--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เสนาธิการฝ่ายเศรษฐกิจ คนที่ 14 รับมือค่าเงิน-โครงการร้อนและปรัชญาพอเพียง

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
สัมภาษณ์พิเศษ

เป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ ที่ "ลูกหม้อ-คนใน" ได้ขึ้นเป็นหมายเลข 1 ที่สำนักเสนาธิการ ฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาล

เมื่อชื่อ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" ถูกโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น "เลขาธิการ" สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์

ภาระ-พันธะ-แผนชาติ-การลงทุนของประเทศ ตกอยู่บนบ่า

เขาบอก "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า งานของสภาพัฒน์ อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องคิดตลอด

ต้องคิด เมื่อเจอวิกฤต จะทำอย่างไร ?

เขาพบว่า หลายคำถาม มีคำตอบที่เป็น "ของดี"

"คือพระราชดำรัส เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการพัฒนาแบบ Back to the Basic"

เขาออกตัว-ถ่อมตนว่า "ผมเป็นคนไม่เก่ง ไม่มีสีสัน" เมื่อต้องเปรียบเทียบกับเลขาธิการคนเก่า

"แต่ละคนมีสไตล์การทำงานของตัวเอง ดร.อำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการ อาจมีสไตล์ที่จับประเด็นเร็ว แต่สไตล์ผม ทำงานบนพื้นฐานที่ต้องมีความมั่นใจเรื่องข้อมูล เพราะผมเติบโตโดยตรงมาจากการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล"

"เพราะฉะนั้น ผมจึงทำงานบนพื้นฐาน 3 ข้อ คือข้อมูลต้องถูกต้อง บนพื้นฐานสร้างความเชื่อมั่น และเป็นการนำเสนอ เชิงนโยบายและข้อวิเคราะห์"

"คนสภาพัฒน์ถูกอบรมสั่งสอนมาลักษณะอย่างนี้ คือต้องทำงานบนพื้นฐานหลักวิชาการ"

"สำหรับผม เคยทำงาน Support-สนับสนุนอดีตเลขาธิการทุกคน ตั้งแต่สมัยอาจารย์เสนาะ อูนากูล ต่อมาก็สมัย ดร.พิสิษฐ ภัคเกษม สมัยนั้นเรียกกันว่าเป็นกลุ่ม Young blood เขาก็ให้โอกาสทำงาน ได้แสดงฝืมือ โดยมีภารกิจสำคัญ คือวิเคราะห์เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นงานพื้นฐานสำคัญของสภาพัฒน์ หลังจากนั้นก็ Support เลขาธิการทุกคน"

"สมัยที่ผ่านมา ยุค ดร.อำพน เมื่อท่านเข้ามาใหม่ ๆ ท่านก็เกร็ง ว่าเป็นคนจากกระทรวงมา ไม่ใช่ลูกหม้อ แต่ที่สภาพัฒน์ ใครมาเป็นเลขาธิการ ก็มีทีม Support ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่แปดโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น แต่ต้อง Support 24 ชั่วโมง"

เขาเคยทำงานร่วมกับเลขาธิการหลายคน คำถามจึงมีว่า จะนำจุดอ่อนจุดแข็งของอดีตเลขาธิการมาปรับปรุงกับการพัฒนา ในตำแหน่งตัวเองอย่างไร เขาตอบว่า "งานสำคัญของสภาพัฒน์ คือนโยบายและแผนพัฒนาประเทศ หัวใจของงาน คือทำอย่างไร ให้ประเทศก้าวย่างอย่างมั่นคง มีเสถียรภาพ มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ"

"จุดอ่อนในอดีต ถามว่า เห็นอะไรบ้าง ในแง่นโยบาย ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากมาย เพียงแต่นโยบายต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ชัดเจน ในสมัย ดร.อำพน คือเรื่องการปรับตัวเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือเข้าสู่ยุคสังคม ผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน"

เขาเคยรับภาระกับวาทะของ "ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล" อดีตเลขาธิการมากบารมี ที่ว่า "เห็นชอบมอบรอง เห็นด้วยผู้ช่วยทำ คนรับกรรมเป็น ผอ." แต่เขาเห็นว่า นั่นเป็น "หลัก" ในการทำงานแบบ "มีส่วนร่วม"

"ยุค ดร.สุเมธ ท่านเห็นความสำคัญ ของการมีส่วนร่วม ในการจัดทำแผน 8 ที่ไม่ใช่ Top down แบบเดิม จุดนี้เป็นจุดแข็ง และพิสูจน์ว่า สมัยนี้ สังคมจะ ก้าวผ่านความขัดแย้งได้ ต้องใช้การมี ส่วนร่วมเท่านั้น และจะต้องมีการเดินไปด้วยกันระหว่าง National Agenda and National objective"

เลขาธิการ-ลูกหม้อบอกบทบาท สภาพัฒน์ "ยังให้ความสำคัญกับการประสานงาน และขับเคลื่อนนโยบายลงสู่การปฏิบัติ ซึ่งความยากของการทำงาน คือต้องประสานกับส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนด้วย"

เมื่อกุมบังเหียนในตำแหน่งเลขาธิการหมายเลข 1 ของสภาพัฒน์ มีงานที่ตั้งใจทำให้เข้มแข็งเข้มข้นยิ่งขึ้น คือเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

"เท่าที่ดูจาก Ranging-การจัดอันดับ เรามองในแง่ Trend-ทิศทาง ยังไม่ดีขึ้นมาก เพราะปัญหาพื้นฐานของสังคมไทยที่อ่อนด้อยทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และคุณภาพของคน"

"ที่จะให้ความสำคัญ คือระบบ Logistics ของประเทศ ต้องลงสู่การปฏิบัติ สร้างความมั่นใจให้เอกชน ว่านโยบายแผนพัฒนา ต้องมีความต่อเนื่อง-ชัดเจน เปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด"

"การปรับแผน ต้องปรับเพื่อให้ดีขึ้น หรือปรับเพราะมีสถานการณ์ภายนอกมากระทบ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน หากยังไม่มีความพร้อม เงินไม่มี ก็ต้อง ปรับ แต่เราไม่อยากมีการปรับแผนบ่อย ๆ และการปรับก็ควรมีเหตุผล ไม่ใช่ปรับกลางอากาศ"

"เราเข้าใจได้ว่า แต่ละรัฐบาลที่เข้ามา ย่อมอยากมีนโยบายของตัวเอง สภาพัฒน์ก็อยากให้มีความชัดเจน ให้มีการพัฒนาตามแผนแม่บท เพราะภาพรวมการพัฒนา ไม่ใช่แค่ประเทศเราประเทศเดียว แต่เราต้องพึ่งพาทุนจากภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักลงทุนจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้น เอกชนก็ต้องได้รับความมั่นใจ ว่าแผนไม่เปลี่ยนแปลง"

"เมื่อรัฐบาลให้เอกชนลงทุน ก็ต้องไม่เปลี่ยน นี่คือประเด็นที่สภาพัฒน์เห็นว่าสำคัญ"

"ขอขยายความเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศว่า หากเราต้องพัฒนาไปอีกระดับ ประเทศเราจะผลิตสินค้า บริการแบบเดิมไม่ได้ ต้องผลิต และสร้าง Brand ของตัวเอง"

"ในเรื่องการพัฒนาคุณภาพคน เป็นเรื่องสำคัญ หากเราพูดจากระบบการศึกษา ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ความสำคัญ จึงมีแผนการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 แต่หัวใจอยู่ที่การวางพื้นฐานให้เด็กรุ่นใหม่มีความสามารถ มีคุณภาพ มีการคิด วิเคราะห์เป็น"

ระบบการศึกษาแบบจ่ายครบ จบแน่ ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาคนอีกต่อไป

"การพัฒนาระบบ Logistics ที่บุคลากรขาดแคลน แต่ในขณะนี้ หลักสูตรพาณิชย์มีเยอะมาก ซึ่งผลิตนักศึกษาได้เร็วมาก แต่ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้โรงเรียน มหาวิทยาลัยอยู่กับความจริง อยู่กับโรงงาน ภาคบริการ ภาคเกษตรของประเทศ"

"เมื่อเราพูดถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งใน-นอกระบบ มหาวิทยาลัย จึงต้องสร้างพื้นฐาน สนับสนุนทางปัญญานอกระบบ เช่น ห้องสมุดนอกโรงเรียนการมีองค์กรแบบ TCDC"

ไม่ว่าโลกจะหมุนเร็ว-แรงปานใด แต่ภารกิจหลัก-หนักแน่นของ "สำนักคิด" หน่วยงาน "ที่ปรึกษา" ของรัฐบาล ยังยึด "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"

"ในแผน 10 ได้มีการนำปรัชญาลงสู่การปฏิบัติ แต่วันนี้ เรามีคนเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มากพอแล้วหรือยัง ผมคิดว่ายังไม่พอ เพราะวันนี้ เรายังมีเรื่องค่าเงิน มีกฎ กติกา ที่ต้องนำมาเกี่ยวข้อง"

คำถามร้อน เรื่องสงครามค่าเงินบาทแข็ง และผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติ ถูกเสนาธิการฝ่ายเศรษฐกิจอธิบายให้เห็นภาพ

"ปัญหาเรื่องค่าเงินบาทแข็ง คนเดือดร้อนมีก็จริง แต่คนไม่เดือดร้อนก็มี เพราะเขามีองค์ความรู้ มีความพอเพียง มีเหตุผล เตรียมความพร้อม เขาศึกษา แนวโน้ม เขาวางแผนเรื่อง Stock มีการวางแผนจังหวะเวลาในการซื้อเครื่องจักรใหม่ ที่สอดคล้องกับภาวะค่าเงิน ทำให้เขารอดพ้นจากวิกฤตค่าบาทแข็งได้"

เพราะฉะนั้น เรื่องค่าเงินบาทแข็ง ก็มีความเห็น ความคิดที่หลากหลาย แล้วแต่ว่าใครจะเสียงดัง"

"คำถาม ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นตลอดไปหรือไม่ คำตอบ คือดูจากเศรษฐกิจปีนี้ตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ เพราะต่างประเทศเขาเห็นพื้นฐานเศรษฐกิจที่มีอัตราการขยายตัวในอัตราสูง มีการฟื้นตัวเร็ว เขาเชื่อมั่น แต่เขาจะเชื่อใจภาครัฐบาลหรือไม่ ก็อีกเรื่องหนึ่ง"

"ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐาะนะผู้กำกับดูแลห่าง ๆ ไม่ให้สะวิง และต้องมีเสถียรภาพระดับหนึ่ง นักลงทุน นักธุรกิจ ทุกคนเห็นข้อมูลเหมือนกัน Treading ในตลาด เขารู้ว่าเวลานี้เป็นอย่างไร เราให้ข้อมูล แนวโน้ม ผิด-ถูก อยู่ที่ว่า คนจะเชื่อ หรือไม่เชื่อ ถ้าไม่เชื่อ ก็ต้องทำประกันความเสี่ยงไว้"

ข้อวิเคราะห์เรื่องผลกระทบต่อเนื่อง และแนวทางตั้งรับด้วยปรัชญาเศรษฐกิจ "พอเพียง"

"การฟื้นตัวของเศรษฐกิจปีนี้ ถ้าถามเอกชน ผู้ส่งออก ก็ไม่มีปัญหา เขามี Order-คำสั่งซื้อเต็ม ภาคสิ่งทอ ผลิตไม่ทัน แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่า แต่ Order ก็ไม่เปลี่ยนแปลง ในครึ่งปีหลัง อัตราการขยายตัวของการส่งออก ก็คงไม่เท่ากับ ปีที่แล้ว เพราะฐานปีที่แล้ว อัตราเติบโตสูง ภาพรวมอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ยังคงไว้ที่อัตราเดิม คือ 7-7.5%"

ภาพการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ทุกโครงการของประเทศ ที่สภาพัฒน์ยังเป็นองค์กรชี้ขาด ในทัศนะของ "เลขาธิการคนใหม่" เขาบอกว่า โครงการหลายแสนล้าน "ได้เกิด" ในแง่ที่ ครม. มีการ "เห็นชอบ" แผนไว้แล้ว ทั้งโครงการรถไฟสายสีม่วง โครงการรถเมล์ 4,000 คัน การปรับปรุงรางรถไฟทั่วประเทศ โครงการรถไฟรางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูง

"แต่โครงการจะเกิดขึ้นจริง ต้องประสานงานกับกระทรวงเจ้าของโครงการ ทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง"

"หากเกิดการปรับเปลี่ยนโครงการ กลางอากาศ สภาพัฒน์ก็ต้องสร้างความเข้าใจ ชี้ให้เขาเห็นโอกาสการพัฒนา เราต้องยืนยัน และเชื่อว่ารัฐบาลจะเข้าใจ"

"เครดิตของสภาพัฒน์ คือหลักวิชาการ อธิบายให้รัฐบาลฟังได้ ว่าเราทำงานโดยระบบสำนักงาน ที่เป็นเลขานุการของบอร์ด สุดท้าย บอร์ดต้องให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสภาพัฒน์ไม่สามารถบอก 1 ให้เป็น 2 ได้ ต้องมีกรอบวิชาการ ทฤษฎี มี Scenario ในการวิเคราะห์ พร้อมบอกปัจจัยเสี่ยง"

บทบาทเสนาธิการฝ่ายเศรษฐกิจที่ต้องทำงานกับรัฐบาลทั้งองคาพยพ 7 พรรค 35 รัฐมนตรี มีคำถามสุดท้าย ของการสัมภาษณ์-สนทนาครั้งแรกกับผู้สื่อข่าวว่าหนักใจ ที่ต้องสู้กับฝ่ายการเมืองหรือไม่

คำตอบไม่เร้าใจ แต่ได้ "หลักการ- หลักคิด" คือ

"สภาพัฒน์ทำงานกับรัฐบาลมาตลอด เราเป็น Staff ที่ผ่านมาในช่วง ปี 2545-2546 มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายครั้ง แต่เราก็ทำงาน ให้ข้อมูลวิชาการเหมือนเดิม"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น