปตที่อยู่ตรงข้ามมีแค่ตึกแถวไม่กี่หลัง แต่ที่สะดุดตาที่สุดก็คือป้ายไม้ขนาดเขื่องวาดเป็นภาพนครวัดมองเห็นได้แต่ไกลๆ คล้ายๆ จะเป็นการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ไปเที่ยว จึงฝังใจมาตั้งแต่นั้นว่าจะต้องไปดูปราสาทเหล่านั้นให้ได้ ดังนั้นก่อนที่จะได้ไปเห็นจริงๆ ในคราวนี้จึงได้เตรียมศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปราสาทหินและเมืองเสียมเรียบไว้อย่างมากมาย ซึ่งก็พบว่าเกือบทั้งหมดล้วนแต่พรรณนาถึงความ "อัศสะจอรอหัน" หรืออัศจรรย์ในการสร้างปราสาทเหล่านั้นว่า "ทำได้ยังไง"
   
หนังสือเล่มหนึ่งที่ "ต้องอ่าน" ก่อนไปเที่ยวเขมรเล่มหนึ่งก็คือ "ถกเขมร" เขียนโดยท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งท่านเขียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 ก่อนที่เขมรจะฟ้องไทยเรื่องปราสาทเขาพระหาร (โดยเจ้าสีหนุที่ขึ้นมาบริหารประเทศใน พ.ศ. 2498 แล้วก็ได้นำปราสาทเขาพระวิหารขึ้นฟ้องศาลโลกในปีนั้น แต่กว่าที่จะมาตัดสินก็ใน พ.ศ. 2505 แล้วก็ตัดสินให้เขมรได้ตัวปราสาทไป กระทั่งในต้นปีนี้เขมรได้ขอให้ศาลโลกตีความเพื่อจะเอาดินแดนรอบๆ ปราสาทไปดูแลด้วย ดังที่ได้มีการแถลงสู้กันเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยจะมีคำตัดสินออกมาในสิ้นปีนี้) โดยการเดินทางเต็มไปด้วยความระหกระเหินและแย่มากๆ ทั้งการขอวีซ่า เครื่องบิน และถนนหนทางในเขมรยุคนั้น
   
อนึ่ง "ถกเขมร" ที่เป็นชื่อหนังสือที่หลายท่านอาจจะมีความเข้าใจว่าเป็นการ "ถกแถลง" เรื่องเขมร แต่ความจริงผู้เขียนต้องการแสดงถึงแฟชั่นโบราณอย่างหนึ่งของชายไทย คือการนุ่งผ้าขาวม้าแล้วรวบชายผ้าที่อยู่ข้างหน้าลอดไปใต้หว่างขาแล้วไปเหน็บไว้ที่ขอบเอวด้านหลัง คนโบราณเรียกว่า "นุ่งหยักรั้ง" หรือ "ถกเขมร" ซึ่งจะเห็นต้นขาที่คนโบราณใช้อวดลายสักต่างๆ
   
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของเขมรว่า "ค่อนข้างเลอะเลือน" เพราะส่วนใหญ่แล้วถูกชาติต่างๆ ครอบครองมาตลอดประวัติศาสตร์นับเป็นพันๆ ปีนั้น คนเขมรเป็นเหมือน "ชาวพื้นเมือง" เป็นเจ้าของพื้นที่แต่ไม่มีอำนาจและสิทธิ์ขาดอะไรมากนัก เพราะมีชาติอื่นเป็นผู้ปกครอง แม้แต่ปราสาทหินต่างๆ ก็ถูก "ขอม" ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจจากทางใต้ที่เรียกว่าอาณาจักรศรีวิชัยมาบังคับให้สร้าง คนเขมรเป็นแค่ผู้ใช้แรงงานหรือคนงานในการก่อสร้างเท่านั้น
   
ท่านอาจารย์พูดถึงการสร้างปราสาทหินของเขมรว่า "เราได้เดินดูปราสาทนครวัดอยู่หลายรอบหลายตลบ...ยิ่งดูไปก็ยิ่งเห็นอัศจรรย์ในการก่อสร้าง...เมื่อปราสาทนั้นก่อเสร็จด้วยแรงคนนับหมื่นนับแสน...คิดดูแล้วก็เห็นว่าเกินกำลังดันทางศิลปะ เกินศรัทธาและเกินความฝันของมนุษย์...สิ่งเดียวที่ก่อกำเนิดและเร่งรัดการก่อสร้างนี้ไปจนสำเร็จเป็นรูปร่างขึ้นมาได้ก็คือ อำนาจ อำนาจที่เห็นแก่ตัวจนเคลิ้มฝันเห็นตัวเองเป็นเทวราชผู้ครองโลก...ถ้าหากว่าเหงื่อและน้ำตาตลอดจนชีวิตของมนุษย์ที่ถูกเกณฑ์เอามาสร้างนครวัดนี้สามารถตักตวงเอาไว้ได้ เหงื่อ น้ำตา และชีวิตนั้นก็คงจะท่วมท้นคูที่ล้อมรอบนครวัดนั้นอยู่..."
   
ครับ อ่านดูแล้วก็หดหู่ แต่ก็นำมาสู่ความคิดที่อยากจะเสริมความคิดเห็นของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อยู่บางเรื่อง โดยเฉพาะในความคิดเห็นที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เชื่อว่า ปราสาทหินที่สำเร็จได้ทั้งปวงนี้ก็ด้วยพลังของ "อำนาจบังคับ" เพราะถ้าเราสังเกตงานฝีมือโดยเฉพาะการแกะสลักหินซึ่งก็คงต้องใช้ช่างที่เป็นคนเขมร ทั้งที่เป็นลวดลายต่างๆ และที่โดดเด่นที่สุดก็คือบรรดารูปแกะสลักนางอัปสรทั้งหลาย น่าจะต้องเป็นคนที่มีอารมณ์สุนทรีย์หรือมีความสุขความสบายอยู่บ้างจึงจะสามารถแสดงความงดงามทั้งหลายออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ
   
พลังที่สร้างความงดงามเยี่ยงนี้อาจจะเกิดจาก "แรงศรัทธา" หรือ "ความเชื่อ" อะไรที่รุนแรงหรือสูงส่งร่วมอยู่ด้วย เหตุผลก็คือ การบังคับกดขี่ผู้คนไม่น่าจะดำเนินอยู่ได้หลายร้อยปี (โดยนักโบราณคดีพบว่าการก่อสร้างปราสาททั้งหลายเริ่มขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 13 ต่อเนื่องกันไปจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นเวลากว่า 500 ปี) โดยที่กษัตริย์ขอมน่าจะมี "กุศโลบาย" หรือใช้จิตวิทยามวลชนบางอย่างในการโน้มน้าวหรือ "โฆษณาชวนเชื่อ" ให้คนเขมรมาร่วมมือร่วมใจในการสร้างปราสาทหินอย่างเต็มใจ(ในระดับหนึ่ง)
   
โดยที่กษัตริย์ขอมซึ่งมีทั้งยุคที่นับถือฮินดูและยุคที่นับถือพุทธ อาจจะสร้างแรงศรัทธาว่า ใครที่มาร่วมสร้างจะได้ไปเกิดในสวรรค์(ตามแนวคิดฮินดู) หรือได้บุญสูงส่ง(ตามแนวคิดพุทธ) รวมทั้งอาจจะมีการให้อามิสสินจ้างหรือรางวัลหลอกล่อ อย่างเช่น ปลดปล่อยจากความเป็นทาส หรือให้ยศถาบรรดาศักดิ์(จริงบ้างหลอกบ้าง)เพื่อจูงใจ ซึ่งเหตุผลในข้อนี้ก็ยังมีตัวอย่างอยู่ในปัจจุบัน ในประเทศที่ล้าหลังทางการเมือง(คุ้นๆ บ้างไหม)ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังถูกผู้มีอำนาจหลอกใช้อยู่เป็นประจำ
   
เรื่อง "แรงศรัทธา" หรือถ้าจะแปลความให้กระชับที่สุดก็คือ "พลังความเชื่อที่มั่นคงแข็งแรง" อย่างเช่น ความเคร่งครัดในการนับถือศาสนาของคนเคร่งศาสนา หรือความบ้าคลั่งของความเชื่อในบางลัทธิ สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ ทั้งที่เป็นการ "สร้างสรรค์" หรือการ "ทำลาย" ซึ่งในทางการเมืองของหลายๆ ประเทศก็ปรากฏมีให้เห็นเสมอมา
   
ระหว่างที่ค้นคว้าเรื่องเขมรนี้ ผู้เขียนก็ได้ไปอ่านหนังสือรวมเรื่องสั้นของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เพื่ออ่านเรื่อง "เรื่องสั้นสมัยหิน" ที่เกี่ยวกับชีวิตรันทดของช่างหนุ่มที่แกะสลักนางอัปสร จึงได้ไปอ่าน(ซึ่งก็เคยอ่านมาหลายครั้งแล้ว)เรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่งชื่อว่า "ไม่เชื่อ ไม่จริง" เป็นเรื่องของพลังความเชื่อของชาย 2 คนที่ตายในอุบัติเหตุรถไฟตกรางที่ดอนเมือง ที่เมื่อตายไปแล้วก็ไปเจอยมบาล แต่ด้วยความที่ไม่เชื่อว่านรกจะดู "หน่อมแน้ม" คือไม่โหดร้ายทารุณอย่างที่เคยรู้มา จึงพากันตะโกนขึ้นว่า "ไม่เชื่อ ไม่จริง" ที่สุดนรกก็หายไป และชายทั้งสองก็ฟื้นมีชีวิตอีกครั้ง
   
ชายคนหนึ่งพูดขึ้นว่านี่คงจะเป็นด้วยพลังของ "ความไม่เชื่อ" ชายอีกคนหนึ่งจึงอยากพิสูจน์ ทั้งสองจึงพากันไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล แล้วตะโกนขึ้นด้วยเสียงดังที่สุดพร้อมๆ กันว่า "ไม่เชื่อโว้ย ไม่จริงโว้ย" ส่วนทำเนียบรัฐบาลจะพังหรือไม่นั้นคงจะต้องไปอ่านตอนจบของเรื่องนี้เอาเอง
   
หรือถ้าอยากจะพิสูจน์ด้วยตนเองก็พากันไปตะโกนดังๆ ให้เต็มท้องถนน ทุกๆ วัน

ที่มา.สยามรัฐ
////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น