การมีหน้าที่เสียภาษีให้แก่หลวงเป็นราชพลี มีนิทัสนะในชาดกที่เล่าไว้ว่า ได้แก่ “บ้านส่วย” อันเป็นสถานที่เก็บภาษีอากรที่มีมาแล้วในพุทธกาล ผู้ใดเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจใน “บ้านส่วย” ที่จะต้องได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ต้องเป็นผู้ที่มีความสื่อสัตย์สุจริตมีความชอบถึงขนาดเป็นที่ประสบพระราชอัธยาศัยจึงจะได้รับพระราชทาน “บ้านส่วย” ดังมีนิทัศที่เล่าไว้อย่างน่าใคร่ครวญเพื่อเป็นแนวทางพิจารณาวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องความ “พอใจ” และ “กิเลส” ของมนุษย์ที่เป็น “นานาจิตตัง” ดังนี้
“ท่านปุโรหิตแห่งพาราณสีนอกราชการ กระทำความชอบขนาดเป็นที่สบพระราชอัธยาศัยของพระเจ้าพระพาราณสี จึงได้รับพระราชทานพรให้เลือกขอรับพระราชทานในสิ่งที่ตนประสงค์ได้ ท่านขอโอกาสกลับมาหารือกันดูก่อนว่าจะขอรับพระราชทานสิ่งใด เพื่อมิให้เป็นที่ขัดใจกันในระหว่างผู้อยู่ร่วมกัน เมื่อมาถึงบ้านแล้ว ท่านก็เรียกประชุมคนในบ้าน คือ ภรรยา ลูกชาย ลูกสะใภ้ และนางปุณณทาสี ตนเอ็งเป็นประทานในที่ประชุม ท่านปุโรหิตผู้เป็นประทาน เปิดประชุม กล่าวถึงที่ได้รับพระราชทานพรจากพระราชา ดำเนินอนุสนธิว่า เราจะขอรับพระราชทานอะไรถึงจะดีและเสนอขึ้นก่อนว่า
“เราจะขอรับพระราชทานบ้านส่วยจะเห็นเป็นอย่างไร”
ภรรยา “ดิฉันใคร่ขอรับพระราชทานรถเทียมโคนมสัก ๑๐๐”
ลูกชาย“ผมใคร่จะขอรับพระราชทานรถเทียมม้าอาชาไนย”
ลูกสะใภ้“ดิฉันใคร่ขอรับพระราชทานเครื่องประดับงามๆ”
นางปุณณาทาสี“ดิฉันใคร่ขอรับพระราชทาน ครกและสาก”
ท่านปุโรหิตไม่ได้รับความเห็นร่วมจากคนของตนเลย ความพอใจของท่านที่จะขอรับพระราชทาน “บ้านส่วย” ไม่อาจทำให้ผู้อื่นคล้อยตามได้ ครั้นจะถือความพอใจของตนเป็นประมาณก็จะเป็นเหตุทำลายความอยู่เย็นเป็นสุขอันเคยมีมาแต่ก่อน ท่านปุโรหิตต้องพิเคราะห์หนักในที่สุดไม่รู้จะชี้ขาดได้อย่างไร ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาถึงความพอใจที่ต่างกันนั้นๆ ดังนี้
-ขอเดชะพระบารมีปกเกล้า
ข้าพระพุทธเจ้า จะรอรับพระราชทานบ้านส่วย
ภรรยา อยากรวยให้รับพระราชทานโคนมหนึ่งร้อย
ลูกชายสำออยให้ขอรับพระราชทานรถม้าอาชาไนย
ลูกสะใภ้อ้อนใหญ่ให้ขอรับพระราชทานอลังการดีๆ
นางปุณณาทาสี คะยั้นคะยอให้ขอรับพระราชทานครกและสาก
เป็นความยากล้นเกล้าล้นกระหม่อมอยู่แล้ว สุดแต่จะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า เถิดพระเจ้าข้า”
พระเจ้าพาราณสีทรงพระสรวล และพระราชทานให้ทุกอย่างแก่ทุกคน
จากเรื่องนี้แสดงว่า ความพอใจแล้วแต่อัธยาศัยของคน ความพอใจที่ประกาศออกมานั้นเป็นเครื่องส่องอัธยาศัย และความพอใจของคนในบ้านเดียวกัน อยู่ร่วมร่มไม้ชายคายังต่างกัน ๕ คน เป็น ๕ อย่าง หากกว้างกว่านั้น เป็นเมือง เป็นประเทศ เป็นโลก จะต่างกันประการไร
อนึ่ง ผู้เขียนขออนุญาตมีความเห็นเพิ่มเติมว่า นางปุณณาทาสีเป็นผู้มีความต้องการตามอัตภาพของตนถึงขนาดคะยั้นคะยอเพียงขอรับพระราชทานเพียง “ครกและสาก” เท่านั้น ทั้งๆที่ถ้ามีความโลภหรือไม่มีความ “พอ” เหมือนเช่นบุคคลอื่นๆแล้วจะขอพระราชทานมากกว่านั้นก็ได้ จึงเป็นบุคคลน่าจะเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญเพราะเป็นผู้ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เรื่องนางปุณณทาสีอาจเปรียบเทียบได้กับลูกศิษย์ที่ขงจื๊อโปรดปรานคนหนึ่งชื่อ “เหยียนหุย” ซึ่งครอบครัวจนมากอาศัยอยู่ในตรอกซอยที่เป็นสลัม ชีวิตของเขายากเข็ญ แต่ลูกศิษย์ผู้นี้ก็มีความพอใจ ซึ่งบางคนอาจอ้างว่าความรวยความจนก็คือชีวิตและคนจนก็ต้องทนอยู่ไปวันๆ แต่ทว่าเหยียนหุยผู้นี้ได้รับความชมชอบนับถือไม่ใช่เพราะเขาทนได้กับภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ แต่เป็นเพราะทรรศนะของเขาต่อการดำรงชีวิตซึ่งคนทั้งหลายจะรู้สึกว่าวิถีชีวิตเช่นนี้ก็คือความยากลำบาก แต่สำหรับเหยียนหุยแล้ว เขารักษาทรรศนะที่เป็นรูปธรรมได้เสมอ ขงจื๊อจึงสรุปว่า บุคคลที่เป็น
ผู้เป็นเลิศ (เสียนเจ่อ) คือคนที่ไม่เคยให้วัตถุปัจจัยมากำหนดชีวิตของตนซึ่งทำให้เขาสามารถรักษาชีวิตอันสงบนิ่งได้”
ในสังคหวัตถุของผู้ครองแผ่นดิน หรือราชสังคหวัตถุ ๔ คือหลักการสงเคราะห์ประชาชนของผู้ปกครอง
๑ สัสสเมธะ คือ พระปรีชาฉลาดในอันบำรุงที่เป็นสมบัติใหญ่ของบ้านเมือง ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร
๒ สัมมาปาสะ ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่นให้คนจนกู้ยืม บำรุงพานิชยกรรมการค้าขายอันเป็นอุบายดังบ่วงคล้องน้ำใจพวกพานิชภายในภายนอกไว้โดยชอบ เป็นทางประกอบพระราชทรัพย์ขึ้นพระคลังและทำความมั่งคั่งสมบูรณ์แห่งพระราชอาณาเขต
๓ ปุริสเมธะ ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามรถ
๔ วาชเปยะ หรือ วาจาเปยยะ ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ น้ำคำควรดื่ม คือ รู้จักพูด รู้จักปราศรัย ไพเราะ สุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์ เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจอันดี และความนิยมเชื่อถือ
นอกจากนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนข้อปฏิบัติสำคัญที่จะทำให้เกิดผล คือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้มีทรัพย์สินเงินทอง พึ่งตนเองได้ เรียกว่า “ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน” หรือธรรมที่เป็นไปเพื่อ
ทิฎฐธัมมิกัตถะ เรียกชื่อเต็มว่า “ทิฎฐธัมมิกัสังวัตตนิกธรรม” มีสี่ข้อด้วยกัน
๑ อุฎฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอันสุจริต มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่อง ตรวจตรา หาอุบายวิธี สามารถจัดดำเนินให้ได้ผลดี
๒ อารักขสัมปทา หมายถึงความพร้อมด้วยการรักษา คือรู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์ทรัพย์ และ ผลงานอันตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม ด้วยกำลังงานของตนไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย
๓ กัลยาณมิตตตา คบคนดีเป็นมิตร คือ รู้จักกำหนดบุคคลในถิ่นที่อาศัย เลือกเสวนาสำเหนียกศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้ทรงคุณมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา
๔ สมชีวิตามีความเป็นอยู่เหมาะสม คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี มิให้ฝืดเคืองหรือฟูมฟาย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้
นอกจากนี้ยังมีหลักการจัดสรรแบ่งทรัพย์ที่ชื่อว่า “โภควิภาค ๔” คือ การแบ่งโภคะโดยจัดสรรออกเป็น ๔ ส่วน ที่ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้อธิบายไว้หนังสือ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ดังนี้
โภควิภาค ๔ คือ การแบ่งโภคะออกเป็น ๔ ส่วน หลักการแบ่งทรัพย์โดยจัดสรรเป็น ๔ ส่วน(Bhogavibhaga fourfold division of money)
๑ เอเกน โภเค ภุญเชยฺย ๑ ส่วนใช้เลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุง และทำประโยชน์(On one part he should live and do his duties towards others)
๒.-๓. ทฺวีหิ กมฺมํ ปโยชเย ๒ ส่วนใช้ลงทุนประกอบงาน(With two parts he should expand his business)
๔.จตุตฺถญจ นิธาเปยฺย อีก ๑ ส่วนเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น (And he should save the fourth a rainy day)
จะเห็นได้ว่าหลักพุทธจริยธรรมทางการเงินและการคลังที่ได้อัญเชิญมาบางส่วนนี้ล้วนเป็น “อกาลิโก” ทั้งสิ้น ถ้าจะได้นำมาปรับใช้เป็นหลักและแนวคิดในการจัดทำนโยบายการสร้างวินัยทางการคลังและจัดสรรงบประมาณรายจ่ายตามนโยบายของรัฐบาลที่เป็นไปตามกฎอนิจจังเพราะทรัพยากรของชาติโดยเฉพาะเงินแผ่นดินที่จะนำไปพัฒนามีอยู่อย่างจำกัดและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น ถ้ามนุษย์ใช้มันด้วย “สติ” และ “ปํญญา” มี “โยนิโสมนสิการ” ดังที่ท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) อธิบายว่าคือ......การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสาย แยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบและโดยอุบายวิธี ให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยโดยปฏิบัติต่อมันอย่างถูกต้องก็จะเป็นปัจจัยที่เกื้อกูลทั้งในการพัฒนาตัวมนุษย์เองและในการนำการพัฒนาที่ยั่งยืนไปสู่จุดหมาย
ฐานะการเงินการคลังของประเทศไทยและชีวิตของประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่คงจะไม่ตกอยู่ความ “อัตคัดขัดสน” ดังในสภาพเช่นในปัจจุบันนี้
ที่มา.นสพ.แนวหน้า
////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น