--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นัดชี้ชะตา ตัดสินพระวิหาร !!?

โดย. ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

เหลือระยะเวลาอีกเพียง 2 วัน ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ก็จะอ่านคำพิพากษาคดีพระวิหารปี 2505 นับเป็นการอ่านคำพิพากษาท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่คุกรุ่นของทั้ง 2 ฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายกัมพูชา

สถานะของสมเด็จฮุน เซน หัวหน้าพรรคประชาชนกัมพูชา กำลังถูกท้าทายหลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง โดยสามารถรักษาที่นั่งของ ส.ส.ได้เพียง 68 ที่นั่ง จากเดิม 90 ที่นั่ง

ส่วนพรรคกู้ชาติกัมพูชาของนายสม รังสี ได้รับเลือกตั้งเข้ามาถึง 55 ที่นั่ง จากเดิม 29 ที่นั่ง พร้อมกับข้อกล่าวหาว่าพรรคประชาชนกัมพูชาโกงการเลือกตั้ง เกิดการประท้วงเป็นวงกว้างในกรุงพนมเปญ

ในขณะที่รัฐบาลไทย นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย ก็กำลังตกอยู่ในสถานะลำบาก หลังจากดึงดันที่จะผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับเหมายกเข่ง โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากภาคส่วนใหญ่ในสังคม ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์เรียกระดมพลออกมาต่อต้านตามท้องถนนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

สถานการณ์ทางการเมืองของทั้ง 2 ประเทศที่มีข้อพิพาทเรื่องพระวิหารกำลังขมวดเกลียวขึ้นมานั้น เป็นผลมาจากคำขอของฝ่ายกัมพูชาที่ให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 2505 ซึ่งได้ตัดสินมีสาระสำคัญไปแล้วว่า อำนาจอธิปไตยแห่งดินแดนเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชากับประเทศไทย มีพันธะที่จะต้องถอนหน่วยทหารที่ได้เข้าไปตั้งประจำอยู่ ณ บริเวณสิ่งหักพังของปราสาทพระวิหารออกไป

ประเทศไทยเห็นว่า นับตั้งแต่ปี 2505 เป็นต้นมา ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกครบถ้วนแล้วทุกประการ โดยเป็นการปฏิบัติตามมติ ครม. 10 กรกฎาคม 2505 ซึ่งสอดคล้องกับขอบเขตของพื้นที่พิพาทในคดีนี้ และฝ่ายกัมพูชาก็เห็นตรงกันตามความเข้าใจทั้ง 2 ฝ่ายมาตลอดตั้งแต่ปี 2505

ในขณะที่ฝ่ายกัมพูชา (ท่าทีหลังปี 2505 หลังจากต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ฝ่ายไทยคัดค้าน) เห็นว่าประเทศไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่ต้องถอนทหารออกไปอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ฝ่ายกัมพูชาเรียกว่า บริเวณใกล้เคียงปราสาทบนดินแดนของกัมพูชา หรือ "Vicinity" ซึ่งเป็นดินแดนที่กัมพูชาได้อ้างว่า ได้ปักปันไว้ในอาณาบริเวณปราสาทและบริเวณใกล้เคียงด้วยเส้นบนแผนที่ภาคผนวก 1 (มาตราส่วน 1 : 200,000 ระวางดงรัก) ซึ่งคำพิพากษาของศาลโลกปี 2505 ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาคดี

หลังการยื่นขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา ฝ่ายไทยได้ต่อสู้ว่าคำฟ้องของกัมพูชาครั้งนี้เป็น "เสมือนคำอุทธรณ์" ที่ซ้อนมาในรูปของคำขอตีความ ให้ศาลตัดสินในสิ่งที่ศาลโลกได้เคยปฏิเสธไปแล้ว ซึ่งได้แก่ เส้นเขตแดนและเรื่องสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาใช้กล่าวอ้าง

ส่วนเรื่อง Vicinity หรือบริเวณใกล้เคียงปราสาท ตามคำพิพากษาปี 2505 (ซึ่งมีพื้นที่ทับซ้อนประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร) ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นไปตามเส้นบนแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ระวางดงรักนั้น ฝ่ายไทยมีข้อต่อสู้ว่าเป็นคนละเรื่อง ดังนั้น "บริเวณใกล้เคียงปราสาท" จึงไม่จำเป็นต้องมีขอบเขตเป็นเส้นเขตแดน ประกอบกับได้มีความพยายามที่จะชี้ให้ศาลโลกเห็นว่า แผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาใช้อ้างในการตีความคดีปัจจุบันนั้น ไม่ตรงกับเส้นที่กัมพูชาอ้างไว้ในคดีเมื่อปี 2505

ฝ่ายไทยได้คาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ของคำพิพากษาจะออกมา 4 แนวทาง คือ 1) ศาลโลกไม่มีอำนาจตีความ (ตามคำขอของกัมพูชา) หรือ มีอำนาจแต่ไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณา 2) ตัดสินว่า Vicinity เป็นไปตามเส้นบนแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ระวางดงรัก 3) ตัดสินว่า Vicinity เป็นไปตามมติ ครม.ไทยปี 2505 และ 4) ตัดสินแบบกลาง ๆ ด้วยการให้ความกระจ่างในข้ออ้างเรื่องแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 เพื่อเป็นแนวทางให้ทั้ง 2 ฝ่ายกลับไปเจรจากันต่อไป

แต่ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาอย่างไร ทั้ง 2 ประเทศได้แสดงท่าทีออกมาแล้วว่า การปฏิบัติตามคำพิพากษาจะมีการหารือกันในกรอบคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา (JC) ต่อไป ส่วนจะหารือกันได้แค่ไหนอย่างไร ขึ้นอยู่กับแรงกดดันทางการเมืองที่แต่ละฝ่ายจะได้รับเป็นสำคัญ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
--------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น