--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รัฐปั้นตัวเลขนาปี กลบขาดทุน !!?

 ข้าวงอก 2.5 ล้านตัน ชี้รัฐบาลปั้นตัวเลขข้าวนาปีเพิ่มมูลค่าข้าวคงเหลือในสต๊อก หวังลดขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2555/56 ส่งผลจำนำข้าว 3 โครงการขาดทุนไม่เกิน 175,000 ล้านบาท ด้าน "บุญทรง" หนีตาย ยอมขายข้าวให้ผู้ซื้อต่างประเทศ

แม้ว่ารัฐบาลจะออกมา "ยอมรับ" ตัวเลขการขาดทุนจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี 2554/55-นาปรัง 2555) จำนวน 136,896.80 ล้านบาท ของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล ชุดของ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังไปแล้วก็ตาม แต่ตัวเลขการขาดทุนดังกล่าวเป็นตัวเลขขาดทุนที่ยังไม่รวมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/56 เข้าไปด้วย โดยโครงการรับจำนำล่าสุดนี้ คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯได้ประมาณการขาดทุนเบื้องต้นไว้สูงถึง 84,071 ล้านบาท ส่งผลให้ผลการดำเนินโครงการรับจำนำทั้ง 3 โครงการ จะต้องมีตัวเลขขาดทุนสูงถึง 220,967.80 ล้านบาท

น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก แสดงความสงสัยตัวเลขข้าวสารที่นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพิ่งค้นพบว่า ไม่มีการลงบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/56 อีก 2.5 ล้านตันถึงที่มาที่ไปของตัวเลขดังกล่าว โดยเชื่อว่า เป็นไปไม่ได้ที่องค์การคลังสินค้า (อคส.)-องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จะไม่ลงบัญชีข้าวที่อ้างว่าอยู่ในระหว่างการสีแปรของโรงสีสูงมากมายถึงเพียงนี้

เพราะหากมีการ "ยอมรับ" ให้ตัวเลขข้าวชุดนี้สามารถลงบัญชีได้ เท่ากับมูลค่าปริมาณข้าวคงเหลือในสต๊อกรัฐบาลปีปัจจุบันจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/56 ที่รัฐบาลยังไม่ยอมนำไปรวมกับผลการขาดทุนอีก 2 โครงการข้างต้น (นาปี 2554/55-นาปรัง 2555) "ลดลงทันที"

ด้านรัฐบาลเองได้พยายามที่จะ "ยืนยัน" การมีอยู่ของข้าวที่ไม่ได้ลงบัญชีจำนวน 2.5 ล้านตัน หลังจากที่ตัวเลขชุดนี้ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว ด้วยการตั้งคณะทำงานตรวจสอบสต๊อกข้าว มี พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ล่าสุดได้มีการประชุมเพื่อกำหนดกรอบการทำงานไปแล้ว โดยมีการประเมินว่า หากนำข้าวสารที่ได้จากการรับจำนำปี 2555/56 ในส่วนที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) กับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) อ้างว่า ลงบัญชีไม่ครบ 2.5 ล้านตันมาคำนวณตามมูลค่าตลาด ณ ราคาตันละ 18,000-19,000 บาท จะมีมูลค่ารวม 45,000-48,000 ล้านบาท เมื่อนำมาหักลบจากตัวเลขขาดทุนปี 2555/56 รอบแรกที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯเคยคำนวณไว้ 84,071 ล้านบาท จะมีผลทำให้ยอดขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/56 ลดลงเหลือ 36,000-39,000 ล้านบาท

"หากเรายอมรับว่ามีตัวเลขข้าวสารยังไม่ได้ลงบัญชีอีก 2.5 ล้านตันเกิดขึ้นมาจริง ๆ แล้ว ผลการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทั้ง 3 โครงการของรัฐก็จะมีตัวเลขการขาดทุนอยู่ระหว่าง 172,896.80-175,896.80 ล้านบาท หรือไม่ถึง 220,967.80 ล้านบาท ตามผลการคำนวณของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ตรงนี้จึงเป็นคำอธิบายที่ว่า ทำไมรัฐบาลจึงมีความพยายามอย่างเหลือเกินที่จะต้องมีตัวเลขข้าว 2.5 ล้านตันเข้ามาเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวคงเหลือในสต๊อกรัฐบาลให้ได้ ส่วนตัวเลขชุดนี้จะมีความเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับผลการตรวจสอบสต๊อกของคณะทำงานชุด พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง แต่ก็เกิดข้อครหาขึ้นมาอีกว่า รัฐบาลตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสต๊อกข้าวของรัฐบาลเอง จะมีความน่าเชื่อถือได้แค่ไหน" แหล่งข่าวในวงการค้าข้าวตั้งข้อสังเกต

ส่วนการประกาศลดราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2556 (จำนำข้าวรอบ 2) ลงเหลือตันละ 12,000 บาท (ข้าวขาว) แหล่งข่าวในวงการค้าข้าวกล่าวว่า น่าจะนำมาจากสูตรการคำนวณสูตรที่ 2 ในระหว่างการหารือเรื่องการลดราคารับจำนำข้าวเปลือกในที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กล่าวคือ คิดราคาต้นทุนตันละ 8,400 บาท บวกกำไรให้เกษตรกร 25% และให้ค่าขนส่งข้าวอีก 10%

"การเลือกใช้สูตรที่ 2 รวมทั้งจำกัดปริมาณข้าวที่ชาวนาจะนำมาจำนำกับรัฐบาล จะช่วยให้รัฐบาลลดภาระค่าใช้จ่ายในการรับจำนำข้าวเปลือกลงไปได้ตันละ 3,000 บาท สำหรับข้าวนาปรังปี 2556 (จำนำข้าวรอบ 2) ที่คาดว่าจะมีคงเหลือค้างอยู่ในมือของเกษตรกรราว 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ คิดเป็นเม็ดเงินรับจำนำที่จะลดลงได้ราว 7,500 ล้านบาท แก้ปัญหาการหมุนเงินจากการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลให้กับ ธ.ก.ส.ที่ไม่เป็นไปตามแผนของกระทรวงพาณิชย์ได้ระดับหนึ่ง" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันว่า ยอดการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกยังเป็นไปตามกรอบวงเงินเดิมที่ให้สำนักงานบริหารหนี้สิน (สบน.) กู้ 410,000 ล้านบาท และจากสภาพคล่องของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 90,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.ยังไม่มีการสำรองเงินเพิ่มเติม นอกจากนี้ แม้ว่าในส่วนของ ธ.ก.ส.จะแจ้งว่า ใช้เงินไปแล้ว 6.6 แสนล้านบาทก็ตาม แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ตั้งงบประมาณชดเชยส่วนที่จ่ายเกินได้ปีละ 100,000 ล้านบาท จึงยังถือว่ายังไม่เกินกรอบวงเงินข้างต้น

"หลังจากที่รัฐบาลตัดสินใจลดราคารับจำนำข้าวลง จะส่งผลให้ราคาข้าวภายในประเทศปรับลดลงบ้างเล็กน้อย ส่วนราคาข้าวส่งออกคาดว่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 500 เหรียญ/ตัน ซึ่งจะส่งผลดีกับการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกข้าวไทย โดยมีการประเมินว่า ตัวเลขการส่งออกข้าวปี 2556 น่าจะเพิ่มขึ้น จากที่วางเป้าหมายไว้ 8.5 ล้านตันได้ แต่ขึ้นอยู่กับแนวทางการระบายของคณะอนุกรรมการระบายข้าวว่า จะมีรูปแบบใหม่อย่างไร" แหล่งข่าวกล่าว

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เข้ามาว่า กรมการค้าต่างประเทศกำลังอยู่ระหว่างจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ตามแนวทางที่ขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ควรจะมีการระบายด้วยการเปิดประมูลรูปแบบอื่น อาทิ การให้ผู้ซื้อต่างประเทศ/โบรกเกอร์ เข้ามาซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาลได้

แต่วิธีการซื้อขายตรงกับผู้ซื้อข้าวต่างประเทศ รัฐบาลไม่อาจจะดำเนินการได้ เพราะอาจจะขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 ดังนั้นจึงมีการประสานไปยังสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ขอให้เข้ามาเป็น "คนกลาง" ในการซื้อข้าวระหว่างผู้ซื้อต่างประเทศกับรัฐบาล โดยใช้ชื่อเอกชนไทยเป็นผู้ซื้อข้าวรัฐแทน เบื้องต้นทางสมาคมตอบรับในหลักการ ต่อจากนั้น นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเสนอต่อที่ประชุม กขช.ต่อไป

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น