--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

หอกข้างแคร่อาเซียน 3

มีข้อตกลงในกรอบทวิภาคีอีกเรื่องหนึ่ง ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1995 ตกลงเรื่องความปลอดภัยในการเดินเรือ ในการวิจัยทางทะเล ในเรื่องการช่วยชีวิตและเรื่องการป้องกันสิ่งแวดล้อม และการจัดการเจรจาต่อรองตกลงความขัดแย้งต่อกัน

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงเหล่านี้ ก็หาได้ช่วยให้ความขัดแย้งระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ตกลงกันได้ดีขึ้นแต่อย่างใดไม่ ทำ ให้เห็นกันว่า การทำความตกลงกันในกรอบของพหุภาคีนั้นยังเป็นสิ่งจำเป็นในการทำความตกลงต่อกัน

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1997 นั่นเอง อาเซียนได้มีการตกลงที่จะพิจารณาร่างข้อเสนอของฝ่ายจีน เพื่อตกลงกรอบความร่วมมือทางการเมือง และทางเศรษฐกิจต่อกัน ข้อเสนอดังกล่าวยังรวมเอาเรื่อง "บรรทัดฐานในทางปฏิบัติ" (norms of conduct) ในความสัมพันธ์ต่อกัน และเพื่อให้เป็นแนวทาง (guidelines) สำหรับการตกลงความขัดแย้งต่อกันอย่างสันติ

ข้อที่จะต้องตั้งข้อสังเกตให้ดีก็คือว่า ร่างข้อเสนอดังกล่าว นี้ไม่ได้อ้างถึงการเจรจาตกลงกันในเรื่องอธิปไตยแต่อย่างใด ทางฟิลิปปินส์ได้ส่งร่างข้อเสนอนี้ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน ซึ่งประชุมกันในกรุงมะนิลาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1999

ที่น่าสังเกตอีกก็คือว่า ร่างข้อเสนอนี้ มีลักษณะค่อนข้างเป็นเรื่องการจัดการเกี่ยวกับการขนถ่าย (logistics) สินค้ามากเกินไป และยังมีลักษณะเป็นสนธิสัญญา (Treaty) ใน ขณะที่สมาชิกรัฐอาเซียนต้องการที่จะให้มีรูปแบบที่เป็นแนวทาง (guidelines) มากกว่า เพื่อว่าจะได้สอดคล้องกับแนวทางวิถีอาเซียน (ASEAN WAY) นั่นเอง

ถึงจุดนี้ทำให้เห็นขึ้นมาว่า มีจุดเสี่ยงต่อความลงรอยกันในอาเซียนกับการทำความตกลงกับจีน เริ่มเห็นชัดขึ้น ทางฝ่ายจีนเองดึงดันที่จะให้เจรจากันในกรอบทวิภาคีกับประเทศที่อ้างสิทธิครอบครองหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ และยังดึงดันแข่งขันเอากับมาเลเซียให้หันมายอมรับการเจรจาในกรอบทวิภาคี ที่ว่านี้

แต่เดิมนั้น ตั้งแต่ฟิลิปปินส์อ้างสิทธิครอบครองของตนในทะเลจีนใต้ ก็ไม่ค่อยมีประเทศใดให้ความสนใจนัก จนเมื่อฝ่ายฟิลิปปินส์พบว่า ทางมาเลเซียก่อสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นในเกาะแก่งที่ฟิลิปปินส์อ้างสิทธิครอบครองสองแห่งด้วยกัน เรื่องนี้เกิดตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ.1999 มาแล้ว และนี่เองทำให้ความสัมพันธ์ในระหว่างอาเซียนกันเองเกิดมึนตึงขึ้น

ทางฝ่ายมาเลเซียนั้น ดูเหมือนจะเห็นไปตามแนวทางของจีนในการหาข้อยุติปัญหาความขัดแย้งต่อกันในกรอบการเจรจาทวิภาคี ซึ่งเห็นได้จากการประชุม ARF ที่สิงคโปร์ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1999

เอ้า! มีข้อสังเกตที่น่าคิดไหมเล่าว่า นี่น่าจะเป็นจุดสำคัญลึกๆ หรือไม่ ที่ประธานาธิบดี สี จี้ผิง ของจีนวางกำหนดการเดินทางไปเยี่ยมเยือนมาเลเซียเป็นพิเศษมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ขณะเดียวกันกับที่นายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เคอะ เฉียง เดินทางมาไทยเป็นพิเศษ เพราะไทยได้รับการแต่งตั้งในที่ประชุม สุดยอดเอเชียตะวันออกที่ประชุมกันในกัมพูชา เมื่อพฤศจิกายน ค.ศ.2012 ให้เป็นตัวกลางในเรื่องข้อขัดแย้งในทะเลจีนใต้

รูปการอย่างนี้มีข้อฉุกใจให้คิดกันบ้างไหม ที่มีการออกข่าว เรื่องจีนจะซื้อข้าวจากไทยนั้น เป็นส่วนปลีกย่อยเท่านั้นเอง เราไม่ได้ข่าวเลยไม่ใช่หรือว่า ฝ่ายจีนได้เดินแนวการทูตอย่างไรกับไทย ในกรณีทะเลจีนใต้ ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่จีนน่าจะวางเป้าหมายหนึ่งในการเดินทางมาเยือนรัฐในอาเซียน จีนคงไม่ได้มาไทยเพื่อประกาศ ความช่วยเหลือต่อไทยแต่เรื่องข้าวอย่างเดียวเท่านั้นกระมัง

อาการอันไม่ลงรอยระหว่างรัฐสมาชิกของอาเซียน เกิดขึ้น จากประเด็นนี้มาแต่ปี ค.ศ.1999 ในกรณีความขัดแย้งในเขตทะเลจีนใต้ แต่นั้นแล้ว ทางฟิลิปปินส์รู้สึกว่าฝ่ายมาเลเซียทรยศหักหลังตนและยังรู้สึกผิดหวัง หัวเสีย ที่รัฐสมาชิกของอาเซียนเอง ก็ดูจะวางเฉยกับเรื่องนี้ จึงปล่อยให้จีนหว่านล้อมยอมตามกันไป

แต่การเจรจาระหว่างจีนกับอาเซียนก็ยังคงดำเนินต่อไป จนถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2002 จึงได้มีการลงนามใน "ประกาศกฎจรรยาบรรณในทะเลจีนใต้" (Declaration on a Code of Conduct in the South China Sea) ในที่ประชุมสุดยอดของอาเซียนที่กัมพูชา

ถ้อยคำสำคัญของประกาศกฎจรรยาบรรณนี้ ก็คือการให้ทุกฝ่ายยอมรับดำเนินการหลีกเลี่ยงกระทำการในกิจกรรมใดๆ อันจะนำไปสู่ความซับซ้อน หรือก่อให้เกิดความขัดแย้งยิ่งขึ้น ต่อการเกิดผลกระทบถึงสันติภาพและความมั่นคง รวมทั้งขอให้หลีก เลี่ยงต่อปฏิบัติการนำคนเข้าไปอยู่ในเขตไร้ถิ่นฐานตามหมู่เกาะต่างๆ และลักษณะอื่นใด โดยให้จัดการกับความแตกต่างในลักษณะอันสร้างสรรค์ต่อกัน

ประกาศจรรยาบรรณในทะเลจีนใต้นี้ ไม่ได้กล่าวรวมเอาเรื่องอันเป็นพันธกรณีเฉพาะให้หยุดการก่อสร้างโครงสร้างใหม่ใดๆ ในเขตซึ่งมีความขัดแย้งต่อกัน ทางฟิลิปปินส์นั้นต้องการให้เกิดเป็นพันธกรณีที่รวมเอาเรื่องนี้ไว้ด้วย แต่ก็ถูกฝ่ายจีนปฏิเสธ

ทางฝ่ายเวียดนามนั้น เรียกร้องว่า ข้อเสนอในกฎจรรยาบรรณในทะเลจีนใต้นั้นควรจะประยุกต์ได้กับหมู่เกาะพาราเซล (ซึ่งทางฮานอยอ้างสิทธิครอบครองในตอนนั้น แต่ตอนนี้จีนกลับยึดคืนไปครอบครองแล้ว) จีนไม่ยินยอมต่อข้อเรียกร้องของเวียดนาม ทั้งที่เรื่องน่าจะจบจากการที่ทางฟิลิปปินส์เสนอใหม่ว่า ไม่ให้งดอ้างถึงเขตดินแดนทางภูมิศาสตร์ที่กล่าว ถึงไว้ในประกาศดังกล่าว

เพราะเมื่อยอมรับตามข้อเสนอริเริ่มของฟิลิปปินส์เช่นนี้ ก็จะช่วยให้เวียดนามเรียกร้องเขตที่อ้างสิทธิครอบครองได้ตลอดทั้งทะเลจีนใต้

ต้องเข้าใจว่า ถึงอย่างไรก็ตาม คำประกาศกฎจรรยาบรรณทะเลจีนใต้นี้ไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย (no legally binding) การที่ออกประกาศนี้มาจนได้ถึงขั้นนี้ คงเป็นแต่เพียงเป้าหมายระยะยาวของทุกฝ่ายเท่านั้นเอง จะเห็นว่า การที่มาเลเซียสอดแทรกให้มาตรการชั่วคราวนี้ผ่านพ้นไป แม้ว่าฝ่ายฟิลิปปินส์จะยืนยันอยากให้มีพันธกรณีทางกฎหมายรวมอยู่ด้วยก็ตาม

แม้จะมีเรื่องจุกจิกอยู่อย่างนี้ก็แล้วแต่ ก็น่าจะได้เห็นกันว่าคำประกาศกฎจรรยาบรรณในทะเลจีนใต้ดังกล่าว ทำ ให้จีนค่อยๆ ขับเคลื่อนไปสู่การเจรจาตกลงเรื่องในเขตที่ขัดแย้งกันนั้น ด้วยการเจรจาในกรอบพหุภาคี (ตามคำประกาศ) ในเรื่องความขัดแย้งต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านั้นจีนยืนยันแต่จะเจรจากันกับคู่กรณีขัดแย้ง ในรูปการเจรจากรอบทวิภาคีเท่านั้น

แหมนึกว่าจะจบให้กระจ่างแจ้งกันเสียที กับกรณีความขัดแย้งต่างๆ ในเขตทะเลจีนใต้ แต่เอาไว้เสาร์หน้ามาสรุปกันให้จบไปเลยก็แล้วกันนะครับ นักศึกษาวิชาอาเซียนอย่า ลืมตัดทุกตอนแต่ต้นไว้ศึกษาต่อ เอาไปใช้สอบได้เลย

ที่มา.สยามธุรกิจ
------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น