เทียบเหตุผลประเด็นต่อประเด็น กลุ่มหนุน-ค้านคำวินิจฉัยศาล รธน. "ผ่าทางตัน" หรือดึงการเมืองเข้าสู่ "ทางตัน"
ยังคงเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ "ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม" ในกลุ่มมาตราเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
ประเด็นคำถามที่หลายฝ่ายมีต่อคำวินิจฉัย เปรียบเทียบกับคำอธิบายของกลุ่มที่เห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญ
1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ ให้ความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ เพราะเป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาที่สามารถดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และรัฐธรรมนูญมาตรา 154 ก็ระบุชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยเฉพาะกำหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ (พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และพระราชกำหนด)
2.ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฯ ขัดมาตรา 68 วรรค 1 คือมีลักษณะทำให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ
นายจาตุรนต์ ฉายเเสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเเกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผลของมาตรา 68 วรรค 1 คือศาลมีอำนาจสั่งให้เลิกกระทำ (กรณีนี้หมายถึงเลิกแก้ไขรัฐธรรมนูญ) แต่คำถามคือศาลสั่งใคร เพราะรัฐบาลเเละนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการเสร็จไปเเล้ว ถือว่าเลยขั้นตอนที่จะสั่งไปแล้ว
3.รัฐมนตรีและ ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยหลายคนมองว่าข้อกล่าวหาเสียบบัตรแสดงตนแทนกันของสมาชิกรัฐสภา การสั่งปิดอภิปราย หรือประเด็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอแก้ไข เป็นคนละร่างกับที่รัฐสภาพิจารณา เป็นเรื่องตัวบุคคล ข้อบังคับการประชุมสภา หรือปัญหาทางเทคนิค ไม่ได้อยู่ในอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัย
4.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฯ ที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯไปแล้ว ถือว่าตกไปโดยอัตโนมัติหรือยัง และนายกรัฐมนตรีจะต้องทำอย่างไร
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ว่า จะหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ได้แนวทางที่ถูกต้องและเป็นทางการ ขณะที่ ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฯถือว่าเป็นการโมฆะอยู่แล้ว เท่าที่ทราบสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะต้องไปยื่นขอถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากสำนักพระราชวัง
ด้านความเห็นของฝ่ายที่สนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Chuchart Srisaeng ระบุว่า ขอสรุปผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและผลตามคำวินิจฉัยสำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจเพิ่มเติม ดังนี้
1.ร่างแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว.เป็นอันตกไป เพราะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถ้ายังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อลงพระปรมาภิไธย ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯไม่ได้ ถ้าทูลเกล้าฯแล้วก็ต้องขอถอนคืน
2.เมื่อร่างแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกไป รัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.ก็ยังไม่ได้มีการแก้ไข บทบัญญัติในส่วนนี้ยังเหมือนเดิมคือ ส.ว.มีสองประเภท ทั้งจากการเลือกตั้งและการสรรหา
3.ที่ไม่มีการยุบพรรคเพราะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา คือ มีทั้ง ส.ส.และ ส.ว. เป็นการกระทำของแต่ละบุคคล ไม่ใช่ทำของพรรคการเมือง ส.ว.ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ส่วน ส.ส.ก็สังกัดมีหลายพรรค ไม่ใช่พรรคเพื่ิอไทยพรรคเดียว
4.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิพากษาลงโทษ ผู้กระทำความผิดในทางอาญา ซึ่ง ส.ว.กลุ่มหนึ่งได้ยื่นกล่าวโทษต่อ ป.ป.ช. ให้ทำการไต่สวนแล้ว
5.เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการลงชื่อยื่นถอดถอน ส.ส. 310 คน เพราะกรณีที่ยื่นถอดถอนนั้นเป็นเรื่องของขอถอดถอน ส.ส.ที่ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ
ขอยืนยันว่าศาลต้องพิพากษาหรือวินิจฉัยคดีตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น จะให้เป็นที่พอใจหรือตามความต้องการของทุกคนไม่ได้
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น