--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปัญหาสภาพแวดล้อม : ทนยอม ดิ้นรนหนี หรือจะสู้ !!?

ยินข่าวว่าอีกสักระยะหนึ่งรัฐบาลท่านจะปรับคณะรัฐมนตรี แถมยังมีข่าวลือคาดเก็งกันอีกว่ารัฐมนตรีท่านใดจะถูกปรับออก
   
อย่าไปเครียดกับข่าวประเภทนี้ เพราะการทำงานของรัฐบาลนี้มีแนวทางชัดเจนอยู่แล้วว่าทำตามคำสั่งใคร ดังนั้นจะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกันกี่รอบ ๆ ก็ไม่มีอะไรต่างจากเดิม
   
ทิศทางที่เตรียมไว้สำหรับช่วงเปิดรัฐสภาก็คงจะเป็นไปตามแนวทางเดิม
   
ส่วนเรื่องที่หลง ๆ ลืม ๆ ก็จะเก็บเงียบ ๆ ไว้ต่อไป
   
เช่นปัญหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม แม้ขบวนการ CSR จะพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้กับบรรษัทอภิทุนว่าดูแลเอาใจใส่สภาพแวดล้อมอย่างดี แต่ในทางเป็นจริง   ปัญหาสภาพแวดล้อมก็ยังจะรุนแรงต่อไป
   
เมื่อสื่อมวลชนเขียนบ่นเรื่องพวกนี้ หลายคนก็อาจเบื่อหน่าย เพราะรู้ ๆ กันอยู่แล้วว่า อำนาจรัฐในสังคมทุนนิยมนั้น ย่อมจะถูก "ทุน" บงการเสมอไป ไม่ว่าประเทศไหน
   
ในประเทศทุนนิยมศูนย์กลางนั้น การครอบงำบงการจะต้องแนบเนียน ไม่อาจละเมิดกฏหมาย โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม และนี่ก็เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่อุตสาหกรรมของต่างชาติหลายประเภท นิยมมาตั้งโรงงานในประเทศกำลังพัฒนาที่ละเมิดหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายกันได้ง่าย ๆ
   
ในเรื่องทางการเมือง ท่านผู้อ่านคงคุ้นเคยกับ ข้ออ้าง "ข้อจำกัดทางการเมือง"
   
อย่าได้คาดหวังอะไรกับพรรคการเมืองแบบเก่า ๆ ที่ยังต้องพึ่งพาอำนาจ "ทุน" เลย
   
บ้านเมืองไทยเสื่อมโทรมลงทุกวัน ด้วยข้ออ้างเรื่อง "ข้อจำกัดทางการเมือง"
   
ท่านผู้อ่านอาจจะไม่นึกว่า ในทางเศรษฐกิจ ก็มีเรื่องทำนองเดียวกับ "ข้อจำกัดทางการเมือง" เหมือนกัน ซึ่งเราอาจจะเรียกว่า "ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ" ก็ได้
   
คำอ้างเรียกร้องให้พลเมืองในบางท้องที่เสียสละ ต้องยอมทนอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เป็นปฏิกูล ต้องเสียสละพื้นที่ให้สร้างเขื่อนฯ ก็มักจะใช้คำว่า "เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติ"
   
ประเทศทุนนิยมศูนย์กลางเขาก็ถือ "ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ" เหมือนกัน แต่เมื่อพื้นที่หนึ่งรองรับอุตสาหกรรมที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมเต็มที่ ไม่อาจจะเพิ่มเติมข้าไปอีก เขาก็ต้องไปตั้งนิคมในพื้นที่แห่งอื่น
   
สรุปแล้วก็คือ ผลกำไรของธุรกิจ มีความสำคัญเหนือกว่า "ธรรมชาติ" และ "ความเป็นมนุษย์" ของคนในประเทศด้อยพัฒนา?
   
อำนาจรัฐทุกแห่งก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน
   
แล้วพลเมืองเล่า จะมีท่าทีอย่างไรกับปัญหาที่ "ทุน" ทำลายสภาพแวดล้อมหนักอย่างนี้ พูดกันตรง ๆ ไม่ดัดจริต สรุปสิ่งที่ประชาชนจะทำได้มีเพียงสามทาง
   
1. ยอมทน ก็อยู่มันไปกับขยะปฏิกูลมลพิษจนกว่าจะตายไปเอง
   
2. หลบหนี กรณีนี้อาจทำได้สำหรับผู้มีอันจะกิน เช่น ย้ายบ้านหนีจากมาบตาพุด ไปอยู่เมืองเล็ก ๆ ที่ไม่มีโรงงานมาก เช่น นครพนม , หนองคาย , อำเภออมก๋อย แต่ท่านก็ทำมาค้าขายอะไรไม่ได้ใหญ่โตเพราะเป็นตลาดเล็ก
   
3. ลุกขึ้นสู้ ถึงแม้ท่านจะมีกำลังหนีไปได้ แต่สังคมทุนิยมสามานย์ก็จะไม่ปล่อยให้ท่านอยู่อย่างสมถะไปได้นาน มันจะติดตามไปทำลายสภาพแวดล้อมในถิ่นที่อยู่ของท่านจนได้สักวันหนึ่ง
   
เมื่อไม่อยากทนตายเปล่า ไม่มีกำลังทรัพย์จะหลบหนี ก็เหลือทางเดียวคือ "สู้" กับมัน

ที่มา.สยามรัฐ
//////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น