โดย. วีรพงษ์ รามางกูร
ขณะที่วิกฤตทางการเมืองอันเกิดจากการขัดแย้งทางการเมืองอย่างที่เป็นอยู่นี้ น่าจะเป็นการขัดแย้งเชิงโครงสร้างระหว่างผู้คนในเมืองที่มีฐานะกับคนในชนบทที่มีฐานะดีขึ้นมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ความรวดเร็วในการสื่อสารหลายรูปแบบจากการปฏิวัติเทคโนโลยี รับรู้และตระหนักในสิทธิและหน้าที่ของตน ได้ข้อมูลข่าวสารเช่นเดียวกัน เวลาเดียวกันกับคนในเมือง รับรู้ว่าการแตกแยกในเรื่องการเมืองดำรงอยู่เป็นเวลานานแล้ว
การมีประสบการณ์กับระบอบการปกครองที่ตนสามารถใช้ประโยชน์ได้ ดึงทรัพยากรเข้ามาสู่ท้องถิ่นของตนได้ นักการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเข้าถึงตน และนำความต้องการของตนแปลกลับมาเป็นงบประมาณ เป็นโครงการ โครงสร้างการพัฒนาที่จับต้องได้
นักการเมืองและพรรคการเมืองต่างจึงต้องมีความใกล้ชิด ต้องลงมาสัมผัสกับประชาชน คอยปกป้องดูแลจากการปฏิบัติของข้าราชการในท้องถิ่น
นอกจากนั้น ยังเป็นการดำรงอยู่ซึ่งระบอบอุปถัมภ์ ที่อาจจะฝากลูกเข้าโรงเรียน ฝากลูกเข้าทำงาน คอยวิ่งเต้นช่วยเหลือในเรื่่องต่างๆ เป็นสิ่งที่คนในต่างจังหวัดต้องการ คนในภาคอีสาน ภาคเหนือ หรือแม้แต่ภาคกลางและภาคตะวันออก รวมทั้งภาคใต้ และภาคอื่นๆ
ผู้แทนราษฎรหรือพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งในท้องถิ่นนอกเมือง จึงมีลักษณะดังกล่าว ความรู้สึกที่ว่าควรจะเลือกพรรคมากกว่าเลือกบุคคลในระยะหลัง ก็เพราะการเลือกพรรคสามารถทำให้พรรคที่ตนเลือกสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ดีกว่าบุคคลที่ไม่อาจจะหวังว่าจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
ในระยะหลังประชาชนในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง สามารถเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่ตนจะเลือก เปลี่ยนตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ด้วย หากสมาชิกสภาผู้แทนในเขตของตนไม่สามารถทำหน้าที่สนองความต้องการของตน ตามที่ตนคาดหวังได้
ต่างกับพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสภาท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล หรือแม้แต่เทศบาล ชาวบ้านจะไม่นิยมผู้สมัครจากพรรคการเมืองใหญ่ระดับชาติ กลับจะเลือกบุคคลหรือพรรคการเมืองท้องถิ่นที่มีผลงาน เพราะไม่ใช่การเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าไปจัดตั้งรัฐบาล
ต่างกับคนในกรุงเทพฯที่ไม่มีความรู้สึกผูกพันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลังการเลือกตั้งทั่วไปผ่านพ้นไป ตลอดเทอมของสภาผู้แทนอาจจะไม่เคยพบผู้แทนบางคนเลย หรืออาจจะลืมไปแล้วว่าใครเป็นผู้แทนของตนในสภา
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะคนในเมืองสามารถมีเส้นสายโยงใยใช้อภิสิทธิของตนได้อยู่แล้ว ข้าราชการก็ไม่กล้าจะปฏิบัติไม่ดีไม่งามกับตน อีกทั้งสื่อมวลชนหลักๆ ก็อยู่ในกรุงเทพฯ หรือมีตัวแทนผู้สื่อข่าวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ เป็นปากเป็นเสียงให้ผู้คนจึงมีอภิสิทธิโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ต้องอาศัยนักการเมืองหรือผู้แทนของตน หรือแม้แต่รัฐบาลท้องถิ่นคนกรุงเทพฯก็ไม่ได้หวังอะไร
นอกจากนั้นบริการของรัฐไม่ว่าจะเป็น การศึกษา การสาธารณสุข การรักษาพยาบาล ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสาธารณูปโภค บริการของรัฐก็มีอยู่พร้อมอยู่แล้ว ไม่ต้องพึ่งนักการเมืองหรือผู้แทนราษฎร
คนในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ๆ จึงไม่สู้ตระหนักถึงประโยชน์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย จะปกครองโดยรัฐบาลที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง หรือเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่เกี่ยวข้องกับตน ขอให้ได้ "คนดี มีจริยธรรม" มีการศึกษา มีบุคลิกดี พูดจาเก่ง พอใจแล้ว เพราะเป็นคนในชั้นสังคมเดียวกับตน
ส่วนคนในต่างจังหวัดนอกเมืองจะรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างระบอบประชาธิปไตยที่มีตัวแทนของตนเข้าไปจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน หรือวิ่งเต้นทำโครงการพัฒนาต่างๆ เข้ามาในท้องถิ่นของตน กับระบอบการปกครองโดยรัฐบาลที่คณะรัฐประหาร หรือคณะปฏิวัติแต่งตั้ง รวมถึงสภานิติบัญญัติที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้ง เพราะสมาชิกสภาแต่งตั้งจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับราษฎรเลย รัฐบาลแต่งตั้งแม้จะได้คนดี มีจริยธรรม คนชั้นสูง การศึกษาดี มีฐานะ ไม่มีประวัติด่างพร้อย แต่ก็ไม่มีประโยชน์เท่าใดนัก เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้สัมผัสกับตน ไม่อาจจะสนองตอบต่อความต้องการของตน เป็นเพียงการต่อยอดของระบบราชการที่มีอยู่เท่านั้นเอง
ในสมัยก่อนจะมีการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ ก่อนระบบคมนาคมจะมีเครือข่ายเชื่อมโยงชนบทกับเมืองเข้าด้วยกัน ก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นล่ำเป็นสันอย่างทุกวันนี้ คนชนบทยังมีรายได้ในระดับต่ำ ไม่มีข้อมูลข่าวสาร ไม่เคยมีประสบการณ์เปรียบเทียบระหว่างการเมือง 2 ระบบว่า มีความแตกต่างกันอย่างไร แต่ราวๆ 10 ปีที่ผ่านมานี้ เขาสามารถเปรียบเทียบได้ชัดเจนว่า 2 ระบอบการปกครองนั้นมีความแตกต่างกัน จึงมีคำพูดว่า "ประชาธิปไตยที่กินได้"
ส่วนคนในเมืองจะไม่มีความรู้สึก เพราะระบอบการปกครองใดตนก็มีอภิสิทธิ์ มีเส้นสาย มีสื่อมวลชนที่อยู่ใกล้ชิดอยู่แล้ว บริการของผู้แทนราษฎรไม่มีความหมาย เพราะตนก็ไม่จำเป็นต้องใช้อยู่แล้ว การเป็นผู้แทนราษฎรในต่างจังหวัด จึงมีภาระหน้าที่อันหนักหน่วง รวมทั้งต้องใช้เงินทองในการทำหน้าที่บริการประชาชนคนลงคะแนนเสียงมากกว่าผู้แทนราษฎรในกรุงเทพมากมาย
การที่คนในต่างจังหวัดเกิดการเปลี่ยนแปลง มีความรู้ความสามารถในการกลั่นกรอง วิเคราะห์ แยกแยะได้ ไม่ได้ ยากจนข้นแค้น ไร้การศึกษา โง่ อย่างที่คนในเมืองคิด จึงทำให้พฤติกรรมในการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคการเมืองต่างกัน
การเลือกตั้งทั่วไปกี่ครั้งในระยะหลังมานี้ ผลการเลือกตั้งโดยส่วนรวมจึงเหมือนเดิม จะแบ่งเขต พวงเล็ก พวงใหญ่ หรือรวมเขต จะเลือกตั้งก่อนปฏิวัติรัฐประหาร หรือหลังการปฏิวัติรัฐประหาร ผลจึงออกมาใกล้เคียงกัน เพราะพรรคใหญ่ 2 พรรคระดับชาติมีทัศนคติ บุคลากรและวิธีคิด วิธีทำงานต่างกัน
ตราบใดที่ความต่างนี้ยังดำรงอยู่ ผลก็จะออกมาเหมือนเดิม ไม่ใช่การซื้อเสียงหรือการใช้เงินของใครมากกว่ากัน
ส่วนวุฒิสภาหรือสภาสูงที่หวังว่าประชาชนจะใช้สิทธิต่างกับการเลือกตั้งสภาผู้แทน ก็เป็นความหวังที่หวังมากเกินไป เพราะจังหวัดต่างๆ พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค ก็ย่อมมีกลไกในการจัดตั้งและการหาคะแนนนิยมอยู่แล้ว แต่เนื่องจากใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง รวมทั้งความคาดหวังของผู้เลือกตั้งต่อสมาชิกวุฒิสภาแตกต่างกัน คนที่มีชื่อเสียงดี เป็นที่เชื่อถือของคนในจังหวัดนั้นๆ จึงมีโอกาสได้รับการเลือกตั้ง ไม่เหมือนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรค ไม่ใช่เลือกบุคคล
การมีวุฒิสภาที่ประกอบด้วยบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งจึงไม่น่าจะเสียหายอะไร เมื่อมีการเลือกตั้งซ้ำๆ ไปหลายรอบประชาชนก็จะเรียนรู้ไปเอง ส่วนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง แม้จะได้คนดีมีความรู้ แต่ก็อธิบายได้ยากว่าทำไมจึงต้องแต่งตั้งมาโดยไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับประชาชนเลย
การปฏิรูปการเมืองในกรอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ต้องเป็นการปกครองระบอบรัฐสภา เมื่อถึงคราวเลือกตั้งคนในเมืองกับคนนอกเมืองก็ต้องเท่าเทียมกัน จะไปให้คนในเมือง 1 เสียงเท่ากับคนนอกเมือง 2 หรือ 3 เสียงไม่ได้ คงไม่มีใครกล้าคิดทำ จะให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงเหมือนกับสภาทั้ง 2 สภาก็ไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน จึงไม่อาจจะทำอะไรได้มากนักในหลักใหญ่ๆ ยกเว้นรายละเอียดย่อยๆ เท่านั้นเอง
การปฏิรูปการเมืองที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเสนอ จึงเป็นเพียงวาทะกรรมเท่านั้นเอง
ที่มา:มติชนรายวัน
----------------------------------------------
ขณะที่วิกฤตทางการเมืองอันเกิดจากการขัดแย้งทางการเมืองอย่างที่เป็นอยู่นี้ น่าจะเป็นการขัดแย้งเชิงโครงสร้างระหว่างผู้คนในเมืองที่มีฐานะกับคนในชนบทที่มีฐานะดีขึ้นมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ความรวดเร็วในการสื่อสารหลายรูปแบบจากการปฏิวัติเทคโนโลยี รับรู้และตระหนักในสิทธิและหน้าที่ของตน ได้ข้อมูลข่าวสารเช่นเดียวกัน เวลาเดียวกันกับคนในเมือง รับรู้ว่าการแตกแยกในเรื่องการเมืองดำรงอยู่เป็นเวลานานแล้ว
การมีประสบการณ์กับระบอบการปกครองที่ตนสามารถใช้ประโยชน์ได้ ดึงทรัพยากรเข้ามาสู่ท้องถิ่นของตนได้ นักการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเข้าถึงตน และนำความต้องการของตนแปลกลับมาเป็นงบประมาณ เป็นโครงการ โครงสร้างการพัฒนาที่จับต้องได้
นักการเมืองและพรรคการเมืองต่างจึงต้องมีความใกล้ชิด ต้องลงมาสัมผัสกับประชาชน คอยปกป้องดูแลจากการปฏิบัติของข้าราชการในท้องถิ่น
นอกจากนั้น ยังเป็นการดำรงอยู่ซึ่งระบอบอุปถัมภ์ ที่อาจจะฝากลูกเข้าโรงเรียน ฝากลูกเข้าทำงาน คอยวิ่งเต้นช่วยเหลือในเรื่่องต่างๆ เป็นสิ่งที่คนในต่างจังหวัดต้องการ คนในภาคอีสาน ภาคเหนือ หรือแม้แต่ภาคกลางและภาคตะวันออก รวมทั้งภาคใต้ และภาคอื่นๆ
ผู้แทนราษฎรหรือพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งในท้องถิ่นนอกเมือง จึงมีลักษณะดังกล่าว ความรู้สึกที่ว่าควรจะเลือกพรรคมากกว่าเลือกบุคคลในระยะหลัง ก็เพราะการเลือกพรรคสามารถทำให้พรรคที่ตนเลือกสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ดีกว่าบุคคลที่ไม่อาจจะหวังว่าจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
ในระยะหลังประชาชนในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง สามารถเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่ตนจะเลือก เปลี่ยนตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ด้วย หากสมาชิกสภาผู้แทนในเขตของตนไม่สามารถทำหน้าที่สนองความต้องการของตน ตามที่ตนคาดหวังได้
ต่างกับพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสภาท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล หรือแม้แต่เทศบาล ชาวบ้านจะไม่นิยมผู้สมัครจากพรรคการเมืองใหญ่ระดับชาติ กลับจะเลือกบุคคลหรือพรรคการเมืองท้องถิ่นที่มีผลงาน เพราะไม่ใช่การเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าไปจัดตั้งรัฐบาล
ต่างกับคนในกรุงเทพฯที่ไม่มีความรู้สึกผูกพันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลังการเลือกตั้งทั่วไปผ่านพ้นไป ตลอดเทอมของสภาผู้แทนอาจจะไม่เคยพบผู้แทนบางคนเลย หรืออาจจะลืมไปแล้วว่าใครเป็นผู้แทนของตนในสภา
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะคนในเมืองสามารถมีเส้นสายโยงใยใช้อภิสิทธิของตนได้อยู่แล้ว ข้าราชการก็ไม่กล้าจะปฏิบัติไม่ดีไม่งามกับตน อีกทั้งสื่อมวลชนหลักๆ ก็อยู่ในกรุงเทพฯ หรือมีตัวแทนผู้สื่อข่าวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ เป็นปากเป็นเสียงให้ผู้คนจึงมีอภิสิทธิโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ต้องอาศัยนักการเมืองหรือผู้แทนของตน หรือแม้แต่รัฐบาลท้องถิ่นคนกรุงเทพฯก็ไม่ได้หวังอะไร
นอกจากนั้นบริการของรัฐไม่ว่าจะเป็น การศึกษา การสาธารณสุข การรักษาพยาบาล ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสาธารณูปโภค บริการของรัฐก็มีอยู่พร้อมอยู่แล้ว ไม่ต้องพึ่งนักการเมืองหรือผู้แทนราษฎร
คนในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ๆ จึงไม่สู้ตระหนักถึงประโยชน์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย จะปกครองโดยรัฐบาลที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง หรือเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่เกี่ยวข้องกับตน ขอให้ได้ "คนดี มีจริยธรรม" มีการศึกษา มีบุคลิกดี พูดจาเก่ง พอใจแล้ว เพราะเป็นคนในชั้นสังคมเดียวกับตน
ส่วนคนในต่างจังหวัดนอกเมืองจะรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างระบอบประชาธิปไตยที่มีตัวแทนของตนเข้าไปจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน หรือวิ่งเต้นทำโครงการพัฒนาต่างๆ เข้ามาในท้องถิ่นของตน กับระบอบการปกครองโดยรัฐบาลที่คณะรัฐประหาร หรือคณะปฏิวัติแต่งตั้ง รวมถึงสภานิติบัญญัติที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้ง เพราะสมาชิกสภาแต่งตั้งจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับราษฎรเลย รัฐบาลแต่งตั้งแม้จะได้คนดี มีจริยธรรม คนชั้นสูง การศึกษาดี มีฐานะ ไม่มีประวัติด่างพร้อย แต่ก็ไม่มีประโยชน์เท่าใดนัก เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้สัมผัสกับตน ไม่อาจจะสนองตอบต่อความต้องการของตน เป็นเพียงการต่อยอดของระบบราชการที่มีอยู่เท่านั้นเอง
ในสมัยก่อนจะมีการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ ก่อนระบบคมนาคมจะมีเครือข่ายเชื่อมโยงชนบทกับเมืองเข้าด้วยกัน ก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นล่ำเป็นสันอย่างทุกวันนี้ คนชนบทยังมีรายได้ในระดับต่ำ ไม่มีข้อมูลข่าวสาร ไม่เคยมีประสบการณ์เปรียบเทียบระหว่างการเมือง 2 ระบบว่า มีความแตกต่างกันอย่างไร แต่ราวๆ 10 ปีที่ผ่านมานี้ เขาสามารถเปรียบเทียบได้ชัดเจนว่า 2 ระบอบการปกครองนั้นมีความแตกต่างกัน จึงมีคำพูดว่า "ประชาธิปไตยที่กินได้"
ส่วนคนในเมืองจะไม่มีความรู้สึก เพราะระบอบการปกครองใดตนก็มีอภิสิทธิ์ มีเส้นสาย มีสื่อมวลชนที่อยู่ใกล้ชิดอยู่แล้ว บริการของผู้แทนราษฎรไม่มีความหมาย เพราะตนก็ไม่จำเป็นต้องใช้อยู่แล้ว การเป็นผู้แทนราษฎรในต่างจังหวัด จึงมีภาระหน้าที่อันหนักหน่วง รวมทั้งต้องใช้เงินทองในการทำหน้าที่บริการประชาชนคนลงคะแนนเสียงมากกว่าผู้แทนราษฎรในกรุงเทพมากมาย
การที่คนในต่างจังหวัดเกิดการเปลี่ยนแปลง มีความรู้ความสามารถในการกลั่นกรอง วิเคราะห์ แยกแยะได้ ไม่ได้ ยากจนข้นแค้น ไร้การศึกษา โง่ อย่างที่คนในเมืองคิด จึงทำให้พฤติกรรมในการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคการเมืองต่างกัน
การเลือกตั้งทั่วไปกี่ครั้งในระยะหลังมานี้ ผลการเลือกตั้งโดยส่วนรวมจึงเหมือนเดิม จะแบ่งเขต พวงเล็ก พวงใหญ่ หรือรวมเขต จะเลือกตั้งก่อนปฏิวัติรัฐประหาร หรือหลังการปฏิวัติรัฐประหาร ผลจึงออกมาใกล้เคียงกัน เพราะพรรคใหญ่ 2 พรรคระดับชาติมีทัศนคติ บุคลากรและวิธีคิด วิธีทำงานต่างกัน
ตราบใดที่ความต่างนี้ยังดำรงอยู่ ผลก็จะออกมาเหมือนเดิม ไม่ใช่การซื้อเสียงหรือการใช้เงินของใครมากกว่ากัน
ส่วนวุฒิสภาหรือสภาสูงที่หวังว่าประชาชนจะใช้สิทธิต่างกับการเลือกตั้งสภาผู้แทน ก็เป็นความหวังที่หวังมากเกินไป เพราะจังหวัดต่างๆ พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค ก็ย่อมมีกลไกในการจัดตั้งและการหาคะแนนนิยมอยู่แล้ว แต่เนื่องจากใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง รวมทั้งความคาดหวังของผู้เลือกตั้งต่อสมาชิกวุฒิสภาแตกต่างกัน คนที่มีชื่อเสียงดี เป็นที่เชื่อถือของคนในจังหวัดนั้นๆ จึงมีโอกาสได้รับการเลือกตั้ง ไม่เหมือนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรค ไม่ใช่เลือกบุคคล
การมีวุฒิสภาที่ประกอบด้วยบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งจึงไม่น่าจะเสียหายอะไร เมื่อมีการเลือกตั้งซ้ำๆ ไปหลายรอบประชาชนก็จะเรียนรู้ไปเอง ส่วนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง แม้จะได้คนดีมีความรู้ แต่ก็อธิบายได้ยากว่าทำไมจึงต้องแต่งตั้งมาโดยไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับประชาชนเลย
การปฏิรูปการเมืองในกรอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ต้องเป็นการปกครองระบอบรัฐสภา เมื่อถึงคราวเลือกตั้งคนในเมืองกับคนนอกเมืองก็ต้องเท่าเทียมกัน จะไปให้คนในเมือง 1 เสียงเท่ากับคนนอกเมือง 2 หรือ 3 เสียงไม่ได้ คงไม่มีใครกล้าคิดทำ จะให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงเหมือนกับสภาทั้ง 2 สภาก็ไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน จึงไม่อาจจะทำอะไรได้มากนักในหลักใหญ่ๆ ยกเว้นรายละเอียดย่อยๆ เท่านั้นเอง
การปฏิรูปการเมืองที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเสนอ จึงเป็นเพียงวาทะกรรมเท่านั้นเอง
ที่มา:มติชนรายวัน
----------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น