--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความมั่นคงไฟฟ้าอยู่ตรงไหน !!?

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคบุตร

เหมือน จะเป็น "ความซวย" ของ รมต.เพ้ง "พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล" หลังจากนั่งเก้าอี้กระทรวงพลังงาน ก็เจอวิกฤตการณ์ด้านไฟฟ้าของประเทศถึง 2 ครั้ง 2 คราว โดยยังจำกันได้กับวิกฤตการณ์ครั้งที่ 1 ในช่วงเทศกาลงานสงกรานต์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่บริษัท Total เจ้าของสัมปทานขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา เมียนมาร์ ประกาศหยุดซ่อมแท่นขุดเจาะเป็นระยะเวลา 9 วัน ส่งผลให้ก๊าซธรรมชาติที่ส่งผ่านท่อเข้าสู่โรงไฟฟ้าราชบุรีหายไปจากระบบ ประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

เล่นเอาวุ่นวายไปทั้งประเทศ เมื่อ รมต.เพ้งออกมาแจงมาตรการฉุกเฉิน ขอให้ช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้า เตรียมน้ำมันเตา/ดีเซล ซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม รับมือสถานการณ์ไฟตกดับ เนื่องจากช่วงที่ Total หยุดส่งก๊าซนั้น เป็นช่วงที่สำรองไฟฟ้าของประเทศจะลดลงต่ำสุด เพราะเดือนเมษายนเป็นเดือนที่จะเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ Peak เป็นประจำทุกปี

หลังจากนั้นไม่ถึง 2 เดือน รมต.เพ้งต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไฟดับ 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา จากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า เกิดจากอุบัติเหตุ "ฟ้าผ่า" เสาไฟฟ้าช่วงจอมบึง-บางสะพาน ในขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.) อยู่ในช่วงของการซ่อมแซมสายส่งแรงสูงขนาด 500 Kv วงจรที่ 1 ส่งผลให้สายส่งวงจรที่ 2 ได้รับผลกระทบ มีการจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งขนาด230 Kv มากจนเกินไป จนเกิดการดึงกันเองในสายส่ง โรง ไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ 6 โรงจึงตัดการส่งกระแสไฟฟ้าทันทีโดยอัตโนมัติ ภาคใต้ทั้งภาคจึงต้องเผชิญกับความมืดมิดถึง 4-5 ชั่วโมง สร้างความแตกตื่นตกใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มักเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นมาทันที

ทั้ง 2 เหตุการณ์ ได้แสดงให้เห็นถึง "ความเปราะบาง" ในระบบความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยอย่างชัดเจน จากเหตุผลสำคัญ 4 ประการดังต่อไปนี้

1) ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศมีอัตราการเติบโตสูงมาก ในขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ ๆ มีไม่เพียงพอ ทั้งนี้ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2010) ฉบับปรับปรุงครั้งล่าสุด ที่ กฟผ.ใช้เป็นคัมภีร์ระบุไว้ว่า เมื่อสิ้นแผน PDP ในปี 2573 ประเทศไทยจะมีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดถึง 52,256 MW จากปีที่เริ่มแผน (2559) ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 31,808 MW

จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าใหม่ ๆ เข้ามาชดเชยความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นโดยไม่มีการประหยัด

2) จำนวนโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ที่จะเข้าสู่ระบบในช่วงของแผน PDP ฉบับปัจจุบัน ได้รับการต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1,000 MW จำนวน 2 โรง หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ กฟผ.ใช้คำว่า ถ่านหินสะอาดอีก 6 โรง กำลังผลิตรวมกัน 4,400 MW ยังไม่สามารถสร้างขึ้น ส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ ๆ ที่ "จำเป็น" จะต้องเข้าระบบหายไป

3) ครั้นจะหันมาพึ่งพาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ทั้งของ กฟผ. และผู้ประกอบการเอกชนรายใหญ่ IPP ก็ต้องเผชิญกับปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งมีราคาถูกที่สุดลด ลง และกำลังจะหมดไปในอีก 10 ปีข้างหน้า ส่งผลให้ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งนอกประเทศ (เมียนมาร์) รวมไปถึงการนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยถึง 4.34 บาท (ถ่านหิน 2.94 บาท/หน่วย-NG 3.96 บาท/หน่วย-กังหันก๊าซ 13.74 บาท/หน่วย-นิวเคลียร์ 2.79 บาท/หน่วย) มีผลทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศปรับราคาสูงขึ้นระหว่าง 4-6 บาท/หน่วยในอนาคต

4) การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจากโครงการใหม่ ๆ ลดลง ใน สปป.ลาว ไม่มีการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อขายไฟให้ไทย โครงการโรงไฟฟ้าในเมียนมาร์ยังอยู่ในกระดาษ ที่สำคัญก็คือ แม้มีกำลังไฟฟ้าใหม่ ๆ ทั้งในและนอกประเทศเข้าระบบ แต่ปัญหาสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านกรุงเทพฯ-อีสาน-ใต้ ยังไม่ได้รับการพัฒนา

ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงให้ประเทศไทยเผชิญกับภาวะไฟตก/ดับได้ในอนาคต

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น