--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อัพเกรดเชียงใหม่เมืองลองสเตย์ โยง ท่องเที่ยว 4 จังหวัด !!?



กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ผลักดันธุรกิจลองสเตย์เต็มที่ วางเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการท่องเที่ยว เผยญี่ปุ่นย้ายมาปักหลักแล้วกว่า 3 หมื่นคน คาดจะเติบโตอีก 20% ชี้กฎระเบียบภาครัฐและภาษายังเป็นอุปสรรค เอกชนชี้ต้องแบรนดิ้งเชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางเมืองลองสเตย์ ดันรายได้พุ่งปีละหมื่นล้าน

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการค้าของภาคเหนือ มีข้อได้เปรียบด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาปีละหลาย 10 ล้านคน ดังนั้นกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน) มีความพร้อม สามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว หรือ Long Stay ในอนาคตได้ โดยมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางที่จะเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวแบบลองสเตย์ไปยังทุกจังหวัดในกลุ่ม

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหรือการแพทย์ (Medical Tourism) เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกลุ่มจังหวัด โดยให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ในภูมิภาค ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจทุกกลุ่ม เช่น โรงพยาบาล คลินิก บริษัทท่องเที่ยว โรงแรม สถานพักฟื้น นวดแผนไทย สปา

ในอนาคตอันใกล้จะมีผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นเดินทางมาพำนักที่เชียงใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ปัจจุบันเข้ามาพำนักอยู่แล้ว 3,800-4,000 คน และยังมีผู้สูงอายุประเทศอื่นอีกในสัดส่วนใกล้เคียงกัน จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 6,000-7,000 ล้านบาท

ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุหรือวัยปลดเกษียณชาวญี่ปุ่นมีประมาณ 8 แสน-1 ล้านคน และมีผู้ที่อายุเกิน 60 ปีในญี่ปุ่นประมาณ 7-8 ล้านคน โดยสัดส่วน 18% จะชอบเดินทางไปพำนักในประเทศอื่น ๆ ดังนั้น

จะต้องทำให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เป็นพื้นที่เป้าหมายที่ชาวญี่ปุ่นจะต้องเดินทางมาท่องเที่ยวให้ได้

ด้านนายวิทยา ฉุยกลัด ผู้ช่วยท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันมีชาวญี่ปุ่นมาพำนักอาศัยในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 กว่า 3 หมื่นคน ซึ่งมีส่วนสำคัญช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัด ขณะนี้ได้สนับสนุนโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในพื้นที่ให้สามารถเข้าใจตลาดลองสเตย์มากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างเครือข่ายกับภาคธุรกิจ ทั้งอสังหาริมทรัพย์ การบริการสุขภาพ อาหาร ที่พัก สันทนาการ การขนส่ง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดลองสเตย์ทั้งในและต่างประเทศได้

"โครงการจะเน้นการประชุมพบปะกันระหว่างผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจลองสเตย์ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน กับตัวแทนชาวญี่ปุ่นที่พำนักในเชียงใหม่และเมืองอื่นๆ พร้อมทั้งมีโครงการคัดเลือก

โรงพยาบาล ที่พัก อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบริการสุขภาพ อาหาร ฯลฯ ประมาณ 30 คน ไปร่วมทริปสำรวจศักยภาพ และจับคู่ธุรกิจลองสเตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น"

ขณะที่นายเฉลิมชาติ นครังกุล ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าในปี 2593 ญี่ปุ่นจะมีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 50% ของประชากร ทำให้เหลือวัยทำงานราว 30% ซึ่งในอนาคตเชียงใหม่จะเป็นเป้าหมายสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น หรือจากประเทศทางตะวันตกที่จะมาพำนักเพิ่มขึ้น โดยหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่เล็งเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนาธุรกิจลองสเตย์ เพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต

นายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 1 กล่าวว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวของชาวญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงใหม่ เกิดจากศักยภาพของการเป็นเมืองน่าอยู่ ประกอบกับแนวโน้มของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของโลก รวมทั้งแรงกระตุ้นจากค่าครองชีพและภัยพิบัติในญี่ปุ่น เป็นตัวเร่งให้จำนวนผู้พำนักระยะยาวในเชียงใหม่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องกฎระเบียบภาครัฐ ภาษา และการตลาด

ทั้งนี้ เป้าหมายระยะสั้นคือจังหวัดเชียงใหม่ต้องเร่งสร้างแบรนด์เชียงใหม่ให้เป็นที่จดจำ และเป็นจุดหมายปลายทางอันดับแรกในใจของกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบลองสเตย์ และสร้างรายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 5 พันล้านบาท ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือ การกำหนดให้เชียงใหม่เป็นเมืองแรกที่นักท่องเที่ยวจะนึกถึงสำหรับการท่องเที่ยวแบบ Long Stay ในทวีปเอเชีย และสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 หมื่นล้านบาท

 ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น