--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การปฏิวัติการเมืองไทย : ภายใต้อำนาจ คุณธรรม !!

โดย : เรืองยศ  จันทรคีรี

เรื่องราวเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ถือเป็นไฮไลท์ที่ต้องกล่าวถึงและพูดถึงไปอีกนาน มิใช่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เฉพาะแวดวงวิชาการหรือสื่อสารมวลชนไทยเท่านั้น แต่สื่อสารมวลชนระดับโลกยังกล่าวถึงด้วย

โดยข้อเท็จจริงแล้วการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ บางคนเห็นว่าน่าจะทำให้พอใจทุกฝ่าย เพราะคู่ขัดแย้งต่างได้ประโยชน์จากคำพิพากษา ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์หรือจะเรียกว่าฝ่าย “ระบอบอำมาตย์” ก็พึงพอใจ เนื่องจากอย่างน้อยก็สามารถสกัดความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ได้อย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับพรรคเพื่อไทยแม้จะถูกศาลรัฐธรรมนูญเตะสกัดโดยไม่มีใบแดงหรือใบเหลือง และยังไม่ถูกยุบพรรคการเมือง ทั้งบรรดาสมาชิกรัฐสภาที่ถูกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาว่าล้มล้างการปกครองด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ถูกถอดถอนพ้นจากสมาชิกภาพ

เมื่อมองอย่างเผินๆอาจเข้าใจว่า ฝ่ายรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลตลอดจนมวลชนที่สนับสนุนน่าจะพึงพอใจระดับหนึ่ง

แต่ถ้ามองในเบื้องลึก เรื่องราวครั้งนี้มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย และหลายคำถามก็ยังหาคำตอบไม่ได้?

เป็นต้นว่า การห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหลักการทางกฎหมายแล้วศาลรัฐธรรมนูญใช้มาตราใดของกฎหมายรัฐธรรมนูญมาเป็นข้ออ้างและอำนาจในการตัดสิน

คำถามที่ติดตามมาอีกคือ ข้อสงสัยว่าปฏิบัติการครั้งนี้เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจของประชาชนมาอ้างอิงเพื่อสถาปนาอำนาจของตัวเองเพิ่มขึ้นหรือไม่

ข้อนี้ดูจะเป็นธรรมชาติของศาลรัฐธรรมนูญไปเสียแล้ว เนื่องจากการตัดสินคดีสำคัญๆทางการเมือง นอกจากจะสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าแล้ว ในแต่ละครั้งก็ดูเหมือนจะใช้ช่วงจังหวะสถาปนาอำนาจของตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อำนาจที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้จึงเป็นข้อน่าสงสัยว่าจะนำไปสู่ข้อสรุปอะไรในอนาคต?

ในคำพิพากษาดังกล่าวมีเหตุผลตอนหนึ่งระบุว่า …การแก้ไขให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งเท่ากับเป็นการทำลายหลักการของรัฐธรรมนูญ จะทำให้อำนาจทางการเมืองเข้าไปครอบงำการทำงานของสมาชิกวุฒิสภาได้ ถือเป็นการเสียหายต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำเช่นนี้นอกจากเป็นอันตรายของการใช้เสียงข้างมากแล้ว ยังเท่ากับเป็นการนำบ้านเมืองถอยหลังเข้าคลอง…

ตรรกะง่ายๆตรงนี้แปลความง่ายๆได้ว่า การแก้ไขให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าจะเป็นการนำบ้านเมืองถอยหลังเข้าคลอง และโดยนัยกลับกัน ต้องมี ส.ว. จากการแต่งตั้งที่สืบเนื่องจากการรัฐประหาร เท่ากับนำบ้านเมืองก้าวไปข้างหน้าสู่ความทันสมัยของโลก

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญอ้างตรรกะเช่นนี้ก็ต้องสรุปออกมาอย่างนี้

ฝ่ายที่เห็นต่างกับศาลรัฐธรรมนูญและวิพากษ์วิจารณ์แบบไม่เกรงอกเกรงใจก็ให้ความเห็นอย่างรุนแรงว่า เป็นการ “รัฐประหารโดยศาลรัฐธรรมนูญ” แสดงว่าอำนาจตุลาการเป็นอำนาจในด่านสุดท้ายที่ยังเป็นกลไกเกี่ยวเนื่องจากฝ่ายอำนาจนิยมหรืออำนาจรัฐประหารนั่นเอง

เหตุผลของแต่ละฝ่ายและการทำใจยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญได้ไม่สนิทใจนัก จนกระทั่งมีบางเสียงเห็นว่าการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เท่ากับเป็นการ “สถาปนาอำนาจของตัวเอง” เพิ่มขึ้นโดยไม่ได้ใช้หลักการของกฎหมายเป็นหลัก เพราะไม่มีข้ออ้างอิงในมาตราใดๆจากกฎหมายรัฐธรรมนูญเลย และไม่มีรัฐธรรมนูญข้อใดที่ระบุห้ามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ลงท้ายแล้วก็ต้องบอกว่าอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญนำมาใช้นั้นไม่ใช่อำนาจของกฎหมายตามตัวหนังสือในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซ้ำยังไม่ใช่เหตุผลและหลักการที่ยึดถือตามหลักนิติธรรมและนิติรัฐอีกด้วย

จึงมีคำถามว่าแล้วเป็นหลักการและเหตุผลอะไร?

ข้อนี้ต้องตอบว่าหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญเอามาใช้คือ หลักความเชื่อ เป็นความเชื่อที่ระบุว่าการทำหน้าที่ของตัวเองเป็นหลักคุณธรรมอันสูงสุด จึงเป็นอำนาจเหนือฟ้าเหนือดินที่ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงอะไรอีกแล้ว!

มันจึงเป็นหลักของคุณธรรมและความวิเศษ ซึ่งบางคนวิจารณ์ว่าเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ได้แทรกแซงเฉพาะอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่ยังก้าวก่ายล่วงเกินไปถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อีกด้วย!

ดังนั้น หลักการที่เหนือกว่าอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยต้องเป็นหลักแห่งคุณธรรมและหลักความศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นอำนาจของเทวดาที่เหนือฟ้าเหนือดินและเหนือทุกสรรพสิ่งในโลกนี้

                ลงท้ายแล้วต้องนิยามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนว่า เป็นการปฏิวัติทางการเมืองในประเทศไทยโดยอำนาจของกลุ่มเทวดา ภายใต้หลักเหตุผลของคุณธรรมและความวิเศษ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบคุณธรรมทางการเมืองแห่งแรกในโลกนี้

อาจเปรียบเทียบได้กับความศักดิ์สิทธิ์และความขลังระดับปรัชญาทางการเมืองประชาธิปไตยแบบกรีกและโรมันโบราณ กล่าวคือ ทั้งกรีกและโรมันเป็นตำนานของประชาธิปไตยทันสมัยในยุคอดีตอันไกลโพ้นมานับพันๆปี ส่วนประเทศไทยก็เป็นการปกครองระบอบคุณธรรมที่อ้างอิงอยู่กับความโบราณและเก่าแก่อันศักดิ์สิทธิ์ในยุคสมัยปัจจุบันแห่งเดียวในโลก

การปฏิวัติโดยอำนาจของเทวดาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ภายใต้ระบอบคุณธรรมอันวิเศษ จึงถือเป็นการปฏิวัติด้วยระบอบคุณธรรมเป็นครั้งแรกของมวลมนุษยชาติ

ต่อให้ใครตายแล้วเกิดใหม่อีก 10 ชาติก็คงหาไม่ได้อีกแล้วปรากฏการณ์ระดับโลกเช่นนี้ เพราะมีอยู่เพียงประเทศเดียวเท่านั้นคือประเทศไทยที่ยังเป็นดินแดนสนธยา

เมื่อมีคุณธรรมสูงสุดแล้ว บรรดาหลักการและเหตุผลใดๆก็ไม่มีความหมาย จึงป่วยการที่จะหาเหตุผลมาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน เพราะทุกอย่างดำรงอยู่ด้วยความเชื่อที่เป็นสรณะ

ความเชื่อทั้งหมดจึงเป็นโซ่ตรวนผูกมัดความเป็นอิสระทางความคิดให้ผู้คนต่างพากันสำนึกและต้องเชื่อในระบอบคุณธรรมของอำนาจเทวดา

เมื่อเชื่อว่าตัวเองอยู่กับฝ่ายคุณธรรมสูงสุดแล้ว จะทำอะไรก็ไม่เป็นอะไร

เมื่อระบอบคุณธรรมเป็นอย่างนี้ อำนาจของเทวดาก็จะสามารถดำรงอยู่ได้ต่อไป!

ที่มา.นสพ.โลกวันนี้
------------------------------------------

จบอย่างไรก็หายนะ !!?

 ไม่ได้เหนือความคาดหมายที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำต้านระบอบทักษิณ จะประกาศเผด็จศึกให้ได้ภายในวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคมนี้ให้ได้ เพราะเชื่อว่าคนที่ระดมมาจากภาคใต้และคนกรุงเทพฯ จะออกมาเป็นแสนอีกครั้ง หลังจากวันที่ 24 พฤศจิกายน ซึ่งมีประชาชาทั้งที่ระดมจากภาคใต้และคนกรุงเทพฯมาร่วมเป็นแสน แต่ก็ ไม่สามารถกดดันจนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกลาโหมให้ลาออกไม่ได้

                นายสุเทพและแกนนำจึงต้องเปลี่ยนมาใข้ยุทธวิธีดาวกระจายอย่างที่พันธมิตรเสื้อเหลืองเคยใช้ แต่เพิ่มระดับความรุนแรงเป็นการยึดกระทรวงและศาลากลางจัหงวัด เพื่อให้เป็นเชิงสัญลักษณ์ว่าได้ยึดอำนาจบริหารจากรัฐบาลแล้ว

                แต่เมื่อรัฐบาลไม่มีปฏิกิริยาต่อต้าน เพราะไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงใดๆ เพื่อไม่ให้นายสเทพนำไปใช้ปลุกระดมยกระดับให้ประชาชนโกรธแค้นและออกมามากยิ่งขึ้น

                นายสุเทพจึงไม่ยอมรับข้อเสนอใดๆ จากรัฐบาล เพราะเป็นจุดสุดท้ายที่ชี้ชะตานายสุเทพเช่นกันว่าจะแพ้หรือชนะ การทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ไทยสปริง” พร้อมๆ กับการเพิ่มระดับความรุนแรงด้วยการยึดทำเนียบรัฐบาลที่เป็นศูนย์อำนาจของรัฐบาลจึงเป็นมาตรการเผด็จศึก เช่นเดียวกับที่พันธมิตรเสื้อเหลืองทำมาแล้ว

                จึงไม่แปลกที่การประกาศตั้งเป็น “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)” จะมีบรรดาแกนนำที่เปิดตัวบนเวทีล้วนเป็นแกนนำพันธมิตรเสื้อเหลืองที่เคยเคลื่อนไหว แม้นายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หรือน.ต.ประสงค์สุ่นศิริ ฯลฯ จะไม่ขึ้นบนเวที แต่ก็รู้ดีว่ามีส่วนสำคัญในการวางแผนและติดต่อกับผู้มีอำนาจที่ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

ข้อเสนอทางออกมากมายของนักวิชาการไม่ว่าจะเอียงไปข้างไหน หรือกลุ่มบุคคลและองค์กรต่างๆ จึงไม่มีความหมายขณะนี้  เพราะสถานการณ์ถึงจุดแตกหักแล้ว

ถ้ารัฐบาลไม่ใช้ความรุนแรง ม็อบก็จะเข้ายึดสถานที่สำคัญ รวมทั้งทำเนียบรัฐบาลได้ แต่ถ้ารัฐบาลใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะระดับใดก็ตาม นายสุเทพและแกนนำก็จะถูกนำไปขยายผลเพื่อประณามรัฐบาลว่าขาดความชอบธรรมและกดดันให้กองทัพออกมา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน หรือโดยใครก็ตาม เพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองและเข้ากับแผนของแผนของนายสุเทพที่จะให้มีการจัดตั้งสภาประชาชน เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ

สถานการณ์ขณะนี้ รัฐบาลจึงมีแต่นับถอยหลัง  เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศภาวะฉุกเฉิน ก็ไม่มั่นใจว่ากองทัพจะออกมาเผชิญหน้ากับประชาชนหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าเบื้องหลังของอำนาจยังมีคนที่มีอำนาจ (หน้าเดิมๆ) อยู่เบื้องหลังซึ่งทุกฝ่ายทราบดี

สถานการณ์วันนี้จึงจบแน่ แต่จะจบอย่างไรนั้น บ้านเมืองก็มีแต่หายนะ ไม่ว่าจะถอยหลังเข้าคลองหรือตกเหวไปเลย

เพราะกลียุคเกิดขึ้นแล้ว เมื่อบ้านเมืองไม่มีกฎกติกา นอกจากกฏกติกของพวกกูเท่านั้น !

ที่มา.นสพ.โลกวันนี้
-------------------------------

แถลงการณ์ : กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลหนุนรัฐบาลไม่ยุบสภา.

แถลงการณ์กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล

เรื่อง เรียกร้องรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของปวงชนชาวไทยจงกำแน่นถือครองอำนาจรัฐไว้อย่างมั่นคงเพราะมีความชอบธรรมเต็มเปี่ยมตามหนทางประชาธิปไตย

เนื่องมาจากมีกลุ่มคนอ้างเหตุความวุ่นวายและแนวโน้วการก่อจลาจลกดดันให้รัฐบาลนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุบสภาและลาออก กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลจึงมีข้อเสนอต่อเรื่องนี้ดังนี้

1.เนื่องจากรัฐบาลและรัฐสภานี้ มาจากการเลือกตั้งวาระ 3 กรกฎา 2554 อันเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจากการอุทิศเลือดเนื้อชีวิต , การทุพลภาพ , การสิ้นไร้อิสระภาพ , และการต้องคดีความ รวมทั้งการบ้านแตกสาแหรกขาดของประชาชนในจำนวนมหาศาล ที่ออกมาต่อสู้เมื่อปี 2553 และเสียงที่สนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยได้ชนะเลือกตั้งก็เกินกว่า 15 ล้านเสียง การยุบสภาเท่ากับการไม่คำนึงถึงคุณค่าของขบวนการประชาชนที่ทุ่มเทในครั้งนั้น และถือเป็นการไม่เคารพเจตนารมณ์เสียงส่วนใหญ่ของประเทศที่ต้องการได้รัฐบาลที่มีความสามารถนำพาประเทศออกจาก วิกฤตการเมืองการปกครอง วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตประชาชน อันเป็นผลของการรัฐประหาร 19 กันยา 2549

2.นโยบายข้อสำคัญที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ในสนามเลือกตั้ง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันถือเป็นภาระกิจสำคัญสูงสุดในทางปฏิบัติที่จะนำประเทศออกจากวิกฤตอย่างเป็นรูปธรรมยังไม่บรรลุ รัฐบาลต้องอยู่ทำหน้าที่ที่ค้างคาและมีความสำคัญสูงสุดนี้ลุล่วงก่อนหมดวาระ 4 ปี ให้จงได้

3.ในสถานการณ์ความวุ่นวายจากกลุ่มปฏิปักษ์ประชาธิปไตยที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ การยุบสภาไม่ใช่หนทางออกที่จะยุติความโกลาหลนี้ได้ เพราะกลุ่มผู้แสดงตัวเป็นกบฏกลางกรุงเทพโดยเสนอโครงสร้างการปกครองใหม่ที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีระบบรัฐสภาและพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ประกาศยืนยันหลายครั้งต่อสาธารณะว่า แม้ยุบสภาหรือคณะรัฐบาลจะลาออกเขาก็จะยังไม่หยุด เพราะเป้าหมายแท้จริงของพวกเขาคือต้องการโค่นล้มสิ่งที่พวกเขาเรียกกันเองว่าระบอบทักษิณ และไม่ต้องการให้ครอบครัวชินวัตรยังหลงเหลือเครือข่ายอยู่บนแผ่นดินไทย
และผนวกกับโครงสร้างอันซ้อนเหลื่อมของการเมืองไทยที่ปนเปกันไประหว่างอำนาจตามรัฐธรรมนูญและอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ที่คนไทยทั้งชาติเคยมีประสบการณ์ร่วมกันมาแล้ว จึงไม่มีหลักประกันใดยืนยันว่า เมื่อยุบสภาแล้วรัฐบาลรักษาการจะสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งตามกรอบเวลาที่กำหนดตามกฏหมาย

4.ประชาชนที่กล้าหาญออกมาต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยา 2549 แล้วพลาดพลั้งตกเป็นนักโทษการเมืองอยู่ในเรือนจำหลายแห่งภายใต้นโยบายผู้ต้องคดีการเมืองและเรือนจำการเมืองของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มาจากการเลือกตั้ง จะอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่นโยบายนี้อาจถูกเลิกล้มไปหากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยุบสภา แล้วมีกลไกอันวิปริตสร้างรัฐบาลเฉพาะกิจขึ้นตามแนวทางที่ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยและพรรคประชาธิปัตย์นำเสนอต่อสาธารณะ ผู้กล้าหาญที่ประเทศประชาธิปไตยควรยกย่องแต่ต้องตกอยู่ในคุกการเมืองขณะนี้ อาจถูกส่งกลับไปจองจำในสถานที่ยัดเยียดแออัดราวกรงขังสัตว์ แทนที่จะคืนเกียรติยศศักดิ์ศรีให้พวกเขาตามอุดมคติของสังคมประชาธิปไตยและอำนาจรัฐของพรรคการเมืองที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ

5.จากการเรียกร้องให้ยุบสภาของนักวิชาการบางกลุ่ม และในที่ประชุมอธิการบดี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากรัฐบาลคล้อยตามเท่ากับปล่อยให้ ทฤษฎี "2 นัครา ประชาธิปไตย" อันหมายถึง ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดเลือกพรรคการเมืองตั้งรัฐบาล แล้วถูกเสียงส่วนน้อยในกรุงเทพมาล้มรัฐบาล นั้นจะทวีความเลวร้ายขึ้นเป็น ทฤษฎี "2 ชนชั้น ประชาธิปไตย" อันหมายถึง เสียงส่วนใหญ่จากชนชั้นรากฐานของประเทศเลือกพรรคการเมืองเพื่อตั้งรัฐบาล แล้วถูกนักวิชาการปัญญาชนชั้นกลางส่วนน้อยล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถตีความถึงอำนาจในการปกครองตนเองของปวงชนชาวไทยนั้น ถอยห่างจากอุดมคติประชาธิปไตยสมบูรณ์ไปไกลขึ้นทุกวัน

6.การประชุมของรัฐสภาในสมัยสามัญที่ผ่านมา ได้มีการผ่าน พรบ.อนุมัติกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟรางคู่ความเร็วสูง ซึ่งจะนำความเปลี่ยนแปลงทางบวกครบด้าน กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลเชื่อมั่นว่า มีแต่รัฐบาลที่ดำเนินนโยบายก้าวหน้าเท่านั้น ที่จะใช้เงินกู้นี้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด แต่ถ้ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยยุบสภา อาจมีการแทรกซ้อนทางการเมืองทำให้พรรคประชาธิปัตย์ที่ชูนโยบายอนุรักษ์นิยม หรือกลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่มีแนวทางอนุรักษ์นิยมมากกว่า นำเงินกู้นี้ไปใช้ผิดเป้าหมายและสร้างหนี้สินรายหัวให้ประชาชนแบกรับเหมือนที่ผ่านๆมา

ดังนั้นกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลขอให้รัฐบาลจงยืนหยัด ใช้อำนาจรัฐที่ยึดโยงจากประชาชน ผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้อย่างมั่นคง

กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล
ผู้ประสานงานหลัก
สุดา รังกุพันธุ์
ไม้หนึ่ง ก.กุนที
29 พฤศจิกา 2556

ที่มา.ประชาไท
-----------------------------------------------

เศรษฐกิจและการเมืองตกต่ำ ฉุดค่าเงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินประจำวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2556 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 32.14/16 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวเทียบกับระดับปิดตลาดวันพุธที่ (27/11) ที่ 32.13/16 บาท/ดอลลาร์

อย่างไรก็ดี หลังจากเปิดตลาดในช่วงเช้า ค่าเงินบาทก็ขยับอ่อนค่าลงต่อเนื่องไปแตะระดับ 32.20 บาท/ดอลลาร์ หรือ 0.2% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 เดือน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากวานนี้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 2.25% พร้อมระบุถึงเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคมลดลง 4.02% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบกับที่ลดลง 2.90% ในเดือนกันยายน ซึ่งลดลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน อีกทั้งยังได้ปรับลดคาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในปี 2556 หดตัว 2.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 0.5-0.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากการบริโภคในประเทศที่ยังขยายตัวในระดับต่ำและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเติบโตไม่สูงมาก นอกจากนี้ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศยังเป็นอีกปัจจัยที่กดดันค่าเงินบาทมาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ในส่วนของตลาดต่างประเทศ มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญออกมาของทางสหรัฐ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสิ้นสุดวันที่ 23 พฤศจิกายน ลดลงเกินคาด 10,000 ราย สู่ 316,000 ราย และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 330,000 ราย ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปลายเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 75.1 จาก 73.2 ในเดือนตุลาคม โดยสูงกว่าที่คาดการณ์ที่ 73.5 และดัชนีผูเจัดการฝ่ายจัดซื้อเขตชิคาโกเดือนพฤศจิกายนลดลงสู่ระดับ 63.0 จาก 65.9 ในเดือนก่อน แต่ยังสูงกว่าที่คาดไว้ที่ระดับ 60.0 อย่างไรก็ดี วันนี้ตลาดเงินสหรัฐหยุดในวันทำการเนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า ทั้งนี้ ค่าเงินบาทมีกรอบการเคลื่อนไหวระหว่างวันอยู่ที่ 32.12-32.21 บาท/ดอลลาร์ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 32.13/15 บาท/ดอลลาร์

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.3570/72 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 1.3604/06 ดอลลาร์/ยูโร เหตุการณ์สำคัญในช่วงปลายสัปดาห์นี้อยู่ที่ประเด็นการเมืองของประเทศใหญ่ ๆ ในยูโรโซน ฝั่งประเทศอิตาลี วุฒิสภาอิตาลีประกาศถอดถอนนายชิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีออกจากการเป็นสมาชิกรัฐสภาเมื่อวานนี้ หลังจากถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาโกงภาษี ซึ่งการขับนายแบร์ลุสโคนีออกจากรัฐสภาจะส่งผลให้สถานการณ์การเมืองมีความตึงเครียดมากขึ้นและเป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิรูปเศรษฐกิจอิตาลี อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกระยะสั้นของภูมิภาคยูโรโซนคือข้อตกลงทางการเมืองของประเทศเยอรมนี โดยพรรคอนุรักษ์นิยมของนางแองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้บรรลุข้อตกลงกับพรรคโซเชียล เดโมแครตส์ ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยรัฐบาลใหม่นี้อาจสามารถจัดตั้งขึ้นได้ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ ตลอดทั้งวันค่าเงินยูโรมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ระดับ 1.3562-1.3617 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.3606/09 ดอลลาร์/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 102.15/17 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดวานนี้ที่ระดับ 101.77/78 เยน/ดอลลาร์ อันเป็นผลจากการให้ความเห็นของนางซายูริ ชิราอิ กรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่กล่าวว่าบีโอเจควรพิจารณาการขยายมาตรการกระตุ้นทางการเงินออกไปอีก ถ้าหากเศรษฐกิจญี่ปุ่นและระดับราคาเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ต่างจากระดับคาดการณ์ ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ อยู่ที่ระดับ 101.91-102.27 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 102.17/19 เยน/ดอลลาร์

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +4.8/5.0 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 12.0/15.0 สตางค์/ดอลลาร์

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////

ห่วงปปช.ไต่สวน 312 ส.ส.-ส.ว.สภาบริหารไม่ได้ !!?

นักวิชาการระบุป.ป.ช.ชี้มูลความผิด312ส.ส.-ส.ว.มีผลต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะไต่สวนเสร็จไม่ครบองค์ประชุมสภาบริหารไม่ได้ เป็นเกมที่ถูกวางไว้

นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นในกรณีการยื่นถอดถอนส.ส.และส.ว.ภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ว่า กระบวนการยื่นถอดถอนในชั้นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)จะมีการชี้มูลได้รวดเร็วมากขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะว่าในช่วงที่ผ่านมาป.ป.ช.ได้มีการทำงานคู่ขนานกับคดีของศาลรัฐธรรมนูญในหลายคดี ที่ผ่านมาเมื่อคำร้องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วป.ป.ช.ก็ได้ตั้งคณะทำงานคู่ขนานเพราะฉะนั้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวเสร็จ ทางป.ป.ช.ก็สามารถที่จะสอบสวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ หมายความว่ามีการตั้งเรื่องอยู่เเล้ว ทำให้เห็นว่าการทำงานของป.ป.ช.ในช่วงหลังๆจะมีการทำงานที่รวดเร็วมากขึ้น เพราะว่าเมื่อศาลตัดสินแล้วไม่ได้มีการชี้มูลดำเนินการอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดข้อกังขา ว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม จึงเป็นเรื่องที่ป.ป.ช.ได้ปรับปรุง

แต่ในขณะเดียวกันต้องระมัดระวังประเด็นทางการเมืองต้องอธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจด้วยว่าการชี้มูลโดยเร็วนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องการกลั่นแกล้งทางการเมือง การชี้มูลจะต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงหลักฐานองค์ประกอบต่างๆ ส่วนคำวินิจฉัยของศาล ก็เป็นในแง่ของคำวินิจฉัย ซึ่งจะผิดหรือไม่ผิดมีมูลหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงต่างๆที่ทางป.ป.ช. จะไปรวบรวมมาเพราะฉะนั้น ตัวหลักฐานต่างๆจะเป็นตัวกำหนดเเละอธิบายให้กับประชาชนว่าอะไรคือข้อเท็จจริง สุดท้ายแล้วถ้าหากป.ช.ช.ชี้มูลและมีการนำเสนอข้อเท็จจริงเหล่านี้ให้เป็นที่ปรากฏคลายข้อสงสัย ปัญหาก็อาจจะน้อยลงในทางการเมือง

อย่างไรก็ตามศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่าเป็นการทำการขัดรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของป.ป.ช.ที่จะไปรวบรวมหลักฐานมา และท่ามกลางสถานการณ์ความขัดเเย้งทางการเมืองที่กำลังร้อนระอุ การชี้มูลของป.ป.ช.จะต้องจะต้องระมัดระวัง ต้องครบถ้วนในหลักฐาน

หากป.ป.ช.ชี้มูลความผิดของส.ส.และส.ว.จำนวน 312 คน ต่อไปก็เป็นเรื่องทางกฏหมาย ที่ผู้ที่ถูกคดีต้องไปต่อสู่กันในชั้นศาล ระหว่างการต่อสู้ในั้นศาลในกฏหมายก็ระบุชัดเจนว่าให้ยุติการปฏิลบัติหน้าที่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคนอื่น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือส.ส.จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่และรัฐสภาจะต้อหาทางออกใหม่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้การทำงานของสภาต้องหยุดชะงัก ซึ่งเคยมีเกิดขึ้นแล้วในกรณีที่ป.ป.ช.ชี้มูลก็ต้องกลับไปดูแนวปฎิบัติเดิม เพียงแต่ว่าคราวนี้จำนวนอาจจะมาก แต่แนวทางปฏิบัติก็ไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่

ทางออกมี3ทาง

1. รัฐบาลต้องเตรียมตัวในการเลือกตั้งใหม่ก่อนวาระอยู่แล้ว คือยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ สามารถยุบสภาได้เร็วเพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เลือกตั้งผู้เเทน ที่ไม่มีปัญหาทางด้านคดีหรือกฏหมายเข้ามา

2.ดูเป็นรายบุคคลว่าจะมีการเลือกตั้งซ่อมได้หรือไม่ ยังต้องไปดูข้อกฏหมาย ก็ไม่ได้มีการยุบสภาแต่เป็นการหาคนมาทดแทน

3.ทำหน้าที่ต่อไปเนื่องจากจะเห็นได้ว่ามีการปฏิเสธอำนาจศาล หากดูจากแนวโน้มจะมีการปฏิเสธต่ออำนาจอื่นๆหรือไม่ แต่เเนวโน้มข้อนี้ไม่น่าจะทำได้ถ้าถึงทำได้ก็จะมีปัญหาทางการเมืองตามมาเยอะ แต่อาจจะมีการยืดเวลาออกไป ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

ภายหลังจากการชี้มูลของป.ป.ช.คาดว่าสถานการณ์ทางการเมืองคงจะยังไม่ดีขึ้นมาก ถ้าหากว่าทางฝั่งพรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งสัญญาณให้ชัดเจนในการปฏิบัติตามกฏหมาย ซึ่งก็รู้สึกว่าเคลือบแคลงใจเกี่ยวกับการทำตามกฏหมายซึ่งพรรคเพื่อไทยต้องส่งสญญาณให้ชัดว่าจะต้องปฏิบัติตามกฏหมายไม่งั้นระบบก็จะมีปัญหามาก แต่ว่า ก็เป็นการจัดสินใจทางการเมืองด้วย

ในกรณีที่ว่ายังไม่ชี้มูลหรือว่าตัดสินใจลงเลือกตั้งใหม่ในกรณีที่มีการยุบสภาแล้วมีการชี้มูลทีหลัง แต่ว่าก็ยังเดินหน้าเลือกตั้งทั้งหมดเหล่านี้จะเป็นปัญหาให้กับระบบค่อนข้างมาก ถ้าจุดยืนของพรรคเพื่อไทย ชัดเจนว่าจะปฏิบัติตามกฏหมาย ปัญหาก็จะน้อยลง เพราะว่าในทางกฏหมายมันมีทางออกในตัวของมันเองอยู่เเล้ว แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามกฏหมายก็จะมีความซับซ้อน อาจจะมีอะไรที่เหนือความคาดหมายหรือว่าไม่เคยปฏิบัติมาก่อนจะทำให้เกิดปัญหามากขึ้น

ตอนนี้มีวิกฤติการณ์การเมืองซ้อนกันอยู่ 2 วิกฤติ วิกฤติการณ์อย่างแรกคือเรื่องกฏหมาย ซึ่งเราสามารถบรรเทาวิกฤตินี้ไปได้ เพียงแค่ปฏิบัติตามกฏหมาย ตามเจตนารมย์ของกฏหมายซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหามาโดยตลอดหลายปี องค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถาม ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ต้องมีการปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัดจริงจัง วิกฤตินี้ก็จะสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวมันเอง

วิกฤติต่อมาคือการแข่งขัน การเผชิญหน้า ความขัดแย้งที่ค่อนข้างรุนแรง ระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ 2พรรค ของไทย โดยเฉพาะในบางความขัดเเย้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับส่วนตัว เรื่องตัวบุคคล บางเรื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพรรค เป็นเรื่องของความอยู่รอด เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักการ ทั้งหมดเหล่านี้ มันมีพัฒนาการยาวนานมาถึง 12 ปีหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาสู่วงการเมือง ตรงนี้คงไม่ง่ายที่จะแก้ไข โดยเฉพาะ 2 พรรคการเมืองที่ไม่สามารถจะพูดคุยกันได้โดยตรง ซึ่งก็จะเป็นปัญหา

อย่างไรก็ตามในการหาทางออกจากวิกฤติที่เกิดขึ้นยังจำเป็นต้องมีทั้ง 2 พรรคเป็นหลัก การเเข่งขันกันของสองพรรคใหญ่ที่มีความขัดแย้งในแง่ของตัวบุคคลตรงนี้จะทำให้เกิดปัญหา ที่ยืดยาวมาถึง 12 ปี ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะเปลี่ยนไป จะเห็นได้จาก 2 เดือนที่ผ่านมานี้ ความขัดแย้งใหญ่ว่านั้นก็คือเป็นความขัดแย้งที่คนไทยเกือบทั้งหมด ต้องการให้เห็นว่าพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค ตอบสนองต่อประเด็นสำคัญที่ใหญ่กว่าความขัดแย้งระหว่างพรรค การทะเลาะของคนที่มาชุมนุมคือต้องการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูประบบราชการ จริงๆแล้วผู้ที่สนับสนุนทั้ง2พรรคการเมืองให็ก็เห็นตรงกันว่าประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปในเรื่องเหล่านี้

ในแง่การพูดคุยในอนาคตจะง่ายขึ้นโดยเฉพาะเมื่อมีคนรุ่นใหม่เข้ามา เพราะฉะนั้นประเด็นนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองโดยตรงหรือความขัดแย้งส่วนตัวแต่เป็นประเด็นว่าจะทำอย่างไรให้ระบบราชการดีกว่านี้ ทำอย่างไรให้ระบบเศรษฐกิจเปิดกว้างกว่านี้ ทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมกับคนยากจน คนชั้นกลาง ทำอย่างไรให้ให้ตำรวจโกงกินคอรัปชั่นน้อยลงกว่านี้ และทำอย่างไรให้ระบบราชการโดยเฉพาะในระดับสูงไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้อย่างจริงจังเพราะว่ามีคนออกมาเป็นจำนวนมาก ทุกสี ที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดความเป็นธรรม

ด้านนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฏหมายมหาชน เปิดเผยว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประเด็นอยู่ที่กระบวนการชี้มูลความผิดของป.ป.ช.ผลทางกฏหมายก็คือหากผู้ใดดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นส.ส.-ส.ว.ถูกชี้มูลความผิด จะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ช่วงคราวจนกว่า ทางวุฒิสภาจะจัดประชุมเพื่อลงมติเพื่อถอดถอนหรือไม่ เพราะฉะนั้นกระบวนการปกติคือหากชี้มูลว่าผิด ก็แค่รอพัก1-2วัน แล้วให้ส.ว.เรียกประชุม ซึ่งส.ว.จะประชุม2-3วันหรือ 1 อาทิตย์ก็แล้วแต่ ถ้าหากผลการลงมติส.ว.ออกมาว่า ผิดจริง ก็ถอดถอนไป ถ้าหากส.ว.ลงมติว่าไม่ผิดก็กลับมาทำหน้าที่ต่อ

แต่ประเด็นที่จะทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นมาหากป.ป.ช.ชี้มูลความผิดขึ้นมา จะมีส.ว.ประมาณ 50 คน ที่อยู่ในรายชื่อ 312 คน ซึ่ง 50 คน เป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนส.ว.ทั้งหมด 150 คน ถ้าหากส.ว.เหล่านี้ถูกชี้มูลไปด้วย หรือบางส่วนถูกชี้มูล ปัญหาคือส.ว.ที่เหลือจะประชุมกันอย่างไร ซึ่งองค์ประชุมไม่ครบอย่างแน่นอน หรือถึงแม้ครบองค์ประชุม และคำถามที่เกิดขึ้นคือ ตามรัฐธรรมนูญการใช้มติถอดถอนต้องใช้เสียง 3ใน5 ซึ่งถ้าหากที่ประชุมมีส.ว.ไม่ถึง 3ใน 5 ของจำนวนทั้งหมดได้ แล้วจะประชุมได้หรือไม่

ถ้าหากป.ป.ช.ชี้มูลรายบุคคล เช่น นายกรัฐมนตรีหรือประธานสภาฯ จะไม่ยุ่งยากเท่ากับชี้มูลทั้งหมด ถ้าเกิดชี้มูลทั้งหมด สิ่งที่น่ากังวลคือ จะมีคนบอกว่าส.ว.ไม่สามารถชี้มูลตัวเองได้ ดังนั้นจึงประชุมไม่ได้ เมื่อประชุมไม่ได้องค์ประชุมจึงไม่ครบ ผลที่ตามมาคือการชี้มูลความผิดของป.ป.ช.จึงมีผลต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าป.ป.ช.จะไต่สวนเสร็จซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ และถ้าหากการไต่สวนเกิดล่าช้า ส.ส.และส.ว.ที่จะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ จะทำให้ระบบรัฐสภาหยุดชะงัก ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้

และในกรณีที่นายกรัฐมนตรีถูกชี้มูลความผิดในฐานะที่เป็นส.ส.ที่ไปประชุมในสภาแล้วต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ส.ส. คำถามที่ตามมาในทางกฏหมาย คือ นายกรัฐมนตรีจะต้องพ้นสภาพความเป็นนายกฯหรือไม่ ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ด้วยหรือไม่ ซึ่งมี 2 ทฤษฎี 1.คุณสมบัตินายกฯไม่ได้มีผลกระทบอะไรเพราะว่าผลของมาตรา 273 ตามรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเป็นผลเฉพาะว่าผู้ที่ถูกชี้มูล ไม่ควรจะทำหน้าที่ในระหว่างนั้น ซึ่ง ในเมื่อถูกชี้มูลในนามส.ส. นายกฯก็แค่ไม่ต้องไปประชุมสภาไม่ต้องไปลงมติใดๆทั้งสิ้น แต่หน้าที่ของนายกรัฐมนตรียังมีอยู่ 2.เป็นนายกฯและเป็นส.ส.เมื่อทำหน้าที่ส.ส.ไม่ได้ก็หมายความว่าทำหน้าที่นายกฯไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้นนายกฯต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ไปด้วย คำถามที่ตามมาคือถ้าหากนายกฯยุติการปฏิบัติหน้าที่แล้วครม.ทั้งชุดจะเกิดอะไรขึ้น จะยุติตามด้วยหรือไม่ หรือบุคคลอื่นทำหน้าที่นายกฯแทน

ตรงนี้จะนำไปสู่ข้อถกเถียงมากมายจนอาจนำไปสู่การฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่าการที่ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อเป็นการได้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ มาตรา 68

สุดท้ายก็จะนำไปสู่ความโกลาหลทางการเมือง และเมื่อถึงช่วงเวลานั้นหากบอกว่านายกรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ สิ่งที่ตามมาคือหากนายกปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ก็ยุบสภาไม่ได้ ถ้านายกฯยุบสภาไม่ได้แล้วทางออกจะเป็นอย่างไร

"ทั้งหมดนี้คือหมากที่ถูกวางไว้"

ป.ป.ช.จะสามารถอ้างได้หรือไม่ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันธ์ทุกองค์กร ดังนั้นป.ป.ช.จึงจำเป็นต้องชี้มูล ส่วนตัวมองว่า คำวินิจฉัยของศาลรธน.มีผลผูกพันธ์ต่อองค์กรก็จริง แต่ผูกพันธ์เฉพาะส่วนที่เป็นการตีความตัวบทรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

การตีความของศาลรัฐธรรมนูญย่อมผูกพันธ์ทุกองค์กรแต่มีข้อเเม้ว่าจะต้องเป็นการตีความตัวบทรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่กรณีการไปชี้มูลความผิดมันไม่ใช่เรื่องของการตีความตัวบทรัฐธรรมนูญ นี่คือการไปตีความพฤติกรรมและข้อเท็จจริง ซึ่งในกรณีศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีมาตรา 68 กรณีแก้ที่มาส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ตีความทั้งตัวบทกฏหมาย ตัวบทรัฐธรรมนูญ ส่วนหนึ่ง แต่อีกเรื่องคือการตีความ พฤติกรรม ข้อเท็จจริง การกระทำ ของ ส.ส.-ส.ว. 312 คน ส่วนแรกที่ศาลรธน.ไปตีความรัฐธรรมนูญตามตัวบทอาจะบอกได้ว่าผูกพันธ์ทุกองค์กรถ้าถูกต้อง แต่ถ้าหากเป็นการตีความข้อเท็จจริง แม้การตีความข้อเท็จจริงนั้นศาลจะเห็นถูกต้องหรือไม่ ก็ไม่ผูกพันธ์องค์กรอื่น ต้องชัดเจนว่าการตีความรัฐธรรมนูญผูกพันธ์เพราะว่า ป.ป.ช.เองถูกผูกพันธ์โดยตรงกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อตัวบทรัฐธรรมนูญถูกตีความให้กระจ่างชัดขึ้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยย่อมก็ต้องผูกพันธ์ป.ป.ช.ไปด้วย

ส่วนข้อเท็จจริงที่สมากชิกรัฐสภา ส.ส.-ส.ว. 312 คน ทำผิดหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ศาลตีความเป็นข้อเท็จจริงเฉพาะคดีไม่อาจนำไปอ้างในคดีอื่นได้ การที่ป.ป.ช.จะชี้มูล 1.ต้องบอกให้ชัดเจนว่าคำวินิจฉัยไม่ได้ผูกมัดป.ป.ช. ผูกมัดเฉพาะส่วนการตีความกฏหมาย 2.มาตรฐานในการชี้มูลความผิดป.ป.ช.ไม่เหมือนมาตรฐานของศาลรัฐธรรมนูญ คือมาตรฐานของการกระทำทั่วไปตามมาตรา 68 กับ มาตราฐานที่ต้องจงใจกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยมีลักษณะทุจริตรวยผิดปกติมาตรา270ต้องเเยกเป็นกรณีต่างหาก

สรุปได้ว่า 1.คำวินิจฉัยผูกพันธ์เฉพาะข้อกฏหมายไม่ผูกพันธ์ข้อเท็จจริง 2.ถ้าดูข้อกฏหมายมาตรา270 ต่างกันกับมาตรา68 ดังนั้นจึงเอามาเทียบกันไม่ได้ 3.แม้ดูข้อกฏหมายก็ไม่เหมือนกัน ข้อเท็จจริงก็ไม่เหมือนกันเข้าไปใหญ่ เพราะว่าการกระทำที่ถูกชี้มูลโดยป.ป.ช.เป็นการกระทำที่จะต้องดูเป็นรายบุคคลอย่างชัดเเจ้งว่าใครทำผิดบ้าง แต่การกระทำที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ ชี้แบบรวมๆ ไม่ได้เจาะจงว่าใครทำผิดหรือไม่ แต่บอกว่ามีการส่งเอกสารผิดพลาด มีการเสียบบัตรแทนกัน มีเวลาอภิปรายน้อยเกินไป แยกเป็นแต่ละกรณี

กรณีส่งเอกสารดูว่าใครเป็นคนส่ง คนส่งคือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏรซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายเลขาของรัฐสภา เพราะฉะนั้นส.ส.-ส.ว.ทั้ง 312 คน ไม่เกี่ยวข้องหรือรับรู้ว่ามีการส่งเอกสารอย่างไร รู้แต่เพียงว่าเอกสารมาถึงแล้วอ่าน เพื่อลงมติ ไม่ได้มีการทำผิดพลาดแต่อย่างใด

กรณีที่เวลาในการอภิปรายแปรญัตติน้อยเกินไป คำถามคือใครเป็นคนกำหนดเรื่องการแปรญัตติซึ่ง 312 ไม่ได้เป็นคนกำหนด มันอยู่ในข้อบังคับแล้วผู้ที่ตีความข้อบังคับคือประธานสภาฯ แล้วตีความว่า312คน ทำผิดเรื่องนี้ จึงไม่ใช่

กรณีการเสียบบัตรแทนกัน ที่มีการเสียบบัตรแทนกันจำนวน 8 ใบ เพราะฉะนั้นจะเหมารวมทั้ง 312 คน มาอยู่ใน 8 ใบนี้ได้อย่างไรอย่างมากที่สุดป.ป.ช.ไม่สามารถชี้มูลทั้งก้อนได้ต้องชี้มูลเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องจริงๆ คนที่กระทำเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นในทางกฏหมายไม่สามารถเอาคำวินิจฉัยมาอ้างได้ แม้มาดูข้อกฏหมายของสองมาตราคือ มาตรา68และมาตรา270 ก็ใช้มาตรฐานต่างกัน เอามาเทียบกันไม่ได้ ฉะนั้นข้อเท็จจริงที่ศาลอ้างในคดีนั้นนำมาใช้ไม่ได้เลยเนื่องจากเป็นการพิจารณาแบบตีขลุม ไม่ใช่การพิจารณาที่ละเอียดแต่อย่างใด

ส่วนตัวมองว่าป.ป.ช.ไม่ควรจะชี้มูลทั้ง 312 คน ถ้าจะชี้เฉพาะบางคนก็ต้องไปดูในข้อกฏหมายหลักฐานเป็นอย่างไร ถ้าหากชี้มูลทั้งหมด312 คน จะทำให้เกิดความโกลาหลขึ้นแน่นอน

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------

ยกเลิก ม.112 ปล่อยนักโทษการเมือง : เดินหน้าสร้างประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ

โดย.พจนา วลัย องค์กรเลี้ยวซ้าย

หลังจากที่วุฒิสภาปัด“ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทาง การเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ....” ตกไปเพราะร่างฯนี้ ล้างผิดให้ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่พลพรรคประชาธิปัตย์ พวกเสื้อเหลืองที่นิยมลัทธิทหาร ทำให้พรรคเพื่อไทยถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่ค้างอยู่ในสภาทั้งหมด ซึ่งนั่นเท่ากับว่านักโทษการเมืองจะยังถูกคุมขังต่อไป หลังจากที่รอคอยความยุติธรรมมานานกว่าสามปีแล้ว   โดยพรรคอ้างเหตุผลว่า ต้องการสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติ

ผู้เขียนไม่เชื่อว่าจะปรองดองแล้วยุติความขัดแย้งทางการเมืองได้จริง เพราะ

1.ผู้ถูกกระทำหลังการรัฐประหารปี 49 ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติจากระบบยุติธรรมสองมาตรฐาน และถูกทหารสลายการชุมนุมปี 53 เข่นฆ่าพวกเขา แต่ยังลอยนวลอยู่ในสังคม

2.พื้นที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยยังไม่ถูกรื้อฟื้น ก.ม.หมิ่นฯ 112 ยังคงถูกบังคับใช้ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง   นักโทษการเมืองถูกใช้ต่อรองทางการเมือง ปรองดองกับเผด็จการทหาร ฝ่ายอนุรักษณ์นิยม

3.การปรองดองกับฝ่ายเผด็จการสนับสนุนรัฐประหารต้องการผูกขาดอำนาจและความศรัทธาไว้แต่เพียง ฝ่ายเดียว เพื่อรักษาผลประโยชน์ คงสภาพสังคมเดิมไว้ ทำให้นับวันพรรคเพื่อไทย และแกนนำหัวขบวนเสื้อแดง กองเชียร์ของพรรค จะทำผิดพลาดมากขึ้นทุกวัน จนถูกคนเสื้อแดงที่เป็นอิสระทางความคิดบางกลุ่มประณามว่า หักหลังประชาชนที่ร่วมต่อสู้กับพรรค ต้านอำมาตย์ที่โค่นล้มระบบเลือกตั้ง

นอกเหนือจากความผิดพลาดที่พรรคเพื่อไทยเสนอพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯฉบับเหมาเข่ง เข้าสู่สภา และการไม่มีนโยบายรื้อฟื้นประชาธิปไตย ปล่อยนักโทษการเมือง ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ถูกทหารแทรกแซงกลับคืนสู่สังคม  ยังประสบปัญหาจากการใช้แนวนโยบายประชานิยม ที่กำลังเดินไปสู่ทางตัน คือรายได้ งบประมาณของรัฐจำกัดมากขึ้น  ไม่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนเท่าที่ควร เพราะมีปัญหาในทางปฏิบัติมาก อีกทั้งความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจยังดำรงอยู่

ผู้เขียนต้องการนำเสนอข้อผิดพลาดของรัฐบาลและหัวขบวนเสื้อแดง ปัญหาสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน และทางออกสำหรับขบวนการเสื้อแดง ให้หลุดพ้นจากการเมืองที่ช่วงชิงอำนาจ ทำรัฐประหาร กดขี่ประชาชนของชนชั้นนำ

ข้อผิดพลาดของพรรคเพื่อไทย

1.การยกโทษให้แก่ฆาตกร ฆ่าประชาชนผู้ชุมนุมเสื้อแดงปี 2553 ในขณะที่คนพวกนี้ไม่รู้สึกรู้สาอะไร

2.การคงกฎหมายเผด็จการ ก.ม.อาญามาตรา 112 และทอดทิ้งนักโทษคดีนี้ไม่ให้รับความยุติธรรม แม้แต่สิทธิในการประกันตัว

3.การล้างผิดให้อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ยังมีชนักติดหลัง สะท้อนให้เห็นว่า คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าหลักสิทธิเสรีภาพของนักโทษการเมืองและความยุติธรรม โดยใช้อุบายเอาเสรีภาพของนักโทษ กฎหมายเผด็จการ 112 แลกกับการกลับมาของทักษิณ ปรองดองทำแนวร่วมกับฆาตกร และคณะผู้ก่อการรัฐประหาร เพื่อให้รัฐบาลอยู่ในอำนาจต่อไป

ข้อผิดพลาดของแกนนำเสื้อแดง คือการไม่ทำอะไรเพื่อรื้อฟื้นประชาธิปไตยอย่างจริงจัง กล่อมเกลาให้มวลชนเป็นกองเชียร์ให้พรรคเพื่อไทยมากกว่าสร้างความเป็นอิสระทางความคิดและมีวาระการเมืองที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนคนส่วนใหญ่  ซ้ำล่าสุดโจมตีกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการชุมนุม 53 ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับวรชัยตั้งแต่แรก ด้วยท่าทีที่ลดทอนความน่าเชื่อถือของร่างฯนี้ เช่น หาว่าจะทำให้นักโทษการเมืองถูกขังต่อไปบ้าง  ไม่ได้นิรโทษผู้ที่ต้องคดีอยู่ในเรือนจำโดยเฉพาะคดีเผาทำลายทรัพย์สิน และคดีอาญาร้ายแรงต่างๆ มากกว่ามีท่าทีหนุนหลักการเอาผิดคนสั่งฆ่าและฆ่าประชาชน และหลักสิทธิในการประกันตัวนักโทษการเมือง

ความผิดพลาดนำมาสู่การฟื้นอำนาจของฝ่ายตรงข้าม วาทกรรมคนดีมีศีลธรรม รักชาติรักแผ่นดิน รักพระมหากษัตริย์ของพรรคประชาธิปัตย์และพวกเสื้อเหลืองก็หวนคืนสู่การเมืองบนท้องถนน ในฐานะที่มองว่าถูกรัฐบาลกระทำจากร่างพ.ร.บ.เหมาเข่ง ล้างผิดให้ทักษิณ คนโกงชาติ และมีผู้ชุมนุมมาร่วมแสดงพลังนับแสน  โดยชูธงล้มรัฐบาล ขจัดตระกูลชินวัตรออกไปจากการเมือง เพราะเป็นต้นตอของความชั่วร้ายทั้งหมด  โดยอ้างตรรกะเผด็จการรัฐสภาเหมือนเช่นก่อนการรัฐประหารปี 49 คือ ระบอบทักษิณทำให้ระบบรัฐสภาเป็นเพียงตรายางของนายทุน ให้เข้ามามีอำนาจโดยผ่านการเลือกตั้งที่ทุจริต ซื้อเสียง สภากลายเป็นสิ่งไม่ดี ทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภา เกิดสภาทาส เป็นศูนย์รวมอำนาจของระบอบทักษิณ คุกคามศาล ใช้คนยากจนเป็นเครื่องมือ กดขี่ขูดรีด   จึงนำไปสู่การเรียกร้องปฏิรูปประเทศไทย ตั้งสภาประชาชนแทน  เชิดชูการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยสมบูรณ์ แบบ (จากนั้นก็กลายเป็นการเชิดชูระบอบการปกครองด้วยกษัตริย์)  และได้ลงชื่อถอดถอนส.ส. 310 คน ประกาศขอให้มีการหยุดงาน

และความผิดพลาดก็ได้นำไปสู่การเสนอให้ยุบสภาของกลุ่มนักวิชาการที่เห็นใจเสื้อแดง เพราะไม่ต้องการเห็นการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายตรงข้าม

ส่วนปฏิกิริยาตอบโต้ของรัฐบาลและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คือการเรียกหาพลังคนเสื้อแดง คานอำนาจกับพวกประชาธิปัตย์ ด้วยวาทกรรมต่อต้านการทำรัฐประหารทุกรูปแบบ รักษารัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มาจากการเลือกตั้ง  การแก้ไขก.ม.ร.ธ.น.เป็นอำนาจของรัฐสภา เพราะรัฐสภามาจากอำนาจของประชาชน จะต้องไม่มีอำนาจนอกระบบ มือที่มองไม่เห็นเข้ามาแทรกแซงอีกครั้ง  และปฏิเสธคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้การแก้ไขที่มาและคุณสมบัติของ สมาชิกวุฒิสภา ที่ให้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเป็นโมฆะ เพราะขัดกับร.ธ.น.มาตรา 68 เข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง

การเมืองล้าหลังของชนชั้นนำไทย

การเมืองของผู้นำ ชนชั้นนำสองฝ่ายข้างต้นวนเวียนอยู่กับข้อถกเถียงเก่าๆ ช่วงชิงอำนาจรัฐมากกว่าการผลักสังคมไปข้างหน้า พรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดงคิดภายใต้กรอบเสรีนิยมที่ยื่นเสรีภาพเฉพาะระดับผู้นำ นายทุน ไม่พ้นกรอบทักษิณ แทนที่จะแก้ไขระบบยุติธรรม แล้วนำทักษิณกลับมาพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง  

ส่วนพวกประชาธิปัตย์ เสื้อเหลืองที่หนุนรัฐประหารมีทัศนะการเมืองล้าหลังดักดานยิ่งกว่า เนื่องจากยังใช้วาทกรรมรักชาติรักแผ่นดิน  แม้จะมีการเรียกร้องปฏิรูปประเทศไทยสภาประชาชน แต่ไม่มีทางเป็นไปได้  เพราะมีที่มาของการล้มระบบเลือกตั้ง เป็นการปฏิรูปสังคมภายใต้กรอบวัฒนธรรมของฝ่ายขวา  ยินยอมให้แกนนำจากพรรคปชป.นำการชุมนุม  ยอมรับที่จะรักษาก.ม.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพไว้เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรง ข้าม  นั่นคือพวกปฏิรูปที่พร้อมใช้แนวฟาสซิสต์ทำลายประชาธิปไตย ทำลายคนที่เห็นต่าง

สำหรับขบวนการภาคประชาชนที่สนับสนุนการต่อสู้ตามแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นักพัฒนาเอกชนออกมาต้านนิรโทษกรรมเหมาเข่งที่ล้างผิดให้ทักษิณ มากกว่ากล่าวถึงการเอาคนสั่งฆ่าประชาชนปี 53 มาลงโทษ  แม้จะมีสอดแทรกประเด็นปัญหาสิทธิเสรีภาพของแรงงาน แต่พูดภายใต้กรอบอุดมการณ์ฝ่ายขวา ดังเห็นจากแถลงการณ์ของสรส.  (สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) แถลงการณ์ฉบับที่ 4 เรื่อง ร่วมสำแดงพลังเปลี่ยนแปลงประเทศไทย. ที่มา เว็บไซด์ สรส. http://www.thaiserc.com/ ) ที่ต้องการปฏิรูปประเทศที่ให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพมีส่วนร่วมตามสัดส่วน  พร้อมกับยอมรับเรื่องระบบสรรหาส.ว.ตามคำตัดสินของศาลร.ธ.น. (เครื่องมือรับใช้ผู้ก่อการรัฐประหาร 49)  การเคลื่อนไหวของแรงงานกลุ่มนี้ วนเวียนอยู่กับฐานคิดจุดยืนเดิม มุ่งเอาชนะทุนทักษิณอย่างเดียวโดยไม่สนใจกติกาประชาธิปไตย

กรอบคิดของฝ่ายขวากำลังโกหกคำโตว่าจะสามารถปฏิรูปประเทศไทยได้ เพราะ

1.สภาประชาชนข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เจตนากีดกันคนเสื้อแดงรากหญ้าออกไป และลดทอนระบบการเลือกตั้งระดับชาติ โดยอ้างระบบรัฐสภาเผด็จการเสียงข้างมาก แล้วให้คนดีที่เคยสนับสนุนเผด็จการรัฐประหารมาปกครองแทน  ซึ่งเท่ากับกำลังบั่นทอนระบอบประชาธิปไตยที่ให้อำนาจแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

2.ประชาชนรากหญ้าจะเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายของประเทศ ควบคุมตรวจสอบการทำงานของรัฐ ตัวแทนของตนได้อย่างไร หากไม่มีอำนาจอยู่ในมือ เช่น อำนาจศาล ตุลาการที่ยังไม่สามารถเลือกตั้ง ตรวจสอบ ถอดถอนได้ แล้วจะเรียกได้อย่างไรว่า อำนาจตุลาการคืออำนาจอธิปไตยอำนาจหนึ่งของประชาชน ตามที่พร่ำสอนกันในสถาบันการศึกษา  องค์กรอิสระ องค์กรสิทธิมนุษยชน ส.ว. ที่มาจากการสรรหาที่ผ่านมาก็ล้วนเลือกปฏิบัติกับคนเสื้อแดง ไม่คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน ฉะนั้น จึงหาหลักประกันอะไรไม่ได้ที่ คนยากจน ผู้ใช้แรงงานจะได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้เสมอหน้ากับผู้มีอำนาจรัฐ และกลุ่มทุนทุกกลุ่มได้

3.การส่งเสริมสิทธิในการชุมนุม รวมตัว เพิ่มอำนาจในการเจรจาต่อรองของแรงงาน คนยากจนไม่สามารถเข้าถึงได้จริงภายใต้รัฐเผด็จการอำนาจนิยม หรือการนำของพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด ที่คอยเป่าหูสาธารณชนอยู่ตลอดเกี่ยวกับเผด็จการรัฐสภา แต่ตัวเองเอาชนะใจประชาชนไม่ได้ แข่งขันไม่ได้   ก็ฉวยโอกาสขึ้นสู่อำนาจด้วยการเข้าข้างเผด็จการทหารและมือเปื้อน เลือด  ทั้งไม่มีข้อเสนอปรับปรุงระบบเลือกตั้งให้โปร่งใส ขจัดปัญหาคอรัปชั่น และส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองสู่ประชาชนในท้องถิ่น  ฉะนั้นการพูดถึงปัญหาคอรัปชั่นที่ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบอย่างเท่าเทียมกันจึงเป็นเรื่องโกหก

4.ประวัติศาสตร์การเมืองในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และในอดีตของไทย แรงงาน คนยากจนต่อต้านเผด็จการทหาร ที่คอรัปชั่นอำนาจและผลประโยชน์ของประชาชน  เพราะวัฒนธรรมทหารนิยมที่โน้มเอียงใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบไม่สามารถแก้ไข ปัญหาวิกฤตใดๆ ได้

5.การอวดอ้างความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อให้ถูกมองว่าเป็นคนดี เอาเข้าจริงลัทธิชาตินิยมมีผลประโยชน์เดียวกันกับประชาชนหรือไม่  ความมั่งคั่งของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาจากอะไร ศาสนาสอนให้เรามีสิทธิเสรีภาพได้จริงหรือ ชาติที่ว่าหากเป็นของประชาชนแล้ว ทำไมยังยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทหาร ศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้ แล้วจะสร้างวัฒนธรรมการตรวจสอบ การปกครองตนเองของประชาชนได้อย่างไร

6.การทำลายเสรีภาพในการถกเถียงความคิดทางการเมืองที่ก้าวหน้า ไม่อนุญาตให้ประชาชนมีอำนาจที่สมบูรณ์ โดยการใช้กฎหมายเผด็จการปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชน  ฉะนั้นหากจะสู้เรื่องประเด็นสิทธิและความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน ต้องยอมรับกรอบชาตินิยม มาปิดปากตัวเองไม่ให้วิจารณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์กับทหารอย่างนั้นหรือ  ยอมตกเป็นทาสระบอบคนดีที่วิจารณ์ไม่ได้ใช่หรือไม่ ถ้าเช่นนั้น เมื่อไรมวลชนจะมีความคิดก้าวหน้า แข่งขันการเมืองของพวกชนชั้นปกครอง และเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตย

ดังนั้น การเมืองของฝ่ายขวา ที่จ้องขจัดระบอบทักษิณให้สิ้นซากก็ได้เข้าทำลายระบบประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กัน และนิยมการใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาการเมือง ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศจะไม่ได้ประโยชน์จากการเมืองของพวกล้าหลังนี้

ทางออก : ไปให้ไกลกว่ากรอบคิดเสรีนิยมและประชานิยม

เนื่องจากผู้เขียนไม่ได้คาดหวังอะไรจากพรรคเพื่อไทย แต่คาดหวังให้ขบวนการเสื้อแดงเอาชนะฝ่ายเผด็จการอำมาตย์ และเอาชนะใจมวลชนมากขึ้น  ฉะนั้น จึงควรแก้ไขข้อผิดพลาดข้างต้น ไม่ให้ถูกฝ่ายตรงข้ามฉุดกระชากการเมืองไทยให้ถอยหลัง ต้องปล่อยนักโทษการเมือง ยกเลิก 112 เดินหน้าสู่การสร้างรัฐสวัสดิการ ไปให้ไกลกว่ากรอบคิดเสรีนิยมและประชานิยม

ทั้งนี้ นโยบายประชานิยมของรัฐบาลเริ่มส่อแววถึงทางตัน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน ไม่สามารถกระจายปัจจัย ทรัพยากร ความมั่งคั่งอย่างยุติธรรม ไม่ช่วยลดปัญหาการคอรัปชั่น  และแนวเสรีนิยม (มือใครยาวสาวได้สาวเอา) ที่ปัญญาชนและนักการเมืองกระแสหลักเชียร์อยู่ไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยให้ ประชาชนมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ

แน่นอน รัฐต้องมีหน้าที่ดูแลประชาชน คนยากจน ผู้ใช้แรงงาน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี แต่จากการอ่านบทวิเคราะห์เรื่องนโยบายประชานิยม และติดตามบางโครงการ เช่น โครงการรับจำนำข้าว เงินเดือนป.ตรี 15,000 ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 มองว่า ประเด็นปัญหาหลักคือ ประชาชนยังยากจนอยู่ รายได้และสวัสดิการต่ำ คุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น ทำงานหนักแต่ไม่มีหลักประกัน ตกงานง่าย เพราะรัฐไม่มีรายได้พอที่จะดูแลประชาชน ทั้งๆ ที่เงินมีเยอะ และประเทศไทยไม่ใช่ประเทศยากจน

ปัญหาโครงการรับจำนำข้าวล่าสุด ที่ชาวนายังไม่ได้รับเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งผู้เขียนมองว่า ไม่ใช่ปัญหาการขาดทุนสองแสนล้านบาท อย่างที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ยกมาเป็นข้อวิจารณ์หลัก เพราะสนใจแต่เรื่องปัญหาวินัยการคลัง การแทรกแซงกลไกตลาดราคาข้าว เกิดปัญหาระบายข้าวในราคาที่ต่ำและทำให้รัฐขาดทุน  (นิพนธ์  พัวพงศกร. 27 มิ.ย. 56 ปัญหาจากการล่มสลายของโครงการรับจำนำข้าว. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.  )   ผู้เขียนกลับมองว่า จะทำอย่างไรให้การช่วยเหลืออุดหนุนของรัฐมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือชาวนายากจนมากกว่านี้   ซึ่งองค์กรเลี้ยวซ้ายได้มีข้อเสนอแก้ปัญหาผู้ผลิตให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และแก้ปัญหาผู้บริโภคให้สามารถซื้อข้าวในราคาถูก  ด้วยการให้รัฐรับซื้อข้าวราคาแพงจากชาวนา และขายข้าวราคาถูกให้แก่ผู้บริโภค ในส่วนต่างนั้นรัฐก็นำเงินภาษีที่เก็บในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยมากๆ  โดยเฉพาะพวกโรงสี พ่อค้าส่งออกข้าว ในอัตราสูงพิเศษมาอุดหนุน หรือไปลดงบประมาณอื่นๆ ที่สิ้นเปลือง เช่นงบประมาณทหาร และงบพิธีกรรมต่างๆ (อ่านเพิ่มเติมใน วัฒนะ วรรณ. 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556. ลดเงินจำนำข้าว ความอัปลักษณ์ของพวกคลั่งกลไกตลาด. เว็บไซด์องค์กรเลี้ยวซ้าย )

การเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า บทพิสูจน์ความรักต่อประชาชน

ขบวนการคนเสื้อแดงจะต้องพิสูจน์ว่าผู้นำของตัวเองรักประชาชนจริงหรือไม่  แรงงานก็ต้องพิสูจน์เช่นกันว่า ผู้นำแรงงานมีวิสัยทัศน์และความจริงใจในการสร้างผลประโยชน์ทางชนชั้นและ ประชาธิปไตยของแรงงานหรือไม่  เพราะการเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้าจะต้องไม่มีข้อยกเว้นให้กลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง เช่นเดียวกันกับระบบในอังกฤษ  และเพิ่มอัตราการเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาและรายได้นิติบุคคลจากคนรวยมากๆ  เพราะคนรวยจำนวน 20% ของประชากรทั้งหมดในประเทศมีรายได้เท่ากับ 50%-60% ของจีดีพี มีบัญชีเงินฝากธนาคาร ถือครองที่ดินจำนวนมาก ซื้อขายที่ดินเก็งกำไร เล่นหุ้น  ระดับผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นบริษัทมีรายได้มากกว่าพนักงาน 60-100 เท่า  แต่การจัดเก็บรายได้โดยภาพรวมของไทยอยู่ในระดับต่ำ อยู่ที่ร้อยละ19 ต่อ GDP ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่มอาเซี่ยน  และค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว   ฉะนั้นหากเพิ่มฐานการเก็บภาษีทรัพย์สินจากคนรวยจำนวนสามแสนกว่าคน จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่ำร้อยละ 22 ของจีดีพี

แต่รัฐบาลกลับผลักดันนโยบายลดอัตราภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเพื่อนำเงินไปใช้บริโภคมาก ขึ้น หลังจากที่ลดภาษีรายได้นิติบุคคลให้บริษัทเพื่อจูงใจนักลงทุน  โดยหวังว่าเมื่อคนมีรายได้มากขึ้น ก็ใช้จ่ายมากขึ้น และหวังว่าการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะช่วยดึงดูดผู้มีรายได้ให้เข้า สู่ระบบฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากขึ้น (ปัจจุบันมีผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในระบบประมาณ 2 ล้านคนเท่านั้น) ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพื่อใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศได้มาก ขึ้น (เว็บไซด์ อาร์วายทีไนน์. รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556,

http://www.ryt9.com/s/mof/1781630 )   แต่รัฐบาลไม่มีนโยบายเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ใช้แรงงานให้เพียง
พอต่อการค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมาก และเพิ่มหลักประกันความมั่นคงตั้งแต่เกิดจนตาย  เช่น จัดสวัสดิการเรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี เงินบำนาญให้แก่ประชาชนอย่างถ้วนหน้า  ซึ่งเท่ากับว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะตกเป็นภาระของปัจเจก /ครอบครัวแบบตัวใครตัวมัน   เมื่อรัฐบาลไม่ได้รักไม่ได้จริงใจต่อประชาชน ฉะนั้นจึงเป็นภารกิจเร่งด่วนของคนเสื้อแดง ผู้รักประชาธิปไตยที่จะทวงคืนความยุติธรรม สร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นด้วยการกดดันรัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องที่สร้างประชาธิปไตย ตามกรอบที่เสนอมา

หมายเหตุผู้เขียน: *บทความนี้ปรับปรุงจากบทความเรื่อง"มองการเมือง (ถอยหลัง)ของชนชั้นนำผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม ตอนที่2" จากเว็บไซต์องค์กรเลี้ยวซ้าย  )

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: มองการเมือง (ถอยหลัง)ของชนชั้นนำผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม ตอนที่2"

ที่มา.ประชาไท
-----------------------------

วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ปชป.ลอยแพ สุเทพ.จุดเปลี่ยนโหมพลัง ทัพประชาชน.

แม้มวลชนผู้ชุมนุมจะไม่ได้เคลื่อนไหวใหญ่โตเหมือนช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา แต่ก็ถือเป็นวันที่มี “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญของขบวนการต่อสู้เพื่อโค่นล้มระบอบทักษิณเกิดขึ้นถึง 2 จุดสำคัญ
     
       จุดเปลี่ยนแรกก็มาจากการแถลงท่าทีของ “พรรคประชาธิปัตย์” ต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ที่ทำให้บรรดากองเชียร์-แม่ยกผิดหวังไปตามๆ กัน
     
       เมื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ควงคู่มากับ “ชวน หลีกภัย” พร้อมเกณฑ์ ส.ส.มาห้อมล้อมครึ่งค่อนพรรค เพื่อแถลงข่าวใหญ่ประกาศต่อสู้ล้มล้างระบอบทักษิณแต่ไม่ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ให้เหตุผลว่าเป็นพรรคการเมืองในระบบรัฐสภาที่จำเป็นต้องทำหน้าที่ต่อไป
     
       โดยจะเดินสายร่วมต่อสู้เคลื่อนไหว “คู่ขนาน” กับมวลชนควบคู่กับการปฏิรูประเทศของภาคประชาชน
     
       การตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นการ “ตบหน้า” ประชาชนฉาดใหญ่ เพราะที่ผ่านมา “ม็อบราชดำเนิน” ได้ตระเวนเดินสายขอความร่วมมือข้าราชการ-ประชาชนให้ “บอยคอต” ปฏิเสธอำนาจรัฐบาล และ “อภิสิทธิ์” เองก็พูดย้ำแล้วย้ำอีกว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมไปแล้ว
     
       แต่กลับมา “พลิกลิ้น” ว่ายังต้องทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรดูแลทุกข์สุขประชาชนไม่จำเป็นต้องลาออกไปเพื่อร่วมต่อสู้กับประชาชน
     
       ทั้งๆ ที่เมื่อดูบทบาทที่ “ค่ายสีฟ้า” ต่อสู้ในระบบรัฐสภานอกจากจะไร้ประโยชน์ เพราะแทบไม่สามารถระคายเคืองให้แก่รัฐบาลแม้แต่น้อยโดยเฉพาะในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา ทั้งที่สองปีกว่ามานี้ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เต็มไปด้วยแผลฉกรรจ์เหวอะหวะแต่ขุนพลประชาธิปัตย์ก็ไม่เห็นขยายแผลได้เลย
     
       ชี้ให้เห็นว่าการทู่ซี้อยู่ในระบบรัฐสภาต่อไปก็ไร้ประโยชน์
     
       งานนี้คนที่ผิดหวังมากที่สุดก็หนีไม่พ้น “สุเทพ เทือสุบรรณ” ที่ลงทุนลงแรงถอดหัวโขนออกมาปลุกปั้นขบวนการโค่นล้มระบอบทรราชทักษิณร่วมกับภาคประชาชนจนติดลมบนกลายเป็น “พลังมวลมหาประชาชน” อย่างที่เห็นกันอยู่
     
       สะท้อนภาพความเลือดเย็นของ “อภิสิทธิ์” ที่กล้าทิ้งแม้กระทั่งคนที่ร่วมเป็นร่วมตายมาด้วยกันมาอย่าง “สุเทพ” โดยใช้หลักการมาบังหน้าเช่นเคย
     
       เป็นที่มาของบทปราศรัยที่เรียกว่าคร่ำเครียดที่สุดนับตั้งแต่ออกมานำม็อบตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือนเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมาของ “กำนันสุเทพ” ซึ่งเต็มไปด้วยความอึดอัดใจและสะท้อนผิดหวังต่อทิศทางของ “อดีตต้นสังกัด”
     
       ไม่แปลกที่สิ่งที่สะกดไว้ในใจจะพรั่งพรูออกมา โดยหวยก็ไปออกที่"กรณ์ จาติกวณิช" ซึ่งโดน "สุเทพ"สับแหลกถึงคอมเมนต์ที่ไม่เห็นด้วยเรื่องการนำม็อบยึดกระทรวงการคลังอย่างสาดเสียเทเสีย
     
       ทั้งที่รู้กันดีว่าการตัดสินใจยกระดับการชุมนุมเยี่ยมเยือนสถานที่ราชการหลายแห่งรวมทั้งปักหลักพักค้างทั้งที่กระทรวงการคลัง หรือล่าสุดลองมาร์ชเกือบ 20 กม.ไปที่ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะนั้น "ฟีดแบ็ก"ที่กลับมาเป็นบวกมากกว่าลบ เพราะถือเป็นมาตรการอารยะขัดขืนตามครรลองการต่อสู้ของภาคประชาชนที่สงบอหิงสาปราศจากอาวุธ
     
       คำพูดที่ฝากไปถึง "กรณ์"เป็นอารมณ์ที่เก็บงำในใจมาหลายวัน เพื่อถนอมน้ำใจพรรคประชาธิปัตย์เอาไว้ก่อนเพราะคิดว่าจะเสียสละออกมาร่วมสู้กันเต็มตัว แต่เมื่อ "ค่ายสีฟ้า"แสดงความไร้ใจให้ ก็ไม่มีเหตุผลต้องอมพะนำเอาไว้อีก
     
       นัยคำปราศรัยเมื่อคืนจึงไม่ใช่แค่อาการไม่สบอารมณ์ของ"สุเทพ" ที่มีต่อ "กรณ์" เท่านั้นแต่ฝากไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ทั้งพรรค
     
       เพราะเมื่อ "สุเทพ" อยู่ในสถานการณ์ศึกสองหน้าด้านหนึ่งต่อสู้กับระบอบทักษิณ อีกด้านก็ต้องต่อสู้กับพวกเดียวกัน ทำให้ต้องเลือก"ทิ้งบอมบ์" ใส่ "กรณ์" เพื่อดิ้นออกจาก "จุดอับ"ในศึกสองหน้า และมาโฟกัสทำศึกฟาดฟันกับ "ทรราช" เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองเพียงอย่างเดียว
     
       ซึ่งส่งให้ "สุเทพ" ไม่ใช่คนของประชาธิปัตย์อีกต่อไปแต่ได้กลายเป็นคนของประชาชนเต็มตัวไปแล้ว
     
       จุดเปลี่ยนที่สอง ก็คือการประกาศของ"หลวงปู่พุทธอิสระ" ขอเป็นแกนนำการชุมนุมและขอรับไม้ต่อหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับ "สุเทพ"ซึ่งก็เป็นผลมาจากคำแถลงของ "อภิสิทธิ์" นั่นเอง
     
       จับสุ้มเสียงของ "หลวงปู่ฯ" ก็พอทำให้ทราบได้ว่าสาเหตุลึกๆ ที่ประกาศตัวมาเป็นแกนนำ ก็เพราะได้ร่วมเคียงคู่ต่อสู้กับ"กำนันสุเทพ" มาโดยตลอด ทำให้เข้าใจและเห็นใจการที่ถูก"คนกันเอง" หักหลังหักอกแบบไม่คิดไม่ฝัน
     
       สิ่งที่พอช่วยได้ก้็คือ การมาร่วมยืนเคียงคู่ในแถวหน้า
     
       ทั้งสองจุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงเป็นการสะท้อนถึงความเห็นแก่ตัวเอาแต่ได้ของ "ค่ายสีฟ้า" หวังรอแค่"ส้มหล่น" หากมีการโค่นระบอบทักษิณสำเร็จ ไม่คิดที่จะแสดงความเสียสละหรือแสดงความจริงใจใดๆ
     
       อ้างแค่ครรลองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา หรือเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นว่าขอทำหน้าที่ในฐานะ"พรรคการเมือง" ต่อไป ทั้งที่ตลอดสองปีกว่าที่ผ่านมาการต่อสู้ในฐานะฝ่ายค้านกลับทำให้เรตติ้งของพรรคสาละวันเตี้ยลงๆด้วยพฤติกรรมที่ถ่อยเถื่อนมากขึ้นทุกขณะ
     
       อาการเกาะเก้าอี้ไว้แน่นก็แค่อาการของคนที่จมไม่ลงเท่านั้น
     
       ไม่น่าแปลกใจเลยว่าตลอดค่ำคืนที่ผ่านมากระแสในสังคมอนนไลน์จะหันมาพุ่งเป้าโจมตีไปยัง "ค่ายสีฟ้า"ดูได้จากหน้าเฟซบุ๊กของ "กรณ์ จาติกวณิช" หรือของ"ประชาธิปัตย์" เองที่ถูกกระหน่ำถล่มตลอดทั้งคืน
     
       ฉายา "พรรคแมลงสาบ"ที่เลือนหายไปพักใหญ่ก็กลับมาหลอกหลอนพรรคเก่าแก่อีกครั้ง
     
       และก็ทำให้คนพวกแรกที่กลายเป็น "โมฆะ"ก่อนใครเพื่อนกลับเป็น "พรรคประชาธิปัตย์"ที่จะไม่ได้อะไรจากการต่อสู้ครั้งนี้ แทนที่จะเป็น "รัฐบาลยิ่งลักษณ์"อย่างที่ตั้งใจกันเอาไว้
     
       ในทางกลับกันก็ส่งผลให้เรตติ้งของ "อดีตกำนันท่าชนะ"พุ่งทะยานสูงขึ้น และเชื่อว่าจะทำให้การต่อสู้ครั้งนี้จะทรงพลังมากยิ่งขึ้นเมื่อไร้ "ตัวถ่วง" ที่ชื่อ "พรรคประชาธิปัตย์"
     
       อย่างน้อยคนที่เกลียดทักษิณ แต่ไม่ชอบประชาธิปัตย์ก็คงสะดวกใจมากขึ้นในการออกมาแสดงพลังเสริมกำลังร่วมปฏิรูปประเทศกับประชาชนเพิ่มเติมอย่างแน่นอน
     
       ด้วยพลังการต่อสู้ที่บริสุทธิ์มากขึ้นเมื่อไร้เงา"ประชาธิปัตย์" ทาบทับอยู่ ทำให้เชื่อว่าเสาร์-อาทิตย์นี้ที่เป็น"เส้นตาย" ในการโค่นล้ม "ทรราชทักษิณ"จะมีมวลชนแห่แหนออกมามากกว่าที่ผ่านๆ มา
     
       ความเห็นแก่ตัวของคนบางพวก กลับเสริมพลานุภาพให้"ทัพกำนัน" อย่างไม่น่าเชื่อ

ที่มา.ผู้จัดการ
///////////////////////////////////////////////

ไทม์: ชำแหละ ปชป. โยงม็อบเทือก.

เผยแพร่บทความเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย หัวข้อเรื่อง "พรรคประชาธิปัตย์ของไทย ชื่อพรรคนี้ตั้งผิดอย่างฮา" (Thailand’s Democrat Party Is Hilariously Misnamed) พร้อมโปรยใจความว่า อย่าไปเชื่อการพูดถึง "ปฏิวัติประชาชน" ของกลุ่มเสื้อเหลือง - สิ่งที่เรียกร้องนั้นไม่ใช่เรื่องอื่นใดที่ต่างจากการยึดอำนาจ Don′t believe Yellow Shirt talk of a "people′s revolution" — what′s being demanded is nothing short of a putsch เขียนโดย ชาร์ลี แคมป์เบล

 เนื้อหาของบทความชิ้นนี้ระบุว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่แสดงผ่านสีเสื้อปะทุขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับเรียกกลุ่มผู้ประท้วงที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ว่ากลุ่มเสื้อเหลือง เป็นกลุ่มที่บุกยึดอาคารราชการของรัฐบาลในเมืองหลวง และศาลากลางจังหวัดอื่นๆ อีกอย่างน้อย 19 จังหวัด เพื่อเรียกร้องให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเสื้อแดง ลงจากตำแหน่ง
 
 ในความเห็นของกลุ่มเสื้อเหลือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ วัย 46 ปี เป็นหุ่นเชิดของพี่ชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ หลังจากถูกรัฐประหารในปี 2549 และต้องโทษจำคุก 2 ปี ในข้อหาคอร์รัปชั่น คลื่นคนเสื้อเหลืองก่อตัวขึ้นจากร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ตอนนี้ระงับไว้แล้ว ว่าจะเปิดทางให้พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน และความพยายามของน.ส.ยิ่งลักษณ์ที่จะรวมอำนาจด้วยการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของวุฒิสภา

 ในวันอังคารที่ 26 พ.ย. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องการปฏิวัติประชาชนอีกครั้ง และให้สภารอยัลลิสต์ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแทนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มาจากการเลือกตั้ง นายสุเทพพยายามแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีจุดมุ่งหมายส่วนตัว ด้วยการประกาศว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต
 ขณะที่มีหมายจับนายสุเทพในข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการผิดกฎหมายออกมาแล้ว

 ยิ่งเวลาผ่านมายิ่งเป็นเหมือนละคร แต่สิ่งที่เกิดในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ราชอาณาจักรแห่งนี้เป็นจุดหมายสุดหรูของนักท่องเที่ยวหลายล้านคนทุกปี ขณะที่เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สำคัญชัดเจนไปกว่านั้น ประชาธิปไตยของไทยเป็นตัวอย่างกับประชากรอื่นๆ ในชาติเพื่อนบ้าน  พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม หลังจากเฝ้ามองด้วยสายตาอิจฉาการเจริญเติบโตของไทยมานาน

 กระทั่งการมาของพรรคชื่อกลับตาลปัตรว่าพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ท่ามกลางผู้ปฏิบัติในระบอบประชาธิปไตยที่แย่ที่สุด กลุ่มเสื้อเหลืองหลายหมื่นคนออกมาเดินขบวนไปทั่วประเทศ แต่กลับเรียกร้องสภารอยัลลิสต์ ที่ดูจะเป็นการปฏิวัติประชาชนได้ยาก

 ถ้าจะพูดถึงคนที่แสดงถึงการใช้พลังประชาชนแล้วล่ะก็นั่นคือผู้ลงคะแนนเสียง15 ล้านเสียงที่เลือกน.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยในเดือนกรกฎาคม 2554 และพรรคการเมืองที่พ.ต.ท.ทักษิณสนับสนุนก็ชนะการเลือกตั้งก่อนหน้าด้วยเสียงส่วนใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง นโยบายประชานิยมของพ.ต.ท.ทักษิณช่วยทำให้คนในชนบทหลายล้านพ้นจากความยากจน และยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475

 แน่นอนว่า มีเหตุผลมากมายที่จะต่อต้านมหาเศรษฐีพันล้านคนนี้ ไม่ว่า การทำสัญญาธุรกิจหลายอย่างในช่วงที่อยู่ในตำแหน่ง จนเกิดข้อครหาว่าขาดจริยธรรม ส่วนสงครามกวาดล้างยาเสพติดทำให้มีการฆ่าตัดตอน 2,800 ศพ ภาพของพ.ต.ท.ทักษิณที่กำกับผู้ประท้วงจากนครรัฐดูไบ แดนสวรรค์  ขณะที่กลุ่มเสื้อแดงเสี่ยงกับการถูกจับกุม ความรุนแรง รวมถึงเสี่ยงตาย ไม่ได้ทำให้เป็นฮีโร่แต่อย่างใด แต่การที่ฝ่ายค้านล้มเหลวที่จะดึงจุดอ่อนเหล่านี้มาใช้ กลับเป็นเรื่องน่าฉงน

 "เรามักพูดถึงทักษิณว่า เขาขี้โกง ละเมิดอำนาจ แต่เขาก็ยังชนะการเลือกตั้ง ดังนั้นเราน่าจะเริ่มตั้งคำถามถึงฝ่ายต่อต้านเขาบ้าง" นายธิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

 พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงส่วนใหญ่ครั้งสุดท้ายเมื่อปี2535 แรงสนับสนุนของพรรคมีฐานเป็นชนชั้นกลางกรุงเทพฯ ที่ศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์  อธิบายว่า "ขี้กลัว เห็นแก่ตัว ไร้มารยาท บริโภคนิยม และไม่มีวิสัยทัศน์ถึงอนาคตของประเทศที่เหมาะสม"  พรรคนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในชนบทที่ภาคอีสาน ซึ่งเป็นเขตแดนของคนเสื้อแดง และกลุ่มคนที่ยังลังเลตอนเข้าคูหา

 แทนที่จะพัฒนานโยบายและแผนงานทางการเมืองที่จะเอาชนะเสียงของคนชนบท กลับทำเหินห่างจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นแกนหลัก ด้วยการเรียกหาพันธมิตรผู้ทรงอำนาจอื่น เช่น ทหาร หรือฝ่ายตุลาการ มาทำลายคู่ต่อสู้

 รูปแบบดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลที่พ.ต.ท.ทักษิณสนับสนุนได้รับการเลือกตั้ง จากนั้นก็ถูกโค่นโดยกลไกของกลุ่มชนชั้นสูงในการรัฐประหารปี 2549 ต่อมา ปี 2551 พรรคพลังประชาชนก็ถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ประท้วงออกมาบนท้องถนน เกิดการนองเลือดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และพรรคที่พ.ต.ท.ทักษิณก็ชนะการเลือกตั้งอีก

 แม้ว่าการตัดสินใจในนโยบายภายในประเทศที่ไม่ได้รับความนิยมกัดกร่อนความนิยมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาสั่งการสลายการชุมนุมปี 2553 ระหว่างอยู่ในตำแหน่ง ก็ไม่อาจทำอะไรได้ในการลงมติไม่ไว้วางใจน.ส.ยิ่งลักษณ์เมื่อวันพฤหัสฯ ส่วนการยึดสถานที่ราชการของกลุ่มเสื้อเหลืองก็ส่งผลตรงข้ามกับที่ตั้งใจไว้

 "ยิ่งลักษณ์คว้าในสิ่งที่คล้ายกับชัยชนะซึ่งพลิกจากความพ่ายแพ้ในนาทีสุดท้ายอย่างฉิวเฉียด"นายเบนจามิน ซาวักกีที่ปรึกษาอาวุโสด้านกฎหมายของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนICJกล่าวและว่าสำหรับนายสุเทพนั้นดูเหมือนจะทำล้ำเส้นไปแล้ว

 ด้านกลุ่มสาขาของพรรคเพื่อไทยคุมเชิงอยู่อีกด้านในสถานการณ์อลเวงนี้ กลุ่มที่ภักดีต่อพ.ต.ท.ทักษิณชุมนุมกันอยู่ที่สนามราชมังคลากีฬาสถานและนัดชุมนุมใหญ่ในวันเสาร์นี้

 หลายคนหวังว่าความขัดแย้งของกลุ่มสีเสื้อจะยุติลงหลังเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษาฯ-พฤษภา2553 ในใจกลางกรุงเทพฯที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ100ศพและบาดเจ็บกว่า2,000คน แต่น่าเสียใจที่สัญญาณต่างๆ ดูเหมือนจะเพิ่มความตึงเครียดขึ้น แม้ว่าวันที่ 5 ธันวาคม  วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันสำคัญของประเทศไทยใกล้เข้ามาแล้ว มีบางคนเชื่อว่านายสุเทพไม่ต้องการให้การชุมนุมนี้ไปขัดช่วงเวลาดังกล่าว  ดังนั้นจึงเป็นไปได้ตามการวิเคราะห์ของซาวักกีว่า "การเพิ่มสถานการณ์ให้ตึงเครียดนั้นก็ทำด้วยความหวังว่าจะมีรัฐประหาร หรืออย่างน้อยก็มีการประกาศกฎอัยการศึกชั่วคราว"

 นี่เป็นการเมืองแบบรุนแรง พรรคประชาธิปัตย์อาจรักษาการใช้ชื่อตัวเองต่อไปได้ แต่การเห็นผู้สนับสนุนมากมายของพรรคเปลี่ยนสีเสื้อจากสีเหลืองเป็นสีดำนั้นเป็นงานถนัดที่แปลกจริงๆ

ที่มา.ข่าวสด
--------------------------

จาก ชัยวัฒน์ ถึง สุเทพ และ สันติวิธี.

โดย.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

ผมเขียนจดหมายฉบับนี้ด้วยความเป็นห่วงว่าความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่จะกลายสภาพเป็นความรุนแรง เช่นที่บ้านเมืองของเราเคยมีประสบการณ์มาแล้วในอดีต ทั้งที่ครั้งนี้ คุณสุเทพก็ดี นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ก็ดี ได้แสดงท่าทีชัดว่าประสงค์จะเผชิญกับความขัดแย้งครั้งสำคัญนี้โดยหลีกเลี่ยงไม่ใช้ความรุนแรง

ผมขออนุญาตเรียนให้ความเห็นคุณสุเทพเรื่องการต่อสู้ด้วย”สันติวิธี”และ อารยะขัดขืน เพราะเชื่อว่าอาจช่วยให้คุณสุเทพต่อสู้เพื่ออนาคตของทุกฝ่ายในสังคมไทยได้กระจ่างชัดขึ้น

ข้อแรก ถ้าถามว่า การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การเป่านกหวีด การเรียกร้องให้ชะลอการเสียภาษี รวมถึงการ”เดินดาวกระจาย”ไปเข้ายึดครองอาคารสถานที่ของหน่วยราชการต่างๆเป็น”สันติวิธี”หรือไม่ ผมคงตอบว่า การชุมนุมประท้วงในที่สาธารณะเป็นการแสดงออกด้วยสันติวิธีที่แพร่หลายทั่วไป การเป่านกหวีดเป็นการใช้สันติวิธีเชิงสัญลักษณ์ การเรียกร้องให้ชะลอการเสียภาษีเป็นสันติวิธีแบบไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐ ขณะที่การเข้ายึดครองอาคารสถานที่ราชการเป็นการแทรกแซงด้วยสันติวิธี

การเข้ายึดครองอาคารสถานที่เช่นนี้มีให้เห็นตั้งแต่สองพันปีก่อน เมื่อบิชอปชาวคริสต์ ปฏิเสธคำสั่งของรัฐบาลโรมันที่สั่งให้ยกส่วนหนึ่งของโบสถ์ในมิลานให้ชาวคริสต์นิกายอื่น ท่านบิชอป ละเมิดกฏยึดครองโบสถ์ทำพิธีมิสซาในโบสถ์อยู่ 5 วัน นี่เกิดเมื่อปี ค.ศ.385 หรือ ชาวอเมริกันอินเดียนเป็นร้อยคนบุกยึดเกาะอัลกาตราสในอ่าวซาน ฟรานซิสโกซึ่งรัฐบาลอเมริกันใช้เป็นคุกมานาน เหตุเกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1969 พวกเขายึดเกาะนี้อยู่ถึง 2 ปี (15 คนสุดท้ายถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางพาตัวออกไปเมื่อ มิถุนายน 1971) หรือที่รู้จักกันทั่วโลกก็คือการใช้สันติวิธีเข้ายึดครองพื้นที่ทางเศรษฐกิจ การเงินกลางเมืองใหญ่ของโลกอย่างนิวยอร์ค ลอนดอน และ เมลเบิร์น เมื่อปี 2011 สันติวิธีเหล่านี้ล้วนเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายในระดับต่างๆกัน แต่เรื่องนี้คุณสุเทพในฐานะนักกฎหมายคงทราบดีอยู่แล้ว

ข้อสอง “สันติวิธี”เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง คนใช้สันติวิธีต้องทำความเข้าใจการทำงานของเครื่องมือที่ตนใช้ว่าทำงานอย่างไร ส่งผลเช่นไร เช่นเมื่อคุณสุเทพประกาศว่าแนวทางการต่อสู้ที่ใช้เป็น”อารยะขัดขืน” ก็หมายความว่า ผู้ใช้ต้องพร้อมรับโทษทัณฑ์ที่จะต้องได้รับจากการใช้สันติวิธีละเมิดกฎหมาย เพราะพลังของอารยะขัดขืนไม่ได้อยู่ตรงการขัดขืนเท่านั้น แต่อยู่ที่การยอมรับบทลงโทษที่จะเกิดขึ้นกับ”คนดีๆ”ที่ขัดขืนกฎหมายหรือนโยบายของรัฐ การขัดขืนและการยอมรับผลของการขัดขืนเป็นไปเพื่อให้คนในสังคมที่แลเห็นฉุกคิดว่า กฎหมายหรือนโยบายที่พวกเขาขัดขืนเป็นสิ่งไม่ชอบ จึงเกิดความขัดแย้งลึกซึ้งในระดับมโนธรรมสำนึกของสังคม จนผลักดันให้นักการเมืองต้องแก้กฎหมายหรือยกเลิกนโยบายเหล่านั้น เช่นกรณีการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวดำในสหรัฐฯโดยสาธุคุณมาร์ติน ลูเธอร์ คิง เมื่อกลางศตวรรษที่แล้ว

ข้อสาม อารยะขัดขืนไม่ใช่สันติวิธีที่มีไว้เพื่อล้มรัฐบาล หรือเปลี่ยนระบอบการเมือง เพราะการยอมรับการลงโทษคือการยืนยันความชอบธรรมของผู้ลงโทษคือรัฐ-รัฐบาล ในแง่นี้ อารยะขัดขืน ทำงานเสริมระบอบประชาธิปไตยที่มีตัวแทนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะเมื่อผู้ใช้อารยะขัดขืนเดินเข้าสู่ที่คุมขัง พร้อมๆกับที่มโนธรรมสำนึกในสังคมถูกปลุกให้ตื่นขึ้น ก็จะช่วยชี้ให้ผู้ออกกฎหมายในสภาได้ประจักษ์ว่า กฎหมายบางข้อหรือนโยบายบางอย่างของรัฐผิดพลาดไม่เป็นธรรม ทำให้พลเมืองดีต้องติดคุกติดตะราง และดังนั้นต้องแก้ไขหรือยกเลิกเสีย

สี่ สันติวิธีมีวิธีการต่างๆเป็นร้อยวิธี ถ้าวิธีการที่คุณสุเทพใช้ไม่ใช่อารยะขัดขืน แต่เป็นสันติวิธีหรือปฏิบัติการไร้ความรุนแรงรูปแบบอื่น ก็อาจทำได้และใช้สู้กับรัฐบาลก็ได้ อีกทั้งยังทำให้รัฐบาลล้มก็ได้ด้วย เช่นที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆในละตินอเมริกา (เช่นชิลี เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา และอื่นๆ)11 ประเทศระหว่างปี ค.ศ.1931-1961 แต่รัฐบาลที่ล้มลงด้วยพลังสันติวิธีของประชาชนที่รวมตัวกันต่อสู้เหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลเผด็จการทหารหรือไม่ก็เป็นรัฐบาลพลเรือนที่มีทหารหนุนหลัง อันที่จริงมีผลการวิจัยพบว่าสันติวิธีใช้ได้ผลต่อรัฐบาลเผด็จการยิ่งกว่าจะนำมาใช้ต่อสู้กับรัฐบาลในระบบประชาธิปไตยซึ่งมีฐานความชอบธรรมมาจากการเลือกตั้ง

ข้อห้า มีคนถามผมว่า การต่อสู้แบบนี้เมื่อใดจึงจะหยุดเป็นสันติวิธี? ตรงนี้คงตอบได้ 2 ทาง

ทางแรก คนที่สมาทานสันติวิธีจำนวนมากเชื่อว่า ไม่สามารถใช้สันติวิธีไปเพื่อเป้าหมายที่ไม่เป็นธรรมชนิดที่ไม่สร้างเสริมอิสระเสรีในสังคมการเมืองได้ พูดง่ายๆคือ การอดอาหารประท้วงเป็นสันติวิธีเมื่อคนอดใช้ประท้วงผู้เผด็จการหรือจักรวรรดินิยมให้ปลดปล่อยผู้คนของตนให้เป็นอิสระ แต่ถ้าผู้เผด็จการใช้วิธีอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ตนอยู่ในตำแหน่งมีอำนาจต่อไป อย่างนี้ไม่ใช่สันติวิธี

ที่สอง ผมเองเห็นว่า ไม่ว่าเป้าหมายในการต่อสู้จะเป็นเช่นไร เพื่อสร้างประชาธิปไตย หรือเพื่อรักษาสถาบันการเมืองสำคัญในชาติ แต่วิธีการที่เรียกว่า”สันติวิธี”จะหมดความหมายเมื่อผู้นำการต่อสู้หรือผู้ใช้ไม่เห็นว่า ทุกชีวิตไม่ว่าหนุ่มสาว หรือแก่เฒ่าที่เสียสละตนเองเข้าท้าทายอำนาจรัฐล้วนแล้วแต่มีคุณค่าในตนเองทั้งนั้น พวกเขามีคนที่รักและเป็นห่วงเขา ทุกชีวิตเป็นเป้าหมายศักดิ์สิทธิ์ในตนเองและดังนั้นจึงไม่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือไปเพื่อบรรลุอะไรทั้งนั้น

ข้อสุดท้าย การใช้สันติวิธีสู้กับอำนาจรัฐมีความเสี่ยง ทั้งจากกฎหมายของรัฐและจากความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น เพราะไม่ได้หมายความว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งใช้สันติวิธีแล้วฝ่ายที่ตนต่อสู้ด้วยจะไม่ใช้ความรุนแรง ด้วยเหตุนี้ ทุกคนที่ก้าวออกมาต่อสู้เช่นนี้ต้องได้รับรู้ว่ากำลังเสี่ยงกับอะไรและทำไปเพื่ออะไร ในแง่นี้พวกเขาควรต้องเห็นรูปร่างหน้าตาของอนาคตที่เป็นไปได้จริงเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะต่อสู้หรือไม่อย่างไรด้วย

ที่ตัดสินใจใช้สันติวิธี เลือกใช้วิธีนี้ด้วยเหตุผลหลากหลาย ส่วนใหญ่ก็เพราะเห็นว่าวิธีการนี้มีพลังเช่นที่สังคมไทยกำลังประจักษ์อยู่ แต่ที่สำคัญไม่แพ้ประสิทธิผลของสันติวิธีคือ ความเชื่อของคนที่ต่อสู้ด้วยวิธีนี้ว่า อนาคตที่ตนมุ่งสร้างนั้นสวยงาม เติบโตขึ้นบนเนื้อดินแห่งมิตรไมตรีไม่ใช่ความเป็นศัตรูที่ต้องประหัตประหารกันให้สิ้นไป

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
--------------------------------------------

ปฏิรูปการเมือง !!

โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

ขณะที่วิกฤตทางการเมืองอันเกิดจากการขัดแย้งทางการเมืองอย่างที่เป็นอยู่นี้ น่าจะเป็นการขัดแย้งเชิงโครงสร้างระหว่างผู้คนในเมืองที่มีฐานะกับคนในชนบทที่มีฐานะดีขึ้นมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ความรวดเร็วในการสื่อสารหลายรูปแบบจากการปฏิวัติเทคโนโลยี รับรู้และตระหนักในสิทธิและหน้าที่ของตน ได้ข้อมูลข่าวสารเช่นเดียวกัน เวลาเดียวกันกับคนในเมือง รับรู้ว่าการแตกแยกในเรื่องการเมืองดำรงอยู่เป็นเวลานานแล้ว

การมีประสบการณ์กับระบอบการปกครองที่ตนสามารถใช้ประโยชน์ได้ ดึงทรัพยากรเข้ามาสู่ท้องถิ่นของตนได้ นักการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเข้าถึงตน และนำความต้องการของตนแปลกลับมาเป็นงบประมาณ เป็นโครงการ โครงสร้างการพัฒนาที่จับต้องได้

นักการเมืองและพรรคการเมืองต่างจึงต้องมีความใกล้ชิด ต้องลงมาสัมผัสกับประชาชน คอยปกป้องดูแลจากการปฏิบัติของข้าราชการในท้องถิ่น

นอกจากนั้น ยังเป็นการดำรงอยู่ซึ่งระบอบอุปถัมภ์ ที่อาจจะฝากลูกเข้าโรงเรียน ฝากลูกเข้าทำงาน คอยวิ่งเต้นช่วยเหลือในเรื่่องต่างๆ เป็นสิ่งที่คนในต่างจังหวัดต้องการ คนในภาคอีสาน ภาคเหนือ หรือแม้แต่ภาคกลางและภาคตะวันออก รวมทั้งภาคใต้ และภาคอื่นๆ

ผู้แทนราษฎรหรือพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งในท้องถิ่นนอกเมือง จึงมีลักษณะดังกล่าว ความรู้สึกที่ว่าควรจะเลือกพรรคมากกว่าเลือกบุคคลในระยะหลัง ก็เพราะการเลือกพรรคสามารถทำให้พรรคที่ตนเลือกสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ดีกว่าบุคคลที่ไม่อาจจะหวังว่าจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ในระยะหลังประชาชนในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง สามารถเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่ตนจะเลือก เปลี่ยนตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ด้วย หากสมาชิกสภาผู้แทนในเขตของตนไม่สามารถทำหน้าที่สนองความต้องการของตน ตามที่ตนคาดหวังได้

ต่างกับพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสภาท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล หรือแม้แต่เทศบาล ชาวบ้านจะไม่นิยมผู้สมัครจากพรรคการเมืองใหญ่ระดับชาติ กลับจะเลือกบุคคลหรือพรรคการเมืองท้องถิ่นที่มีผลงาน เพราะไม่ใช่การเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าไปจัดตั้งรัฐบาล

ต่างกับคนในกรุงเทพฯที่ไม่มีความรู้สึกผูกพันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลังการเลือกตั้งทั่วไปผ่านพ้นไป ตลอดเทอมของสภาผู้แทนอาจจะไม่เคยพบผู้แทนบางคนเลย หรืออาจจะลืมไปแล้วว่าใครเป็นผู้แทนของตนในสภา

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะคนในเมืองสามารถมีเส้นสายโยงใยใช้อภิสิทธิของตนได้อยู่แล้ว ข้าราชการก็ไม่กล้าจะปฏิบัติไม่ดีไม่งามกับตน อีกทั้งสื่อมวลชนหลักๆ ก็อยู่ในกรุงเทพฯ หรือมีตัวแทนผู้สื่อข่าวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ เป็นปากเป็นเสียงให้ผู้คนจึงมีอภิสิทธิโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ต้องอาศัยนักการเมืองหรือผู้แทนของตน หรือแม้แต่รัฐบาลท้องถิ่นคนกรุงเทพฯก็ไม่ได้หวังอะไร

นอกจากนั้นบริการของรัฐไม่ว่าจะเป็น การศึกษา การสาธารณสุข การรักษาพยาบาล ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสาธารณูปโภค บริการของรัฐก็มีอยู่พร้อมอยู่แล้ว ไม่ต้องพึ่งนักการเมืองหรือผู้แทนราษฎร

คนในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ๆ จึงไม่สู้ตระหนักถึงประโยชน์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย จะปกครองโดยรัฐบาลที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง หรือเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่เกี่ยวข้องกับตน ขอให้ได้ "คนดี มีจริยธรรม" มีการศึกษา มีบุคลิกดี พูดจาเก่ง พอใจแล้ว เพราะเป็นคนในชั้นสังคมเดียวกับตน

ส่วนคนในต่างจังหวัดนอกเมืองจะรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างระบอบประชาธิปไตยที่มีตัวแทนของตนเข้าไปจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน หรือวิ่งเต้นทำโครงการพัฒนาต่างๆ เข้ามาในท้องถิ่นของตน กับระบอบการปกครองโดยรัฐบาลที่คณะรัฐประหาร หรือคณะปฏิวัติแต่งตั้ง รวมถึงสภานิติบัญญัติที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้ง เพราะสมาชิกสภาแต่งตั้งจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับราษฎรเลย รัฐบาลแต่งตั้งแม้จะได้คนดี มีจริยธรรม คนชั้นสูง การศึกษาดี มีฐานะ ไม่มีประวัติด่างพร้อย แต่ก็ไม่มีประโยชน์เท่าใดนัก เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้สัมผัสกับตน ไม่อาจจะสนองตอบต่อความต้องการของตน เป็นเพียงการต่อยอดของระบบราชการที่มีอยู่เท่านั้นเอง

ในสมัยก่อนจะมีการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ ก่อนระบบคมนาคมจะมีเครือข่ายเชื่อมโยงชนบทกับเมืองเข้าด้วยกัน ก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นล่ำเป็นสันอย่างทุกวันนี้ คนชนบทยังมีรายได้ในระดับต่ำ ไม่มีข้อมูลข่าวสาร ไม่เคยมีประสบการณ์เปรียบเทียบระหว่างการเมือง 2 ระบบว่า มีความแตกต่างกันอย่างไร แต่ราวๆ 10 ปีที่ผ่านมานี้ เขาสามารถเปรียบเทียบได้ชัดเจนว่า 2 ระบอบการปกครองนั้นมีความแตกต่างกัน จึงมีคำพูดว่า "ประชาธิปไตยที่กินได้"

ส่วนคนในเมืองจะไม่มีความรู้สึก เพราะระบอบการปกครองใดตนก็มีอภิสิทธิ์ มีเส้นสาย มีสื่อมวลชนที่อยู่ใกล้ชิดอยู่แล้ว บริการของผู้แทนราษฎรไม่มีความหมาย เพราะตนก็ไม่จำเป็นต้องใช้อยู่แล้ว การเป็นผู้แทนราษฎรในต่างจังหวัด จึงมีภาระหน้าที่อันหนักหน่วง รวมทั้งต้องใช้เงินทองในการทำหน้าที่บริการประชาชนคนลงคะแนนเสียงมากกว่าผู้แทนราษฎรในกรุงเทพมากมาย

การที่คนในต่างจังหวัดเกิดการเปลี่ยนแปลง มีความรู้ความสามารถในการกลั่นกรอง วิเคราะห์ แยกแยะได้ ไม่ได้ ยากจนข้นแค้น ไร้การศึกษา โง่ อย่างที่คนในเมืองคิด จึงทำให้พฤติกรรมในการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคการเมืองต่างกัน

การเลือกตั้งทั่วไปกี่ครั้งในระยะหลังมานี้ ผลการเลือกตั้งโดยส่วนรวมจึงเหมือนเดิม จะแบ่งเขต พวงเล็ก พวงใหญ่ หรือรวมเขต จะเลือกตั้งก่อนปฏิวัติรัฐประหาร หรือหลังการปฏิวัติรัฐประหาร ผลจึงออกมาใกล้เคียงกัน เพราะพรรคใหญ่ 2 พรรคระดับชาติมีทัศนคติ บุคลากรและวิธีคิด วิธีทำงานต่างกัน

ตราบใดที่ความต่างนี้ยังดำรงอยู่ ผลก็จะออกมาเหมือนเดิม ไม่ใช่การซื้อเสียงหรือการใช้เงินของใครมากกว่ากัน

ส่วนวุฒิสภาหรือสภาสูงที่หวังว่าประชาชนจะใช้สิทธิต่างกับการเลือกตั้งสภาผู้แทน ก็เป็นความหวังที่หวังมากเกินไป เพราะจังหวัดต่างๆ พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค ก็ย่อมมีกลไกในการจัดตั้งและการหาคะแนนนิยมอยู่แล้ว แต่เนื่องจากใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง รวมทั้งความคาดหวังของผู้เลือกตั้งต่อสมาชิกวุฒิสภาแตกต่างกัน คนที่มีชื่อเสียงดี เป็นที่เชื่อถือของคนในจังหวัดนั้นๆ จึงมีโอกาสได้รับการเลือกตั้ง ไม่เหมือนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรค ไม่ใช่เลือกบุคคล

การมีวุฒิสภาที่ประกอบด้วยบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งจึงไม่น่าจะเสียหายอะไร เมื่อมีการเลือกตั้งซ้ำๆ ไปหลายรอบประชาชนก็จะเรียนรู้ไปเอง ส่วนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง แม้จะได้คนดีมีความรู้ แต่ก็อธิบายได้ยากว่าทำไมจึงต้องแต่งตั้งมาโดยไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับประชาชนเลย

การปฏิรูปการเมืองในกรอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ต้องเป็นการปกครองระบอบรัฐสภา เมื่อถึงคราวเลือกตั้งคนในเมืองกับคนนอกเมืองก็ต้องเท่าเทียมกัน จะไปให้คนในเมือง 1 เสียงเท่ากับคนนอกเมือง 2 หรือ 3 เสียงไม่ได้ คงไม่มีใครกล้าคิดทำ จะให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงเหมือนกับสภาทั้ง 2 สภาก็ไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน จึงไม่อาจจะทำอะไรได้มากนักในหลักใหญ่ๆ ยกเว้นรายละเอียดย่อยๆ เท่านั้นเอง

การปฏิรูปการเมืองที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเสนอ จึงเป็นเพียงวาทะกรรมเท่านั้นเอง

ที่มา:มติชนรายวัน
----------------------------------------------

นักวิชาการไม่ห่วงมวลชนสองฝ่ายปะทะ !!?

โดย : ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศ. ระบุล้มรัฐบาลอียิปต์ ต่างฝายต่างอ้างประชาชน แต่เมืองไทยเสื้อแดงอยู่ในที่มั่นสนามกีฬาราชมังคลาฯไม่น่าเป็นห่วง ถ้าออกมา2กลุ่มอาจปะทะได้

นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสิ่งที่เรียกว่าม็อบ มันสามารถที่จะสร้างแรงกดดันไปจนถึงขนาดให้รัฐบาลต้องยอมได้ ประชาชนจะก็ต้องออกมาเยอะมากตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ พฤษภาทมิฬ แล้วก็กระจายไปคลุมพื้นที่ พอมวลชนเคลื่อนไปจนเกิดการกระทบกระทั่งกับฝ่ายความมั่นคงที่ดูแลสถานการณ์

หากประเมินมวลชนการเคลื่อนไหวยุทธศาสตร์ของแกนนำม็อบราชดำเนินจากสื่อที่รายงานภายใต้การแบ่งขั้วเลือกข้างของสื่อที่ค่อนข้างชัดเจน ทั้งวิทยุโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต ก็แบ่งเป็น 2-3 กลุ่ม ไม่รวมศูนย์เหมือนเหตุการณ์ทางการเมืองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเหมือนที่ผ่านๆมา เพระฉะนั้นถ้าสื่อไม่รวมศูนย์แบบนี้การระดมคนออกมาแบบเหตุการณ์ 14ตุลาหรือพฤษภาททมิฬ ไม่น่าจะได้ถึงขนาดนั้น ในอดีตทุกสื่อทุกฝ่ายต่างเห็นด้วยกับฝ่ายผู้ชุมนุมหมด แต่คราวนี้เห็นด้วย 30-40เปอร์เซ็น ไม่เห็นด้วยประมาณ 40-50 เปอร์เซ็น มีกลางๆอยู่ประมาณ 10-20เปอร์เซ็น เพราะฉะนั้นไม่น่าจะเป็นเอกฉันท์ ทางแกนนำม็อบราชดำเนินต้องขนออกมาอย่างจริงจัง จึงจะได้มวลชนออกมาเป็นล้านอย่างที่ได้ประกาศไว้ โดยจะให้คนเดินทางแบบที่พันธมิตรทำก็ไม่น่าจะได้ถึงขนาดนั้น

ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีเอกภาพถึงขนาดที่ว่าจะเกิดพลังมหาศาลขนาดนั้น เมื่อไม่ได้ ก็ต้องสร้างสถานการณ์ หลายม็อบที่ต่อต้านรัฐบาลในขณะนี้ ถ้าหากมีการเคลื่อนไหวมวลชนก็อาจจะมีความชุลมุนพอสมควร จุดสุดท้ายก็ยังคงประเมินไม่ได้ว่าจะนำไปสู่การปะทะเพื่อสร้างเงื่อนไขหรือไม่ ขณะนี้ทุกฝ่ายอาศัยเงื่อนไขที่พอได้เปรียบก็ใช้ตรงนั้นเลย มาถึงตรงนี้มองได้ว่าทางแกนนำม็อบราชดำเนินไม่ยอมลงแล้ว เพราะคิดว่ามีมวลชนแล้วมีความได้เปรียบแล้ว ก็ต้องดูว่าใครจะอึดกว่ากัน

ขณะเดียวกันฝ่ายของกลุ่มคนเสื้อแดงเองก็ต้องปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งถูกโจมตีมากในขณะนี้ ตอนนี้ชัดเจนมากว่า ทั้งสภาก็ผูกกับศาลรัฐธรรมนูญที่ลงมติแล้วว่าการกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปปช.ก็เตรียมจะเล่นงาน พรรคฝ่ายค้านก็ระดมมวลชนต่อต้าน รัฐบาลตอนนี้ก็ทำอะไรไม่ได้ รัฐบาลก็มีทางเดียวคือต้องประกาศให้รู้ว่าการกระทำของฝ่ายค้านและม็อบราชดำเนินไม่ใช่มติของคนทั้งประเทศ เป็นเพียงมติของคนที่คัดค้านรัฐบาลเท่านั้น รัฐบาลเองก็ต้องอาศัยทางกลุ่มเสื้อแดงเองซึ่งก็สามารถระดมมวลชนออกมาเป็นล้านได้เช่นเดียวกัน เสื้อแดงก็ต้องออกมาเหมือนกัน ซึ่งเป็นหมากที่ถูกบีบให้ต้องเดินแบบนั้น อย่างไรก็ตามหากเสื้อแดงไม่ออกนอกสถานที่ชุมนุมไม่เดินออกจากราชมังคลากีฬาสถาน ก็จะเป็นสัญลักษณ์ว่าทางฝ่ายเสื้อแดงที่สนับสนุนรัฐบาลเองก็มีมวลชนเช่นเดียวกัน อย่างอยู่ในที่มั่นไม่ออกมาก็ไม่มีอะไร

ประชาธิปไตยในโลกที่สามยกตัวอย่าง อียิปต์ ต่างฝายต่างอ้างประชาชน และฝ่ายที่ล้มรัฐบาลมอซี่ มีประชาชนจำนวนมาก ที่ออกมาในระดับ10-15ล้านคน ในฝ่ายมุสลิมภารดรภาพก็มีระดับ 10 ล้านเช่นเดียวกัน ปรากฏการณ์ลักษณะแบบนี้จะเริ่มมีให้เห็นบ่อยขึ้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นปัญหาว่าแล้วใครคือประชาชนตัวจริง เพราะว่าตอนนี้ทุกฝ่ายก็มีประชาชนหมดแล้ว

ทางออกหรือวิธีการที่ง่ายที่สุดและในอดีตก็เคยใช้กันมาก็คือฝ่ายนำของแต่ละฝ่ายต้องเจรจากัน จะเจรจาเงียบๆ หรือเปิดเผยผ่านตัวกลาง ก็ต้องทำ หากจะสู้ฝ่ายประท้วงต้องยืนยันว่านายทุนของคุณจะยืนหยัดให้คุณทุกอย่าง จะให้ทุกอย่างหรือไม่ ถ้าหากว่ายังไม่เลิก ซึ่งจริงๆแล้วรัฐบาลมีความได้เปรียบถ้าต่างฝ่ายต่างสู้กัน เพียงแค่ต้องคุมกองทัพไม่ให้แตกแถวแค่นั้นเอง ถ้าหากว่าคุณสามารถสั่งฝ่ายความมั่นคง สั่งตำรวจสั่งกองทัพได้ ก็ได้เปรียบอยู่แล้ว

ตอนนี้มวลชนได้แยกออกเป็นสองฝ่ายชัดเจนซึ่งมันจะไม่เหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่มวลชนแห่ไปฝ่ายเดียว คือฝ่ายประชาชนแต่ตอนนี้มีประชาชนสองฝ่าย เพราะฉะนั้นถ้าหากปะทะกันแล้ว ประชาชน ที่จะมาร่วมก็ต้องแบ่งกันออกไป เพราะฉะนั้นจะไม่มีชนะเด็ดขาดด้วยการใช้กำลังแบบประชาชนในแบบอดีต จะกลายเป็นสงครามกลางเมืองไปในที่สุด ที่ต่างฝ่ายต่างระดมกันเข้ามา เพื่อที่จะปะทะกับอีกฝ่าย

ถ้ามองแบบนี้แล้ว ทางฝ่ายที่ประท้วงจึงไม่น่าจะเดินหน้าเพราะก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะมีมวลชนมาเพิ่มจำนวนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งไม่ใช่ว่าคนจะแห่มายอมตายด้วยทั้งหมด ม็อบครึ่งหนึ่งก็ต้องกลับบ้านถ้าหากมีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้น อย่างคนที่มาม็อบต้องการถ่ายรูปก็แค่ต้องการมาถ่ายรูปเท่านั้นไม่ได้มาเพื่อโดนแก็สน้ำตา ตอนนั้นคนพวกนั้นก็คงกลับบ้านหมด เพราะไม่ใช่มวลชนพื้นฐาน เพราะฉะนั้นเขาคงต้องคิดหาทางที่จะหยุดหรือที่จะลงเพราะถ้าหากหวังปะทะแล้วชนะ คือคุณประเมินเกินความเป็นจริงไปมาก แต่ถ้าหากประเมินเช่นนั้นแสดงว่าคุณต้องมีอะไรอยู่ในมือ ซึ่งตอนนี้ไม่รู้ว่ามีอะไรในมือหรือไม่

แต่ถ้าให้คาดการณ์ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมีมากกว่าที่เห็น สิ่งที่คิดว่าทางแกนนำม็อบราชดำเนินรอในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา คือ คำสั่งยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะจบไปเลย แต่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญไม่ยุบพรรค ทางพรรคประชาธิปัตย์เลยต้องหาทางจะโจมตีรัฐบาลด้วยและลงด้วยจะเอาพร้อมกันเลยมันก็ยากขึ้น

"เพราะฉะนั้นตอนนี้ต้องวัดใจกันในช่วงเวลา 1-2 วันถ้าหากคนมาอย่างน้อย 5 หมื่นคน หรือ 1 แสน ทางแกนนำม็อบราชดำเนินก็อาจจะไปต่อได้แต่ถ้าหากไม่มา ก็ต้องดูท่าทีของรัฐบาลว่าจะส่งสัญญาณออกมาอย่างไร ต้องประเมินสถานการณ์กันชั่วโมงต่อชั่วโมง เพราะทุกจังหวะการก้าวย่าง ทุกคำพูดล้วนจะถูกนำไปขยายความต่อ"ศ.ดร.ธเนศ กล่าว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
----------------------------------------

ทางออกประเทศไทย: ระยะสั้นเจรจายุติความวุ่นวาย-ระยะยาวสร้างกติกาใหม่.


Democracy Monument
โดย. SIU
การบริหารงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในช่วงย่างเข้าขวบปีที่สาม ประสบปัญหาความขัดแย้งในประเด็นใหญ่ๆ 2 ประการ

นโยบายที่ผิดพลาด โดยเฉพาะความพยายามของพรรคเพื่อไทยในการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่แตกต่างออกไปจากร่างฉบับแรกที่เสนอเข้ามายังสภาผู้แทนราษฎร จนมีประชาชนชุมนุมคัดค้านเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าในบั้นปลาย พรรคเพื่อไทยจะยอมถอยและวุฒิสภาจะโหวตให้ร่างฉบับนี้ตกไป แต่วิกฤตศรัทธาต่อการบริหารงานของพรรคเพื่อไทยก็ยังคงอยู่
วิกฤตรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ 2550 นั้นมีปัญหามากมายทั้งในประเด็นเนื้อหาและที่มา ซึ่งรัฐสภาที่นำโดยพรรคเพื่อไทยพยายามแก้รัฐธรรมนูญในส่วนของเนื้อหา แต่ก็ประสบปัญหาโดนคัดค้าน และถูกยื่นตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลกระทบให้เกิด “วิกฤตอำนาจตามรัฐธรรมนูญ” ตามมาว่าตกลงแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ และจนกระทั่งบัดนี้สังคมไทยก็ยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจน
ปัญหาทั้งสองประการส่งผลให้มวลชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเพื่อไทยออกมาเคลื่อนไหวทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ล้อมสถานที่ราชการหลายแห่งจนเกิดผลกระทบต่อการทำงานของข้าราชการในการบริหารประเทศ ในขณะที่มวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลก็ประกาศตัวชัดเจนว่าจะปกป้องรัฐบาลอย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้สถานการณ์สุ่มเสี่ยงว่ามวลชนทั้งสองฝ่ายอาจปะทะจนถึงขั้นบาดเจ็บและเสียชีวิต

SIU ขอร่วมเสนอทางออกประเทศไทยโดยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นแรก พาประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายควรหันหน้ามาเจรจาเพื่อยุติความวุ่นวายเฉพาะหน้า โดยมีบุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับจากสังคมทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานและเจรจา ฝ่ายรัฐบาลอาจพิจารณาเงื่อนไขของการยุบสภาเข้าร่วมในการเจรจา และถ้าเกิดข้อตกลงว่าจะยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ พรรคการเมืองทุกแห่งควรทำสัตยาบันว่าจะส่งตัวแทนลงเลือกตั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะสุญญากาศในการบริหารประเทศแบบที่เคยเกิดขึ้นในปี 2549

ขั้นที่สอง สร้างกติกาใหม่ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เมื่อประเทศเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลในขณะนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกติกาใหม่ที่คนไทยทั้งประเทศเห็นชอบร่วมกัน โดยมีความเป็นประชาธิปไตยทั้งในแง่กระบวนการ (เช่น กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขั้นตอนในการลงประชามติ) และเนื้อหา (เช่น ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในทางตรง)

กระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ต้องเข้าถึงประชาชนทุกระดับ และสุดท้ายแล้วอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะสำเร็จ อย่างไรก็ตาม เราขอเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงมวลชนทุกฝ่ายอดทนต่อกระบวนการเหล่านี้ หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงโดยคำนึงถึงชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน  และร่วมกันมองไปถึงผลลัพธ์สุดท้ายในระยะยาวนั่นคือประเทศไทยที่สงบ สันติ และเดินหน้าต่อได้ตามวิถีทางของประชาธิปไตย

ที่มา.Siam Intelligence Unit
-------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ศาลประชาชน มีได้หรือไม่ในประเทศไทย !!?

โดย: สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 2 บัญญัติว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

มาตรา 3 บัญญัติว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้"

หมายความว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของประชาชนชาวไทย ซึ่งมีอยู่ 3 อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ และพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขแต่พระองค์เดียวที่จะใช้อำนาจนิติบัญญัติ ทางรัฐสภา อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการทางศาล

ในที่นี้จะขอกล่าวรายละเอียดเฉพาะเรื่องของศาลยุติธรรม ซึ่งดูจะเป็นศาลที่ตั้งมาเก่าแก่ที่สุด และเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วประเทศมาก่อนศาลอื่นๆ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 1 บัญญัติว่า "ศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญศาลนี้มีสามชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น"

ได้ตรวจดู โดยละเอียดรอบคอบแล้ว ไม่ปรากฏบทบัญญัติมาตราใดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับที่เคยมีมา แม้ฉบับปัจจุบันและพระธรรมนูญศาลยุติธรรมทุกฉบับที่มีบทบัญญัติให้มีการตั้ง "ศาลประชาชน" (เว้นแต่ประเทศที่มีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์) และการที่จะตั้งศาลขึ้นนั้นหาใช่เป็นอำนาจของบุคคลใดหรือกลุ่มชนใดโดยเฉพาะ หากแต่จะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 198 วรรคหนึ่งซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

การตราพระราชบัญญัติเป็นอำนาจของรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยเท่านั้น และตามรัฐธรรมนูญมาตรา 198 วรรคสอง ยังบัญญัติว่า "การตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือคดีที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะ แทนศาลที่มีอยู่ตามกฎหมายพิจารณาพิพากษาคดีนั้น จะกระทำมิได้" วรรคสามบัญญัติว่า "การบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาล หรือวิธีพิจารณาเพื่อใช้แก่คดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะจะกระทำมิได้"

การตั้งศาลประชาชนจึงมิอาจเป็นไปได้อย่างแน่แท้ด้วยเหตุผลดังนี้

1.การตั้งศาลต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาเท่านั้นมีอำนาจตราพระราชบัญญัติ ดังกล่าว

2.การจัดตั้ง "ศาลประชาชน" เพื่อกระทำการพิจารณาโทษ คดีใดคดีหนึ่ง ตามที่ต้องการโดยเฉพาะจะกระทำมิได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 198 วรรคสอง วรรคสาม

3.การที่จะให้บุคคลที่มีสัญชาติไทยออกไปอยู่ต่างประเทศตามวัตถุประสงค์ที่เสนอให้ตั้งศาลประชาชนนั้นไม่อาจจะกระทำได้เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 34 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า "การเนรเทศบุคคลผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามบุคคลผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรจะกระทำมิได้"

สรุปว่าการเสนอให้ตั้งศาลประชาชนเพื่อพิจารณาลงโทษบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ หรือ ขับไล่ผู้มีสัญชาติไทยออกไปนอกราชอาณาจักร จะกระทำมิได้อย่างแน่นอนยืนยันโดยรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เว้นแต่จะเป็นการพูดเพื่อเอาความมันหรือเพื่อเร่งเร้าอารมณ์มวลชนเป็นหลัก โดยผู้พูดและผู้ชี้นำคงไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากนัก เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่เขาเอาตัวรอดได้เสมอเมื่อมีเหตุคับขันเกิดขึ้น

เป็นห่วงอยู่ก็แต่มวลชนที่อยู่ข้างล่างเวทีที่พากันเป่านกหวีดตามหรือหัวเราะอ้าปากไม่หุบด้วยความมัน ว่าอาจจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต"

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือ ใช้กำลังประทุษร้าย (การประทุษร้ายนั้นไม่ว่าจะเป็นการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล เช่น พูดว่า หรือ ขู่ว่า กระทำการใดๆ อันเป็นผลร้าย แก่บุคคลอื่น ก็เป็นการประทุษร้าย ตามบทนิยาม ของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 แล้ว)

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

 ต้องละวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี

มีคำพิพากษาฎีกาวางแนวไว้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2034-2041/2527 ป. และ จ. จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีส่วนริเริ่มชักชวนนักศึกษา นักเรียน และประชาชนให้มาชุมนุมกัน ณ สนามหน้าเมืองที่เกิดเหตุมาแต่ต้นและร่วมกล่าวโจมตีขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนมีส่วนในการจัดตั้งหน่วยฟันเฟืองขึ้นจากผู้มาร่วมชุมนุม จนคนเหล่านั้นรวมตัวกันเป็นจำนวนหลายพันคน ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ขว้างปา และวางเพลิงเผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนี้การกระทำของจำเลยทั้งสอง ตลอดจนนักศึกษา นักเรียน และประชาชนดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรอีกสถานหนึ่งด้วย

นอกจากว่าจะผิดกฎหมายตามมาตรานี้แล้วยังอาจเฉียดเข้าไปในความผิดตามมาตรา 113 ซึ่งต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตอีกด้วย และแน่นอนถ้าผู้เป็นตัวการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าวไม่ว่ามาตราใดมาตราหนึ่ง กลุ่มมวลชนที่นั่งอยู่ข้างล่างเวที และร่วมเป่านกหวีดอย่างเมามันก็จะตกอยู่ในฐานะผู้สนับสนุน ซึ่งตามกฎหมาย อาจต้องรับโทษร่วมกับแกนนำ โดยรับโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

เมื่อมีการชุมนุมทางการเมืองทุกครั้ง คนที่น่าเห็นใจที่สุดก็คือประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม เพราะแกนนำซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นนักการเมืองก็จะมีหนทางเอาตัวรอดได้เสมอ ผู้ประสบเคราะห์กรรมทั้งเสียชีวิต และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำคือประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม ตัวอย่างก็มีอยู่แล้วเมื่อมีการสลายการชุมนุมในปี 2553 จากเหตุการณ์ครั้งนั้นผู้ที่ร่วมชุมนุมในวันนั้น บุคคลทั่วไปคงจะจำบทเรียนที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ผู้ร่วมชุมนุมถูกจับกุมคุมขังตั้งแต่วันเกิดเหตุ จนถึงวันนี้ และยังไม่มีท่าทีว่าจะได้รับอิสรภาพ เนื่องจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่บุคคลเหล่านี้ควรได้รับอานิสงส์ก็ถูกบุคคลในองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศคัดค้าน

โดยกลุ่มผู้คัดค้านก็มิได้แสดงจุดยืนให้ชัดเจน ว่าไม่ประสงค์ให้ประชาชนผู้ถูกคุมขังพ้นโทษ หรือไม่ต้องการให้นักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่น หรือที่ถูกกล่าวหาว่า ใช้อำนาจออกคำสั่งอันเป็นเหตุให้ประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมเสียชีวิต และบาดเจ็บ เป็นจำนวนมากไม่ต้องรับโทษ

บทความนี้เป็นความคิดเห็นประกอบหลักกฎหมายและแนวบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลฎีกา มิได้มีความประสงค์จะไปก้าวก่ายการกระทำของนักการเมือง นักวิชาการ ตลอดจนผู้ที่เป็นนักกฎหมายในประเทศนี้ ซึ่งอยู่ในสถานะที่รู้ผิดชอบชั่วดีอยู่แล้ว แต่ต้องการจะตักเตือนมวลชนทั้งหลาย ที่ไม่ทราบอย่างถ่องแท้ถึงการกระทำของตนซึ่งน่าจะเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ประเทศเราอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุขทุกวันนี้ ก็เพราะมีกฎหมายเป็นหลักควบคุมความประพฤติ

ถ้าบุคคลใดกระทำความผิด เขาก็ต้องรับโทษตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ตามกระบวนการขอให้ลงโทษตามกฎหมาย และผู้พิจารณาพิพากษาคดีคือ ผู้พิพากษาตุลาการ การใช้สิทธิส่วนบุคคล หรือกลุ่ม เพื่อพิจารณาพิพากษาโทษตามใจปรารถนาของตนนั้น ไม่อาจกระทำได้

การคิดตั้งศาลที่แปลกปลอมนอกจากจะไม่มีอำนาจจะกระทำได้แล้ว ยังเป็นความคิดที่เป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ยกเว้นจะเป็นความคิดหรือคำพูดที่เอามันหรือพูดเพื่อให้บุคคลเกิดอารมณ์ร่วมเท่านั้น

ที่มา:มติชน
----------------------------------------------------------

UN ร้องทุกฝ่ายในไทยเคารพ หลักนิติรัฐ !!?

เลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มุน แสดงความกังวลถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ร้องทุกฝ่ายยึดอยู่บนความอดกลั้นและไม่ใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ยังกังวลถึงการยึดหน่วยงานราชการต่างๆ ในประเทศด้วย

28 พ.ย. 2556 บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์จากกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแสดงถึงความกังวลต่อสถานการณ์ในประเทศไทย และความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลและผู้ชุมนุมที่สูงขึ้นในกรุงเทพ

เลขาธิการสหประชาติ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้นให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงความรุนแรง และเคารพหลักนิติรัฐและสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ เลขาธิการฯ ได้เล็งเห็นถึงความพยายามของรัฐบาลที่จะยังคงเคารพการชุมนุมของประชาชนที่สันติ

อย่างไรก็ตาม บัน คี มุน “กังวล” ถึงรายงานเกี่ยวกับการยึดหน่วยงานทางราชการของผู้ชุมนุม และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแก้ไขความขัดแย้งนี้ด้วยการเจรจาและสันติวิธี

ในขณะที่วันเดียวกัน นายเจมส์ ไวส์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจาประเทศไทย กล่าวในวันนี้ว่า ออสเตรเลียตระหนักว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้พยายามแก้ไขประเด็นปัญหาอันซับซ้อนทางการเมืองผ่านทางรัฐสภาและศาล ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้มีการชุมนุมอย่างสันติและการอภิปรายสาธารณะ

“การชุมนุมอย่างสันติเป็นลักษณะสำคัญของประชาธิปไตย เช่นเดียวกับการเคารพในสาธารณะสมบัติและทรัพย์สินส่วนบุคคล

“ประเทศไทยสามารถมั่นใจได้ในความปรารถนาดีและการสนับสนุนจากประเทศออสเตรเลีย ในขณะที่ประเทศไทยยังคงรับมือกับปัญหาเหล่านี้ต่อไปด้วยวิถีทางของประชาธิปไตย โดยทุกฝ่ายแสดงออกซึ่งความอดกลั้นและการยึดถือหลักนิติธรรม” แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ

โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในประเทศไทยเช่นกัน โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดหลักประชาธิปไตยและนิติรัฐเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังแสดงความกังวลต่อการยึดสถานที่ราชการด้วย

ในขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่าง ฮิวแมนไรท์ วอทช์ และองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ต่างแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ทำร้ายผู้สื่อข่าวในที่ชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล หลังจากที่นิค นอสติตซ์ ผู้สื่อข่าว/ช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน ถูกทำร้ายโดยการ์ดของที่ชุมนุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บริเวณหน้าบช.น.

ที่มา.ประชาไท
//////////////////////////////////////////

กสม. แถลงข้อเสนอต่อทุกฝ่ายในสถานการณ์การชุมนุม

แถลงการณ์เรื่อง ความห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุม                    

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่องข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์ทางการเมือง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 และแถลงการณ์เรื่องความห่วงใยต่อเด็กและเยาวชนที่อยู่ในที่ชุมนุม เมื่อวันที่ 22  พฤศจิกายน 2556  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับทราบและติดตามสถานการณ์การชุมนุมมาโดยตลอด  มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่มีการยกระดับและเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุมไปส่วนราชการต่างๆ และการที่รัฐบาลมีการประกาศ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ขยายพื้นที่เพิ่มเติมในขณะที่สถานการณ์ยังไม่เกิดเหตุความรุนแรงจากกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้หวั่นเกรงว่าสถานการณ์จากทั้งสองฝ่ายอาจหมิ่นเหม่ที่จะนำไปสู่ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนการชุมนุมในอดีตที่ผ่านมา

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ในอันที่จะส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เหตุการณ์บ้านเมืองเกิดความสงบและเรียบร้อยอยู่ร่วมกันด้วยความสันติสุข จึงขอให้ทุกภาคส่วนคำนึงและควรปฏิบัติ  ดังนี้
                 
1.  กลุ่มผู้ชุมนุมต้องชุมนุมด้วยความสงบ และปราศจากอาวุธ ปฏิบัติตนภายใต้หลักการสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย อีกทั้งไม่ละเมิดกฎหมายหรือสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น  

2.  ประชาชนทุกภาคส่วน นักวิชาการ และกลุ่มบุคคลต่างๆ ซึ่งมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าจะมีความเชื่อและความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ต้องเคารพในความเชื่อและความคิดเห็นของทุกฝ่าย การให้ข้อคิดเห็นต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิและเสรีภาพ  ไม่ก่อให้เกิดการกระตุ้นที่จะส่งผลให้เกิดความแตกแยกและความรุนแรงในสังคม        

3. รัฐบาล ประชาชนทุกภาคส่วน และกลุ่มบุคคลต่างๆ ต้องเคารพการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน  และไม่คุกคามสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวที่เป็นข้อเท็จจริง ในขณะเดียวกันสื่อต้องนำเสนอข่าวสารข้อมูลด้วยความเป็นกลางไม่โอนเอียงเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

4.  รัฐบาล และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโปรดดูแล ป้องปราม มิให้เกิดสถานการณ์ที่หมิ่นเหม่จะก่อให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงใดๆ เกิดขึ้น  และปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ชุมนุมตามหลักการสากล  โดยหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธและความรุนแรง

5. รัฐบาล และกลุ่มผู้ชุมนุมควรมีการเจรจาด้วยสันติวิธี และร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยเหตุและผล    

ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการชุมนุมและการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมจะเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน  อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขของประเทศต่อไป

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
28 พฤศจิกายน 2556
---------------------------------------------

วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เป็นไทและเป็นไทย !!?

โดย.เสรี พงศ์พิศ

การเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปสู่ "ประชาธิปไตย" ที่แต่ละฝ่ายต่างอ้างในการต่อสู้นั้นดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น ชัดขึ้น ตกผลึกมากขึ้นอย่างแน่นอน แม้ว่าจะต้องผ่านความเจ็บปวด การนองเลือด การสูญเสีย เพราะเป็นกระบวนการปลดปล่อยไปสู่ความเป็นไทที่แท้จริง เป็นการวิวัฒน์ตนเองของจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์โดยรวมของสังคมไทย
   
ประชาธิปไตยหมายถึงว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตย ไม่ใช่เพียงผู้มีสิทธิไปออกเสียงเลือกใครสักคนไปทำหน้าที่แทนตัวเอง ในประเทศด้อยพัฒนาที่ประชาธิปไตยยังอ่อนเยาว์ ผู้แทนเหล่านี้มักสรุปเอาเองว่า มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะทำอะไรก็ได้ เพราะมาจากการเลือกตั้ง เพราะเป็นเสียงข้างมาก
   
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง พวกเขาจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ของประเทศชาติ แต่สิ่งที่ปรากฏกลับกลายเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ลุแก่อำนาจ ดูถูกประชาชน จนต้องลุกขึ้นมาแสดงตนเป็นเจ้าของอธิปไตยที่แท้จริง ขับไล่รัฐบาล วงจรอุบาทว์-วิภาษวิธีของการเมืองไทย
   
ในการต่อสู้ที่ผ่านมา เราได้เห็นการใช้ข้อมูลข่าวสารด้วยเครื่องมือและวิธีการต่างๆ แต่ไม่ว่าด้วยวิธีใด ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นก็ถูกบิดเบือน เป็นการพูดความจริงเพียงครึ่งเดียวหรือเพียงบางส่วน หรือบางกรณีไม่มีความจริงเลย การให้ข้อมูลเพื่อจุดมุ่งหมายปลุกระดมทำได้ทุกอย่าง ทำให้ผู้คนที่ได้ยินได้ฟัง ได้เห็นหรือได้รับข้อมูลเชื่อในเนื้อหาสาระเหล่านั้น
   
คนที่มีข้อมูลน้อย มีความรู้น้อย ย่อมเป็นเหยื่อของกระบวนการบิดเบือนข้อมูลเพื่อปลุกระดมและล้างสมองผู้คน ยกตัวอย่างเรื่องประชาธิปไตยที่ถูกนำมาต่อสู้กันตั้งแต่ไหนแต่ไรมา คือ ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องหมายถึงการเลือกตั้ง เลือกตั้งแปลว่าการไปกาบัตรลงคะแนนเท่านั้น อย่างอื่นไม่ใช่การเลือกตั้ง ไม่ใช่ประชาธิปไตย
   
บิดเบือนความหมายของ "อธิปไตย" (sovereignty) ไปจนมิด มองเห็นแต่บางส่วนของกระบวนการ บ้างด้านของประชาธิปไตย แต่ไม่เห็นเนื้อหาและกระบวนการโดยรวม เห็นแต่ต้นไม้บางต้นไม่เห็นป่า
   
การเลือกตั้งโดยไปกาบัตรเป็นวิธีหนึ่ง แต่มีวิธีอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นการเลือกตั้ง เช่น การสรรหาตามอาชีพ สถานภาพ เพื่อให้ได้ "ตัวแทน" จากประชาชนให้มากที่สุด ไม่ปล่อยให้พรรคการเมืองที่มีเงินทุนมาก อำนาจมาก ไปซื้อเสียงไปครอบงำอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนา
   
ความจริง แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ การเลือกตั้งโดยประชาชน กับการเลือกสรรจากคนกลุ่มต่างๆ วิธีต่างๆ ก็ยังใช้กันอย่างแพร่หลาย อย่างรัฐสภาอังกฤษ แม่แบบประชาธิปไตยไทย สภาบน หรือวุฒิสภา (House of Lords) มีสมาชิกมากกว่าสภาล่าง หรือสภาผู้แทนราษฎร (House of Commons) และส่วนหนึ่งก็มาจากการสรรหา แต่งตั้ง ไม่ได้เลือกตั้งมาทั้งหมด
   
ในประเทศอินเดีย สภาบนหรือวุฒิสภา หรือที่อินเดียเรียกว่า ราชยสภา (Rajya Sabha) สภาล่างที่เรียกว่า โลกสภา (Lok Sabha) ก็มีการสรรหาวุฒิสมาชิกเช่นเดียวกัน หรือในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีสองสภาเช่นเดียวกับไทย วุฒิสภาที่กัมพูชาเรียก  Protsaphea (น่าจะเป็นพฤฒสภา) ส่วนหนึ่งก็ได้รับการสรรหาหรือแต่งตั้งเช่นเดียวกัน
   
ความหมายดั้งเดิมของประชาธิปไตยที่เราได้มาจากตะวันตก ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 2,500 ปีก่อนหมายถึงประชาชนปกครองตนเอง ส่วนจะรูปแบบไหนก็ตัดสินใจเอาเอง เลือกเองเอง ขออย่างเดียวให้ประชาชนเป็นเจ้าของ "อธิปไตย" (sovereignty)
   
ประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จึงไม่สนใจว่าจะต้องเอารูปแบบประชาธิปไตยของตะวันตก "ทั้งดุ้น" แต่เลือกที่จะจัดการการเมืองในแบบที่คิดว่าเหมาะสมกับภูมิสังคมของตนเอง
   
ประเทศอิหร่านอาจจะดูสุดขั้ว แต่นั่นคือภาพที่อเมริกาสร้างขึ้นเพื่อไม่ให้คนอื่นเอาอย่าง ความจริง อิหร่านคือตัวอย่างของการตัดสินใจเลือกประชาธิปไตยแบบอิหร่าน ที่ใช้กฏหมายอิสลามประยุกต์ เพื่อปลดปล่อยตนเองจากประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่ทำให้สังคมอิหร่านล่มสลาย
   
ประชาธิปไตยไทยไม่มี "รากเหง้า" ความเป็นไทย ไม่เคยสนใจศึกษา วิจัย ค้นหาระบบคุณค่า ภูมิปัญญา จารีตประเพณี วัฒนธรรม อันเป็นรากฐานแห่งการอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นกฎระเบียบที่อาจมีหลายอย่างแตกต่างจากกฎหมายสำนักออสตินหรืออะไรก็ได้ในยุโรปที่คนไทยไปเรียนมา เอามาเป็นฐานการร่างรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ ที่เขียนขึ้นง่ายๆ เอามาใช้แล้วก็ฉีกทิ้งกันง่ายๆ และกฎหมายอีกมากมายที่ไม่ได้ช่วยให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แต่กลับเป็นปัญหาและอุปสรรค เป็นเครื่องมือการโกงกินมากขึ้น
   
วันนี้มีความพยายาม "คืนสู่รากเหง้า" มีความสนใจภูมิปัญญาไทย แต่ก็ในความหมายเชิงธุรกิจ เอามาต่อยอดเป็นโอทอปสามดาวห้าดาว เอามาขาย มีรายได้ ไม่ได้ไปวิจัยค้นหารากฐานของชีวิต แล้วนำมาต่อยอด ประยุกต์เพื่อสร้างรากฐานใหม่ที่เหมาะสมกับสังคมไทย เป็นอัตลักษณ์ไทย
   
ยังดีที่วันนี้มีความสนใจ "ยุติธรรมชุมชน" สนใจว่าจะใช้ภูมิปัญญาแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชนโดยไม่ต้องไปพึ่งศาลพึ่งตำรวจเสมอไป แต่ก็ยังไม่มีใครสนใจจริงจังว่า จะสร้างกฎหมายแม่บทอย่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกต่างๆ ให้มีรากฐานที่รากเหง้าของสังคมไทยได้อย่างไร
   
การค้นหาอัตลักษณ์ ไม่ใช่การปิดตัวเองจากโลกภายนอก หากเป็นกระบวนการไปสู่ความเป็นไท ไม่ถูกครอบงำจากอำนาจใดๆ ไม่ว่าในหรือนอกประเทศ ซึ่งล้วนแต่หวังครอบงำและเอาประโยชน์จากสังคมไทยในนามของประชาธิปไตย

ที่มา.สยามรัฐ
-----------------------------------

ทางออกประเทศไทย : เชียงใหม่จัดการตนเอง

โดย.ชำนาญ จันทร์เรือง

ในขณะที่ผู้คนกำลังตกอยู่ในสภาวะการณ์ตึงเครียดจากวิกฤติการณ์ของมวลชนที่มีความคิดเห็นตรงกันข้ามอย่างสุดขั้ว ต่างฝ่ายต่างพยายามขับไล่และปกป้องผู้ที่กำลังครองอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบันโดยหลงลืมไปว่าปัญหารากเหง้าที่แท้จริงของประเทศไทยนั้นคือปัญหาของการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเชียงใหม่มหานครซึ่งประกอบด้วยผู้คนทุกภาคส่วน ทุกสีเสื้อ ทุกความเห็นที่แตกต่างทางการเมือง แต่มีความเห็นตรงกันคือการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองด้วยการเสนอโครงสร้างแห่งอำนาจใหม่ โดยลดการรวมศูนย์อำนาจให้เล็กลง และเพิ่มอำนาจให้แก่ท้องถิ่นมากขึ้น จัดระบบการบริหารราชการแผ่นดินเสียใหม่โดยยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเหลือเพียงราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่

กลุ่มคนเหล่านี้ได้ยกร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ ขึ้นและยื่นต่อรัฐสภาไปเมื่อ 26 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมาและมีแนวร่วมที่ขับเคลื่อนพร้อมกันอีกกว่า 45 จังหวัดซึ่งได้เล็งเห็นปัญหาของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จึงได้ไปยื่นแถลงการณ์ต่อตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยที่เชียงใหม่ในวันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา โดยมีข้อความดังนี้

“จากสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองที่เขม็งเกลียวจนสุ่มเสี่ยงที่จะมีการขยายเป็นความรุนแรงได้ตลอดเวลาในขณะนี้ ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเชียงใหม่มหานครเห็นว่าเงื่อนไขของปัญหาที่สำคัญส่วนหนึ่งเกิดมาจากการที่ประเทศไทยมีการปกครองแบบรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง ทำหน้าที่ตัดสินใจ กำหนดนโยบาย บริหารจัดการ และจัดสรรงบประมาณ โดยรัฐบาลเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีหน่วยงานของกระทรวง ทบวง กรม เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ครอบคลุมทั้งประเทศ ด้วยระบบการบริหารราชการและบังคับบัญชาแบบราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคมาอย่างยาวนาน

ซึ่งการรวมศูนย์การตัดสินใจ และการจัดการทุกเรื่องไว้ที่ส่วนกลางทำให้ระบบการบริหารประเทศใหญ่โต ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชน ตรวจสอบได้ยาก ประชาชนขาดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมือง ทำให้ประชาชนเฉื่อยชาต่อการร่วมจัดการชุมชนเพราะไม่สามารถทำหรือตัดสินใจแก้ปัญหาใดๆของตนเองได้

ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เป็นสาเหตุของปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรและการกระจุกตัวของความเจริญ เช่นการอนุมัติและการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบกับชุมชน การไม่อนุญาตให้ชุมชนใช้ทรัพยากร หรือภูมิปัญญาในการจัดการท้องถิ่น เช่น การจัดการป่าไม้ การจัดการลุ่มน้ำ กลายเป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ และสร้างความขัดแย้งทางสังคม

ระบบที่มีความซับซ้อน ไร้ประสิทธิภาพในปัจจุบันนี้ไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชน ประชาชนขาดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมือง มีการตรวจสอบได้ยาก จึงจำเป็นต้องคืนอำนาจให้ชุมชนตัดสินใจ และกำหนดทิศทางของชุมชนได้ด้วยตนเองทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิต สวัสดิการ การศึกษา สาธารณสุข  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนโดยชุมชนเอง ปัญหาเชิงโครงสร้าง และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ผูกขาดนี้ต้องให้ท้องถิ่นมีความอิสระในการกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชน การพัฒนารูปแบบการปกครองท้องถิ่นให้สามารถจัดการตนเองได้จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเชียงใหม่มหานครซึ่งประกอบไปด้วยผู้คนทุกหมู่เหล่าและทุกสีเสื้อ ซึ่งจะเป็นต้นแบบอันดีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ยังหาทางออกไม่ได้ในขณะนี้ ได้นำเสนอแนวคิด และผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจและการจัดการตนเอง โดยการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอำนาจรัฐ  การบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ การบริหารบุคลากร เพื่อลดอำนาจรัฐ  เพิ่มอำนาจประชาชน ให้อำนาจอยู่ที่ท้องถิ่น และสนับสนุนให้ประชาชนเจ้าของพื้นที่ มีอำนาจในการตัดสินใจบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเอง

เราจึงได้ศึกษาและรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนารูปแบบกลไก โครงสร้าง การบริหารจัดการ  การจัดความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง และประเด็นที่สำคัญต่อการจัดการตนเอง ขับเคลื่อนสู่การผลักดันระดับนโยบายด้วยการเสนอรายชื่อสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร  พ.ศ....ต่อรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการการตรวจสอบรายชื่อ และคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในไม่ช้านี้

เราเชื่อว่าภายใต้สถานการณ์ที่ทุกภาคส่วนกำลังร่วมกันค้นหา และเสนอแนวทางในการปฏิรูปประเทศนี้ รูปธรรมสำคัญที่จะเป็นทางออก คือการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ โดยกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจังหวัดจัดการตนเอง จะเป็นการลดปัญหาการรวมศูนย์อำนาจและเป็นทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ได้

เราจึงขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคที่ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ทุกหมู่เหล่าได้ช่วยกันผลักดันและขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยการปฏิรูปโครงสร้างการรวมศูนย์ สู่การกระจายอำนาจให้จังหวัดจัดการตนเอง และผลักดันร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร เพื่อให้ท้องถิ่นได้จัดการตนเอง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเราได้เกิดสันติสุขและเจริญรุ่งเรืองสืบไป”

จะเห็นได้ว่าหากเราปรับโครงสร้างการเมืองการปกครองเสียใหม่ตามรูปแบบของเชียงใหม่มหานครโมเดลนี้แล้วก็สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ที่ถึงแม้อาจจะแก้ไขได้ไม่หมดไปเลยเสียทีเดียว เพราะทุกสังคมย่อมมีความแตกต่างในด้านความคิดและรสนิยมทางการเมือง แต่จะไม่เกิดวิกฤติมากมายดังเช่นในปัจจุบัน เพราะปัญหาส่วนได้รับการแก้ไขแล้วในระดับท้องถิ่นแล้ว

หากเรายังไม่ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ไม่ว่าใครหรือพรรคการเมืองใดขึ้นสู่อำนาจก็ไม่สามารถบริหารจัดการให้ก้าวหน้าได้เพราะโครงสร้างในปัจจุบันนั้นเอื้ออำนวยต่อการทุจริตคอร์รัปชัน และยังเป็นเงื่อนไขที่เอื้อให้กลุ่มทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงผู้ที่ถืออาวุธและกฎหมายอยู่ในมือเข้ามาเสวยสุขบนความทุกข์ยากของประชาชนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ถึงเวลาแล้วล่ะครับที่เราจะต้องมาร่วมกันพิจารณาปรับโครงสร้างอำนาจกันเสียใหม่ แล้วร่วมเดินหน้าพัฒนาประเทศไทยไปด้วยกัน เมื่อทำได้ดั่งนี้แล้วจะมีหรือไม่มีตระกูลชินวัตร หรือจะมีหรือไม่มีอำมาตยาธิปไตย ก็ย่อมที่จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เพราะอำนาจที่แท้จริงนั้นได้ถูกกระจายให้แก่ท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-------------------------------------------------------

วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นักวิชาการ-ส.ว.ชี้ช่องต่อสู้คำร้องถอดถอนสมาชิกรัฐสภา 312 คน งัดคำวินิจฉัยศาลรธน.สู้กับม.270

นักวิชาการ-ส.ว.ชี้ช่องต่อสู้คำร้องถอดถอนสมาชิกรัฐสภา 312 คน งัดคำวินิจฉัยศาลรธน.สู้กับม.270 ย้ำฝ่ายค้านหวังดึงเกมสร้างให้เกิดวิกฤติ

กลุ่มส.ว.เลือกตั้ง นำโดยนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี ได้จัดงานเสวนาชำแหละคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและทางออกส.ว.เลือกตั้งลงชื่อในญัตติ โดยมีนักวิชาการ ได้แก่ นายเอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ ร่วมเสวนาและตอบคำถามของส.ว.ที่เข้าร่วมจำนวน 31 คน

โดยนายเอกชัย กล่าวว่า ได้คุยกับนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาต่อประเด็นมีผู้ยื่นถอดถอนสมาชิกรัฐสภา ทั้ง 312 คนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยนายนิคมต้องการไปชี้แจง แต่ตนมองว่าส.ว.ต้องหารือให้ตกผลึก เพราะประเด็นของผู้ชุมนุมที่เกิดตอนนี้ไม่ต้องการเล่นเกมให้ถึงป.ป.ช. แต่ต้องการให้จบภายใน 3 วัน โดยดึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจไว้ แต่ต้องการสร้างความวุ่นวายให้เป็นวิกฤติ และใช้เกมขั้นสุดท้ายคือ ปฏิเสธรับอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ และต้องการให้เกิดนายกพระราชทานตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ซึ่งเตรียมบุคคลชื่ออักษร ย่อ"อ." หรือ"พ."ตัวดำๆซึ่งเป็นนักกฎหมายไว้แล้ว

นายเอกชัย ได้ตอบคำถามของส.ว.ต่อประเด็นการต่อสู้กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยว่า ต้องยืนยันเอกสิทธิ์เด็ดขาดของสมาชิกที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 130 ที่ให้เอกสิทธิ์เด็ดขาดกับการแสดงความเห็นหรือลงคะแนนในที่ประชุม โดยบุคคลใดจะนำไปฟ้องร้องไม่ได้

"ส่วนกรณีที่มีการยื่นเรื่องถอดถอนกับป.ป.ช. นั้นต้องพิจารณาในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชี้ชัดว่าเป็นสิทธิ เสรีภาพ และหากมีการยื่นเรื่องถอดถอนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ที่พบการใช้อำนาจหน้าที่กระทำการที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ สามารถนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาต่อสู้ได้ ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวไม่มีความยาก หากทำตามกฎเกณฑ์ "นายเอกชัย กล่าว

ด้าน นายวีรพัฒน์ กล่าวว่าตามที่มีผู้ใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 271 ดำเนินการยื่นถอดถอนสมาชิกรัฐสภา 312 คนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ต้องพิจารณากระบวนการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่ระบุให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องตามคำร้องให้ ป.ป.ช.พิจารณาตรวจสอบโดยเร็ว

"ผมมองว่าต้องมีการเตือนนายนิคม ว่าอย่าหลับหูหลับตาส่งไปให้ทันที เนื่องจากมาตรา 272 ระบุให้พิจารณาตามคำร้องมาตรา 271 และมาตรา 270 ประกอบ โดยมาตรา 270 นั้นระบุว่าเมื่อมีผู้ใดจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หากนายนิคม มองว่าเป็นประเด็นที่อยู่ระหว่างการถกเถียง มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม แต่ไม่ใช่กรณีจงใจขัดต่อรัฐธรรมนูญเพื่อกระทำการทุจริต เป็นการใช้อำนาจรัฐธรรมนูญ หากนายนิคมไม่ส่งเรื่องไปยังป.ป.ช.ผมมองว่ามีคำอธิบายได้ "นายวีรพัฒน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวงเสวนาดังกล่าวเป็นการอภิปรายสลับกับการถามคำถาม ประกอบกับหาข้อสรุปกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และการต่อสู้หลังจากที่ผู้ยื่นถอดถอน ทั้งนี้นายสุพจน์ เลียดประถม สว.ตราด เสนอว่าส.ว.ทั้ง 52 คนที่ถูกยื่นถอนถอนควรแยกการต่อสู้ เนื่องจากส.ว.ไม่ใช่ผู้ที่เสียบบัตรแทนแทน อีกทั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอให้สภาฯ ซึ่งมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการ ไม่ใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ ส.ว.ให้การรับรอง อย่างไรก็ตามการหารือประเด็นดังกล่าวได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางแต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องจากมีข่าวแจ้งให้ข้าราชการ, ลูกจ้างรัฐสภาออกจากพื้นที่หลังมีเหตุการชุมนุมปิดล้อมถนนหลายเส้นทาง

ก่อนปิดการเสวนา นายดิเรก ถึงฝั่ง สว.นนทบุรี ระบุว่าหลังการเสวนา เดิมจะมีการหารือถึงการต่อสู้ในคำวินิจฉัยของศาล และจะมีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ร่วมด้วยแต่ตนได้รับแจ้งจากนายนิคมว่า จะไม่เข้าที่ประชุมรัฐสภาเนื่องจากทราบมาว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมบุกรวบตัว แต่การเสวนาดังกล่าวนายนิคมได้ติดตามตลอด อย่างไรก็ตามการหารือเรื่องดังกล่าวจะนัดประชุมอีกครั้ง ในวันที่ 26 พ.ย. ส่วนจะใช้สถานที่ใดจะให้นายสุรชัย แจ้งอีกครั้ง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-------------------------------