--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สึนามิ AEC กำลังจะมา !!???

เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2559 มาถึง แม้ดวงตะวันจะยังมีขนาดเท่าเดิม หมุน แบบเดิม น้ำยังขึ้นยังลงเหมือนเดิม แต่ อาเซียนจะเปลี่ยนไป จะอยู่กันเหมือนประเทศเดียวกัน

การเคลื่อนย้ายแรงงาน การเคลื่อน ย้ายการลงทุน จะคึกคักตามกฎระเบียบที่เปิดกว้างขึ้น เมื่อวันนั้นมาถึงประเทศไทยมีความพร้อมจริงหรือ?

"สยามธุรกิจ" กะเทาะมุมมอง ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในเวทีอาเซียน ผ่านงานสัมมนา BU Asian Alumni Business Forum ซึ่งจัดโดยสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยบอสตันในประเทศไทย

ดร.สุรินทร์เปิดฉากด้วยคำพูดว่า 5 ปีที่อยู่ในตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน พบว่าประเทศที่สร้างปัญหาให้มากที่สุดคือไทย เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีทุกปี เมื่อผู้นำเปลี่ยน นโยบายก็เปลี่ยน จึงเป็นประเทศสุดท้ายที่ให้สัตยาบันกับอาเซียน เหตุผลที่เป็นประเทศสุดท้ายเพราะนโยบายไม่ลงตัว

"ฝรั่งถามผมว่าทำไมไทยจึงเป็นประเทศสุดท้ายที่ลงสัตยาบัน ผมยกอุปมา อุปไมยสมัยพุทธกาลปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ที่มีโกณทัญญะเป็นหัวหน้า โกณทัญญะฉลาดที่สุดแต่ตรัสรู้หลังสุดเพราะ ตั้งคำถามกับพระพุทธเจ้าเยอะ เขาฟัง แล้วก็ชื่นชมว่าคนไทยฉลาด แต่เหตุผล จริงๆ คือทะเลาะกันไม่เสร็จ"

ดร.สุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ไม่มีประเทศ ไหนที่จะแข่งขันในโลกยุคโลกาภิวัตน์โดยไม่ลงทุนเรื่องการวิจัย ญี่ปุ่นใช้งบประมาณ 2.4% ของรายได้ประชาชาติต่อปี ลงทุนด้านการวิจัย เกาหลี 2.8% จีน 1.8% สิงคโปร์ 2.8% ประเทศไทย 0.20% แถมงาน วิจัยของไทยส่วนใหญ่อยู่บนหิ้งหมด ไม่เคย เอามาใช้ จึงน่าเป็นห่วงว่าในอาเซียนเราจะสู้ใครไม่ได้ และอาเซียนเองก็จะสู้คนอื่น ไม่ได้ ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับการวิจัย เรา ผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของคนอื่น ขายสินค้าของคนอื่น เป็นแฟรนไชส์ของคนอื่น ใช้ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของคนอื่น ใช้สิทธิบัตรยาของคนอื่น ต้องเปลี่ยนจุดยืนใหม่

"การจะแข่งขันกับคนอื่นข้อมูลต้องแน่นอน ตัวเลขต้องทันสมัย เรียกมาใช้ได้ และใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีก่อนหมดวาระตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนของผมคือ ผมเดินทางไปทุกพื้นที่ในประเทศ ไทย ทุกมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะบอกว่าตื่นเถิด อันตรายกำลังมา อาเซียนกำลังมา โลกกำลังมา ปรากฏว่าตื่นกันทั่ว ตอนนี้ไปจังหวัดไหน อำเภอไหน โรงเรียนไหน จะเห็นธงชาติ 10 ชาติและธงอาเซียนติดหรา เพราะตื่นตัว แต่ ตื่นแบบตระหนกมากกว่าตื่นแบบมีสติ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือตื่นเรื่องอะไรก็ขอ งบประมาณมาใช้ ปีนี้รัฐบาลให้งบเกี่ยวข้องกับการสร้างความรู้เรื่องอาเซียนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่รู้ว่าจะคุ้มค่า วัตถุประสงค์หรือเปล่า"

ประเทศไทยพร้อมกับการเป็นประชาคมอาเซียนแน่หรือ ประเทศไทยจะแข่งขันในอาเซียนได้จริงหรือ ในเมื่อการคัดสรรคนมาอยู่ในตำแหน่งทั้งระดับการเมืองและข้าราชการ ไม่สามารถผลักดันยุทธศาสตร์ประเทศไทยได้ เพราะไม่เข้า ใจพื้นฐานอาเซียน ทุกหน่วยงานมีข้อมูลแต่ไม่เคยมีการนำมาใช้ ถ้าเราไม่รู้จุดอ่อน จุดแข็ง เอาคนที่ทำงานไม่เป็นไปทำหน้าที่ สำคัญ จะสู้กับคนอื่นได้ยังไง

"สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือภาคราชการตามความเปลี่ยนแปลงไม่ทัน เพราะมีเงื่อนไขในระบบมากมาย เราเลือกคนมาสู่ตำแหน่งโดยไม่วางอยู่บนพื้นฐานความรู้ความสามารถ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นคนของใคร ผมเป็นเลขาธิการอาเซียน 5 ปี มีโทรศัพท์ อีเมล แมสเสจ เกือบทุกวัน ขอให้ช่วยสนับสนุนให้ลูกได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง จากทุกหน่วยงาน โดยคิดเพียงว่า ถ้าเขาไม่ทำคนอื่นก็ทำ"

เราจะวางตำแหน่งประเทศไทยยังไงในบริบทใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่คนจะไหล กันมากขึ้น แรงงานจะไหลไปมาระหว่างกันมากขึ้น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลของไทยจะล้มทั้งยืนถ้าพม่ากลับบ้านหมด เพราะคนไทยไม่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้ อุตสาหกรรมเกษตรหลายสาขาจะมีปัญหาถ้าเราไม่ดูแลแรงงานต่างด้าว รัฐบาลต้องมีนโยบายเรื่องแรงงานชัดเจน รวมถึงการสร้างแรงงานไทยให้แข่งขันกับคนอื่นได้

ประเทศไทยใช้จ่ายงบประมาณด้าน การศึกษามากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ประมาณ 28.5% ของงบประมาณแผ่นดิน ประเทศอื่นต่ำกว่านี้ทั้งนั้น แต่ปรากฏว่าคนที่เข้าเรียนอนุบาล 4 คนจะหลุดออกมาเรียนในระดับปริญญาตรี 2 คน หลังจบการศึกษา 1 คนได้งาน 1 คนว่างงาน เท่ากับ 50% ถือว่าล้มเหลว

"ผมตระหนักดีว่า 2 ปีที่เหลือไม่ทัน หรอกที่จะเข้าสู่อาเซียนด้วยความพร้อม และแข่งขันกับคนอื่นได้ ถ้ายังไม่ตระ-หนัก เราจะเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์ เหมือนเผชิญคลื่นสึนามิ"

เราสะดวกสบายกับบริบทแบบไทยๆนานเกินไปเราอ้างว่าภาษาอังกฤษไม่ดีเพราะ ไม่เคยเป็นเมืองขึ้น แทนที่จะหาทางแก้ไข ปัจจุบัน ลาว เวียดนาม กัมพูชา พูดภาษา อังกฤษดีกว่าเรา เขาสอบโทเฟลได้คะแนนสูงกว่าเด็กไทย ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก แต่ตัวเลขที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือครูภาษาอังกฤษในโรงเรียนกทม.สอบโทเฟลได้น้อยกว่าเด็กไทย จะแก้ปัญหานี้อย่างไร

"ผมหวังว่าความตระหนกจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นความตระหนัก ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างต้องแก้ไข แต่อย่าตกใจว่าจะเสียเปรียบทุกอย่าง ข้อได้เปรียบก็มี เช่นเรายังเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ของอาเซียน ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับรัฐบาลเมื่อ 35 ปีก่อนที่การันตีกับค่าย รถยนต์ระดับโลกว่าเราจะไม่ผลิตรถไทยออกมาแข่ง ใครใคร่ผลิตเชิญ ทำให้ปัจจุบัน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยเจริญมากที่สุดในอาเซียน ซึ่งวันนี้อินโดนีเซียกำลังใช้นโยบายของไทยดึงค่ายรถยนต์ใหญ่ๆ เข้าไปตั้งฐานการผลิตรถยนต์สำหรับประชากร 240 ล้านคน การท่องเที่ยวของเรายังเป็นที่ 1 ซึ่งอาเซียนกำลัง คุยกันว่าจะทำการท่องเที่ยวตลาดเดียว คือนักท่องเที่ยวมาประเทศไหนในอาเซียน แล้วไปอีก 9 ประเทศได้ เพราะฉะนั้นที่เคยมาประเทศไทย 7 วัน 7 คืน ต่อไปอาจ จะอยู่แค่ 3 วัน อีก 4 วันไปประเทศข้างเคียง ทำอย่างไรให้เขาใช้จ่ายในประเทศไทยในระดับสูงกว่าที่อื่น นอกจากนี้ทุกอุตสาหกรรมต้องตั้งเป้าการออกไปเติบโตนอกประเทศ เพราะตลาดข้างในจะมีคนอื่น เข้ามาแข่งขันมากขึ้น เหมือนโรงงานทอผ้าย้ายจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ชายแดน หรือ ย้ายจากชายแดนไปอยู่ในพม่า ลาว เขมร เพราะกระแสโลกาภิวัตน์ผลักออกไป"

ดร.สุรินทร์ปิดท้ายว่าวันที่ 1 มกราคม 2559 ดวงตะวันยังคงเท่าเดิม น้ำขึ้นน้ำลงเหมือนเดิม โลกหมุนแบบเดิม แต่อาเซียนจะเปลี่ยนไป!!

ที่มา.สยามธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น