--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รถใหญ่ผิดเสมอ !!?

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า "รถใหญ่ ผิดเสมอ" หรือ "รถเล็ก ยังไงก็ถูกเสมอ" ไหมครับ แล้วอะไรคือ "รถใหญ่" อะไรคือ "รถเล็ก"

รถ หมายถึง รถหลายประเภท ยกตัวอย่าง เช่น รถเก๋ง รถกระบะ รถสองแถว รถโดยสาร รถบรรทุก รถพ่วง รถไฟ รวมไปถึงรถจักรยานยนต์และจักรยาน การเรียก "รถใหญ่" หรือ "รถเล็ก" ใช้ในการเปรียบเทียบขนาดของรถ เช่น รถเก๋ง กับรถจักรยานยนต์ แน่นอนว่ารถเก๋งย่อมมีขนาดใหญ่กว่ารถจักรยานยนต์ แต่ถ้าเทียบระหว่างรถเก๋งกับรถบรรทุกแล้วรถเก๋งย่อมมีขนาดเล็กกว่ารถบรรทุก เป็นต้น

ในทางกฎหมายแล้ว ทั้งกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ไม่มีบัญญัติไว้หรอกครับว่าบุคคลที่ขับรถใหญ่กว่าคู่กรณีจะเป็นฝ่ายผิด จะมีก็แต่ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 39 บัญญัติไว้ในเรื่องการเดินรถในทางแคบ เมื่อเดินรถสวนกันผู้ขับขี่จะต้องลดความเร็วของรถเพื่อให้รถสวนกันได้อย่างปลอดภัย ผู้ขับขี่ที่ขับรถคันใหญ่กว่าจะต้องหยุดรถให้ชิดขอบทางรถด้านซ้าย เพื่อให้ผู้ขับขี่รถคันที่เล็กกว่าผ่านไปได้ หากผู้ขับขี่รถคันที่ใหญ่กว่าไม่ปฏิบัติตาม จะต้องระวางโทษปรับตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ครับ

พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ได้ตราขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2522 ซึ่งการคมนาคมในสมัยนั้นถนนหนทางไม่ได้มี 6 เลนหรือ 8 เลน เหมือนปัจจุบัน ขณะนี้ พ.ศ.2556 แล้วตามตรอกซอกซอยเล็กๆ ก็ยังคงใช้มาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.จราจรบังคับอยู่ คือรถใหญ่จะต้อง หยุดรถชิดขอบทางด้านซ้าย เพื่อให้รถเล็กไปก่อน เพราะถ้าหากสวน กันในทางแคบเกิดเฉี่ยวชนกัน เกิดความเสียหายขึ้นมา รถใหญ่ต้องผิดแน่นอนครับ

ส่วนในเรื่องที่พูดกันว่าเมื่อ "รถใหญ่" ชน "รถเล็ก" จะมีการตั้งข้อหาหรือสันนิษฐานไว้ก่อนว่ารถใหญ่เป็นฝ่ายผิด เป็นเรื่องของ "ความเสียหาย" ที่เกิดขึ้นครับ เมื่อรถใหญ่ชนกับรถเล็ก ความเสียหายในชีวิตและร่างกายมักจะเกิดกับผู้ที่ขับขี่ หรือคนที่โดยสารมากับรถที่เล็กกว่า ย่อมได้รับแรงปะทะจากการชนของรถใหญ่ รถที่เล็กกว่าจะได้รับความเสียหายมากกว่า ผู้ที่ขับขี่รถเล็กมีโอกาส ที่จะได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตมากกว่า อย่างที่มีคำเปรียบเปรยว่า ผู้ขับรถยนต์นั้นเป็น "เหล็กหุ้มเนื้อ" ส่วนคนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์นั้นเป็น "เนื้อหุ้มเหล็ก" นั่นละครับ

จากสถิติการเสียชีวิตและพิการจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมักเกิดขึ้นกับผู้ที่ขับขี่จักรยานยนต์ และเมื่อมีการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุแล้ว คู่กรณีอีกฝ่ายซึ่งมักจะเป็นผู้ขับขี่รถที่ใหญ่กว่า จะโดนข้อกล่าวหาว่าขับขี่รถโดยประมาททำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือขับขี่รถโดยประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แล้วแต่กรณี อันนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา

ในขณะที่หากเป็นกรณีรถจักรยานยนต์ชนท้ายรถเก๋ง รถเก๋งเสียหาย แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ จะไม่โดนข้อหาว่าประมาททำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย เพราะในประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ระบุหรือมีฐานความผิดฐานประมาททำให้ผู้อื่นเสียทรัพย์ครับ (ผมเคยเขียนถึงเรื่องประมาททำให้ผู้อื่นเสียทรัพย์มาก่อนหน้านี้แล้ว) อย่างไรเสียหากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ครับ

จะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดเหตุ และมีความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายเกิดขึ้นเจ้าพนักงานตำรวจจะแจ้งข้อหาผู้ขับขี่รถใหญ่เอาไว้ก่อน ผู้ที่ขับรถใหญ่กว่าจะพ้นข้อกล่าวหา ก็ต่อเมื่อมีการพิสูจน์ได้ว่าผู้ขับขี่รถเล็กกระทำผิดกฎจราจร เช่น ฝ่าสัญญาณไฟจราจร ฝ่าสัญญาณกั้นทางรถไฟ แซงทางซ้าย ขับรถไม่อยู่ในเลนของตน ทำให้เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกันขึ้น

ในทางประเพณีปฏิบัติเมื่อสอบสวนแล้ว ถ้าปรากฏว่าผู้ที่ขับขี่รถใหญ่กว่าไม่ผิด/ไม่มีความผิด แต่คู่กรณีซึ่งเป็นผู้ขับขี่รถเล็กกว่า ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมักจะเจรจาให้อีกฝ่ายช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ หรือช่วยเหลือค่าปลงศพผู้ที่เสียชีวิต ซึ่งจริงๆ แล้วกฎหมายไม่ได้ บังคับไว้นะครับ ถือเป็นการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ที่ช่วยเหลือผู้ที่ร่วมประสบอุบัติเหตุ มีความทุกข์จากการสูญเสีย เพราะขึ้นชื่อว่าอุบัติเหตุไม่มีใครอยากให้เกิดหรอกครับ หากพอจะช่วยเหลือกันได้ ก็ช่วยเหลือกันไป แต่ถ้าช่วยไม่ได้ หรือไม่มีจะช่วยจริงๆ ก็ไม่ว่ากันครับ เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับไว้ครับ

"รถใหญ่ ไม่ได้ผิดเสมอ" นะครับ เพราะเรื่องที่ว่าผิดหรือไม่ผิดนั้น กระบวนการทางกฎหมายให้ความ "ยุติธรรม" แก่ท่านได้แน่นอนครับ แต่ในเรื่องของ "คุณธรรม" แล้ว ขึ้นอยู่ กับจิตใจของคนแต่ละคนครับ

ที่มา.สยามธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น