ราษฎร” ของ ปรีดี พนมยงค์
คอลัมภ์ “ประชาชนแดง” โดย สุวิทย์ เลิศไกรเมธี
การปฏิวัติ
2475 โดยคณะราษฎร เป็นการล้มระบอบเก่าและสถาปนาระบอบการปกครองใหม่
คือ“ระบอบรัฐธรรมนูญ”
สยามมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นครั้งแรก คือ
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475
ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทในการจัดวางระบบระเบียบของสัมพันธภาพทางอำนาจในสังคมการเมือง(ต่อไปจะเรียกว่า
ธรรมนูญชั่วคราว) โดยมีหลักการพื้นฐานสำคัญที่สุดคือ
“อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” หรือ “ราษฎร” คือ
“รัฏฐาธิปัตย์” องค์ใหม่ สภาผู้แทนราษฎรเป็นสถาบันการเมืองที่มีอำนาจสูงสุดและใช้อำนาจแทนราษฎร
กษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เรียกว่า
“ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ”
กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐที่มีฐานะเป็นเพียงสัญลักษณ์และถูกจำกัดอำนาจให้มีได้เท่าที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
ตามที่คณะราษฎรได้แถลงไว้ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ว่า
“…คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น
จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป
แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้
นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร…”
การปฏิวัติ 2475 ไม่เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงสัมพันธภาพทางอำนาจภายในรัฐสยามครั้งใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนสำนึกทางประวัติศาสตร์เดิมที่เชื่อว่ากษัตริย์คือผู้นำในการกำหนดวิถีประวัติศาสตร์ดังเช่นในอดีต กลายเป็นราษฎรสามัญชนก็สามารถร่วมกันกำหนดวิถีประวัติศาสตร์ได้ ราษฎรสามัญชนสามารถมีสำนึกความเป็นเจ้าของประเทศและเจ้าของอำนาจ รวมทั้งเป็นผู้นำหรือมีส่วนร่วมในการผลักดันความก้าวหน้าให้แก่ประเทศชาติได้ ดังปรากฏในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ว่า
“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร
ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง
บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก
พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบ...”
ไม่เพียงเท่านั้น
ในสายตาของผู้นำการปฏิวัตินั้นกษัตริย์และเจ้ากลายเป็นพวกกดขี่ ขูดรีด
ถ่วงความเจริญก้าวหน้า
ดังที่คณะราษฎรโจมตีกษัตริย์และพวกเจ้าอย่างดุเดือดเลือดพล่านชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนในประกาศคณะราษฎรฉบับที่
1 ว่า กษัตริย์มีอำนาจอยู่เหนือกฎหมาย
แต่งตั้งญาติวงศ์คนสอพลอไร้ความรู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษกว่าราษฎร
กดขี่ข่มเหงและไม่ฟังเสียงราษฎร ถือเอาราษฎรเป็นทาส ไพร่ เยี่ยงสัตว์เดียรัจฉาน
ทำนาบนหลังราษฎร ผลาญเงินประเทศ หากำไรจากการแลกเปลี่ยนเงินตรา
ปล่อยข้าราชการทุจริต ปกครองโดยขาดหลักวิชา
ล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทำมาหากินฝืดเคือง
ราษฎรเดือดร้อนเพราะถูกขูดรีดภาษีแต่เจ้าหักไว้ใช้ส่วนตัวจำนวนมากและใช้จ่ายกินนอนสุขสบาย
หมิ่นประมาทราษฎรว่าโง่จึงยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าคณะราษฎรให้ความสำคัญกับ “ราษฎร”
โดยจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของ “ราษฎร” ไว้ “สูงสุด”
ทั้งในธรรมนูญชั่วคราวและในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1(ซึ่งเป็นดั่ง
“คำประกาศอิสระภาพ” ปลดปล่อยราษฎรจากการปกครองของกษัตริย์
และเป็นประกาศเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของการปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475)
โดยที่เอกสารทั้งสองชิ้นถูกร่างโดยปรีดี พนมยงค์
ปัญญาชนคนสำคัญที่เป็นมันสมองของคณะราษฎร ในบทความชิ้นนี้ต้องการนำเสนอบางแง่มุมว่า
“ราษฎร” ในความคิดของปรีดี พนมยงค์ คืออะไร
“ราษฎร”
ของปรีดีในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
คำว่า “ราษฎร”
ในบริบทของคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1
หรือในธรรมนูญชั่วคราวก็ตาม มีความหมายเดียวกับคำว่า
“ประชาชน(People)” ดังที่ปรีดี พนมยงค์ ผู้ร่างประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1
และธรรมนูญชั่วคราวอธิบายว่า “...People
ซึ่งเราแปลว่า “ราษฎร””
เพราะคนที่อยู่ใต้อำนาจการปกครองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสยามนั้นเรียกตัวเองและถูกเรียกว่า
“ราษฎร” ราษฎรในทัศนะของปรีดี พนมยงค์ จึงเป็นผู้ไร้อำนาจ
ผู้ที่อยู่ใต้ปกครอง หรือคนในบังคับ ซึ่งจะว่าไปแล้วคำว่า
ราษฎรในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มีความหมายใกล้เคียงกันมากกับคำว่า
“พสกนิกร”
ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำดังกล่าวและคำที่เกี่ยวข้องไว้ดังนี้
“พสกนิกร” หมายถึง
คนที่อยู่ในประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองของประเทศนั้นหรือคนต่างด้าวที่มาอาศัยอยู่ก็ตาม
“พสก” หมายถึง ชาวเมือง พลเมือง
ผู้อยู่ในอำนาจ
“นิกร” หมายถึง หมู่ พวก
“ไพร่ฟ้า” มีความหมายว่า
ข้าแผ่นดินหรือราษฎร
“ไพร่” หมายถึง ชาวเมือง
พลเมืองสามัญ คนเลว
ขณะที่คณะราษฎรให้ความหมายคำว่า
“ไพร่” และ “ข้า” ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ว่าเป็น
“ทาส” ประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นทาสที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น
ตามคำบรรยายในประกาศดังกล่าวทาสเหล่านั้นมีสถานะเป็นเพียงสัตว์เดียรัจฉานที่ต่ำกว่ามนุษย์
เมื่อเราพิจารณาความหมายคำเหล่านั้นจะพบว่า คำว่า “พสกนิกร”
ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นมีนัยยะของการใช้กำลังอำนาจบังคับ
หรือใช้วิธีการอื่นใดเพื่อให้เชื่อฟังหรืออยู่ใต้อำนาจปกครอง นอกจากนั้นคำว่า
“พสกนิกร” ยังมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “ไพร่ฟ้า”
อีกด้วย(โปรดดูรายละเอียดของคำว่า “ราษฎร” “พสกนิกร” “ไพร่” “ไพร่ฟ้า”
“ข้า” “ทาส” เพิ่มเติมในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน)
โดยสรุปแล้ว
“ราษฎร” ของปรีดี พนมยงค์ ก็คือทาสประเภทหนึ่ง มีความหมายเดียวกับคำว่า
“พสกนิกร” ซึ่งก็คือ คนที่อยู่ใต้อำนาจของกษัตริย์นั่นเอง ดังนั้น การปฏิวัติ 2475
โดยการนำของคณะราษฎรก็คือการพยายามทำให้อำนาจสูงสุดเป็นของผู้ไร้อำนาจซึ่งก็คือราษฎรหรือพสกนิกร
ซึ่งมีตัวมีตนอยู่จริงในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามก่อน 24 มิถุนายน
2475
“ราษฎร”
ของปรีดีในทฤษฎีประชาธิปไตย
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าปรีดี พนมยงค์
แปลคำว่า “People” ว่าหมายถึง
“ราษฎร” นอกจากนั้นปรีดี พนมยงค์
ยังเป็นผู้เสนอให้ใช้คำว่า “คณะราษฎร”
ในคราวประชุมก่อตั้งคณะราษฎรที่ปารีส ในปี พ.ศ. 2470
และคณะราษฎรก็ถูกเรียกในเวลาต่อมาในภาษาอังกฤษว่า
“People’s Party” เหตุที่เสนอให้ใช้ชื่อว่า “คณะราษฎร”
นั้น ปรีดี พนมยงค์ ให้เหตุผลว่า
...เพราะผู้ก่อการฯ ทุกคนเป็นราษฎรไทยแท้จริง และสมาชิกคณะราษฎรทั้งหลาย ยอมอุทิศตนและความเหนื่อยยากเพื่อราษฎรให้บรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตย ดังที่นักประชาธิปไตยส่วนมากย่อมทราบว่าประธานาธิบดีลินคอล์นได้สรุปคำว่า “ประชาธิปไตย” ไว้อย่างเหมาะสมว่า “รัฐบาลของราษฎร, โดยราษฎร, เพื่อราษฎร”
(ประธานาธิบดีลินคอล์นใช้คำว่า “...government of the people, by the people, for the people...” ในภาษาไทยโดยมากแล้วมักแปลสุนทรพจน์ของลินคอล์นว่า “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” )
จะเห็นได้ว่า คำว่า
“ราษฎร” ที่กล่าวถึงข้างต้น ปรีดี พนมยงค์ ใช้คำว่า “ราษฎร”
ในความหมายเดียวกับคำว่า “ประชาชน(People)”
ตามอย่างสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ซึ่งเป็นการให้ความหมายของ
“ประชาธิปไตย”
ที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางมาช้านานแล้วว่าเป็นคำจำกัดความของประชาธิปไตยที่กระชับแต่กินความลึกซึ้งที่สุด
ซึ่งเป็นความหมายคนละอย่างกับ
“ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ที่ใช้อยู่ในประเทศไทย
คำจำกัดความแบบประธานาธิบดีลินคอล์นมีส่วนคล้ายกับในสมัยกรีกโบราณ กล่าวคือ
ภาษากรีกโบราณ คำว่า demokratia มาจากคำว่า demos ซึ่งมีความหมายว่า
ประชาชน(people) และคำว่า kratos ซึ่งมีความหมายว่า
การปกครอง(rule) ดังนั้น ประชาธิปไตย(democracy หรือ demokratia) จึงมีความหมายว่า
การปกครองโดยประชาชน(rule by people) นอกจากนั้น คำว่า
“ประชาธิปไตย” ในปัจจุบัน ยังมีความหมายเดียวกับคำว่า
“อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน(popular
sovereignty)”
ตามที่รุสโซ(Jean-Jacques Rousseau;1712–1778) ได้วางรากฐานเอาไว้ในทฤษฎีสัญญาประชาคม
รุสโซกล่าวถึงการที่คนแต่ละคนมารวมตัวกันเป็นประชาคมว่า
“พวกเราแต่ละคนมอบตนเองและอำนาจทั้งหมดให้มาอยู่รวมกันภายใต้เจตนารมณ์อันสูงสุดของเจตจำนงค์ส่วนรวม(general will) ; และเราในฐานะประชาคมก็จะรวมสมาชิกแต่ละคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมดที่มิอาจแบ่งแยกได้ ...และเรียกประชาคมว่ารัฏฐาธิปัตย์"(the sovereign) ...การรวมกันเป็นประชาคม พวกเขาจะได้ชื่อร่วมกันว่าประชาชน(people)...”
รุสโซอธิบายว่า
การที่แต่ละคนเข้าร่วมประชาคมด้วยการมอบตัวเองและสละทุกสิ่งทุกอย่างให้กับประชาคม
ทุกคนก็จะได้รับทุกสิ่งทุกอย่างเทียบเท่ากับสิ่งที่สูญเสียไป
รวมทั้งได้พลังที่เข้มแข็งกว่าเดิมในการปกป้องสิ่งที่แต่ละคนมีอยู่ ซึ่งมีความหมายว่า
ทุกคนต่างมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโดยไม่มีใครที่จะถูกแบ่งแยกหรือถูกกีดกันออกไปจากการมีส่วนร่วมในประชาคมนั้นได้หรือทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของประชาคม
รุสโซเรียกประชาคมดังกล่าวว่า “ประชาชน” (ในความหมายแบบองค์รวม)
หรือเรียกว่า “รัฏฐาธิปัตย์” เมื่อแสดงออกว่าเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด
รุสโซยังยกตัวอย่างอีกว่า ถ้าในรัฐหนึ่งมีคนหนึ่งหมื่นคน
องค์รัฏฐาธิปัตย์ก็คือคนหนึ่งหมื่นคนรวมกันเสมือนเป็นบุคคลคนเดียว(ความหมายแบบองค์รวม)
คนแต่ละคนก็จะมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหนึ่งในหนึ่งหมื่นส่วน
เมื่อกลับมาพิจารณาประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ความตอนหนึ่งว่า
“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร
ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง
บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก
พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบ...” และธรรมนูญชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475 มาตรา 1
“อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”
จะได้ว่า
คำว่า “ราษฎรทั้งหลาย” เป็นพหูพจน์ ไม่ใช่ราษฎรคนใดคนหนึ่ง เป็นการมองราษฎรเป็นปัจเจกบุคคลแต่ละคนซึ่งเป็นใครก็ได้ ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าเป็นใครคนใดคนหนึ่ง การที่ราษฎรจะเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดได้ก็ต้องรวมเอาราษฎรทุกคนเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวเสมือนเป็นบุคคลคนเดียว(เกิดเป็นประชาชนในความหมายแบบองค์รวม) ราษฎรหรือประชาชนในความหมายแบบองค์รวมนี้จึงจะมีฐานะเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดหรือรัฎฐาธิปัตย์ แต่ถ้ามองแยกเป็นคนๆ แต่ละคนก็จะเป็นเจ้าของอำนาจหนึ่งในส่วนของทั้งหมด(ดังที่รุสโซยกตัวอย่างคนหนึ่งหมื่นคน) ทำนองเดียวกัน ราษฎรของประเทศสยามแต่ละคนก็จะมีส่วนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดร่วมกันในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน เพราะราษฎรแต่ละคนล้วนแล้วแต่เสียสละตนเองมารวมตัวกันเป็นประเทศสยาม เสียสละชีวิตปกป้องประชาคมสยามที่พวกเขาเป็นเจ้าของในยามมีภัยจากข้าศึกศัตรู ซึ่งจะได้ว่า
ราษฎรสยามแต่ละคนมารวมกันทั้งหมด=ประชาชนสยาม(ความหมายแบบองค์รวม)=รัฏฐาธิปัตย์
กล่าวโดยสรุป
ราษฎรในทัศนะของปรีดี พนมยงค์ นั้นมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ ความหมายแง่ลบ
คือมีฐานะเป็นแค่ผู้ไร้อำนาจที่ถูกกดขี่ขูดรีดหรือเป็นแค่ “พสกนิกร”
ที่อยู่ใต้อำนาจกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้น ส่วนความหมายแง่บวก คือ
ราษฎรเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด
มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ผู้เป็นองค์ประธานสูงสุดตามอย่างทฤษฎีประชาธิปไตย
ราษฎรของปรีดีในแง่นี้จึงไม่มีที่ว่างให้กับความหมายอื่นใดนอกจากความหมายเดียวกับคำว่า
“ประชาชน(People)”
อย่างไรก็ตาม
ธรรมนูญชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475
เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับเดียวที่ยึดถือหลักการอำนาจสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
รัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ
หลังจากนั้นมาทุกฉบับล้วนแล้วแต่ละทิ้งหลักการอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนไปแล้วทั้งสิ้น
แม้บางฉบับจะเขียนไว้คล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับแรกแต่ความหมายที่แท้จริงหาใช่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนไม่
การต่อสู้ช่วงชิงความเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดจึงยังคงตกค้างมาถึงปัจจุบัน
รายการอ้างอิง
ปรีดี
พนมยงค์,
คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน,
2534.
ปรีดี
พนมยงค์,
บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบอบประชาธิปไตย,
2534.
อรรถจักร์
สัตยานุรักษ์,
การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 - พ.ศ. 2475,
2538
Andrew Heywood,
Politics, 3rd ed., 2007.
Helena Catt,
Democracy in practice, 1999.
JEAN-JACQUES
ROUSSEAU, Discourse on Political Economy AND The Social Contract, 1994.
Lyman Tower Sargent,
Contemporary Political Ideologies : A Comparative Analysis, 2009.
อ่านอีกรอบ: จม.เล่าเหตุการณ์เช้ามืด 6 ตุลา จากหนังสือ'เราคือผู้บริสุทธิ์'
หมายเหตุ: เนื่องในวาระ ครบรอบ 36 ปี 6 ตุลาคม 2519 ‘ประชาไท’ หยิบยกบทบันทึกเหตุการณ์วันนั้น ซึ่งเขียนโดย ชวลิต วินิจจะกูล เป็นตอนหนึ่งจากหนังสือ ‘เสียงจากอดีตจำเลยคดี 6 ตุลา เราคือผู้บริสุทธิ์’ แม้หนังสือเล่มนี้จะเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วในฐานะบทบันทึกประวัติศาสตร์ แรงบันดาลใจทางการเมือง หรืออะไรก็ตาม แต่เมื่อเวลาผ่านเลยไป คนอีกรุ่นอาจไม่ได้มีโอกาสสัมผัสกับงานเหล่านี้ จึงขออนุญาตหยิบยกมาปัดฝุ่นใหม่ โดยเริ่มต้นจากสิ่งพื้นฐานที่สุดนั่นคือ เกิดอะไรขึ้นบ้างในวันนั้น ทั้งในแง่เหตุการณ์และอารมณ์ความรู้สึก
จดหมายจากชวลิต วินิจจะกูล ฉบับที่ 1
เขียนที่บ้าน
...กันยายน 2520
...ที่รัก
ขอบคุณมากครับที่ห่วงใยผม จม.ของคุณผมอ่านด้วยความรู้สึกดีใจที่เพื่อนๆ ยังรักและเอาใจใส่อยู่เสมอ จนถึงวันนี้ก็เพิ่งประมาณเดือนเดียวเท่านั้นที่ผมได้ออกมาสัมผัสความสับสน วุ่นวายของสังคมเมือง แต่ก็มีอิสระ มีชีวิตชีวามากกว่าในคุกเมื่อ 10 เดือนก่อน
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา คุณได้ไปที่ศาลทหารกลาโหมหรือเปล่า ผมไปให้กำลังใจแก่เพื่อนๆ ที่ถูกฟ้อง เขายังยิ้มแย้มแจ่มใสดีจริงๆ ทั้งที่ผมจำได้ว่า เราเคยพูดกันว่า ถูกฟ้องเมื่อไรก็แน่ชัดว่าอีกนานหลายปีกว่าคดีจะสิ้นสุด กำลังใจพวกเขาดีจริงๆ ทั้งๆ ที่รู้อนาคตเช่นนั้น
ผมเห็นเพื่อนๆ แค่ 6 คนจากบางขวาง ไม่ได้พบเพื่อนๆ ที่อยู่มาด้วยกัน 10 เดือน เพราะผู้คุมพาเขาหลบออกทางประตูหลัง วันนั้นผมคิดถึงหลายๆ อย่าง สับสนไปหมด ผมคิดถึงเพื่อนๆ มาก แม้ผมเคยอยู่กับเขามา รู้สึกว่าสำหรับพวกเราแล้วไม่ทุกข์ยากนักหรอก แต่ผมก็อดเป็นห่วงไม่ได้ บางทีนึกถามตัวเองว่าเราจะช่วยเขาได้ยังไง เราจะช่วยเร่งการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเพื่อนๆ ได้ยังไง ผมอยากจะทำอะไรก็ได้ให้ความจริงเปิดเผยสักที แต่ในภาวะการเมืองอย่างนี้ ดูเหมือนเขาจะห้ามพูดความจริงใช่ไหม
จม.ของคุณทำให้ผมพอเห็นทางออกเล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ และต่อตัวผมเองก็ช่วยให้ผมคลายความไม่สบายใจลงไปได้บ้าง
คุณอยากให้ผมเล่าความจริงที่ผมประสบ ผมดีใจที่จะได้เล่าให้ผู้อื่นฟัง แม้จะแค่ 1-2 คนก็ตาม และจะให้ผมเล่าสักร้อยพันหนก็ได้ ผมมีสิ่งที่อยากขอความช่วยเหลือคุณเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือว่า ถ้าคุณมีโอกาสให้คนอื่นอ่านด้วยก็ดี ผมเขียนไม่เก่งนัก แต่ผมขอให้ความจริงปรากฏต่อคนมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งผมคงไม่มีโอกาสทำได้ถนัดนัก จม.นี้เหมือนกับผมเขียนฝากถึงทุกๆ คนที่รักความจริง รักความเป็นธรรม ผมเองยังหวังถึงกับว่า สักวันหนึ่งสิ่งที่ผมเขียนอาจเปิดเผยต่อสาธารณชนได้
10 เดือนที่บางเขน ไม่ได้ทำให้ผมลืมความเจ็บปวดลงได้สักนิดเดียว ตรงกันข้าม ผมได้พบคนที่ถูกถีบกลิ้งลงมาจากชั้น 3 ตึกบัญชี ผมได้ฟังเหตุการณ์บางอย่างจากคนที่ตึกวารสารฯ ตึกอมธ. ผมได้คุยกับคนที่เห็นเหตุการณ์หน้าหอฯ ใหญ่ มีโอกาสได้ทราบเหตุการณ์มากมายหลายแง่มุมที่เกิดขึ้นจริงเมื่อปีก่อน
ที่จริงเพื่อนในคุกคงอยากเล่าเองยิ่งกว่าผมเสียอีก ฉะนั้นเพื่อเขาผู้อยู่ข้างความจริงแต่พูดไม่ได้ ผมจะขอเขียนจม.นี้แทนเขา ด้วยความปรารถนาจะช่วยเพื่อนในคุกอย่างจริงใจ ตอบแทนจิตใจที่ยืนหยัดอดทนของเขา จนกว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะได้ออกมายืนประกาศเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดด้วยตนเอง ต่อหน้าประชาชนมหาศาล
ผมจะเริ่มเล่าตั้งแต่เย็นวันที่ 5 ตุลา 2519...
ผมเห็นใบปลิวกระดาษปอนด์ลงรูปถ่ายที่กล่าวหาว่าพวกเราแสดงละครหมิ่นฯ องค์รัชทายาท ตั้งแต่ตอนประมาณ 18 น. วันที่ 5 ต.ค. ต่อจากนั้นผมได้ดู น.ส.พ. ดาวสยาม (มายืนขายหน้า มธ.ด้วย) ผมเห็นแล้วแค้นมากที่กล่าวหาเราเช่นนั้น คนนับพันเมื่อวันที่ 4 เป็นพยานได้ เราไม่เคยแสดงละครแล้วตบแต่งรูปร่างหน้าตาดังรูปที่พิมพ์ออกแจกนั้นเลย นศ.ปี 1 มธ. ดูตั้งนานไม่เห็นมีปฏิกิริยาอะไร กลับมาเป็นเรื่องราวก็ต่อเมื่อลงใบปลิวและลง น.ส.พ. นี่แหละ ตอนนั้นผมไม่เข้าใจชัดนักว่า เขากล่าวหาเราเช่นนี้ทำไม คิดว่าคงใส่ร้ายป้ายสีกันตามเคย แต่ผมก็รู้สึกเหมือนคนอื่นๆ ว่าเหตุการณ์ตึงเครียดขึ้นทุกที
ต่อมามีใบปลิวนัดว่า วันที่ 6 ต.ค. เวลา 9 น. นัดลูกเสือชาวบ้าน (ลส.ชบ.) และ "ผู้รักชาติ" ทุกกลุ่มไปที่พระบรมรูปทรงม้า ในใบปลิวยังบอกว่า ให้เวลาพวกเราที่ชุมนุมใน มธ.ถึงแค่บ่าย 2 ของวันที่ 6 ให้สลายตัวและเอาตัวผู้แสดงละครมาลงโทษ
ประมาณ 21.30 น. วันที่ 5 ต.ค. ศูนย์ฯ นัดสื่อมวลชนครั้งใหญ่และด่วนที่สุด แสดงหลักฐานและเหตุผลหลายอย่างตอบโต้ข้อกล่าวหาที่ปราศจากมูลความจริงนั้น ให้ผู้แสดงละครเล่าเรื่องราวความจริงทั้งหมด ให้ผู้สื่อข่าวดูใบหน้าและถ่ายภาพผู้แสดงตัวจริงคือ อภินันท์ ว่าไม่เหมือนรูปถ่ายในใบปลิวเลย กรรมการศูนย์ฯ วันนั้นคือ ประยูร ยังแถลงว่าศูนย์ฯ ไม่ใช่ผู้จัด และผู้จัดไม่เคยมีความคิดเช่นที่ใบปลิวกล่าวหา ผู้ทำใบปลิวบิดเบือนจุดหมายการชุมนุมคัดค้านเผด็จการให้กลายเป็นอื่นไปเสีย ตั้งใจจะบิดเบือนความบริสุทธิ์ใจให้กลายเป็นความรุนแรง
สื่อมวลชนซักถามจนหมดข้อข้องใจ ไม่ว่าเรื่องทางการเมืองหรือเทคนิคการแสดงละคร ซึ่งผู้แสดงทำให้ชม
แต่วันต่อมา ความจริงเหล่านี้ไม่มีโอกาสจะตอบโต้เรื่องโกหกได้ เขาใช้วิทยุ 200 สถานีกรอกหูปิดตาประชาชน แล้วเย็นวันที่ 6 ก็เกิดรับประหารเสียก่อนที่ความจริงจะเปิดเผย พวกเขากลัวความจริงเหมือนปิศาจกลัวแสงสว่าง เราอยู่ข้างความจริงเราจึงไม่กลัว ให้โอกาสเราโต้สิ
ค่ำลงทุกที คนที่ชุมนุมอยู่รู้เรื่องราวกันทั่วแล้ว บางคนฟังยานเกราะอยู่ด้วย ทุกคนแค้นและพูดกันโจมตีพวกที่บิดเบือนสร้างสถานการณ์ ความแค้นของเราสะสมพอกพูนขึ้นทุกครั้งที่ชุมนุมแล้วถูกยั่วยุก่อกวนทำร้าย ฆ่าทีละคนๆ
ยิ่งแค้นยิ่งรู้สึกว่า เราต้องการกันและกัน คืนนั้นมีคนอยู่ใน มธ.มากเป็นพิเศษ
เสียงจากเวทีชี้แจงกรณีที่ถูกกล่าวหา เรียกร้องให้ทุกคนอดทนใจเย็นๆ สุขุม ทำอะไรขอให้เข้มแข็งเป็นอันหนึ่งใจเดียวกัน เขามิได้ขอร้องให้อยู่หรือกลับ แต่ใจของผู้ชุมนุมยิ่งคุกรุ่นเข้าทุกที ยังไงๆ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นขอให้อยู่ด้วยกัน เสียสละแก่กัน หลายคนนัดกันอยู่ทั้งคืน บางคนเพิ่งเคยเป็นครั้งแรก บางคนรีบกลับบ้านเพื่อจะรีบมาให้เร็วในตอนดึก บางคนโทร.ไปบอกที่บ้านว่าไม่ต้องห่วง ไม่กลับบ้าน หลายคนจับกลุ่มฟังวิทยุต่อไป เจ็บใจที่ตอบโต้ไม่ได้เลย
22.00 น. แล้ว เหตุการณ์ยังสงบอยู่ ผู้คนเข้ามาสมทบมากขึ้นทุกที มาเพิ่มพลังความแข็งแกร่งให้แก่ที่ชุมนุม เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหานั้น
ที่สนามหลวงตรงกันข้ามรั้ว มธ. เริ่มมี ลส.ชบ. (สังเกตจากผ้าพันคอ) และอันธพาลการเมืองซึ่งมาบ่อยจนหลายคนจำหน้าได้ (ไม่เคยถูกจับสักที) พวกเขายืนจับกลุ่มกันพูดคุยเสียงดัง ตะโกนยั่วยุมาบ้าง ส่วนพวกเรานั่งจับกลุ่มยิ้มอยู่หน้าหอฯ ใหญ่ ใจของเขาคิดอะไรผมไม่ทราบ แต่ผมเชื่อว่า เขากำลังคิดอย่างแน่นอนว่า อีกไม่กี่ชั่วโมงเขาจะได้อุทิศตนเพื่อคนทั้งหมด เป็นการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา ใช่! ชีวิตของเขา
ประมาณ 24 น. อันธพาลที่ชุมนุมอยู่สนามหลวงมีมากขึ้น ทันใดนั้นก็มีเสียงปืน 2-3 นัดจากนอกมธ. คนในสนามฟุตบอลหมอบกันหมด เสียงประกาศให้ทุกคนหมอบนิ่งๆ อย่างไม่ตกใจกลัว ที่ต้องให้หมอบเพื่อมิให้วิ่งกันสับสนอลหม่าน ทุกอย่างยังดำเนินไปเรื่อยๆ มิให้ตกใจแตกตื่น
เราเคยถูกยิงอย่างนั้นมาตั้งแต่ครั้งปลายปี 2517 ที่นี่ ไล่ถนอมเช่นกัน ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกคนจึงยังตกใจวิ่งสับสนไปหมด ผ่านมาปีกว่า 20 มีนา ไม่ว่าขณะชุมนุมหรือขณะเดินขบวน เสียงระเบิดไม่ทำให้ใครหนีเลย ทุกคนหมอบสักครู่เดียวแล้วผุดลุกขึ้นจะวิ่งตามเจ้ามือระเบิดทันทีอย่างไม่ เกรงกลัว
หมดยุคกลัวกระสุนหรือระเบิดแล้ว เพราะในใจมีแต่ความเจ็บปวดท่วมท้น ไม่มีที่ว่างให้ความกลัวอีก
ในใจตอนนั้นนึกแต่ว่า อยากให้ตำรวจจัดการอันธพาลเหล่านั้นเสียที ผมคิดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เช้าวันที่ 6 ตุลา
01.30 น. พวกอันธพาลการเมืองมีมากขึ้น ยังจับกลุ่มที่เดิม แต่ตอนนี้มีตำรวจหัวปิงปอง (ผมไม่รู้เขาเรียกอะไร) ประมาณ 20 คน ยืนจับกลุ่มรวมกับพวกนั้น
ตอนนี้เอง พวกอันธพาลเริ่มปาท่อนไม้ ก้อนหินเข้ามา พยายามปีนรั้ว แต่พวกเราดันออกไป มันยังตะโกนยั่วยุ ก่อกวนบ้าง ด่าบ้าง อย่างหยาบคายฟังไม่ได้
สักครู่ เมื่อเห็นว่าพวกเราเฉยๆ ไม่ตอบโต้ มันก็ชักเหิมเกริม ปาระเบิดขวดและระเบิดพลาสติก 2-3 ลูกเข้ามา เสียงดังลั่นตรงหน้าหอฯ ใหญ่ที่ชุมนุมหมอบลงอีกครั้ง แต่เสียงที่เวทีนี้ยังคงเงียบๆ จนเห็นว่าสงบลง เราจึงเรียกร้องให้ตำรวจจับกุมผู้ใช้อาวุธเมื่อกี้นั้น แต่ตำรวจไม่ทำอะไรเลย ทั้งๆ ที่ยืนอยู่ตรงนั้น เห็นเหตุการณ์ตลอดเวลา จะว่าไม่ผิดกฎหมายก็ไม่ได้ เห็นกันชัดๆ จะว่าผู้ทำผิดหลบหนีก็ไม่ได้ ยังยืนอยู่ด้วยกันตรงนั้นเอง
พวกเราทำอะไรไม่ได้ นอกจากหมอบเฉยๆ ที่ใกล้หอฯ ใหญ่ มีคนคอยชี้แจงไม่ให้ผ่านบริเวณนั้น เพราะอาจได้รับอันตรายจากภายนอก หากจะเข้าออกขอให้ใช้ประตูท่าพระจันทร์แทน พวกนี้คงเป็น หน่วยรักษาความปลอดภัย ไม่มีอาวุธหรอก เพราะไม่ได้มีไว้สู้กับใคร หน่วยรักษาความปลอดภัยมีไว้ "รักษา" ไม่ใช่ "คุกคาม" ความปลอดภัยของใคร โดยมากเป็นคนรุ่นหนุ่ม ผู้หญิงก็มีหลายคน คนสายตาสั้นแว่นหนาเตอะก็เป็นได้ เราไม่ได้มีไว้สู้กับใคร มีไว้คอยคุ้มกันและแนะนำแก่ผู้ชุมนุมว่าควรทำอย่างไรในขณะเหตุการณ์วุ่นวาย
ก่อน 02.00 น.เล็กน้อย พวกอันธพาลพยายามปีนรั้วเข้ามา โยนเศษไม้, กระดาษติดไฟหลายชิ้นเข้ามาเผาป้อมยาม หลายชิ้นตกบนหลังคาป้อมยาม ผมอยู่ในสนามยังเห็นแสงจากเพลิงไหม้ได้ถนัด ดีแต่ว่าพอพวกมันออกไปแล้ว ไฟยังไม่มากพอ พวกเราจึงรีบดับเสีย
ตำรวจยังมีไว้ประดับสนามหลวง ยืนดูเฉยๆ
ไม่มีใครตอบโต้ เพราะไม่รู้จะตอบโต้อย่างไร พวกมันยิ่งเหิมเกริม เพราะผู้รักษากฎหมายไม่ทำอะไร เพียงครู่เดียวจากนั้น พวกอันธพาลกลุ่มเดิมก็คว่ำรถจักรยานยนต์คันหนึ่งที่จอดหน้าประตูรั้ว มธ. จุดไฟเผา เอาโต๊ะเก้าอี้ของแม่ค้าสนามหลวงที่วางทิ้งไว้มาพังทำลายสุมเป็นเชื้อเพลิง อีก เท่านั้นยังไม่พอ มันยังรื้อทำลาย "กำแพงข่าว" หรือแผ่นบอร์ดขนาดใหญ่ที่คุณคงเคยไปยืนอ่านข่าวคราวที่ติดบนบอร์ดนั้นเสมอๆ มันรื้อทำลายจนพังพินาศเป็นชิ้นๆ ทั้งๆ ที่ติดตรึงอย่างแน่นหนามาเป็นเวลาหลายเดือน
พวกอันธพาลใช้เวลามาพอสมควรกว่าจะผลาญทรัพย์สินเหล่านี้ แต่มันไม่มีทีท่าหวาดกลัวจะถูกกระสุนเลย อย่างนี้แล้วจะมากุข่าวว่า ใน มธ.ยิงออกไปแต่กลางดึกได้ยังไงกัน เราได้แต่มอง ปล่อยมันทำลายจนพินาศหมด
ที่เวที-เราประกาศขอร้องให้ตำรวจจัดการตามหน้าที่ อย่าปล่อยให้มีการทำลายทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นของประชาชนต่อหน้าต่อตา เสียงประกาศซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ไม่มีวี่แววว่าคนในเครื่องแบบที่ยืนหัวเราะอยู่จะเข้ามาจัดการอะไร
พวกอันธพาลการเมืองถืออภิสิทธิ์อะไรที่จะงดเว้นไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย บัตรกระทิงแดงกับผ้าพันคอ ทำให้คนอยู่เหนือกฎหมายเชียวหรือ? พวกนี้ทำผิดมาตั้งนานแล้ว แม้แต่เห็นและจับได้คาหนังคาเขาว่าพวกนี้ขนอาวุธก็ยังปล่อย ผิดกับพวกเรา...ถูกมันรุมตีเมื่อตอนปิดโปสเตอร์แต่กลับโดนข้อหาทำความสกปรก จนได้ โอ้ ! นโยบายเลือกใช้กฎหมายหรือไง?
คิดแล้วแค้นใจ ขณะมันรื้อไปเผาไป ยังมีเสียงปืนประปราย มีระเบิดพลาสติกตกเข้ามาใน มธ. เพื่อนๆ เราเอาโต๊ะเก้าอี้จากตึกนิติฯ มาตั้งกำบังกระสุน ข้างหลังมีหน่วยรักษาความปลอดภัยจับมัดข้าวต้มเป็นแถวยาว เพื่อระวังมิให้ใครผ่านไปหน้าหอฯ ใหญ่ พวกเราได้แต่ชะเง้อมองดูเฉยๆ ขณะไฟลุกท่วมทรัพย์สินของประชาชนจนหมด
พวกมันยังไม่หายคลั่ง มันตรงเข้าพังรั้ว มธ. ด้านใกล้พิพิธภัณฑ์จนพังออก 1 แถบ (1 ช่วงระหว่างเสาปูน) เราประกาศดังๆ หนักๆ เพราะผู้พูดคงกำลังโกรธที่ทรัพย์สินของเราถูกทำลาย เผาหมด แต่ไม่มีการจับกุมเลย เหมือนเมื่อคราวพวกกระทิงแดงบุกปล้น มธ. เมื่อ 20 สิงหา 2518 มันเหยียบย่ำทำลายจิตใจและศักดิ์ศรีกันซึ่งๆ หน้า
สุดท้ายที่มันทำอย่างบ้าคลั่ง คือ พยายามเผาป้อมยามอีก ไฟลุกท่วมจนเห็นแต่ไกล แล้วก็กลับไปจับกลุ่มที่เดิม
ตลอดเวลากว่าชั่วโมงที่มันกระทำการทั้งหมดนี้ มีพวกมันอ้างและสมุดปกขาวออกโดยคณะปฏิรูปก็อ้างว่า "ข้างใน มธ.ยิงประชาชนข้างนอกจนบาดเจ็บ" มันจะเป็นไปได้ยังไง? พวกมันจับกลุ่มกระทำการต่างๆ เหล่านี้ริมรั้ว มธ.นี่เอง พังรั้วได้, เข้ามาเผาป้อมยามได้ ผมบอกแล้วว่ามีเสียงปืนประปรายแต่ก็พอที่ทำให้คนในสนามหมอบกันหมด ในขณะเดียวกับที่พวกอันธพาลยังคงทำต่อไปเฉยๆ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ถ้าพวกใน มธ.ยิงล่ะก็ พวกมันต้องล้มคว่ำบาดเจ็บหรือตายแน่ เพราะระยะแค่นิดเดียว แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเราต้องรีบทำที่กำบังกระสุน ในขณะที่พวกมันทำต่อไปเรื่อยๆ อีกอย่างหนึ่ง...ถ้ายิงจากข้างในพวกมันคงวิ่งหัวซุกหัวซุน เพราะรักตัวกลัวตาย คงจะมาทำการรื้อพัง ทำลายเผาเรียบไม่ได้หรอก เพราะไม่ใช่ทำครู่เดียวสักหน่อย การที่มันยังเฉยๆ ก็เพราะพวกมันยิงเองหรือไม่ก็อาจรู้เห็นเป็นใจกับผู้ยิง เรียกให้ชัดคือ ยิงคุ้มกันการทำลายทรัพย์สินประชาชน
ข้ออ้างที่ว่ายิงไปจากข้างใน ถ้าไม่แกล้งโง่ก็ต้องรู้ว่าโกหกชัดๆ
เสียงหัวเราะของมันเสียดแทงใจคนที่ชะเง้อมองดูอย่างบอกไม่ถูก
เวลาประมาณ 04.00 น. ตำรวจมากกว่า 100-200 คน ทั้งหมวกดำ หมวดเบเร่ต์เขียว หมวกแก๊ปและหัวปิงปอง หน่วยปราบจลาจล พร้อมอาวุธครบมือมาถึง มธ. แล้ว ตำรวจล้อมทางเข้าออกมธ.ไว้หมด บ้างยืนเรียงแถว บ้างรวมกลุ่มกันอยู่ บ้างกระจัดกระจาย ทุกประตูมี ตร.ยืนอุดทางเข้าออกไว้ แต่ยังพอมีทางออกได้ทีละ 1-2 คน ส่วนคนเข้ามาใน มธ. นั้น ถ้ามิใช่เพื่อนๆ เราคงไม่กล้าเข้ามาแล้วล่ะ
ไม่นานนัก หลังจาก ตร.ล้อม เสียงปืนดังขึ้นอีก คราวนี้ดังเป็นชุดไม่ใช่ทีละนัดๆ อย่างเมื่อกลางดึก
ผมไม่เคยได้ยินเสียงอย่างนี้มาก่อนเลย นอกจากในหนังสงคราม อาวุธสงครามเท่านั้นที่ยิงในลักษณะนี้ มิใช่เสียงปืนพกแน่นอน
หลายคนพอนึกได้ว่า ปืนตำรวจแน่ๆ ก็ตกใจ นึกไม่ถึงว่ารัฐจะใช้วิธีนี้กับเรา เสียงปืนดังจากสนามหลวงเป็นชุดๆ เป็นระยะๆ ส่วนทางท่าพระจันทร์ยังสงบอยู่
เราจำเป็นต้องอภิปรายเน้นย้ำถึงจุดหมายการชุมนุมว่า พวกเรามีเจตนาบริสุทธิ์ที่จะคัดค้านถนอมกัน ขอให้ ตร.ทำการตามกฎหมาย จับฆาตกรฆ่าช่างไฟฟ้า 2 คนให้ได้ เสียงผู้อภิปรายย้ำว่า การชุมนุมของเราไม่ผิดกฎหมาย เพราะสงบ เปิดเผย ไม่มีอาวุธ
ผมจำได้แม่นว่า ผู้พูดบนเวทีบอกแก่เราว่า กระทิงแดงเป็นผู้ใช้อาวุธสงคราม แต่ผมกับเพื่อนหลายคนเข้าใจดี แม้เขาจะพูดเน้นตรงนี้หลายครั้งก็ตาม
เสียงอาวุธสงครามยิงเป็นชุดๆ กระทิงแดงจะเอามาจากไหน ก็มีแต่ ตร. รู้เห็นเป็นใจกับพวกอันธพาล จึงให้อาวุธแก่พวกมัน หรือไม่ก็...ตร.ยิงเอง
ตำรวจมาล้อมแล้ว มีคนไม่มากนักที่รู้ข้อนี้ บางคนเดินผ่านไปเห็น บางคนเข้าออกมาก็เห็น เพื่อนๆ ทุกคนที่พูดอยู่เวทีก็รู้ บางคนยังถามผมว่าเขามาทำไม? ผมไม่ได้ตอบ เพราะกำลังนับร้อยยิงหนักขึ้น และแถว ตร.ปราบจลาจลหันหน้าเข้าหา มธ. มิใช่หันหน้าเข้าหาพวกอันธพาลที่ยืนอยู่สนามหลวง เท่านี้คงเป็นคำตอบแล้ว
ตำรวจจะยิงเองหรือให้อาวุธใครยิงก็ตาม ความหมายก็เหมือนกับว่า กลไกของรัฐบาล ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กลายเป็นผู้พิฆาตประชาชนไปเสียแล้ว ยิ่งฟังยานเกราะคอยสั่งการยิ่งเจ็บใจ ตร.พวกนี้อยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐบาลหรือสถานีวิทยุทหารกันแน่
ถึงอย่างไร ผมก็เข้าใจดีว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะโจมตี ตร. ในขณะนั้น แม้จะเป็นความจริงก็ตาม เพราะผู้ชุมนุมบางส่วนอาจตกใจ แม้ส่วนใหญ่คงแค้นใจที่รัฐบาลทำกับเราอย่างนี้ และพวกเขาไม่ตกใจก็จริง แต่เรายังหวังกันว่า อาจเจรจากับรัฐบาลให้สั่งยุติการฆ่าเยาวชนและเด็กมือเปล่าใน มธ.ได้ ซึ่งถึงวันนี้คุณก็ทราบแล้วว่า ผมเพ้อฝัน
ขณะนั้นเค้าความรุนแรงเห็นได้ชัดเจนมาก เพื่อนกรรมการศูนย์ฯ เล่าว่า พวกเขาเริ่มหาวิธีระงับความรุนแรง พวกเราไม่กลัวพวกอันธพาลการเมือง แต่ถ้าพวกมันรวมหัวกับตำรวจมาเข่นฆ่าคนมือเปล่าใน มธ. ใครเล่าจะพิทักษ์ผู้ถูกทำร้าย ใครเล่าจะจัดการผู้ทำผิดกฎหมาย ในเมื่อผู้รักษากฎหมายลงมือเสียเอง
ศูนย์ฯ เร่งหาทางเจรจากับรัฐบาล ติดต่อขอเข้าชี้แจงความจริงต่อนายกฯ เสนีย์ และขอให้สั่ง ตร. อย่ามาทำร้ายประชาชน สำหรับใน มธ. เราได้แค่ควบคุมมิให้ผู้ชุมนุมแตกตื่นตกใจ พยายามทำให้สงบแต่เข้มแข็ง ต้องให้ประชาชนยืนหยัดเจตนาบริสุทธิ์ที่จะพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ คัดค้านเผด็จการ ผู้ชุมนุมอยู่ทุกคนไม่เป็นปัญหาเลย เพราะเขาเหล่านี้ผ่านการกลั่นแกล้งก่อกวนด้วยความรุนแรงมาหลายครั้ง เขาเหล่านี้เข้มแข็งมาก
เรายังไม่พูดความจริงว่า ตร. โจมตี เพราะหากเจรจากับรัฐบาลได้ก็จะจัดการปัญหาได้ โดยที่สื่อมวลชนยังไงๆ ก็ย่อมทราบความจริงนอกมธ. อยู่แล้วว่า ตร. ทั้งนั้นที่ยิงเข้ามา
คุณคงเห็นใจพวกเรานะว่า เราไม่ปรารถนาความรุนแรงเลย แม้แต่คำพูดเราก็ระวัง มิต้องคิดถึงการตอบโต้เลย เพราะเราไม่มีอะไรตอบโต้ เราปรารถนาสันติ ชุมนุมต่อไปโดยสงบตามที่กฎหมายอนุญาตอยู่แล้ว
บรรยากาศที่ตึงเครียด ช่วยหล่อหลอมจิตใจของเราให้ประสานแข็งแกร่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จิตใจของเราหลอมรวมกันในเบ้าของความรักชาติ รักประชาธิปไตยและรักประชาชน ผมรู้สึกตึงเครียดอยู่บ้าง แต่ก็รู้สึกว่าบรรยากาศรักใคร่ต่อกันไม่มีคราวใดเหมือนขณะนั้นเลย แม้เราทั้ง 4-5 พันจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลยก็ตาม
เรายังชุมนุมอภิปรายกันต่อไป เราอภิปรายกันถึงการกลั่นแล้งและความรุนแรงที่เราได้รับเสมอมานับแต่หลัง 14 ตุลา 2516 ทั้งสาดโคลน ป้ายสี ทั้งยิง ปาระเบิด ทั้งเป็นรายบุคคลและฆ่าหมู่ ด้วยกลไกทุกอย่างที่พวกกระหายอำนาจมีอยู่ ที่ชุมนุมทุกคนเงียบกริบ คงมีแต่เสียงจากเวทีที่ซ้ำๆ เป็นห้วงๆ ราวกับจะเรียกความทรงจำของทุกคนกลับมา ทุกคนยังหมอบฟังเสียงกระสุนที่สาดเข้ามาเป็นระยะ, หมอบฟังเสียงอภิปราย, คิด, รู้สึกและเจ็บปวด ไม่มีคนตกใจ ทุกคนอัดอั้นความแค้นใจไว้เต็มอก แค้นจนบางคนซบหน้าลงกับพื้นหญ้า แล้วทุบ ทุบให้แผ่นดินตรงนั้นได้รับรู้ความเจ็บปวด
"เราจะสู้ไหม สู้ไหม"
"สู้ สู้ สู้"
เสียงขานรับที่ผมจำได้แม่นยำดังขึ้นทุกครั้งที่เสียงถาม เสียงถามจะดังขึ้นทุกครั้งที่เสียงกระสุนเว้นระยะ ยิ่งยิงเข้ามามาก เสียงตอบขานรับยิ่งหนักแน่นและดังขึ้น ไม่มีใครหลับลงได้ ทุกคนตื่นมาขานคำตอบ "สู้" ดังสนั่น เสียงดนตรีที่กระแทกกระทั้นอย่างรุนแรงขึ้นด้วยความแค้นใจ เสียงดนตรีปลุกเร้าให้คนตื่น เราตื่นขึ้นแล้ว แม้จะเจ็บปวดสุดแค้นใจ แต่เราตื่นขึ้นสู้แล้ว จิตใจต่อสู้เหมือนไฟสุมในดวงใจของทุกคน
เราไม่มีอาวุธ เรามีแต่มือเปล่าและไมโครโฟน เราไม่ใช่จะสู้กับตำรวจคนนั้นคนนี้ แต่เราขอสู้กับเผด็จการทรราชไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เราจึงสู้ต่อไปด้วยเสียงขานรับ และจิตใจของผู้ชุมนุมทุกคน
ทุกคนร้องเพลง ข้างนอกก็ยิงปืน เสียงทั้งสองดังควบคู่กันไปจนถึงตี 5 ครึ่ง
05.30 น. เวลาที่ทุกคนไม่มีวันลืม เสียงดังวี้ด...ผมมองหน้าเพื่อนอย่างตกใจ แต่ไม่ทันพูดก็เกิดระเบิด เสียงบึมดังสนั่นจนหูผมอื้อไปชั่วครู่ พื้นสั่นสะเทือนไปหมด ตอนนั้นฟ้าเพิ่งจะสาง หมอกจางๆ กับควันระเบิดทำให้ผมไม่เห็นที่เกิดเหตุอยู่ชั่วครู่
ระเบิดลงเกือบกลางสนามค่อนมาทางตึกโดม พอควันจางลงผมเห็นผู้หญิงคนหนึ่งนอนเลือดท่วม เพื่อนที่อยู่ใกล้ๆ ที่เกิดเหตุเล่าว่าคนตายและบาดเจ็บเพราะระเบิดลูกนี้มาก เพราะลงมากลางหมู่คนพอดี เสื้อผ้าหลายคนขาด เศษเนื้อหลุดจากร่างก็มี ผมเห็นเพื่อนๆ กำลังเร่งพาคนเจ็บส่งหน่วยพยาบาลเป็นแถวๆ จำนวนมากมาย มีผู้เล่าว่า มันมากเหลือเกิน ใกล้เคียงกับระเบิดเมื่อ 21 มีนา ซึ่งครั้งนั้นตาย 4 คน บาดเจ็บถึง 70-80 คน คนที่เข้าไปช่วยพยุงบางคนร้องไห้ตลอดเวลา บางคนเข้มแข็งพอที่จะช่วยพยุงคนอื่น ทั้งๆ ที่ตนเองก็ได้รับบาดเจ็บ
ที่หน่วยพยาบาล นศ.แพทย์ พยาบาล คร่ำเคร่งวุ่นวายกันใหญ่ เขารับผู้ป่วยไว้มากมาย แต่เครื่องมือที่มีอยู่จำกัดและมิได้เตรียมไว้สำหรับสถานการณ์ถูกฆ่าอย่าง นี้ แต่ทุกคนพยายามทำอย่างดีที่สุด
ผมจำได้ถนัดว่า มีคนวิ่งมาบอกที่เวทีให้ประกาศว่า ต้องการเลือด แต่เพื่อนหมอมหิดลยับยั้งไว้เพราะว่าคนจะตกใจเปล่าๆ หน่วยพยาบาลไม่มีอุปกรณ์ถ่ายเลือด ประกาศไปก็ไร้ประโยชน์ คนเจ็บต้องการโรงพยาบาลด่วน เขายังมีโอกาสมีชีวิตอยู่ ถ้าได้รับการช่วยเหลือด่วน...
เสียงประกาศเรียกรถไปช่วยรับคนเจ็บซ้ำหลายครั้ง รถก็ยังไม่พอ ราวกับจะร้องไห้ เมื่อต้องการพูดว่าระเบิดลูกนี้ทำให้เพื่อนเราตายทันที 3-4 คนและอาการสาหัสอีกหลายคน ผมเห็นคนร้องไห้ให้กับอาชญากรรมเมื่อกี้นี้ เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ทำไมต้องฆ่าเราอย่างทารุณ เพื่อนหญิงคนหนึ่งคุกเข่าลงร้องไห้ทันทีที่เสียงแตรรถลำเลียงคนเจ็บดังลั่น แล้วรถผ่านหน้าเธอไปด้วยความเร็วที่สุด ยังมีคนเจ็บเล็กๆ น้อยๆ อีกหลายคนที่ยังอดทนยืนหยัดใน มธ.ต่อไป
หลังจากระเบิดลง เสียงปืนเงียบสงบไปราว 10 นาที เราอาศัยโอกาสนั้นค่อยๆ ทยอยผู้คนเข้าตามตึกต่างๆ ให้หมด ผู้ชุมนุมต่างแยกย้ายเป็น 2 ข้างเข้าตึกวารสารฯ และตึกบัญชี หลังจากนั้นมันก็ระดมยิงเข้ามาอีกอย่างหนักยิ่งกว่าเดิม คราวนี้ไม่มีเว้นช่วงหยุดยิงอีกเลย เสียงอาวุธร้ายยิงเข้ามาเป็นชุดๆ ไม่มีเว้น และเสียงดังอึงคะนึงไปหมด ไม่ใช่ปืนแค่ 2-3 กระบอกอย่างแน่นอน
ความรุนแรงของอาวุธถึงกับทำให้กำแพงกระจุยกระจาย เศษอิฐ หิน ปูน ฟุ้งและร่วงกราวตามพื้น ตึกบัญชีถูกระดมยิงทั้งจากทางประตูหอฯ เล็ก และที่ร้ายกาจมากคือ มีการยิงจากตึกสูงข้างกำแพงทึบระหว่าง มธ. กับพิพิธภัณฑ์ (ตึกนั้นอยู่ในเขตพิพิธภัณฑ์) ยิงผ่านช่องกว้างระหว่างหอฯ ใหญ่กับตึกนิติฯ เข้ามา สาดเต็มตึกบัญชี
เพื่อนที่ตึกบัญชีคาดไม่ถึงว่าพิพิธภัณฑ์จะถูกใช้เป็นแหล่งกำลังด้วย หลายคนบาดเจ็บและที่เหลือต้องรีบเอาโต๊ะเก้าอี้มาตั้งกำบังกระสุน กระสุนจากตึกพิพิธภัณฑ์นี้เองที่ทำร้ายพวกเรามากมายในวันนั้น
ยังมีระเบิดเป็นช่วงๆ คราวนี้ไม่ใช่ระเบิดขวดอีกต่อไป อาวุธหนัก ปืนกล ระเบิดสังหาร ขนมาเข่นฆ่าเยาวชนมือเปล่าอย่างหนัก แต่ละครั้งพื้นสั่นสะเทือน ควันคละคลุ้ง คนเจ็บจากหน้าหอฯ ใหญ่ยังถูกลำเลียงมาอย่างทุลักทุเลไม่ขาด ภาพความสยดสยองผ่านตาผู้ชุมนุมไม่ขาดระยะ
ยิ่งกว่าสงคราม เพราะที่นี่ฆ่าหมู่ฝ่ายเดียว ฝ่ายหนึ่งหมอบรอกระสุน อีกฝ่ายยิงไปสูบบุหรี่ไปอย่างเลือดเย็น
ผมเห็นภาพของตำรวจหลังออกจากคุก ท่ายิงอย่างสบายใจทั้งนั้น บางคนแบกปืนยิงรถถังทั้งๆ ที่ใน มธ. ไม่มีรถถังสักคัน
หรือเขาอาจจะคิดว่า มีรถถังใต้หอฯ ใหญ่ มีเรือดำน้ำอยู่บนแท็งก์และในอุโมงค์ มีขีปนาวุธที่ยอดโดม !
เรายังพูดประกาศย้ำจุดประสงค์การชุมนุมของเรา ผู้พูดพยายามบอก ตร.ว่า เราทำตามกฎหมายทุกอย่าง ขอให้ ตร.หยุดยิง
แต่ไม่มีประโยชน์...
ประมาณ 06.00 น. กระสุนสาดมาหนักเกินกว่าโต๊ะเก้าอี้จะกำบังได้ หลายคนพยายามหาทางเข้าไปในตึกเพื่อหลบในห้องเรียน
หน้าหอฯ ใหญ่ เสียงปืนดังมาเกือบชั่วโมงแล้ว คงจะสุดทนทานได้ มีคนเล่าว่า พวกอันธพาลภายใต้การระดมยิงคุ้มกันโดย ตร. เข้ามาพังประตูด้านหอฯ ใหญ่ได้ตั้งแต่ตอนนี้แล้ว ครู่ต่อมาพวกอันธพาลจำนวนหนึ่งจึงกรูกันเข้ามาตั้งหลักหน้าหอฯ ใหญ่ แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ข้างนอก
ประตูด้านอื่นถูกปิดตาย แม้จะเจรจากับตำรวจขอออกนอกมธ. ตร. ไม่ยอม ปล่อยให้ถูกยิงต่อไป
ขณะผมเห็นพวกอันธพาลเริ่มเข้ามาถึงหน้าหอฯ ใหญ่ได้ ผมตกใจว่าเพื่อนๆ ที่ทยอยคนถอยเข้ามานั้น ยังมีบางคนไม่ยอมถอย ป่านนี้เขาคงไม่เหลือสักคนเดียว
ข้อกล่าวหาที่ว่า ใน มธ. ยิงออกไป คุณลองคิดดูว่า มธ. มีกำแพงกำบังมีที่ตั้งกำบังแน่นหนา หอฯ ใหญ่อยู่ระดับสูงกว่าสนามหลวง ที่สนามหลวงซึ่งพวกอันธพาลและ ตร.อยู่ มีแต่ต้นมะขามเท่านั้นที่กำบังกระสุนได้ ถ้า นศ. มีอาวุธ เอ็ม. 16 หรือระเบิดจริงล่ะก็ คงทำให้ ตร.ตายนับสิบ แต่ความจริงคือพวกเราตายเป็นร้อย ในขณะที่ตร.ตายแค่ 2 ซึ่งไม่ทราบว่าถูกอะไรตาย ความรู้แค่คนเคยเรียน รด. อย่างผมก็รู้ได้ในเรื่องง่ายๆ อย่างนี้ ซ้ำรอง อตร.แถลงเมื่อ 8 ตุลา 19 เอง ยอมรับว่า ตร.เข้าตรวจค้น ไม่รู้ นศ.เอาอาวุธไปซ่อนไว้ไหน แต่พอทหารเข้าค้นพบอาวุธมากมายแม้แต่พุ่มไม้ข้างตึก
ถ้า ตร.ไทยไม่โง่ ก็แสดงว่าอาวุธที่พบถูกนำเข้าไปหลังจาก ตร.ค้น
พูดขัดกันเองไปๆ มาๆ โกหกอย่างไร้เหตุผล
ความจริงคือ พวกเราไม่มีอาวุธ เพื่อนที่หน้าหอฯ ใหญ่คงเฝ้าอยู่ตรงนั้น ไม่มีใครถอยหนี เขาตอบโต้อะไรไม่ได้เลย เพียงแค่ทำให้ ตร.รู้ว่าตรงนั้นมีคนอยู่จะได้ไม่กล้าบุกเข้ามา เพื่อถ่วงเวลาให้แก่เพื่อนๆ ข้างในที่กำลังหาทางออก ทุกคนคงจะคิดรู้อนาคตว่าจะต้องเสียสละชีวิตแน่นอน และเขาก็ถูกยิงทีละคนๆ จริงๆ
ผมได้ดูภาพพวกเขาไม่กี่วันมานี้เอง นอนตายตรงโคนต้นไม้หน้าหอฯ ใหญ่ บางศพตายังไม่หลับ คล้ายจะจ้องดูมันอย่างเอาเลือดเนื้อ บางศพก็สงบคล้ายจะภูมิใจว่าได้อุทิศตนเพื่อประชาชนที่เขารักแล้ว
ยังไม่จบหรอก แต่ฉบับนี้ยาวมากพอแล้ว ผมจะเขียนมาเล่าต่อให้จบเร็วๆ นี้ ผมทราบว่าคุณคงอยากจะได้อ่านเร็วๆ ที่สุด ผมจะทำตามที่คุณปรารถนา และคงต้องพยายามรวบรัดให้จบเหตุการณ์ในฉบับหน้านี้ ฝากความคิดถึง...., ....., ..... กับ ..... ด้วยนะ บอกเขาด้วยว่าจะเขียนจม.ไปคุยด้วย แต่สำหรับ..... ผมไม่มีที่อยู่ของเขา ถ้ายังไงขอความกรุณาคุณช่วยเขียนบอกมาด้วยนะครับ
รัก
ชวลิต
จดหมายจากชวลิต วินิจจะกูล ฉบับที่ 2ที่บ้าน
....ตุลาคม 2520
....ที่รัก
ผ่านพ้น 6 ตุลา มาไม่กี่วัน ผมอยากไปทำบุญเมื่อเช้าวันนั้นด้วย แต่แม่ผมขอร้องว่าอย่าเพิ่งเลย อยู่ที่บ้านดีกว่า ผมไม่อยากขัดใจแม่ แม่ห้ามด้วยความห่วงใยผมมาก ผมออกไปคุยกับ...ที่บ้านเขาแทน นึกอยากจะไปนั่งดูความหลังในมธ. แต่ก็เกรงว่าแม่จะห่วงไม่ต่างกับการไปทำบุญที่สนามหลวง ผมเลยตัดใจไม่เข้าไปในมธ.
แม้วันที่ 6 ผ่านไปอย่างเงียบๆ ภายใต้ภาวะการเมืองอย่างทุกวันนี้ แต่ใจผมไม่เงียบด้วยหรอก ใจผมยังร่ำร้องที่จะหาทางตอบแทนโทษกรรมของผู้ทำผิดในวันนั้นให้ได้ และตอบแทนความอดทนยืนหยัดของเพื่อนๆ ในคุกให้ได้ด้วย ผมขอให้วันนั้นมาถึงเร็วๆ เถอะ
ฉบับก่อน ผมเล่าถึงประมาณ 6.00 น. เช้าวันที่ 6 ตุลา ผมจะเล่าต่อเลยนะครับ...จะพยายามให้จบ
6.00 น. เศษ สุธรรมขึ้นเวทีครั้งสุดท้าย ให้กำลังใจแก่ผู้ชุมนุมและจะไปพบนายกฯ เสนีย์ เจรจาขอให้หยุดยิง ขณะพูดอยู่ สุธรรมเกือบถูกกระสุนจึงต้องหมอบราบกับเวที พูดต่อจนจบแล้วออกไปจากมธ.
ตร. พาตัวสุธรรมกับเพื่อนๆ ไป แต่ยังไม่ยอมให้ใครออกอีกเลยแม้แต่ผู้บาดเจ็บ
ระเบิดสงครามลงใกล้หอฯ ใหญ่ เข้ามาบริเวณสนามบอล ควันดำโขมง เห็นเพื่อน 2 คนล้มกลิ้งม้วนออกมาจากกลุ่มควันแล้วแน่นิ่งไป
ประมาณ 6.30 น. พวกเราพยายามเจรจาขอออกนอกมธ. ทางประตูท่าพระจันทร์ แต่ ตร.ไม่ยอม
มีคนพยายามหาทางออกทางน้ำหลายร้อยคน แต่ ตร.กลุ่มหนึ่งวิ่งมาบนท่าเรือแล้วยิงขู่ลงน้ำ ต่อมามี ตร.น้ำแล่นเรือมากลางแม่น้ำแล้วยิงเข้าใส่ มธ. ทั้งยังแล่นไล่จับคนที่ลอยคออยู่ในน้ำด้วย
ขณะนั้นในแม่น้ำไม่มีเรืออื่นเลย เพราะตั้งแต่เช้ามีคนพยายามหนีโดยขอความช่วยเหลือจากชาวเรือแถบนั้น ตร.น้ำแล่นมาพบจึงประกาศห้ามเรือทุกลำในบริเวณนั้นช่วยเหลือพวกเราอย่างเด็ด ขาด ซ้ำยังไล่เรือทุกลำออกจากบริเวณทั้งหมด
รถพยาบาล 5-6 คันที่ลำเลียงคนเจ็บตั้งแต่ถูกระเบิดเมื่อ 05.30 น. ยังออกจากมธ.ไม่ได้ คนที่ทราบต่างรู้สึกเจ็บใจเหลือเกิน ผมโกรธอย่างบอกไม่ถูก เราขอร้องให้ตร.ยอมให้เราพาคนเจ็บส่งโรงพยาบาล ขอร้องจนกลายเป้นอ้อนวอนเพื่อเห็นแก่ชีวิต
เสียงอ้อนวอนไม่ทำให้ความบ้าคลั่งลงลง ตร.ไม่ยอม
ผมทราบภายหลังว่า รถพยาบาลตั้งแต่ 05.30 น. ออกไปได้บ้างไม่กี่คัน แล้วมีคำสั่งห้ามมาจากเบื้องบน ยิ่งนาน คนบาดเจ็บยิ่งมาก ที่สาหัสต้องนำส่งโรงพยาบาลมากจนรถไม่พอ ต้องประกาศขอรถของใครก็ได้ไปช่วยลำเลียงผู้บาดเจ็บโดยด่วน
ถึงแม้จะมาสักกี่คน แต่ก็ถูกสั่งให้จอดรอจนคนตายอยู่ที่ท่าพระจันทร์
ในรถเลือดเปรอะเต็มไปหมด หมอ พยาบาลจำเป็นจากมหิดลได้ฝึกงานครั้งสำคัญในชีวิตกับคนเจ็บที่ไม่มีอุปกรณ์ ช่วยเหลือเลย ยิ่งนานยิ่งทำให้เพื่อนหมอและพยาบาลกระวนกระวาย ทุกข์ใจหนักขึ้นทุกที
พยาบาลบางคนนั่งร้องไห้ เขารอแล้วรออีกเพื่อจะพาคนเจ็บไปโรงพยาบาล ไม่ใช่รอให้คนตาย แต่มนุษยธรรมไม่มีในใจ ตร.ใหญ่โตที่ท่าพระจันทร์เลยสักคน หมอและพยาบาลของเรา ได้รับการอบรมให้มีมนุษยธรรม เห็นใจคนทุกข์ยาก เขามีจรรยาบรรณที่จะต้องช่วยชีวิตคน ทุ่มเทตนเองให้แก่คนไข้ ถ้าช่วยไม่ได้หมอทุกคนคงจะเป็นทุกข์อย่างมาก
ที่นี่...นศ.แพทย์ พยาบาล เริ่มต้นอาชีพในอนาคตด้วยการนั่งมองคนตายลงทีละคน
คนเหล่านี้จะไม่ตายเพิ่มสักคนเดียว ถ้าได้ไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ไม่ยากเลยที่จะรักษาชีวิตของคนเหล่านี้ไว้ แต่ใจของพวกกระหายเลือด พวกมันฆ่าคนอย่างเลือดเย็นที่สุด
เลือดเย็นที่สุด
ระเบิดลูกนี้ฆ่าคนทันที 3-4 คน และตายในรถอีก 3-4 คน ทั้งๆ ที่ชีวิตของเขามีค่าสำหรับประชาชนมาก
เวทีว่างเปล่า เพราะต้องหลบกระสุนลงไปข้างหน้า แต่ยังคงพูดแข่งกับเสียงกระสุนอยู่ เราอภิปรายกันทิ้งท้ายว่า ขอให้ทุกคนจดจำวันนี้ไว้ พวกเราไม่ต้องการเผด็จการ เราสืบทอดเจตนาวีรชน 14 ตุลา แต่กลับถูกปราบปราม
ตลอดจากนั้นตั้งแต่ 6.30 น.เศษ จนถึง 8.00 น. ที่เสียงจากเวทีเงียบหายไป ทุกคนจะได้ยินคำพูดเพียงข้อความเดียวเหมือนๆ กันหมด ผมจำได้ขึ้นใจ เพราะพูดนับสิบนับร้อยครั้งว่า
"พี่ๆ ตำรวจครับ กรุณาหยุดยิงพวกเราเถิดครับ เราชุมนุมอย่างสงบสันติ เราไม่มีอาวุธ ตัวแทนของเรากำลังเจรจากับรัฐบาลอยู่ อย่าให้เสียเลือดเนื้อมากกว่านี้เลย ขอความกรุณาหยุดยิงเถิดครับ"
ประมาณ 7.00 น. อันธพาลและ ตร. หลายสิบคนขึ้นรถผ่านประตูเข้ามา วิ่งกรูลงมาจากรถทั้งในและนอกเครื่องแบบ คราวนี้เอาอาวุธหนักเช่นปืนกล มาตั้งอยู่หน้าหอฯ ใหญ่ ระดมยิงเข้ามา
พวกที่หลบอยู่ตึกบัญชีถูกระดมยิงใส่จนทนไม่ไหว พยายามหาทางขึ้นบนตึก อาศัยกำแพงตึกเป็นที่กำบัง บ้างก็พยายามหลบเข้าห้องต่างๆ ที่ชั้นล่างซึ่งมีน้อยไป
ประตูทุกห้องแม้แต่ชั้นล่างปิดสนิท ต้องเสี่ยงกระโดดเข้ากระแทกบานประตู หรือไม่ก็ต้องทุบกระจกแล้วโดดเข้าไป กระสุนเข้าร่างบางคนที่กำลังพยายามเปิดประตู เขาวิ่งชนจวนจะสำเร็จอยู่แล้ว แต่ไม่ทัน... ! เขาถูกยิงตายตรงนั้น เขากล้าหาญ เอาชีวิตของตนเข้าแลกเพื่อความปลอดภัยของเพื่อนๆ
มีคนพุ่งเข้าชนกระทั่งประตูพัง คนที่เหลือรีบวิ่งหลบกระสุนเข้าไป ยังมีอีกหลายร้อยคนวิ่งหลบกระสุนขึ้นไปหลบในห้องต่างๆ ทั้ง 4 ชั้น คนเต็มไปหมด ได้แต่หมอบ อุดหู และรอรับกระสุนที่ระดมยิงเข้ามา
ถามเพื่อนๆ ที่อยู่ตึกบัญชี ไม่มีสักคนที่คิดว่าจะรอดมาได้ เห็นคนถูกยิงหลายคน คนบนตึกที่ถูกยิงส่วนใหญ่แค่บาดเจ็บไม่ถึงตาย ไม่มีใครพูดอะไรกัน ได้แต่มองและคิด คิดถึงหนทางที่ก้าวเดินมา และถูกพิสูจน์แล้วอย่างชัดเจน คิดถึงชีวิต คิดถึงเพื่อน ทุกคนทั้งแค้นระคนเสียใจ บางคนตื่นตกใจด้วย เพราะชั่วชีวิตไม่เคยพบสงครามเช่นนั้นมาก่อนเลย หนุ่มสาวหลายคนร้องไห้อย่างไม่มีอาย ในภาวะเช่นนั้นผมไม่แปลกใจเลย
ร้องไปเถิด ร้องให้ดังๆ ถ้ามันจะแข่งกับเสียงปืน ให้คนข้างนอกได้ยินและรู้ว่าเราถูกยิง เราถูกฆ่าข้างเดียว
ล่วงถึง 7.00 น. เศษ ประยูร อัครบวร เจรจากับ พ.ต.อ.ประยูร โกมารกุล ณ นคร ขอให้ผู้หญิงและเด็กออกจากมธ. พ.ต.อ.ประยูรไม่ยอมแต่วิทยุไปสอบถามผู้ใหญ่ ทั้งๆ ที่ตนเป็นถึงรองผู้การนครบาลเหนือก็ตาม
ผู้คนพยายามหาทางออกในขณะนั้น จนในที่สุด ตร.กั้นไม่ไหว ผู้คนกระจายออกทางประตูท่าพระจันทร์นั่นเอง ซึ่งพอดียังไม่มีการยิงอย่างหนักนัก (ก่อนหน้าการเจรจามีการยิงเข้าไปเพื่อมิให้ใครออกได้ กระทั่งขอเจรจาจึงหยุดยิง) ผู้หญิงและเด็กถูกส่งออกไปเรื่อยๆ โดยไม่ฟังเสียงตำรวจอีกแล้ว จนตำรวจมีคำสั่งให้กระจายกันกวาดจับมาให้หมด จับมานอนคว่ำหน้าอยู่ที่พื้นถนนมหาราช ข้างวัดมหาธาตุ คนไหนเดินเลียบน้ำไปขึ้นฝั่งที่ท่าเรือ จะถูกตชด.คอยดักจับไปรวมกันที่วัดมหาธาตุเช่นกัน
7.30 น. โดยประมาณหรืออาจถึงเกือบ 8 น. เวลาที่ไม่แน่นอน เพราะจำไม่ได้หนึ่ง และเพราะวันนั้นไม่ค่อยมีใครดูเวลา บางคนพยายามวัดความรู้สึกว่านานเท่าไรก็ตอบไม่ได้ เพราะทุกคนรู้สึกเวลามันนานแสนนานเกินกว่าเป็นจริง
ตร.ทยอยเข้ามาข้างสนามบอลหน้าตึกนิติฯ แรกๆ ก็หมอบๆ คลานๆ เข้ามาอย่างช้ามาก หยุดสาดกระสุนใส่อมธ., วารสารฯ และบัญชีเป็นพักๆ เพื่อนๆ ที่อมธ. และสภา นศ.มธ. หลายคนที่มีหน้าที่ดูแลตึก เห็นไม่ไหวจึงเพิ่งถอยหนี ตร.คลานเข้ามาได้แค่ไม่กี่เมตร คงรู้ว่าไม่มีใครยิงตอบโต้ จึงเปลี่ยนเป็นลุกขึ้นนั่งยิงเป็นชุดๆ แล้วลุกเดินสัก 3-4 ก้าว แล้วนั่งลงยิงอีก ผมยังเห็น ตร. พวกนี้ทยอยเข้ามาเป็นแถวๆ เพื่อน ส.ส. ปี 1 มธ. คนหนึ่งถูกยิงใกล้ตาบาดเจ็บสาหัส เพื่อนๆ ต้องรีบพาหลบออกทางหลังตึก เพราะ ตร.คอยดักยิงหากวิ่งผ่านด้านหน้า
ตร.คนหนึ่งปาระเบิดใส่หน้าตึกอมธ. ทำให้ได้รับบาดเจ็บหลายคน รวมทั้งส.ส.ปี 1 มธ. อีกคนเป็นหญิงถูกสะเก็ดระเบิดเต็มร่าง อาการสาหัส ได้ข่าวว่าเธอทุกข์ทรมานอยู่นาน แต่ด้วยใจที่เข้มแข็งอดทน เธอต่อสู้ความเจ็บปวด ให้หมอเอาสะเก็ดออกทีละชิ้นจนหมดร่างและปลอดภัย
ตร. ยังคงเดินเข้ามาช้าๆ ทีละนิดแล้วนั่งยิง ไม่มีทีท่าว่าหลบกระสุนจากนศ.เลย เพราะ นศ.ไม่ได้ยิง ตึกบัญชียังคงเป็นเป้าใหญ่ที่ถูกระดมยิง อีกด้านหนึ่ง ผู้คนอาจถึงพันคนยังหาทางออกจากตึกวารสารฯ ไปสู่ที่ปลอดภัยไม่ได้สักที แต่ ตร.คงยังไม่กล้าพอจึงหยุดแค่ตึกนิติฯ ไม่กล้าเข้ามาเกินกว่านั้น
เวทีถูกระดมยิงด้วยปืนกลและระเบิดใกล้ๆ แต่ไม่มีใครอยู่แล้ว เสียงพูดยังดังจากตึกโดมหลังเวที ยังพูดอยู่อย่างเดิม ขอร้องให้ตำรวจหยุดยิงครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะเราไม่มีอาวุธ
ใครเล่าจะเห็นใจ พวกกระหายอำนาจที่ฆ่าคนอย่างเลือดเย็นเพื่อตัวเองได้เป็นใหญ่น่ะหรือจะเห็นใจ
8.00 น. คนที่อยู่ตึกวารสารฯ พยายามพังกำแพงตึกด้านข้างริมถนนต่อตึกโดมเพื่อหาทางออก เพราะด้านหน้ามีกระสุนผ่านตลอดเวลาจนผ่านไม่ได้ ด้านข้างเป็นกำแพงปูนแต่มีช่องเป็นไม้แข็งทำเป็นซี่ๆ ไว้ พวกเราใช้โต๊ะเก้าอี้ฟาดจนไม้หักทีละซี่ จนเป็นช่องกว้างพอลอดตัวมุดผ่านได้
ตึกโดมตรงข้ามกับตึกวารสารฯ เป็นประตูเหล็ก (ซิป) ล็อกกุญแจอยู่ พวกเราใช้โต๊ะเก้าอี้ฟาดกุญแจจนพัง แต่ยังเปิดไม่ได้ จึงใช้ท่อนไม้ท่อนเหล็กท่อน้ำทำเป็นชะแลงงัดจนประตูง้างเปิดออกเป็น ช่องกว้างพอคนลอดได้สบาย ดูเหลือเชื่อแต่ก็จริงไปแล้ว ต้องใช้เวลาตั้งแต่ 7.00 น.เศษ กระทั่ง 8.00 น. นี่เองจึงพอหาทางออกได้ และเป็นทางเดียวที่ผู้คนจากตึกวารสารฯ หลายร้อยคนและตึกอื่นๆ อีกหลายร้อย ได้ทยอยออกทางริมน้ำไปทางท่าพระจันทร์อีกที
ทางออกเปิดแล้ว ผู้คนวิ่งเข้าตึกโดมออก ทางหน้าต่าง ผ่านสนามหญ้าหน้าโดม แล้วลงน้ำ...
ไม่นานนัก มีกระสุนปืนจากพิพิธภัณฑ์หลังตึกเอ.ที. ยิงใส่ตรงถนนระหว่างตึกวารสารฯ กับตึกโดมซึ่งเป็นทางผ่าน หลายคนตกใจคิดว่าหมดทางแล้ว แต่ความจริงยังไม่ถูกระดมยิงหนักนัก และมีรถโฟล์กตู้อยู่ใกล้ๆ ชายหลายคนวิ่งเข้าหารถแล้วเข็นมากำบังกระสุน หยุดตรงกลางถนนพอดี ให้คนที่ออกจากตึกวารสารฯ วิ่งมาที่รถแล้วค่อยวิ่งเข้าตึกโดมออกมาทีละ 1-2 คน แม้จะช้า แต่เพื่อความปลอดภัยของทุกคน
ตำรวจเดินมาถึงหน้าอมธ. แล้วกราดกระสุนใส่อมธ.
จากนั้น ตร. 2-3 คนกำลังจะวิ่งขึ้นไปบนตึก จารุพงษ์ ทองสินธุ์ กรรมการอมธ. และเป็นกรรมการบริหารศูนย์ฯ วิ่งสวนลงมา ชั่วพริบตาเดียวกระสุนกราดตัดเอวของเขาพอดี
คุณเคยเห็นภาพคนใส่เสื้อ (ชาวเล) สีดำ ถูกอันธพาลใช้ผ้าขาวม้ารัดคอแล้วลากผ่านกลางสนามไหม นั่นละ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อนที่ดีอีกคนหนึ่ง เขาเป็นคนร่าเริง ไม่ค่อยท้อแท้ ชอบพูดจาตลก
วันนั้นเขารับผิดชอบดูแลให้ทุกชีวิตออกจากตึกอมธ.ให้หมด กับคอยรับการติดต่อกลับมาจากทำเนียบของสุธรรมกับพวกที่ไปหานายกฯ เขาคอยอยู่และตรวจตราจนแน่ใจว่าไม่มีใครอีกแล้ว เขารอโทรศัพท์จนวินาทีสุดท้ายจึงรีบออกมา แต่เขาช้าเกินไป เขารับผิดชอบอย่างดีที่สุดแล้ว
เสียงคนพูดเงียบลงหลัง 8.00 น.
คนที่ตึกบัญชียังถูกระดมยิงจนหูอื้อ อยู่ข้างบนตึกไม่ปลอดภัย ยังมีคนบาดเจ็บอยู่เรื่อย และคงมีคนเสียชีวิตด้วย คนที่ตึกนี้ทยอยออกทางใด ก็ไม่ได้ เพราะถูกยิงสาดไล่จนแทบกระดิกไม่ได้
ผมจะเล่าถึงเพื่อนที่ออกจากมธ.ได้เสียก่อน
คนที่เดินเลียบริมน้ำมีนับร้อยๆ คน ส่วนใหญ่ไม่ได้มีทีท่าตกใจนัก ค่อยๆ ทยอยกันออกมา แรกๆ ยังขึ้นฝั่งที่ประตูริมน้ำตึกศิลปศาสตร์เพื่อออกทางประตูท่าพระจันทร์ บางคนวิ่งมาบนสนามหญ้าเลย แต่ต่อมาตร.ใช้ปืนยิงระเบิดยิงมาตกที่สนามหญ้าหน้าโดมหลายลูก บังคับให้คนต้องลงเดินในน้ำหมด มีผู้ได้รับบาดเจ็บที่นี่อีกหลายคน
กลุ่มสุดท้ายราว 20 คน จะวิ่งออกท่าพระจันทร์ ตร.กลับปิดประตูไม่ให้ออกและยิงใส่ทันที คนกลุ่มนี้ต้องวิ่งกลับมาที่ประตูริมน้ำหาทางออกอื่น พอกำลังจะลงน้ำ ตชด.โผล่บนท่าเรือแล้วสาดกระสุนใส่ ทั้งขู่ทั้งยิงจริง ต้องขอเจรจากันครู่หนึ่ง โดยยอมให้ตชด.จับไม่ขัดขืน
ผมออกจากมธ. กลุ่มนี้แหละครับ
ขึ้นจากน้ำที่ท่าเรือ ยังไม่ถูกจับทันทีเพราะชุลมุนอยู่ พวกเราจึงวิ่งผ่านซอยริมน้ำไปถึงศูนย์พระเครื่อง พบพวกเราอีกนับร้อยคนที่ยังไม่ถูกจับ แต่ไปไหนไม่ได้
ผมได้พักที่นี่ชั่วครู่ ทำให้คิดถึงเพื่อนที่ตึกบัญชีนับพันๆ ซึ่งหาทางออกไม่ได้ และผมต้องทิ้งเขาออกมาก่อน ผมร้องไห้ไม่อายใครเพราะกำลังรู้สึกว่าเราทอดทิ้งเพื่อนให้ตกอยู่ท่าม กลางกระสุน ไม่มีทางช่วยเขาได้เลย
จากนั้น พวกเราเริ่ม "เคาะประตู" ขอความช่วยเหลือ ประชาชนร้านค้าท่าพระจันทร์ให้ความช่วยเหลือมากอย่างสุดที่จะทดแทนบุญคุณได้ ช่วยกันรับพวกเราเข้าไปอาศัยมากบ้างน้อยบางรวมหลายร้อยคน บางคนได้เสื้อผ้า น้ำร้อน รองเท้า ผ้าห่ม บางคนได้อาหารมื้อแรก หลายคนไม่ถูกจับตลอดเหตุการณ์เพราะความช่วยเหลือนี้
ย้อนกลับมาที่ศูนย์พระเครื่อง 8.30 น. เศษ ตร.เรียงกำลังบุกเข้ามาทางประตูทางเข้าของศูนย์พระเครื่องและซอยริมน้ำ ยิงเข้ามาพร้อมกัน ผมกับอีกกว่า 50 คนยังไม่มีทางหนีจึงรีบกระโดลงน้ำเกือบ 20 คน อีกราว 10 กว่าคนไปลงเรือหางยาวขนาดเล็กลำเดียวที่เหลืออยู่ในบริเวณนั้นอีกราว 20 คน ผมไม่ทราบจนบัดนี้ว่าหลบหนีไปทางไหนหรือเป็นอะไรไปหรือเปล่า
พอผมลงน้ำเดินไปได้ 4-5 เมตร ระเบิดสังหาร 2 ลูกระเบิดตูมตรงท่าเรือพอดี
ผมเดินไปได้อีกนิดเดียว เป็นท่าน้ำของชาวบ้านแถวนั้น ตชด. 4 คน จ่อปืนลงมาชี้ จี้ให้ขึ้นไปมอบตัว คนหนึ่งถูกตอไม้เล็กๆ ที่มีปลายตะปูปักที่โคนขา ตชด.เร่งบังคับให้ขึ้นจากน้ำ ผมเห็นเขาพยายามเดินต่อแต่ไม่ไหว เขาขยับขาจะให้หลุดจากไม้ แต่กลายเป็นว่าไม้หลุดติดขาเขามาด้วย
เขาร้องอย่างเจ็บปวด หมดกำลังจะปีนขึ้นท่าน้ำแล้ว ตชด.คนหนึ่งขึ้นลำปืนเตรียมยิงทันที
พวกเราช่วยกันร้องลั่น "อย่า ! อย่า!" มีคนกล้าโดดลงน้ำไปช่วยพยุงเขาขึ้นมาอย่างทุลักทุเลที่สุด พวกเราใช้เท้าถีบไม้ชิ้นนั้นจนหลุดจากเขาแล้วพยุงหามกลับไปหมอบหน้าวัด
เรือหางยาวลำนั้นไปได้แค่กลางแม่น้ำก็ล่ม เพราะบรรทุกคนเกินอัตรา บวกกับไม่มีคนบังคับเรือเป็นด้วย บางคนว่ายน้ำไม่เป็น บางคนถูก ตร.จับขณะลอยคอ บางคนพยายามพยุงกันเข้าฝั่งแล้วถูกจับ คนที่ว่ายน้ำไม่เป็นจมหายไป...หลายคน
ตร.บุกเข้าค้นตามบ้านแถบท่าพระจันทร์ 5-6 หลัง กวาดต้อนคนไปนอนคว่ำหน้าที่ถนนข้างวัดอีก
ย้อนกลับมาใน มธ.
8.00 น.เศษนี้ มีคนวิ่งหนีออกทางหอฯ ใหญ่และหอฯ เล็ก ผมเห็นภาพความทารุณที่สุดนั้นแล้ว แต่ผมไม่ได้พบใครที่ประสบเหตุการณ์ที่นั่นเลย ผมจึงไม่ขอเล่าในส่วนที่คุณคงทราบดีกว่าผม โดยเฉพาะได้ข่าวว่าโทรทัศน์วันนั้น ถ่ายภาพเหตุการณ์หน้ามธ.ด้านสนามหลวงไว้ได้มาก
ทั้งภาพกระชากสายน้ำเกลือออกจากร่างคนเจ็บ ภาพเทเปลคนเจ็บลงกับพื้นแล้วรุมกระทืบ ภาพรุมตีประชาทัณฑ์ ยังมีการแขวนคอ กรีดคอจนเหวอะ แขวนคอแล้วเอาเก้าอี้ฟาด รุมตี ข่มขืนแล้วฆ่า จับลากไปเผาทั้งเป็น ฯลฯ
ผมเสียใจที่ไม่ทราบเหตุการณ์ทารุณที่สุดนอกมธ. เลย
ที่ตึกบัญชี หลังจากเสียงประกาศของพวกเราเงียบลงครู่ใหญ่ กลับมีเสียงประกาศผ่านลำโพงยอดโดมของมหาวิทยาลัยว่า
"ผมเป็นข้าราชการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอความกรุณาคุณตำรวจหยุดยิงนักศึกษา นักศึกษาไม่มีอาวุธ กรุณาหยุดยิงเถิดครับ"
สิ้นเสียงประกาศราว 10 ครั้ง ยอดโดมถูกระเบิด 2-3 ลูกซ้อน เสียงประกาศจึงเงียบตลอดไป
9.00 น.เศษ ตำรวจนำกำลังนับร้อยเข้าเคลียร์ทุกตึกทุกห้อง เสียงปืนดังจากตึกต่างๆ เป็นพักๆ
ที่ตึกบัญชี มันระดมยิงทั้งระเบิดและอาวุธปืนใส่อาคารจนสั่นสะเทือนไปหมด ผมถูกจับอยู่ท่าพระจันทร์ ได้ยินคำสั่งประกาศลั่นว่าให้ตำรวจเตรียมตัว จะยิงปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังเข้าใส่ตึกบัญชี พอยิงเข้าไปในสนามบอลซึ่งมีแต่ตำรวจ ก็สั่งยิงตอบโต้ ยิงกันเองไปมาโดยมีพวกเราในตึกเป็นเป้าอยู่ครู่ใหญ่
พวกเราเห็นจะทนไม่ได้ จึงใช้เสื้อขาวชูแล้วโบกให้ ตร.ในสนามบอลเห็น ตร.เพลาการยิงลงแล้ว สั่งให้ลงไปมอบตัวทีละชุดๆ ผู้ชายลงมาก่อนในชุดแรกๆ ผู้หญิงจึงค่อยๆ ตามลงมา และแยกไปรวมกันต่างหากอีกกลุ่ม
ระหว่างแต่ละชุดเดินลงทางบันได มันยังยิงขึ้นไปบนตึก การทยอยลงมาจากทุกชั้นจึงยิ่งลำบากมาก เพราะตึกบัญชีเป็นกระจกโปร่งทั้งนั้นและแตกละเอียดแทบหมดแล้ว แค่วิ่งผ่านระเบียงเพื่อจะลงไปบันไดมอบตัวก็ยังต้องผ่านวิถีกระสุน
คนที่ลงไปได้รับการต้อนรับด้วยพานท้ายปืนและท็อปบู๊ท ระหว่างนั้น ตร.สั่งให้ตชด.บุกขึ้นไปตรวจค้นตามห้อง และหยุดยิงจากในสนามเข้าไป ตชด.ใช้วิธีพังประตูเปิด แล้วกราดอาวุธสงครามเข้าไปก่อน จึงค่อยดูว่ามีคนไหม พวกเราหมอบราบกับพื้นห้อง กดตัวแนบพื้นสนิท เพราะกระสุนผ่านเหนือหัวไปราวกับจะฆ่าเสียให้หมด
เสียงปืน ตชด. ทำให้ข้างล่างนึกว่ามีการยิงต่อสู้ จึงยิงเข้าไปอีก ตชด.เข้าใจว่าพวกที่ถูกจับอยู่ข้างล่างยิงใส่ จึงกราดปืนลงไปถูกผู้ที่ถูกจับหมอบคว่ำหน้าอยู่เฉยๆ บาดเจ็บ กว่าจะรู้ว่ายิงกันเอง ผู้บาดเจ็บคือพวกเราอีก ประสิทธิ์ ตินารักษ์ เพื่อนที่เพิ่งออกจากคุกมาด้วยกันก็ถูกยิงตอนนี้ กระสุนยังฝังอยู่ที่ขาข้างซ้ายของเขาจนบัดนี้
ต้อนลงมาทีละชุด ชุดละไม่กี่คน ผู้หญิงถูกบังคับให้ถอดเสื้อออก อ้างว่าตรวจค้นอาวุธ แต่ความจริงเป็นความบ้าระห่ำ เพราะใจสกปรกสิ้นดีของพวกมันต่างหาก
คนที่ลงมาถูกเตะ ถีบ เหยียบ กระทืบให้ตอบคำถามตามใจมัน เสียงหัวเราะ คำเยาะเย้ยถากถาง และความกักขฬะ พวกเราได้รับทุกคนในเช้าวันนั้น
เวลาแค่นาทีเดียวรู้สึกยาวนานเหมือนวันหนึ่งเต็มๆ ช่างเนิ่นนานกว่าปกติหลายเท่า เพราะความรู้สึกอยากให้ผ่านช่วงหฤโหดที่สุดนี้เสียที
ปฏิบัติการค้น กราดทุกห้องเพื่อให้มอบตัวยังดำเนินต่อไป คนหนึ่งถูกถีบจนล้มคว่ำลงมาตามบันได มันตามมาถีบกลิ้งจากชั้น 3 จนถึงชั้นล่าง
สิ่งที่ทุกคนที่ตึกบัญชีเล่า คือ การฆ่าคนอย่างสนุกมือของ ตร. นศ.กลุ่มหนึ่งวิ่งลงมาตามคำสั่งของมันจนถึงชั้นล่าง โดยไม่มีสาเหตุอะไรมันยิงใส่ทันทีชุดหนึ่ง กระสุนถูกเพื่อน นศ.รามคำแหงล้มลงสิ้นชีวิต และบาดเจ็บอีกหลายคน มันยังยืนจ้องปืนเตรียมยิงต่อไป โดยไม่ได้รู้สึกนึกคิดสักนิดว่ามันได้ทำอะไรลงไป
นานทีเดียวกว่ามันจะจับกุมหมดทุกคน ตร.ผู้ใหญ่สั่งให้ผู้หญิงใส่เสื้อได้ตั้งแต่ยังจับไม่หมด เพราะมีช่างภาพเข้ามา มิใช่เพราะความกรุณาปรานีใดๆ แต่มันกลัวความหยาบช้าสกปรกของมันจะปรากฏไปทั่วโลกต่างหาก ถึงอย่างไรมันก็ปกปิดไม่ได้
ผู้หญิงถูกมันลวนลามรังแก แต่ยากที่จะเอาผิดกับใคร คนอื่นๆ ถูกบังคับให้คว่ำหน้าหมด หากเงยหน้าจะถูกฟาดด้วยพานท้ายปืนหรือไม่ก็ถูกเตะ
ครู่เดียวหลังการจับกุมหมด มีเสียงประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ตร.ว่า "ขณะนี้มีช่างภาพต่างประเทศเข้ามาแล้ว ขอให้หยุดกระทำการทารุณต่างๆ เสีย"
คุณคงเห็นสินะ พวกเขาเองก็ยอมรับว่าทารุณ แต่ก็ยังทำอยู่ กระทั่งเลิกเพราะกลัวความจริงจะเผยแพร่ไปทั่วโลก
ต่อมามีเสียงประกาศอีกว่า "ขณะนี้มีช่างภาพ น.ส.พ. จัตุรัสเข้ามา ขอให้เจ้าหน้าที่ยึดกล้องและฟิล์มไว้"
กระสือกลัวแสงสว่างฉันใด ความอำมหิต สกปรก เลวร้าย ทารุณย่อมกลัวความสัตย์จริง ความบริสุทธิ์ และความเป็นธรรมฉันนั้น
คนที่ถูกจับทั้งในและนอกมธ.ถูกต้อนลากขึ้นรถ ใช้เสียงตวาดและปืนขู่บังคับ ถ้าเดินช้าจะถูกกระทุ้งด้วยด้ามปืน เพื่อนๆ ที่นอกมธ.ทยอยขึ้นรถทีละ 10-20 คน ที่เหลือถูกปืนกราดเหนือหัวข่มขู่มิให้เงยหน้าขึ้นมาเด็ดขาด
คนไหนหลบเข้าวัด จะถูกกิตติวุฒโฑ พา ตร.ไปชี้ตัวแล้วลากออกมาจนได้
ในรถ...ผู้ชายต้องนั่งเบียดกันแน่นทั้งบนที่นั่งและบนพื้นรถ ต้องเอามือประสานกุมท้ายทอยและก้มไว้ ผู้หญิง ตร.จะให้นั่งท่าเดียวกันบนที่นั่ง หลายคนถูกบังคับให้นั่งใกล้ๆ ตำรวจ เพื่อมันจะได้ลวนลามอนาจารตามใจชอบ สกปรกหยาบช้าสิ้นดี
ตร.เดินเหยียบพวกที่นั่งอยู่กับพื้นไปมาหลายรอบ เดินไปด่าไป กระทืบไป บางทีขยับปืนดัง "แกร็ก! แกร็ก!" เพื่อข่มขู่ขวัญ
ตร. สั่งให้รถผ่านวัดพระแก้ว สนามหลวง ราชดำเนินและพระบรมรูปทรงม้า แล้วจึงตรงไปยัง ร.ร.ตำรวจนครบาลบางเขน
เส้นทางที่ว่านี้ มีพวกอันธพาลการเมืองที่ปฏิบัติการเย้ยกฎหมายลอยนวลอยู่ รถจะแล่นช้าๆ ให้พวกอันธพาลใช้อิฐ หินไม้ ทุบกระจก ทุบหน้าพวกเรา ทุบหัวพวกเรา หรือปาเข้ามา บางคันถึงกับจอดให้กรูกันขึ้นมาลงมือซ้อมพวกเราจนหนำใจ จึงค่อยปล่อยรถแล่นต่อไป
มีคนบาดเจ็บจากการกระทำนี้เต็มไปหมด ส่วนใหญ่จะหัวแตก บางคนถึงกับแขนหัก
ท่ามกลางเสียงหัวเราะชอบใจทั้งจากอันธพาลในเครื่องแบบบนรถและอันธพาลการ เมืองมือสวะนอกรถที่ดีแต่รังแกคนไม่มีทางสู้ แม้แต่คนบาดเจ็บมันก็ไม่เว้น...
เพื่อนที่บาดเจ็บเล่าให้ฟังว่า รถออกจากมธ. อ้อมสนามหลวงเพื่อจะข้ามสะพานพระปิ่นเกล้าฯ แต่พอผ่านถนนราชดำเนินหน้าแผงหนังสือที่มีการเผาคนทั้งเป็น เขารู้สึกคนเยอะเหลือเกินเข้ามากลุ้มรุมรถพยาบาลจนแทบขยับไม่ได้ เขาเกือบถูกนำตัวไปรุมซ้อม พวกมันทุบรถ พยายามเปิดประตู แต่คนขับมีมนุษยธรรมพอจึงพยายามชี้แจงและป้องกันผู้บาดเจ็บไว้
เสียงอันธพาลมือชั้นสวะตะโกนว่า "เอามันมาเผา"
เขาคิดว่าคงเป็นวาระสุดท้ายแล้ว แต่ในที่สุดก็ผ่านมาได้อย่างยากเย็น
ยังมีเหตุการณ์หลายแง่มุมที่ผมไม่ได้เห็นหรือได้พูดคุยกับใครไม่ได้ทราบ รายละเอียด เช่น เหตุการณ์เอาลิ่มตอกอก ข่มขืนผู้หญิง รุมตีแขวนคอ เผาทั้งเป็น ฯลฯ
แต่เพียงภาพคงทำให้เข้าใจชัดเจนโดยไม่ต้องอธิบายว่า วันที่ 6 ตุลานั้นเกิดอะไรขึ้น
ผมเขียนมามากแล้วสำหรับฉบับนี้ แต่ที่จริงยังไม่ได้เล่าถึงความทารุณนับแต่วินาทีแรกที่ก้าวลงจากรถสู่ประตู เรือนจำ ไปจนถึงเรื่องราวชีวิตของผู้บริสุทธิ์ที่ถูกจับกุมคุมขัง ไม่ว่าที่บางเขนหรือที่อื่น ต่างมีความคับแค้นใจมากมาย ที่ผมได้ยินได้ฟังมาเอง
ผมจะเขียนมาเล่าให้คุณทราบอีก แต่อาจจะไม่ละเอียดนัก เพราะเวลาและโอกาสของผม ตลอดจนต้องคำนึงถึงผลที่จะกลับไปกระทบเพื่อนๆ ที่ยังถูกคุมขังอยู่
เรือนจำทุกแห่งเหมือนวัวสันหลังหวะ ใครแตะถูกแผลเข้าจะเจ็บปวดร้องลั่น แต่แทนที่จะรักษา กลับเที่ยวไล่ขวิดทำร้ายคน ไม่มีผู้มีอำนาจคนไหนยอมรับความจริงหรอกว่า "คุกน่ะ ! มันเลวร้ายกาจมาก" ถ้าพูดมากไปแทนที่จะแก้ไขปรับปรุง จะกลับไปเล่นงานคนที่เขาคุมขังอยู่
จดหมายของผม คงทำให้คุณเห็นเหตุการณ์ชัดเจนขึ้น และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในโอกาสข้างหน้า เท่าที่จะสามารถทำได้ หากคุณยังอยากทราบอยากถามเรื่องเหตุการณ์รายละเอียดตอนไหน ถามมาได้ครับ ผมจะตอบในจม.ฉบับหน้าด้วย
ท้ายที่สุดนี้ หากจม.นี้มีคุณประโยชน์อะไรแก่คุณหรือต่อส่วนรวม ขอให้คุณค่านี้บังเกิดผลดีแก่การต่อสู้ของประชาชนที่รักชาติรักประชาธิปไตย และขอให้บังเกิดผลเป็นชัยชนะของเพื่อนรักทั้ง 19 คน โดยเร็วที่สุด
ขอบพระคุณในความห่วงใยของคุณ
เคารพรักและเชื่อมั่นในตัวคุณเสมอ
ชวลิต
======================ที่มา : กลุ่มนักศึกษากฎหมาย, เราคือผู้บริสุทธิ์ เสียงจากอดีตจำเลยคดี 6 ตุลา, กรุงเทพฯ: กลุ่มนักศึกษากฎหมาย, 2521.
***************************************************************************************
"ข้าพเจ้าเป็นคนไทย ข้าพเจ้าเป็นไทแก่ตัวเอง ข้าพเจ้าเป็นราษฎรไทย ราษฎรสยาม ทั้งข้าพเจ้าต้องการให้ทุกๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเป็นราษฎรจึงเป็นอุดมคติที่ข้าพเจ้าบูชาอันหนึ่ง"
5 ธันวา 100ปีชาตกาลขุนพลภูพาน:วีรบุรุษกู้ชาติ
ที่มา หนังสือตำนานเสรีไทย โดยดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร
3 ธันวาคม 2552
ไทย มีอิสรภาพและมีเอกราชสืบมาถึงวันนี้ น้ำใจเสียสละอาจหาญอุทิศตัวไม่กลัวความยากลำบาก ไม่กลัวตายของเตียงกับคณะพลพรรคเสรีไทยอีสาน มีส่วนสำคัญที่ชาวไทยในรุ่นเราพึงน้อมสำนึกในบุญคุณภารกิจของกองบัญชาการเสรีไทยภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้ง"พลพรรคเสรีไทย "สามารถ บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ก็ด้วยความร่วมมืออย่างเอาชีวิตเข้าแลกของบรรดาผู้แทนราษฎรที่มีความรักชาติและมีความศรัทธาในตัวนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย
โดยรับคำสั่งและนโยบายไปปฏิบัติ อย่างเอาจริงเอาจังและมีประสิทธิภาพ ผู้แทนราษฎรที่เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยส่วนใหญ่เป็นส.ส.จากภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ภารกิจของขบวนการเสรีไทยมีความหลากหลาย มีความเป็นปึกแผ่นของพลพรรค มีการจัดสร้างสนามบินลับเพื่อรับส่งบุคคลากร ตลอดจนอาวุธยุมโธปกรณ์จากฝ่ายสัมพันธมิตร
นายเตียง ผู้แทนราษฎรังหวัดสกลนครเป็นเสรีไทยที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดผ้หนึ่ง จนกระทั่งได้รับสมญาว่า"ขุนพลภูพาน"
นาย เตียงเป็นคนหนึ่งที่ได้ไปพบนายปรีดีที่บ้านถนนสีลมในตอนค่ำของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 หลังจากญี่ปุ่นบุกเข้ายึดประเทศไทยในรุ่งสางวันนั้น และรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามได้มีมติยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยไป โจมตีมลายูและพม่า อาณานิคมของอังกฤษ
การประชุมในวันนั้นทุกคนได้ตกลงร่วมมือกันจัดตั้ง"องค์การต่อต้านญี่ปุ่น"ขึ้น และมอบให้นายปรีดี ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการ เป็นหัวหน้า
ผู้ที่มาพบนายปรีดีเพื่อร่วมกันก่อตั้งหน่วยใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นค่ำวันนั้น ประกอบไปด้วย หลวงบรรณกรโกวิท(เปา จักกะพาก) หลวงเดชาติวงศ์วราวัตน์(ม.ล.กรี เดชาติวงศ์) นายสงวน ตุลารักษ์ นายจำกัด พลางกูร นายวิจิตร ลุลิตานนท์ นายเตียง ศิริขันธ์ ส.ส.สกลนคร นายถวิล อุดล ส.ส.ร้อยเอ็ด เป็นต้น
ทั้งหมดมอบหมายคณะกู้ชาติให้อยู่ใต้บังคับ บัญชาของนายปรีดีโดยเด็ดขาด และกระทำสัตย์สาบานว่า จะอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด รวมทั้งอุทิศตัว หรือแม้กระทั่งชีวิตสำหรับการทำงานเพื่อชาติ
องค์การใต้ดินนี้ ซึ่งต่อมาคือเสรีไทย มีภารกิจที่จะต้องปฏิบัติอยู่ 3 ด้านคือ 1. ต่อสู้ ญี่ปุ่นผู้รุกรานโดยพลังของคนไทยผู้รักชาติและร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร และ
2. ปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าเจตนารมณ์อันแท้จริงของคนไทย นั้นไม่ได้เป็นศัตรูต่อสัมพันธมิตร และ
3. การปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นฝ่าย แพ้สงคราม และการผ่อนหนักเป็นเบาเมื่อสงครามยุตินาย ปรีดีได้ขอให้ผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการรักษาความลับและปิบัติตามวินัยอย่าง เคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้ศัตรูทำลายขบวนการได้ และให้ถือว่าเขตปฏิบัติการของขบวนการภายในประเทศคือ ดินแดนของประเทศไทยที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น และรัฐบาลไทยที่อยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของญี่ปุ่น ทั้งนี้จนกว่าจะยึดพื้นที่นอกกรุงเทพฯได้ แล้วจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นต่อต้านญี่ปุ่น การต่อสู้จึงจะกระทำการอย่างเปิดเผย
หลังจากพยายามจัดตั้งรัฐบาลพลัด ถิ่นขึ้นในหลายที่ใกล้เคียงกับไทย รวมทั้งพม่าไม่บรรลุผล ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2486 นายปรีดีตัดสินใจส่งนายจำกัด พลางกูร นักเรียนนอกอังกฤษ บัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดเป็นผู้แทนขององค์การเล็ดลอดออก จากประเทศไทยไปนครจุงกิงของจีน เพื่อประสานงานกับฝ่ายสัมพันธมิตร คือจีน อังกฤษ สหรัฐฯ เพื่อขอการสนับสนุนจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในอินเดียขึ้นต่อต้านญี่ปุ่น
หัว หน้าขบวนการเสรีไทยได้มอบหมายให้เตียงเป็นผู้นำทางจำกัดไปยังจังหวัดนครพนม เพื่อลงเรือข้ามฟากแม่น้ำโขงไปยังเมืองท่าแขกของลาว และเล็ดลอดเข้าประเทศจีน
เตียงกับจำกัดเป็นสหายร่วมอุดมการณ์ ประชาธิปไตย และเป็นคนต้นคิดตั้งขบวนการองค์การต่อต้านญี่ปุ่นด้วยกัน ก่อนจะไปขอให้ปรีดีเป็นหัวหน้าขบวนการ
3 ธันวาคม 2552
ไทย มีอิสรภาพและมีเอกราชสืบมาถึงวันนี้ น้ำใจเสียสละอาจหาญอุทิศตัวไม่กลัวความยากลำบาก ไม่กลัวตายของเตียงกับคณะพลพรรคเสรีไทยอีสาน มีส่วนสำคัญที่ชาวไทยในรุ่นเราพึงน้อมสำนึกในบุญคุณภารกิจของกองบัญชาการเสรีไทยภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้ง"พลพรรคเสรีไทย "สามารถ บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ก็ด้วยความร่วมมืออย่างเอาชีวิตเข้าแลกของบรรดาผู้แทนราษฎรที่มีความรักชาติและมีความศรัทธาในตัวนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย
โดยรับคำสั่งและนโยบายไปปฏิบัติ อย่างเอาจริงเอาจังและมีประสิทธิภาพ ผู้แทนราษฎรที่เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยส่วนใหญ่เป็นส.ส.จากภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ภารกิจของขบวนการเสรีไทยมีความหลากหลาย มีความเป็นปึกแผ่นของพลพรรค มีการจัดสร้างสนามบินลับเพื่อรับส่งบุคคลากร ตลอดจนอาวุธยุมโธปกรณ์จากฝ่ายสัมพันธมิตร
นายเตียง ผู้แทนราษฎรังหวัดสกลนครเป็นเสรีไทยที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดผ้หนึ่ง จนกระทั่งได้รับสมญาว่า"ขุนพลภูพาน"
นาย เตียงเป็นคนหนึ่งที่ได้ไปพบนายปรีดีที่บ้านถนนสีลมในตอนค่ำของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 หลังจากญี่ปุ่นบุกเข้ายึดประเทศไทยในรุ่งสางวันนั้น และรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามได้มีมติยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยไป โจมตีมลายูและพม่า อาณานิคมของอังกฤษ
การประชุมในวันนั้นทุกคนได้ตกลงร่วมมือกันจัดตั้ง"องค์การต่อต้านญี่ปุ่น"ขึ้น และมอบให้นายปรีดี ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการ เป็นหัวหน้า
ผู้ที่มาพบนายปรีดีเพื่อร่วมกันก่อตั้งหน่วยใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นค่ำวันนั้น ประกอบไปด้วย หลวงบรรณกรโกวิท(เปา จักกะพาก) หลวงเดชาติวงศ์วราวัตน์(ม.ล.กรี เดชาติวงศ์) นายสงวน ตุลารักษ์ นายจำกัด พลางกูร นายวิจิตร ลุลิตานนท์ นายเตียง ศิริขันธ์ ส.ส.สกลนคร นายถวิล อุดล ส.ส.ร้อยเอ็ด เป็นต้น
ทั้งหมดมอบหมายคณะกู้ชาติให้อยู่ใต้บังคับ บัญชาของนายปรีดีโดยเด็ดขาด และกระทำสัตย์สาบานว่า จะอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด รวมทั้งอุทิศตัว หรือแม้กระทั่งชีวิตสำหรับการทำงานเพื่อชาติ
องค์การใต้ดินนี้ ซึ่งต่อมาคือเสรีไทย มีภารกิจที่จะต้องปฏิบัติอยู่ 3 ด้านคือ 1. ต่อสู้ ญี่ปุ่นผู้รุกรานโดยพลังของคนไทยผู้รักชาติและร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร และ
2. ปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าเจตนารมณ์อันแท้จริงของคนไทย นั้นไม่ได้เป็นศัตรูต่อสัมพันธมิตร และ
3. การปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นฝ่าย แพ้สงคราม และการผ่อนหนักเป็นเบาเมื่อสงครามยุตินาย ปรีดีได้ขอให้ผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการรักษาความลับและปิบัติตามวินัยอย่าง เคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้ศัตรูทำลายขบวนการได้ และให้ถือว่าเขตปฏิบัติการของขบวนการภายในประเทศคือ ดินแดนของประเทศไทยที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น และรัฐบาลไทยที่อยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของญี่ปุ่น ทั้งนี้จนกว่าจะยึดพื้นที่นอกกรุงเทพฯได้ แล้วจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นต่อต้านญี่ปุ่น การต่อสู้จึงจะกระทำการอย่างเปิดเผย
หลังจากพยายามจัดตั้งรัฐบาลพลัด ถิ่นขึ้นในหลายที่ใกล้เคียงกับไทย รวมทั้งพม่าไม่บรรลุผล ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2486 นายปรีดีตัดสินใจส่งนายจำกัด พลางกูร นักเรียนนอกอังกฤษ บัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดเป็นผู้แทนขององค์การเล็ดลอดออก จากประเทศไทยไปนครจุงกิงของจีน เพื่อประสานงานกับฝ่ายสัมพันธมิตร คือจีน อังกฤษ สหรัฐฯ เพื่อขอการสนับสนุนจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในอินเดียขึ้นต่อต้านญี่ปุ่น
หัว หน้าขบวนการเสรีไทยได้มอบหมายให้เตียงเป็นผู้นำทางจำกัดไปยังจังหวัดนครพนม เพื่อลงเรือข้ามฟากแม่น้ำโขงไปยังเมืองท่าแขกของลาว และเล็ดลอดเข้าประเทศจีน
เตียงกับจำกัดเป็นสหายร่วมอุดมการณ์ ประชาธิปไตย และเป็นคนต้นคิดตั้งขบวนการองค์การต่อต้านญี่ปุ่นด้วยกัน ก่อนจะไปขอให้ปรีดีเป็นหัวหน้าขบวนการ
เตียงได้ถอดแหวนนามสกุลของเขาที่สวมอยู่ให้จำกัดเอาไว้ขายยามที่ ต้องการใช้เงิน นอกจากนั้นได้ขอยืมกำไลและสร้อยล็อกเก็ตฝังเพชรของนางนิวาศน์ ศิริขันธ์ ผู้ภรรยาให้จำกัดนำไปใช้ติดตัวในภารกิจกู้ชาติ ก่อนส่งจำกัดข้ามโขง
นั่น เป็นหนสุดท้ายที่สหายร่วมอุดมการณ์ได้พบกัน เพราะหลังจากไปปฏิบัติภารกิจกู้ชาติในจีนอย่างยากลำบาก จำกัดได้เสียชีวิตลงในจีนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2486 นั่นเอง
แต่ด้วย ผลงานของจำกัดที่ไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรจนสำเร็จ ในกลางปี2487 กองบัญชาการเสรีไทยในกรุงเทพฯสามารถติดต่อกองบัญชาการสูงสุดของพันธมิตรได้ ทางฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเริ่มจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์มาให้เสรีไทย โดยทิ้งร่มลงมาทางเครื่องบิน
นายเตียงได้รับมอบหมายจากปรีดีให้เป็นหัวหน้าเสรีไทยอีสาน ทำงานร่วมกับทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี จำลอง ดาวเรือง ส.ส.มหาสารคาม ถวิล อุดล ส.ส.ร้อยเอ็ด โดยเตียงใช้รหัสลับว่า"พลูโต"เป็นผู้ควบคุมปฏิบัติการทั้งหมด
เตียง ได้จัดตั้งค่ายพลพรรคเสรีไทยหน่วยแรกขึ้นที่บ้านโนนหอม อยู่ห่างจากจังหวัดสกลนครไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร ต่อมาจัดตั้งหน่วยอื่นๆขึ้นที่บ้านเต่างอย และบ้านตาดภูวง เป็นต้น และร่วมกับจำลอง ดาวเรือง จัดตั้งค่ายที่บ้านนาคู กุจินารายณ์ กาฬสินธุ์ เชิงเทือกเขาภูพาน และสร้างสนามบินลับนาคูขึ้นเพื่อใช้สำหรับการขึ้นลงของเครื่องบินฝ่าย สัมพันธมิตร
การจัดตั้งพลพรรคเสรีไทยอีสานนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากส.ส.อีสานที่รักชาติ ผู้นำชาวบ้าน ผู้นำครู รวมทั้งครูครอง จันดาวงศ์ (ซึ่ง ต่อมาถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ สั่งยิงเป้าข้อหาคอมมิวนิสต์) และสงวน ตุลารักษ์ ซึ่งเดินทางกลับจากจีนได้มาร่วมมือกับเตียงในการตั้งสถานีรับส่งวิทยุที่ เทือกเขาภูพาน
นายทหารเสรีไทยสายอังกฤษ และสหรัฐฯที่เดินทางเล็ดลอดเข้ามาร่วมภารกิจกู้ชาติกับนายเตียง เช่น ร.อ.กฤษณ์ โตษยานนท์ ร.อ.ฉลอง ปึงตระกูล ร.อ.อำนวย พูนพิพัฒน์ เป็นต้น
ภารกิจ เสรีไทยนั้นเป็นเรื่องเสี่ยงอันตราย เพราะกองทหารญี่ปุ่นกระจายไปยึดครองทั่วประเทศ ไม่ใช่การใช้ประเทศไทยเป็นทางเดินทัพผ่านอย่างที่พูดกัน
นายสุจิต โรจนชีวะ อดีตครูโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล เขียนบันทึกไว้ว่า ในเดือนมกราคม 2488 นายเตียงเป็นหัวหน้าใหญ่มาอบรมให้พวกเราเป็นกองโจรกู้ชาติ ต้องทนต่อความลำบากหลายอย่าง ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2488 ขณะหัวหน้าใหญ่(เตียง)กำลังฝึกอบรมอยู่ก็มีรายนงานว่าทหารญี่ปุ่น 12 นายเดินทางมาใกล้ค่ายของเรา หัวหน้าใหญ่ได้รวมพลและสั่งให้พวกเรารักษาค่าย และออกสกัดจับทหารญี่ปุ่นทั้ง 12 นายให้ได้ โดยเราติดตามทหารญี่ปุ่นไปจนเวลาตีหนึ่งกว่าจึงทราบพิกัด และวางแผนจับในเช้าวันรุ่งขึ้น หากพบญี่ปุ่นคนใดขัดขืนก็คงต้องยิงกัน และจับไม่ให้เหลือรอดแม้แต่คนเดียว แต่ราว16.00น.ก็มีรายงานว่าญี่ปุ่นเล็ดรอดดงหลวงเข้าไปตัวเมืองสกลนครเสีย แล้ว เราจึงถอนตัวกลับเข้าค่าย
ในวันที่ 28 กรกฎาคมเมื่อหัวหน้าใหญ่(เตียง)ได้กลับจากสนามบินลับนาคู พวกเราก็รายงานเรื่องนี้ให้ทราบ หัวหน้าใหญ่กล่าวว่า ที่พวกเรามิได้ทำอันตรายใดๆให้แก่ญี่ปุ่นเป็นการดีแล้ว เพราะถ้าญี่ปุ่นได้รับอันตรายกจะเป็นชนวนให้เกิดเรื่องใหญ่ระดับชาติ "รูธ"(ปรีดี)หัวหน้าใหญ่เสรีไทยได้สั่งการมาว่าอย่าเพิ่งทำอันตรายแก่ญี่ปุ่นเป็นอันขาด
รุ่ง ขึ้นพวกเราต้องอพยพย้ายค่ายไปยังถ้ำผาด่าง,ถ้ำผานาง เพราะญี่ปุ่นสงสัยว่ามีกองโจรต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ที่ค่ายนี้ ส่วนรัฐบาลไทยอ้างว่าเป็นที่หลบภัยของรัฐบาลไทย เมื่อพวกเราอพยพไปแล้วก็ได้ดัดแปลงให้เป็นที่หลบภัยของฝ่ายรัฐบาลไทยตามที่ อ้างไว้กับญี่ปุ่น การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะต้องขนยุทโธปกรณ์ไปด้วย การอยู่ในถ้ำก็ลำบากมาก เพราะอยู่ในชะเง้อหินใต้เขายาวไปตามไหล่เขา อีกข้างเป็นเหวลึก เมื่อโผล่ออกจากถ้ำจะเห็นพื้นดินชันลง45องศา กลางวันแทบไม่เห็นพระอาทิตย์
ต่อมาทหารญี่ปุ่น200นายขอเข้าค้นค่าย กองโจรของเรา เราก็เตรียมปะทะเต็มที่ แต่พอถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2488 ได้รับทราบจากวิทยุสนามของอังกฤษว่าญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามแล้วหลังจากถูก สัมพันธมิตรทิ้งระเบิดปรมาณู วันที่15สิงหาคมข้าพเจ้าพร้อมกับหัวหน้าใหญ่ได้ไปร่วมงานเลี้ยงฉลองที่ ญี่ปุ่นยอมยุสงครามในโรงเรีบนประจำอำเภอพรรณานิคม
ในปลายเดือน กันยายน2488เมื่อสงครามสงบลง มีการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทยทั่วประเทศ จังหวัดสกลนครได้ร่วมขบวนสวนสนามจำนวน 4 กองร้อย เดินสวนสนามจากสนามหลวงมาตามถนนราชดำเนินใน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงพระบรมรูปทรงม้า เป็นการสิ้นสุดสวนสนาม นับเป็นอันสิ้นสุดภารกิจเสรีไทย
ต่อจากนั้นข้าพเจ้าก็กลับไปรับราชการครู โดยมิได้รับอะไรเป็นเครื่องตอบแทนในการทำงานเสรีไทยแต่ประการใด มีแต่ความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เมื่อมีความจำเป็นก็ต้องพร้อมสละกระทั่งชีวิต โดยมิได้หวังผลตอบแทนใดๆทั้งสิ้น นอกจากเพื่อความเป็นเอกราชของชาติ
ส่วนผู้ปฏิบัติงานเสรีไทยที่สนามบินลับนาคูเล่าว่า ในภารกิจกู้ชาติร่วมกับเตียงและส.ส.ถิล ส.ส.จำลองนั้นเกิดการปะทะกับทหารญี่ปุ่น2ครั้ง ครั้งแรกพลพรรคเสรีไทยที่เป็นครูประชาบาลเสียสละชีพ 1 นาย ส่วนทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตหมด หนที่สองปะทะกันที่บ้านหนองห้างห่างจากสนามบินลับ 17 กิโลเมตร ทหารญี่ปุ่นถูกสังหาร 18 นาย พลพรรคเสรีไทยปลอดภัย
หลังญี่ปุ่นประกาศยอมยุติสงคราม นายปรีดีได้ประกาศสันติภาพในวันที่ 18 สิงหาคม 2488 วีรกรรมของเสรีไทยทำให้ประเทศไทยพ้นจากสภาพประเทศแพ้สงคราม ไม่ต้องถูกมหาอำนาจผู้ชนะต้องยึดครอง หรือแบ่งแยกประเทศไทยออกเป็นเสี่ยงๆเหมือนที่กระทำกับประเทศผู้แพ้สงครามโดย ทั่วไป
ไทยมีอิสรภาพและมีเอกราชสืบมาถึงวันนี้ น้ำใจเสียสละอาจหาญอุทิศตัวไม่กลัวความยากลำบาก ไม่กลัวตายของเตียงกับคณะพลพรรคเสรีไทยอีสาน มีส่วนสำคัญที่ชาวไทยในรุ่นเราพึงน้อมสำนึกในบุญคุณ
(ภาพข้างล่าง ..เตียงกับทองอินทร์ ภูริพัฒน์ สหายร่วมรบเสรีไทย 1 ใน 4 รัฐมนตรีอีสานที่ถูกสังหารโหดทางการเมืองในเวลาต่อมา...พิธีสวนสนามกองทัพเสรีไทยที่ถนนราชดำเนิน 25 ก.ย. 2488 และ ปรีดี พนมยงค์ "รูธ"หัวหน้าขบวนการเสรีไทยประกาศสันติภาพ ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเอกราชอธิปไตยของชาติไทย รับรองคุณูปการของเสรีไทยและรับรองฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทย
นั่น เป็นหนสุดท้ายที่สหายร่วมอุดมการณ์ได้พบกัน เพราะหลังจากไปปฏิบัติภารกิจกู้ชาติในจีนอย่างยากลำบาก จำกัดได้เสียชีวิตลงในจีนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2486 นั่นเอง
แต่ด้วย ผลงานของจำกัดที่ไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรจนสำเร็จ ในกลางปี2487 กองบัญชาการเสรีไทยในกรุงเทพฯสามารถติดต่อกองบัญชาการสูงสุดของพันธมิตรได้ ทางฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเริ่มจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์มาให้เสรีไทย โดยทิ้งร่มลงมาทางเครื่องบิน
นายเตียงได้รับมอบหมายจากปรีดีให้เป็นหัวหน้าเสรีไทยอีสาน ทำงานร่วมกับทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี จำลอง ดาวเรือง ส.ส.มหาสารคาม ถวิล อุดล ส.ส.ร้อยเอ็ด โดยเตียงใช้รหัสลับว่า"พลูโต"เป็นผู้ควบคุมปฏิบัติการทั้งหมด
เตียง ได้จัดตั้งค่ายพลพรรคเสรีไทยหน่วยแรกขึ้นที่บ้านโนนหอม อยู่ห่างจากจังหวัดสกลนครไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร ต่อมาจัดตั้งหน่วยอื่นๆขึ้นที่บ้านเต่างอย และบ้านตาดภูวง เป็นต้น และร่วมกับจำลอง ดาวเรือง จัดตั้งค่ายที่บ้านนาคู กุจินารายณ์ กาฬสินธุ์ เชิงเทือกเขาภูพาน และสร้างสนามบินลับนาคูขึ้นเพื่อใช้สำหรับการขึ้นลงของเครื่องบินฝ่าย สัมพันธมิตร
การจัดตั้งพลพรรคเสรีไทยอีสานนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากส.ส.อีสานที่รักชาติ ผู้นำชาวบ้าน ผู้นำครู รวมทั้งครูครอง จันดาวงศ์ (ซึ่ง ต่อมาถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ สั่งยิงเป้าข้อหาคอมมิวนิสต์) และสงวน ตุลารักษ์ ซึ่งเดินทางกลับจากจีนได้มาร่วมมือกับเตียงในการตั้งสถานีรับส่งวิทยุที่ เทือกเขาภูพาน
นายทหารเสรีไทยสายอังกฤษ และสหรัฐฯที่เดินทางเล็ดลอดเข้ามาร่วมภารกิจกู้ชาติกับนายเตียง เช่น ร.อ.กฤษณ์ โตษยานนท์ ร.อ.ฉลอง ปึงตระกูล ร.อ.อำนวย พูนพิพัฒน์ เป็นต้น
ภารกิจ เสรีไทยนั้นเป็นเรื่องเสี่ยงอันตราย เพราะกองทหารญี่ปุ่นกระจายไปยึดครองทั่วประเทศ ไม่ใช่การใช้ประเทศไทยเป็นทางเดินทัพผ่านอย่างที่พูดกัน
นายสุจิต โรจนชีวะ อดีตครูโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล เขียนบันทึกไว้ว่า ในเดือนมกราคม 2488 นายเตียงเป็นหัวหน้าใหญ่มาอบรมให้พวกเราเป็นกองโจรกู้ชาติ ต้องทนต่อความลำบากหลายอย่าง ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2488 ขณะหัวหน้าใหญ่(เตียง)กำลังฝึกอบรมอยู่ก็มีรายนงานว่าทหารญี่ปุ่น 12 นายเดินทางมาใกล้ค่ายของเรา หัวหน้าใหญ่ได้รวมพลและสั่งให้พวกเรารักษาค่าย และออกสกัดจับทหารญี่ปุ่นทั้ง 12 นายให้ได้ โดยเราติดตามทหารญี่ปุ่นไปจนเวลาตีหนึ่งกว่าจึงทราบพิกัด และวางแผนจับในเช้าวันรุ่งขึ้น หากพบญี่ปุ่นคนใดขัดขืนก็คงต้องยิงกัน และจับไม่ให้เหลือรอดแม้แต่คนเดียว แต่ราว16.00น.ก็มีรายงานว่าญี่ปุ่นเล็ดรอดดงหลวงเข้าไปตัวเมืองสกลนครเสีย แล้ว เราจึงถอนตัวกลับเข้าค่าย
ในวันที่ 28 กรกฎาคมเมื่อหัวหน้าใหญ่(เตียง)ได้กลับจากสนามบินลับนาคู พวกเราก็รายงานเรื่องนี้ให้ทราบ หัวหน้าใหญ่กล่าวว่า ที่พวกเรามิได้ทำอันตรายใดๆให้แก่ญี่ปุ่นเป็นการดีแล้ว เพราะถ้าญี่ปุ่นได้รับอันตรายกจะเป็นชนวนให้เกิดเรื่องใหญ่ระดับชาติ "รูธ"(ปรีดี)หัวหน้าใหญ่เสรีไทยได้สั่งการมาว่าอย่าเพิ่งทำอันตรายแก่ญี่ปุ่นเป็นอันขาด
รุ่ง ขึ้นพวกเราต้องอพยพย้ายค่ายไปยังถ้ำผาด่าง,ถ้ำผานาง เพราะญี่ปุ่นสงสัยว่ามีกองโจรต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ที่ค่ายนี้ ส่วนรัฐบาลไทยอ้างว่าเป็นที่หลบภัยของรัฐบาลไทย เมื่อพวกเราอพยพไปแล้วก็ได้ดัดแปลงให้เป็นที่หลบภัยของฝ่ายรัฐบาลไทยตามที่ อ้างไว้กับญี่ปุ่น การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะต้องขนยุทโธปกรณ์ไปด้วย การอยู่ในถ้ำก็ลำบากมาก เพราะอยู่ในชะเง้อหินใต้เขายาวไปตามไหล่เขา อีกข้างเป็นเหวลึก เมื่อโผล่ออกจากถ้ำจะเห็นพื้นดินชันลง45องศา กลางวันแทบไม่เห็นพระอาทิตย์
ต่อมาทหารญี่ปุ่น200นายขอเข้าค้นค่าย กองโจรของเรา เราก็เตรียมปะทะเต็มที่ แต่พอถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2488 ได้รับทราบจากวิทยุสนามของอังกฤษว่าญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามแล้วหลังจากถูก สัมพันธมิตรทิ้งระเบิดปรมาณู วันที่15สิงหาคมข้าพเจ้าพร้อมกับหัวหน้าใหญ่ได้ไปร่วมงานเลี้ยงฉลองที่ ญี่ปุ่นยอมยุสงครามในโรงเรีบนประจำอำเภอพรรณานิคม
ในปลายเดือน กันยายน2488เมื่อสงครามสงบลง มีการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทยทั่วประเทศ จังหวัดสกลนครได้ร่วมขบวนสวนสนามจำนวน 4 กองร้อย เดินสวนสนามจากสนามหลวงมาตามถนนราชดำเนินใน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงพระบรมรูปทรงม้า เป็นการสิ้นสุดสวนสนาม นับเป็นอันสิ้นสุดภารกิจเสรีไทย
ต่อจากนั้นข้าพเจ้าก็กลับไปรับราชการครู โดยมิได้รับอะไรเป็นเครื่องตอบแทนในการทำงานเสรีไทยแต่ประการใด มีแต่ความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เมื่อมีความจำเป็นก็ต้องพร้อมสละกระทั่งชีวิต โดยมิได้หวังผลตอบแทนใดๆทั้งสิ้น นอกจากเพื่อความเป็นเอกราชของชาติ
ส่วนผู้ปฏิบัติงานเสรีไทยที่สนามบินลับนาคูเล่าว่า ในภารกิจกู้ชาติร่วมกับเตียงและส.ส.ถิล ส.ส.จำลองนั้นเกิดการปะทะกับทหารญี่ปุ่น2ครั้ง ครั้งแรกพลพรรคเสรีไทยที่เป็นครูประชาบาลเสียสละชีพ 1 นาย ส่วนทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตหมด หนที่สองปะทะกันที่บ้านหนองห้างห่างจากสนามบินลับ 17 กิโลเมตร ทหารญี่ปุ่นถูกสังหาร 18 นาย พลพรรคเสรีไทยปลอดภัย
หลังญี่ปุ่นประกาศยอมยุติสงคราม นายปรีดีได้ประกาศสันติภาพในวันที่ 18 สิงหาคม 2488 วีรกรรมของเสรีไทยทำให้ประเทศไทยพ้นจากสภาพประเทศแพ้สงคราม ไม่ต้องถูกมหาอำนาจผู้ชนะต้องยึดครอง หรือแบ่งแยกประเทศไทยออกเป็นเสี่ยงๆเหมือนที่กระทำกับประเทศผู้แพ้สงครามโดย ทั่วไป
ไทยมีอิสรภาพและมีเอกราชสืบมาถึงวันนี้ น้ำใจเสียสละอาจหาญอุทิศตัวไม่กลัวความยากลำบาก ไม่กลัวตายของเตียงกับคณะพลพรรคเสรีไทยอีสาน มีส่วนสำคัญที่ชาวไทยในรุ่นเราพึงน้อมสำนึกในบุญคุณ
(ภาพข้างล่าง ..เตียงกับทองอินทร์ ภูริพัฒน์ สหายร่วมรบเสรีไทย 1 ใน 4 รัฐมนตรีอีสานที่ถูกสังหารโหดทางการเมืองในเวลาต่อมา...พิธีสวนสนามกองทัพเสรีไทยที่ถนนราชดำเนิน 25 ก.ย. 2488 และ ปรีดี พนมยงค์ "รูธ"หัวหน้าขบวนการเสรีไทยประกาศสันติภาพ ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเอกราชอธิปไตยของชาติไทย รับรองคุณูปการของเสรีไทยและรับรองฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทย
วีรบุรุษผู้ไร้อนุสาวรีย์
- 5 ธันวาคม 2452 เตียง ศิริขันธ์ เกิดที่จังหวัดสกลนคร หากมีชีวิตถึงวันนี้จะอายุครบ 100 ปี
- พ.ศ.2473 จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
- พ.ศ.2477 ถูกจับกุมข้อหาคอมมิวนิสต์ ขณะเป็นครูที่อุดรธานี
- 7 พ.ย. 2480 เป็น ส.ส.สมัยแรก และเป็นต่อมาอีก 5 สมัย
- 8 ธ.ค. 2484 วันญี่ปุ่นบุกยึดไทย นายเตียงเข้าพบปรีดี พนมยงค์ ขอให้ตั้งขบวนการเสรีไทย
- ปฏิบัติงานเสรีไทยใช้รหัสชื่อ"พลูโต"เป็นหัวหน้าเสรีไทยภาคอีสานจนถึงวันประกาศสันติภาพ 16 ส.ค. 2488
- 31 ส.ค. 2488 เป็นรัฐมนตรีครั้งแรก
- 9 มิ.ย. 2489 เกิดกรณี ร.8 สวรรคต นายปรีดี พนมยงค์ ลาออก
- 8 พ.ย.2490 เกิดรัฐประหารยึดอำนาจ กลุ่มนายปรีดีถูกขจัดออกจากอำนาจ
- 26ก.พ.2492 นายปรีดีพยายามยึดอำนาจคืนแต่พ่ายแพ้กลายเป็นกบฎวังหลวง
- 4 มี.ค. 2492 อดีต 4 รัฐมนตรีอีสานสายปรีดีถูกสังหารโหดที่บางเขนคือ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ แต่ครูเตียงรอด
- 12 ธ.ค.2495 ครูเตียงถูกพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์เชิญไปพบและหายสาบสูญ หลายปีต่อมาถูกเปิดเผยว่าโดนฆ่ารัดคอและเผาที่กาญจนบุรี เมื่อ 14 ธ.ค. 2495 เสียชีวิตในวัยเพียง 43 ปี
- วันนี้ ชาวสกลนครกำลังระดมทุนราว3ล้านบาทเพื่อสร้างอนุสาวรีย์เชิดชูเกียรติขุนพลภูพานให้ทันวันชาตกาล 100 ปี 5 ธันวาคม2552
- 5 ธันวาคม 2552 ยังไม่สามารถเปิดอนุสาวรีย์ได้เนื่องจากมีข้ออุปสรรคหลายประการ
- พ.ศ.2473 จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
- พ.ศ.2477 ถูกจับกุมข้อหาคอมมิวนิสต์ ขณะเป็นครูที่อุดรธานี
- 7 พ.ย. 2480 เป็น ส.ส.สมัยแรก และเป็นต่อมาอีก 5 สมัย
- 8 ธ.ค. 2484 วันญี่ปุ่นบุกยึดไทย นายเตียงเข้าพบปรีดี พนมยงค์ ขอให้ตั้งขบวนการเสรีไทย
- ปฏิบัติงานเสรีไทยใช้รหัสชื่อ"พลูโต"เป็นหัวหน้าเสรีไทยภาคอีสานจนถึงวันประกาศสันติภาพ 16 ส.ค. 2488
- 31 ส.ค. 2488 เป็นรัฐมนตรีครั้งแรก
- 9 มิ.ย. 2489 เกิดกรณี ร.8 สวรรคต นายปรีดี พนมยงค์ ลาออก
- 8 พ.ย.2490 เกิดรัฐประหารยึดอำนาจ กลุ่มนายปรีดีถูกขจัดออกจากอำนาจ
- 26ก.พ.2492 นายปรีดีพยายามยึดอำนาจคืนแต่พ่ายแพ้กลายเป็นกบฎวังหลวง
- 4 มี.ค. 2492 อดีต 4 รัฐมนตรีอีสานสายปรีดีถูกสังหารโหดที่บางเขนคือ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ แต่ครูเตียงรอด
- 12 ธ.ค.2495 ครูเตียงถูกพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์เชิญไปพบและหายสาบสูญ หลายปีต่อมาถูกเปิดเผยว่าโดนฆ่ารัดคอและเผาที่กาญจนบุรี เมื่อ 14 ธ.ค. 2495 เสียชีวิตในวัยเพียง 43 ปี
- วันนี้ ชาวสกลนครกำลังระดมทุนราว3ล้านบาทเพื่อสร้างอนุสาวรีย์เชิดชูเกียรติขุนพลภูพานให้ทันวันชาตกาล 100 ปี 5 ธันวาคม2552
- 5 ธันวาคม 2552 ยังไม่สามารถเปิดอนุสาวรีย์ได้เนื่องจากมีข้ออุปสรรคหลายประการ
กองทุนก่อสร้างอนุสาวรีย์ขุนพลเตียง ศิริขันธ์ (พลูโต)
"สำนึกในบุญคุณของนายเตียงที่มีต่อชาวจังหวัดสกลนคร ชาวภาคอีสาน และต่อประเทศไทยนั้นมากล้น เพราะท่านเคยเสียสละอุทิศตัวให้กับงานกอบกู้ชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่2 ซึ่งไทยถูกญี่ปุ่นยึดครอง จนสามารถทำให้ไทยมีอิสรภาพต่อมาได้ทุกวันนี้ แต่มาถึงทุกวันนี้คนรุ่นหลังๆก็คงจำนายเตียงไม่ได้แล้ว เลยอยากสร้างอนุสาวรีย์ไว้ให้รำลึกนึกถึง"คุณวิเชียร วงศ์กาฬสินธ์ นายกสมาคมข้าราชการบำนาญ จังหวัดสกลนครกล่าว
อย่างไรก็ดีหลังจาก เริ่มตั้ง"กองทุนก่อสร้างอนุสาวรีย์ขุนพลเตียง ศิริขันธ์(พลูโต)"ผ่านไป 3 ปีมาถึงปีนี้ ซึ่งครบรอบ 100 ปีชาตกาลของขุนพลภูพาน ผู้มีฉายาชื่อรหัสกู้ชาติ"พลูโต"ยังไม่ประสบความสำเร็จดังหวัง
ประการ แรก การประสานงานกับหัวหน้าส่วนราชการสะดุดหยุดลงเรื่อย ตามการเปลี่ยนตัวผู้ว่าราชการจังหวัดที่ย้ายกันถี่ 6เดือนไม่ถึงปีย้ายแล้ว ทำให้การประสานงานสะดุดลง
ประการต่อมา กรมศิลปากรไม่อนุมัติแบบที่คณะกรรมการกองทุนฯเสนอไป โดยล่าสุดตีกลับมาเป็นรูปนั่งบนขอนไม้แทนแบบยืนที่ออกแบบไว้เดิม
ประการ สุดท้าย คนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเป็นข้าราชการบำนาญที่เคยมีสำนึกร่วมกันในบุญคุณของ ครูเตียงต่อประเทศเป็นหลัก ส่วนคนชั้นหลังอาจลืมเลือนวีรกรรมของวีรบุรุษผู้นี้ หรือถูกทำให้ลืม เพราะคณะกรรมการกองทุนฯได้ติดต่อประสานงานขอรับการสนับสนุนทุนไปทั้งส.ส. ส.ว. สมาคมชาวสกลนครในกรุงเทพฯ โรงเรียนเก่าที่อุดรธานีที่ครูเตียงเคยสอน ตอนนี้ได้เงินทุนมาประเดิมเพียง6แสนบาท จากที่ต้องใช้ทุนทั้งสิ้น 3 ล้านบาท
"ใน เมื่อ100ปีชาตกาลของท่านทำไม่ทัน ก็ต้องพยายามกันต่อไป ไหนๆก็รอมานานแล้ว ก็รอแบบกรมศิลป์อนุมัติมาคงได้ฤกษ์สร้างเสียที"คุณวิเชียรกล่าว
ประชาชนคนไทยที่รักชาติรักประชาธิปไตย สำนึกในวีรกรรมของครูเตียง อยากร่วมสร้างอนุสารีย์ของ"พลูโต"เชิญบริจาคได้ที่
กองทุนก่อสร้างอนุสาวรีย์ขุนพลเตียง ศิริขันธ์(พลูโต)
ธนาคารกรุงไทย สาขาเจริญเมือง สกลนคร
เลขที่บัญชี 442-0-01485-7
สอบถามเพิ่มเติมที่คุณวิเชียร วงศ์กาฬสินธุ์ 042-711915
อย่างไรก็ดีหลังจาก เริ่มตั้ง"กองทุนก่อสร้างอนุสาวรีย์ขุนพลเตียง ศิริขันธ์(พลูโต)"ผ่านไป 3 ปีมาถึงปีนี้ ซึ่งครบรอบ 100 ปีชาตกาลของขุนพลภูพาน ผู้มีฉายาชื่อรหัสกู้ชาติ"พลูโต"ยังไม่ประสบความสำเร็จดังหวัง
ประการ แรก การประสานงานกับหัวหน้าส่วนราชการสะดุดหยุดลงเรื่อย ตามการเปลี่ยนตัวผู้ว่าราชการจังหวัดที่ย้ายกันถี่ 6เดือนไม่ถึงปีย้ายแล้ว ทำให้การประสานงานสะดุดลง
ประการต่อมา กรมศิลปากรไม่อนุมัติแบบที่คณะกรรมการกองทุนฯเสนอไป โดยล่าสุดตีกลับมาเป็นรูปนั่งบนขอนไม้แทนแบบยืนที่ออกแบบไว้เดิม
ประการ สุดท้าย คนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเป็นข้าราชการบำนาญที่เคยมีสำนึกร่วมกันในบุญคุณของ ครูเตียงต่อประเทศเป็นหลัก ส่วนคนชั้นหลังอาจลืมเลือนวีรกรรมของวีรบุรุษผู้นี้ หรือถูกทำให้ลืม เพราะคณะกรรมการกองทุนฯได้ติดต่อประสานงานขอรับการสนับสนุนทุนไปทั้งส.ส. ส.ว. สมาคมชาวสกลนครในกรุงเทพฯ โรงเรียนเก่าที่อุดรธานีที่ครูเตียงเคยสอน ตอนนี้ได้เงินทุนมาประเดิมเพียง6แสนบาท จากที่ต้องใช้ทุนทั้งสิ้น 3 ล้านบาท
"ใน เมื่อ100ปีชาตกาลของท่านทำไม่ทัน ก็ต้องพยายามกันต่อไป ไหนๆก็รอมานานแล้ว ก็รอแบบกรมศิลป์อนุมัติมาคงได้ฤกษ์สร้างเสียที"คุณวิเชียรกล่าว
ประชาชนคนไทยที่รักชาติรักประชาธิปไตย สำนึกในวีรกรรมของครูเตียง อยากร่วมสร้างอนุสารีย์ของ"พลูโต"เชิญบริจาคได้ที่
กองทุนก่อสร้างอนุสาวรีย์ขุนพลเตียง ศิริขันธ์(พลูโต)
ธนาคารกรุงไทย สาขาเจริญเมือง สกลนคร
เลขที่บัญชี 442-0-01485-7
สอบถามเพิ่มเติมที่คุณวิเชียร วงศ์กาฬสินธุ์ 042-711915
วีรประวัติของ "พลูโต" ขุนพลภูพาน
เตียง ศิริขันธ์ เป็นชาวสกลนคร เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2452 หรือเมื่อ 100 ปีมาแล้ว ที่บ้านคุ้มวัดสระเกศ ถ.มรรคาลัย ต.สะพานหิน ปัจจุบัน เป็นต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร เป็นบุตรคนที่ 6 ของ ขุนนิเทศพานิช (บุดดี ศิริขันธ์) และนางอัม มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 9 คน
จบการ ศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนิสิตรุ่นแรกของคณะ และได้รับการบรรจุเป็นครูครั้งแรกที่โรงเรียนมัธยมหอวัง ในปี 2472 นายเตียงเป็นเด็กที่มีการศึกษาสูงมากตามมาตรฐานของภาคอีสานในขณะนั้น
จาก การปฏิวัติ 24 มิ.ย. 2475 ครูเตียง ก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจในแนวคิดประชาธิปไตย เมื่อได้ศึกษาแนวความคิดเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ก็ศรัทธาในแนวคิดของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอย่างมาก
ใน ระหว่างรับราชการครูเตียงได้ร่วมกับนายสหัส กาญจนะพังคะ เพื่อนที่คณะอักษรศาสตร์ เขียนหนังสือคู่มือครู หรือชุดวิชาครู 5 เล่ม เป็นหนังสือชุดคู่มือครูชุดแรกๆ ที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงการครูในสมัยนั้น เพราะเป็นหนังสือช่วยในการสอน และใช้ในการสอบเพื่อยกระดับวิทยฐานะ
ต่อ มาในเดือนก.ค. 2478 ครูเตียงถูกจับกุมพร้อมกับครูอีก 3 คน คือ ครูปั่น แก้วมาตย์ ครูสุทัศน์ สุวรรณรัตน์ และครูญวง เอี่ยมศิลา ในข้อหาว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าจะฝักใฝ่คอมมิวนิสต์และเผยแพร่ลัทธิ คอมมิวนิสต์ในโรงเรียน ถูกขังอยู่ราว 2 เดือน ศาลยกฟ้อง มีเพียงครูญวงคนเดียวที่ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี
จากนั้นครูเตียง ตัดสินใจลาออกจากราชการในปี 2479 และมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร ในงานเขียนของเขาในระยะนี้ ได้แสดงให้เห็นชัดถึงแนวความคิดแบบประชาธิปไตย ดังที่ได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร์ วันที่ 9 ก.ค. 2479 ว่า
ข้าพเจ้า เป็นคนไทย ข้าพเจ้าเป็นไทแก่ตัวเอง ข้าพเจ้าเป็นราษฎรไทย ราษฎรสยาม ทั้งข้าพเจ้าต้องการให้ทุกๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเป็นราษฎรจึงเป็นอุดมคติที่ข้าพเจ้าบูชาอันหนึ่ง
ต่อ มาได้สมัครเป็นผู้แทนราษฎรจ.สกลนคร ได้รับเลือกเป็นส.ส.สมัยแรกทันที เมื่อพ.ย.2480 และกลายเป็น ส.ส.ภาคอีสานชั้นแนวหน้า ระหว่างทำหน้าที่ส.ส. ได้ตั้งกลุ่มร่วมกับส.ส.อีสาน และส.ส.ภาคอื่น กลายเป็นกลุ่ม ส.ส.ที่มีบทบาทนำในสภา ในการต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชน
เตียง ศิริขันธ์ ได้พบกับน.ส.นิวาศน์ พิชิตรณการ บุตรีของร.อ.นาถ และนางเวศ พิชิตรณการ ซึ่งเป็นญาติของจอมพลผิน ชุณหะวัณ และได้สมรสกันในพ.ศ.2482 มีบุตรชายคนเดียวคือ นายวิฑูรย์ ศิริขันธ์
เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุก ประเทศไทยในเดือนธ.ค. 2484 ซึ่งเป็นการนำประเทศไทยเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา เตียง ศิริขันธ์ ได้ร่วมกับ จำกัด พลางกูร ก่อตั้ง คณะกู้ชาติ เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น เพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยแห่งชาติ และคัดค้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ร่วมมือกับญี่ปุ่น
ต่อมานายเตียง ร่วมกับกลุ่มส.ส.ฝ่ายก้าวหน้า ได้เข้าไปชักชวนนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการในเวลานั้นให้ตั้งขบวนการเสรีไทยใต้ดินขึ้น เพื่อหาทางต่อต้านญี่ปุ่น โดยมีนายปรีดีเป็นหัวหน้าเสรีไทย ใช้ชื่อรหัส"รูธ"
นายปรีดีได้ตั้งให้นายเตียงเป็นหัวหน้าใหญ่ของ เสรีไทย ภาคอีสาน รหัส พลูโต เพื่อทำการฝึกกองกำลังลับต่อต้านญี่ปุ่นที่เขตเทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร กองกำลังเสรีไทยสายอีสาน กลายเป็นกำลังที่สำคัญที่สุดของฝ่ายเสรีไทย แต่ยังไม่ทันที่จะได้สู้รบกับญี่ปุ่นอย่างจริงจัง สงครามก็ยุติลง หลังสหรัฐฯทิ้งระเบิดปรมาณูในฮิโรชิมา และนางาซากิ
หลังสงคราม เตียง ศิริขันธ์ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรก ในรัฐบาลรักษาการของนายทวี บุณยเกตุ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2488 โดยเป็นรัฐมนตรีลอย และได้ร่วมกับส.ส.ฝ่ายก้าวหน้าตั้งพรรคสหชีพขึ้น
ในวันที่ 8 พ.ย. 2490 คณะรัฐประหารที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ได้ยึดอำนาจล้มล้างรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และโค่นอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์ ด้วย และเชิญให้พรรคประชาธิปัตย์มาตั้งรัฐบาลขัดตาทัพ
สำหรับ นายเตียง เมื่อได้ข่าวการรัฐประหารก็ได้หลบขึ้นสู่เทือกเขาภูพาน และเตรียมจัดตั้งกำลังต่อต้านคณะรัฐประหาร แต่ปรากฏว่านายปรีดีที่ลี้ภัยไปยังสิงคโปร์ได้ออกอากาศทางวิทยุ ห้ามพลพรรคเสรีไทยไม่ให้ต่อสู้กับคณะรัฐประหาร เพราะไม่ต้องการให้คนไทยฆ่ากันเอง นายเตียงจึงยุติการจัดตั้งกองกำลัง แต่ยังคงหลบอยู่บนภูพาน
ทางรัฐบาลได้สั่งให้พ.ต.อ.หลวงพิชิตธุรการ มาตามล่าจับกุม แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น นายเตียงจึงได้สมญาจากหนังสือพิมพ์ว่า ขุนพลภูพาน
ต่อมาหลวงพิชิต ธุรการได้ใช้วิธีการคุกคามชาวบ้านเพื่อให้บอกที่ซ่อนของนายเตียง จึงก่อให้เกิดความเดือดร้อนอย่างมาก นอกจากนี้ ยังจับครูครอง จันดาวงศ์ และมิตรของนายเตียงอีก 15 คน เพื่อสร้างแรงกดดัน นายเตียงจึงตัดสินใจมอบตัวต่อทางการในเดือนมี.ค. 2491 และทั้งหมดก็ถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน ในที่สุดศาลก็ตัดสินยกฟ้องคดีกบฏแบ่งแยกดินแดน ทำให้นายเตียง และพรรคพวกเป็นอิสระ
ในระหว่างนี้ นายเตียงได้สมัครส.ส.ในการเลือกตั้งเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2492 และได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง จากนั้นในการเลือกตั้งวันที่ 26 ก.พ. 2495 เตียง ศิริขันธ์ ได้รวบรวมอดีตส.ส.ฝ่ายสหชีพและแนวรัฐธรรมนูญ ตั้งเป็นกลุ่มสหไทย ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ 20 ที่นั่งจากจำนวน 123 ที่นั่ง
อย่างไรก็ตาม ในเดือนพ.ย. 2495 รัฐบาลได้กวาดล้างจับกุมฝ่ายค้านจำนวนมากในข้อหากบฏ ที่เรียกกันต่อมาว่า กบฏสันติภาพ และได้ออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเล่นงานกลุ่มที่ถูกจับกุม มีรัฐมนตรีอีสานถึง 4 คนที่ถูกสังหารจากการกวาดล้างครั้งนี้
ขณะนั้นนายเตียงเป็นส.ส. ในคณะกรรมการนิติบัญญัติฝ่ายรัฐบาล เตียง ศิริขันธ์ ได้ถูกตำรวจตามตัวออกจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2495 จากนั้นก็หายสาบสูญไปไม่ปรากฏตัวอีกเลย
จากหลักฐานต่อมาปรากฏว่า เตียง ศิริขันธ์ ถูกสังหารเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2495 พร้อม เล็ก บุนนาค ผ่อง เขียววิจิตร สง่า ประจักษ์วงศ์ และชาญ บุนนาค เสรีไทยที่สำคัญอีกคน รวม 5 คน โดยศพถูกนำไปเผาทิ้งที่ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
นาย เตียงได้ฉายาว่า ขุนพลภูพาน คือเป็นทั้งแม่ทัพใหญ่ในการฝึกหัดเสรีไทยนับพันคนหลายรุ่น มีอัธยาศัยไมตรีเป็นที่ไว้วางใจของชาวสกลนคร ความเด็ดเดี่ยวอุดมคติที่ต่อสู้กับนักการเมืองที่มีอิทธิพลทำให้เขาถูกยัด เยียดข้อหาฉกรรจ์ในสมัยนั้น และถูกสังหารในที่สุด
เตียงเคยแปลงานของฌัง ฌาคส์ รุสโซ เล่มหนึ่งชื่อ "เอมีล" เป็นหนังสือที่ลือลั่นของรุสโซ่ด้านการศึกษา นอกไปจาก "สัญญาประชาคม" ที่โลกรู้จักดี
หนังสือเล่มนี้รุสโซ่ลังเล ใจอยู่ 12 ปี จึงได้หยิบปากกาขึ้นเขียนหนังสือเอมีล หรือเรื่องการศึกษา บรรจุถ้อยความ 5 บรรพด้วยกัน ซึ่งรุสโซ่ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี เมื่อหนังสือเป็นเล่มขึ้นแล้ว ข้อความเกี่ยวกับศาสนาที่บรรจุอยู่ในหนังสือ ทำให้รุสโซหวั่นเกรงว่าจะทำให้เขาต้องถูกจับ จนต้องหนีเอาตัวรอด ซ่อนกายอยู่นอกประเทศพักหนึ่ง
เตียงซึ่งเป็นอักษรศาสตร์บัณฑิต จุฬาฯ ในฐานะผู้แปลบอกไว้ในความนำในการแปลว่า
“.. บัดนี้ข้าพเจ้ากำลังนึกถึงตัวเองอยูแม้ว่าโฉมหน้าบรรพที่ 2 ของเอมีลจะได้เป็นพากษ์ไทยโดยเรียบร้อยแล้วก็ตาม มันอาจจะไม่โผล่ออกสู่บรรณโลก เพราะผู้แปลอาจหลบหน้าหนีเอาตัวรอด ด้วยทนต่อคำของท่านผู้อ่านที่ไม่ปราถนาจะให้ความเมตตาปราณีแก่ผู้แปลไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามการปักใจของข้าพเจ้าเป็นอันว่าจะไม่ยอมถอน. ท่านรุสโซ สอนข้าพเจ้าไว้เช่นนั้น “เป็นคนต้องทำตามคำพูด”....
เตียง ไม่ได้หนีไปไหน ระหว่างที่เผด็จการกำลังปกครองประเทศ และอุทิศตัวตามอุดมคติเพื่อความเสมอหน้ากันของราษฎรไทยที่เขาบูชา จนวาระสุดท้าย
จบการ ศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนิสิตรุ่นแรกของคณะ และได้รับการบรรจุเป็นครูครั้งแรกที่โรงเรียนมัธยมหอวัง ในปี 2472 นายเตียงเป็นเด็กที่มีการศึกษาสูงมากตามมาตรฐานของภาคอีสานในขณะนั้น
จาก การปฏิวัติ 24 มิ.ย. 2475 ครูเตียง ก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจในแนวคิดประชาธิปไตย เมื่อได้ศึกษาแนวความคิดเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ก็ศรัทธาในแนวคิดของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอย่างมาก
ใน ระหว่างรับราชการครูเตียงได้ร่วมกับนายสหัส กาญจนะพังคะ เพื่อนที่คณะอักษรศาสตร์ เขียนหนังสือคู่มือครู หรือชุดวิชาครู 5 เล่ม เป็นหนังสือชุดคู่มือครูชุดแรกๆ ที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงการครูในสมัยนั้น เพราะเป็นหนังสือช่วยในการสอน และใช้ในการสอบเพื่อยกระดับวิทยฐานะ
ต่อ มาในเดือนก.ค. 2478 ครูเตียงถูกจับกุมพร้อมกับครูอีก 3 คน คือ ครูปั่น แก้วมาตย์ ครูสุทัศน์ สุวรรณรัตน์ และครูญวง เอี่ยมศิลา ในข้อหาว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าจะฝักใฝ่คอมมิวนิสต์และเผยแพร่ลัทธิ คอมมิวนิสต์ในโรงเรียน ถูกขังอยู่ราว 2 เดือน ศาลยกฟ้อง มีเพียงครูญวงคนเดียวที่ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี
จากนั้นครูเตียง ตัดสินใจลาออกจากราชการในปี 2479 และมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร ในงานเขียนของเขาในระยะนี้ ได้แสดงให้เห็นชัดถึงแนวความคิดแบบประชาธิปไตย ดังที่ได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร์ วันที่ 9 ก.ค. 2479 ว่า
ข้าพเจ้า เป็นคนไทย ข้าพเจ้าเป็นไทแก่ตัวเอง ข้าพเจ้าเป็นราษฎรไทย ราษฎรสยาม ทั้งข้าพเจ้าต้องการให้ทุกๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเป็นราษฎรจึงเป็นอุดมคติที่ข้าพเจ้าบูชาอันหนึ่ง
ต่อ มาได้สมัครเป็นผู้แทนราษฎรจ.สกลนคร ได้รับเลือกเป็นส.ส.สมัยแรกทันที เมื่อพ.ย.2480 และกลายเป็น ส.ส.ภาคอีสานชั้นแนวหน้า ระหว่างทำหน้าที่ส.ส. ได้ตั้งกลุ่มร่วมกับส.ส.อีสาน และส.ส.ภาคอื่น กลายเป็นกลุ่ม ส.ส.ที่มีบทบาทนำในสภา ในการต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชน
เตียง ศิริขันธ์ ได้พบกับน.ส.นิวาศน์ พิชิตรณการ บุตรีของร.อ.นาถ และนางเวศ พิชิตรณการ ซึ่งเป็นญาติของจอมพลผิน ชุณหะวัณ และได้สมรสกันในพ.ศ.2482 มีบุตรชายคนเดียวคือ นายวิฑูรย์ ศิริขันธ์
เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุก ประเทศไทยในเดือนธ.ค. 2484 ซึ่งเป็นการนำประเทศไทยเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา เตียง ศิริขันธ์ ได้ร่วมกับ จำกัด พลางกูร ก่อตั้ง คณะกู้ชาติ เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น เพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยแห่งชาติ และคัดค้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ร่วมมือกับญี่ปุ่น
ต่อมานายเตียง ร่วมกับกลุ่มส.ส.ฝ่ายก้าวหน้า ได้เข้าไปชักชวนนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการในเวลานั้นให้ตั้งขบวนการเสรีไทยใต้ดินขึ้น เพื่อหาทางต่อต้านญี่ปุ่น โดยมีนายปรีดีเป็นหัวหน้าเสรีไทย ใช้ชื่อรหัส"รูธ"
นายปรีดีได้ตั้งให้นายเตียงเป็นหัวหน้าใหญ่ของ เสรีไทย ภาคอีสาน รหัส พลูโต เพื่อทำการฝึกกองกำลังลับต่อต้านญี่ปุ่นที่เขตเทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร กองกำลังเสรีไทยสายอีสาน กลายเป็นกำลังที่สำคัญที่สุดของฝ่ายเสรีไทย แต่ยังไม่ทันที่จะได้สู้รบกับญี่ปุ่นอย่างจริงจัง สงครามก็ยุติลง หลังสหรัฐฯทิ้งระเบิดปรมาณูในฮิโรชิมา และนางาซากิ
หลังสงคราม เตียง ศิริขันธ์ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรก ในรัฐบาลรักษาการของนายทวี บุณยเกตุ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2488 โดยเป็นรัฐมนตรีลอย และได้ร่วมกับส.ส.ฝ่ายก้าวหน้าตั้งพรรคสหชีพขึ้น
ในวันที่ 8 พ.ย. 2490 คณะรัฐประหารที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ได้ยึดอำนาจล้มล้างรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และโค่นอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์ ด้วย และเชิญให้พรรคประชาธิปัตย์มาตั้งรัฐบาลขัดตาทัพ
สำหรับ นายเตียง เมื่อได้ข่าวการรัฐประหารก็ได้หลบขึ้นสู่เทือกเขาภูพาน และเตรียมจัดตั้งกำลังต่อต้านคณะรัฐประหาร แต่ปรากฏว่านายปรีดีที่ลี้ภัยไปยังสิงคโปร์ได้ออกอากาศทางวิทยุ ห้ามพลพรรคเสรีไทยไม่ให้ต่อสู้กับคณะรัฐประหาร เพราะไม่ต้องการให้คนไทยฆ่ากันเอง นายเตียงจึงยุติการจัดตั้งกองกำลัง แต่ยังคงหลบอยู่บนภูพาน
ทางรัฐบาลได้สั่งให้พ.ต.อ.หลวงพิชิตธุรการ มาตามล่าจับกุม แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น นายเตียงจึงได้สมญาจากหนังสือพิมพ์ว่า ขุนพลภูพาน
ต่อมาหลวงพิชิต ธุรการได้ใช้วิธีการคุกคามชาวบ้านเพื่อให้บอกที่ซ่อนของนายเตียง จึงก่อให้เกิดความเดือดร้อนอย่างมาก นอกจากนี้ ยังจับครูครอง จันดาวงศ์ และมิตรของนายเตียงอีก 15 คน เพื่อสร้างแรงกดดัน นายเตียงจึงตัดสินใจมอบตัวต่อทางการในเดือนมี.ค. 2491 และทั้งหมดก็ถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน ในที่สุดศาลก็ตัดสินยกฟ้องคดีกบฏแบ่งแยกดินแดน ทำให้นายเตียง และพรรคพวกเป็นอิสระ
ในระหว่างนี้ นายเตียงได้สมัครส.ส.ในการเลือกตั้งเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2492 และได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง จากนั้นในการเลือกตั้งวันที่ 26 ก.พ. 2495 เตียง ศิริขันธ์ ได้รวบรวมอดีตส.ส.ฝ่ายสหชีพและแนวรัฐธรรมนูญ ตั้งเป็นกลุ่มสหไทย ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ 20 ที่นั่งจากจำนวน 123 ที่นั่ง
อย่างไรก็ตาม ในเดือนพ.ย. 2495 รัฐบาลได้กวาดล้างจับกุมฝ่ายค้านจำนวนมากในข้อหากบฏ ที่เรียกกันต่อมาว่า กบฏสันติภาพ และได้ออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเล่นงานกลุ่มที่ถูกจับกุม มีรัฐมนตรีอีสานถึง 4 คนที่ถูกสังหารจากการกวาดล้างครั้งนี้
ขณะนั้นนายเตียงเป็นส.ส. ในคณะกรรมการนิติบัญญัติฝ่ายรัฐบาล เตียง ศิริขันธ์ ได้ถูกตำรวจตามตัวออกจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2495 จากนั้นก็หายสาบสูญไปไม่ปรากฏตัวอีกเลย
จากหลักฐานต่อมาปรากฏว่า เตียง ศิริขันธ์ ถูกสังหารเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2495 พร้อม เล็ก บุนนาค ผ่อง เขียววิจิตร สง่า ประจักษ์วงศ์ และชาญ บุนนาค เสรีไทยที่สำคัญอีกคน รวม 5 คน โดยศพถูกนำไปเผาทิ้งที่ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
นาย เตียงได้ฉายาว่า ขุนพลภูพาน คือเป็นทั้งแม่ทัพใหญ่ในการฝึกหัดเสรีไทยนับพันคนหลายรุ่น มีอัธยาศัยไมตรีเป็นที่ไว้วางใจของชาวสกลนคร ความเด็ดเดี่ยวอุดมคติที่ต่อสู้กับนักการเมืองที่มีอิทธิพลทำให้เขาถูกยัด เยียดข้อหาฉกรรจ์ในสมัยนั้น และถูกสังหารในที่สุด
เตียงเคยแปลงานของฌัง ฌาคส์ รุสโซ เล่มหนึ่งชื่อ "เอมีล" เป็นหนังสือที่ลือลั่นของรุสโซ่ด้านการศึกษา นอกไปจาก "สัญญาประชาคม" ที่โลกรู้จักดี
หนังสือเล่มนี้รุสโซ่ลังเล ใจอยู่ 12 ปี จึงได้หยิบปากกาขึ้นเขียนหนังสือเอมีล หรือเรื่องการศึกษา บรรจุถ้อยความ 5 บรรพด้วยกัน ซึ่งรุสโซ่ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี เมื่อหนังสือเป็นเล่มขึ้นแล้ว ข้อความเกี่ยวกับศาสนาที่บรรจุอยู่ในหนังสือ ทำให้รุสโซหวั่นเกรงว่าจะทำให้เขาต้องถูกจับ จนต้องหนีเอาตัวรอด ซ่อนกายอยู่นอกประเทศพักหนึ่ง
เตียงซึ่งเป็นอักษรศาสตร์บัณฑิต จุฬาฯ ในฐานะผู้แปลบอกไว้ในความนำในการแปลว่า
“.. บัดนี้ข้าพเจ้ากำลังนึกถึงตัวเองอยูแม้ว่าโฉมหน้าบรรพที่ 2 ของเอมีลจะได้เป็นพากษ์ไทยโดยเรียบร้อยแล้วก็ตาม มันอาจจะไม่โผล่ออกสู่บรรณโลก เพราะผู้แปลอาจหลบหน้าหนีเอาตัวรอด ด้วยทนต่อคำของท่านผู้อ่านที่ไม่ปราถนาจะให้ความเมตตาปราณีแก่ผู้แปลไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามการปักใจของข้าพเจ้าเป็นอันว่าจะไม่ยอมถอน. ท่านรุสโซ สอนข้าพเจ้าไว้เช่นนั้น “เป็นคนต้องทำตามคำพูด”....
เตียง ไม่ได้หนีไปไหน ระหว่างที่เผด็จการกำลังปกครองประเทศ และอุทิศตัวตามอุดมคติเพื่อความเสมอหน้ากันของราษฎรไทยที่เขาบูชา จนวาระสุดท้าย
88888888888888888888888888888888888888888888888888888888888888888888888888888