มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองในสองประเทศ คือ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ซึ่งนับว่าน่าสนใจ เพราะสะท้อนให้เห็นว่าแม้มีการเปลี่ยนรัฐบาล หรือมีความวุ่นวายทางการเมืองภายใน แต่ประเทศทั้งสองก็ยังมีเสถียรภาพทางการเมืองอยู่ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใด ๆ หากเกิดขึ้นก็เป็นไปตามระบบและกระบวนการ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงนอกระบบ
นางจูเลีย กิลลาร์ด เพิ่งเข้าถวายสัตย์ปฏิญญานต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเพื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เธอเป็นผู้นำรัฐบาลหญิงคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไป นั่นคือ นางจูเลีย กิลลาร์ด ซึ่งยึดตำแหน่งหัวหน้าพรรคแรงงานและตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจากนายเควิน รัดด์ แบบสายฟ้าแลบ จากนั้นก็ยุบสภาและมีการเลือกตั้งทั่วไป โดยที่พรรคแรงงงานชนะแบบเฉียดฉิวเท่านั้น จึงต้องมีการล็อบบี้ ส.ส.ไม่สังกัดพรรคอีก 2 คน จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้แม้ว่าก่อนหน้านี้ นางจะเคยปฏิเสธรัฐบาลผสมหลายพรรคว่าไม่ได้รัฐบาลที่ดี แต่เมื่อเข้าตาจนก็ต้องทำ แต่ที่นั่งของพรรครัฐบาลมีมากกว่าฝ่ายค้านแบบเฉียดฉิวชนิดที่เวลาประชุมสภา นายกรัฐมนตรีคง ต้องห้ามไม่ให้ ส.ส.พรรครัฐบาลขาดประชุม มิฉนั้น อาจแพ้เสียงโหวตพรรคฝ่ายค้านได้ ส่วนนายเควิน รัดด์ อดีตนายกรัฐมนตรีพรรคเดียวกันก็ยอมรับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลชุดนี้ ที่อาจถือว่าเป็นการปรองดองสมานฉันท์ระหว่างนางกิลลาร์ดและนายรัดด์ก็คงจะได้
ในคำปฎิญญานต่อหน้าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นางประกาศว่า จะรับใช้ออสเตรเลียอย่างจงรักภักดีในฐานะนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า นางคงจะทำตามคำปฏิญญานอย่างเต็มที่ ส่วนจะได้มากน้อยเพียงใดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผู้นำออสเตรเลียทุกคนที่ผ่านมายังไม่มีเรื่องอื้อฉาวเรื่องคอรัปชั่น
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในออสเตรเลียเป็นไปตามระบบประชาธิปไตยทางรัฐสภา ครั้งหนึ่ง นายจอห์น โฮเวิร์ด ผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้นาน 4 สมัยรวม 12 ปี แต่พอคนออสเตรเลียเบื่อเข้าก็เปลี่ยนให้พรรคแรงงานเข้ามาบริหารประเทศบ้างผ่านการเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นไปตามระบบรัฐสภา การเมืองในออสเตรเลียจึงมีเสถียรภาพตลอดมา
สำหรับญี่ปุ่นนั้น มีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีคล้ายกับเด็กเปลี่ยนของเล่น เพราะเปลี่ยนกันว่าเป็นว่าเล่น ล่าสุด เมื่อพรรคประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่น (ดีพีเจ) ได้โอกาสมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนพรรคเสรีประชาธิปไตยที่ครองแชมป์มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่พอนายกรัฐมนตรีจากพรรค ดีพีเจ.คนแรกบริหารประเทศได้เพียงปีเดียวก็ต้องลาออก ผ่องถ่ายให้นายนาโอโตะ คัง ขึ้นมาเป็นแทน แต่นายคังเป็นได้เพียง 3 เดือนก็เจอการท้าทายจากนายอิจิโร โอซาวา ผู้ทรงอิทธิพลในพรรคซึ่งได้ฉายาว่า “โชกุนเงา” เสนอตัวเป็นคู่ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งหมายถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั่นเอง แต่ในที่สุด นายคังก็ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกในพรรคให้บริหารประเทศต่อไป
สิ่งที่ท้าทายนายคังอย่างมากมีสองประการ คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ และการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีนซึ่งขณะนี้ก็เจอปัญหาเรือลาดตะเวนญี่ปุ่นจับเรือประมงจีนที่รุกล้ำน่านน้ำบริเวณเกาะเซนกากุ หรือเตียวหยู ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่นดังที่ได้วิเคราะห์ไปแล้ว
ส่วนนายโอซาวา นั้น แม้เคยประกาศว่า จะสนับสนุนนายคังต่อไปหากพ่ายแพ้การเลือกตั้งในพรรค แต่หลายคนรู้นิสัยนายคังดีว่าไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ยิ่งเสียหน้าแบบนี้ นายคังอาจแยกไปตั้งพรรคใหม่ หรือหันไปซบพรรคเสรีประชาธิปไตยซึ่งเป็นฝ่ายค้านก็ได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าญี่ปุ่นจะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีบ่อยเพียงใด แต่การเมืองของญี่ปุ่นก็ยังมีเสถียรภาพ ไม่เคยมีต่างชาติกล่าวหาว่าญี่ปุ่นไร้เสถียรภาพทางการเมือง เพราะการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งเป็นไปในระบบ ผ่านการเลือกตั้ง ไม่ใช่ผ่านการปฏิวัติรัฐประหารเหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาในหลายทวีป
เสถียรภาพทางการเมืองไม่ได้หมายถึงว่ารัฐบาลจะต้องอยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ หากรัฐบาลอยู่ได้นานก็หมายถึงการต่อเนื่องของนโยบาย แต่ในหลายประเทศที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลเสมอ เช่น ฝรั่งเศสในครั้งหนึ่ง หรือที่เห็นง่าย ๆ คือ ญี่ปุ่น แต่การเมืองของเขาก็มีเสถียรภาพเพราะการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเป็นไปตามระบบ อีกทั้งระบบราชการในญี่ปุ่นแข็งแกร่งมาก ใครจะไปใครจะมา งานการของประเทศชาติก็ก้าวหน้าไปด้วยดี
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น