--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ม็อบต้านนิรโทษฯ รวมพลังรุก ปลุกพลังเงียบ !!?

โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์
มหาวิทยาลัยสยาม
สูตรสำเร็จของม็อบ ก็คือ ยิ่งมากยิ่งดี

การลุกลามบานปลายของม็อบที่ออกมาต่อต้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบสุดซอย ย่อมไม่อาจวิเคราะห์จากปัจจัยพื้นฐาน คือความไม่พอใจของประชาชนเท่านั้น หากยังต้องเข้าใจถึงกระบวนการสร้างกระแส เพื่อกระตุ้นให้คนเกิดความรู้สึกอยากเข้าร่วม เกิดความรู้สึกอบอุ่นผูกพัน เกิดความรู้สึกว่าเป็นแฟชั่น รวมถึงเกิดความรู้สึกอุ่นใจเพราะมีคนเข้าร่วมล้นหลาม



นิรโทษสุดซอย ภาพจาก http://variety.eduzones.com/

ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นฐานแห่งความไม่พอใจและกระแสแห่ตามแฟชั่น เป็นสิ่งที่ยากจะแยกออกจากกันได้ เพราะหากเป็นการนิรโทษกรรมแบบเดิมที่เน้นเฉพาะประชาชนโดยไม่รวมแกนนำ ไม่รวมคดีคอร์รัปชั่นทั้งหลายแหล่ ก็คงไม่มีการเข้าร่วมอย่างล้นหลามเช่นนี้ ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะพยายามจุดกระแสอย่างไร ก็ประสบแต่ความล้มเหลว

หากทว่าเมื่อเปลี่ยนเป็นนิรโทษกรรมแบบสุดซอย ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนย่อมมีแรงเฉื่อยแห่งการเข้าร่วมม็อบ หากเป็นเรื่องที่พวกเขาไม่รู้สึกเลวร้ายอย่างที่สุด คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะวางเฉย แทนที่จะเดินทางเข้าร่วมต่อต้านรัฐบาล เพราะมีต้นทุนทั้งเวลา แรงงาน ค่าเดินทาง ยังไม่นับความเสี่ยงที่จะประสบอันตรายได้

เมื่อประชาชนตัดสินใจเข้าร่วมกับม็อบแล้ว มันก็เหมือนกับการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าชิ้นหนึ่งนั่นเอง พวกเขาย่อมมีความผูกพัน พวกเขาย่อมมีความรู้สึกว่าม็อบเป็นของตัวเอง ดังนั้น ต้นทุนที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป ยิ่งเมื่อได้สนทนากับผู้คนในม็อบด้วยกัน ก็ยิ่งมีความผูกพันและรู้สึกว่าคุ้มค่าที่ได้เข้าร่วม เป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิดพลาดเลย

อย่างไรก็ตาม กระแสคลั่งไคล้ม็อบ ก็มีห้วงเวลาและขีดจำกัดของมันเหมือนกัน หากแกนนำไม่สามารถค้นหา Story แบบใหม่ๆ มาปลุกเร้าประชาชนที่เข้าร่วมได้ ความรักและความสนุกเบิกบานก็จะผ่อนคลายลง สุดท้ายจึงกลายเป็นความจืดจางและเหินห่าง นี่คือ เหตุผลที่ทำให้หลายม็อบที่เริ่มต้นมาดี มีคนอุดหนุนคึกคัก ต้องแผ่วปลายและล่มสลายไปในที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพระราชบัญญัตินิรโทษแบบสุดซอยถูกพิจารณาให้หายไปอย่างรวดเร็ว เชื้อไฟที่แกนนำจะไปสร้าง Story ให้กับม็อบก็จะถูกลดทอนลง ดังนั้น ผู้เข้าร่วมชุมนุมบางส่วน ที่อาจมีความผูกพันน้อยกว่าคนที่เหลือ ก็จะเริ่มทะยอยถอนตัวไป เมื่อม็อบลดจำนวนลง ก็จะยิ่งทำให้คนที่เหลือรู้สึกว้าเหว่ขึ้น ในที่สุดก็จะนำไปสู่วงจรอุบาทว์แห่งการล่มสลาย

แน่นอนว่า ในช่วงแรกที่รัฐบาลถอนพระราชบัญญัติไป ม็อบอาจไม่ได้รับผลกระทบแบบทันที เพราะยังมีแรงเฉื่อยจาก Story เดิมที่ยังจุดประกายม็อบอยู่ จึงอาจทำให้คนเข้าร่วมเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก เรื่องราวที่หล่อเลี้ยงเริ่มขาดหายไปหรือไร้น้ำหนักลง ม็อบก็ยากที่จะดำรงไว้

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีท่าทีไม่ชัดเจน ท่าทีแบบนี้กลับเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ เพราะจะทำให้แกนนำมีข้ออ้างในการสร้างความหวาดระแวงให้กับมวลชนได้เสพรับ โดยเฉพาะการระบุว่ารัฐบาลไม่จริงใจ รัฐบาลหลอกลวง จึงยิ่งเติมเชื้อไฟให้กับการชุมนุมได้ ที่น่าเศร้าก็คือ ภายในกลุ่มคนที่แวดล้อมรัฐบาล ย่อมมีความเห็นที่แตกต่างกันเป็นหลายแนวทาง

ดังนั้น แม้จะมีคนบางส่วนปรารถนาให้ถอนการนิรโทษกรรมแบบสุดซอยนี้ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ปรารถนาจะสู้ต่อให้ถึงพริกถึงขิง ดังนั้น แถลงการณ์ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา จึงมักเป็นส่วนผสมระหว่างการเต็มใจถอนและการยืนหยัดสู้ต่อไป จึงยิ่งส่งสัญญาณความไม่เชื่อมั่นให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นอย่างยิ่ง

กลยุทธ์ของรัฐบาลในการตอบโต้กับการชุมนุมในครั้งนี้ จึงไม่ใช่การวิเคราะห์ว่าตนเองได้กระทำผิดหรือไม่ เพราะประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมจำนวนไม่น้อยได้ตัดสินไปแล้ว แต่รัฐบาลจะต้องหาทางลดกระแสโดยเร็วที่สุด นั่นคือ การเพิกถอนพระราชบัญญัติแบบสุดซอยโดยไม่มีเงื่อนไขอย่างที่รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ถึง 3 ครั้งติดต่อกันเช่นที่ผ่านมา



ภาพจาก Facebook คำเกิ่ง แห่งทุ่งหมาหลง
ยิ่งเพิกถอนเร็วยิ่งได้เปรียบ

แน่นอนว่า นับจากรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา แต่ละฝ่ายก็ได้ตัดสินอีกฝ่ายหนึ่งไปแล้ว หากทว่าสิ่งที่การชุมนุมครั้งนี้แตกต่างออกไปก็คือ มีฝ่ายเป็นกลางเข้าร่วมด้วยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาทั้งหลาย ซึ่งจะยิ่งสร้างความเชื่อถือให้กับคนที่ยังลังเลใจ ให้หันมาเข้าร่วมเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น สถานะของรัฐบาลจึงถูกคุกคามอย่างแรง รัฐบาลอาจคิดว่ากลุ่มพลังเงียบเหล่านี้ แท้จริงแล้วก็คือ ฝ่ายตรงข้ามที่แอบต่อต้านตนเองแบบไม่เปิดเผยตัว นี่คือสิ่งที่ต้องวิเคราะห์และเฝ้าดูกันต่อไปว่าจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือ เหตุใดฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เคยต่อต้านแบบตรงๆ ในครั้งนี้จึงตัดสินใจเข้าร่วมได้อย่างพร้อมเพรียงกัน

นั่นหมายความว่า การกระทำในครั้งนี้ของรัฐบาลอาจเกินขีดจำกัดที่คนเหล่านี้จะยอมรับได้ หากรัฐบาลสามารถจำกัดขอบเขตอำนาจตัวเองไว้ที่จุดหนึ่ง โดยไม่ไปล้ำเส้นคนกลุ่มนี้ ก็จะทำให้ฝ่ายต่อต้านมีกำลังลดลง และรัฐบาลสามารถรับมือได้สบายเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

“ม็อบต้านนิรโทษ” จึงเป็นส่วนผสมที่หลากหลายของพลังทางสังคม โดยมีท่าทีของรัฐบาลเป็นสิ่งกำหนดความเข้มแข็งหรืออ่อนแอของม็อบ แน่นอนว่า ม็อบนี้ก็ไม่แตกต่างจากม็อบอื่นที่ผ่านมา ซึ่งต้องมีพัฒนาการและความเติบโตของตัวเอง

หากทว่า บทเรียนที่ม็อบนี้ได้มอบให้กับเราก็คือ พลังเงียบที่อาจไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล แต่เลือกที่จะอยู่เฉยๆ เลือกที่จะใช้ชีวิตแบบไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี เลือกที่จะหลงระเริงไปตามกระแส หากทว่า เมื่อถึงจุดที่รัฐบาลกระทำการเกินขอบเขตในความรู้สึกของพวกเขา คนเหล่านี้ก็พร้อมที่จะออกมารวมตัวเพื่อต่อต้านได้ และเมื่อถึงขั้นที่คนกลุ่มที่เฉื่อยชาที่สุดนี้ได้ลุกออกมา ก็ย่อมเป็นสัญญาณอันตรายให้ทุกรัฐบาลต้องรีบหาทางแก้ไข

นับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา สงครามช่วงชิงทางการเมืองระหว่างสองขั้วอำนาจ ก็ดูเหมือนจะไม่มีวันยุติลง ทั้งสองฝ่ายผลัดกันรุกและรับกันอย่างน่าหวาดเสียว การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ดีกว่าจึงต้องล่าช้าออกไป

อย่างไรก็ตาม การถือกำเนิดของ “ม็อบต้านนิรโทษ” ได้แสดงพลังของประชาชนออกมาให้เห็น ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีว่า เกมการช่วงชิงอำนาจในหลายปีที่ผ่านมานี้ใกล้จะถึงจุดเปลี่ยนพลิกแล้ว เพราะไม่ใช่มีแต่ผู้เล่น 2 ฝ่ายเท่านั้นที่เข้าร่วมเหมือนเดิม แต่ยังมีประชาชนซึ่งสามารถรวมตัวกันจนกระทั่งเป็นพลังทางสังคมที่เข้มแข็ง (Civil Society) ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งแห่งเกมอำนาจแล้ว

บางคนอาจมองว่าการชุมนุมครั้งนี้ต้องการจะเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยโดยตรง แต่หากมองให้ลึกลงไปจะเห็นว่า ม็อบต้านนิรโทษนี้ กลับมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างยิ่ง โดยไม่ได้ขึ้นหรือถูกชี้นำโดยพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น

หากว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดม็อบทำนองเดียวกันนี้ขึ้นมาต่อต้านโดยเฉพาะหากพรรคประชาธิปัตย์ได้กระทำการที่เกินเลยขอบเขตที่กลุ่มคนที่เฉื่อยชาทางการเมืองที่สุดจะยอมรับได้ เมื่อนั้นก็จะเกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงแบบนี้อย่างแน่นอน

พิจารณาจากสภาพปัจจุบัน การที่พรรคประชาธิปัตย์จะพลิกฟื้นกลับคืนสู่อำนาจก็ยังเป็นเรื่องยากยิ่ง ไม่ต้องพูดถึงการมีอำนาจในรัฐสภามากเพียงพอที่จะทำอะไรแบบเกินเลยได้ ดังนั้น เหตุการณ์แบบม็อบต้านนิรโทษนี้ย่อมยากจะเกิดขึ้น จึงดูเหมือนกับว่าม็อบต้านนิรโทษนี้ออกมาเพื่อคัดค้านรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

ทั้งที่ความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพียงแต่ว่าเงื่อนไขทางภววิสัยของพรรคการเมืองอื่น ไม่มีพลังมากพอที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ “ม็อบต้านนิรโทษ” ในท้ายที่สุด ก็ย่อมต้องล่มสลายไปตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเกิดจากการที่รัฐบาลตัดสินใจเพิกถอนพระราชบัญญัตินิรโทษฉบับนี้ออกไป หรือแม้กระทั่งเมื่อการต่อต้านครั้งนี้ลุกลามบานปลายจนถึงขั้นโค่นล้มรัฐบาลได้ ม็อบต้านนิรโทษก็ย่อมไร้ซึ่งเหตุผลที่จะดำรงอยู่



ภาพ บ.ก. ลายจุด จาก Facebook Red Intelligence

หากทว่า สิ่งที่ม็อบครั้งนี้ทิ้งไว้ให้เราก็คือ รากฐานการรวมตัวของพลังทางสังคม (Civil Society) อันเกิดจากกลุ่มคนที่หลากหลาย ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาเลยนับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2549 แน่นอนว่า แม้บางกลุ่มจะมีจำนวนคนมากกว่านี้ แต่ก็ยังขาดแคลนในเรื่องของความหลากหลายและความน่าเชื่อถือ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความชอบธรรมและการยอมรับจากประชาชนที่เฝ้าดู

ที่มา.Siam Intelligence Unit

----------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น