กล่าวกันว่า สิ่งที่คุณมองเห็น สิ่งที่คุณได้ยิน อาจไม่ใช่ความจริงเหมือนกับที่เห็นและได้ยินเสมอไป มันอาจเป็นความจริงทั้งหมด หรือเป็นเพียงความจริงเพียงครึ่งเดียวก็ได้ หรือเป็นความจริงฉาบหน้าอยู่ แต่ข้างหลังอาจเป็นสิ่งโกหกหลอกลวง
ด้วยเหตุนี้ วงการข่าวกรองจึงให้ความสำคัญกับการประเมินค่าแหล่งข่าวบุคคลอย่างมาก โดยเฉพาะการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว อาทิ แหล่งข่าวเข้าถึงข่าวโดยตรงหรือโดยอ้อม เขาได้พบเห็นมาด้วยตนเองหรือได้ฟังมากี่ต่อ รายงานที่ผ่านมาถูกต้องมากน้อยเพียงใด หรือนี่เป็นรายงานครั้งแรก เจ้าหน้าที่คุมข่ายจะบันทึกผลงานที่ผ่านมาทุกครั้งเพื่อประโยชน์ในการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว
คนไทยผู้บริโภคข่าวทุกวันนี้อยู่ท่ามกลางข่าวปล่อย ข่าวลือ ข่าวลวง โดยเฉพาะจากนักการเมือง เพราะฉนั้น สิ่งที่นักการเมืองพูดอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมดอย่างที่เราได้ยิน ข่าวนั้นอาจเป็นความจริงครึ่งหนึ่ง ความเท็จครึ่งหนึ่ง หรือเป็นข่าวลวง ข่าวปล่อยเพื่อให้เราหลงไปตามกระแสหรือเป้าหมายที่พวกเขาต้องการ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งสองสามปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ มีข่าวปล่อยมากมายจากนักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล กลุ่มขัดแย้งทางการเมืองนอกสภา ฯลฯ จนทำให้คนไทยสับสนไปหมดว่าข่าวไหนจริงข่าวไหนลวง ข่าวจริงกี่เปอร์เซ็นต์และข่าวลวงกี่เปอร์เซ็นต์
การประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าวหรือผู้ให้ข่าวนั้น ไม่ใช่พูดวันนี้แล้วประเมินกันได้เลย แต่ต้องทำอย่างเป็นระบบ แหล่งข่าวบางคนพูดแล้วเชื่อถือได้ เพราะที่ผ่านมา คำพูดนั้นปรากฎว่าเป็นจริงทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ หรือพิศูจน์ในภายหลังแล้วว่าเป็นความจริง แต่นักการเมืองอีกหลายคนเป็นแหล่งข่าวที่เชื่อถือไม่ได้ คำพูดที่ผ่านมามีทั้งโกหกหลอกลวงที่สังคมพิศูจน์ได้ ดังนั้น คำพูดของนักการเมืองประเภทนี้จึงไม่มีค่าแก่การรับฟังเลย เพราะเป็นคำพูดเท็จ หรือจริงครึ่งเท็จครึ่ง เป็นข่าวปล่อย ข่าวลวง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนและพวกเท่านั้น
แต่สื่อหลายสำนักก็ยังยินดีที่จะรายงานในสิ่งที่รู้ทั้งรู้ว่าเป็นข่าวเท็จ ข่าวปล่อย ข่าวลวง ไม่มีค่าแก่การรับฟัง โดยอ้างหลักการว่าต้องมีความเป็นกลาง ด้วยการรายงานทั้งสองด้านทั้งที่สื่อควรนำเสนอความจริงเท่านั้นไปยังผู้บริโภคข่าว สิ่งหนึ่งที่สื่อควรตระหนักก็คือ สื่อไม่ใช่เป็นตัวกลางในการแพร่กระจายข่าวเท็จ ข่าวปล่อย ข่าวลวง ไปยังประชาชนโดยอ้างว่าเพื่อให้ประชาชนใช้วิจารณญานในการตัดสินด้วยตนเองว่าควรจะเชื่อใคร เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถวิเคราะห์แยกแยะว่าอะไรถูกอะไรผิดได้ ดังนั้น ประชาชนส่วนหนึ่งจึงอาจตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองไปด้วย
มองอีกด้านหนึ่ง ก็เหมือนกับเป็นการส่งเสริมให้นักการเมืองบางคนใช้ประโยชน์จากสื่อช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวเอง ดังจะเห็นว่า นักการเมืองบางคนออกข่าวรายวันเพื่อแย่งพื้นที่ข่าว บางคนมีข่าวได้ทุกวันโดยขอให้เป็นข่าวแค่ย่อหน้าเดียวก็ยังดี ทั้งที่พื้นที่ข่าวบนสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ก็ดีมีคุณค่าอย่างยิ่งที่ควรบรรจุข่าวที่มีเนื้อหาสาระเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคข่าวมากกว่า
ผู้สื่อข่าวมีหน้าที่ต้องรายงานข่าวเข้าไปยังกองบรรณาธิการ ผู้สื่อข่าวบางรายได้รับคำสั่งว่าต้องรายงานข่าววันละกี่ชิ้น ซึ่งอาจเป็นกลยุทธหนึ่งของกองบรรณาธิการที่ต้องการกระตุ้นให้ผู้สื่อข่าวตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ดูเหมือนว่านักข่าวจะกลัวมากที่สุดคือการตกข่าว เพราะอาจถูกตำหนิจากบรรณาธิการได้ แม้ตระหนักดีว่าข่าวนั้นอาจไม่มีคุณค่าทางการข่าวหรือมีประโยชน์ต่อประชาชนแต่อย่างใด อีกทั้งแหล่งข่าวก็เป็นคนที่เชื่อถือไม่ได้ แต่ถ้าตัวเองไม่ส่ง เพื่อนสำนักอื่นก็ส่ง ดีไม่ดีตนเองอาจถูกตำหนิว่าตกข่าวเสียอีก จึงผลักให้เป็นภาระของกองบรรณาธิการซึ่งทำหน้าที่คัดเลือกข่าวนำเสนอต่อประชาชนเอง
สื่อโทรทัศน์เสรีแห่งหนึ่งได้ปรับวิธีการนำเสนอข่าวนักการเมืองบางคนที่มีพฤติกรรมพูดจาเชื่อถือไม่ได้ พิธีกรจะสรุปคำพูดของคน ๆ นั้นแบบสั้น ๆ เช่นเดียวกับคู่กรณี และปล่อยให้มีภาพข่าวแหล่งข่าวอ้าปากพูดพะงาบ ๆ โดยไม่มีเสียง เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองบางคน ขณะเดียวกันก็ไม่ตกข่าวด้วย นี่เป็นวิธีการหนึ่งในการสั่งสอนหรือช่วยพัฒนานักการเมือง ถ้าใครพูดไม่ดีก็ไม่ต้องเสนอข่าว
ถ้าสื่อทั้งหลายร่วมมือร่วมใจกันในการช่วยพัฒนาแหล่งข่าวให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพขึ้น โดยเลือกที่จะสัมภาษณ์บุคคลที่คิดว่ามีคุณค่าเพียงพอ มีความน่าเชื่อถือได้ ข่าวที่ออกจากปากแหล่งข่าวมีประโยชน์ต่อสังคม โดยปฏิเสธที่จะตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองบางประเภทที่มุ่งแต่จะเป็นข่าวทุกวันหรือมุ่งยึดพื้นที่ข่าวเพื่อหาเสียงหรือให้ประชาชนจำชื่อได้ แต่ข่าวที่ได้นั้นไม่มีคุณค่าเพียงพอต่อการรับฟังเลยแม้แต่น้อย เท่ากับเป็นการสั่งสอนให้แหล่งข่าวตระหนักรู้ว่าต้องพัฒนาตัวอย่างไรบ้างหากต้องกาเป็นข่าว
สื่อบางรายแย้งว่า หากไม่เสนอคำพูดของแหล่งข่าวแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าแหล่งข่าวโกหก ซึ่งเป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่ถ้า แหล่งข่าวคนนั้นสื่อนำเสนอหลายครั้งแล้วและพิศูจน์ได้ว่า เขาพูดเท็จบ้างจริงบ้างเป็นประจำ แล้วสื่อยังจะตกเป็นเครื่องมือให้นักการเมืองแสวงประโยชน์อีกหรือ
ประชาชนกลุ่มหนึ่งได้เริ่มปรับบทบาทของตนในการแซงชั่นแหล่งข่าวประเภทนี้ หลายคนใช้วิธีปิดโทรทัศน์พอเห็นหน้านักการเมืองคนนี้ทางโทรทัศน์ หรือเปลี่ยนไปดูช่องอื่นทันทีเพราะทนไม่ได้กับคำพูดยะโสโอหัง หรือทนเห็นหน้าตาอัปลักษณ์ของแหล่งข่าวไม่ได้ บางคนใช้วิธีปิดเสียงทันที เพราะรู้แล้วว่าแหล่งข่าวจะพูดอะไรบนพฤติกรรมที่ซ้ำซาก หรือรู้ว่าจะด่าอะไรกันระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล บางคนยอมรับว่าไม่ค่อยได้เดูการถ่ายทอดการประชุมสภาเพราะเห็นพฤติกรรมนักการเมืองบางคนแล้วทนไม่ไหว หรือถ้าดูก็ใช้วิธีลุกเข้าห้องน้ำหรือปิดเสียงชั่วคราวแทน เพื่อไม่ให้เสียสุขภาพจิตที่ต้องมาฟังหรือทนเห็นพฤติกรรมของนักการเมืองบางคน
เครือข่ายสังคมผ่านสื่ออีเล็คโทรนิกส์ได้เริ่มมีบทบาทในการแชงชั่นแหล่งข่าวการเมืองประเภทนี้มากขึ้น โดยมีการส่งข่าวถึงกันในเครือข่ายทั้งผ่านทางทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค เอสเอ็มเอส. ดังนั้น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อพื้นฐานและเป็นสื่อตั้งต้นควรเริ่มคิดได้แล้ว
ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน ที่เป็นการต่อสู้อย่างแหลมคม ทั้งสองฝ่ายต่างงัดเอากลยุทธทุกรูปแบบมาทำ “สงครามข่าวสาร” ซึ่งกันและกันโดยมีสื่อและประชาชนเป็นเครื่องมือ ดังนั้น สื่อที่นำเสนอข่าวและประชาชนผู้บริโภคข่าวจึงต้องตั้งสติ ใช้ดุลยพินิจและวิจารณญานในการบริโภคข้อมูลข่าวสาร ประชาชนผู้บริโภคข่าวต้องไม่ตกเป็นเหยื่อและต้องรู้ทันเกมทางการเมืองของนักการเมือง
ที่มา.ไทยนิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น