--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

2 ล้านล้าน ผ่าน..ไม่ผ่าน แต่รถไฟความเร็วสูงเกิดแน่นอน

ยังเป็นเรื่องที่ต้องลุ้นกันจนนาทีสุดท้ายว่าร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจ กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ของประเทศ (พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท) จะผ่านความเห็นชอบ ของวุฒิสภาหรือเปล่า หลังจากผ่านสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว...

ซึ่งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมของ วุฒิสภาก็ได้รับร่างดังกล่าวในวาระแรกแล้ว ด้วยมติเสียงที่ประชุม 86-41 และงดออกเสียง 8 เสียง

เสียงส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยมองว่า งบประมาณ ดังกล่าวจะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนเสียงไม่เห็นด้วยเป็นห่วงการใช้หนี้คืน ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น และความคุ้มค่าของการลงทุน เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดโครงการอย่างชัดเจน

ขณะที่กลุ่ม 40 ส.ว.เตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงยังมีความเป็นไปทั้ง 2 ทางคือ 1. พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ประกาศใช้ได้จริง หรือ 2.ถูกล้มกระดาน

ว่ากันว่า หากโครงการ 2 ล้านล้านถูกล้มกระดานจะกระทบต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงแน่

แต่ "ประกายดิน" มองอีกมุมว่า หากเกิดเอ็กซิเด้นท์ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน มีปัญหาผ่านไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะไม่เห็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้น

เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นหนึ่งที่อยู่ นอกโครงการงบประมาณ 2 ล้านล้าน คือเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสาย "แพนเอเชีย" ที่จีนเป็นผู้ลงทุน โดยมีต้นทางจากนครคุณหมิง มณฑลยูนนาน และสิ้นสุดระยะทาง ณ ประเทศสิงคโปร์

ปัจจุบันเส้นทางรถไฟในประเทศจีนเริ่มทยอย ก่อสร้างแล้ว ตามแผนของรัฐบาลจีนคือจะเปิดใช้ในปี 2563 ออกจากนครคุนหมิงผ่านชายแดนจีน เข้านครหลวงเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว ทะลุมา ผ่านภาคอีสานของไทยผ่านหนองคาย-ขอนแก่น-กรุงเทพฯ ออกกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย และ เข้าสิงคโปร์ ระยะทางทั้งหมด 3,900 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางเพียง 10 ชั่วโมงเท่านั้น

จึงไม่แปลกที่จะมีข่าวว่ารัฐบาลไทยจะเปิดโครงการบาเตอร์เทรด นำสินค้าเกษตรแลกรถไฟฟ้า

"ประกายดิน" มองว่าหากเป็นการบาเตอร์กันจริงๆ ก็คงเป็นรถไฟสายนี้ เพราะเป็นสายที่จีนเริ่มลงทุนสร้างไปแล้วบางส่วน เมื่อผ่านเข้ามาในประเทศไทยก็อาจจะตกลงว่ารัฐบาลจีนลงทุน 50% อีก 50% เป็นการลงทุนของรัฐบาลไทย ซึ่งรัฐบาลไทยมองว่าแทนที่จะลงทุนเป็นเงินสดก็ใช้การแลกเปลี่ยนสินค้าที่เรามีในสต็อกน่าจะดีกว่า

วิน วิน ทุกฝ่าย

สอดคล้องกับที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิก วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์พิเศษสถานีวิทยุซีอาร์ไอ ภาค ภาษาไทย ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียงของจีนเดินทางมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า สนับสนุนแนวทางการขยาย และพัฒนาเส้นทางรถไฟ แต่รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าในการลงทุนและประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ ซึ่งการใช้เงินกู้ลงทุนจะมีภาระหนี้สินและดอกเบี้ยสูงมาก ดังนั้น ขอเสนอให้เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย-จีน เพื่อ ให้สอดคล้องกับนโยบายของจีนที่ต้องการเชื่อมและเปิดประเทศไปสู่ภูมิภาคได้อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่งที่จะเชื่อมจีน-ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์

หากรัฐบาลไทยต้องการลงทุนในระบบลอจิสติกส์ ก็น่าจะนำเงินงบประมาณไปลงทุนในระบบ รถไฟรางคู่จะเกิดประโยชน์มากกว่า

ขณะที่สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครคุนหมิง ได้รับรายงานจากเว็บไซต์ ยูนนานว่า ชาวยูนนานต่างยินดีกับโครงการ "ข้าวแลกรถไฟฟ้า" ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากจีนได้ให้ความคิดเห็นว่า หากโครงการ "ข้าวแลกรถไฟฟ้า" สามารถปฏิบัติได้จริง จะทำให้โครงการก่อสร้างรถไฟสายแพนเอเชียสำเร็จเร็วยิ่งขึ้น มณฑลยูนนานจะกลาย เป็น "ป้อมหัวสะพาน" นำสินค้าไทยและสินค้าอาเซียนเข้าไปในตลาดยูนนานมากขึ้น และสามารถขยายเข้าไปในมณฑลชั้นในของจีนอีกด้วย ในขณะเดียวกันชาวจีนสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยได้สะดวกและง่ายมากขึ้น

รถไฟสายแพนเอเชีย คุนหมิง-สิงคโปร์ จะเป็นรถไฟสายประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากสายหนึ่ง ที่จะเชื่อมโยงการคมนาคมของกลุ่มประเทศในอาเซียนเข้าด้วยกัน

"ประกายดิน" จึงมองว่า ไม่ว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะประกาศใช้ได้หรือไม่ โครงการรถไฟ ความเร็วสูงจะพาดผ่านประเทศไทยแน่นอน

ที่มา.สยามธุรกิจ
---------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น