รัฐบาลเอาใจกลุ่มทุน ผลักภาระให้คนจน ยังเชื่อตลาดทำงานดี คนก็จะดีขึ้น...ไม่มองความขัดแย้งเป็นตัวแก้ปัญหา ต้องไม่ผูกขาดความรู้แค่สถาบันศึกษา
ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เสนอผลการศึกษา "พื้นที่ความรู้และกลไกเชิงซ้อนในจินตนาการใหม่ของสังคมเปลี่ยนผ่าน" ต่อ สภาวิจัยแห่งชาติ และนำเสนอในหลายเวที “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” สัมภาษณ์หามุมมองต่อสถานการณ์ความขัดแย้งปัจจุบัน
ปัญหาปัจจุบันเกี่ยวเนื่องจากอะไร เพราะขัดแย้งทางชนชั้นหรือเปล่า
ไม่ใช่ สังคมไทยเข้าสู่ระบบโลกาภิวัตน์มากขึ้น เราเปิดตลาดอะไรต่าง ๆ เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมจากเกษตรกรรมฐานที่ดิน มาเป็นเกษตรพึ่งพาทุนอย่างมาก การปรับโครงสร้างนี้ผลตามมาได้เกิดคนกลุ่มใหม่ ๆ มากขึ้น กลุ่มคนที่เรามองไม่เห็น เมื่อก่อนเราเรียกชาวนาก็ใช่ เรียกคนงานก็โอ เค แต่เดี๋ยวนี้ชาวนาเหมือนกัน แต่เป็นชาวนาตามพันธะสัญญา คุณเป็นเจ้าของที่ดินคุณก็เป็นชาวนา แต่การทำงานตัวคุณเป็นเหมือนคนงาน นอกจากนี้ยังมีคนงานผลัดถิ่นจากต่างประเทศ คนกลุ่มน้อยไร้สัญชาติในประเทศ
คนเหล่านี้เราอาจเห็น แต่เราไม่รู้จัก ในเมื่อโครงสร้างเปลี่ยนคนเหล่านี้ก็ไม่สามารถได้รับผลพวงประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเต็มเม็ดเต็มหน่วย นอกจากไม่ได้ประโยชน์หรือได้น้อยไม่พอ พวกเขายังถูกผลักภาระความเสี่ยงให้ทั้งหมดตามระบบพันธะสัญญา ตัวอย่างชัดเจนเมื่อไหร่บริษัททำกำไรได้ คนกลุ่มนี้ก็ได้บ้างไม่มาก แต่เมื่อไหร่เกิดความเสี่ยงพวกเขาจะถูกผลักภาระความเสี่ยงมาทั้งหมดเลย นอกจากนี้ก็มีความเสี่ยงหลายรูปแบบ ยกตัวอย่าง มาบตาพุด ชาวบ้านรับเคราะห์กรรม นั่นคือกลไกกำกับความสัมพันธ์บริษัทกับชุมชนมันไม่มีเลย
พันธะสัญญาแบบนี้พูดถึงแต่ตัวเลขตอบแทนใช่ไม่ แต่ไม่ระบุปริมาณปล่อยของเสีย การรับผิดชอบ
เราไม่มีกติกาทางสังคมต่อกรณีไง ปล่อยให้บริษัทใช้อำนาจมากมารุกรานวิถีชีวิต ชาวบ้านเองก็ต้องพึ่งทุนมากขึ้นไง ถ้าโอพะเรทกันแบบเดิมมันก็ได้(เสียงสูง) แต่ไม่เพียงพอ ลูกหลานเขาไม่มีที่เรียนทำไง ไม่สามารถอยู่ในชุมชนตัวเองได้อย่างมีความสุขทำไง เพราะเราปล่อยให้กลไกตลาดมีอำนาจมากเกินไป
กลุ่มคนล่องหน สังคมไม่เห็นหัวเขาเหล่านี้ ได้ต่อสู้กับทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ เพื่อพวกเขาเองอย่างไรบ้าง
เขาต่อสู้เชิงตั้งรับไง เช่นชะลอการขายผลผลิต ก็แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่มาถึงจุดหนึ่งมันออกมาในรูปการชุมนุมไปอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดง เราก็งงมาก มาได้ยังไง
0 37 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 มาถึงขบวนการเสื้อแดง มีทั้งกลุ่มคนที่มองไม่เห็นสถานะ และกลุ่มคนรุ่น 14 ตุลาไปรับใช้อำนาจทุน อำนาจรัฐ ก่อความรุนแรง เป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวที่ชูทักษิณหรือไม่
คนรุ่นนี้มีการเสพข่าวสาร รู้ข้อมูลมากขึ้น แต่ก็เป็นปัจเจกมากขึ้น การรวมตัวต่อสู้ต่อรองก็ยังน้อย ดังนั้น คนเหล่านี้จึงเลือกจะรวมกลุ่มที่สามารถไปต่อรองกับอำนาจรัฐได้ บางคนถือโอกาสเข้าไปในกลุ่มเสื้อแดงสายคุณทักษิณ เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง เหล่านี้ผมเรียกว่าปัญหาอัตลักษณ์ ปัญหาตัวตน คนมองไม่เห็นเขา การใส่เสื้อสีอะไรจึงเป็นการแสดงสัญลักษณ์ พวกเขามีข้อมูลข่าวสารก็เอามาบอกให้สังคมได้รู้จักในนามของสีเสื้อ
ไม่นานมานี้ มีวิจัยสาเหตุขัดแย้งโดยเฉพาะเสื้อแดง ว่าไม่ใช่มีสาเหตุจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่เกิดจากความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกระทำ 2 มาตรฐาน เป็นจริงหรือแค่ปรากฏการณ์
ความเหลื่อมล้ำมีหลายลักษณะ ไม่ใช่แค่จนกับรวย การพูดแค่นี้เป็นลักษณะคู่ตรงข้าม เป็นการพูดแบบลดรูปให้เหลือแค่ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ยังไม่ดีพอ ส่วนใหญ่คิดกันอย่างนี้จริง ๆ มันเป็นความขัดแย้งเชิงซ้อน เช่น คนเข้ามาสร้างความเจริญในพื้นที่ก็จริง แต่มองไม่เห็นหัวคนที่นั่น อะไรๆ ก็ไม่ได้ด้วย คือเขาไม่ได้อย่างที่เขาคิดว่าจะได้นะ นี่คือเรื่องสิทธิ
เสื้อแดงไม่ได้สิทธิในแง่ไหน
เรื่องเสื้อแดงนี่ผมไม่รู้ ที่ไปสัมภาษณ์มาเป็นเพียงเฉพาะหน้า ไม่มีบริบทอื่นประกอบ งานวิจัยจะอ้างว่า เขาต้องการสิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิในการเลือกผู้นำเอง ซึ่งอันนี้ก็เป็นการลดรูปเรื่องสิทธิให้เหลือแค่นั้น เราต้องดูโครงสร้างด้วยหมายถึงอะไร ที่ทำมาเป็นแค่ปรากฏการณ์ แก้ไม่ได้
ปัญหาอยู่ที่นักวิชาการด้วยไหม หยิบมาขยายต่อให้ใหญ่โต
ในเมื่อพูดแค่ปรากฏการณ์ ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะมันถูกแค่ปรากฏการณ์ คือมีปัญหาอื่น ๆ อีกคุณไม่พูด พูดนิดเดียว มันก็ไม่ผิด เราก็ไม่เถียง แต่ไม่ได้บอกปัญหาอย่างนี้มีความเป็นมาอย่างไร ภายใต้โครงสร้างอย่างไร มีเงื่อนไขอะไรทำให้เป็นอย่างนี้ ที่ผมพยายามบอกคือปัญหาเรื่องตัวตน ปัญหาเรื่องสิทธิ และปัญหาเรื่องความรู้ 3 อย่าง
พัฒนาการสังคมมาถึงจุดที่ วัด บ้าน โรงเรียน ช่วยแก้ปัญหาชุมชนไม่ได้แล้วหรือ
มาบตาพุด วัด บ้าน โรงเรียนจะไปแก้ยังไง เป็นปัญหาต้องรับความเสี่ยง นี่แหละที่ว่าไปทำพันธะสัญญาแล้วโรงงานก็ผลักภาระให้ชุมชนต้องรับผิดชอบเอง แล้วจะแก้อย่างไง พวกคุณอยู่ในความสัมพันธ์แบบใหม่ แต่ไปใช้โครงสร้างเก่า กลไกเก่ามาแก้ได้ยังไง เออถ้าผัวเมียตีกันอย่างนี้ โอ เค วัดบ้านโรงเรียน พอได้ (หัวเราะ)
กลไกใหม่คืออะไร อย่างไร
กลไกหลัก ๆ คือการตรวจสอบถ่วงดุลตลาด นี่พูดรวม ๆ เช่นอะไรบ้าง กลไกภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมลพิษหรือกลไกเพื่อการใช้ เช่นนายทุนมาซื้อที่ดินเป็นเจ้าของจะทำอะไร ต้องถามชุมชนที่จะถูกผลกระทบก่อน พูดง่ายๆ หลักการเชิงซ้อนนำไปสร้างกลไกเชิงซ้อนเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลให้เกิดความเป็นธรรม เกิดความสงบสุขในสังคม
คณะกรรมการสี่ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุดล่ะ
อันนี้ไม่ใช่กลไกเชิงซ้อน ไม่ใช่มาตรการเคลื่อนไหวทางสังคม ต้องให้ท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมมากที่สุด จะพูดว่ากระจายอำนาจก็ได้ แต่พูดมาจนเบื่อแล้ว ผมมาพูดใหม่บ้างคือจัดการการใช้อำนาจเชิงซ้อน เป็นคอนเซ็ปท์ ส่วนจะเป็นแบบไหนมาคุยกัน ไม่ใช่ปล่อยให้ใครรวบหัวรวบหาง ตั้งอะไรขึ้นมา
ถามย้ำอีก ทักษิณเป็นเงื่อนไขสำคัญ หรือเป็นแค่ตัวแปรในความขัดแย้งครั้งนี้
ทักษิณเป็นเพียงแค่ปลายของภูเขาน้ำแข็ง ประเทศเราสะสมปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำมานาน ละเลยคน ละเลยเรื่องตัวตน ละเลยเรื่องสิทธิ ละเลยเรื่องความรู้ คิดว่าการปฏิรูปอย่างเดียวจะแก้ปัญหาได้หมด ทั้งที่มีความรู้หลายรูปแบบ แต่ไม่นำความรู้นั้นมาสังเคราะห์หรือมาผสมผสานใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ พูดง่าย ๆ เป็นปัญหาทางโครงสร้าง เรามาติดปลายเหตุที่ทักษิณ ผมจึงพยายามดึงมาหาปัญหาโครงสร้าง โอเคพูดปรากฏการณ์ก็ไม่ผิด แต่จะบอกว่าเลือกตั้งอย่างเดียวแล้วปัญหาจบ มันไม่ได้ ทักษิณตอนอยู่ในอำนาจก็ไม่เห็นทำเรื่องพวกนี้เลย ผมพูดกับทักษิณตั้งหลายที ไม่เห็นมันทำ...อะไร
ทักษิณก็เป็นทุนนิยมเสรี รัฐบาลปัจจุบันก็เป็นทุนนิยมเสรี แล้วต่างกันยังไง มีจุดแยกแค่เรื่องทุจริตภาษีหรือ
ชูประชานิยมเหมือนกัน
มองนโยบายรัฐบาลนี้ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยไหม
ยังไม่พยายามทำเรื่องกำกับตลาด ที่ทำคือเอาใจกลุ่มทุน ผลักภาระให้คนจน ที่พูดกันมานับสิบปีแล้ว คือโฉนดชุมชน เพราะสังคมใหม่ ฐานไปอยู่ที่ทุน ไม่ใช่อยู่ที่ดิน หรือแลนด์เบส อีกแล้ว ฐานโครงสร้างมันล้ำเข้ามาเรื่องทุนขนาดนี้แล้ว ถ้าจะแก้แค่นี้ก็ไม่ผิด ก็ดี แต่ยังน้อยเกินไป คือเขาคิดว่าปล่อยให้ทุนมันดีขึ้นกว่านี้ ให้ตลาดทำงานดีกว่านี้ คนก็จะดีขึ้น เขายังเชื่อแบบเดิม เมื่อไม่ได้กำกับทุนก็จะมีปัญหามากขึ้น เพราะเรื่องสิทธิ เรื่องกฎหมายยังไม่ได้แก้
กฎหมายที่ออกจากสภา กลไกใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างไร
ศาลมีปัญหามาก เพราะยังใช้หลักคิดเชิงเดี่ยว เช่นเรื่องป่า กรมป่าไม้มีอำนาจ ใครมีอำนาจ อำนาจอยู่ที่ใครคนนั้นถูก ใช้ไม่ได้ จะฝากอำนาจไว้กับแค่คนกลุ่มเดียวไม่ได้ ยกตัวอย่างผมไปออสเตรเลีย เพื่อนผมเขาบอกวันนี้ต้องไปพิพากษาคดีชาวอะบอริจิน คือศาลที่นั่นเขาจะมีนักวิชาการมานุษยวิทยาไปร่วมพิจารณาตัดสินด้วย คนวัฒนธรรมแตกต่างจะใช้กฎหมายเดียวไปยัดเยียดให้เขาผิดไม่ได้
อเมริกาเมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว ออกกฎหมาย Public Accommodation Law คนผิวสีจะไปพักโรงแรม เจ้าของโรงแรมคนผิวขาวไม่ยอมให้พัก กฎหมายนี้จึงกำหนดว่าถึงแม้เป็นเจ้าของโรงแรมก็จริง แต่ไม่มีสิทธิปฏิเสธผู้ใช้บริการ ไม่สามารถบังคับสิทธิได้สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ กฎหมายเปิดให้สังคมสามารถบังคับสิทธิซ้อนทับลงไปได้อีกด้วย
ชาวเขาทำไร่หมุนเวียน พวกเราไปเรียกไร่เลื่อนลอย ถูกจับ แต่ปลูกยางพาราในพื้นที่เดียวกัน ไม่จับ ยางพารามันเป็นนโยบาย มันสร้างรายได้ ชาวเขาปลูกข้าวไว้กินมันไม่สร้างรายได้ ไร่หมุนเวียนเขาทำมาเป็นพันปี แต่คนเมืองไม่ยอมรับความแตกต่าง เขาทำไร่แบบนั้น ไม่ใช่กฎเกณฑ์ของคนเมือง ดังนั้น ถ้าคุณไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ของเขาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกฎเกณฑ์ใหญ่แล้วจะอยู่กันได้อย่างไร ในสังคมไทยมีกฎเกณฑ์ตั้งหลายอย่างสลับซับซ้อน แต่พูดลดรูปเหลือแค่กฎหมายที่บัญญัติเท่านั้น
ศาลแรงงานก็มีผู้พิพากษาสมทบจากคนภายนอก ศาลครอบครัวเด็กและเยาวชนก็มีคนนอกมีประสบการณ์มาร่วมตัดสินด้วย เป็นเชิงซ้อนหรือยัง
เป็นความพยายามที่จะมีหลายศาลเท่านั้น แต่ก็เป็นกฎหมายเดียว เอาเฉพาะที่เป็นตัวกฎหมายมาตัดสิน
เรื่องความขัดแย้งที่เชียงใหม่ รุนแรง นักวิชาการที่นั่นเตือนๆ บ้างไหม
เรื่องพวกนี้ผมไม่ค่อยรู้จริง และก็มีการช่วงชิงข้อมูลกัน ป้ายกันไปป้ายกันมา ไม่รู้ความจริงหรืออะไร พูดง่ายๆ อย่าไปตกเป็นเครื่องมือของใคร โอเคเห็นด้วยคนถูกฆ่าก็จะต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา ผมเองก็ถูกอ้างชื่อด้วยกับยุบสภา แต่ผมไม่ได้เห็นด้วยกับทุกเรื่อง มันแค่ประเด็นเดียว ไม่ใช่ว่าเห็นด้วยกับแนวทางพวกเคลื่อนไหว เพราะหลายๆ อย่างไม่ตรงกับเราคิด เช่นหลายๆ เรื่องที่รัฐบาลฝากให้บางคณะดูแล
คณะกรรมการปฏิรูป สมัชชาปฏิรูป คณะกรรมการตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรง เป็นแค่รัฐบาลฝากงาน
เป็นเรื่องที่ฝ่ายกล่าวหารัฐบาล ๆ ก็พยายามหาอะไรมาถ่วงเวลาหรือซื้อเวลาอะไรก็แล้วแต่ เรื่องปฏิรูป สังคมมักคิดว่าได้คนมีความรู้เข้ามาจะแก้ได้ อย่างเก่งก็จัดรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น ต้องถามว่าปฏิรูปอะไร ตั้งขึ้นมาแล้วเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงกัน และมีการเคลื่อนไหวทางสังคม
กังวลเรื่องระเบิดบ่อยๆ ไหม
ไม่กังวล เป็นข่าวประจำวันแล้ว เป็นการสร้างสถานการณ์ก็ได้ ผมอยู่กับงานวิจัย เรื่องที่ไม่รู้ ไม่อยากพูด
เห็นข้อดีของความขัดแย้งในสังคมไทยในช่วงนี้บ้างไหม
ความขัดแย้งครั้งนี้ไปในทางไม่ค่อยดี ซึ่งมันน่าจะดีได้ แต่ไม่รู้เพราะอะไร อาจเป็นที่หมู่แกนนำ ค่อนข้างวิเคราะห์สังคมพลาด แกนนำเองก็มีปัญหาซับซ้อน บางคนนำพาไปเรื่องรัฐชาติ พรมแดน ชนชั้น ติดกับมัน ปวดใจจริงๆ โลกไร้พรมแดนมากขึ้น เสียดายในสังคมตั้งเยอะแยะมองเห็นแค่ไม่กี่คน เสียดายสังคมมองความขัดแย้งเป็นปัญหา ไม่มองความขัดแย้งเป็นตัวแก้ปัญหา สังคมที่ถูกครอบงำความรู้ พูดตามๆ กันมากกว่าจะพูดจากสติปัญญา ดังนั้นจะต้องไม่ผูกขาดความรู้แค่ในสถาบันการศึกษา ทุกคนลดรูปความเป็นจริงลง ทุกอย่างจึงบิดเบี้ยวไร้สติ เราเลยอ่อนด้อยสติปัญญา ขาดความสามารถจะต่อกรกับปัญหาได้ แทนที่จะใช้ความขัดแย้งมาสร้างสรรค์ ช่วยกันเสนอประเด็นปัญหาเพื่อสร้างสถาบันหรือกลไกเผชิญในโลกสมัยใหม่ ที่ผ่านมาพูดแต่เรื่องรูปแบบ เรียกร้องระบบประชาธิปไตยก็แค่รูปแบบ
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศทำอยู่พอไหวไหม
ไม่พอ ยังวิเคราะห์สังคมแบบ 20 ปีที่แล้ว ควรจะทำเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มาทำตอนนี้ถือว่าน้อยไป
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น