ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
คลิปลับที่ว่อนผ่าน"ยูทูป" กลายเป็นคลิปร้อน ที่ทำให้ผู้ใหญ่หลายคน นั่งไม่ติด ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ในศาลรัฐธรรมนูญ ในพรรคประชาธิปัตย์ ในคณะกรรมการการเลือกตั้ง รวมถึงผู้ใหญ่สุดที่ถูกอ้างว่า ล็อบบี้อุ้มพรรคเก่าแก่เต็มตัว
วิรัช ร่มเย็น คณะทำงานคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาตอบโต้ว่า "คลิปดังกล่าวเป็นการขบวนการสร้าง กล่าวหาอย่างร้ายแรงและไม่เป็นธรรมต่อพรรคประชาธิปัตย์"
นาทีนี้ ความพยายามกู้ชีพพรรคประชาธิปัตย์ในคดียุบพรรค ดำเนินการเต็มสูบ ไม่มีวันหยุด ทุกนาทีคือชีวิต
อย่างช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 อาจจะมีการแถลงปิดคดี แม้ไม่มีใครกล้าพูดเรื่องแนวโน้มคดี แต่ทุกคนในประชาธิปัตย์ต่างมีความหวัง
เพราะทีมหน่วยกู้ภัย วิศวกรการเมืองระดับพระกาฬ ทั้ง ชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรค และบัญญัติ บรรทัดฐาน รองหัวหน้าพรรคและคณะนักการเมือง ทนายประจำพรรค ต่างระดมทุกสรรพกำลัง ทุ่มเทเต็มที่กับภาระกิจสำคัญที่สุดในรอบ 64 ปี
ทั้งที่สภาผู้แทนราษฎร และที่ห้องประชุมพรรค ถูกจัดตารางทำงาน ตารางตรวจตราเอกสาร อย่างขนัดแน่น
โปรแกรมของคณะทำงานคดียุบพรรค และทนายเทวดาหน้าหยก "บัณฑิต ศิริพันธ์" ถูกจัดประชุม-ซักซ้อม 4 วันต่อสัปดาห์ โดยก่อนขึ้นศาลในเช้าวันจันทร์ จะมีการซักซ้อมถาม-ตอบ พลิกเอกสาร ทุกหน้า ในบ่ายวันอาทิตย์
เมื่อขึ้นศาลเสร็จในวันจันทร์ วันอังคารจะหยุดพักการพิจารณา 1 วัน จากนั้นวันพุธ-วันพฤหัสบดี มีประชุมเต็มคณะที่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาข้อโต้แย้ง ของฝ่ายตรงข้าม
วันศุกร์ มีการประชุมเต็มคณะอีกครั้ง ที่พรรค เพื่อพิจารณาประเด็นที่รวบรวมในรอบสัปดาห์ ตรวจตราเอกสาร ระเบียบ ข้อบังคับ กฏหมายที่เกี่ยวข้อง เพิ่มเติม อีกรอบ
ข้อต่อสู้ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกตั้งประเด็นว่า มุ่งทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่หรือพยาน แทนการต่อสู้แบบตรงไปตรงมาด้วยเนื้อหาคดี และการหาพยานหลักฐานหักล้างข้อกล่าวหา
โดยข้อต่อสู้นี้ มาจากการค้นคว้า เทคนิคเงื่อนไขของกฎหมาย ระเบียบ และการทำการบ้านอย่างหนักของ "ทนายเทวดา" ด้วยการหาพยานแวดล้อม
ดังนั้น หลักฐาน ที่จะถูกเปิดในศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีทั้ง ข้อโต้แย้ง พยานบุคคล เอกสารการเงิน ที่ส่อ-แสดง ให้น้ำหนัก ทั้งบี้-ขยี้-ขยาย ประเด็น ความเกี่ยวโยงระหว่างพยานฝ่ายผู้ร้อง
การพยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่า พยานฝ่ายผู้ร้องอาจเกี่ยวข้องกับบุคคลเบื้องหลัง ที่ผลักดันให้เกิดนำสืบคดีโค่นประชาธิปัตย์
เอกสารลับที่สุด ที่ถูกอ้างทั้งใน-นอกศาล จึงล่อแหลม ที่จะถูกพิจารณา-ตีความ
อย่างน้อยเรื่องการซื้อบ้าน โอนบ้าน ชื่อเจ้าของบ้าน เจ้าหนี้ เงินงานศพ คอนเนกชั่นพิเศษของของฝ่ายพยานผู้ร้อง ต่างถูกโยงเป็นเรื่องเดียวกัน
ทุกความเคลื่อนไหว ของฝ่ายพยานผู้ร้อง ที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรื่องคดีโค่นพรรคประชาธิปัตย์ ถูกจัดเป็นตารางข้อมูล และเชื่อมโชง ต่อจิกซอว์ ให้เห็นภาพที่สนับสนุนแนวทางการต่อสู้
ประเด็นที่ถูกรวบรวม เรียบเรียง ครอบคลุม เรื่องราวของพยานฝ่ายผู้ร้อง ทั้งเรื่อง พยานบุคคลแต่ละคนมีอคติ, ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบ, พนักงานสอบสวนปั้นพยานเท็จ ,พยานบางคนมีความสัมพันธ์กับกลุ่มนปช ,แกนนำพรรคและผู้มีกำลังทรัพย์-มีบารมีในพรรคเพื่อไทย
นอกจากนี้ยังมีความพยายาม ที่จะชี้ให้ศาลเห็นว่า การดำเนินการคดีนี้ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย เพราะมีข้อกฏหมาย ระเบียบ ที่เป็นข้อโต้แย้งได้ว่า การเสนอยุบพรรคเป็นอำนาจนายทะเบียน และนายทะเบียนเคยมีความเห็น "ไม่ยุบ" ไปแล้ว
ดังนั้น เมื่อนายทะเบียนเห็นควร "ไม่ยุบ" ไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีก
นอกจากนี้ยังมีประเด็น ที่ว่าด้วยการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษไม่ชอบด้วยกฎหมายพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ
ข้อต้อสู้ยังปิดช่องยุบ และปิดช่องตัดสิทธิ์กรรมการบริหาร ด้วยการเปิดประเด็นแย้ง นัยยะว่า การดำเนินการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคที่ได้รับมอบหมาย ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการบริหาร
เทคนิคทางกฏหมายเรื่องการใช้จ่ายเงินกองทุนสนับสนุนพรรคการเมือง 29 ล้าน ยังมีประเด็นให้ลื่น-ดิ้น ว่าการใช้เงินเจ้าปัญหา 29 ล้าน เป็นการดำเนินการบางส่วนไปก่อนที่จะได้เงิน แต่การจ่ายเงิน ได้จ่ายหลังจากที่ได้รับเงินอนุมัติแล้ว
หมัดที่ประชาธิปัตย์คิดว่าเด็ด และมีน้ำหนัก คือเรื่องการใช้จ่ายเงินกองทุนพรรคการเมือง ที่เคยมี "ประกาศ" เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินที่จัดสรรให้เป็นรายปีตามโครงการและแผนงาน ในการดำเนินกิจการของแต่ละพรรคการเมืองจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
ประกาศ ที่ลงนามโดย " พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ" ระบุไว้ใน ข้อ 10/1 ว่า "พรรคการเมืองต้องใช้จ่ายเงินที่ได้รับจากการจัดสรรเงินจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นไปตามโครงการและแผนงานที่ได้รับอนุมัติ หากใช้จ่ายไม่ถูกต้อง พรรคการเมืองต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าว "คืน" แก่กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขานุการคณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง"
โดยอ้างความตาม "ประกาศ" ดังกล่าวนี้ คณะทำงานคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ จึงมีความหวัง ว่าหากเห็นว่า พรรคทำความผิดในการใช้กองทุนพรรคการเมือง ก็ควรมีความผิดเพียง "คืนเงิน" แต่ไม่มีโทษ "ยุบพรรค"
สำหรับวงเงินที่พรรคต้องคืนให้กองทุนพรรคการเมือง ที่ประชาธิปัตยคำนวณไว้ประมาณ 7 ล้านบาทเท่านั้น เช่นเดียวกับในช่วงปี 2547 ที่พรรคเคยจ่ายเงินผิดประเภทและต้องจ่ายคืนกองทุนไปแล้ว 3 แสนบาท
และข้อต่อสู้แนบท้าย เพื่อกันทนายนักการเมืองให้พ้นจากการถูกตัดสิทธิ์ คือ การให้การต่อศาล ว่า คณะกรรมการบริหาร ไม่มีส่วนรู้เห็นกับเรื่องการใช้จ่ายเงินทั้งหมดในครั้งนี้
ข้อต่อสู้-ข้อกฏหมายและข้อเท็จจริงทุกข้อ จะถูกรวบรวมเรียบเรียง อธิบายต่อสาธารณะ
พร้อมกับสืบพยานฝ่ายผู้ถูกร้องนัดสุดท้ายวันที่ 18 ต.ค. 53 ที่จะมีพยานคนสำคัญของประเทศ 1 ใน 4 ปาก คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
รวมทั้งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.กทม. อดีตรองหัวหน้าพรรค และนายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย
ก่อนถึงวันขึ้นศาลของนายกรัฐมนตรี "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สนทนากับ "ดร.สุรพล นิติไกรพจน์" อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"ดร.สุรพล" วิเคราะห์-ฟันธงว่า คดียุบพรรคโดยกติการัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค เพราะไม่ใช่เรื่องทุจริตเลือกตั้ง"
"ผมพูดมาก่อน แล้วก็ถูกใครต่อใครด่าเยอะ ว่าปกป้องประชาธิปัตย์ แต่ผมบอกว่า มันไม่ได้มีผลอะไรในทางการเมืองมากนัก เพราะเกิดขึ้นในบริบทของรัฐธรรมนูญ 2540"
"ผมมีความเชื่อของผมนะ เพราะผมดูแล้วในเชิงข้อเท็จจริง ไม่มีเหตุที่จะบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์ กระทำผิดในกรณีนี้ เท่าที่ผมตามมาทั้งหมด ผมยังไม่เห็นคนไหนที่บอกว่ามันมีความผิดเกิดขึ้น"
"ความผิดฐานนี้ก็คือ ใช้จ่ายเงินผิดไปจากที่ กรรมการกองทุนพรรคการเมืองให้เงินไป เช่น เอาเงินไปเข้ากระเป๋าตัวเอง ไม่ได้เอาไปพิมพ์โปสเตอร์ หรือเอาไปพิมพ์ครึ่งหนึ่งเข้ากระเป๋าครึ่งหนึ่ง หรือพิมพ์ผิดไปจากขนาดที่ขออนุมัติหรืออะไร นั่นในส่วนข้อเท็จจริง ยังไม่ได้พูดถึงข้อกฎหมายว่าผิดแล้วจะยุบพรรคได้ไหม ยุบแล้วจะตัดสิทธิ์ไหม เพราะเท่าที่ผมฟังข้อเท็จจริง ก็ยังไม่เห็นเหตุที่จะยุบพรรค นี่เป็นทัศนคติของผม" ดร.สุรพลกล่าว
สำหรับประเด็นที่ถูกเชื่อมโยงไปถึงการโอนเงินเข้ากระเป๋า ของกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์บางคนในช่วงเวลานั้น
"ดร.สุรพล" แยกแยะให้เห็นว่า "นั้นเป็นกรณี 258 ล้าน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง"
"แต่คดีตอนนี้ที่อยู่ในศาล เป็นคดี 29 ล้าน คือเงินของกองทุนพรรคการเมือง ส่วนเงินของทีพีไอ คดีนั้นยังไม่ฟ้องคดี ช่วยไปถามหน่อยคนที่บอกว่าจะมียุบพรรคใน 2 เดือนนี้ แล้วการเมืองจะเปลี่ยนยังไม่ต้องถามว่า การเมืองจะเปลี่ยนยังไง แต่ลองถามว่า จะยุบพรรคเพราะอะไร"
"ดร.สุรพล" สรุปว่า "ยังไม่เห็นข้อเท็จจริง ที่บอกว่าไม่ได้ใช้เงิน" และยังไม่เห็น "เหตุ" ที่ต้องยุบพรรค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น