--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

แพ้ทุกแนวรบ !!??

โดย : นพคุณ ศิลาเณร

การถอยร่นของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในท่วงทำนองยอมลดราคาจำนำข้าวเปลือกลงเหลือ 12,000 บาทต่อตัน และจำกัดวงเงินเพียง 500,000 บาทต่อครอบครัว คือการทำลาย “จุดแข็ง” จำนำข้าวทุกเมล็ด ไม่จำกัดปริมาณอย่างย่อยยับ

นั่นสะท้อนถึงความล้มเหลวของนโยบายจำนำข้าว และความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเสียหายยับเยิน

โครงการจำนำข้าวเปลือก เป็นนโยบายสร้างมวลชนคนชนบทให้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจนชนะเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 แล้วก่อเกิดรัฐบาลตระกูล “ชินวัตร” รุ่น 3 มาบริหารประเทศ

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ลงมือทำนโยบายจำนำข้าวเปลือกราคา 15,000 บาทต่อตันได้เพียง 3 ครั้ง คือ ในฤดูข้าวเปลือกนาปี 2554/2555 ข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 และข้าวเปลือกนาปี 2555/2556

ส่วนข้าวนาปรังปี 2556 ซึ่งใกล้เก็บเกี่ยว แต่รัฐบาลปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสำคัญ โดยลดราคาเหลือ 12,000 บาทต่อตัน ทำให้ชาวนาไม่พอใจ เริ่มก่อหวอดชุมนุมประท้วง เรียกร้องให้รับจำนำข้าวในราคา 15,000 บาทต่อตันตามเดิม จนรัฐบาลอยู่ในอาการ “หลังผิงฝา” ไร้หนทางเดินอย่างราบรื่น

นี่เป็นการแพ้เชิงนโยบายครั้งสำคัญ อันมีสาเหตุมาจากถูกโจมตีว่า “ขาดทุน”

อันที่จริง นโยบายจำนำข้าวเปลือก เป็นมาตรการแทรกแซงราคาข้าวเพื่อช่วยเหลือชาวนาให้ขายข้าวได้ราคาสูงกว่าราคาตลาดของพ่อค้าคนกลางรับซื้อ

เมื่อราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาดข้าว ย่อมต้องขาดทุนสถานเดียว ยากจะเป็นอย่างอื่นได้

แต่การขาดทุนจำนวน 1.3 แสนล้านบาทตามข้อมูลของรัฐบาล หรือขาดทุนบักโกรกถึง 2.6 แสนล้านบาทจากการโจมตีของพรรคประชาธิปัตย์นั้น

ทุกข้อมูลการขาดทุน ล้วนพุ่งตรงไปสู่เป้าหมาย “แก้ปัญหาความยากจน” ของประเทศทั้งสิ้น หากพิจารณาเม็ดเงิน 1-2 แสนล้านบาทที่รัฐบาลใช้แก้ไขความยากจนของชาวนากว่า 16 ล้านคนแล้ว ย่อมเป็นสิ่งคุ้มค่าเหนือคำบรรยายใดๆ

เพราะความยากจนเป็นทุกข์ของชาวนา และเป็นทุกข์ของชาติ การช่วยเหลือชาวนาผ่านนโยบายจำนำข้าวเท่ากับแก้ไขปัญหาใหญ่ของประเทศ

แม้นโยบายจำนำข้าวเกิดผล “ขาดทุน” แต่เงินที่ลงสู่คนยากจนไม่เสียเปล่า เงินกว่าแสนล้านบาทล้วนถูกหมุนย้อนกลับมาสู่ระบบเศรษฐกิจตลาด และสร้างมูลค่ากลับคืนได้หลายแสนล้านบาท นี่เป็นผลทางการเมือง ซึ่งผู้นำต้องเข้มแข็ง มีจุดยืนแน่วแน่

เพราะสิ่งนี้คือ “กำไร” ที่เกิดจากผลการขาดทุนของนโยบายจำนำข้าว แต่รัฐบาลเมื่อถูกรุกทางการเมืองจากคนชั้นกลาง แล้วรวนเร ไปไม่เป็นมืดแปดด้าน จิตวิตก ยอมสูญเสียทางการเมือง สาเหตุเกิดจากผู้นำไร้จุดยืนกับคนยากจน

แล้วเมื่อถูกพรรคประชาธิปัตย์รุกกระหน่ำ โจมตีซ้ำว่า การขาดทุนเท่ากับการทุจริตคอร์รัปชั่น รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงไปไม่เป็น เพราะประเด็นโกงกินเมื่ออธิบายผ่านการขาดทุนโครงการจำนำข้าวจึงเป็นรูปธรรม ทำให้สังคมคล้อยตาม สถานการณ์รัฐบาลจึงลำบาก

เมื่อแนวรบการทำงานตามนโยบายช่วยเหลือคนจนถูกตีแตกกระเจิงด้วยข้อหาโกงกิน นับประสาอะไรนโยบายแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยเงิน 3.5 แสนล้านบาท และการลงทุนสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานจากเงินกู้จำนวน 2.2 ล้านล้านบาทจะไม่ถูกโจมตี จนหมดความน่าเชื่อถือ

แน่นอนการโจมตีด้วยข้อหา “โกงกิน” จากนโยบายของรัฐบาลต้องดังกระหึ่มขึ้น เสียงเรียกร้องไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงมีแนวโน้มจุดติด

ย่อมเป็นธรรมดา เมื่อรัฐบาลสูญเสียความชอบธรรมจากนโยบายจำนำข้าวแล้ว การเชื่อมโยงปม “โกงกิน” ไปสู่การอธิบายยุทธศาสตร์โค่น “ระบอบทักษิณ” จึงมีพลังอยู่ไม่น้อย

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในชื่อ “กลุ่มหน้ากากขาว” ชูรหัสล้มระบอบทักษิณ ไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นจน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เกิดข้อกังขา แล้วควานหา “อักษรย่อ” ของผู้อยู่เบื้องหลังมาประจาน

ตามความเชื่อของกลุ่มหน้ากากขาวมีพื้นฐานการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ที่ “การโกงกิน” แม้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง แต่รัฐบาลตาม “วิถีการเลือกตั้ง” กลับมาสร้างระบอบทักษิณเข้าแทนที่ระบอบประชาธิปไตยนั่นเท่ากับ “หมดท่า” ทางการเมือง กลายเป็นประชาธิปไตยซ่อนรูปแบบ

กลุ่มหน้ากากขาวมองว่า ระบอบทักษิณแตกต่างจากระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น การล้มระบอบทักษิณ ไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงเท่ากับการสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นและมีความชอบธรรม

เพราะระบอบทักษิณติดอาวุธทุนสามานย์ มีพฤติกรรมกอบโกยผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อพรรคพวกและครอบครัวการเมือง

ด้วยวิธีคิดเยี่ยงนี้ เมื่อถูกตอกย้ำถี่ขึ้น ย่อมกลายเป็นความเคยชิน เกิดความคล้อยตาม และกลายเป็นความเชื่อฝังหัวยากต่อการสลัดทิ้ง

นี่เป็นอีกแนวรบหนึ่ง ที่เริ่มก่อรูปมาโจมตีรัฐบาลอย่างมีพลัง และบ่งบอกถึงแนวโน้มรัฐบาลกำลังแพ้ไม่เป็นท่าในอนาคต

ไม่เพียงเท่านั้น แนวรบด้านจุดยืนทางการเมืองรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย แพ้อย่างหมดรูปมาแล้วในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและสร้างสังคมปรองดองขึ้น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านมาตรา 291 ถูกศาลรัฐธรรมนูญเล่นงานจนรัฐบาลไม่กล้ากระดิกตัวและขยาดกับการเดินหน้าลงมติวาระ 3 ดังนั้น หนทางแก้ไขรัฐธรรมนูญและการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม รวมทั้งการพิจารณากฎหมายปรองดองฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม ในช่วงสมัยประชุม ซึ่งจะเริ่มขึ้นเดือนสิงหาคมนี้ ย่อมมองเห็นอาการ “ถอย” ของรัฐบาลอีกเช่นเคย

การแพ้ทุกแนวรบของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยนั้น ราวกับเป็นการรักษา “จุดแข็ง” ในยุทธศาสตร์ “เลือกตั้ง” เอาไว้ เพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งทำให้ “ชนะทางการเมือง” และกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง...พวกเขาคิดเพียงแค่นี้ !!?

คิดง่ายๆ เพียงว่า แนวรบการเลือกตั้งทำให้ได้ “อำนาจ” บริหารประเทศ แม้ได้คุมรัฐบาลและสภาไว้ในกำมือ แต่ไร้ศักดิ์ศรีทางการเมือง หากไม่มีจุดยืนสร้างสรรค์พลังประชาธิปไตยให้เติบใหญ่ในสังคมไทย

“อำนาจ” ที่ได้มา ย่อมหมดราคา

สิ่งนี้จึงเป็นข้อแตกต่างอย่างน่าสนใจยิ่งระหว่างระบอบทักษิณกับระบอบประชาธิปไตย และความแตกต่างเช่นนี้จึงเป็นจุดอ่อนให้ถูกรุกทางการเมือง จนตกอยู่ในสถานการณ์ “แพ้ทุกแนวรบ” ในปัจจุบัน

ที่มา.สยามธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น