--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ปฏิรูปรถไฟไทย กับการสร้างภาพ !!?

โดย สร อักษรสกุล

บ้านเราเดี๋ยวนี้หากมีผู้ใหญ่สนใจในงานที่ตนรับผิดชอบ และลงพื้นที่เพื่อจะได้เห็นและสัมผัสด้วยตนเองแล้ว ก็มักจะถูกฝ่ายตรงข้ามหรือคนที่ไม่ชอบหาว่าสร้างภาพ แต่ถ้าสั่งการอยู่แต่ในสำนักงานหรือนั่งอยู่ในกระทรวงไม่ลงพื้นที่ ก็จะถูกหาว่าอยู่บนหอคอยงาช้างบ้าง ตีนไม่ติดดินบ้างเรียกว่าโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง อย่างไรก็ตาม ยอมให้ถูกกระแนะกระแหนว่า สร้างภาพ แต่ได้เห็นได้สัมผัสข้อเท็จจริงด้วยตาตนเอง และนำมาเป็นข้อมูลในการทำงานหรือสั่งการให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการนั้น ย่อมดีกว่านั่งอยู่ในหอคอยงาช้างเป็นแน่

ผู้เขียนกำลังจะพูดถึง "รถไฟไทย" หรือ ร.ฟ.ท. กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนปัจจุบัน คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าคุณชัชชาติเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่กี่คนที่สนใจกิจการรถไฟไทยส่วนจะปรับปรุงและพัฒนาได้จริงหรือไม่นั้น ต้องคอยดูกันต่อไป

คุณสมัคร สุนทรเวช ที่ล่วงลับไปแล้วก็เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และชอบเดินทางโดยรถไฟเช่นกัน แต่คุณสมัครเป็นคนที่สังคมรู้จักเป็นอย่างดี เพราะเป็นนักการเมืองที่พูดเก่ง (บางคนว่าพูดมาก) รวมทั้งมีหน้าตา (จมูก) เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ไปไหน ๆ คนจึงมักจำได้ ผิดกับคุณชัชชาติที่เพิ่งเข้ามาเป็นรัฐมนตรีได้เพียงปีสองปี และก่อนหน้านั้นก็ไม่ค่อยมีคนรู้จักเพราะความที่เป็นเพียงอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย การเดินทางไปไหนมาไหนจึงมีคนที่ยังไม่รู้จักคุณชัชชาติมาก นั่นเป็นข้อดีที่จะเดินทางไปไหน ๆ เพื่อให้รู้ด้วยตาของตนเองโดยไม่มีคนมาสนใจมากนัก




ทำให้ได้รู้ว่าคนที่ยากจน คนที่หาเช้ากินค่ำและอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯนั้น ทุกข์ยากแค่ไหนในการเดินทางด้วยรถเมล์ของ ขสมก. เพราะทั้งช้า (เพราะต้องรอนาน) ทั้งเร็ว (เพราะคนขับที่ขับอย่างเมามัน-ไม่ได้หมายความว่าเมาแล้วขับ) อากาศร้อน และยังเสี่ยงกับอุบัติเหตุที่มักจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ ด้วยกี่ปี กี่รัฐบาล กี่ผู้อำนวยการ ขสมก.มาแล้ว รถเมล์กรุงเทพฯก็อีหรอบเดิมทั้งสิ้น และมักจะอ้างว่าเพราะรถเมล์เก่าบ้างล่ะ ขาดงบประมาณในการซ่อมแซมบ้างล่ะ มากมายที่ผู้อำนวยการ ขสมก.แต่ละคนจะหาเหตุมาอ้างกัน ยังไม่เคยเห็น ผอ.ขสมก.คนไหนจะกล่าวโทษตัวเองบ้างเลยว่า เพราะฝีมือในการบริหารจัดการยังไม่ดีพอ

กิจการรถไฟไทย หรือ ร.ฟ.ท.ก็เช่นกัน กี่ปี กี่ปี และกี่ผู้ว่าการรถไฟฯมาแล้วไม่เคยจะดีขึ้น และก็มักอ้างเช่นเดียวกับรถเมล์ คือ ขาดงบประมาณที่จะนำมาพัฒนาและปรับปรุง

ผู้เขียนเองเป็นคนหนึ่งที่ชอบเดินทางด้วยรถไฟ เพราะต้องเดินทางระหว่างกรุงเทพฯและเชียงใหม่บ่อย ๆ ระยะหลังมานี้จะลดการใช้บริการรถไฟลงเพราะสาเหตุ 2 ประการ

ประการแรก เพราะข่าวที่รถไฟเกิดอุบัติเหตุบ่อย โดยเฉพาะ รถไฟสายด่วนนครพิงค์ ที่ถือว่าเป็นขบวนที่ดีที่สุดของการรถไฟไทย มีนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมใช้บริการกันมาก แต่กลับตกรางบ่อย

ประการที่สอง เครื่องบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ที่มีราคาค่าโดยสารไม่แพงนัก จึงมีทางเลือกเพียงแต่ต้องควักกระเป๋ามากขึ้นกว่านั่งรถไฟอีก 2 เท่า

แต่การเดินทางใช้เวลาเพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้น ผิดกับรถไฟใช้เวลามากกว่าถึง 12 ชั่วโมง (รถไฟไทยชอบแถมเวลาให้แก่ผู้โดยสารเสมอ ๆ เช่น ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ถึง 14 ชั่วโมง) หลายคนคงทราบแล้วว่า ไทยกับญี่ปุ่นนั้นเป็น 2 ชาติแรกในเอเชียที่มีกิจการรถไฟ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงริเริ่มให้มีกิจการรถไฟแบบชาติตะวันตกมาเมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับสมัยของจักรพรรดิเมจิ (Meiji) ของญี่ปุ่น (กษัตริย์ 2 พระองค์นี้ขึ้นครองราชย์ในเวลาใกล้เคียงกันด้วย)

รถไฟญี่ปุ่นกับรถไฟไทยค่อย ๆ พัฒนามาเป็นลำดับแบบช้า ๆ จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นเริ่มพัฒนากิจการรถไฟอย่างมาก จนกระทั่งในปี 2507 หรือเมื่อเกือบ

50 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นสามารถพัฒนารถไฟเป็น รถไฟความเร็วสูง ชาติแรกของโลก ที่เรียกว่า รถไฟหัวกระสุน (Bullet Train) หรือชินคันเซน ที่วิ่งด้วยความเร็วกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับจากคนญี่ปุ่น เพราะรถไฟนอกจากจะปลอดภัยที่สุดแล้ว ยังสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากที่สุดด้วย การสร้างมลพิษทางอากาศ (Air Pollution) เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก็น้อยที่สุดหากเปรียบเทียบกับยานพาหนะอื่น ๆ

ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน หลายประเทศต่างพัฒนากิจการรถไฟกันมากขึ้น เพราะหากคิดระยะยาวแล้วคุ้มค่าที่สุด สิงคโปร์และมาเลเซียมีรถไฟหลังประเทศไทยนานมาก รวมทั้ง 2 ชาตินี้เคยมาดูกิจการรถไฟไทย แต่ปัจจุบันรถไฟของทั้ง 2 ชาติเพื่อนบ้านของเรานี้ กิจการรถไฟของเขานำหน้าประเทศไทยไปหมดแล้ว

สมเด็จพระปิยมหาราช ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ผู้ทรงริเริ่มให้มีรถไฟไทยเมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมา คงจะโทมนัสเป็นอย่างยิ่งหากพระองค์ทรงทราบว่ารถไฟไทยยังพัฒนาไปไม่ถึงไหน

ยังคงเป็นรถไฟวิ่งทางเดียวที่ต้องรอเวลาในการสับหลีกมาก ยังคงเป็นรถไฟที่ยังใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนหัวรถจักร ในขณะที่รถไฟของหลายประเทศหันมาใช้ไฟฟ้าเป็นพลังขับเคลื่อนกันนานแล้ว นอกจากนั้นรถไฟไทยยังคงใช้ห้องน้ำที่ผู้โดยสารไม่สามารถใช้ได้ ไม่ว่าจะหนักหรือเบา เมื่อรถไฟจอดที่สถานีระหว่างทางเพราะปัสสาวะและอุจจาระจะลงไปแน่นิ่งที่ขอนรองรถไฟใต้ตู้รถไฟนั่นเอง

เรื่องนี้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเคยโวยวายมาครั้งหนึ่งนานมาแล้วว่า เป็นห้องส้วมที่แย่ที่สุด ขาดความรับผิดชอบที่สุด ไม่ถูกสุขอนามัยที่สุด แต่ไม่นานเรื่องก็เงียบไป ส้วมบนรถไฟก็ยังคงมีสภาพเหมือนเดิม คือถ่ายลงบนรางรถไฟเช่นเดิม

การที่คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หันมาเอาจริงเอาจังกับเรื่องการพัฒนาและปรับปรุงกิจการของรถไฟไทยนั้น ผมว่าจะเป็นสิ่งที่ดีของทั้งประเทศไทยและคนไทยทั้งชาติ

เงิน 2 ล้านล้านบาทที่กระทรวงการคลังกำลังจะกู้นั้น อยากให้นำมาปรับปรุงทั้งหัวรถจักร ตัวรถไฟ (โบกี้) หมอนรองรางรถไฟที่ชำรุดมาก เพิ่มทางคู่ (เทียบขนานกับทางรถไฟเดิม โดยเริ่มจากเส้นทางที่สำคัญ ๆ ก่อน) และดำเนินการสร้างรถไฟสายต่าง ๆ ในกรุงเทพฯที่กำลังดำเนินการอยู่ทั้ง 10 สาย เพื่อแก้ปัญหาจากการจราจรแบบยั่งยืน (การสร้างถนนโดยเฉพาะถนนในกรุงเทพฯนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหารถติดอย่างยั่งยืนได้ เพราะจำนวนรถยนต์มากกว่าถนนที่จะรองรับได้กว่า 2 เท่า)

งบประมาณ 7 แสน 8 หมื่นกว่าล้านบาทจาก 2 ล้านล้านบาทที่กระทรวงคมนาคมจะนำมาทำรถไฟความเร็วสูง 4 สาย คือ สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ สายกรุงเทพฯ-หนองคาย สายกรุงเทพฯ-หัวหิน และขยายเส้นทางแอร์พอร์ตลิงก์จากสนามบินสุวรรณภูมิไปพัทยา-ระยองนั้น เส้นที่ไม่คุ้มค่าที่สุดในทางเศรษฐศาสตร์ คือ สายกรุงเทพฯ-หัวหิน (ผลจากการศึกษา หากจะให้คุ้มค่าจะต้องวิ่งไปถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี)

ด้วยเหตุและผลดังกล่าว กระทรวงคมนาคมจึงน่าจะรีบดำเนินการปรับปรุงรถไฟเดิมทั้งหมดก่อนทั้งหัวรถจักร ตัวรถ (โบกี้) และที่สำคัญการทำทางคู่ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะคนไทยทุกระดับสามารถใช้บริการรถไฟเหล่านี้ได้ไม่ว่าจะเป็นรถชั้น 3 รถไฟชั้น 2 (ชั้น 2 แอร์ สายด่วนนครพิงค์ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมใช้บริการกันมาก)

หากคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนปัจจุบัน สามารถดำเนินการปฏิรูปรถไฟไทยในครั้งนี้ได้ จะถือเป็นประโยชน์ต่อกิจการรถไฟไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญเราน่าจะสามารถลดการนำเข้าน้ำมันดิบที่ซื้อเข้ามากลั่นและบริโภคภายในประเทศได้อย่างมหาศาล
และเรื่องที่ใครเขาหาว่า "สร้างภาพ" จะหายไปเองเมื่อได้ทำจริงและรวดเร็ว

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น