--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ไทยเฉยๆ

โดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

สถานการณ์การเมืองร้อนแรงติดตามกันวันต่อวัน ประเด็นเขยิบจากต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยเข้าสู่ประเด็นขับไล่รัฐบาล หลังจากสารพัดนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ประชาชนออกมาชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้วว่า จังหวะนี้พรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์คงพามวลชนจำนวนหนึ่งที่ยังต้องการร่วมอุดมการณ์ของพรรคปักหลักประท้วงต่อ แม้วุฒิสภาจะคว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปแล้ว ท่ามกลางบรรยากาศที่รัฐบาลส่งสัญญาณว่าถอยสุดซอยเช่นกัน ให้หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลลงสัตยาบันโชว์ รวมทั้งถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี

ในทางกฎหมายหากสภาจะหยิบมาเสนอใหม่ ยังต้องรอเวลาให้พ้น 180 วัน นั่นหมายถึงอีก 6 เดือนข้างหน้า

การชุมนุมในประเด็นนี้ต่อ จึงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาว่างด้วยแล้ว...

บอกได้ชัด ๆ ว่า การถอยของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คือการออกมาของพลังประชาชนแน่นอน (ส่วนจะต้านแตกต่างกันในรายละเอียด เรื่องคนโกงกับเรื่องคนตายนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

กระนั้นไม่อาจบอกต่อไปได้อีกว่า การเคลื่อนไหวหลังจากนี้ แม้ตัวร่าง พ.ร.บ.จะกลับไปนอนแน่นิ่งแล้ว จะถูกเคลมว่าเป็นพลังของประชาชนทั้งประเทศได้อีกต่อไปอีก เมื่อสถานการณ์สัปดาห์ที่สองถูกยกระดับมาเป็นการขับไล่รัฐบาลโดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ


ประชาชนส่วนหนึ่งที่ชัดเจนในเรื่องคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขีดเส้นลิมิตตัวเองไว้เพียงประเด็นนี้ ไม่ร่วมขบวนกับประชาธิปัตย์ต่อบนถนนราชดำเนิน

การเมืองของมวลชนไม่น้อยหยุดเท่านี้ เพราะกังวลผลที่ตามมาจะเป็นความขัดแย้งบานปลายของมวลชนขั้วอื่น ๆ ที่นำมาสู่ความรุนแรง บ้างก็เลือกกลับมาเป็น "ไทยเฉย" เมื่อสถานการณ์พัฒนาไปสู่สิ่งที่เรียกว่าการห้ำหั่นของนักการเมือง


ขณะที่ประชาธิปัตย์ยังหล่อเลี้ยงอารมณ์ผู้ชุมนุมให้คุกรุ่น

บรรยากาศห้วงนี้คล้ายคลึงกับช่วงปี 2548 และ 2551 ช่วงที่ผู้คนรวมตัวกันบนถนนส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งขัดแย้งกันในแนวคิดทางการเมือง และดูจะหนักกันไปเรื่อย ๆ พี่น้องคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน คุยกันเรื่องทัศนคติทางการเมืองด้วยกันไม่ได้ วงการบันเทิง หรือแม้กระทั่งนักธุรกิจถูกลากโยง เช่นกรณีคุณตัน ภาสกรนที ก็ต้องมาชี้แจงดับกระแสสังคมของกลุ่มสุดขั้ว


เมื่อสังคมถูกปลุกปั่นให้กลับมาขัดแย้งใหญ่ในแนวคิดกันได้อีก ประชาธิปัตย์ดูจะมีทางเลือกที่ดีก่อนหน้านี้ด้วยการหยุดตั้งแต่ความสำเร็จต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แล้วหันมาเล่นในกติกาของสภา กลับมาใน "โลกสวย" ของกติกา แทนจะเลือกไปยัง "โลกมืด" ที่ขณะนี้ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าประเทศไทยจะไปสู่บทสรุปซอยไหน ยุบสภา ลาออก ล้มทั้งกระดาน หรือนัยทางใดรออยู่


แต่หลายภาคส่วนเริ่มเป็นกังวลและห่วงกับสถานการณ์ข้างหน้า ความน่าห่วงนี้หากประเมินความแรงของม็อบ ด้วยสไตล์ม็อบคนกรุง และประสบการณ์นำม็อบแบบที่อาจเรียกได้ว่าหน่อมแน้มของประชาธิปัตย์ว่าด้วยข้อเสนอยกระดับ หยุดงาน ชะลอจ่ายภาษี ตระเวนไปเป่านกหวีด ซึ่งก็มีอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ 4-5 คน ไปเดินสายเป่านกหวีดไล่รัฐมนตรีบางคน

ผลตอบรับของการประกาศยกระดับ (ยกแรก) ไม่คึกคัก เพราะธรรมชาติของม็อบคนกรุงจะมาร่วมช่วงเย็นจนถึงดึกก็แยกย้าย กลางวันไปทำงาน ทั้งหมดที่ว่ามาดูเหมือนเบา ๆ หรือแม้แต่จะชำเลืองไปดูม็อบใกล้เคียงในพื้นที่แยกผ่านฟ้า-สะพานมัฆวานรังสรรค์ที่มีอดีตแกนนำพันธมิตรอย่าง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ขับเคลื่อนก็มีความเคลื่อนไหวที่เหมือนไม่สลักสำคัญ แต่ก็ดูเหมือนมีท่าที ?

ทั้งหมดทั้งมวลเวลานี้ยังไม่มีสัญญาณที่ม็อบราชดำเนิน-ผ่านฟ้า-มัฆวานฯ จะนำไปสู่อะไร ไม่แม้แต่จะเห็นความรุนแรงแบบเห็นชัด แต่เป็นอาการเบา ๆ เลี้ยงความคุกรุ่นเหมือนสถานการณ์ปี 2548 หรือช่วงปี 2551 (คดียุบ 3 พรรค) ก่อนที่จะกลายเป็นคลื่นใหญ่ในเวลาต่อมา

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น