--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ก้าวข้าม 3 มายาคติ ปราสาทพระวิหาร

 ลุ้น(แค่) 3 แนวพิพากษาศาลโลก

ในที่สุดก็มาถึง "วันพิพากษา" ในคดีปราสาทพระวิหารที่ลุ้นกันมานานข้ามปี โดยศาลโลกเลือกเอาวันที่ 11 เดือน 11 เป็นวันตัดสินข้อพิพาทเรื่องปราสาทหินที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และเกี่ยวเนื่องกับดินแดนของสองประเทศคือไทยกับกัมพูชา ที่ยืดเยื้อมานานกว่าครึ่งศตวรรษ

การคาดการณ์คำพิพากษาและการให้ข้อมูลด้านต่างๆ มีมาอย่างต่อเนื่องทั้งจากรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อสารมวลชน ตลอดจนผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ แต่ก่อนจะตั้งใจฟังคำพิพากษา น่าจะย้อนดูกันก่อนว่าเรามี "มายาคติ" อะไรที่ต้องก้าวข้ามบ้างหรือไม่ เพื่อให้การรับฟังและยอมรับผลคำพิพากษาเป็นไปอย่าง "มีสติ" และมองสถานการณ์ด้วยความ "เข้าใจ" มากที่สุด

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มายาคติที่ถูกเผยแพร่ในสังคมไทยในกรณีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหารมีอยู่ 3 มายาคติ ได้แก่

1.มายาคติที่บอกว่าคำปราศรัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ เมื่อปี 2505 ไม่ได้ยอมรับคำพิพากษาของศาลโลก ถือเป็นมายาคติที่ร้ายแรงมาก เพราะจะเน้นย้ำแต่เพียงว่าวันหนึ่งข้างหน้าจะเอาปราสาทพระวิหารกลับมาเป็นของไทย แต่สาระสำคัญในคำปราศรัยของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ในขณะนั้น คือ

- ยอมรับว่าคำพิพากษาของศาลโลกเป็นอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่สามารถอุทธรณ์ได้ และ

- หากไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) จะสามารถดำเนินการใดๆ ได้

นั่นคือสาระสำคัญของคำปราศรัย แต่สาระสำคัญดังกล่าวนั้นถูกตัดทิ้งออกไปจากความรับรู้ของสังคมไทย และเผยแพร่แต่เพียงว่า จอมพลสฤษดิ์ไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลโลก นี่คือมายาคติที่หนึ่ง

2.มายาคติที่มีการเผยแพร่ข้อมูลกันอยู่ในขณะนี้ว่า คำพิพากษาของศาลโลกไม่มีสภาพบังคับ ต่อให้ตัดสินอย่างไรไม่จำเป็นต้องทำตามก็ได้ ซึ่งเป็นมายาคติที่สำคัญ แท้จริงแล้วศาลโลกจะมีกลไกบังคับอย่างสูงสุดคือยูเอ็น ซึ่งมีแกนหลักสำคัญคือ "ยูเอ็นเอสซี" เป็นกลไกในการบังคับให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลหากมีกาดื้อแพ่งหรือมีการทำสงครามระหว่างกัน

ในขั้นต้นอาจมีการประณามประเทศไทยบนเวทียูเอ็น ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ หรืออาจจะยกระดับขึ้นมาเป็นการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ไม่ซื้อขายสินค้ากับประเทศไทย หรือในระดับสูงสุดอาจมีการส่งกำลังมาพิทักษ์คู่ขัดแย้งโดยสหประชาชาติ

3.มายาคติที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในขณะนี้ว่าศาลโลกเชื่อถือได้หรือไม่ มีการระบุว่าศาลโลกเป็นศาลการเมือง ซึ่งจริงๆ แล้วศาลทุกศาลเป็นศาลการเมืองเพื่อพิทักษ์ระบบทางการเมืองหนึ่งๆ ในขณะนั้น แต่ศาลโลกมีอายุยาวนานมาจนถึงปัจจุบันกว่า 100 ปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเกิดองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แล้ว ได้มีการปรับปรุงศาลโลกขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เกิดการยอมรับมากยิ่งขึ้น และพบว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เป็นสงครามแย่งชิงดินแดนดังนั้นกลไกของยูเอ็นจึงสร้างศาลโลกขึ้นมาเพื่อบอกว่า เราจะออกจากปัญหาข้อขัดแย้งโดยเฉพาะดินแดนกันได้อย่างไรโดยที่ไม่ต้องรบรากัน

จากการก่อตั้งศาลโลกจนถึงวันนี้ มีคดีผ่านการพิจารณาของศาลโลกแล้วกว่า 300 คดี แสดงว่าบางประเทศมีมากกว่า 1 คดี เท่ากับว่าโลกทั้งใบเลือกที่จะหาทางยุติข้อพิพาทกันที่ศาลโลก แต่โดยปกติหากยังมีทางไป คู่กรณีมักจะไม่พยายามไปที่ศาลโลก เพราะถ้าไปที่ศาลโลกหมายความว่าคู่กรณีต้องยอมรับคำพิพากษา ซึ่งอาจจะมีใครได้ใครเสียตลอดเวลา โลกใบนี้ยังใช้ศาลเป็นหนทางเพื่อที่ไม่ทำให้เกิดการรบราฆ่าฟันกันระหว่างประเทศ

"ทั้งหมดนี้คือ 3 มายาคติที่ถูกเผยแพร่ในสังคมไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งสังคมไทยควรก้าวข้ามไปให้ได้" ธำรงศักดิ์ ระบุ

เขาอธิบายอีกว่า แนวทางคำพิพากษาในมุมมองของเขามี 3 แนวทาง คือ

1.ศาลไม่ใช้อำนาจตัดสิน ให้เจรจากันเอง ถ้าเป็นแนวทางนี้มีความหมายว่าสภาพการณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชายังคงอยู่แบบเดิมภายใต้บริบททางการเมืองภายในของทั้งสองประเทศที่ต่างก็มีฝ่ายค้านและฝ่ายที่ใช้ประเด็นนี้ในการล้มรัฐบาล สภาพการณ์จะทรงตัวอยู่อย่างนี้

2.ศาลพิพากษาให้เส้นเขตแดนเป็นไปตามที่จอมพลสฤษดิ์ไปตีเส้นล้อมกรอบไว้ให้แล้ว ก็ถือว่าเป็นคุณต่อประเทศไทย แต่แม้ว่าจะเป็นคุณก็ยังต้องไปตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจากันในเชิงของพื้นที่ที่เป็นจริงอีกครั้ง ข้อนี้จะทำให้การเมืองภายในของไทยหมดปัญหา แต่จะส่งผลให้การเมืองภายในของกัมพูชามีปัญหา

3.ศาลพิพากษาให้เป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1 ของฝ่ายกัมพูชา บวกกับพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ถ้าออกมาแนวทางนี้จะทำให้การเมืองภายในของประเทศไทยมีปัญหาทันที ท่ามกลางปัญหาของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับหมกเม็ด ซึ่งปัญหาการเมืองภายในจะรุนแรงมาก ส่วนฝ่ายกัมพูชาจะทำให้รัฐบาลของ สมเด็จฮุน เซน กลายเป็นวีรบุรุษของประเทศ

แนวทางคำตัดสินของศาลโลกมีแนวโน้มที่ศาลจะพิจารณาถึงการกระทำที่เป็นการกระทำของฝ่ายไทยเท่านั้น แต่ฝ่ายกัมพูชาไม่ยอมรับเส้นที่ตีนั้นมาตลอด สำหรับอาณาบริเวณ หรือ vicinity อยู่ที่ไหน ในกรณีนี้ศาลจะต้องมองไปยังแผนที่ของฝ่ายกัมพูชาที่แนบท้าย คือศาลจะกลับไปคิดในปี 2505 ศาลโลกในขณะนั้นใช้ฐานคิดอย่างไรที่ระบุว่าปราสาทพระวิหารอยู่ใต้อธิปไตยของกัมพูชา

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น