--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ครม.ไฟเขียวดึงเงิน รอบ 2 โปะ จำนำข้าว !!?



ครม.ไฟเขียวรวมปริมาณ-วงเงิน รับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/56 หวังดึงเงินรอบ 2 โปะรอบแรก พร้อมกำหนดวงเงินปิดบัญชีวันที่ 31 ธ.ค.56 ไม่เกิน 5 แสนล.

รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังมีปัญหาในโครงการจำนำข้าวอย่างหนัก โดยเฉพาะในเรื่องของเงินทุนในการทำโครงการ หลังจากใช้เงินไปกว่า 6.1 แสนล้าน และมีการประเมินตัวเลขขาดทุนสูงถึง 2.6 แสนล้าน จากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรและการคาดการณ์ของสถาบันจัดอันดับเครดิต มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ว่า โครงการนี้จะขาดทุนถึง 2 แสนล้านบาท

ในการประชุมครม.วานนี้ (10 มิ.ย.) ที่ประชุมจึงได้ปรับเปลี่ยนโครงการ โดยเห็นชอบให้รวมโครงการรับจำนำข้าวปี 2555/56 ครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 เข้าด้วยกัน เพื่อยืดหยุ่นในการใช้เงินโครงการ

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้รวมปริมาณและวงเงินของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ในครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 เข้าด้วยกัน เพื่อให้การดำเนินการมีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่กรอบปริมาณการรับจำนำ ภายใต้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 1 เกินกว่ากรอบที่ ครม.ได้เคยอนุมัติไว้ ให้กระทรวงพาณิชย์เสนอขอขยายกรอบปริมาณและกรอบวงเงิน ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เพื่อพิจารณาและเสนอครม.ทราบต่อไป แต่ทั้งหมดต้องไม่เกินกรอบปริมาณ 22 ล้านตัน และกรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท

ชี้รอบ1 ใช้เต็มกรอบเงิน 2.4 แสนล้าน

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบผลการพิจารณา เรื่องโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ คณะที่ 3 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานกรรมการพิจารณา ไปเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการอภิปรายถึงปัญหาที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/ 56 ครั้งที่ 1 ไปเกือบเต็มกรอบปริมาณรับจำนำจำนวน 15 ล้านตัน ในวงเงินที่อนุมัติ 2.4 แสนล้านบาท ตามมติ ครม. ทำให้ ธ.ก.ส.หยุดจ่ายเงินให้กับเกษตรกร

ขณะที่ผลการรับจำนำข้าวครั้งที่ 2 มีเพียง 4 ล้านตัน คิดเป็นวงเงินที่จ่ายไปกว่า 5หมื่นล้านบาทจากกรอบวงเงินที่ กขช.อนุมัติ 1.05 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าเมื่อโครงการสิ้นสุดปริมาณรับจำนำข้าวครั้งที่ 2 จะมีเพียง 7 ล้านตัน กขช.จึงมีมติอนุมัติให้รวมปริมาณรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เข้าด้วยกัน เพื่อให้การบริหารโครงการมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ดึงเงินจำนำรอบ 2 โปะรอบแรก

การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/55 และ 2555/56 ได้ใช้เงินหมุนเวียนเกือบเต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่เป็นกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ว่ามาจาก 2 แหล่งได้แก่ เงินทุน ของ ธ.ก.ส.จำนวน 9 หมื่นล้านบาท และเงินกู้จากสถาบันการเงิน จำนวน 4.1 แสนล้านบาท โดยวงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น มีการใช้ไปเกือบเต็มวงเงินแล้ว จึงอาจทำให้ในบางช่วงเวลาระหว่างที่รอเงินจากการระบายข้าว อาจทำให้มีการใช้เงินกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ และทำให้ ธ.ก.ส.ต้องสำรองจ่ายเงินกู้เพิ่มเติมไปก่อน

ดังนั้น เพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีสภาพคล่องและมีการบริหารเงินได้มีประสิทธิภาพ จึงกำหนดให้มีการนำเงินที่ได้จากการระบายผลผลิตทางการเกษตรตั้งแต่ปี 2554/55 เป็นต้นไป ไปชำระคืนเงินทุนแก่ ธ.ก.ส. จำนวน 9 หมื่นล้านบาท ให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วจึงค่อยชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน โดยเงินทุนของ ธ.ก.ส.สามารถนำกลับมาใช้หมุนเวียน

สำหรับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ได้ และ ธ.ก.ส.สามารถสำรองจ่ายเงินกู้ชั่วคราวไปก่อน ระหว่างรอเงินจากการระบายข้าวได้ โดยให้คิดอัตราเงินชดเชยเงินต้นทุนและค่าบริหารโครงการให้กับ ธ.ก.ส.ในอัตราเดิมคือ FDR+1 (2.9875%) ของต้นเงินคงเป็นหนี้ รวมทั้งให้ค่าบริหารโครงการกับ ธ.ก.ส.ในอัตรา 2.25% ของเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปแล้ว โดยกำหนดให้กระทรวงพาณิชย์ทำความตกลงกับ ธ.ก.ส. เป็นคราวๆ ไป

ทั้งนี้ ควรระบุให้ชัดเจนด้วยว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2556 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2554/55 และปี 2555/56 ต้องอยู่ในกรอบวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังรับภาระชำระคืนเงินต้น ดอกเบี้ย จากการกู้ยืมเงิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ และผลขาดทุนทั้งหมด จากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ทั้งในส่วนที่กระทรวงการคลังจัดหาให้และในส่วนที่ใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส.

สศช.จี้ปิดบัญชีไม่เกิน5แสนล้าน

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ทำรายงานความเห็นประกอบเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุม ครม. 3 ข้อเพื่อให้การบริหารโครงการฯมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1.การปิดบัญชีกรณีใดๆก็ตาม ซึ่งกรณีที่ต้องใช้เงินเพิ่มเติม จะต้องปิดบัญชีให้อยู่ในกรอบวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2556

2.กระทรวงพาณิชย์ควรจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน การระบายสต็อกข้าว และกระแสเงินสดของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่มีอยู่ ให้ ครม.รับทราบเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2555, 1 พ.ค. 2555 และ 31 มี.ค. 2555 เพื่อให้ ครม.มีข้อมูลในการตัดสินใจเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ควรจัดทำระบบการกำกับการตรวจสอบการดำเนินงานของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ทั้งกระบวนการให้มีความรัดกุม

แนะจำกัดปริมาณจำนำ-พื้นที่ผลิต

และ 3.เพื่อให้มีการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในระยะต่อไปมีประสิทธิภาพและลดภาระงบประมาณรายจ่ายของโครงการฯ กระทรวงพาณิชย์ ควรพิจารณาจำกัดปริมาณรับจำนำและพื้นที่การผลิตต่อครัวเรือนเกษตรกร โดยเน้นเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวในพื้นที่ที่เหมาะสม ตามประกาศเขตพื้นที่เหมาะสมในการปลูกพืชเศรษฐกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนกำหนดราคา ให้สอดคล้องกับราคาของตลาดโลก เพื่อให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งอื่นๆ และรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้

นายกฯมึนพาณิชย์เสนอรวมโครงการ

แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม. เปิดเผยว่า บรรยากาศในการประชุม ครม. จังหวัดกำเเพงเพชรวานนี้ มีเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ขอให้นำเสนอครม.พิจารณาทบทวนมติเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2556 ในเรื่องของวงเงินรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 ซึ่งวาระดังกล่าวเสนอเข้ามาโดยฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองฯ คณะที่ 3 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) โดย นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ได้ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ในการอธิบายสาเหตุของการนำเสนอวาระดังกล่าวเข้าครม. แต่ปรากฏว่า เมื่ออธิบายจบ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และครม.ก็ยังไม่เข้าใจ

"คือ นายกฯ ถามง่ายๆ ว่า ทำไมคุณต้องรวมข้าวนาปีกับนาปรัง แต่นายบุญทรงตอบไม่ได้ พูดประมาณเกือบ 10 นาที แต่ผลสรุปก็ตอบนายกฯ ไม่ได้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลัง จึงช่วยอธิบาย เพราะว่านายกิตติรัตน์เป็นประธานคณะกลั่นกรองฯ เรื่องนี้ และนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นอดีตรมช.คลัง ก็ช่วยอธิบายอีกคน รวมทั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ก็ช่วยอีกหนึ่งแรง จนสรุปเป็นมติครม.ได้ และ นายกฯ จึงยิ้มได้" แหล่งข่าวครม. กล่าว

มอบ "วราเทพ" รวมข้อมูลชี้แจง

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า นายกฯถามในที่ประชุมครม.นายบุญทรง ก็ตอบไม่ได้ จึงได้มอบหมายให้นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นผู้รวบรวมข้อมูลโครงการรับจำนำข้าวเพื่อช่วยชี้แจงอีกทาง โดยนายกฯ เน้นให้มีการพูดคุยถึงเรื่องโครงการรับจำนำข้าว เพราะยังมีประชาชนรวมทั้งสื่อมวลชนเข้าใจผิดอยู่ จึงมีการพูดถึงเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ

"ปรีดิยาธร"ชี้ดันทุรังเจอหั่นเครดิตแน่

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตัวเลขขาดทุน 2 แสนล้านที่สถาบันจัดอันดับเครดิต มูดี้ส์ ประเมินนั้นถือว่าถูกต้อง แม้ว่าภายหลัง มูดี้ส์ จะออกมาบอกว่าไม่นำมาใช้ในการพิจารณาลดอันดับเครดิตไทยก็ตาม แต่หากรัฐบาลยังคงดำเนินโครงการนี้ต่อไปและขาดทุนเพิ่มสูงขึ้นก็เป็นไปได้ที่จะส่งผลต่อตัวเลขหนี้สาธารณะและ มูดี้ส์ ก็อาจจะนำมาใช้พิจารณาการจัดอันดับเครดิตไทย

"สิ่งที่คิดต่อไปได้ คือ ปีการผลิต 2555/2556 จะขาดทุนอีกเท่าไรหรือในอนาคตจะหยุดหรือไม่ ถ้ายังเดินต่อ มูดี้ส์ จะคิดได้เลยว่าต้องขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท เป็นแบบนี้เรทติ้งก็จะตก ส่วนข้อมูลขาดทุน 2 แสนล้านบาทนั้น อาจจะน้อยกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำ" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

จี้รัฐบาลเลิกโครงการจำนำทันที

เขาเสนอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการรับจำนำ และหาโครงการอื่นๆ ที่สามารถทำให้ชาวนา ได้รับผลประโยชน์ที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยและเป็นการยกระดับคุณภาพชาวนา เพราะว่าการเสียหายจากโครงการนี้ ส่งผลต่อคุณภาพข้าวเสื่อม อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความเสียหายอื่นๆ ซึ่งชาวนาจริงๆ ที่ได้ประโยชน์มีเพียง 1 ใน 3 หรือประมาณ 40% ของงบประมาณโครงการ

"ทางออกที่รัฐบาลจะลดราคาจำนำข้าว จะยิ่งทำให้ชาวนาได้ประโยชน์น้อยลงอีก เพราะส่วนที่สูญเสียจากข้าวที่เสื่อมคุณภาพ อัตราดอกเบี้ย ยังมีอยู่ เพราะข้าวก็ยังเข้ามากองอยู่ในมือรัฐบาล แนะนำว่าถึงเวลาที่ต้องเลิก ทิฐิ เพราะวิธีนี้ประเทศชาติเสียหายมาก หาวิธีอื่นที่ยกระดับชาวนา ถึงเวลาที่ต้องใช้สมองบ้างแล้ว"

เขาเห็นว่า การคำนวณผลการขาดทุนของโครงการ ระหว่างข้อมูลของกระทรวงการคลังและมูดี้ส์ว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่แตกต่างกันและเป็นตัวเลขที่ถูกต้องทั้งคู่ มีเพียงสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณเท่านั้น โดย มูดี้ส์ คำนวณรวมผลสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาหลัง จากการขายข้าวได้ทั้งหมด โดยประมาณการไว้ว่าจะหมดภายใน 4-6 ปี แต่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรคำนวณเพียงการรับจำนำข้าว ปี 2554/55 เพียงปีเดียว

ชี้ขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท

การคำนวณของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร แบ่งเป็นส่วนของต้นทุน ประกอบด้วย วงเงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) จ่ายออกไปเพื่อใช้ในการรับจำนำข้าว ประมาณ 336,000 ล้านบาท รับจำนำข้าวปีการผลิต 2554/2555 ทั้ง ข้าวนาปีและนาปรัง 5,317,684 ล้านตันข้าวเปลือก รายจ่ายในการแปรสภาพข้าว รายจ่ายในการขนส่งข้าวสารไปยังโกดังกลาง รายจ่ายในการเก็บข้าวสาร จนถึงวันปิดบัญชีโครงการ
ดอกเบี้ยที่เกิดจากหนี้ที่ยังค้างอยู่จนถึงวันปิดบัญชีโครงการ และรายจ่ายอื่นๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หักจาก ส่วนของ รายรับ ประกอบด้วย รายได้จากการขายข้าวส่วนที่ขายออกไปแล้ว รวมกับส่วนของข้าวสารที่ยังไม่ได้ขายออก โดยอ้างอิงราคาข้าวในวันที่ปิดบัญชีโครงการ ซึ่งผลปรากฏว่ารายรับน้อยกว่าที่ต้นทุน ซึ่งเป็นผลขาดทุนประมาณ 136,800 ล้านบาท


มูดี้ส์ประเมินขายข้าวหมดใน 4 ปี

ขณะที่สมมติฐานของมูดี้ส์ที่ประเมินว่า การขาดทุนในโครงการจำนำข้าว ประมาณ 2 แสนล้านบาทนั้น ประกอบด้วยการขายข้าวที่เหลือตามราคาเดือนม.ค.-ก.พ. 2556 ขาดทุน 136,800 ล้านบาท รวมกับผลสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากการขายข้าวทั้งหมด โดยประมาณการไว้ภายใน 4-6 ปี ในกรณีที่รัฐบาลรับจำนำข้าว 21.4 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 13-14 ล้านตันข้าวสาร รวมกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ปีละ 6,000-10,000 ล้านบาท ค่าเสื่อมสภาพข้าวทำให้ราคาข้าวลดลง เพราะน้ำหนักลดและคุณภาพเสื่อมอย่างน้อยปีละ 10% คิดเป็น 13,000-15,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลขาดทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมปีละ 19,000-25,000 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าขายข้าวหมดภายใน 4-5 ปี ก็จะส่งผลขาดทุนถึง 200,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับค่าเก็บรักษาข้าวสารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ

"ถึงเวลาเลิกหลอกประชาชน และขาดทุนขนาดนี้ก็ถึงเวลาทบทวน รัฐบาลควรแถลงข้อมูลให้ชัดเจน ถ้าไม่กลัวว่าคนอื่นจะหาว่าตัวเองทำอะไรผิดต่อประเทศชาติ ก็เปิดข้อมูลมา ว่าเหลือเท่าไร จะได้คำนวณว่าในที่สุดขาดทุนเท่าไร มันถึงเวลาพูดให้ชัดซะที"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น