โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
ประเด็นนิรโทษกรรมมีความเป็นมาอย่างไร ?
ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับที่กำลังถกเถียงกันเริ่มต้นจากฉบับที่นายวรชัย เหมะ ส.ส. พรรคเพื่อไทย และคณะได้เสนอให้นิรโทษกรรม "ประชาชน" ทุกกลุ่มที่กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง ในระยะเวลาที่เริ่มต้นจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาจนถึงการชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 แต่บุคคลดังกล่าวจะต้องไม่มีอำนาจตัดสินใจสั่งการ ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 1 ได้มีมติรับหลักการ กล่าวคือ ให้นำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมต่อไปโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ
ต่อมา คณะกรรมาธิการวิสามัญได้มีมติเสียงข้างมากแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมาย ส่งผลเปลี่ยนแปลงสำคัญสี่ด้าน
1.ด้านคดี ได้ขยายการนิรโทษกรรมให้รวมไปถึงคดีอื่นที่กล่าวหาโดยองค์กรที่จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือองค์กรอื่นที่ดำเนินการต่อเนื่องมา ซึ่งย่อมหมายรวมถึงคดีทุจริตที่ดำเนินการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุม เช่น คดีที่ดินรัชดาฯ และคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
2.ด้านเวลา ได้ขยายช่วงเวลาของการกระทำที่ได้รับการนิรโทษกรรมให้คลุมไปถึง 8 สิงหาคม 2556 ซึ่งย่อมรวมถึงการชุมนุมทางการเมืองของฝ่ายที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารโดยตรง
3.ด้านตัวบุคคล ได้ขยายให้นิรโทษกรรมต่อบุคคลเป็นการทั่วไปไม่ว่าจะเป็นผู้ตัดสินใจสั่งการหรือไม่ ซึ่งย่อมรวมถึงแกนนำผู้ชุมนุม ตลอดจนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายทหารระดับสูง
4.ด้านผลการนิรโทษกรรม ได้กำหนดให้ผลการนิรโทษกรรมต้องดำเนินการตาม "หลักนิติธรรม" อย่างเคร่งครัด อีกทั้งเปิดช่องให้ผู้ได้รับการนิรโทษกรรมบางรายเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ได้ ซึ่งมีบางฝ่ายมองว่ามุ่งหมายถึงกรณีการเรียกทรัพย์สินที่ถูกยึดคืน
ทั้งนี้ การแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด โดยในขั้นต่อไปร่างฉบับคณะกรรมาธิการจะถูกนำไปพิจารณารายมาตราโดยสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 และพิจารณาทั้งฉบับอีกครั้งในวาระที่ 3 ซึ่งหากสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบก็ยังต้องให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป ดังนั้น เนื้อหาการนิรโทษกรรมจึงยังถูกแก้ไขให้กลับมาแคบดังเดิมได้
ฝ่ายหนึ่งอ้าง รัฐธรรมนูญ มาตรา 30 แต่อีกฝ่ายอ้าง มาตรา 309 ?
มีบางฝ่ายอ้าง รัฐธรรมนูญ มาตรา 30 เรื่องความเสมอภาคว่าจำเป็นต้องนิรโทษกรรมทุกคน เพื่อไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ดี หลักความเสมอภาคหมายความว่าผู้ที่อยู่ภายใต้สภาพหรือเงื่อนไขเดียวกันไม่อาจถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เช่น กฎหมายกำหนดอัตราภาษีไว้ต่างกัน ถ้ารวยเท่ากัน ก็จ่ายภาษีเท่ากัน ถ้ารวยเท่ากัน แต่ภาระต่างกันก็หักค่าลดหย่อนได้ต่างกัน เรื่องนิรโทษกรรมก็เช่นกัน คดีทุจริตที่ไม่ได้เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองย่อมอยู่ภายใต้สภาพเงื่อนไขต่างกัน จะนำเรื่องความเสมอภาคมาอ้างมิได้ มิเช่นนั้นก็ต้องนิรโทษกรรมทุกคดีที่อ้างความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งก็ไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน การอ้าง มาตรา 30 จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนอีกฝ่ายที่อ้างว่า หากสุดท้ายรัฐสภาเห็นชอบให้นิรโทษกรรมคดีทุจริตที่กล่าวหาโดย คตส. ได้ด้วย ก็ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ซึ่งบัญญัติว่า บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้
ผู้ที่อ้างเช่นนี้ หากไม่ได้เลื่อมใสในการรัฐประหาร ก็อาจหลงเข้าใจว่า มาตรา 309 สร้างสภาพบังคับทางรัฐธรรมนูญให้คดี คตส. ถูกแตะต้องไม่ได้เว้นแต่โดยการแก้รัฐธรรมนูญ แต่แท้จริงแล้วสาระของ มาตรา 309 เป็นเพียงบทรองรับความต่อเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้สิ่งที่ คตส. ดำเนินการในยามรัฐประหารนั้น "ให้มีผลใช้บังคับต่อไป" ประหนึ่ง คตส. ดำเนินการไปในฐานะ ป.ป.ช. ในยามปกติ ซึ่งเมื่อรัฐสภาตรากฎหมายนิรโทษกรรมคดีที่ ป.ป.ช. ดำเนินการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในยามปกติได้ฉันใด รัฐสภาก็ย่อมมีอำนาจนิรโทษกรรมคดีที่ดำเนินการโดย คตส. ที่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรองรับได้ฉันนั้น ดังนั้น ข้ออ้างเรื่อง มาตรา 309 จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
นิรโทษกรรมคดีทุจริตเท่ากับขัดต่อวาระรับหลักการ ?
แม้การนิรโทษกรรมคดีทุจริตจะไม่ขัดต่อ มาตรา 309 แต่มีปัญหาต่อว่ากฎหมายฉบับนี้ตราขึ้นโดยขัดต่อหลักการที่สภาเคยมีมติรับไว้พิจารณาในวาระที่ 1 และตราขึ้นโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ประเด็นดังกล่าวมิได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง แต่ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 117 ได้กำหนดว่า คณะกรรมาธิการอาจเพิ่มมาตราขึ้นใหม่หรือตัดทอนหรือแก้ไขมาตราเดิมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้น นอกจากนี้ ข้อบังคับการประชุมฯ ข้อ 177 ได้กำหนดต่อว่า ถ้ามีปัญหาที่จะต้องตีความข้อบังคับนี้ให้เป็นอำนาจของสภาที่จะวินิจฉัย และเมื่อที่ประชุมได้ลงมติวินิจฉัยโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกในที่ประชุมเป็นประการใดแล้ว ให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นเด็ดขาด
ดังนั้น หากมีผู้โต้แย้งว่าสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ได้รับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนระดับทั่วไปที่ร่วมชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น แต่คณะกรรมาธิการได้แก้ไขขยายความร่างกฎหมายจนเกินเลยหลักการดังกล่าว ที่ประชุมสภาก็อาจลงมติวินิจฉัยให้เด็ดขาดได้ว่าการแก้ไขที่ขัดต่อหลักการนั้นเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ แม้พรรคเพื่อไทยจะมีเสียงข้างมากที่จะลงมติวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้เด็ดขาดได้ แต่การฝืนกระแสสังคมนั้นอาจมีผลรุนแรงถึงขั้นเป็นการหักหลังประชาชน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่สูญเสียจากการชุมนุม หรือฝ่ายที่เรียกร้องให้ชำระคดีทุจริตโดย คตส. เพื่อเริ่มดำเนินคดีใหม่อย่างเป็นธรรม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อพรรคเพื่อไทยในระยะยาว
ยิ่งไปกว่านั้น หากสุดท้ายมีผู้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าร่างกฎหมายดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ถูกต้อง ก็เป็นไปได้ที่ศาลจะรับไว้ตีความ ถึงแม้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 154 จะให้อำนาจศาลพิจารณาการตรากฎหมายที่ขัดต่อ "บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ" โดยไม่ได้ระบุถึงข้อบังคับการประชุมที่กำหนดให้คำวินิจฉัยของฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นเด็ดขาดก็ตาม แต่หากสุดท้ายศาลรับพิจารณาและวินิจฉัยให้ร่างกฎหมายนี้ตกไป พรรคเพื่อไทยเองก็จะถูกมองว่าเป็นฝ่ายหาเรื่องโดยนำประโยชน์นักการเมืองมาผูกไว้จนทำให้ร่างกฎหมายนี้ตกไปไม่ถึงมือประชาชน
แต่ก็ไม่แน่ หากพรรคเพื่อไทยเดินยุทธศาสตร์อย่างแยบยล ก็อาจใช้โอกาสนี้พิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าสมาชิกพรรคเดียวกันสามารถโต้แย้งกันอย่างเปิดเผยเพื่อดึงร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้กลับมาอยู่ในแนวทางที่ยอมรับโดยประชาชน หรือนายกรัฐมนตรีเองก็อาจใช้โอกาสแสดงท่าทีบางอย่างเพื่อพิสูจน์ภาวะความเป็นผู้นำอย่างแหลมคม ซึ่งนอกจากจะแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยและเพิ่มความชอบธรรมให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลแล้ว ยังจะเป็นการตอกย้ำความแตกต่างของพลวัตทางความคิดภายในสองพรรคใหญ่ได้อีกด้วย
หากไม่นิรโทษกรรมคดี คตส. เท่ากับยอมรับรัฐประหาร ?
พรรคเพื่อไทยได้ยกประเด็นสำคัญว่าการนิรโทษกรรมคดี คตส. นั้น ถือเป็นการปฏิเสธอำนาจรัฐประหาร เพื่อกอบกู้ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ซึ่งความคิดนี้มี "เป้าหมาย" ถูกต้อง แต่ "วิธีการ" ยังมีปัญหา เพราะการนิรโทษกรรมคือการ "ลืม" การทำ โดยถือให้การกระทำนั้นไม่ว่าจะผิดหรือไม่ ก็ถือว่ายุติและไม่มีความผิดเกิดขึ้น คดีและข้อกล่าวหาย่อมจบลงและเริ่มต้นใหม่ไม่ได้ สังคมก็จะไม่รู้ว่านักการเมืองรายใดบริสุทธิ์หรือทุจริต รายใดสังหารหรือดูแลประชาชน ความขัดแย้งก็จะกลับมารุนแรง เป็นวังวนให้เกิดข้ออ้างการรัฐประหารไม่สิ้นสุด และไม่ได้เป็นการ "เซตซีโร่" หรือเริ่มต้นใหม่แต่อย่างใด
กล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือ การนิรโทษกรรมคดีทุจริตเพื่อต่อต้านการรัฐประหารนั้น อาจไม่ใช่กรณี "สุดซอย" หรือ "ทะลุซอย" เสียทีเดียว แต่เป็นกรณี "ผิดซอย" คือมาถูกทิศ แต่เลี้ยวผิดทาง เพราะแม้จะพยายามล้างผลคดี คตส. แต่ก็ไม่เอื้อต่อการตรวจสอบการทุจริต ทั้งที่ทั้งสองประเด็นต่างก็เป็นสาระสำคัญของหลักนิติธรรมทั้งสิ้น จะเลือกอย่างแต่เสียอย่างไม่ได้
สิ่งที่นักการเมืองทุกฝ่ายควรทำในเวลานี้ คือการแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหารและการทุจริตไปพร้อมกัน โดยไม่นำประชาชนไปปนกับนักการเมือง และต้องเริ่มถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ว่าจะจัดการกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ที่หักดิบหลักนิติธรรมและตบหน้าประชาธิปไตยอย่างไรโดยไม่ปล่อยให้ผู้ถูกกล่าวหาว่าทุจริตลอยนวลจากการตรวจสอบ
หากพรรคเพื่อไทยจริงใจที่จะชำระคราบรัฐประหาร และมั่นใจในความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา ก็ไม่ควรนำประเด็น คตส. ไปปนกับประเด็นนิรโทษกรรม แต่ควรนำเสนอแนวทางการแก้ไข รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 เพื่อล้มล้างกระบวนการ คตส. ให้เสียเปล่ามาแต่ต้น และนำผู้ที่เคยถูก คตส. กล่าวหาว่าทุจริต ตลอดจนผู้กระทำการรัฐประหาร กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เริ่มต้นใหม่อย่างถูกต้องในยามปกติ เพื่อ "เซตซีโร่" หรือเริ่มต้นใหม่อย่างแท้จริง
ส่วนหากพรรคประชาธิปัตย์เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และเชื่อว่ามีการทุจริตจริง ก็ไม่ควรสองมาตรฐาน โดยมือข้างหนึ่งยกต้านนิรโทษกรรมนักการเมืองแต่มืออีกข้างกลับยอมแบตาม มาตรา 309 ที่มีผลเลวร้ายยิ่งกว่าการนิรโทษกรรม สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ควรทำ คือ ชิงนำการแก้ไข มาตรา 309 ให้รัดกุม รอบคอบ และเป็นประชาธิปไตย เพื่อพิสูจน์จุดยืนการปฏิรูปพรรคว่าจะต่อสู้เพื่อนำทั้งผู้ทุจริตและผู้รัฐประหารมารับผิดโดยไม่อิงแอบเผด็จการ
มาถึงวันนี้ ทุกฝ่ายควรยอมรับร่วมกันได้แล้วว่า การทุจริตเป็นสิ่งเลวร้าย แต่การทุจริตที่ใหญ่หลวงที่สุดก็คือการรัฐประหาร และการนิรโทษกรรมที่อหังการที่สุดก็คือ มาตรา 309 ทางออกจากวงจรอุบาทว์นี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการปฏิเสธการทุจริตทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตที่กระทำโดยอ้างรัฐธรรมนูญ หรือโดยล้มรัฐธรรมนูญก็ตาม
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////
ประเด็นนิรโทษกรรมมีความเป็นมาอย่างไร ?
ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับที่กำลังถกเถียงกันเริ่มต้นจากฉบับที่นายวรชัย เหมะ ส.ส. พรรคเพื่อไทย และคณะได้เสนอให้นิรโทษกรรม "ประชาชน" ทุกกลุ่มที่กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง ในระยะเวลาที่เริ่มต้นจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาจนถึงการชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 แต่บุคคลดังกล่าวจะต้องไม่มีอำนาจตัดสินใจสั่งการ ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 1 ได้มีมติรับหลักการ กล่าวคือ ให้นำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมต่อไปโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ
ต่อมา คณะกรรมาธิการวิสามัญได้มีมติเสียงข้างมากแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมาย ส่งผลเปลี่ยนแปลงสำคัญสี่ด้าน
1.ด้านคดี ได้ขยายการนิรโทษกรรมให้รวมไปถึงคดีอื่นที่กล่าวหาโดยองค์กรที่จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือองค์กรอื่นที่ดำเนินการต่อเนื่องมา ซึ่งย่อมหมายรวมถึงคดีทุจริตที่ดำเนินการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุม เช่น คดีที่ดินรัชดาฯ และคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
2.ด้านเวลา ได้ขยายช่วงเวลาของการกระทำที่ได้รับการนิรโทษกรรมให้คลุมไปถึง 8 สิงหาคม 2556 ซึ่งย่อมรวมถึงการชุมนุมทางการเมืองของฝ่ายที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารโดยตรง
3.ด้านตัวบุคคล ได้ขยายให้นิรโทษกรรมต่อบุคคลเป็นการทั่วไปไม่ว่าจะเป็นผู้ตัดสินใจสั่งการหรือไม่ ซึ่งย่อมรวมถึงแกนนำผู้ชุมนุม ตลอดจนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายทหารระดับสูง
4.ด้านผลการนิรโทษกรรม ได้กำหนดให้ผลการนิรโทษกรรมต้องดำเนินการตาม "หลักนิติธรรม" อย่างเคร่งครัด อีกทั้งเปิดช่องให้ผู้ได้รับการนิรโทษกรรมบางรายเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ได้ ซึ่งมีบางฝ่ายมองว่ามุ่งหมายถึงกรณีการเรียกทรัพย์สินที่ถูกยึดคืน
ทั้งนี้ การแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด โดยในขั้นต่อไปร่างฉบับคณะกรรมาธิการจะถูกนำไปพิจารณารายมาตราโดยสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 และพิจารณาทั้งฉบับอีกครั้งในวาระที่ 3 ซึ่งหากสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบก็ยังต้องให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป ดังนั้น เนื้อหาการนิรโทษกรรมจึงยังถูกแก้ไขให้กลับมาแคบดังเดิมได้
ฝ่ายหนึ่งอ้าง รัฐธรรมนูญ มาตรา 30 แต่อีกฝ่ายอ้าง มาตรา 309 ?
มีบางฝ่ายอ้าง รัฐธรรมนูญ มาตรา 30 เรื่องความเสมอภาคว่าจำเป็นต้องนิรโทษกรรมทุกคน เพื่อไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ดี หลักความเสมอภาคหมายความว่าผู้ที่อยู่ภายใต้สภาพหรือเงื่อนไขเดียวกันไม่อาจถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เช่น กฎหมายกำหนดอัตราภาษีไว้ต่างกัน ถ้ารวยเท่ากัน ก็จ่ายภาษีเท่ากัน ถ้ารวยเท่ากัน แต่ภาระต่างกันก็หักค่าลดหย่อนได้ต่างกัน เรื่องนิรโทษกรรมก็เช่นกัน คดีทุจริตที่ไม่ได้เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองย่อมอยู่ภายใต้สภาพเงื่อนไขต่างกัน จะนำเรื่องความเสมอภาคมาอ้างมิได้ มิเช่นนั้นก็ต้องนิรโทษกรรมทุกคดีที่อ้างความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งก็ไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน การอ้าง มาตรา 30 จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนอีกฝ่ายที่อ้างว่า หากสุดท้ายรัฐสภาเห็นชอบให้นิรโทษกรรมคดีทุจริตที่กล่าวหาโดย คตส. ได้ด้วย ก็ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ซึ่งบัญญัติว่า บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้
ผู้ที่อ้างเช่นนี้ หากไม่ได้เลื่อมใสในการรัฐประหาร ก็อาจหลงเข้าใจว่า มาตรา 309 สร้างสภาพบังคับทางรัฐธรรมนูญให้คดี คตส. ถูกแตะต้องไม่ได้เว้นแต่โดยการแก้รัฐธรรมนูญ แต่แท้จริงแล้วสาระของ มาตรา 309 เป็นเพียงบทรองรับความต่อเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้สิ่งที่ คตส. ดำเนินการในยามรัฐประหารนั้น "ให้มีผลใช้บังคับต่อไป" ประหนึ่ง คตส. ดำเนินการไปในฐานะ ป.ป.ช. ในยามปกติ ซึ่งเมื่อรัฐสภาตรากฎหมายนิรโทษกรรมคดีที่ ป.ป.ช. ดำเนินการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในยามปกติได้ฉันใด รัฐสภาก็ย่อมมีอำนาจนิรโทษกรรมคดีที่ดำเนินการโดย คตส. ที่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรองรับได้ฉันนั้น ดังนั้น ข้ออ้างเรื่อง มาตรา 309 จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
นิรโทษกรรมคดีทุจริตเท่ากับขัดต่อวาระรับหลักการ ?
แม้การนิรโทษกรรมคดีทุจริตจะไม่ขัดต่อ มาตรา 309 แต่มีปัญหาต่อว่ากฎหมายฉบับนี้ตราขึ้นโดยขัดต่อหลักการที่สภาเคยมีมติรับไว้พิจารณาในวาระที่ 1 และตราขึ้นโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ประเด็นดังกล่าวมิได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง แต่ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 117 ได้กำหนดว่า คณะกรรมาธิการอาจเพิ่มมาตราขึ้นใหม่หรือตัดทอนหรือแก้ไขมาตราเดิมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้น นอกจากนี้ ข้อบังคับการประชุมฯ ข้อ 177 ได้กำหนดต่อว่า ถ้ามีปัญหาที่จะต้องตีความข้อบังคับนี้ให้เป็นอำนาจของสภาที่จะวินิจฉัย และเมื่อที่ประชุมได้ลงมติวินิจฉัยโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกในที่ประชุมเป็นประการใดแล้ว ให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นเด็ดขาด
ดังนั้น หากมีผู้โต้แย้งว่าสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ได้รับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนระดับทั่วไปที่ร่วมชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น แต่คณะกรรมาธิการได้แก้ไขขยายความร่างกฎหมายจนเกินเลยหลักการดังกล่าว ที่ประชุมสภาก็อาจลงมติวินิจฉัยให้เด็ดขาดได้ว่าการแก้ไขที่ขัดต่อหลักการนั้นเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ แม้พรรคเพื่อไทยจะมีเสียงข้างมากที่จะลงมติวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้เด็ดขาดได้ แต่การฝืนกระแสสังคมนั้นอาจมีผลรุนแรงถึงขั้นเป็นการหักหลังประชาชน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่สูญเสียจากการชุมนุม หรือฝ่ายที่เรียกร้องให้ชำระคดีทุจริตโดย คตส. เพื่อเริ่มดำเนินคดีใหม่อย่างเป็นธรรม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อพรรคเพื่อไทยในระยะยาว
ยิ่งไปกว่านั้น หากสุดท้ายมีผู้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าร่างกฎหมายดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ถูกต้อง ก็เป็นไปได้ที่ศาลจะรับไว้ตีความ ถึงแม้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 154 จะให้อำนาจศาลพิจารณาการตรากฎหมายที่ขัดต่อ "บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ" โดยไม่ได้ระบุถึงข้อบังคับการประชุมที่กำหนดให้คำวินิจฉัยของฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นเด็ดขาดก็ตาม แต่หากสุดท้ายศาลรับพิจารณาและวินิจฉัยให้ร่างกฎหมายนี้ตกไป พรรคเพื่อไทยเองก็จะถูกมองว่าเป็นฝ่ายหาเรื่องโดยนำประโยชน์นักการเมืองมาผูกไว้จนทำให้ร่างกฎหมายนี้ตกไปไม่ถึงมือประชาชน
แต่ก็ไม่แน่ หากพรรคเพื่อไทยเดินยุทธศาสตร์อย่างแยบยล ก็อาจใช้โอกาสนี้พิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าสมาชิกพรรคเดียวกันสามารถโต้แย้งกันอย่างเปิดเผยเพื่อดึงร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้กลับมาอยู่ในแนวทางที่ยอมรับโดยประชาชน หรือนายกรัฐมนตรีเองก็อาจใช้โอกาสแสดงท่าทีบางอย่างเพื่อพิสูจน์ภาวะความเป็นผู้นำอย่างแหลมคม ซึ่งนอกจากจะแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยและเพิ่มความชอบธรรมให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลแล้ว ยังจะเป็นการตอกย้ำความแตกต่างของพลวัตทางความคิดภายในสองพรรคใหญ่ได้อีกด้วย
หากไม่นิรโทษกรรมคดี คตส. เท่ากับยอมรับรัฐประหาร ?
พรรคเพื่อไทยได้ยกประเด็นสำคัญว่าการนิรโทษกรรมคดี คตส. นั้น ถือเป็นการปฏิเสธอำนาจรัฐประหาร เพื่อกอบกู้ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ซึ่งความคิดนี้มี "เป้าหมาย" ถูกต้อง แต่ "วิธีการ" ยังมีปัญหา เพราะการนิรโทษกรรมคือการ "ลืม" การทำ โดยถือให้การกระทำนั้นไม่ว่าจะผิดหรือไม่ ก็ถือว่ายุติและไม่มีความผิดเกิดขึ้น คดีและข้อกล่าวหาย่อมจบลงและเริ่มต้นใหม่ไม่ได้ สังคมก็จะไม่รู้ว่านักการเมืองรายใดบริสุทธิ์หรือทุจริต รายใดสังหารหรือดูแลประชาชน ความขัดแย้งก็จะกลับมารุนแรง เป็นวังวนให้เกิดข้ออ้างการรัฐประหารไม่สิ้นสุด และไม่ได้เป็นการ "เซตซีโร่" หรือเริ่มต้นใหม่แต่อย่างใด
กล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือ การนิรโทษกรรมคดีทุจริตเพื่อต่อต้านการรัฐประหารนั้น อาจไม่ใช่กรณี "สุดซอย" หรือ "ทะลุซอย" เสียทีเดียว แต่เป็นกรณี "ผิดซอย" คือมาถูกทิศ แต่เลี้ยวผิดทาง เพราะแม้จะพยายามล้างผลคดี คตส. แต่ก็ไม่เอื้อต่อการตรวจสอบการทุจริต ทั้งที่ทั้งสองประเด็นต่างก็เป็นสาระสำคัญของหลักนิติธรรมทั้งสิ้น จะเลือกอย่างแต่เสียอย่างไม่ได้
สิ่งที่นักการเมืองทุกฝ่ายควรทำในเวลานี้ คือการแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหารและการทุจริตไปพร้อมกัน โดยไม่นำประชาชนไปปนกับนักการเมือง และต้องเริ่มถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ว่าจะจัดการกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ที่หักดิบหลักนิติธรรมและตบหน้าประชาธิปไตยอย่างไรโดยไม่ปล่อยให้ผู้ถูกกล่าวหาว่าทุจริตลอยนวลจากการตรวจสอบ
หากพรรคเพื่อไทยจริงใจที่จะชำระคราบรัฐประหาร และมั่นใจในความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา ก็ไม่ควรนำประเด็น คตส. ไปปนกับประเด็นนิรโทษกรรม แต่ควรนำเสนอแนวทางการแก้ไข รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 เพื่อล้มล้างกระบวนการ คตส. ให้เสียเปล่ามาแต่ต้น และนำผู้ที่เคยถูก คตส. กล่าวหาว่าทุจริต ตลอดจนผู้กระทำการรัฐประหาร กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เริ่มต้นใหม่อย่างถูกต้องในยามปกติ เพื่อ "เซตซีโร่" หรือเริ่มต้นใหม่อย่างแท้จริง
ส่วนหากพรรคประชาธิปัตย์เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และเชื่อว่ามีการทุจริตจริง ก็ไม่ควรสองมาตรฐาน โดยมือข้างหนึ่งยกต้านนิรโทษกรรมนักการเมืองแต่มืออีกข้างกลับยอมแบตาม มาตรา 309 ที่มีผลเลวร้ายยิ่งกว่าการนิรโทษกรรม สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ควรทำ คือ ชิงนำการแก้ไข มาตรา 309 ให้รัดกุม รอบคอบ และเป็นประชาธิปไตย เพื่อพิสูจน์จุดยืนการปฏิรูปพรรคว่าจะต่อสู้เพื่อนำทั้งผู้ทุจริตและผู้รัฐประหารมารับผิดโดยไม่อิงแอบเผด็จการ
มาถึงวันนี้ ทุกฝ่ายควรยอมรับร่วมกันได้แล้วว่า การทุจริตเป็นสิ่งเลวร้าย แต่การทุจริตที่ใหญ่หลวงที่สุดก็คือการรัฐประหาร และการนิรโทษกรรมที่อหังการที่สุดก็คือ มาตรา 309 ทางออกจากวงจรอุบาทว์นี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการปฏิเสธการทุจริตทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตที่กระทำโดยอ้างรัฐธรรมนูญ หรือโดยล้มรัฐธรรมนูญก็ตาม
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น