--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

บทเรียนจากเมืองจีน: โครงข่ายรถไฟความเร็วสูงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ-เชื่อมครอบครัวเข้าด้วยกัน



The New York Times มีบทความ “สำรวจผลกระทบจากรถไฟความเร็วสูง” ของประเทศจีน ว่าหลังจากเริ่มเปิดบริการรถไฟความเร็วสูงเมื่อ 5 ปีก่อนแล้วเป็นอย่างไร

ช่วงที่รถไฟความเร็วสูงของจีนเปิดบริการใหม่ๆ ต้องเรียกว่า “ร้าง” แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์กลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ตั๋วที่นั่งทุกเที่ยวแทบจะถูกจองเต็ม คิวซื้อตั๋วที่สถานียาวเฟื้อย และสถานีรถไฟหลายแห่งต้องมีส่วนต่อขยายเพิ่มเพื่อรองรับผู้โดยสาร

ตอนนี้คนจีนเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงมากกว่าเครื่องบินโลว์คอสต์ในประเทศถึงเท่าตัว อัตราการเติบโตเฉลี่ยของผู้โดยสารในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 28% ต่อปี

รถไฟความเร็วสูงยังทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานของจีนเปลี่ยนไป บทความยกตัวอย่างของคนงานทำรองเท้าคนหนึ่งในกว่างโจวที่ต้องกลับไปเยี่ยมลูกสาวที่เมืองฉางซาเป็นประจำทุกเดือน เดิมทีเธอต้องใช้เวลาเดินทางระหว่างมณฑลเป็นวัน แต่ตอนนี้เวลาเดินทางลดเหลือเพียง 2 ชั่วโมง 19 นาที

ผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์ในเสิ่นเจิ้นอีกคนหนึ่งเลือกเดินทางไปพบลูกค้าทั่วประเทศจีนด้วยรถไฟความเร็วสูง เขาให้เหตุผลว่าเครื่องบินมักมีปัญหาดีเลย์ เขายังบอกว่าไม่คิดว่ารถไฟความเร็วสูงจะเปลี่ยนชีวิตของคนจีนไปมากขนาดนี้ แต่ทุกวันนี้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว

ความนิยมของรถไฟความเร็วสูงในจีนส่วนหนึ่งมาจากการตั้งราคาค่าโดยสารไม่แพงนัก โดยเทียบกับการเดินทางด้วยเครื่องบินแล้วถูกกว่ากันถึงครึ่ง และจีนก็พยายามไม่ขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟเลยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ผลก็คือกระทบกับธุรกิจการบินพอสมควร ทำให้สายการบินต้องเลิกบริการเส้นทางที่ระยะน้อยกว่า 300 ไมล์ และหันไปจับตลาดการเดินทางไกลเกิน 300 ไมล์ถึง 470 ไมล์แทน

ถึงแม้รถไฟความเร็วสูงในจีนจะมีปัญหาอุบัติเหตุและคอร์รัปชั่น รวมถึงก่อให้เกิดหนี้สาธารณะปริมาณมหาศาล แต่มันก็กลายเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศจีนไปแล้วเช่นกัน การศึกษาของธนาคารโลกระบุว่าจังหวัดต่างๆ ในจีนที่เชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูง (ปัจจุบันมีมากกว่า 100 เมืองแล้ว) มีประสิทธิผลของคนทำงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากพนักงานเดินทางสะดวกขึ้น และลูกค้าเองก็เดินทางสะดวกขึ้นด้วย

การศึกษาของธนาคารโลกพิจารณาประโยชน์ของรถไฟความเร็วสูงหลายประการ เช่น เวลาทำงานที่เพิ่มขึ้นจากการประหยัดเวลาเดินทาง มลภาวะที่ลดลงทั้งทางอากาศและทางเสียง และค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง นอกจากนี้บริษัทต่างๆ เริ่มปรับวิธีการทำธุรกิจ โดยแรงงานฝีมือและมีการศึกษาของจีนใช้วิธีอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งและเสิ่นเจิ้น แล้วนั่งรถไฟความเร็วสูงไปทำงานในเมืองรอบนอกที่ค่าแรงยังถูกเหมาะกับการตั้งโรงงานแทน

ผู้บริหารจากโรงงานเสื้อผ้าในฉางซาระบุว่า เดิมทีเขาเดินทางไปพบปะลูกค้าที่กว่างโจว ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้าของจีนตอนใต้ปีละสองครั้ง แต่เมื่อมีรถไฟความเร็วสูงที่เดินทางสะดวกก็เปลี่ยนเป็นเดินทางแทบทุกเดือน ทำให้เขาปรับตัวตามกระแสแฟชั่นได้เร็วขึ้น ผลคือยอดขายเพิ่มขึ้น 50%

การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของจีนยังทำให้เกิด “เมืองใหม่” ที่เกิดจากการย้ายถิ่นฐานของประชากรที่บ้านเดิมถูกเวนคืนที่เพื่อทำทางรถไฟ-สถานีรถไฟ และการที่สถานีรถไฟความเร็วสูงไปตั้งที่เขตเมืองใหม่บางแห่งก็ช่วยให้เศรษฐกิจของเมืองนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างคือรอบสถานีรถไฟฉางซาในปัจจุบันเต็มไปด้วยการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยที่มีจุดขายเรื่อง “ใกล้สถานี”

จีนยังเตรียมรองรับการขนส่งระบบรางในเมืองมาเป็นอย่างดี โดยก่อสร้าง “รถไฟใต้ดิน” ในเมืองใหญ่หลายแห่งเพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมกับรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมระหว่างเมือง นายกรัฐมนตรีจีน Li Keqiang ยังประกาศจะลงทุนขยายโครงข่ายรถไฟเพิ่มอีก 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี แม้จะเผชิญปัญหาหนี้จากการสร้างรถไฟมาแล้ว 500,000 ล้านดอลลาร์ก็ตาม

บทความต้นฉบับจาก The New York Times

----------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น