--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

'วิวาทะ' 2 แนวคิดกู้วิกฤต 'ค่าบาท' ดร.โกร่ง ประชัน 'หม่อมเต่า-ประสาร'

ในงานสัมมนา "ตั้งรับยุคค่าเงินบาทแข็งตัว โจทย์ท้าทายเศรษฐกิจไทย" เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2553 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาแสดงความเห็นอย่างชัดเจน พร้อมข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างรวดเร็ว และกำหนดเป้าหมายการแทรกแซงค่าเงินบาทว่าควรจะอยู่ในระดับใด

เมื่อกำหนดเป้าหมายได้แล้ว หากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนด เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาเท่าไร ธปท.ก็จะต้องเข้าไปรับซื้อให้หมดโดยไม่ต้องไปกลัวจะมีต้นทุนจากการออกพันธบัตรเข้ามาดูดซับสภาพคล่องเพิ่ม หาก กนง.มีการปรับลด ดอกเบี้ยลงมา หรือจะกลับไปใช้นโยบายบริหารอัตราแลกเปลี่ยน คงที่ก็ได้ เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีทุนสำรองอยู่ในระดับสูง เกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ไม่มีอันตรายเหมือนในอดีต

"หากจะแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าให้ได้ผลเร็วที่สุดนั้น ในการประชุม กนง.วันที่ 20 ต.ค.นี้ ควรจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายทีเดียว 0.75% เลย เพื่อให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐลดลง"

ส่วนกรณีที่ นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา เครือสหกรุ๊ปออกมา พูดว่ามีโอกาสที่จะเกิดวิกฤตรอบ 2 ผมขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า มีความเป็นไปได้หาก ธปท.ยังปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด หรือปล่อยตามยถากรรม ตลาดเงินเมืองไทยเป็นตลาดเล็ก สถานการณ์ตอนนี้มีเงินไหลเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นไปเรื่อย ๆ พอไปถึงจุดที่ไม่สะท้อนกับพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย ค่าเงินบาทก็แข็งต่อไปไม่ได้ เมื่อถึงตอนนั้นนักเก็งกำไรก็อาจจะเข้ามาทุบให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว เสมือนปั่นให้เงินบาทขึ้นไปถึงยอดเขาแล้วก็ปล่อยให้กลิ้งลงมา นี่คือสิ่งที่น่ากลัว ถือเป็นความโง่เขลาของ ธปท. หากยังปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไป เรื่อย ๆ ถึงระดับ 25 บาท/ดอลลาร์เมื่อไรก็ตัวใครตัวมัน เพราะอาจจะเกิดวิกฤตรอบ 2 ได้

และสิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่อง คือ การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วอาจจะทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาดหุ้นได้ โดยเฉพาะ ภาคอุตสาหกรรมที่มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นมูลค่า สูง ๆ อย่างธุรกิจพลังงานตอนนี้ราคาหุ้นถีบตัวสูงขึ้นมามาก ไม่ได้มาจากการประกอบธุรกิจตามปกติ ส่วนในปีหน้าถ้าไม่มีกำไร จากอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาช่วยราคาหุ้นก็อาจจะมีปัญหา

ด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการแทรกแซงค่าเงินบาทคงจะต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ธปท. ในส่วนของคลังจะทำได้แค่การออกมาตรการไปช่วยเหลือ ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบและตอนนี้ก็ยังคงมีทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทางการจะพยายามไม่ให้แข็งค่าขึ้นไปกว่านี้ แต่จะทำให้อ่อนค่าลงคงจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นผู้ประกอบการควรจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงด้วย

นายกรณ์กล่าวต่อไปอีกว่า วิกฤตค่าเงินบาทครั้งนี้คงจะไม่ เหมือนกับเมื่อปี 2540 ซึ่งตอนนั้นไปตรึงค่าเงินบาทไว้ แทนที่จะปล่อยให้อ่อนค่าลง ซึ่งในปัจจุบัน ธปท.ได้ปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาดแล้ว

ต่อกรณีนี้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า จะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง หากกลับไปใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ดังนั้น หากไปดำเนินนโยบายสร้างดุลยภาพเทียมแล้ว นักลงทุน ไม่เชื่อ จะทำให้มีความเสี่ยง และมีต้นทุนสูงในการทำนโยบาย

"ถ้าผู้ลงทุนในตลาดไม่เชื่อดุลยภาพเทียมที่เราประกาศ เราก็ต้องใช้เงินของประเทศรองรับจำนวนสูงแล้ว ถ้าทนไม่ได้อย่าง ต่างประเทศเวลานี้ ที่ต้องขยายแบรนด์ อันนี้จะสร้างความเสียหายค่อนข้างสูง นี่คือสาเหตุอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ที่ค่อนข้างอันตราย"

นายประสารกล่าวว่า ประสบการณ์จากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 บอกให้รู้ว่า ธปท.ไม่สามารถทำ 3 เรื่องไปพร้อมกันได้ คือ 1.การดำเนินนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อดูแลเสถียรภาพด้านราคา 2.การปล่อยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายโดยเสรีในระดับหนึ่ง และ 3.การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน จะทำได้เพียง 2 เรื่องแรกเท่านั้น ส่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ต้องเลือกใช้นโยบายแบบลอยตัวแบบมีการจัดการ

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การไหลเข้าของเงินทุนครั้งนี้ จะทำให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งรอบ 2 นั้น นายประสาร กล่าวว่า ก็ถือเป็นความเห็นหนึ่ง แต่ข้อมูลทางเศษฐกิจก็ชี้ให้เห็นว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายตอนนี้เคลื่อนจากเศรษฐกิจที่มีการเติบโตน้อยมาสู่ภูมิภาคที่เติบโตสูงอย่างเอเชีย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ถ้าเป็นการไหลเข้ามาในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวเท่าเทียมกัน จะน่ากังวลมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ธปท.มีความกังวลต่อการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทขณะนี้ ซึ่งได้กระทบผู้ประกอบการกลุ่มส่งออกและท่องเที่ยว แต่ที่ผ่านมา ธปท.ก็ได้เข้าไปซื้อขายเพื่อดูแลตลาดอย่างเต็มที่ เพื่อดูแลความผันผวนในระยะสั้น

"ผมเองก็มีความเป็นห่วง เพราะประเทศเราไม่ใช่เป็นประเทศ ที่ใหญ่ และเปิดประเทศ มันก็เหมือนช้างสารเขาชนกัน ก็กระทบหญ้าแพรกกันถ้วนหน้า เราก็พยายามคิดอ่านอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ สิ่งที่ห่วงอีกประเด็น คือถ้ายังหาข้อสรุปกันไม่ได้ ห่วงว่าเศรษฐกิจโลกจะชะงักงัน"

นายประสารกล่าวว่า ในส่วนของมาตรการดูแล ธปท.มีการวางแผนและมีมาตรการอยู่ในมือ แต่จะหยิบออกมาใช้เมื่อใด ธปท.ในฐานะผู้รับผิดชอบ ก็ต้องพิจารณาถึงข้อมูลเศรษฐกิจ จังหวะ ผลดี ผลเสียอย่างรอบครอบ เพราะประสบการณ์การมี นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ผ่านมา บอกให้รู้ว่าทุกนโยบายมีข้อดี ข้อเสีย หากมีนโยบายใดที่ให้ผลดี 100% ธปท.คงหยิบมาใช้นานแล้ว

กรณีที่มีความเห็นว่า ธปท.ควรมีนโยบายที่แรงกว่าที่ออกมาก่อนหน้านี้ ต้องพิจารณาถึงประสิทธิภาพของนโยบายด้วย เช่น กรณีของญี่ปุ่นและบราซิลที่ออกมาก่อนหน้านี้ หลังจากออกนโยบายได้ไม่กี่วัน ค่าเงินของทั้งสองประเทศก็แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การออกนโยบายเพื่อปกป้องตัวเอง เป็นประเด็นที่อยู่ในความกังวลของหลายประเทศ ซึ่งคาดว่าในการประชุม G 20 ที่จะเริ่มในปลายเดือน ต.ค.นี้จะมีการพูดคุยถึงประเด็นนี้ ในส่วนของประเทศไทยคงต้องอาศัยทั้งนโยบายการเงิน การคลัง และนโยบายอื่น ๆ ดูแลควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดผลกระทบกับประเทศน้อยที่สุด แต่ล่าสุดก็ยอมรับว่า ธปท.ได้มีการหารือกับธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน เนื่องจากทุกประเทศได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด

"โดยภาพรวมการแข็งค่าของเงินบาท มีทั้งผู้ที่ได้และเสียประโยชน์ ภาคการส่งออกก็มีความสำคัญกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ก็ต้องเพิ่มการลงทุนและการบริโภคในประเทศด้วย ถ้าเราไปแทรกแซง และฝืนตลาดมากเกินไป ก็กระทบส่วนอื่นได้"

สำหรับกรณีที่มีการเสนอให้ลดดอกเบี้ยลง 0.75% นั้น นายประสารกล่าวว่า ต้องให้เป็นการตัดสินใจของ กนง. ที่จะประชุมในวันที่ 20 ต.ค.นี้ ซึ่งจะมีการนำประเด็นการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนเข้าไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หนักใจหรือไม่ ที่มีการวิจารณ์นโยบายของ ธปท.อย่างมาก นายประสารกล่าวว่า ไม่หนักใจอะไร เพราะเป็นธรรมดาของการดำเนินนโยบายของ ธปท.ที่ต้องดูแลเสถียรภาพของประเทศ จะทำอะไรให้ถูกใจทุกฝ่าย คงเป็นไปได้ยาก

ทั้งนี้ การทำงานของ ธปท.ก็ไม่ได้ตัดสินใจเพียงลำพัง เพราะ ตั้งแต่หลังวิกฤตการณ์การเงินปี 2540 ธปท.ได้ปรับกระบวนการ ดำเนินนโยบายใหม่ใน 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ 1.กระบวนการตัดสินใจต้องมาจากคณะบุคคล ซึ่งก็คือคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือคนไม่กี่คนเหมือนอดีต และ 2.กระบวนการกำหนดนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายดอกเบี้ย หรืออัตราแลกเปลี่ยน ก็มีกรอบที่สามารถอธิบายกับสังคมได้

"เมื่อมีกรอบนโยบายที่อธิบายกับสังคมได้ จึงไม่มีอะไรต้องหนักใจ" นายประสารกล่าว

ด้าน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานคณะกรรมการ ธปท. และอดีตผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ประเทศไทยเคยประสบวิกฤตมาแล้วในปี 2540 จากการไปตั้งเป้าหมายค่าเงินไว้ที่ 26-27 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งถ้าจะทำอีก คงทำได้ยาก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเปิด และทำการค้ากับทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีการซื้อขายเงินตราอยู่กว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อวัน

"ถ้าไปตั้งเป้าอัตราแลกเปลี่ยน คนอื่นเขาเห็นว่าเราทำ เขาก็ เอาเงินเข้ามา ถ้าจะทำให้มันได้ตามเป้าหมาย ก็ต้องทำนโยบาย อื่น ๆ ให้สอดคล้องกันด้วย แต่ก็ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะ ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยเหลือเกิน"

กรณีที่มีข้อเสนอว่าให้ลดดอกเบี้ยนั้น คงทำไม่ได้ เพราะเราใช้นโยบายดอกเบี้ย เพื่อควบคุมเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งการประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมา กนง.ขึ้นดอกเบี้ยไป เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจ แต่เมื่อมีประเด็นการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ความจำเป็นที่จะขึ้นดอกเบี้ย ก็มีน้อยลง

สำหรับท่าทีของกระทรวงการคลังต่อบทบาท ธปท.ในปัจจุบัน นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การดูแล ค่าเงินบาท เป็นหน้าที่ของ ธปท. ซึ่งวันนี้ ธปท.ได้รับฟังจากภาคเอกชนมากมาย ธปท.ก็ดูแลอยู่ "ผมเชื่อว่า ผู้ว่าการคนใหม่ ซึ่งเคยทำงานอยู่ภาครัฐ และไปอยู่ภาคเอกชน คงมองเห็นภาพชัดเจน ผมก็มีความมั่นใจในตัวท่าน"

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น