--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คนเสื้อเหลืองในคราบหน้ากากขาว !!?

หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา กลุ่ม “ผู้ชุมนุม” ขนาดเล็กแต่มีการวางแผนมาอย่างดีและมีศักยภาพได้เดินขบวนบนท้องถนนกรุงเทพฯและในจังหวัดอื่นพวกเขาขนานนามตนเองว่า “หน้ากากขาว” เพราะพวกเขาใช้หน้ากากวีกาย ฟอกส์สีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์การเคลื่อนไหวชุมนุมกลุ่มนิรนามที่ก้าวหน้า การเกิดใหม่ของกลุ่มนี้ยังคงห่างไกลจากแนวความคิดเรื่องความรับผิดชอบตามระบอบประชาธิปไตย ความเป็นธรรมชาติ และการเมืองแบบก้าวหน้าอย่างมากมาย

ตามที่ New Mandela ระบุในบทความสองบทความล่าสุดว่ากลุ่มหน้ากากขาวไม่ใช่อะไรนอกจากกลุ่มฝ่ายขวาหัวรุนแรงคลั่งชาติที่มาจากการรวมตัวของกลุ่มพธม. พิทักษ์สยามและกลุ่มที่มีแนวคิดคล้ายกัน กลุ่มเหล่านี้เรียกตัวเองว่ากลุ่ม “ต่อต้านทักษิณ” แต่ศัตรูที่แท้จริงของพวกเขาคือประชาธิปไตย กลุ่มหน้ากากขาวเรียกร้องให้ “ล้มล้าง” รัฐบาลเพื่อไทยซึ่งมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย กลุ่มหน้ากากขาวยังไม่อายที่จะใช้ความรุนแรงต่อนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตยตามรายงานของหนังสือพิมพ์ข่าวสด โดยเมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้วในใจกลางกรุงเทพฯ พวกเขาพยายามทุบตีคนเสื้อแดงด้วยแท่งเหล็ก

การสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างกลุ่มหน้ากากขาวและกลุ่มฝ่ายขาวหัวรุนแรง ซึ่งมีรายงานว่ากลุ่มนักกิจกรรมเหล่านี้ทำกิจกรรม เช่นการร้องเพลงแนวเผด็จการฟาสซิสต์ “หนักแผ่นดิน” เป็นประจำ นอกจากนี้ แกนนำที่เข้าร่วมกับกลุ่มหน้ากากขาว เช่น ผู้ประสานงาน “กลุ่มกรีน” นายสุริยะใส กตะศิลาเริ่มหาข้ออ้างที่แปลกประหลาดและวิตถารว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ “กำลังสร้างเงื่อนไขเพื่อทำรัฐประหาร” ตนเอง

เราไม่ควรประเมินความซับซ้อนของกลุ่มหน้ากากขาวต่ำจนเกินไป บรรยากาศของ “ความเป็นธรรมชาติ” ทำให้กลุ่มนี้มีภาพลักษณ์การเคลื่อนไหวของ “กลุ่มรากหญ้า” คล้ายคลึงกับกลุ่มอาหรับสปริงเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว นอกจากนี้ การใช้สัญลักษณ์การชุมนุมแบบก้าวหน้าและนิรนามนำไปสูภาพลักษณ์ที่ดีในหน้าสื่อ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องจริงก็ตาม การรายงานข่าวในแง่ดีถูกผลักดันโดยกระบอกเสียงของพรรคประชาธิปัตย์หนังสือภาษาอังกฤษ “บางกอกโพสต์” ซึ่งได้พยายามหลอกลวงผู้คนโดยนำเสนอว่ากลุ่มหน้ากากขาวคือกลุ่มผู้ชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมาย มากมายจะเป็นกลุ่มที่ผสมผสานกันของกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยมากที่สุดในประเทศไทย

แล้วใครอยู่เบื้องหลังกลุ่มหน้ากากขาว? บุคคลสำคัญในวงการสื่อที่มีอำนาจและร่ำรวย นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวอิสระทีนิวส์กลุ่มทีนิวส์ สองสำนักข่าวนี้เต็มไปด้วยคำด่าทอหยาบคายและมีแนวความคิดฝ่ายขวาหัวรุนแรง เป็นกลุ่มซึ่งให้การสนับสนุนอย่างลับๆต่อกลุ่มหน้ากากขาว

ไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่านายสนธิญาณกล่าวว่า “เขาสนับสนุนกลุ่มนี้ เชื่อว่าพวกเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง และเชื่อมั่นว่ากลุ่มนี้จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ” นายสนธิญาณกล่าวต่อว่าบริษัทของเขาขายหน้ากากขาวให้ผู้ชุมนุมและ “มีคนซื้อหน้ากากราว 10,000 ใบ และยังมีการสั่งซื้อมาเรื่อยๆ” อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านายสนธิญาณจะพูดจาล้ำเส้น เมื่อเข้าพูดถึงเพื่อนร่วมชาติ โดยเขาแนะนำว่า “ทักษิณและครอบครัวจะต้องถามตัวเองว่าพวกเขาสามารถอาศัยอยู่ในที่ที่มีแต่คนเกลียดพวกเขาได้อย่างไร” บางทีนายสนธิญาณอาจตั้งใจลืมว่าการเลือกตั้งทั่วไปทั้ง 5 ครั้งใน 12 ปีที่ผ่านมาให้ประชามติตามระบอบประชาธิปไตยต่อรัฐบาลที่นำโดยทักษิณ และการเคลื่อนไหวของหน้ากากขาวในกรุงเทพฯก็ไม่ได้มีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากนัก

แม้กลุ่มหน้ากากขาวไทยจะแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนมากขึ้นในเรื่องของการสื่อสารข้อความ แต่กลุ่มนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากกลุ่มนิยมอำนาจเก่าซึ่งเป็นกลุ่มพลังต่อต้านประชาธิปไตยอันเกิดจากการรวมตัวในรูปแบบใหม่โดยใช้การสื่อสารที่เป็นมิตร เราไม่ควรประเมินกลุ่มนี้ต่ำเกินไป การยืมเอาสัญลักษณ์ที่กำลังเป็นที่นิยมของการเคลื่อไหวของกลุ่มหัวก้าวหน้าทั่วโลกไม่ช่วยทำให้กลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มหัวก้าวหน้าไปได้

Read more from ประเทศไทย, โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ย้อนรอย : วิกฤติต้มยำกุ้ง จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย !!?

ไทยรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจ-สถาบันการเงินครั้งใหญ่ หลักประกันศก.ไทยไม่ซ้ำรอยประวัติศาสตร์อันบอบช้ำ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่า ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 นี้ ถือเป็นวันครบรอบ 16 ปี ที่ทางการไทยตัดสินใจประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 โดยการตัดสินใจครั้งดังกล่าวนั้นถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเศรษฐกิจไทย อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและการเงินไทยในระยะถัดมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงขอใช้โอกาสนี้ในการมองย้อนกลับไปที่วิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 2540 พร้อมสรุปการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา เพื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

บทเรียนจากวิกฤตการณ์ปี 2540 ... นำมาสู่โครงสร้างเศรษฐกิจและระบบการเงินไทยที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นมากขึ้น

ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 นั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยมีจุดอ่อนสำคัญ 3 ประการที่เกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียงและเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน อันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่นำมาสู่วิกฤตการณ์ค่าเงินและวิกฤตการณ์สถาบันการเงินปี 2540 ประกอบด้วย

- การเก็งกำไรอย่างกว้างขวางในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น ท่ามกลางสภาพคล่องจากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศที่ไหลเข้าสู่ระบบการเงินไทยอย่างรวดเร็ว เพื่อหาผลตอบแทนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

- การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบตะกร้าเงินที่ไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอ ซึ่งทำให้ค่าของเงินบาทไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ ซึ่งเผชิญปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงอย่างเรื้อรัง จนนำมาสู่การโจมตีค่าเงินบาทจากนักเก็งกำไร และทำให้ทางการต้องประกาศเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540

- ระบบการเงินไทยยังคงเปราะบาง โดยขาดการบริหารความเสี่ยง การตรวจสอบและการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินกิจการวิเทศธนกิจ (BIBFs) ของสถาบันการเงินที่ทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งจากการกู้ยืมเงินทุนระยะสั้นมาปล่อยกู้ระยะยาว และความเสี่ยงจากการปล่อยกู้สกุลเงินที่แตกต่างกัน (Maturity and Currency Mismatch) ซึ่งเมื่อผนวกกับการขาดการกำกับดูแลที่ดีเพื่อป้องกันพฤติกรรมการปล่อยกู้ที่เสี่ยงของสถาบันการเงิน ทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียที่ทวีความรุนแรงขึ้น จนกระทบความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน และนำมาสู่ปัญหาวิกฤตการณ์สถาบันการเงินในที่สุด

ทั้งนี้ ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมานั้น จุดอ่อนเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยที่นำมาซึ่งวิกฤตการณ์ปี 2540 ได้รับการพัฒนาปรับปรุง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ซึ่งกลายเป็นจุดแข็งต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในระยะปัจจุบัน ดังนี้

- ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น ท่ามกลางการบริหารจัดการความเสี่ยงและการกำกับดูแลจากทางการที่ตรงตามมาตรฐานสากล โดยผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ขณะเดียวกัน การบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ ของสถาบันการเงินก็เป็นไปในลักษณะที่ระมัดระวัง และเมื่อผนวกกับการนำหลักเกณฑ์สากลมาใช้ในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ก็เป็นที่แน่ใจได้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีความเข้มแข็งขึ้นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตปี 2540

- เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพและความยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานที่อยู่ในระดับต่ำ ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอย่างต่อเนื่อง หนี้ต่างประเทศที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 30 ปี รวมถึงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนภาพความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยที่น่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์อันไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

กระนั้นก็ดี เส้นทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน อาจมีบางประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะเป็นประเด็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจบางอย่างที่มีความคล้ายคลึงกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลต่อภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และการสะสมของปัญหาหนี้ครัวเรือน ท่ามกลางการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการซึ่งแตกต่างจากช่วงปี 2540 ดังนี้

- การสะสมของหนี้ครัวเรือน...อาจสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมและการดำรงชีวิตของครัวเรือน ทั้งนี้ แม้ว่าหนี้ครัวเรือนไทยอาจเร่งตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 77.6% ต่อจีดีพีในปี 2555 แต่ต้องยอมรับว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนดังกล่าว อาจสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งการเข้าสู่สังคมเมือง ชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น รายได้ที่สูงขึ้นของภาคชนบท รวมไปถึงการเข้าถึงบริการทางการเงินของสถาบันการเงินในระบบที่เพิ่มขึ้น (ซึ่งทดแทนการก่อหนี้นอกระบบ) ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลที่ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับเพิ่มขึ้น

- ความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน...เป็นผลจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่แท้จริงของครัวเรือน ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจแล้ว พบว่า สัดส่วนสินเชื่อของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ (รวมผู้ประกอบกิจการก่อสร้าง) มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ ขณะที่ สัดส่วนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต่อจีดีพีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2555 ที่ระดับ 19.9% ต่อจีดีพี โดยการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อที่อยู่อาศัยดังกล่าวเป็นผลจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่แท้จริงของครัวเรือนไทยที่มีแนวโน้มเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น รวมไปถึงความต้องการที่อยู่อาศัยตามแนวระบบขนส่งมวลชนระบบราง ซึ่งแตกต่างจากปี 2540 ที่เป็นไปเพื่อการเก็งกำไรเป็นหลัก

ดังนั้น เมื่อผนวกประเด็นดังกล่าวกับราคาที่ดินและวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยในตลาดปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกัน กระนั้นก็ดี ด้วยการคัดกรองลูกค้าของสถาบันการเงินและหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของทางการ ตลอดจนโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงจนกระทั่งกระทบกับความสามารถในการชำระหนี้มีค่อนข้างจำกัด จึงทำให้คาดได้ว่าการปรับตัวขึ้นของสินเชื่อที่อยู่อาศัยดังกล่าวจะไม่เป็นประเด็นเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต

สรุป ครบรอบ 16 ปี หลังเศรษฐกิจไทยที่ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ปี 2540 การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจและพัฒนาการของระบบสถาบันการเงินไทยที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น น่าจะช่วยเป็นหลักประกันได้ในระดับหนึ่งว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เดินซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่เคยบอบช้ำ และสถาบันการเงินจะมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะสามารถรับมือกับสถานการณ์อันไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////

ครม.ปู 5 ปรับเพื่อรับ หรือปรับเพื่อรุก!!?

กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลภายใต้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการปรับครั้งที่ 5 โดยเป็นการปรับครั้งใหญ่กว่าครั้งที่ผ่านมา จากในโผปรับกว่า 18 ตำแหน่ง โดยใน ครม.ชุดนี้ ประกอบด้วยบุคคลจากหลายส่วน ทั้งฟากของรัฐบาลของอดีตพรรคไทยรักไทย สัดส่วนโควตาพรรคร่วมรัฐบาลเอง และคนนอกที่มีประสบการณ์ในการบริหารกระทรวง กรมต่างๆ เพื่อศักยภาพในการบริหารประเทศที่เพิ่มขึ้น



คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เมื่อมองดูถึงแผนนโยบายบริหารของพรรคเพื่อไทยในด้านต่างๆ ครั้งที่เคยหาเสียงสัญญาไว้ ซึ่งบางนโยบายประสบความสำเร็จ บางนโยบายกำลังดำเนินการ และบางนโยบายต้องประสบปัญหาด้านต่างๆ โดยไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง ด้านสังคมวัฒนธรรม ซึ่งล้วนแต่ต้องผ่านฝ่ายบริหารอย่างรัฐบาลที่มีหน้าที่โดยตรง
ปัญหาที่รัฐบาลประสบ
ด้านเศรษฐกิจ

จากปัญหาด้านต่างๆ จะเห็นได้ว่าเรื่องที่รัฐบาลประสบปัญหามากที่สุด คงจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ตั้งให้เป็นวาระหลักในการบริหารประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตและเร่งปรับแนวเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการจำนำข้าว โครงการรถคันแรก โครงการปรับปรุงสาธารณูปโภค ฯลฯ

ซึ่งโครงการเหล่านี้ต้องมีนำเม็ดเงินของรัฐลงทุนก่อน ซึ่งหากมองตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วหากการกระตุ้นนั้นได้ผล รัฐก็จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นไปด้วย ทั้งด้านการสนับสนุน และเสถียรภาพของรัฐบาลในการบริหารงานด้านอื่นๆ ต่อไป แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องประสบปัญหาสำคัญด้านเศรษฐกิจ จาก 2 ส่วน



ส่วนแรกเป็นปัญหาภายใน จากการกระจุกตัวของเงินเฉพาะคนรวย และเม็ดเงินเหล่านั้นไปไม่ถึงประชาชนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องการนำลงไปอัดฉีด เช่น นโยบายจำนำข้าวที่ก็เม็ดเงินก็ยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะโรงสีและพ่อค้าข้าวรายใหญ่ทำให้เม็ดเงินเหล่านั้นไปไม่ถึงชาวนา ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการยอมขาดทุนของรัฐบาล โดยให้ชาวนาเป็นผู้กระตุ้นเศรษฐกิจจากการจับจ่ายใช้สอยนั้นก็ต้องมีปัญหาเกิดขึ้น

ส่วนสองเป็นปัญหาจากภายนอก ด้วยสภาพของเศรษฐกิจโลกตอนนี้อยู่ในช่วงซบเซา และตลาดค้าหลักของไทยนั้นก็อยู่ในช่วงดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรป ซึ่งแม้จะมีการกระตุ้นจากประเทศเหล่านี้ สภาพเศรษฐกิจโลกก็ดูท่าที่จะไม่ดีขึ้น ทำให้รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ต้องประสบปัญหานี้อย่างปฏิเสธไม่ได้
ด้านการเมือง

ปัญหาที่รัฐบาลต้องประสบด้านการเมืองคงหนีไม่พ้นปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องประสบปัญหาอย่างมากในการบริหารประเทศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และเป็นวาระหลักที่หลายฝ่ายมีความต้องการให้แก้ แต่การแก้เหล่านั้นรัฐบาลต้องรับมือกับกระแสโต้จากหลายฝ่าย ด้วยเหตุผลหลักว่าเป็นการแก้ให้พวกพ้องตัวเอง

ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้น หากเรามองล้วนมีปัญหาทั้งด้านที่มาและเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นการให้อำนาจของศาล องค์กรอิสระที่มากเกินไป ทำให้ฝ่ายบริหารทำงานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะกลัวว่าจะผิดกฎหมาย หรือต้องระวังการถูกฟ้องร้องจากฝ่ายต่างๆ ซึ่งไม่ผิดจากครั้งที่ก่อนมีรัฐธรรมนูญปี 2540 อำนาจบริหารไม่มี ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 เพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายบริหาร แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 มิได้เป็นเช่นนั้น

ด้านฐานมวลชน จะเห็นได้ว่าเป็นวาระหลักของมวลชนเสื้อแดงที่สนับสนุนรัฐบาลให้มีการแก้ไข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับฝ่ายบริหารและลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร ซึ่งมีรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นเสมือนตัวประสานทางอำนาจของกลุ่มอำนาจฝ่ายทำรัฐประหารที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ปรับเพื่อรุก/ปรับเพื่อรับ:

หากมองดูถึงหน้าตาของคณะรัฐมนตรีในโผชุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 5 จะทำให้เห็นอะไรบางอย่างและใครคุมกระทรวงใด ซึ่งหากมองในตำแหน่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่งควบกระทรวงกลาโหม การกลับมาของคุณปวีณา หงสกุล ที่มานั่งคุมกระทรวงพัฒนาสังคม โยกคุณนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ไปนั่งกระทรวงพาณิชย์ โยกคุณเฉลิม อยู่บำรุง จากรองนายกรัฐมนตรีไปนั่งกระทรวงแรงงานและให้คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง นั่งคุมกระทรวงการคลังและรองนายกเช่นเดิม แต่เพิ่มบทบาทให้ไปดูแลด้านนโยบายจำนำข้าวโดยเฉพาะ และอีกหลายท่านตำแหน่งอื่นๆ


คุณนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล

สิ่งที่จะชี้ของการปรับครั้งนี้ คงต้องพุ่งเป้าไปที่หน้าตาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์ใช้เลือก คือ ความสามารถของบุคคลที่ต้องใช้ในการบริหารกระทรวงดังกล่าวและความใสสะอาดในการบริหารงานที่ผ่านมา เพื่อไร้ข้อโต้แย้งของฝ่ายตรงข้าม เพื่อเป็นการลดจุดบอดของรัฐบาล และลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในการบริหารงานของรัฐบาล เช่นฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ที่มองว่าการปรับคณะรัฐมนตรีชุดนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนหน้าเค้กเท่านั้น แต่เนื้อเคยยังเป็นเช่นเดิม และการปรับคณะรัฐมนตรีชุดเก่าเพื่อลดความขัดแย้งในด้านการตรวจสอบ

แต่แน่นอนว่า จุดมุ่งหมายที่รัฐบาลต้องทำให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นเสมือนการลุกคืบของรัฐบาล และต้องทำเพื่ออนาคตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในสมัยต่อไป คือ ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพรัฐบาลให้เพิ่มขึ้น และด้านการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นเรื่องที่เรียกได้ว่าจะเป็นจุดสกัดกั้นรัฐบาลในอนาคต หากถูกโจมตีในอนาคต นี้จึงเป็นการปรับทั้งเพื่อรุกและเพื่อรับต่อไปในอนาคตของรัฐบาล

ที่มา.Siam Intelligence Unit
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

มาม่า VS นโยบายรัฐ

 สหพัฒนพิบูลปรับเป้าโตเป็น 10% จากเดิม 15% เหตุกำลังซื้อคนไทยหด เพราะหนี้เพิ่มจากนโยบายรถคันแรก ส่งผลให้ประชาชนเดินห้างสรรพสินค้าน้อยลง ยอดขายมาม่าตก
   
นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บมจ.สหพัฒนพิบูล เปิดเผยว่า ผลพวงจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลที่ผ่านมา ทำให้กำลังซื้อของคนไทยลดน้อยลงตามไปด้วย แม้ว่าจะมีประชาชนบางส่วนเริ่มทิ้งใบจองกันไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ขณะที่ห้างสรรพสินค้าร้อยละ 90 ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในตอนนี้คนเริ่มมาเดินห้างน้อยลง สินค้าภายในห้างสรรพสินค้ายอดก็ลดลงไปเช่นกัน ซึ่งแม้ว่าจะมีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเข้ามา ทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าก็ขึ้นตามไปด้วยเหมือนกัน ประโยชน์ที่จะเพิ่มกำลังซื้อจากนโยบายดังกล่าวจึงแทบจะไม่มีเลย ขณะนี้บริษัททำงานเหมือนแข่งกับนโยบายของรัฐบาลด้วยซ้ำ
   
สำหรับยอดการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า ในตอนนี้ยอดก็ตกลงไปด้วย แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในการรับประทานมากขึ้น เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมิได้เป็นตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่อย่างแท้จริง โดยการบริโภคของคนไทยที่ผ่านมานิยมซื้อแบบเป็นแพ็ก ซึ่งนั่นหมายถึงการบริโภคจำนวนมาก แต่ในขณะนี้ผู้บริโภคนิยมซื้อแบบทีละซอง การบริโภคลดลง ทำให้ยอดมาม่าตกลงไปด้วย
   
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาธุรกิจรองเท้าและถุงเท้าต้องปิดกิจการไป เนื่องจากสู้กับการปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่ไหว เพราะธุรกิจดังกล่าวต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นธุรกิจส่งออก เพื่อแก้ปัญหาการใช้แรงงานคน จึงได้มีการใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการผลิตมากขึ้น อย่างโรงงานไลออน ก็เริ่มหันมาใช้หุ่นยนต์แทนการใช้คนมากขึ้น และก็ยังคาดว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในอีกหลายโรงงานในอนาคต
   
ขณะที่ครึ่งปีที่ผ่านมาตัวเลขการเติบโตตกลงเหลือแค่ 8% จากเดิมต้องโตประมาณ 10% ขึ้นไป โดยเป้าการเติบโตในแต่ละปีตั้งไว้ที่ประมาณ 15% แต่ในปีนี้คงต้องลดเป้าลงเหลือแค่ 10% เท่านั้น จากสภาวะเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีแรกที่ส่อแววไม่ดีนัก รวมถึงกำลังซื้อของคนไทยในครึ่งปีหลังนี้ก็ยังมองไม่เห็นปัจจัยที่จะทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้นได้แต่อย่างใด.

ที่มา.ไทยโพสต์
//////////////////////////////////////////////////////////////

ปรัชญา :ในศาสนาที่สำคัญ ในการสร้างกรอบวินัยการเงินการคลัง !!?

การมีหน้าที่เสียภาษีให้แก่หลวงเป็นราชพลี มีนิทัสนะในชาดกที่เล่าไว้ว่า ได้แก่ “บ้านส่วย” อันเป็นสถานที่เก็บภาษีอากรที่มีมาแล้วในพุทธกาล  ผู้ใดเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจใน  บ้านส่วย”  ที่จะต้องได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ต้องเป็นผู้ที่มีความสื่อสัตย์สุจริตมีความชอบถึงขนาดเป็นที่ประสบพระราชอัธยาศัยจึงจะได้รับพระราชทาน “บ้านส่วย”  ดังมีนิทัศที่เล่าไว้อย่างน่าใคร่ครวญเพื่อเป็นแนวทางพิจารณาวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องความ “พอใจ” และ “กิเลส ของมนุษย์ที่เป็น “นานาจิตตัง”  ดังนี้

“ท่านปุโรหิตแห่งพาราณสีนอกราชการ  กระทำความชอบขนาดเป็นที่สบพระราชอัธยาศัยของพระเจ้าพระพาราณสี  จึงได้รับพระราชทานพรให้เลือกขอรับพระราชทานในสิ่งที่ตนประสงค์ได้  ท่านขอโอกาสกลับมาหารือกันดูก่อนว่าจะขอรับพระราชทานสิ่งใด  เพื่อมิให้เป็นที่ขัดใจกันในระหว่างผู้อยู่ร่วมกัน  เมื่อมาถึงบ้านแล้ว  ท่านก็เรียกประชุมคนในบ้าน คือ ภรรยา ลูกชาย ลูกสะใภ้ และนางปุณณทาสี ตนเอ็งเป็นประทานในที่ประชุม  ท่านปุโรหิตผู้เป็นประทาน  เปิดประชุม  กล่าวถึงที่ได้รับพระราชทานพรจากพระราชา ดำเนินอนุสนธิว่า เราจะขอรับพระราชทานอะไรถึงจะดีและเสนอขึ้นก่อนว่า 
“เราจะขอรับพระราชทานบ้านส่วยจะเห็นเป็นอย่างไร”

ภรรยา “ดิฉันใคร่ขอรับพระราชทานรถเทียมโคนมสัก ๑๐๐” 
ลูกชาย“ผมใคร่จะขอรับพระราชทานรถเทียมม้าอาชาไนย” 
ลูกสะใภ้“ดิฉันใคร่ขอรับพระราชทานเครื่องประดับงามๆ” 
นางปุณณาทาสี“ดิฉันใคร่ขอรับพระราชทาน ครกและสาก” 

ท่านปุโรหิตไม่ได้รับความเห็นร่วมจากคนของตนเลย  ความพอใจของท่านที่จะขอรับพระราชทาน “บ้านส่วย” ไม่อาจทำให้ผู้อื่นคล้อยตามได้  ครั้นจะถือความพอใจของตนเป็นประมาณก็จะเป็นเหตุทำลายความอยู่เย็นเป็นสุขอันเคยมีมาแต่ก่อน  ท่านปุโรหิตต้องพิเคราะห์หนักในที่สุดไม่รู้จะชี้ขาดได้อย่างไร  ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาถึงความพอใจที่ต่างกันนั้นๆ ดังนี้ 

-ขอเดชะพระบารมีปกเกล้า 
                ข้าพระพุทธเจ้า จะรอรับพระราชทานบ้านส่วย 
                ภรรยา อยากรวยให้รับพระราชทานโคนมหนึ่งร้อย 
                ลูกชายสำออยให้ขอรับพระราชทานรถม้าอาชาไนย 
                ลูกสะใภ้อ้อนใหญ่ให้ขอรับพระราชทานอลังการดีๆ 
                นางปุณณาทาสี  คะยั้นคะยอให้ขอรับพระราชทานครกและสาก
               
 เป็นความยากล้นเกล้าล้นกระหม่อมอยู่แล้ว  สุดแต่จะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า เถิดพระเจ้าข้า
                พระเจ้าพาราณสีทรงพระสรวล และพระราชทานให้ทุกอย่างแก่ทุกคน 
                จากเรื่องนี้แสดงว่า  ความพอใจแล้วแต่อัธยาศัยของคน  ความพอใจที่ประกาศออกมานั้นเป็นเครื่องส่องอัธยาศัย  และความพอใจของคนในบ้านเดียวกัน อยู่ร่วมร่มไม้ชายคายังต่างกัน ๕ คน เป็น ๕ อย่าง  หากกว้างกว่านั้น เป็นเมือง เป็นประเทศ เป็นโลก จะต่างกันประการไร

อนึ่ง ผู้เขียนขออนุญาตมีความเห็นเพิ่มเติมว่า นางปุณณาทาสีเป็นผู้มีความต้องการตามอัตภาพของตนถึงขนาดคะยั้นคะยอเพียงขอรับพระราชทานเพียง ครกและสาก เท่านั้น ทั้งๆที่ถ้ามีความโลภหรือไม่มีความ “พอ” เหมือนเช่นบุคคลอื่นๆแล้วจะขอพระราชทานมากกว่านั้นก็ได้ จึงเป็นบุคคลน่าจะเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญเพราะเป็นผู้ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เรื่องนางปุณณทาสีอาจเปรียบเทียบได้กับลูกศิษย์ที่ขงจื๊อโปรดปรานคนหนึ่งชื่อ “เหยียนหุย” ซึ่งครอบครัวจนมากอาศัยอยู่ในตรอกซอยที่เป็นสลัม ชีวิตของเขายากเข็ญ  แต่ลูกศิษย์ผู้นี้ก็มีความพอใจ ซึ่งบางคนอาจอ้างว่าความรวยความจนก็คือชีวิตและคนจนก็ต้องทนอยู่ไปวันๆ  แต่ทว่าเหยียนหุยผู้นี้ได้รับความชมชอบนับถือไม่ใช่เพราะเขาทนได้กับภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ แต่เป็นเพราะทรรศนะของเขาต่อการดำรงชีวิตซึ่งคนทั้งหลายจะรู้สึกว่าวิถีชีวิตเช่นนี้ก็คือความยากลำบาก  แต่สำหรับเหยียนหุยแล้ว  เขารักษาทรรศนะที่เป็นรูปธรรมได้เสมอ ขงจื๊อจึงสรุปว่า บุคคลที่เป็น

ผู้เป็นเลิศ (เสียนเจ่อคือคนที่ไม่เคยให้วัตถุปัจจัยมากำหนดชีวิตของตนซึ่งทำให้เขาสามารถรักษาชีวิตอันสงบนิ่งได้

ในสังคหวัตถุของผู้ครองแผ่นดิน  หรือราชสังคหวัตถุ  ๔  คือหลักการสงเคราะห์ประชาชนของผู้ปกครอง  
                 ๑ สัสสเมธะ  คือ พระปรีชาฉลาดในอันบำรุงที่เป็นสมบัติใหญ่ของบ้านเมือง  ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร  ส่งเสริมการเกษตร
                 ๒ สัมมาปาสะ ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ  เช่นให้คนจนกู้ยืม  บำรุงพานิชยกรรมการค้าขายอันเป็นอุบายดังบ่วงคล้องน้ำใจพวกพานิชภายในภายนอกไว้โดยชอบ  เป็นทางประกอบพระราชทรัพย์ขึ้นพระคลังและทำความมั่งคั่งสมบูรณ์แห่งพระราชอาณาเขต      
              ๓  ปุริสเมธะ  ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ  รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามรถ 
              ๔  วาชเปยะ  หรือ  วาจาเปยยะ  ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ น้ำคำควรดื่ม  คือ  รู้จักพูด  รู้จักปราศรัย  ไพเราะ  สุภาพนุ่มนวล  ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์  เป็นทางแห่งสามัคคี  ทำให้เกิดความเข้าใจอันดี  และความนิยมเชื่อถือ

นอกจากนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนข้อปฏิบัติสำคัญที่จะทำให้เกิดผล คือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้มีทรัพย์สินเงินทอง พึ่งตนเองได้ เรียกว่า “ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน” หรือธรรมที่เป็นไปเพื่อ
 ทิฎฐธัมมิกัตถะ เรียกชื่อเต็มว่า “ทิฎฐธัมมิกัสังวัตตนิกธรรม” มีสี่ข้อด้วยกัน

๑ อุฎฐานสัมปทา  ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอันสุจริต  มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่อง  ตรวจตรา หาอุบายวิธี สามารถจัดดำเนินให้ได้ผลดี

๒  อารักขสัมปทา  หมายถึงความพร้อมด้วยการรักษา  คือรู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์ทรัพย์  และ ผลงานอันตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม  ด้วยกำลังงานของตนไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย 

๓  กัลยาณมิตตตา  คบคนดีเป็นมิตร  คือ รู้จักกำหนดบุคคลในถิ่นที่อาศัย เลือกเสวนาสำเหนียกศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้ทรงคุณมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา 

๔  สมชีวิตามีความเป็นอยู่เหมาะสม คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี  มิให้ฝืดเคืองหรือฟูมฟาย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้      
                
นอกจากนี้ยังมีหลักการจัดสรรแบ่งทรัพย์ที่ชื่อว่า “โภควิภาค ๔”  คือ การแบ่งโภคะโดยจัดสรรออกเป็น ๔ ส่วน ที่ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (..ปยุตฺโต) ได้อธิบายไว้หนังสือ พจนานุกรมพุทธศาสตร์  ฉบับประมวลธรรม  ดังนี้  
                
โภควิภาค  ๔  คือ การแบ่งโภคะออกเป็น  ๔  ส่วน  หลักการแบ่งทรัพย์โดยจัดสรรเป็น ๔ ส่วน(Bhogavibhaga fourfold division of money)                       
         
 ๑ เอเกน โภเค  ภุญเชยฺย ๑ ส่วนใช้เลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุง และทำประโยชน์(On  one  part  he  should  live  and  do  his  duties  towards  others)
          
๒.-๓.  ทฺวีหิ กมฺมํ  ปโยชเย ๒ ส่วนใช้ลงทุนประกอบงาน(With  two  parts  he  should  expand  his  business)
                
๔.จตุตฺถญจ นิธาเปยฺย อีก ๑ ส่วนเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น (And he should save the fourth a rainy day)

จะเห็นได้ว่าหลักพุทธจริยธรรมทางการเงินและการคลังที่ได้อัญเชิญมาบางส่วนนี้ล้วนเป็น “อกาลิโก”  ทั้งสิ้น ถ้าจะได้นำมาปรับใช้เป็นหลักและแนวคิดในการจัดทำนโยบายการสร้างวินัยทางการคลังและจัดสรรงบประมาณรายจ่ายตามนโยบายของรัฐบาลที่เป็นไปตามกฎอนิจจังเพราะทรัพยากรของชาติโดยเฉพาะเงินแผ่นดินที่จะนำไปพัฒนามีอยู่อย่างจำกัดและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น ถ้ามนุษย์ใช้มันด้วย “สติ” และ “ปํญญา” มี “โยนิโสมนสิการ”  ดังที่ท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) อธิบายว่าคือ......การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสาย แยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบและโดยอุบายวิธี ให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยโดยปฏิบัติต่อมันอย่างถูกต้องก็จะเป็นปัจจัยที่เกื้อกูลทั้งในการพัฒนาตัวมนุษย์เองและในการนำการพัฒนาที่ยั่งยืนไปสู่จุดหมาย

ฐานะการเงินการคลังของประเทศไทยและชีวิตของประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่คงจะไม่ตกอยู่ความ “อัตคัดขัดสน ดังในสภาพเช่นในปัจจุบันนี้

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
////////////////////////////////////////////////////////////////////

แพ้ทุกแนวรบ !!??

โดย : นพคุณ ศิลาเณร

การถอยร่นของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในท่วงทำนองยอมลดราคาจำนำข้าวเปลือกลงเหลือ 12,000 บาทต่อตัน และจำกัดวงเงินเพียง 500,000 บาทต่อครอบครัว คือการทำลาย “จุดแข็ง” จำนำข้าวทุกเมล็ด ไม่จำกัดปริมาณอย่างย่อยยับ

นั่นสะท้อนถึงความล้มเหลวของนโยบายจำนำข้าว และความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเสียหายยับเยิน

โครงการจำนำข้าวเปลือก เป็นนโยบายสร้างมวลชนคนชนบทให้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจนชนะเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 แล้วก่อเกิดรัฐบาลตระกูล “ชินวัตร” รุ่น 3 มาบริหารประเทศ

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ลงมือทำนโยบายจำนำข้าวเปลือกราคา 15,000 บาทต่อตันได้เพียง 3 ครั้ง คือ ในฤดูข้าวเปลือกนาปี 2554/2555 ข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 และข้าวเปลือกนาปี 2555/2556

ส่วนข้าวนาปรังปี 2556 ซึ่งใกล้เก็บเกี่ยว แต่รัฐบาลปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสำคัญ โดยลดราคาเหลือ 12,000 บาทต่อตัน ทำให้ชาวนาไม่พอใจ เริ่มก่อหวอดชุมนุมประท้วง เรียกร้องให้รับจำนำข้าวในราคา 15,000 บาทต่อตันตามเดิม จนรัฐบาลอยู่ในอาการ “หลังผิงฝา” ไร้หนทางเดินอย่างราบรื่น

นี่เป็นการแพ้เชิงนโยบายครั้งสำคัญ อันมีสาเหตุมาจากถูกโจมตีว่า “ขาดทุน”

อันที่จริง นโยบายจำนำข้าวเปลือก เป็นมาตรการแทรกแซงราคาข้าวเพื่อช่วยเหลือชาวนาให้ขายข้าวได้ราคาสูงกว่าราคาตลาดของพ่อค้าคนกลางรับซื้อ

เมื่อราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาดข้าว ย่อมต้องขาดทุนสถานเดียว ยากจะเป็นอย่างอื่นได้

แต่การขาดทุนจำนวน 1.3 แสนล้านบาทตามข้อมูลของรัฐบาล หรือขาดทุนบักโกรกถึง 2.6 แสนล้านบาทจากการโจมตีของพรรคประชาธิปัตย์นั้น

ทุกข้อมูลการขาดทุน ล้วนพุ่งตรงไปสู่เป้าหมาย “แก้ปัญหาความยากจน” ของประเทศทั้งสิ้น หากพิจารณาเม็ดเงิน 1-2 แสนล้านบาทที่รัฐบาลใช้แก้ไขความยากจนของชาวนากว่า 16 ล้านคนแล้ว ย่อมเป็นสิ่งคุ้มค่าเหนือคำบรรยายใดๆ

เพราะความยากจนเป็นทุกข์ของชาวนา และเป็นทุกข์ของชาติ การช่วยเหลือชาวนาผ่านนโยบายจำนำข้าวเท่ากับแก้ไขปัญหาใหญ่ของประเทศ

แม้นโยบายจำนำข้าวเกิดผล “ขาดทุน” แต่เงินที่ลงสู่คนยากจนไม่เสียเปล่า เงินกว่าแสนล้านบาทล้วนถูกหมุนย้อนกลับมาสู่ระบบเศรษฐกิจตลาด และสร้างมูลค่ากลับคืนได้หลายแสนล้านบาท นี่เป็นผลทางการเมือง ซึ่งผู้นำต้องเข้มแข็ง มีจุดยืนแน่วแน่

เพราะสิ่งนี้คือ “กำไร” ที่เกิดจากผลการขาดทุนของนโยบายจำนำข้าว แต่รัฐบาลเมื่อถูกรุกทางการเมืองจากคนชั้นกลาง แล้วรวนเร ไปไม่เป็นมืดแปดด้าน จิตวิตก ยอมสูญเสียทางการเมือง สาเหตุเกิดจากผู้นำไร้จุดยืนกับคนยากจน

แล้วเมื่อถูกพรรคประชาธิปัตย์รุกกระหน่ำ โจมตีซ้ำว่า การขาดทุนเท่ากับการทุจริตคอร์รัปชั่น รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงไปไม่เป็น เพราะประเด็นโกงกินเมื่ออธิบายผ่านการขาดทุนโครงการจำนำข้าวจึงเป็นรูปธรรม ทำให้สังคมคล้อยตาม สถานการณ์รัฐบาลจึงลำบาก

เมื่อแนวรบการทำงานตามนโยบายช่วยเหลือคนจนถูกตีแตกกระเจิงด้วยข้อหาโกงกิน นับประสาอะไรนโยบายแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยเงิน 3.5 แสนล้านบาท และการลงทุนสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานจากเงินกู้จำนวน 2.2 ล้านล้านบาทจะไม่ถูกโจมตี จนหมดความน่าเชื่อถือ

แน่นอนการโจมตีด้วยข้อหา “โกงกิน” จากนโยบายของรัฐบาลต้องดังกระหึ่มขึ้น เสียงเรียกร้องไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงมีแนวโน้มจุดติด

ย่อมเป็นธรรมดา เมื่อรัฐบาลสูญเสียความชอบธรรมจากนโยบายจำนำข้าวแล้ว การเชื่อมโยงปม “โกงกิน” ไปสู่การอธิบายยุทธศาสตร์โค่น “ระบอบทักษิณ” จึงมีพลังอยู่ไม่น้อย

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในชื่อ “กลุ่มหน้ากากขาว” ชูรหัสล้มระบอบทักษิณ ไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นจน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เกิดข้อกังขา แล้วควานหา “อักษรย่อ” ของผู้อยู่เบื้องหลังมาประจาน

ตามความเชื่อของกลุ่มหน้ากากขาวมีพื้นฐานการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ที่ “การโกงกิน” แม้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง แต่รัฐบาลตาม “วิถีการเลือกตั้ง” กลับมาสร้างระบอบทักษิณเข้าแทนที่ระบอบประชาธิปไตยนั่นเท่ากับ “หมดท่า” ทางการเมือง กลายเป็นประชาธิปไตยซ่อนรูปแบบ

กลุ่มหน้ากากขาวมองว่า ระบอบทักษิณแตกต่างจากระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น การล้มระบอบทักษิณ ไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงเท่ากับการสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นและมีความชอบธรรม

เพราะระบอบทักษิณติดอาวุธทุนสามานย์ มีพฤติกรรมกอบโกยผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อพรรคพวกและครอบครัวการเมือง

ด้วยวิธีคิดเยี่ยงนี้ เมื่อถูกตอกย้ำถี่ขึ้น ย่อมกลายเป็นความเคยชิน เกิดความคล้อยตาม และกลายเป็นความเชื่อฝังหัวยากต่อการสลัดทิ้ง

นี่เป็นอีกแนวรบหนึ่ง ที่เริ่มก่อรูปมาโจมตีรัฐบาลอย่างมีพลัง และบ่งบอกถึงแนวโน้มรัฐบาลกำลังแพ้ไม่เป็นท่าในอนาคต

ไม่เพียงเท่านั้น แนวรบด้านจุดยืนทางการเมืองรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย แพ้อย่างหมดรูปมาแล้วในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและสร้างสังคมปรองดองขึ้น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านมาตรา 291 ถูกศาลรัฐธรรมนูญเล่นงานจนรัฐบาลไม่กล้ากระดิกตัวและขยาดกับการเดินหน้าลงมติวาระ 3 ดังนั้น หนทางแก้ไขรัฐธรรมนูญและการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม รวมทั้งการพิจารณากฎหมายปรองดองฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม ในช่วงสมัยประชุม ซึ่งจะเริ่มขึ้นเดือนสิงหาคมนี้ ย่อมมองเห็นอาการ “ถอย” ของรัฐบาลอีกเช่นเคย

การแพ้ทุกแนวรบของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยนั้น ราวกับเป็นการรักษา “จุดแข็ง” ในยุทธศาสตร์ “เลือกตั้ง” เอาไว้ เพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งทำให้ “ชนะทางการเมือง” และกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง...พวกเขาคิดเพียงแค่นี้ !!?

คิดง่ายๆ เพียงว่า แนวรบการเลือกตั้งทำให้ได้ “อำนาจ” บริหารประเทศ แม้ได้คุมรัฐบาลและสภาไว้ในกำมือ แต่ไร้ศักดิ์ศรีทางการเมือง หากไม่มีจุดยืนสร้างสรรค์พลังประชาธิปไตยให้เติบใหญ่ในสังคมไทย

“อำนาจ” ที่ได้มา ย่อมหมดราคา

สิ่งนี้จึงเป็นข้อแตกต่างอย่างน่าสนใจยิ่งระหว่างระบอบทักษิณกับระบอบประชาธิปไตย และความแตกต่างเช่นนี้จึงเป็นจุดอ่อนให้ถูกรุกทางการเมือง จนตกอยู่ในสถานการณ์ “แพ้ทุกแนวรบ” ในปัจจุบัน

ที่มา.สยามธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ศุภชัย.ชี้ทางรุ่งธุรกิจไทยในเออีซี ชูสินค้าบริการ พัฒนาโลจิสติกส์ เชื่อมตลาดจีน !!?

ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการอังค์ถัด ชี้ไทยอยากรุ่งนำประเทศอาเซียนเร่งสปีดธุรกิจบริการ ชูโมเดล "เอาต์ซอร์ซ" ฟิลิปปินส์แบบอย่างเด่น พร้อมพัฒนาโลจิสติกส์ใน-นอกประเทศควบคู่ทั้งระบบ

รายงานจากสัมมนาในวาระครบรอบก่อตั้ง 50 ปี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมีนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ UNCTAD กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "Thailand"s Future : How to Lead Trade and Investment in the ASEAN"s Frontier ? Lessons & Learns from My Whole Life Experience"

นายศุภชัยกล่าวว่า สินค้าบริการเป็นอนาคตของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเกี่ยวพันกับการค้า การออกไปลงทุนต่างประเทศ และการเดินทางติดต่อของโลกธุรกิจปัจจุบัน เพราะเมื่อนักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวเดินทางไปต่างประเทศต้องพึ่งพาธุรกิจ บริการเสมอ กระทั่งปัจจุบันการใช้ธุรกิจบริการจากต่างประเทศขณะที่อยู่ในประเทศตัวเองก็ เป็นที่แพร่หลาย เป็นการบริการข้ามแดน ธุรกิจนี้จึงสำคัญมาก

"ทั้ง นี้ หากไทยมุ่งพัฒนาสินค้าบริการ จะทำให้ไทยเติบโตได้ในอนาคตอย่างดี เพราะสอดคล้องกับการเป็น "ฮับอาเซียน" ที่ไทยต้องการ และรองรับสิ่งที่ไทยจะทำในอนาคต อยากให้มองประเทศฟิลิปปินส์เพราะเป็นอีกประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากใน การพัฒนาธุรกิจบริการ โดยเฉพาะการเอาต์ซอร์ซจนช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น"

"ไทย ควรส่งเสริมธุรกิจนี้ด้วย เพราะฟิลิปปินส์เติบโตอย่างมากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะการรับจ้างบริหารระบบธุรกิจ หรือ Business Process Outsourcing ที่ฟิลิปปินส์มุ่งพัฒนาเติบโตสูง ซึ่งหากต้องการพัฒนาในด้านนี้ต้องมีแรงงานจำนวนมาก ที่ต้องได้รับการอบรมด้านเทคโนโลยี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ นี่เป็นหนึ่งในสาขาธุรกิจบริการที่โดดเด่น กระทั่งประเทศในแถบแอฟริกาเริ่มพัฒนาเรื่องนี้แล้ว" นายศุภชัยกล่าว

นาย ศุภชัยกล่าวถึงภาพรวมธุรกิจสินค้าบริการของอาเซียนว่า ข้อตกลงด้านนี้มีมานาน แต่ไม่เดินหน้า ยังย่ำอยู่กับที่ และจำเป็นต้องปรับปรุงให้เกิดมาตรฐานกลางของอาเซียนเป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนการถือหุ้นภายในอาเซียนควรเท่าเทียมกันทั้งหมด ไม่ให้เกิน 70% ในทุก ๆ สาขาบริการ โดยไม่มีการยกเว้น เพราะอุปสรรคสำคัญคือ ยังมีกฎระเบียบภายในของบางประเทศที่พยายามกีดกันและเลือกปฏิบัติไม่เท่า เทียมกัน

ทั้งนี้ การสร้างกฎหมายกลางระหว่างกันเป็นเรื่องยากที่จะบังคับใช้ แต่จำเป็นต้องมีอย่างยิ่งในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายทางการเงินที่ควรมีหน่วยงานกลางดูแล ทั้งยังต้องลดการกีดกันการค้าที่มีสูง โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียและอินเดีย ที่ต้องเปิดมากกว่านี้

นายศุภชัยเพิ่มเติมว่า "รัฐบาลต้องมุ่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในประเทศเพื่อเชื่อมอาเซียนและประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) โดยหากอ้างอิงจากดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index : LPI) ของธนาคารโลกปีล่าสุด (2555) จะเห็นว่า CLMV และไทยยังต้องพัฒนาด้านนี้เทียบกับระดับโลก ขณะที่สิงคโปร์นั้นดีมากระดับโลกเช่นกัน"

ดัชนี LPI ปี 2555 ระบุว่า จากคะแนนเต็ม 5 สิงคโปร์อยู่ที่ 4.13, มาเลเซีย 3.49, ฟิลิปปินส์ 3.02, ไทย 3.18, อินโดนีเซีย 3.02, เวียดนาม 3.00, เมียนมาร์ 2.37, กัมพูชา 2.56 และลาว 2.50

อย่างไรก็ตาม นายศุภชัยเห็นว่า นักลงทุนต้องฉวยโอกาสจากเส้นทางถนนที่กำลังจะเสร็จสมบูรณ์ โดยเฉพาะเส้นทาง R3A ที่เชื่อมเมืองเชียงรุ้ง มณฑลคุนหมิงในจีนตอนใต้ ลงมาเมืองห้วยทรายในลาว และเชียงของ จ.เชียงรายในไทย ซึ่งสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 กำลังจะเปิดใช้ โดยภาครัฐประเทศต่าง ๆ ต้องดูแลภาพรวมกฎระเบียบ และข้อตกลงศุลกากรให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

"เอกชน ไทยต้องเข้าถึงตลาดจีนให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันจีน-อาเซียนค้าขายระหว่างกันอยู่ที่ร้อยละ 16 และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่การค้าอาเซียน-ยุโรป และอาเซียน-อเมริกา ลดลงมาอยู่ราวร้อยละ 10-11 โจทย์ขณะนี้คือ ใครเข้าถึงจีนได้มากกว่าได้เปรียบ"

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คลังคาด GDP ปีนี้เหลือ4.5% !!?

คลังปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เหลือ 4.5% หลังจากส่งออกร่วง-กำลังซื้อในประเทศลด ด้าน สศช. ชี้ปีนี้โตต่ำกว่า 5% ระบุไตรมาส 2 แย่ลงกว่าที่คาด

สำนักวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลง หลังจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวล่าช้า และเริ่มส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศจากการส่งออกสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการวิจัยของกระทรวงการคลัง ได้ปรับประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้ลงเหลือ 4.5% จากการคาดการณ์เดิมต้นปีที่ 4.8% ซึ่งเป็นการปรับครั้งที่สอง แม้ว่าก่อนหน้านี้จะปรับเพิ่มขึ้นในเดือนมี.ค. 2556 ที่คาดว่าจะขยายตัว 5.3% จากการบริโภคขยายตัว

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่าการปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า 14 ประเทศยังฟื้นตัวล่าช้า โดยเฉพาะจีน ยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

"สศค.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะที่ดี ไม่ถึงขั้นเลวร้าย แม้จะมีปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบ แต่ปัจจัยภายในยังมีความแข็งแกร่ง โดยดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญลดลงหลายรายการ แต่ลดลงไม่มากนัก แม้ว่าไตรมาสแรกจะติดลบ 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 แต่ไตรมาส 2 ของปีนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวก 1.7% ไม่ได้ติดลบ 2 ไตรมาส"

นายสมชัยกล่าวว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากภาคส่งออกที่ชะลอตัวลง การลงทุนของภาคเอกชนเดือนพ.ค. ติดลบ 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน ขณะที่ การใช้จ่ายภาคเอกชน ก็มีแนวโน้มชะลอลง และการบริโภคภาคเอกชนก็คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อนเช่นกัน โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะชะลอลงมาอยู่ที่ 3.6% จากเดิม 4.6% ในขณะที่การบริโภคของรัฐจะเพิ่มเป็น 3.7% จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 3.5%

"การใช้มาตรการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน ส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกของไทยแน่นอน แต่ไม่มากนัก ซึ่งขณะนี้ สศค.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด"

นายสมชัย กล่าวว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ระดับ 4.5% มีความเป็นไปได้มากที่สุด ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลต้องลงทุนโครงการตามแผนบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงการคลังกำลังพยายามหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มแรงหนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สศช.คาดศก.ไทยปีนี้โตต่ำ 5%

นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สศช.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตไม่ถึง 5% โดยตัวเลขน่าจะอยู่ในช่วงต่ำ ของการคาดการณ์ที่อยู่ระดับ 4.2-5.2%

"ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 อ่อนแรงกว่าที่คาด โดยมีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ จะเป็นไตรมาสที่สูงสุดของปี"

นายปรเมธี กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ ด้านเสถียรภาพไม่มีปัญหา แต่จะเป็นด้านการเติบโตและความผันผวน โดยสถานการณ์ ค่าเงินจะเป็นประเด็นใหญ่ของเศรษฐกิจในปีนี้ ต้องจับตาดูผลกระทบต่อรายได้ภาคการส่งออกของไทย ขณะที่เศรษฐกิจโลกคงไม่ฟื้นตัวเร็วนัก จึงต้องระมัดระวังว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตไม่ถึง 5%

สศช.เตรียมชงมาตรการรับผลกระทบ

นายปรเมธี กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจ 5% เป็นตัวเลขที่ทางรัฐบาลใช้เป็นเป้าหมายในการทำยุทธศาสตร์และนโยบายต่างๆ โดยเป้าหมายจะให้เศรษฐกิจในประเทศโตเฉลี่ย 5% ในช่วง 15 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ในกลุ่มที่มีรายได้สูง จากปัจจุบันมีรายได้ในระดับกลางถึงสูง

ดังนั้น ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะต้องมีมาตรการในการรองรับผลกระทบในส่วนที่ยังไม่แข็งแกร่ง พร้อมสร้างรากฐานการเติบโตในระยะยาว โดยดูเป็นรายกลุ่ม หรือ เซคเตอร์ ประกอบด้วย ภาคการเกษตร เอสเอ็มอี ส่งเสริมรถยนต์อีโคคาร์ การท่องเที่ยวและการดูแลผู้มีรายได้น้อย

แบงก์ชาติเล็งปรับตัวเลขส่งออก

ด้าน นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกในเดือนพ.ค. ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาว่าติดลบ 5.25% ขณะที่การส่งออกเฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้เติบโต 1.86% นั้น ถือว่าต่ำกว่าที่ธปท.คาดการณ์เอาไว้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ธปท.จะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 10 ก.ค. นี้ เพื่อปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกลง

ตัวเลขการส่งออกที่ ธปท. ประเมินไว้ล่าสุดช่วงเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา มีการเติบโตอยู่ที่ 7.5%

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ธปท. เคยส่งสัญญาณว่า การประชุม กนง. รอบถัดไปคือวันที่ 10 ก.ค. นี้ อาจพิจารณาปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมลง จากเดิมซึ่งเคยมองว่าจะเติบโตได้ประมาณ 5.1%

นายเมธี กล่าวว่า ธปท. ยังคงมีมุมมองเดิม โดยมองว่าช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ส่วนการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนนั้นถือว่าอยู่ในประมาณการของ ธปท.ไว้แล้ว เพราะการประเมินของ ธปท.จะค่อนข้างอนุรักษนิยม อย่างไรก็ตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาถือว่าดีขึ้นกว่าที่ ธปท.ได้คาดเอาไว้ จึงน่าจะเป็นตัวช่วยพยุงภาคการส่งออกของไทยได้ระดับหนึ่ง

ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาท จะมีผลต่อการส่งออกหรือไม่นั้น นายเมธีกล่าวว่า คงต้องรอดูในระยะยาว ซึ่งถ้าประเมินระยะสั้นอาจลำบาก เพราะมีเรื่องการกำหนดราคาซื้อขายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ทหารไทยชี้ส่งออกต่ำกว่าคาด

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตัวเลขส่งออกเดือนพ.ค. ที่ออกมา ติดลบ 5.25% นั้น สะท้อนถึงการชะลอตัวลงที่ชัดเจนของภาคส่งออกไทย ซึ่งการหดตัวดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานปีก่อนที่อยู่ระดับสูงด้วย แต่ตัวเลขที่ติดลบในระดับนี้ก็ถือว่าต่ำกว่าที่เราคิดไว้พอสมควร

"ผลจากตัวเลขดังกล่าวทำให้ ทางเราปรับมุมมองต่อภาคการส่งออกใหม่ โดยตัวเลขใหม่ที่ประเมินไว้อยู่ที่ 3.5% จากเดิมที่ 7%" นายเบญจรงค์กล่าว

นายเบญจรงค์ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกลดลงค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัญญาณการส่งออกในครึ่งปีหลังยังไม่เห็นการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะตลาดแถบยุโรป จีน และ ญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีสหรัฐช่วยได้บ้าง โดยญี่ปุ่นแม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา แต่ยังไม่มีสัญญาณว่าจะทำให้การส่งออกไปญี่ปุ่นดีขึ้นได้

กรุงศรีหั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 4-4.5%

ด้าน นายรุ่งศักดิ์ สาธุธรรม ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสและผู้จัดการฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นฝ่ายวิจัยเอกชนที่เตรียมปรับประมาณการเช่นกัน คาดว่าจีดีพีในปีนี้เหลือ 4-4.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.8-5.3% โดยเป็นผลจากแนวโน้มการส่งออกที่อาจจะชะลอตัวลง ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในเอเชีย รวมทั้งแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศที่ชะลอตัวลง ภายหลังปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น

"ประมาณการว่าในครึ่งปีแรก เศรษฐกิจไทยเติบโตราว 4.7% และในครึ่งปีหลังจะปรับลดลง เนื่องจากฐานในปีก่อนอยู่ในระดับสูง"

ศก.สหรัฐฟื้นช้า-เฟดอาจเลื่อนยุติคิวอี

ด้านปัจจัยต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ยังมีความไม่นอนอย่างมาก ทั้ง สหรัฐ จีน และ ยุโรป

ล่าสุด รัฐบาลสหรัฐปรับทบทวนตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจประจำไตรมาสแรก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังพิจารณาปรับลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวเพียง 1.8 % ในไตรมาสแรก เมื่อเทียบรายปี ลดลงจากระดับ 2.4% ที่เคยรายงานไว้ก่อนหน้านี้ และเทียบกับอัตราการเติบโต 0.4% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว

ทางด้านนักเศรษฐศาสตร์กล่าวเตือนว่า นักลงทุนไม่ควรให้ความสำคัญมากเกินไปกับตัวเลขจีดีพีนี้ เพราะตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่สะท้อนภาพเศรษฐกิจในอดีต อย่างไรก็ดี ตัวเลขนี้อาจส่งผลกระทบต่อเฟด เมื่อเฟดทำการพิจารณาการปรับลดวงเงินในการเข้าซื้อตราสารหนี้ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

นายแซม คอฟฟิน นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารยูบีเอสกล่าวว่า ตัวเลขนี้ทำให้เฟดมีแนวโน้มน้อยลงในการปรับลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อีซีบีเผยใช้นโยบายผ่อนคลายอีกนาน

นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวย้ำว่ายังคงต้องใช้เวลาอีกนานก่อนที่อีซีบีจะยุติการดำเนินมาตรการพิเศษสำหรับนโยบายการเงิน โดยถ้อยแถลงของนายดรากีช่วยลดความกังวลของนักลงทุนหลังจากเฟดเปิดเผยแผนการปรับลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวันที่ 19 มิ.ย.

นายดรากี กล่าวต่อคณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสว่าเศรษฐกิจยูโรโซนยังคงเผชิญความเสี่ยงในช่วงขาลง และอีซีบีพร้อมที่จะดำเนินมาตรการใหม่ถ้าหากมีความจำเป็น

นายดรากี กล่าวว่า เรามีจุดยืนในการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายในอดีต และเราก็มีจุดยืนในการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายในปัจจุบัน ขณะที่เราจะยังคงดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายต่อไปในอนาคตอันใกล้

นายดรากี กล่าวเสริมว่า "การยุตินโยบายแบบผ่อนคลายยังคงเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกล"

ตลาดเงินจีนเริ่มคลี่คลาย

สำหรับปัญหาในตลาดการเงินจีนที่สร้างความกังวลในสัปดาห์ก่อน ได้เริ่มคลี่คลายลง โดยเมื่อวานนี้ (27 มิ.ย.) อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินจีนปรับตัวลงต่อไปเป็นวันที่ห้าติดต่อกัน หลังจาก ธนาคารกลางจีน (PBOC) ไม่ได้เข้าไปดูดซับสภาพคล่องออกจากตลาด และตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวขึ้น ในขณะที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเข้าสู่เสถียรภาพ

เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเอเชียวานนี้ ที่ฟื้นตัวขึ้นจากแรงซื้อนักลงทุนต่างชาติที่กลับเข้ามา หลังจากเลิกคลายกังวลมาตรการยุติคิวอีของเฟด โดยดัชนีนิกเคอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดพุ่งขึ้น หลังจากร่วงลงสามวันติดต่อกัน ขณะที่นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับการถอนมาตรการคิวอีและภาวะสินเชื่อตึงตัวในจีน โดยดัชนีนิกเคอิปิดตลาดปรับขึ้น 379.54 จุด หรือราว 2.96% อยู่ที่ 13,213.55

เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปิดทะยานขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิ ดัชนีคอมโพสิตปิดพุ่งขึ้น 51.25 จุด หรือ 2.87% สู่ระดับ 1,834.70


ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ศาลปกครองสั่งรัฐบาลนำโครงการจัดการน้ำกลับไปฟังความคิดเห็นประชาชน !!?

กรณีนายกสมาคมต่อต้านโลกร้อนฟ้องศาลปกครอง ให้เพิกถอนแผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนั้น ล่าสุดศาลปกครองมีคำพิพากษาให้รัฐบาลนำโครงการจัดการน้ำไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามมาตรา 57 (2) และ 67 (2) ก่อนจ้างออกแบบ

จากกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและพวกรวม 45 คน ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ หรือ กยน. คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ กบอช. และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำ และสั่งให้ร่วมกันจัดให้มีการทำประชามติรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

ล่าสุดวันนี้ ที่ศาลปกครองกลาง เมื่อเวลา 14.30 น. องค์คณะตุลาการศาลปกครองกลาง ที่มีนายตรีทศ นิครธางกูร ตุลาการเจ้าของสำนวน ได้มีคำพิพากษาให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 (2) และมาตรา 67 (2) โดยให้นำแผนบริหารจัดการน้ำไปจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบ แต่ละแผนงาน ในแต่ละโมดูล ก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบในแต่แผนงาน

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 57 (2) ระบุว่า "การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ"

ส่วนมาตรา 67 (2) การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

ที่มา.ประชาไท
///////////////////////////////////////////////////////////////////

กฎระเบียบ VS คนทำมาหากิน !!??

กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในเว็บ pantip.com หลังจากมีผู้นำภาพร้านบะหมี่ชื่อดังแห่งหนึ่งที่มีสาขาอยู่หลายจุดทั่ว กทม. โดยร้านดังกล่าวได้นำโต๊ะ-เก้าอี้ตั้งออกมาด้านนอกจนกีดขวางทางเท้า รวมถึงภาพที่ทางร้านใช้รถของทางราชการในการขนข้าวของ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม เนื่องจากประชาชนที่สัญจรไปมา ต้องลงไปยืนหรือเดินกันบนถนน ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายจากรถยนต์ที่แล่นไปมา

และจากปัญหาที่เริ่มโดยร้านขนาดใหญ่ดังกล่าว หลายความเห็นได้พาดพิงไปถึงบรรดาหาบเร่แผงลอยขนาดเล็กทั่วๆไป ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเห็นว่า กทม. ควรเอาจริงเอาจังในการกวาดล้างร้านค้าดังกล่าวทุกชนิด เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นร้านขนาดใด ตั้ง ณ จุดไหนก็ย่อมกีดขวางทางเท้าทั้งสิ้น รวมถึงทำให้ภาพของ กทม. ไม่สวยงาม ดูสกปรกไร้ความเป็นระเบียบเรียบร้อย  กับอีกส่วนหนึ่งที่เห็นต่างออกไป เพราะมองว่าหาบเร่แผงลอยคือชีวิตของคนรายได้น้อย และต้องใช้ชิวิตที่เร่งรีบในเมืองหลวง รวมถึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเมืองไทย ถึงขนาดที่สื่อต่างประเทศบอกว่าต้องมาลิ้มลองให้ได้สักครั้งในชีวิต

วันนี้สกู๊ปหน้า 5  ลงพื้นที่สำรวจบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จุดหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีหาบเร่แผงลอยมากที่สุดของเมืองกรุง ที่นี่เราพบกับ บังเลาะห์ คุณลุงวัย 50 ปีเศษ ยึดอาชีพขายลูกชิ้น-ไส้กรอกไก่และเนื้อในพื้นที่ดังกล่าวมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ยอมรับว่าแม้จะขายเป็นประจำ แต่รายได้ก็ถือว่าปานกลาง ทั้งนี้เข้าใจหัวอกผู้ใช้ทางเท้า แต่ก็อยากให้ผู้ใช้ทางเท้าเห็นใจพวกเขาบ้าง เนื่องจากใหญ่เป็นคนในพื้นที่ และขายมานานมากแล้ว

“ไม่ขายวันจันทร์วันเดียวเราพอรับได้ แต่ถ้าให้หยุดไปเลยคงรับไม่ไหว ลูกเด็กเล็กแดงมี เราต้องทำมาหากิน ถ้าให้หยุดไปเลยเราคงประท้วงกันบ้าง คราวนี้แม่ค้าประท้วงบ้างล่ะ อยากบอกให้พวกเขาเห็นใจกันหน่อย เข้าใจกันหน่อย”  บังเลาะห์ กล่าวถึงกระแสข่าวที่อาจจะมีผู้ไปเรียกร้องให้ กทม. ยกเลิกหาบเร่แผงลอย พร้อมทั้งเสริมว่าปกติแล้วลูกค้าที่นี่มีทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยชาวต่างชาติก็จะมีทั้งชาติมุสลิมและฝรั่งตะวันตก

ถัดจากบังเลาะห์ เราพบกับ ป้าศรีจันทร์ หญิงชราวัย 80 อดีตแม่ค้าที่ขายขนมจีบ-ซาลาเปามาตั้งแต่ย่านดังกล่าวยังเป็นเขตนอกเมือง เมื่อคุณป้ารู้ว่าเราลงพื้นที่ เธอได้เล่าถึงชีวิตอันยากลำบากของพ่อค้าแม่ค้า ที่ล้วนแต่เป็นคนในพื้นที่ให้เราฟังทันที โดยเฉพาะเรื่องของแหล่งเงินทุนนอกระบบ

“ฉันอยู่มา 70 ปี ตั้งแต่ 10 ขวบ นี่ตอนนี้ 80 แล้ว ตอนนั้นขายซาลาเปา-ขนมจีบ ขายตรงนี้แหละ วันละ 400-500 ก็หมดไปกับค่าใช้จ่าย รวมทั้งค่าเทอมลูก 5 คน ตอนนี้เลิกแล้วเพราะไม่มีกำลัง พูดถึงเรื่องหนี้ ดีนะว่าเขายังไม่ทำอะไรเรา ร้อยละ 20 ก็ผลัดๆ เขาไป เขาก็เครียด เชื่อไหม? เอามาไม่ถึงหมื่น แต่สุดท้ายกลายเป็นสามหมื่น

ถามว่าหาบเร่แผงลอยกำไรเท่าไร มันเทียบไม่ได้กับร้านใหญ่ๆ เราเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน วันๆ นึงกินไม่เหลือนะ หนี้ร้อยละ 20 อีก ขอความกรุณาให้เราได้ขายบ้าง เราจะได้มีกิน จะหยุดสักวันหนึ่งก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหยุดทุกวันคงแย่เหมือนกัน คงอดตาย” ป้าศรีจันทร์ กล่าว

ขณะที่ ป้ามะ แม่ค้าวัย 50 ปี เป็นอีกผู้หนึ่งที่ยืนยันว่าผู้ค้าหาบเร่แผงลอยบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนในพื้นที่ อย่างตัวป้ามะเอง ขายข้าวแกงในรถเข็นมาตั้งแต่อายุ 17 ปี ซึ่งที่ผ่านมา ชาวหาบเร่แผงลอยในย่านนี้มีการพูดคุยกับทางราชการตลอดเรื่องการจัดระเบียบพื้นที่ ดังจะเห็นว่าร้านแถบนี้จะอยู่ชิดขอบถนน หันหน้าเข้าหาอาคาร ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ให้คนเดินมากกว่าที่จะวางด้านหน้าอาคารแล้วหันหน้าออกไปยังถนน ทั้งนี้อยากให้ประชาชนแยกแยะด้วยระหว่างร้านขนาดใหญ่กับหาบเร่แผงลอย เพราะทั้งสองแบบมีธรรมชาติที่ไม่เหมือนกัน

“มันไม่เกะกะหรอก เราทำกันชิดแบบสุดๆ ยืนลำบากหน่อยก็ไม่เป็นไร คือให้คนเดินสะดวก ก็แทบจะตกถนนเลยเพราะเว้นตรงกลางไว้ให้คนเดิน อย่างที่ไปประชุมมา เขาให้อยู่บนฟุตบาทด้านเดียว ก็คือด้านถนนไม่ใช่ด้านหน้าร้านค้า เพราะถ้าด้านหน้าร้านค้า มันจะลามไปใหญ่ ก็เลยให้หันหลังให้ถนน หันหน้าเข้าฟุตบาท

ถามว่าแถวนี้มีร้านที่ต่อออกมาไหม? แถวนี้ไม่มี เขาจะอยู่ในร้านของเขา อยากให้พิจารณา เราก็แค่คนหาเช้ากินค่ำ อย่าไปเหมารวม ร้านที่เขาทำแบบนั้นได้ เขาคงมีกำลังมากกว่าเรา เราไม่มีปัญญาทำแบบนั้น ก็หนีไปวันๆ จะไปทำร้านแบบนั้นก็ไม่มีปัญญาไปเช่า มาปรับเราก็ยอมให้ปรับ บางทีก็ต้องขอต้องต่อรอง”

ป้ามะ กล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หาบเร่แผงลอยไม่มีทางหมดไปจากประเทศไทย เพราะเป็นหัวใจโดยเฉพาะของคนพื้นที่ ต่อให้ห้ามขายก็ยังจะต้องขายต่อไป แม้จะต้องเสี่ยงกับการถูกดำเนินคดีก็ตาม แต่ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อค้า-แม่ค้ากับเจ้าหน้าที่เทศกิจค่อนข้างดี โดยก่อนจะมีระเบียบใดๆ ออกมา จะมีการหารือทำข้อตกลง หรือว่ากล่าวตักเตือน ขอความร่วมมือกันก่อนเสมอ

ถัดจากมุมของผู้ขาย เรามาฟังความเห็นในมุมของผู้ซื้อกันบ้าง พนักงานขับรถส่งสินค้ารายหนึ่งที่ใช้ชีวิตในเมืองหลวงมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี มองว่าถึงอย่างไรก็ตาม หาบเร่แผงลอยก็ถือเป็นวิถีชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ใน กทม. ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ 1.ราคาถูก เพราะร้านอาหารทั่วไปต้องมีค่าเช่าอาคาร มีค่าพนักงาน กับ 2.สะดวก เนื่องด้วยเป็นร้านอาหารง่ายๆ เช่นของปิ้ง ทอด ย่าง หรืออาหารกล่อง ทำให้เหมาะกับชีวิตเร่งรีบของผู้ที่อาศัยใน กทม. เป็นอย่างดี

“เป็นธรรมดา ในร้านจะมีค่าบริการ ค่าจ้างลูกน้องอะไรพวกนี้ ราคาที่เห็นว่าแตกต่างกันระหว่างในร้านกับแผงข้างนอก ก็ประมาณ 10-20 บาท หรืออาจจะมากกว่าถ้าเป็นร้านแฟรนไชส์ ก็มีบ้างเหมือนกันที่ขายเท่ากัน แต่ส่วนใหญ่จะแพงกว่า”

เมื่อถามถึงประเด็นความขัดแย้งที่หลายคนเหมารวมกัน ระหว่างร้านอาหารขนาดใหญ่ กับแผงลอยขนาดเล็ก พนักงานขับรถคนดังกล่าว มองว่าหาบเร่แผงลอยส่วนใหญ่พยายามจะแบ่งพื้นที่ให้คนเดินอยู่แล้ว ขณะที่ร้านขนาดใหญ่ เท่าที่สังเกตและพูดคุย พบว่ามีเหตุผล 2 ประการ คือส่วนหนึ่งบางร้านต้องต่อขยายร้านรุกล้ำทางเท้าออกมา เนื่องจากไม่ต้องการให้หาบเร่แผงลอยมาตั้งหน้าร้านของตน

กับอีกส่วนหนึ่ง ร้านอาหารบางแห่งอาจมีลูกค้ามาก พื้นที่ในร้านไม่พอ จึงต้องต่อขยายออกมาด้านนอก โดยไม่ได้คิดว่าจะเป็นที่เดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้ทางเท้า นอกจากนี้ในบางพื้นที่ยังทำให้การจราจรติดขัด เนื่องจากผู้มารับประทานอาหารมักจะขับรถมาจอดบริเวณช่องจราจรด้านซ้ายสุด ซึ่งติดกับร้านดังกล่าว กลายเป็นว่าต้องเสียพื้นที่ถนนให้กับบรรดาลูกค้าร้านอาหารไปโดยปริยาย ดังนั้นจึงฝากถึงกลุ่มที่รู้สึกไม่พอใจร้านค้าเหล่านี้แบบเหมารวม ว่าร้านที่สร้างปัญหามักจะเป็นร้านขนาดใหญ่ มากกว่าหาบเร่แผงลอยขนาดเล็กทั่วๆ ไป

“อยากบอกว่าคิดให้ดีก่อนดีกว่า  คุณอย่ามองแต่ตัวเองเป็นหลัก ให้มองชีวิตคนไทยทุกภาคส่วน ทุกระดับชั้นก่อน กลุ่มของคุณอาจจะเป็นคนมีฐานะหน่อย พอมีกำลังซื้อหน่อย คุณต้องเอาตัวเองลงไปเทียบกับคนที่ต่ำกว่า ฐานะหรือกำลังซื้อที่ต่ำกว่า เราต้องมาคุยกันว่าจุดไหนที่ขายได้ แต่จุดที่บอกว่าขายได้ ก็ต้องขายได้จริงๆ มีคนซื้อด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่าคุณจัดให้เขาแล้วไม่มีคนซื้อ เพราะเขาจะไปขายใคร จะให้เขาทำอาหารมาทิ้งหรือ? ผมว่ามันมีทางออก แต่ไม่ใช่มาชี้เปรี้ยงเดียวให้ยกเลิก มันทำไม่ได้”  พนักงานขับรถผู้พึ่งพาอาหารข้างทางเป็นประจำ ให้ความเห็น

ปิดท้ายด้วยความเห็นของกลุ่มที่ถูกเรียกว่าเป็น “คู่ปรับแม่ค้า” อย่างเจ้าหน้าที่เทศกิจ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่รายหนึ่งมองว่า ในความเป็นจริงคงเป็นไปไม่ได้ที่หาบเร่แผงลอยจะหายไปจากเมืองไทย โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพดังกล่าวมาเป็นเวลานาน ต่อให้ห้ามขายก็คงต้องดิ้นรนหาทางกันต่อไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขอให้หาบเร่แผงลอยอย่าทำผิดกฏหมาย และพยายามจัดพื้นที่ร้านให้เป็นระเบียบ ไม่ล้ำพื้นที่ออกมาจนกีดขวางทางเดินด้วย

ขณะที่ฝากเตือนไปถึงบรรดาร้านค้าต่างๆ ที่ต่อพื้นที่ร้านออกมารุกล้ำทางเท้าจนไม่สามารถสัญจรได้ ว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดยที่เจ้าของหรือผู้ดูแลร้านอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะคิดว่าเป็นพื้นที่หน้าอาคารเป็นสิทธิของตน  

“จริงๆ ผิดกฎหมายนะครับ เขาให้ตั้งได้เฉพาะแนวชายคา ออกมาแค่นิดเดียวก็ผิดแล้วครับ” เจ้าหน้าที่รายดังกล่าว ฝากทิ้งท้าย ซึ่งการนำสิ่งของต่างๆ มาตั้งบนทางเท้า อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ในมาตรา 39 ที่ห้ามนำสิ่งใดๆ มาติดตั้ง วาง ตาก หรือแขวนในที่สาธารณะ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงาน โดยมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท (บทกำหนดโทษ มาตรา 54)

เรื่องของหาบเร่แผงลอย มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าถือกำเนิดมาจากการอพยพของประชากรจากทั่วสารทิศเข้าสู่ กทม. และอีกหลายเมืองใหญ่เพื่อแสวงหาโอกาสด้านรายได้ แม้จะต้องเผชิญค่าครองชีพที่สูงก็ตาม โดยอ้างอิงจาก สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC Poll) ที่เคยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15 ส.ค.-30 ก.ย. 2554 ในพื้นที่เมืองใหญ่ 12 จังหวัด คือ กทม. ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และสงขลา

พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76 ระบุว่ามีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน โดยรายได้เฉลี่ยทั่วไปอยู่ที่ 11,300 บาทต่อเดือน เมื่อดูที่รายจ่าย พบว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9,197.99 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่หมดไปกับค่าอาหารและค่าเดินทาง นอกจากนี้ยังชี้ว่า กลุ่มที่สามารถอยู่รอดปลอดภัยในเมืองใหญ่ และมีเงินออมเป็นรูปธรรม คือผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 20,001 บาทต่อเดือนขึ้นไป เพราะเมื่อนำรายได้หักลบกับรายจ่ายแล้ว ยังเหลือเงินอีกราวครึ่งหนึ่งของรายได้

จึงไม่ต้องแปลกใจว่า เหตุใดจึงยังมีคนอีกมากมาย เลือกที่จะบริโภคอาหารข้างทางเหล่านี้ แม้จะมีคำเตือนเรื่องความสะอาด ตลอดจนขัดต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองก็ตาม เราจึงอาจกล่าวได้ว่า หาบเร่แผงลอย หรืออาหารข้างทาง เป็นดัชนีชี้วัดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้อย่างชัดเจนอย่างหนึ่ง เพราะถ้าพื้นที่อื่นๆ มีรายได้ที่ไม่ต่างจาก กทม. มากนัก คลื่นมนุษย์จำนวนมหาศาล คงไม่ต้องเข้ามาแย่งกันกิน แย่งกันใช้พื้นที่เล็กๆ แห่งนี้

คำถามคือ..เหตุใดเราจึงไม่สามารถกระจายความเจริญ โดยเฉพาะรายได้ไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ได้เสียที เพราะวันนี้เรายังได้ชื่อว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทั้งที่ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วิกฤตของ 3 ผู้นำหญิง : จาก ยิ่งลักษณ์ - รุสเซฟฟ์ ถึง กิลลาร์ด !!?

โดย: พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์



(ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คะแนนนิยมเริ่มถูกท้าทายจากสารพัดปัญหา)

ไม่น่าเชื่อว่า หลายๆ ประเทศที่มี “สุภาพสตรี” เป็นผู้นำ ต่างเกิดวิกฤตศรัทธาต่อรัฐบาล ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน

เอาใกล้ตัวก่อน อย่างประเทศไทย ที่มี “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ ก็กำลังเผชิญกับวิกฤตศรัทธา จากชาวนาที่เป็นฐานะเสียงสำคัญของ “พรรคเพื่อไทย” ของเธอเอง จากการประกาศลดราคาจำนำข้าวขาว จากตันละ 1.5 หมื่นบาท เหลือเพียง 1.2 หมื่นบาท

ขณะเดียวกับกลุ่มคนต่อต้านรัฐบาลและพี่ชายของเธอ “พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร” ก็เริ่มกลับมารวมตัวกัน เห็นได้จากการชุมนุมของกลุ่มคนที่เรียกว่า “หน้ากากขาว” ซึ่งทวีจำนวนมากขึ้นทุกที แม้จะยังมีจำนวนไม่มากพอจะสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล

อีกซีกหนึ่งของโลก ประเทศบราซิล ที่ว่ากันว่า ผู้คนหายใจเข้าออกเป็นชายหาด งานคาร์นิวัล และฟุตบอล แต่การแข่งขันฟุตบอลระดับทวีปอย่าง “ฟีฟ่า คอนเฟดเดอเรชั่น คัพ” กลับกลายเป็นวาระนัดรวมตัวกันประท้วงการบริหารงานของ “นางดิลม่า รุซเซฟฟ์”ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ โดยเฉพาะการขึ้นค่าครองชีพด้านต่างๆ เพื่อนำเงินไปลงทุนจัดงานฟุตบอลระดับแกรนด์ในปีหน้าอย่าง “ฟีฟ่า เวิลด์ คัพ” หรือฟุตบอลโลก โดยมีการประเมินว่า มีชาวแซมบ้าร่วมประท้วงผู้นำของตัวเองกว่า 1 ล้านคนแล้ว

อย่างไรก็ตาม คนที่อาการหนักที่สุดในเวลานี้ และบทความชิ้นนี้จะโฟกัส ก็คือผู้นำหญิงจาก “ประเทศทะเลใต้” ที่อยู่ห่างจากประเทศไทย ราว 9 ชั่วโมงบิน อย่าง “นางสาวจูเลีย กิลลาร์ด” นายกรัฐมนตรีคนแรกออสเตรเลีย เพราะในขณะที่การเมืองออสซี่กำลังคึกคัก เนื่องจากกำลังจะเข้าสู่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 ก.ย.นี้

แต่คะแนนนิยมล่าสุดของตัวเธอและพรรคของเธอกลับลดต่ำลงอย่างน่าใจหาย โดยผลการสำรวจล่าสุด ปรากฏว่า “นางสาวกิลลาร์ด-พรรคเลเบอร์” มีคะแนนนิยมตามหลังพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่าง “พรรคลิเบอรัล-พรรคเนชั่นแนล” ที่มีผู้นำชื่อ “นายโทนี่ แอ็บบ็อต” ถึง 14%

สาเหตุที่คะแนนนิยมของ “นายกฯหญิงออสซี่” ลดลงอย่างฮวบฮวบ ด้านหนึ่งมาจากนโยบาย ทั้งการปรับลดงบประมาณกระทรวงสำคัญๆ การไม่ปฏิบัติตามสิ่งได้ที่หาเสียงไว้เกี่ยวกับภาษีคาร์บอนและภาษีเหมืองแร่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับผู้เข้าเมือง

แต่อีกด้านหนึ่งมาจากความขัดแย้งภายในพรรคเลเบอร์เอง ที่คงยังมีเสียงเรียกร้องจากสมาชิกพรรคบางส่วน ให้นำ “นายเควิน รัดด์”อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรค กลับมานำพรรคแทน แม้ว่า "หัวหน้าพรรคคนก่อน" จะถอนตัวจากการลงคะแนนเปลี่ยนตัวผู้นำพรรคเลเบอร์ เมื่อเดือน มี.ค.ปีเดียวกันนี้ จนทำให้ “หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน” ได้นำทัพสู้ศึกเลือกตั้งต่อไป ก็ตาม



(ดิลม่า รุสเซฟฟ์ จะรับมือกับม็อบนับล้านคนได้อย่างไร)

จากการที่ผู้เขียนได้ไปสังเกตการณ์การประชุมสภาผู้แทนราษฎรออสเตรเลีย เมื่อต้นเดือน มิ.ย.2556 ตามคำเชิญของสถาบันออสเตรเลีย-ไทย ก็ช่วยยืนยันสิ่งที่เคยได้ฟังมาก่อนหน้าว่า “นางสาวกิลลาร์ด” เป็นนักพูดที่มีความสามารถในการเอาตัวรอดชั้นเยี่ยม

เพราะในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงที่ได้นั่งดูการตอบกระทู้ถามสด “ผู้นำหญิงออสซี่” ได้ผุดลุกผุดนั่ง ตอบโต้ข้อกล่าวหาจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านนับครั้งไม่ถ้วน บางครั้งเธอพูดเสียงดังกล่าว “นี่มันเรื่องตลกชัดๆ” บางครั้งเธอสวนกลับผู้กล่าวหาจนหน้าหงาย เรียกเสียงโห่ฮาลั่นห้องประชุม จนประธานสภาฯ ต้องออกคำสั่งว่า “เงียบบบ!!!” ดังๆ หลายครั้ง

รุ่นพี่นักข่าวไทยที่ทำงานอยู่ในองค์การสื่อออสเตรเลียมานานหลายปี เล่าให้ฟังว่า คนที่นี่รู้ดีอยู่แล้วว่าผู้นำของตัวเองเป็นคน tough (ก้าวแกร่ง) จนบางครั้งท่าทีในสภาฯ บางครั้ง ดูค่อนข้างจะ aggressive (ก้าวร้าว) เพราะเธอเคยเป็นทนายความมาก่อนลงเล่นการเมือง


หากเทียบกับ “นางสาวยิ่งลักษณ์” ที่เป็นนักธุรกิจมาก่อน และใช้เวลาหาเสียงเพียง 49 วัน ก็ได้เป็นนายกฯ กับ “นางสาวกิลลาร์ด” ที่ใช้เวลากว่า 10 ปี ในการไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ จึงไม่แปลกใจที่บุคลิก “ผู้นำหญิง” ทั้ง 2 คนนี้ จะแตกต่างกันมากมายมหาศาล (นายกฯ ไทย มาตอบกระทู้ถามสดในสภาฯ ด้วยตัวเอง ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เพียงแค่ 2 ครั้ง)

แต่ใช่ว่าความเป็น “สตรีเหล็ก” ของนางสาวกิลลาร์ด จะทำให้ชนะการเลือกตั้งได้ ?



(จูเลีย กิลลาร์ด ผู้มีทักษะการพูดในสภาชั้นยอด แต่จะเอาตัวรอดจากการเลือกตั้งทั่วไปได้หรือไม่)

เพราะในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2553 ที่ว่ากันว่าเธอมีคะแนนนิยมดีเยี่ยมไม่น้อย แต่ปรากฏว่า "พรรคเลเบอร์" กับ "พรรคร่วมฝ่ายค้าน" กลับได้จำนวน ส.ส.เท่ากันที่ 72 เก้าอี้ จากทั้งหมด 150 เก้าอี้ ท้ายสุด สตรีที่มีถิ่นกำเนิดในสหราชอาณาจักรรายนี้ต้องไปรวบรวม ส.ส.จากพรรคขนาดเล็กมาจัดตั้ง "รัฐบาลเสียงข้างน้อย" ทำให้เธอได้เป็น “นายกฯหญิงคนแรก” ของประเทศออสเตรเลีย

ขออธิบายสั้นๆ ว่า ถึงระบบการเมืองออสเตรเลีย ฝ่ายนิติบัญญัติจะแบ่งเป็น 2 สภา คือวุฒิสภา ที่มีจำนวน “สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)” ทั้งหมด 76 คน กับสภาผู้แทนราษฎร ที่มีจำนวน “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)” ทั้งหมด 150 คน โดยทั้ง 2 สภาฯ จะมีห้องประชุมแยกของตัวเอง (ต่างกับของไทยที่ใช้ห้องเดียวกัน) หากใครเคยไปอาคารรัฐสภาออสเตรเลียที่กรุงแคนเบอร์ร่า ถ้าจะดูว่าโซนไหนของ ส.ว.หรือ ส.ส. ให้ดูที่พรม เพราะโซนของ ส.ว.จะใช้ “พรมสีแดง” ส่วนโซนของ ส.ส.จะใช้ “พรมสีเขียว” ทั้งในห้องประชุม ห้องทำงาน ทางเดิน และอาณาบริเวณใกล้เคียง

ผู้นำฝ่ายบริหาร อย่างตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี" ของออสเตรเลีย มีที่มาเช่นเดียวกับของไทย คือต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีวาระดำรงตำแหน่งเพียง 3 ปี (น้อยกว่านายกฯไทย ที่มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี)

การเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ ที่จะมีขึ้นในอีก 2 เดือนเศษข้างหน้า จะเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของ “นางสาวกิลลาร์ด” เพราะหากพ่ายแพ้ก็เป็นไปได้ที่เส้นทางการเมืองของเธอจะถึง “ตอนอวสาน” เพราะหลายคนในพรรคเลเบอร์ก็ไม่นิยมชมชอบเธอสักเท่าไร

สำหรับ “นางสาวยิ่งลักษณ์” แม้จะมีเวลาอีก 2 ปี กว่าจะถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ ที่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่า จะให้เธอได้"ไปต่อ" หรือไม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คะแนนนิยมของตัวเธอและพรรคเพื่อไทยเริ่มถูกท้าทาย จากภาวะผู้นำที่ขาดความโดดเด่นและถูกตั้งคำถาม จากนโยบายรัฐบาลหลายๆ ที่เริ่มแสดงให้เห็นถึงปัญหา จากปัญหาส่วนตัวของรัฐมนตรีหลายๆ กระทรวงที่ถูกต่อต้าน จากความขัดแย้งที่เริ่มก่อตัวจากความพยายามในการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ฯลฯ

น่าจับตาว่าวิบากกรรมที่เกิดขึ้นกับ “3 ผู้นำหญิง” รอบโลกเวลานี้ จะมีบทสรุปที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร !!!

ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
//////////////////////////////////////////////////////////////

เพื่อไทย เมื่อยามอัสดง !!??

โดย : ณรงค์ ปานนอก

นับวันเวลาขยับไปทุกนาที พรรคเพื่อไทยเหมือนกับ "ดาวหาง" ที่มีวิถีโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ อันมีความหมายว่า แสงสว่างและหางของดาวเริ่มหดประกายแสงที่สวยงามในอดีตไม่นานนัก ค่อยๆ จางหายไป

เป็นความหดของหางดาวที่เกิดขึ้นเพราะการโคจรในตัวของมันเอง หรืออีกนัยหนึ่ง ดาวหางเพื่อไทยกลับไม่คิดที่จะแหกวงโคจรไปเส้นทางอื่น เพื่อรักษาความสวยของหางให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้

เริ่มจากพรรคเพื่อไทยได้รับแรงหนุนจากมวลชนคนเสื้อแดง แม้กระทั่งแลก ด้วยเลือดและชีวิต ซึ่งทำให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดความเสื่อมอย่างรุนแรงถึงขั้นเปลี่ยนจากพรรคที่มีจุดยืนต่อต้านเผด็จการทหาร...กลายเป็นรัฐบาลที่คลุกเลือดได้

แม้ฝ่ายที่เคยต้านเผด็จการจะแก้ตัว หรือเปิดยุทธศาสตร์ไม่ยอมรับวลี "รัฐบาลเปื้อนเลือด" แต่ภาพอดีตก็ยังไม่อาจลบรอยแผลที่ติดหน้าผากไปได้... เว้นแต่พยายามหา "เครื่องมือปิดรอยเลือด" เปรอะหน้าที่ล้างไม่ออก ไม่ให้ใครเห็นเท่านั้น

นั่นก็คือ ใช้ปากและมือเป็นอาวุธชี้ไปที่คนอื่นว่า ผิด ว่าชั่วร้าย ว่าโกงกินให้มากและให้บ่อยที่สุด...จนวันหนึ่งผู้คนรู้สึกว่า คนอื่นต่างหากสกปรก ชั่วร้ายกว่า นั่นแหละคือความสำเร็จ

และแล้ววันนี้คนอื่น ฝ่ายอื่นที่เป็นเป้าหมาย คือพรรคเพื่อไทยที่ได้อำนาจรัฐมา ก็เริ่มสำแดงพฤติกรรมเดิมๆออกมาให้เห็น โดยเฉพาะการบริหารประเทศที่ไม่แตกต่างไปจากรัฐบาลเก่าๆ คือ ไม่มีคุณภาพ มือไม่ถึง ไม่ใช่ "มืออาชีพ" จริง หลายคนมาจาก "สมบัติผลัดกันชม" หลายรัฐมนตรีมาจากระบบ "ต่างตอบแทน" ...แถมหลายคนเป็น "รัฐมนตรีที่โลกลืม"

บางคนอาจค้านว่า ตัวเองบริหารงานกระทรวงแบบตัวเป็นเกลียว "หัวเป็นน็อต" แต่ไม่มีใครรู้ว่าทำเรื่องอะไร ซึ่งแปลว่า คุณบริหารงานโดยไม่รู้ว่าสนองตัวคุณเองหรือมีเป้าประโยชน์เพื่อประชาชนกันแน่

รัฐบาลเพื่อไทยถูกหมายมั่นปันใจจากประชาชนว่า เก่งในการเลือกสรรคนมาบริหารงาน "มืออาชีพ" ที่เหนือกว่าพรรคอนุรักษนิยมอย่างประชาธิปัตย์ แต่แล้ว "มืออาชีพ" แทบนับหัวได้ นอกนั้นกลับกลายเป็น "เด็กเส้น" "เด็กเจ๊" และ "เด็กเล่นเก้าอี้ดนตรี" กันหมด

ยิ่งเมื่อข้อมูลโครงการจำนำข้าวถูกแฉอย่างมีพิรุธ น่าสงสัยเบื้องลึกที่มีเงื่อนงำ แล้วก็อย่าคิดว่า คนอื่นโง่ "จับทางไม่ถูก" แล้วยังอมพะนำคิดว่าการปิดปากไม่ชี้แจงแถลงข้อเท็จจริง เป็นเรื่องสมควรเงียบไว้ดีกว่า อาจถูกต้องในอารมณ์หนึ่ง... แต่กับรัฐมนตรีที่มาจากเลือกตั้ง ย่อมไม่พ้นถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นได้

โครงการจำนำข้าวจึงถูกละเลงให้กลายเป็น "ขบวนการโกงจำนำข้าว" ในที่สุด

ความหวังที่จะ "ยืมปากคนอื่น" มาแก้ตัวให้ ไม่ว่านักพูดจากเสื้อแดง นักแม่นตัวเลขจากกระทรวงการคลัง กระทั่งถึงนักกฎหมายพูดจานิ่มนวลจากทำเนียบ ก็ไม่สามารถเรียงหน้าเข้าไปช่วยกลบเกลื่อนตัวเลขจำนำข้าวขาดทุนบักโกรกได้ทันการณ์เสียแล้ว

เจ้าตัวอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า มีความผิดพลาดตรงไหน เพราะตัวเลขจำนำข้าว จะหยิบเอาช่วงไหนจังหวะใดมากล่าวอ้าง โดยไม่ยึดความจริงย่อมกลายเป็นตัวเลขขยะที่ไร้น้ำหนัก

สำคัญที่สุด การจำนำข้าวถูกดูแลโดย "คนดื้อ" ดื้อเพราะมั่นใจในตัวเองสูง ดื้อเพราะมี "เส้นแข็ง" ดื้อเพราะคิดว่าผ่านสนามการเมืองมาแล้วหลายสมัย และดื้อโดยวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองผิด

อย่าลืมว่า เรื่องจำนำข้าว ได้ส่งสัญญาณร้ายมาตั้งแต่เริ่มต้นแรมปีแล้ว แต่กลับไม่แก้ปัญหา "เงาดำ" ที่ครอบงำอยู่เบื้องหลังได้ มาถึงวันนี้ทุกอย่าง "เห็นตัวละครยืนแก้ผ้ากลางแดดล่อนจ้อน" แล้วก็ยังไม่รู้สึก

กลับกลายเป็นผลสะเทือนไปถึงภาพลักษณ์ของการเลือกตั้งซ่อมพ่ายแพ้ กระทบไปถึงความเบื่อหน่ายที่แก้ปัญหาสินค้าแพงไม่ได้ รัฐบาลถูกมองว่าไม่ซื่อสัตย์ สุจริต กินรวบ ช่วยพวกพ้องอย่างน่าเกลียด

แม้บทละครหน้ากากขาวกาย ฟอว์กส์ จะเป็นแค่สัญลักษณ์แห่งการต่อต้าน รัฐบาลอย่างไม่น่าจะกระทุ้งให้รัฐบาลสะเทือนได้ แต่มันกลับพลิกมุมเป็น "โอกาสหน้ากากขาว" เพราะ "เข้าทาง" จากคู่กรณีของรัฐบาลทุกกลุ่มพร้อมสนับสนุนให้เป็น "หัวหมู่" นำทัพออกไปล้มรัฐบาลอย่างมีพลังได้

ไม่ต่างกับม็อบเสื้อแดงเคยแสดงมาเมื่อ 3 ปีก่อนไม่ผิดเพี้ยน

ถ้ารัฐบาลส่งทหารออกไปปะทะม็อบหน้ากากขาวเพื่อ "กระชับพื้นที่" ก็จะเห็นจุดจบอย่างเดียวกับรัฐบาลประชาธิปัตย์

ถ้ารัฐบาลตรึงอยู่กับที่ "อำนาจพิเศษ" ก็จะออกมารุกแทนด้วยการพิพากษาให้ฝ่ายรัฐบาลไม่อาจใช้กฎหมายใดๆ บริหารราชการหรือตัดสินใจอย่างใด อย่างหนึ่งได้

ถ้ารัฐบาลถอย ก็จะถูกโห่ไล่ และตีโต้ในทุกจุดอ่อนให้เกิดความเสื่อมไปทุกองคาพยพ

ช่างเป็นแผนที่ขยันอย่างเหนือชั้นจริงๆ

หรือได้เวลาที่พรรคเพื่อไทยทำตัวให้กลายเป็นจุดอ่อนโดยไม่จำเป็น ไม่ "ตัดเนื้อร้าย" ที่ควรตัด ไม่สกัดข้อกล่าวหาที่ไร้ความจริงให้หมด และไม่รู้จักใช้พลังปัญญาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์

นี่แหละคือ บททดสอบพรรคเพื่อไทยว่า จะแก้ความเสื่อมของตัวเองอย่างไร...ทั้งที่มีหนทางอีกมากมาย!

ที่มา.สยามธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////

ตั้งรับ ความเสี่ยงทั้งเศรษฐกิจ การเมือง !!??

โค้งสุดท้ายช่วงครึ่งปีแรกนี้อาจจบลงไม่สวยงามนัก เพราะบังเอิญตรงกับช่วงที่คลื่นลมทางการเมืองกระเพื่อมหนักขึ้นพอดี โดยเฉพาะม็อบชาวนาที่เคลื่อนไหวคัดค้านการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขโครงการรับจำนำข้าว หลังรัฐบาลประกาศลดราคารับจำนำข้าวลงจาก 1.5 หมื่นบาทต่อตัน เหลือ 1.2 หมื่นบาทต่อตัน และจำกัดปริมาณรับจำนำเหลือไม่เกิน 5 แสนบาทต่อครัวเรือน จากเดิมเปิดรับจำนำโดยไม่จำกัดปริมาณ

เท่ากับเพิ่มจำนวนม็อบจากปัจจุบันที่ปักหลักชุมนุมอยู่แล้วหลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่พยายามเคลื่อนไหวกดดันและกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพลังธรรมาธิปไตย และแนวร่วมคนไทย ซึ่งแสดงจุดยืนคัดค้านการตัดสินคดีเขาพระวิหารของศาลโลก กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นต้น รวมทั้งกลุ่มใหม่ที่กำลังมาแรงอย่างกลุ่มหน้ากากขาว ที่รวมพลังกันผ่านเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และต่อต้านระบบทักษิณ

ไม่นับม็อบอุบัติเหตุซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำตามฤดูกาล อาทิ ม็อบยางพารา ปาล์มน้ำมัน เงาะ ลำไย เป็นต้น ที่อาจทยอยยกขบวนมาเคลื่อนไหวเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จากนี้ไปรัฐบาลตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด

จึงต้องเตรียมความพร้อมรับมือ ด้วยการวางมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำล่วงหน้า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน ก็ต้องเกาะติดข้อมูลข่าวสารและสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศที่ยังอ่อนไหวและเต็มไปด้วยปัจจัยลบ บริหารจัดการนโยบายด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลังของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจโดยรวม

เท่ากับช่วงเวลาที่เหลือในครึ่งปีหลัง นอกจากต้องเผชิญกับความสุ่มเสี่ยงไม่แน่นอนทั้งในด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นไปได้สูงที่สถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มคุกรุ่นจะร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะปัญหาความแตกแยกขัดแย้งไม่ลงรอยระหว่างกลุ่มที่คิดและมองต่างกันจนกลายเป็นความต่างขั้ว

ในฐานะผู้บริหารประเทศ รัฐบาลมิอาจปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงหน้าที่ความรับผิดชอบในการประคับประคองไม่ให้สถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านการเมืองบานปลายรุนแรงจนยากจะแก้ไข ขณะเดียวกัน ก็ต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้ตกอยู่ในสภาพที่เปราะบางหรือเลวร้าย

ด้วยการบริหารจัดการปัญหาทั้งใหญ่เล็กอย่างมุ่งมั่นจริงจัง ภายใต้หลักการที่ถูกต้องเหมาะสมชอบธรรมและเป็นกลาง โดยไม่เอนเอียงเลือกข้างหรือดำเนินการ

ในลักษณะเหมือนมีสองมาตรฐาน โดยยอมรับความเป็นจริงและความแตกต่าง ยึดหลักประนีประนอมและการเจรจรา ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา

และไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคที่มีรอบด้าน ให้สมกับที่มักกล่าวอ้างว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชน เป็นของประชาชน และเพื่อประชาชน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ วิพากษ์สงครามประชาธิปไตย 81 ปี !!?

ถนน สายประชาธิปไตย เวียนมาบรรจบครบรอบ 81 ปี ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังแบ่งฝัก-แบ่งฝ่ายมีการตั้งคำถาม และวิเคราะห์ความขัดแย้งนี้ ไม่เพียงเกิดการปะทะกันระหว่างรัฐบาล ชนชั้นกลาง กับชนชั้นล่าง แต่ยังกระทบไปถึงโครงสร้างอำนาจระดับชนชั้นสูง จนถึงระดับบน

"ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้อนประวัติศาสตร์สงครามประชาธิปไตย ตลอด 81 ปีที่ผ่านมากับ "ประชาชาติธุรกิจ" เพื่อยกให้เห็นภาพการต่อสู้ทุกโครงสร้างอำนาจ

นับจากบรรทัดนี้ "ดร.ชาญวิทย์" เชื่อว่า กลุ่มอำนาจเก่าพยายามปรับตัวเพื่อล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

- ประชาธิปไตยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองกับปัจจุบันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

มี การชักเย่อกันอยู่ มีทั้งดันและดึงในแง่ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คิดว่าในอดีตคล้ายกับมี 2 กลุ่มใหญ่ ๆ มีคณะราษฎรซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสู้กับคณะเจ้า ซึ่งต้องพูดว่าคณะเจ้าปรับตัวไม่ทันสถานการณ์ จึงทำให้เกิดการยึดอำนาจขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ถ้าเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน มันมีชักเย่อทั้งดันและดึง กลุ่มอำนาจใหม่เกิดขึ้นมาแล้ว และกลุ่มอำนาจใหม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขณะที่กลุ่มอำนาจเก่า บารมีเก่า ก็ยังอยู่และดึงดันกันอยู่ เพราะฉะนั้น การเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มันเป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2540 และนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 และพรรคการเมืองใหญ่ ๆ เหลืออยู่ 2 พรรค คือพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคของกลุ่มคุณทักษิณ (ชินวัตร) ซึ่งผมมองว่าเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ บารมีใหม่ ก็ต่อสู้กันอย่างนี้

ขณะ เดียวกัน กลุ่มอำนาจเก่า บารมีเก่าก็ยังอยู่ ที่เราเรียกว่าฝ่ายทหาร ซึ่งอยู่ในการเมืองมาเป็นเวลานานและพยายามรักษาอำนาจและอิทธิพลของตัวเอง อาจไม่ค่อยมีบทบาทนำแล้ว ซึ่งบทบาทนำกลายเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งฝ่ายอำนาจเก่ามีลักษณะเป็นอนุรักษนิยมสูงมาก ๆ และสิ่งที่สำคัญคืออ้างและอิงสถาบันกษัตริย์

- กลุ่มอำนาจเก่าเบื้องหน้าอาจเป็น กลุ่มพันธมิตรฯ แต่เบื้องหลังคือกลุ่มไหน

ตอน นี้การเมืองมันกระจัดกระจายมาก มีความแตกแยกกันเองสูงมาก มีการจัดกลุ่มกันใหม่ มันกำลังอยู่ในบรรยากาศคล้าย ๆ กับจลาจลในระดับหนึ่ง มีความไม่แน่นอนสูงมาก ๆ

- หรือกลุ่มอำนาจเก่าพยายามปรับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อสู้กับกลุ่มอำนาจใหม่

กลุ่ม อำนาจเก่า บารมีเก่า อาจปรับตัวไม่ทัน คล้าย ๆ กับระบอบราชาธิปไตยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 ปรับตัวไม่ทัน คิดว่าตอนนี้กลุ่มอำนาจเก่า บารมีเก่า ก็อาจปรับตัวไม่ทัน อ่านจากกรณีที่ไม่รับรู้และไม่ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้กฎหมาย อาญามาตรา 112 อันนี้เป็นกรณีที่เห็นชัดว่าไม่ตระหนักพอที่จะปฏิรูป เปลี่ยนแปลง ทำให้กฎหมายมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ถ้า ไม่ตระหนักถึงผลเสียของกฎหมายมาตรา 112 ก็แปลว่า ไม่ยอมรับว่าเมืองไทยมีปัญหาที่จะต้องปฏิรูป ก็อาจเหมือนกับสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 ที่บอกว่า ยังไม่ให้มีประชาธิปไตย แล้วให้ไปทดลองดุสิตธานี แล้วมาถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ที่บอกว่าจะมีรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีในที่สุด จึงเกิดการยึดอำนาจวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ขึ้นมา และคิดว่าประชาธิปไตยหลัง
2475 กับปัจจุบัน ความเหมือนก็อาจจะตรงนี้

- ไม่สามารถใช้เงื่อนไขทหาร และสถาบัน มาเล่นงานอำนาจใหม่ได้เช่นในอดีต

คิด ว่าใช้ทหารปฏิวัติยากมาก เพราะการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถือว่าเป็นความล้มเหลวของการยึดอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ยึดแล้วทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราอาจคาดการณ์ได้คือการใช้ตุลาการภิวัตน์ แต่คิดว่าจะทำให้สถาบันตุลาการเสียเครดิตอย่างมาก ๆ ซึ่งตอนนี้ก็เสียแล้ว แต่จะเสียมากกว่านี้

- หลัง 2475 มาจนถึงปัจจุบัน ประชาธิปไตยไทยพัฒนาขึ้นบ้างหรือไม่

จะ ว่าพัฒนาก็พัฒนา เพราะการเมืองไม่เคยหยุดนิ่งใน 80 กว่าปีที่ผ่านมา ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง ความตื่นตัวในแง่ประชาธิปไตยมันมีอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนระดับล่าง ผมคิดว่าคนระดับบนกลายเป็นล้าหลังเลย

เรา เห็นชัดมากว่าคนชาวกรุง คนที่มีการศึกษาสูง กลับกลายเป็นคนที่ขัดขวางประชาธิปไตยมากกว่าคนระดับล่าง คือไม่สามารถยอมรับหลักการของประชาธิปไตยได้ ไม่สามารถยอมรับว่าคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ตรงนี้สำคัญมาก จึงมีการต่อรองว่า มี ส.ว.สรรหาอยู่ ต้องมีสิทธิพิเศษ ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย

- ความหมายของคำว่าประชาธิปไตยถูกบิดเบือนไปหรือไม่ จึงทำให้กลุ่มชนชั้นนำ ชนชั้นกลางเข้าใจผิด

ผม เชื่อว่า elite (ชนชั้นนำ) ไทยไปยุโรป ไปอเมริกา ก็จะชื่นชมกับสังคมที่มันพัฒนา เจริญ แต่ elite ไทยคงรับไม่ได้ ถ้าเผื่อเอาหลักการอย่างที่มีในยุโรป อเมริกา มาใช้กับบ้านเรา เขาก็จะบอกว่าเมืองไทยยังไม่พร้อม แต่มองจริง ๆ แล้วมันเป็นด้านกลับ คือถ้าเป็นประชาธิปไตย เขาอยู่จะไม่ได้ มันเป็นการขัดผลประโยชน์ของเขา เขาจึงรับไม่ได้กับสิ่งที่เรียกว่า one man one vote - one woman one vote

- แสดงว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่ยอมกันไม่ได้

ประชาธิปไตย เป็นเรื่องนามธรรมเยอะ มันต้องเอามาตีว่าเมื่อออกมาเป็นรูปธรรมแล้ว มันจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เลือกตั้งทั้งหมดอย่างในรัฐธรรมนูญ 2540 หรือไม่ elite hiso อภิสิทธิ์ชนก็ไม่เอา มันถึงมาเอารัฐธรรมนูญ 2550 เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้เขาหมดความหมายไปเยอะ แล้วยังมาตีความว่าการแก้รัฐธรรมนูญผิดรัฐธรรมนูญอีก ผมคิดว่ามันเป็นการรักษาอำนาจของ elite hiso อย่างหน้าด้านที่สุด

- แต่เขามีข้ออ้างคือประชาธิปไตยต้องแบบไทย ๆ เท่านั้นจึงเหมาะสม

ไทย ๆ คือเขาต้องได้ประโยขน์ ถ้าเสียประโยชน์เขาไม่เอา เขาก็ต้องอธิบายอย่างนี้ว่าไม่เหมาะสม สมัยรัชกาลที่ 5-6-7 ก็บอกว่าไม่เหมาะสม ถึงมีการยึดอำนาจ พอมารัชกาลที่ 9 บอกไม่เหมาะสมอีก มันก็คงต้องปะทะกัน มันคงหนีไม่พ้น

- ต้องปะทะกันรุนแรงขนาดไหน

ก็ ไม่รู้นะ เราคุยกันเรื่องนี้มาเยอะ ว่าจะเกี้ยเซียะกันไหม ในด้านหนึ่งก็อาจจะเกี้ยเซียะ เพราะว่าถ้าปะทะกันก็พังกันทั้งหมดโดยเฉพาะข้างบน มันอาจจะต้องเกี้ยเซียะ แต่ผมก็ไม่แน่ใจนะตอนนี้ เมื่อมาถึงจุดนี้มันก็ลูกผีลูกคน 50 : 50 อาจผ่านไปโดยไม่นองเลือดมากไปกว่านี้ แต่ก็อาจจะมีสิทธิ์มากไปกว่านี้ก็ได้ ถึงจุดแตกหักก็ได้

- จุดแตกหักต้องเป็นอย่างไร และเมื่อไหร่

มัน ก็คงรุนแรงไปเรื่อย ๆ นะ ตอนนี้มันก็รุนแรงทีเดียว จะว่าไปแล้วถ้ายังไม่มีการผ่อน ไม่มีความพยายามปรองดองกัน มันก็แรงขึ้น ๆ มันก็ถึงจุดแตกหัก

- รัฐบาลที่เป็นกลุ่มอำนาจใหม่ กับกลุ่มอำนาจเก่าเวลานี้เกี๊ยเซียะกันไหม

มัน น่าจะเกี้ยเซียะ แต่มันยังไม่เกี้ยเซียะ ผมว่าสถานการณ์ปัจจุบัน สิ่งที่อำนาจเก่าพยายามทำให้ได้ คือล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้ได้ เหมือนอย่างล้มรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์

- 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่เกี้ยเซียะอำนาจเก่าเลย

ผมว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ปอดแหกไป (หัวเราะ) ประจบประแจงมากเกินไป

- การประจบประแจงก็ทำให้เขาอยู่ในอำนาจต่อ ไม่โดนล้ม

แต่ก็โดนรุกหนักใช่ไหม เหมือนกับมีอำนาจแต่ยังไม่กล้าใช้อำนาจเท่าที่ควร น่าจะใช้อำนาจมากกว่านี้

- ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้อำนาจมากกว่านี้ ฝ่ายอำนาจเก่าก็จะรุกหนักเพื่อให้รัฐบาลล้มไป

ผม คิดว่ารัฐบาลคงปอดว่าถ้ารุกหนักเขาอาจพัง เพราะฉะนั้นอาจจะไม่กล้ารุก หลายอย่างที่สัญญาไว้กับประชาชนในการเลือกตั้งก็ยังไม่ไปไหน ที่น่าสนใจจะครบ 2 ปีของรัฐบาลแล้ว ฉะนั้นตอนนี้อาจเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญว่ารัฐบาลจะเล่นอย่างไร ผมคิดว่าฝ่ายค้านคือพรรคประชาธิปัตย์คงไม่สามารถล้มรัฐบาลในเกมรัฐสภาได้ มันต้องใช้กำลังทหาร หรือเอาความปั่น ป่วนทางการเมืองมาเป็นตัวทำให้เกิดการล้มรัฐบาล แต่ถ้ารัฐบาลประคองตัวเองให้เรื่องใหญ่ ๆ ผ่านไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องจำนำข้าว เรื่องเงินกู้โครงสร้างพื้นฐาน เงินกู้ป้องกันอุทกภัย การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็อาจไปรอด

- ถ้าทหารใช้ไม่ได้ ตุลาการภิวัตน์ก็เสียเครดิตไปหมด แล้วจะใช้อะไรล้มรัฐบาล

มันยังไม่ถึงกับเสียเครดิตหมด ผมคิดว่าหนทางสุดท้ายของฝ่ายอำนาจเก่า บารมีเก่า อยู่ที่การใช้ตุลาการ แต่จะกล้าใช้ไหม...อันนี้ต้องเดา

- ถ้ารัฐบาลเพลี่ยงพล้ำเรื่องข้าว การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้ฝ่ายอำนาจเก่าใช้

ช่องนี้พลิกเกมกลับมาขย่มรัฐบาลมันก็ขย่มไปเรื่อย ๆ แต่จุดที่มันจะคลิกอยู่ตรงไหน คงขย่มไปเรื่อย อันนี้เป็นเรื่องปกติมาก แต่ รัฐบาลก็เสียศูนย์เยอะนะเรื่องจำนำข้าว แต่จะบานปลายไปจนถึงล้มรัฐบาลหรือไม่ ยังไม่แน่ใจ แต่รัฐบาลเสียศูนย์แน่ ๆ อยู่ในเกมถอย แต่จะถอยแล้วพัง กับถอยแล้วยังมีคนเห็นใจอยู่ ยังไม่กล้าพูด

- หน้ากากขาวที่ออกมาชุมนุมตอนนี้ สามารถล้มรัฐบาลได้ไหม

ไม่รู้นะ ผมว่าไม่น่าจะเวิร์ก ลักษณะของมันเป็นกิจกรรมของคนชั้นกลางในเมือง อาจจะหามวลชนยาก เพราะมันไม่มีผู้นำ

การ ล้มคุณทักษิณ ล้มคุณสมัคร คุณสมชาย มันมีผู้นำ มีคุณสนธิ (ลิ้มทองกุล) มีคุณจำลอง (ศรีเมือง) แต่ตอนนี้ผู้นำมันไม่มี ถ้าดูผู้นำอย่าง พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร คุณไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ คุณแก้วสรร อติโพธิ มันก็นำไม่ได้ มันไม่มีบารมีแบบคุณสนธิ คุณจำลอง ถ้าหน้ากากขาวชุมนุมโดยไม่มีแกนนำ จะล้มรัฐบาลได้ยาก ยากมาก (เน้นเสียง)

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////

โต้ง.รับหากเศรษฐกิจจีนเดี้ยง สะเทือนถึงไทย !!??

คลังยอมรับรับหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว กระทบไทยแน่ เหตุเป็นคู่ค้าสำคัญ มั่นใจตลาดทุนไทยมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า หากเศรษฐกิจของจีนเกิดภาวะชะลอตัวย่อมส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของไทยในฐานะที่เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ซึ่งหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อาจพิจารณาปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และยังยืนยันที่จะเป็นคู่ค้าที่ดีกับจีนต่อไป

"แม้จีนจะชะลอตัว แต่ก็ยังเติบโตได้เร็วกว่าคนอื่นในโลก โตได้เร็วกว่าที่คาดไว้ เมื่อเป็นประเทศคู่ค้าก็ต้องมีผลกระทบ ซึ่งเราต้องระวังตัวด้วย แต่จีนยังมีบทบาทที่สำคัญ เรายังมุ่งมั่นที่เป็นคู่ค้าที่ดีกับจีนต่อไป"

ส่วนสถานการณ์ความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดทุนส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเก็งกำไรโดยกองทุนนานาชาติ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่ามีความผันผวนมากเกินไป หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาแสดงท่าทีที่จะชะลอมาตรการ QE ซึ่งอย่างไรวันนั้นคงต้องมาถึง และน่าจะเป็นผลดี

"แม้เศรษฐกิจของไทยจะชะลอตัวลงไปตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ แต่เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยจะยังขยายตัวต่อไปได้ และตลาดทุนยังมีเสถียรภาพ"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อปท.-กำนัน-ผญบ.หางดง ฮือไล่นายอำเภอ พ้นพื้นที่ใน 7 วัน !!?



กลุ่มผู้นำ อปท.-กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ฮือไล่นายอำเภอหางดงพ้นพื้นที่ภายใน 7 วัน อ้างไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่น ทั้งที่เคยคัดค้านคำสั่งย้ายของกระทรวงมหาดไทยเมื่อคราวมารับตำแหน่งใหม่ๆ
     
 วันนี้ (25 มิ.ย.) นายพิทักษ์ ตุ้มอินมร ประธานชมรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อำเภอหางดง จ.เชียงใหม่ นายอธิวัฒน์ กาดกิตติ์ธนาพงศ์ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอหางดง พร้อมผู้นำส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านกว่า 100 คนรวมตัวกันที่ที่ว่าการอำเภอหางดง ประท้วงการทำงานของนายอาคม สุขพันธ์ นายอำเภอหางดง โดยให้พิจารณาย้ายออกนอกพื้นที่ ต่อมา นายสงัด บูรณภัทรโชติ ปลัดอำเภอหางดง ได้มารับหนังสือจากผู้ชุมนุมเพื่อนำเสนอตามขั้นตอนของทางราชการ
     
 โดยกลุ่มผู้นำท้องถิ่นเรียกร้องให้นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ย้ายนายอำเภอหางดงออกนอกพื้นที่ภายใน 7 วัน เนื่องจากครั้งที่กระทรวงมหาดไทย ย้ายนายอาคม สุขพันธ์ นายอำเภอปาย มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอหางดง ประชาชนมีความยินดี และหวังว่าจะสืบสานเจตนารมณ์อันดี ต่อยอดจากนายอำเภอคนก่อนเพื่อความสงบสุข สมัครสมานสามัคคีปรองดอง มีความเอื้ออาทร เข้าอกเข้าใจกัน ร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่
     
 ต่อมากระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งย้ายไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอสันทราย หลังจากมารับตำแหน่งได้เพียง 2 เดือน ประชาชนจึงรวมตัวกันขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประสานทางกระทรวงไม่ให้ย้าย แต่ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีนายอาคมได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารราชการ คือ 1. วางตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ไม่มีวุฒิภาวะในฐานะนายอำเภอ ไร้การเป็นผู้นำที่ดี 2. สร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะท้องที่-ท้องถิ่น ขาดความร่วมมือโดยเด็ดขาด ไม่ใส่ใจกิจกรรมของท้องถิ่น หรือร่วมกิจกรรมน้อยมาก 3. ไม่สนองตอบนโยบายรัฐบาล และผู้บังคับบัญชา เช่น ปัญหายาเสพติดระบาดอย่างหนัก แต่ไม่เคยตั้งทีมงานรับผิดชอบปัญหา
     
 4. ไม่ให้ความสำคัญเรื่องศาสนาและวัฒนธรรม องค์กรอื่นจัดก็ไม่ไปร่วมกิจกรรม 5. ปัญหาอาชญากรรมจากบ่อนการพนันในพื้นที่ ทั้งบ่อนชนไก่ บ่อนการพนันทุกรูปแบบ ตู้เกมสลอตแพร่หลายจนเกิดปัญหาการลักเล็กขโมยน้อยเป็นคดีจำนวนมาก จนอำเภอหางดงขึ้นชื่อเรื่องบ่อนการพนันจนยากที่จะเยียวยาได้ และ 6. ขาดความร่วมมือต่อองค์กรสตรี ผู้สูงอายุ และกลุ่มเครือข่ายอื่น ไม่ให้ความสำคัญ และไม่ส่งเสริมกิจกรรม
     
 จากนั้นแกนนำได้เดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประชุมหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย
     
 ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อสัมภาษณ์นายอาคมทางโทรศัพท์ ซึ่งนายอาคมระบุว่าปฏิบัติตามภารกิจหน้าที่ของนายอำเภอในการดูแลท้องที่เป็นอย่างดี ไปร่วมกิจกรรมต่างๆ พร้อมทั้งป้องกันปัญหาอาชญากรรมทุกรูปแบบ มีหลักฐานตลอด แต่เนื่องจากภารกิจมีมาก ต้องมอบหมายให้ทางปลัดอำเภอแบ่งเบาไปร่วมกิจกรรมแทนบ้าง เพราะตนคนเดียวไม่สามารถไปได้ทุกงาน
     
ส่วนสาเหตุที่กลุ่มดังกล่าวออกมาเรียกร้อง เพราะเรื่องการเมืองท้องถิ่นที่จะมีการเลือกตั้งกันในเดือนกันยายนนี้ โดยในช่วงบ่ายวันเดียวกันตนจะได้ไปพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อแก้ไขเรื่องที่เกิดขึ้นต่อไป

ที่มา.ผู้จัดการ
//////////////////////////////////////////////////////

ชำแหละทุน ต่างประเทศ ไทย-เวียดนาม-พม่า !!?

หลายคนอาจจะแปลกใจว่า ท่าม กลางความสับสนทางการเมือง และกระแสการย้ายฐานธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทำไมยอดการขอรับส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยจึงโตเอา..โตเอา

ในปีที่ผ่านมามีนักลงทุนจากต่างประเทศขนเงินมาขอรับการส่งเสริมการลงทุนในบ้านเรา 1,479,000 ล้านบาท สูงสุดเป็น ประวัติการณ์ ในขณะที่ 4 เดือนแรกของปีนี้ ยอดการลงทุนโตกว่าปีที่ผ่านมา 20%

แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังเป็นฐานการ ลงทุนที่ดีที่สุดในอาเซียน?

หากวิเคราะห์จากสภาพความเป็นจริง การจะกล่าวว่าประเทศไทยยังน่าสนใจ ลงทุนสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนก็ไม่น่าจะผิด เพราะบรรยากาศการลงทุนใน 2 ประเทศคู่แข่งสำคัญอย่าเมียนมาร์กับเวียดนาม ไม่โสภาสถาพรเท่าที่ควร

เมียนมาร์เนื้อหอมอย่างมากเมื่อมีข่าว ว่ากำลังเดินหน้าโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย แต่จนถึงวันนี้อนาคตทวายยังไม่มีความชัดเจน การก่อสร้างยังไม่มีความคืบหน้า โดยรัฐบาลอ้างว่าชนกลุ่มน้อยไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ ต่อรองขอค่าเวนคืนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่กลับให้ข้อมูลผ่าน สื่อมวลชนว่า สาเหตุที่พวกเขาไม่ยอมออกจากพื้นที่ไม่ใช่เพราะต้องการค่าเวนคืนเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลไม่ยอมจ่ายค่าเวนคืนตามข้อตกลง พูดง่ายๆ คือให้ออกไปตัวเปล่า

เช่นเดียวกับระบบสาธารณูปโภคในเมียนมาร์ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเข้าที่ ส่วนข่าวว่าสถานที่พัก เช่น โรงแรม รีสอร์ต ถูกจองเต็มเหยียดในราคาสุดเว่อร์ ก็เป็นเพราะการเดินทางเข้าไปสำรวจลู่ทาง การลงทุนและการท่องเที่ยว โดยยังไม่มีการ ลงทุนแต่อย่างใด

หันกลับไปดูเวียดนาม กำลังเผชิญกับ ฟองสบู่แตก เช่นเดียวกับประเทศไทยเคยเจอเมื่อปี 2540 นั่นก็คืออสังหาริมทรัพย์ผุดเป็นดอกเห็ด แต่ขายไม่ได้ ทำให้เจ้าของ โครงการที่กู้เงินจากธนาคารไม่มีเงินไปจ่าย คืนธนาคาร จึงอาจทำให้บางธนาคารที่ปล่อย สินเชื่อให้กับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต้อง ถูกปิดหรือควบรวมกับสถาบันการเงินอื่น

ในขณะที่โครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่กลายเป็นโครงการขายฝัน ที่รัฐบาลเวียดนามรับปากว่าจะดำเนินการก่อสร้าง แต่เอาเข้าจริงไม่มีอะไรคืบหน้า แม้ กระทั่งแผนการสร้างสนามบินนานาชาติใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่เตรียมการเมื่อเกือบสิบปีก่อน กำหนดเสร็จปี 2558 ก็ยังไม่มีการลงเสาเข็มแต่อย่างใด ไม่ต้องพูดถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงหรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมืออยากทำให้สำเร็จ

รวมถึงกฎหมายส่งเสริมการลงทุนที่ทั้งเวียดนามและพม่าต่างก๊อบปี้กฎหมายของไทยไปใช้ และไม่การันตีว่าจะเปลี่ยน แปลงเมื่อไหร่ นั่นทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจว่า หากเข้าไปลงทุนแล้วจะเกิดการสะดุดหรือไม่

บวก ลบ คูณ หารแล้ว ไทยจึงยังอยู่ ในฐานะได้เปรียบกว่าเมียนมาร์และเวียดนาม รวมถึงลาวกับกัมพูชาก็ยังต้องใช้เวลา อีกพักใหญ่กว่าจะก้าวขึ้นทาบชั้น สิ่งเดียวที่ CLMV มีดีกว่าไทยคือแรงงานราคาถูก ซึ่งก็เหมาะกับธุรกิจที่ไม่ต้องการทักษะ แต่ต้องไม่ลืมว่าเมื่อเป็นเออีซี หาก CLMV ไม่ปรับราคาค่าจ้างขั้นต่ำ โอกาสที่แรงงาน จะไหลบ่าเข้าประเทศไทยก็มีมาก ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้ปรับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ต่างด้าว ให้มีสิทธิ์เทียบเท่ากับแรงงานไทย ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ การลาคลอด ลาป่วยหรือแม้กระทั่งลาพักร้อน

จึงไม่น่าแปลกใจที่การโรดโชว์ 5 ประเทศของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าไทยได้กว่า 100,000 ล้านบาท หลังกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดเล็ก-ใหญ่ มั่นใจลงทุนในไทยเพิ่ม บริษัทญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฝรั่งเศส และเยอรมนี ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 22 โครงการ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน แม่พิมพ์ อิเล็กทรอนิกส์ พลังงานทดแทน เป็นต้น ขณะเดียวกันยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่าง เตรียมการยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในอนาคต

ประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจมาก ที่สุดก็คือ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนโดยตรงจากรัฐบาลถึงความคืบหน้า แสดงความพร้อมของการเป็นศูนย์กลางทางด้านการเชื่อมโยงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนในการเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อกระจายสินค้าในภูมิภาค

เช่นเดียวกับไนเจล โนลส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของบริษัทดีแอลเอ ไปเปอร์ (Global co-CEOof DLA Piper) ที่เข้ามาเปิดดำเนินธุรกิจให้บริการด้านกฎหมายแบบครบวงจรในประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพการเติบโตภายในประเทศค่อนข้างสูงแม้ว่าจะมีวิกฤติทางการ เมือง หรือภัยพิบัติบ้างก็ตาม เศรษฐกิจประเทศไทยกำลังเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง ที่นี่คือศูนย์กลางของการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////

พัฒนาการทางความคิดของ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน !!?

 การทำความเข้าใจแนวคิดเรื่องประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียน สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนบนเขตลุ่มแม่น้ำโขงนั้น จะต้องเริ่มต้นรู้เรื่องของคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) เป็นอันดับแรก ซึ่งสร้างเป็นรูปแบบเชิงสถาบันในการวางแผน พัฒนาทุกด้านของเขตบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงนี้ มาตั้งแต่ปีค.ศ.1977 (2520) มาแล้ว

คณะกรรมการแต่เดิมนั้น ประกอบด้วยประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนามใต้ ภายหลังสงครามสิ้นสุดลงแล้ว จึงนำคณะกรรมการนี้เข้ากระบวนการของโครงการพัฒนาของสหประชาชาติ ในรูปของคณะกรรมการที่ปรึกษา และการเจรจาทำความตกลงร่วมกัน

กัมพูชา ลาว และไทย ลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของลุ่มแม่น้ำโขง (Cooperation for Sustainable Development of the Mekong River Basin) และในปีค.ศ.1995 (2538) จึงได้มีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ที่กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว เพื่อให้เป็นสำนักงานของคณะกรรมการ

ต่อมาในปี ค.ศ.1996 (2539) เมียนมาร์ และจีน ได้เข้ามาร่วมคณะกรรมการในฐานะผู้สังเกตการณ์ จุดมุ่งหมาย ของคณะกรรมการแม่น้ำโขง คือ "เพื่อส่งเสริมและประสานงานในการจัดการ และพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยน้ำ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง" เพื่อประโยชน์ของประเทศที่อยู่รอบอาณา-บริเวณแม่น้ำโขง

เรื่องที่เกี่ยวกับน้ำ และทรัพยากรในน้ำหรือใต้น้ำนี้ จะเห็น ว่าบริเวณร่วมกันในอาเซียนนี้ เป็นทั้งจุดอันเป็นผลประโยชน์ยิ่งของภูมิภาค และกลายเป็นจุดของการแย่งชิงผลประโยชน์อันสำคัญในอาเซียน สองจุดดังกล่าวนี้ คือบริเวณลุ่มน้ำโขงแห่งนี้ กับบริเวณในเขตทะเลจีนใต้ (ซึ่งเคยเขียนถึงมาแล้ว)

เฉพาะในเขตบริเวณแม่น้ำโขงนี้ เห็นได้ง่ายในการแย่งชิงผลประโยชน์ของแม่น้ำโขง ซึ่งประเทศในบริเวณนี้ต่างแย่งชิงการ สร้างเขื่อนเพื่อพลังไฟฟ้าจากน้ำ ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือลาวเป็นสำคัญ จุดนี้เองที่นำไปสู่ความขัดแย้งในบริเวณลุ่มน้ำโขง โดยผลอันเกิด แต่ผลกระทบของโครงการดังกล่าว ต่อวิถีชีวิตริมแม่น้ำโขง

เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่าในส่วนขององค์กรภาคประชาชน (NEOS) นั้น ต่างล้วนให้ความสนใจกับเรื่องของสภาพแวดล้อม และการจัดการลุ่มแม่น้ำโขง มีการกล่าวหาว่า คณะกรรมการคณะนี้ ต่างตกอยู่ในสภาพวิกฤติทางนิติธรรม และไม่เห็นว่าจำเป็น จะต้องมีกรรมการลุ่มแม่น้ำโขงไปทำไม อันเนื่องจากการทำงานที่ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาซึ่งคุกคามแม่น้ำ และประชาชนในอาณาบริเวณนั้น กรณีดังกล่าวเห็นได้จากการสร้างเขื่อนไชยยะ-บุรีของลาว ซึ่งมีการประท้วงมากมาย

อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะทำความเข้าใจความพยายามที่จะเชื่อม เศรษฐกิจและการพัฒนาของอาเซียนเข้าด้วยกัน จะเห็นว่ากัมพูชา จีน ลาว เมียนมาร์ และประเทศไทย ได้ทำความตกลงกันในระดับ ย่อย เพื่อขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน และเพื่อสร้าง ความน่าเชื่อถือในการสร้างความเติบโตในเขตที่กำหนดขึ้นนี้

ที่เห็นผลตามมาจากข้อตกลงนี้ ก็คือการที่ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย ได้กลายเป็นองค์กรในการประสานงาน ส่งเสริมการร่วมลงเงินลงทุนพัฒนา ประสานงานร่วมกันกับหน่วยงานให้ความ ช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ (Official Development Agency) ทั้งด้านการวางแผนทางยุทธศาสตร์ และความช่วยเหลือทางวิชาการ

จะสรุปย่อๆ ตรงนี้ก่อนว่า จีนซึ่งเป็นคู่ร่วมพัฒนาใหญ่ที่สุด และมีโครงการเชื่อมยูนนานมาถึงภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ คณะกรรมการอนุภูมิภาคในอาณาบริเวณมหานทีแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion = GMS) จึงอนุมัติโครงการร่วมทุน (Cost sharing) สร้างประตูเชื่อมเหนือใต้ขึ้นมา

ประตูเชื่อมเหนือใต้ที่ว่านี้ คือ การสร้างถนนจากยูนนาน ผ่าน ตลอดลาวมารอจ่ออยู่ ที่อำเภอเชียงของที่เชียงราย ข้ามมาต่อเชื่อมที่หัวเมืองห้วยทรายในลาว แล้วโค้งตรงมาที่จังหวัดเชียงราย เข้าสู่ถนนสายหลัก เชื่อมต่อลงไปถึงสิงคโปร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอาเซียนด้านใต้ และเชื่อมประเทศสมาชิกของอาเซียนที่ตั้งอยู่บริเวณหมู่เกาะต่างๆ

เพื่อที่จะทำความเข้าใจชัดเจนขึ้น ในการขยายเขตแดนความร่วมมือในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เราต้องสนใจโครงการด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงอีกบางโครงการ ที่เป็นกรอบงานของอาเซียนปัจจุบัน และที่จะขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น ความ เข้าใจอนุภูมิภาคการพัฒนาเศรษฐกิจเหล่านี้เองจะช่วยให้เข้าใจภาพของการเตรียมตัว เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ให้สอดประสานและส่งเสริมไปพร้อมกันอย่างไร

โครงการระดับย่อมที่จะต้องทำความเข้าใจในรายละเอียด เหล่านี้ มีอย่างน้อย 3 โครงการที่ต้องศึกษาทำความรู้จัก และเข้าใจเพิ่มเติม หนึ่ง คือ โครงการที่เรียกว่า "ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง" (ACMECS) เพื่อให้คุ้นกับชื่อภาษาอังกฤษ คือ (Ayeyawa dy-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy)

อีกโครงการหนึ่ง คือ "โครงการความร่วมมือ กัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนาม" (Cambodia, Laos. Myanmar. Vietnam Cooperation = CLMV) และโครงการสุดท้ายคือ โครงการสามเหลี่ยมพัฒนาระหว่างลาว กัมพูชา เวียดนาม (Cambodia-Laos Vietnam Development Triangle)

จุดน่าสนใจของโครงการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาในระดับอนุภูมิภาคทั้งหมดนี้ ก็คือการแบ่งอาเซียนบนผืนแผ่นดินใหญ่ ออกเป็นเขต (Zone) ต่างกันออกไป เช่น เขตบริเวณลุ่มน้ำโขง ซึ่งรวมทุกเขตเข้ามารวมกัน ขณะที่แบ่งเขตของอินโดจีน เช่น กัมพูชา ลาว และ เวียดนาม ไว้ชัดเจน โดยที่พม่าไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีน หากแยกเรียกตัวเองเป็นแผ่นดินทอง เช่นเดียวกับที่ไทย เรียกตัวเองว่า สุวรรณภูมิ

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอนุภูมิภาคเหล่านี้ จะมีการดำเนินการในเรื่องการคมนาคม ขนส่ง พลังงาน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มากมาย

นี่คือจุดเชื่อมต่อในโครงสร้างทางเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งจะเห็นต่อมาว่าได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการ สร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนขึ้นมา

ที่มา.สยามธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////