--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คลังคาด GDP ปีนี้เหลือ4.5% !!?

คลังปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เหลือ 4.5% หลังจากส่งออกร่วง-กำลังซื้อในประเทศลด ด้าน สศช. ชี้ปีนี้โตต่ำกว่า 5% ระบุไตรมาส 2 แย่ลงกว่าที่คาด

สำนักวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลง หลังจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวล่าช้า และเริ่มส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศจากการส่งออกสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการวิจัยของกระทรวงการคลัง ได้ปรับประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้ลงเหลือ 4.5% จากการคาดการณ์เดิมต้นปีที่ 4.8% ซึ่งเป็นการปรับครั้งที่สอง แม้ว่าก่อนหน้านี้จะปรับเพิ่มขึ้นในเดือนมี.ค. 2556 ที่คาดว่าจะขยายตัว 5.3% จากการบริโภคขยายตัว

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่าการปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า 14 ประเทศยังฟื้นตัวล่าช้า โดยเฉพาะจีน ยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

"สศค.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะที่ดี ไม่ถึงขั้นเลวร้าย แม้จะมีปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบ แต่ปัจจัยภายในยังมีความแข็งแกร่ง โดยดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญลดลงหลายรายการ แต่ลดลงไม่มากนัก แม้ว่าไตรมาสแรกจะติดลบ 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 แต่ไตรมาส 2 ของปีนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวก 1.7% ไม่ได้ติดลบ 2 ไตรมาส"

นายสมชัยกล่าวว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากภาคส่งออกที่ชะลอตัวลง การลงทุนของภาคเอกชนเดือนพ.ค. ติดลบ 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน ขณะที่ การใช้จ่ายภาคเอกชน ก็มีแนวโน้มชะลอลง และการบริโภคภาคเอกชนก็คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อนเช่นกัน โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะชะลอลงมาอยู่ที่ 3.6% จากเดิม 4.6% ในขณะที่การบริโภคของรัฐจะเพิ่มเป็น 3.7% จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 3.5%

"การใช้มาตรการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน ส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกของไทยแน่นอน แต่ไม่มากนัก ซึ่งขณะนี้ สศค.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด"

นายสมชัย กล่าวว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ระดับ 4.5% มีความเป็นไปได้มากที่สุด ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลต้องลงทุนโครงการตามแผนบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงการคลังกำลังพยายามหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มแรงหนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สศช.คาดศก.ไทยปีนี้โตต่ำ 5%

นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สศช.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตไม่ถึง 5% โดยตัวเลขน่าจะอยู่ในช่วงต่ำ ของการคาดการณ์ที่อยู่ระดับ 4.2-5.2%

"ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 อ่อนแรงกว่าที่คาด โดยมีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ จะเป็นไตรมาสที่สูงสุดของปี"

นายปรเมธี กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ ด้านเสถียรภาพไม่มีปัญหา แต่จะเป็นด้านการเติบโตและความผันผวน โดยสถานการณ์ ค่าเงินจะเป็นประเด็นใหญ่ของเศรษฐกิจในปีนี้ ต้องจับตาดูผลกระทบต่อรายได้ภาคการส่งออกของไทย ขณะที่เศรษฐกิจโลกคงไม่ฟื้นตัวเร็วนัก จึงต้องระมัดระวังว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตไม่ถึง 5%

สศช.เตรียมชงมาตรการรับผลกระทบ

นายปรเมธี กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจ 5% เป็นตัวเลขที่ทางรัฐบาลใช้เป็นเป้าหมายในการทำยุทธศาสตร์และนโยบายต่างๆ โดยเป้าหมายจะให้เศรษฐกิจในประเทศโตเฉลี่ย 5% ในช่วง 15 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ในกลุ่มที่มีรายได้สูง จากปัจจุบันมีรายได้ในระดับกลางถึงสูง

ดังนั้น ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะต้องมีมาตรการในการรองรับผลกระทบในส่วนที่ยังไม่แข็งแกร่ง พร้อมสร้างรากฐานการเติบโตในระยะยาว โดยดูเป็นรายกลุ่ม หรือ เซคเตอร์ ประกอบด้วย ภาคการเกษตร เอสเอ็มอี ส่งเสริมรถยนต์อีโคคาร์ การท่องเที่ยวและการดูแลผู้มีรายได้น้อย

แบงก์ชาติเล็งปรับตัวเลขส่งออก

ด้าน นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกในเดือนพ.ค. ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาว่าติดลบ 5.25% ขณะที่การส่งออกเฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้เติบโต 1.86% นั้น ถือว่าต่ำกว่าที่ธปท.คาดการณ์เอาไว้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ธปท.จะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 10 ก.ค. นี้ เพื่อปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกลง

ตัวเลขการส่งออกที่ ธปท. ประเมินไว้ล่าสุดช่วงเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา มีการเติบโตอยู่ที่ 7.5%

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ธปท. เคยส่งสัญญาณว่า การประชุม กนง. รอบถัดไปคือวันที่ 10 ก.ค. นี้ อาจพิจารณาปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมลง จากเดิมซึ่งเคยมองว่าจะเติบโตได้ประมาณ 5.1%

นายเมธี กล่าวว่า ธปท. ยังคงมีมุมมองเดิม โดยมองว่าช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ส่วนการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนนั้นถือว่าอยู่ในประมาณการของ ธปท.ไว้แล้ว เพราะการประเมินของ ธปท.จะค่อนข้างอนุรักษนิยม อย่างไรก็ตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาถือว่าดีขึ้นกว่าที่ ธปท.ได้คาดเอาไว้ จึงน่าจะเป็นตัวช่วยพยุงภาคการส่งออกของไทยได้ระดับหนึ่ง

ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาท จะมีผลต่อการส่งออกหรือไม่นั้น นายเมธีกล่าวว่า คงต้องรอดูในระยะยาว ซึ่งถ้าประเมินระยะสั้นอาจลำบาก เพราะมีเรื่องการกำหนดราคาซื้อขายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ทหารไทยชี้ส่งออกต่ำกว่าคาด

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตัวเลขส่งออกเดือนพ.ค. ที่ออกมา ติดลบ 5.25% นั้น สะท้อนถึงการชะลอตัวลงที่ชัดเจนของภาคส่งออกไทย ซึ่งการหดตัวดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานปีก่อนที่อยู่ระดับสูงด้วย แต่ตัวเลขที่ติดลบในระดับนี้ก็ถือว่าต่ำกว่าที่เราคิดไว้พอสมควร

"ผลจากตัวเลขดังกล่าวทำให้ ทางเราปรับมุมมองต่อภาคการส่งออกใหม่ โดยตัวเลขใหม่ที่ประเมินไว้อยู่ที่ 3.5% จากเดิมที่ 7%" นายเบญจรงค์กล่าว

นายเบญจรงค์ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกลดลงค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัญญาณการส่งออกในครึ่งปีหลังยังไม่เห็นการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะตลาดแถบยุโรป จีน และ ญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีสหรัฐช่วยได้บ้าง โดยญี่ปุ่นแม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา แต่ยังไม่มีสัญญาณว่าจะทำให้การส่งออกไปญี่ปุ่นดีขึ้นได้

กรุงศรีหั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 4-4.5%

ด้าน นายรุ่งศักดิ์ สาธุธรรม ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสและผู้จัดการฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นฝ่ายวิจัยเอกชนที่เตรียมปรับประมาณการเช่นกัน คาดว่าจีดีพีในปีนี้เหลือ 4-4.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.8-5.3% โดยเป็นผลจากแนวโน้มการส่งออกที่อาจจะชะลอตัวลง ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในเอเชีย รวมทั้งแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศที่ชะลอตัวลง ภายหลังปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น

"ประมาณการว่าในครึ่งปีแรก เศรษฐกิจไทยเติบโตราว 4.7% และในครึ่งปีหลังจะปรับลดลง เนื่องจากฐานในปีก่อนอยู่ในระดับสูง"

ศก.สหรัฐฟื้นช้า-เฟดอาจเลื่อนยุติคิวอี

ด้านปัจจัยต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ยังมีความไม่นอนอย่างมาก ทั้ง สหรัฐ จีน และ ยุโรป

ล่าสุด รัฐบาลสหรัฐปรับทบทวนตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจประจำไตรมาสแรก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังพิจารณาปรับลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวเพียง 1.8 % ในไตรมาสแรก เมื่อเทียบรายปี ลดลงจากระดับ 2.4% ที่เคยรายงานไว้ก่อนหน้านี้ และเทียบกับอัตราการเติบโต 0.4% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว

ทางด้านนักเศรษฐศาสตร์กล่าวเตือนว่า นักลงทุนไม่ควรให้ความสำคัญมากเกินไปกับตัวเลขจีดีพีนี้ เพราะตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่สะท้อนภาพเศรษฐกิจในอดีต อย่างไรก็ดี ตัวเลขนี้อาจส่งผลกระทบต่อเฟด เมื่อเฟดทำการพิจารณาการปรับลดวงเงินในการเข้าซื้อตราสารหนี้ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

นายแซม คอฟฟิน นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารยูบีเอสกล่าวว่า ตัวเลขนี้ทำให้เฟดมีแนวโน้มน้อยลงในการปรับลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อีซีบีเผยใช้นโยบายผ่อนคลายอีกนาน

นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวย้ำว่ายังคงต้องใช้เวลาอีกนานก่อนที่อีซีบีจะยุติการดำเนินมาตรการพิเศษสำหรับนโยบายการเงิน โดยถ้อยแถลงของนายดรากีช่วยลดความกังวลของนักลงทุนหลังจากเฟดเปิดเผยแผนการปรับลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวันที่ 19 มิ.ย.

นายดรากี กล่าวต่อคณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสว่าเศรษฐกิจยูโรโซนยังคงเผชิญความเสี่ยงในช่วงขาลง และอีซีบีพร้อมที่จะดำเนินมาตรการใหม่ถ้าหากมีความจำเป็น

นายดรากี กล่าวว่า เรามีจุดยืนในการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายในอดีต และเราก็มีจุดยืนในการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายในปัจจุบัน ขณะที่เราจะยังคงดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายต่อไปในอนาคตอันใกล้

นายดรากี กล่าวเสริมว่า "การยุตินโยบายแบบผ่อนคลายยังคงเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกล"

ตลาดเงินจีนเริ่มคลี่คลาย

สำหรับปัญหาในตลาดการเงินจีนที่สร้างความกังวลในสัปดาห์ก่อน ได้เริ่มคลี่คลายลง โดยเมื่อวานนี้ (27 มิ.ย.) อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินจีนปรับตัวลงต่อไปเป็นวันที่ห้าติดต่อกัน หลังจาก ธนาคารกลางจีน (PBOC) ไม่ได้เข้าไปดูดซับสภาพคล่องออกจากตลาด และตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวขึ้น ในขณะที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเข้าสู่เสถียรภาพ

เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเอเชียวานนี้ ที่ฟื้นตัวขึ้นจากแรงซื้อนักลงทุนต่างชาติที่กลับเข้ามา หลังจากเลิกคลายกังวลมาตรการยุติคิวอีของเฟด โดยดัชนีนิกเคอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดพุ่งขึ้น หลังจากร่วงลงสามวันติดต่อกัน ขณะที่นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับการถอนมาตรการคิวอีและภาวะสินเชื่อตึงตัวในจีน โดยดัชนีนิกเคอิปิดตลาดปรับขึ้น 379.54 จุด หรือราว 2.96% อยู่ที่ 13,213.55

เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปิดทะยานขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิ ดัชนีคอมโพสิตปิดพุ่งขึ้น 51.25 จุด หรือ 2.87% สู่ระดับ 1,834.70


ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น