นายกรัฐมนตรี ถือเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติเพราะถือเป็นประมุขฝ่ายบริหารแต่ในห้วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาดูเหมือนประเทศไทยจะใช้นายกรัฐมนตรีเปลืองเป็นพิเศษอันเป็นที่มาแห่งเสียงวิพากษ์ว่า“นายกฯ ประเทศไทยใครก็เป็นได้”
นั่นคงจะเป็นเพราะการก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดบนชีวิต การเมืองอย่างคาดไม่ถึงของ “สมัคร สุนทรเวช” อดีตนายกฯ ผู้ล่วงลับ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ผู้นำส้มหล่น หรือแม้กระทั่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เองที่หลายฝ่ายเคยปรามาสไว้ว่า “เร็วเกินไปสำหรับการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ”
เมื่อใช้อะไหล่ตัวใดก็ได้ ส่งผลให้เก้าอี้นายกฯ ของไทยคลายความขลังลงไปทุกขณะจิต ประจวบเหมาะ กับสายป่านของ “รัฐบาลเทพประทาน” ดำเนินเข้า มาจวบจนจะถึงปลายทาง ชื่อของนายกฯ ภายใต้เงื่อนไข “ใครก็เป็นได้” จึงพรั่งพรูออกสู่โสตประสาท ของประชาชน จนกลายเป็นอาการกระเหี้ยนกระหือรือ ของนักเลือกตั้งผู้ลุ่มหลงอำนาจไปโดยอัตโนมัติ โดยที่ไม่มีใครทราบว่า ชื่อที่ถูกพาดพิงคิดเห็นเป็นประการใด
“พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์” เดินสายปรองดอง สังคมก็มองว่าเป็นการเดินเกมกั๊กเก้าอี้นายกฯ คนกลาง “เนวิน ชิดชอบ” เดินลุยไฟฝ่าดงบาทาล่าชื่อนิรโทษกรรม สังคมก็มองว่าปลุกผี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ขึ้นมาเป็นนายกฯ ฝ่าวิกฤติ
ในระยะเผาขน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ทิ้งเก้าอี้รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง โดดลงสนามเลือกตั้งซ่อมเมืองสุราษฎร์ธานี สังคมก็มองว่า “เทพเทือก” กระชับพื้นที่ภายในพรรครอเสียบแทน “นายกฯ อภิสิทธิ์” หากพรรคประชาธิปัตย์ต้องประสบอุบัติเหตุจากคดียุบพรรค 2 ใน 3 คนที่ระบุถึง แม้จะมีการออกมาเคลียร์ ตัวเองต่อสาธารณชน แต่ก็ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้บรรดาคอการเมืองปักใจเชื่อแต่หากพิเคราะห์อย่างสังเคราะห์ โดยลบชุดความคิดที่ว่า “นักการเมืองชั่วทั้งหมด” ออกจากสมอง และเข้าให้ถึงตัวตนที่แท้จริงของ “เสธ.หนั่น” จะพบว่าสิ่งที่นักการเมืองผู้นี้ระบุ “ในสมองไม่เคยคิดเรื่องเหล่านี้ เพราะอายุใกล้ 76 ปี แล้ว” มันก็น่าจะเพียงพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่า “แผนปรองดองฉบับชาละวัน” ไม่ได้ล้ำลึกถึงขั้นแผนจองกฐินเก้าอี้ “นายกฯ คนกลาง”
เสียงวิพากษ์ในลักษณะเดียวกันที่ดังขึ้นมาจาก การเคลื่อนของ “เทพเทือก” และดูเหมือนว่าจะกระหึ่มดังยิ่งเสียกว่า การเคลื่อนของ “เสธ.หนั่น” ซะอีก เพราะด้วยชัยภูมิที่ยืน บวกรวมกับสถานะอันสุ่มเสี่ยงของพรรคประชาธิปัตย์ มันย่อมทำให้น่าเชื่อได้ว่า นี่ไม่ต่างจากแผนวางตัว “นายกฯ สำรอง”
กระนั้น ในเสียงวิพากษ์แห่งวิพากษ์ และครุ่นคิด ในสมมติฐานเดียวกันกับ “เสธ.หนั่น” ย่อมพบว่า ด้วยสภาพที่แผลเหวอะหวะเต็มตัว และด้วยอุปนิสัยใจนักเลงปักษ์ใต้ของ “เทพเทือก” หากไม่มีอคติ เหตุและผลที่เกิดจากเสียงวิพากษ์ มันล้วนดูขัดแย้งกับสิ่งที่สังคมกำลังจับจ้องนักการเมืองผู้นี้
และยิ่งหากมองลงไปให้ลึกในเงื่อนไขที่กำลังเกิดขึ้นกับ “เทพเทือก” โดยเฉพาะความสัมพันธ์ภาย ในพรรคที่ยิ่งดูห่างเหินและห่างไกลจาก “นายหัวชวน หลีกภัย” มากและมากขึ้นทุกวัน
การตัดสินใจโยนเสื้อคลุมรองนายกฯ และเปลี่ยนมาเป็นราษฎรเต็มขั้น มันย่อมไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่า เขาจะได้รีเทิร์นกลับมานั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวเก่า ยิ่งจังหวะการขยับของ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ที่ประกาศพร้อมเสียบตำแหน่งรองนายกฯ อย่างเปิดเผย มันย่อมสะท้อนให้เห็นเกมการเมืองภายในประชาธิปัตย์ได้อย่างถนัดถนี่ลูกตาเสียนี่กระไร
และนั่นคือมุมมองที่ต้องยอมรับโดยดุษณีว่า นี่ แหละคือการเมืองฉบับประชาธิปัตย์ตัวจริง!!!แต่ถ้าหากคิดในสมมติฐานเดียวกันในความเป็น การเมืองฉบับประชาธิปัตย์ บนตรรกะ “ยามศึกเรารบ ยามสงบเราฟัดกันเอง” และยึดโยงไปผูกติดกับสถานการณ์อันสุ่มเสี่ยงจากคดียุบพรรค มันย่อมน่าเชื่อเหลือเกินว่า การทิ้งเก้าอี้ของ “เทพเทือก” หรือแม้กระทั่ง กรณีการเสียบของ “น้าหยัด” รวมไปถึงวลี “หวัดนกถล่มประชาธิปัตย์” ของ “นายหัวชวน” มันย่อมมีอะไรแยบคายไปกว่า มิติแห่ง “นายกฯ สำรอง” ที่กำลังดำเนินอยู่
สมมติว่า การลาออกของ “เทพเทือก” เพื่อเปิดทางให้มีการปรับ ครม. ตัดหาง “ภูมิใจไทย” และเสริมหล่อสร้างภาพสีขาวให้ประชาธิปัตย์ ก่อนประกาศ ยุบสภา การสลับให้คู่กัดอย่าง “น้าหยัด” มานั่งเสียบ แทนในเก้าอี้รองนายกฯ มันย่อมดูประนีประนอมกว่า ใช่หรือไม่???
สมมติว่า คิวเดินทางไปต่างประเทศถึง 3 ไฟลต์ติดๆ ในระยะเวลาอันใกล้ อุบัติอาถรรพ์เดือนตุลาฯ การให้ “น้าหยัด” ที่ไม่ค่อยอี๋อ๋อกับกองทัพสักเท่าไร มาปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกฯ ก่อนประกาศยุบสภา ในกรณีฉุกเฉิน อาถรรพ์ดังกล่าวจะมีสิทธิ์เฮี้ยนขึ้นมา อีกครั้งใช่หรือไม่???
สมมติว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยุบพรรคหรือยุบพรรค แต่เผอิญมีการชี้ผิดชี้ถูกในลักษณะต่างกรรม ต่างวาระ และไม่เข้าข่ายเดียวกันกับพรรคที่โกงเลือกตั้งและถูกยุบไปก่อนหน้านี้ เหล้าเก่าในขวดใหม่แห่งพระแม่ธรณีบีบมวยผม จะยังจำเป็นต้องใช้ “นายกฯ สำรอง” อีกต่อไปใช่หรือไม่???
ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่า ในอดีตแม้ “เทพเทือก” จะสนิทสนมกับ “อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร” สักปานใด แต่ก็ไม่เคยมีสักครั้งที่บุรุษผู้นี้ คิดจะเอาใจออก ห่างสถาบันการเมืองที่ปลุกปั้นเขาขึ้นมา และด้วยเหตุฉะนี้ ลำพังเพียงความสัมพันธ์ระดับกิ๊กครั้งใหม่ที่ เกิดกับ “เนวิน ชิดชอบ” มันจะทำให้ “เทพเทือก” เปลี่ยนใจได้กระนั้นหรือ
การเมือง “ไม่มีมิตรแท้ ไม่มีศัตรูถาวร” ก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า คนอย่าง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แม้จะดีจะชั่วมาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านสมุทร แต่อดีตกำนันผู้นี้ก็ไม่เคยทิ้งดีเอ็นเอสายพันธุ์นักการเมืองใจนักเลงตัวจริง!!!
ที่มา.สยามธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น