--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

2 ล้านล้าน บูม ภาคเหนือ มองเศรษฐกิจ 17 จังหวัด ทะลุการค้า 4 ประเทศ !!?

"ภาคเหนือ" อาณาเขตใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทย มีพื้นที่ 93,691 ตร.กม. พรมแดนติดประเทศเมียนมาร์กับ สปป.ลาว ทำให้ตะเข็บชายแดนคึกคักจาก 4 ประตูการค้าสำคัญ "แม่สอด-แม่สาย-เชียงของ-เชียงแสน"

ยิ่งถ้าเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีในปี 2558 ประเมินว่าการค้าขายยิ่งจะบูมทวีคูณ ปัจจุบันมีประชากรอยู่ที่ 12,176,000 คน รายได้ต่อหัว 68,015 บาท/คน และผลิตภัณฑ์มวลรวมภูมิภาคอยู่ที่ 828,151 ล้านบาท

ถมลงทุน 5 แสนล้าน


ใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ภาคเหนือได้รับจัดสรรการลงทุนกว่า 567,997 ล้านบาท ครอบคลุมทางราง ถนน และสถานีขนส่งสินค้า กระจายไปใน 17 จังหวัดคือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานีโดยมีเมืองศูนย์กลาง 3 แห่งที่เชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก และ 7 เมืองเศรษฐกิจคู่ขนานคือ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร เพชรบูรณ์

ปี57 ลุ้นประมูลทางคู่ 2 สาย

ในด้าน "ระบบราง" โครงการหลัก ๆ มี "รถไฟทางคู่ 3 สาย" ระยะทางรวม 759 กิโลเมตรที่สร้างคู่ไปกับเส้นทางสายเหนือ ต่อเชื่อมจาก "ลพบุรี-ปากน้ำโพ" 148 กิโลเมตร วงเงิน 24,842 ล้านบาท เริ่มประมูลในปี 2557 และจาก "ปากน้ำโพ-เด่นชัย" 285 กิโลเมตร 30,070 ล้านบาท เริ่มประมูลปี 2559

ขณะที่สายใหม่ "เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ" จะเปิดพื้นที่ใหม่ 4 จังหวัดคือ เชียงราย แพร่ ลำปาง พะเยา 326 กิโลเมตร วงเงิน 77,485 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มประมูล

ในปี 2557 มี 26 สถานี อาทิ สถานีเด่นชัย งาว ปงเตา มหาวิทยาลัยพะเยา ป่าแดด ฯลฯ ก่อสร้างบนแนวเขตทาง 50 เมตร เวนคืนที่ดิน 10,000 ไร่

ไฮสปีดเทรนฟู่ฟ่า

สำหรับ "รถไฟความเร็วสูง" ของสายเหนือจาก "กรุงเทพฯ-เชียงใหม่" 745 กิโลเมตร วงเงิน 387,821 ล้านบาท แบ่งก่อสร้าง 2 เฟส ในเฟสแรก "กรุงเทพฯ-พิษณุโลก" 382 กิโลเมตร เตรียมเปิดประมูลไตรมาส 3/2557 วงเงินค่าก่อสร้าง 193,206 ล้านบาท

ส่วนช่วง "พิษณุโลก-เชียงใหม่" มีการปรับแนวใหม่เนื่องจากตัดผ่านเขาหลายแห่งตั้งแต่ จ.อุตรดิตถ์เป็นต้นไป โดยที่ปรึกษาเสนอให้เบี่ยงมาทาง จ.สุโขทัย

แนวเส้นทางคู่ขนานไปกับทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-สุโขทัย) เข้าสู่ถนนสาย 101 ผ่าน อ.ศรีสำโรง ไปบรรจบกับทางรถไฟสายเดิม จ.ลำปาง เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาช่วงระหว่างเขาขุนตาล-เขาผาเมือง ตัดเข้าลำพูน สิ้นสุดที่เชียงใหม่ มี 5 สถานีคือ "สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่" จะทำให้ระยะทางสั้นลงจากเดิม 745 กม.เหลือ 669 กม.

เร่งสร้างถนนเชื่อมเออีซี

ด้าน "ถนน" มีโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ 4 โครงการ ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ พะเยา เชียงราย ตาก ได้แก่ ถนนเลี่ยงเมืองแม่สอด รวมสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 วงเงิน 1,750 ล้านบาท, ถนน 1021 สายดอกคำใต้-เทิง ตอน 1-2 วงเงิน 4,350 ล้านบาท และสาย 1020 สายเชียงราย-เชียงของ ตอน 4 วงเงิน 720 ล้านบาท

นอกจากนี้มี "ถนน 4 เลน" 10 โครงการ ใน 8 จังหวัด อาทิ สาย 12 หล่มสัก-น้ำหนาว ตอน 2 วงเงิน 1,960 ล้านบาท, สาย 101 สุโขทัย-สวรรคโลก 1,400 ล้านบาท, สาย 118 เชียงใหม่-เชียงราย ตอน 1-4 วงเงิน 4,450 ล้านบาท, สาย 12 ตาก-แม่สอด ตอน 3-4 วงเงิน 2,400 ล้านบาท เป็นต้น

อีกทั้งมีโครงการ "บูรณะทางสายหลักระหว่างภาค" อีก 24 โครงการใน 9 จังหวัด วงเงิน 10,950 ล้านบาท อาทิ ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ช่วงเถิน-ลำปาง วงเงิน 900 ล้านบาท, ช่วงลำปาง-งาว วงเงิน 1,350 ล้านบาท, ช่วงแม่คำ-แม่สายตอน 1-2 วงเงิน 136 ล้านบาท, ช่วงตาก-พะเยา ตอน 1-2 วงเงิน 1,681 ล้านบาท, ช่วงนครสวรรค์-ตาก ตอน 1-2 วงเงิน 2,850 ล้านบาท ฯลฯ

ผุดโครงข่ายเชื่อมท่"เรือ-ด่านก"รค้า

นอกจากนี้มี "ถนนเชื่อมต่อด่านการค้า" เชื่อมโยงระหว่างไทย-ลาว-จีน โดยก่อสร้างถนน 2-4 ช่องจราจร เชื่อมต่อท่าเทียบเรือเชียงแสน จ.เชียงราย 3 โครงการ วงเงิน 2,773 ล้านบาท มีถนนสายแยกทางหลวง 1098-แยกถนนหมายเลข 1 วงเงิน 1,788 ล้านบาท, ถนนสายเชื่อมวงแหวนตะวันตก 176 ล้านบาท กับถนนสาย 4049-บ้านดอนงาน 808 ล้านบาท

ส่วนที่เหลือเป็นสะพานและอุโมงค์ข้ามทางรถไฟที่ จ.อุตรดิตถ์ รวมถึงสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ ที่ อ.เวียง จ.เชียงราย รองรับกับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) เพื่อขนส่งสินค้าผ่านชายแดนไทย-ลาว ในทางยุทธศาสตร์จะเป็นเส้นทางเศรษฐกิจใหม่เชื่อมโยงแนวเหนือ-ใต้ (Noth-South Corridor) รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าจากประเทศจีน อินเดีย ตะวันออกลาง แอฟริกาและยุโรป

สุดท้าย "สถานีขนส่งสินค้า" 5 แห่งในพื้นที่เมืองชายแดนและเมืองหลัก ได้แก่ เชียงราย ตาก เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ทั้งภายในและระหว่างประเทศให้มีความต่อเนื่องกันมากยิ่งขึ้น

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น