--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วิกฤตบาท 2553...ทุกข์ของส่งออก จริงหรือที่แบงก์ชาติลอยแพตามยถากรรม

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ

ปัญหาบาทแข็งในปี 2553 ครอบครองพื้นที่ข่าวได้อย่างยาวนาน ส่วนหนึ่งมาจากวาทกรรมอันเผ็ดร้อนของภาคเอกชนที่มีต่อการแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่าของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กางโพยแจกแจงกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบการแข็งค่าของเงินบาทต่อการส่งออก โดยสำรวจ 39 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิก พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากและรุนแรงที่สุดสัดส่วนถึง 35% ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ เซรามิก แปรรูปสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตร และผู้ส่งออกข้าว

ส่วนที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก มีสัดส่วน 35% ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงเลื่อยไม้และอบไม้ ชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ อาหารสำเร็จรูป ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ยา และไม้อัด ไม้ยางและวัสดุแผ่น

ส่งผลให้ผู้ประกอบการสินค้ากลุ่มดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ต้องชะลอการรับคำสั่งซื้อ หรือออร์เดอร์ล่วงหน้า เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า เงินบาทจากนี้ไปจะผันผวนแข็งค่ามากขึ้นไปเท่าใด อีกทั้งไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ เพราะหากตั้งราคาขายที่ 28 หรือ 29 บาทต่อดอลลาร์ ตามแนวโน้ม ค่าเงินบาท ลูกค้าไม่รับออร์เดอร์

ในแง่ผลกระทบต่อกำไร ข้อมูลของ ส.อ.ท.ชี้ว่า กำไรปกติของ ผู้ส่งออกเฉลี่ยที่ 5-10% อย่างไรก็ตาม นับจากต้นปี 2553 จนถึงต้นเดือนกันยายน บาทแข็งจาก 33.15 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งค่าเฉลี่ยในช่วงต้นปี ขึ้นมาที่ 30 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้นไปมากกว่า 8% นั่นหมายความว่า ผู้ส่งออกหลายรายเริ่มมีปัญหาขาดทุน

ขณะที่ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ออกบทวิเคราะห์ "บาทแข็งค่า : แต่ละอุตสาหกรรมมีแรงต้านทานแค่ไหน" ประเมินว่า หากเงินบาทแข็งค่าเร็ว และทะลุไปถึงระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์ (จาก 30.67 บาทต่อดอลลาร์ ถึง 29.94 บาทต่อดอลลาร์) อุตสาหกรรมรายแรกที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ แป้งแปรรูป ต่อจากนั้นจะเป็นข้าว ไก่แปรรูป ยางแปรรูป กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป ถุงมือยาง รองเท้า และเฟอร์นิเจอร์ไม้

อัตราแลกเปลี่ยน บาท/ดอลลาร์ ล่าสุด (7 ต.ค. 2553) เงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าสุดในรอบ 13 ปีครั้งใหม่ ทะลุระดับ 29 บาท มาอยู่ที่ 29.85 บาทต่อดอลลาร์ ลองนึกดูว่า หากหลาย ๆ อย่างเป็นไปตามการคาดการณ์นี้ ย่อมจะมีอุตสาหกรรมหลายประเภท บาทเจ็บจากค่าเงินบาทแล้ว

ทุกข์ของผู้ส่งออก อาจเป็นแรงกดดันหนึ่งที่ทำให้หอการค้าไทย โดยเฉพาะ "ดุสิต นนทะนาคร" ประธานกรรมการ ออกหน้า วิพากษ์บทบาทของ ธปท.หลายครั้ง และครั้งที่ถือเป็นการวิพากษ์ที่รุนแรงที่สุด เกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนกันยายน โดยนอกจากเขาจะเรียกร้องให้ ธปท. "แสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาค่าเงินบาท เหมือนที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นดูแลเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่าขณะนี้ ไม่เป็นภาวะปกติ แต่เป็นเพราะการไหลเข้าของเงินทุนเก็งกำไรระยะสั้น..."



ยังตำหนิตรง ๆ ว่า "ถ้ามีหน้าที่ที่จะทำแล้ว ไม่ทำตามหน้าที่ เป็นผมก็ต้องพิจารณาตัวเอง อยากให้กล้าตัดสินใจมากกว่านี้ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ต้องกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ควรจะบริหารจัดการแบบผู้บริหาร ไม่ใช่แบบเสมียน เพราะถ้าบริหารจัดการแบบเสมียน ก็เหมือนปล่อยไปตามยถากรรม"

แต่ในความเป็นจริงแล้ว "แบงก์ชาติ บริหารจัดการแบบเสมียน ก็เหมือนปล่อยไปตามยถากรรม หรือไม่"

ย้อนไปในอดีต ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนมาหลายครั้ง หากตั้งต้นที่ปี 2521 ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการนำระบบตะกร้าเงินมาใช้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าสุดที่ 21 บาทต่อดอลลาร์ ปี 2524 ธนาคารแห่งประเทศไทยลดค่าเงิน จาก 21 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 23 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงนี้เอง ธปท.เริ่มนำสัญญา สวอป มาเป็นมาตรการประกันความเสี่ยงให้กับผู้กู้ต่างประเทศ และลดค่าเงินอีกครั้ง ในปี 2527 มาอยู่ที่ 27 บาทต่อดอลลาร์ ตามด้วยการเปิดเสรีการเงิน ซึ่งนำไปสู่การยกเลิกการควบคุมดอกเบี้ย และการไหลของทุนนอก

แต่เมื่อย่างเข้าสู่ปี 2539 เศรษฐกิจที่เคยขยายตัวสูง มีเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก พลิกผันเป็นการส่งออกชะลอลงอย่างฮวบฮาบ มีการเก็งกำไรค่าเงินบาท และเผชิญปัญหาฟองสบู่แตก (ในช่วงนั้น มีการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์อย่างมโหฬาร) ที่สุด 2 กรกฎาคม 2540 ทางการตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ต่ำสุดที่ 56 บาทต่อดอลลาร์ เกิดวิกฤตตามมา และส่งผลกระทบลุกลามไปยังบางประเทศในเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซียและเกาหลีใต้

อีก 2 ปีต่อมา ค่าเงินจึงได้คืนกลับสู่เสถียรภาพ โดยอยู่ที่ 36-39 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหลังวิกฤตคลายตัวลงแล้ว ธปท.ประกาศจุดยืนชัดว่า จะแทรกแซงค่าเงินเฉพาะเพื่อลดความผันผวนระยะสั้น ไม่ฝืนแนวโน้มตลาด

อย่างไรก็ตาม เงินบาทเผชิญปัญหาแข็งค่ามากอีกครั้ง ในช่วง ปี 2549 โดยแข็งค่าสุดที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากเคยอ่อนค่าไปที่ 43-44 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปี 2544-2545 ส่งผลให้ ธปท.ตัดสินใช้มาตรการควบคุมการเข้าระยะสั้น โดยให้มีการกันสำรอง 30% ซึ่งมาตรการหลังสุด ทำให้ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท.ในช่วงนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

ก่อนเกษียณอำลาตำแหน่งใหญ่ในวังบางขุนพรหม ธาริษายืนยันผ่านสื่อเสมอมาว่า ยังไม่มีแนวคิดที่จะออกมาตรการควบคุมเงินทุน เหมือนในปี 2549 และแบงก์ชาติดูแลค่าเงินอย่างใกล้ชิดเสมอมา

อะไรคือ ดูแลค่าเงินอย่างใกล้ชิดของ ธปท.

ประชาชาติธุรกิจได้รวบรวมสถิติค่าเงินบาท ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และตัวเลขสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้อง มาพิจารณาพบว่า ในช่วง 5 ปีย้อนหลัง ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นมาตลอด ยกเว้นปีเดียวคือ 2551 ที่อ่อนค่าลง 3.33% โดยเงินบาทที่แข็งค่า ขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปัจจุบันนี้สอดคล้องกับทิศทางเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกัน และยังสัมพันธ์กับยอดคงค้างพันธบัตร ธปท.ที่เพิ่มขึ้นเป็น จำนวนมาก

ขณะที่ทุนสำรองย้อนหลังไป 5 ปี มีจำนวนเพียง 5.21 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2548 แต่ล่าสุด เงินสำรองระหว่างประเทศล่าสุด 24 ก.ย. 2553 อยู่ที่ 163.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่มีจำนวน 159.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ฐานะสุทธิซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (ฐานะสิทธิ Forward) อยู่ที่ 11.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่มีจำนวน 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จะเห็นว่า เพียง 5 ปี ตัวเลขทุนสำรองของ ธปท.พุ่งขึ้นกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับค่าเงินบาทที่ ณ สิ้น ปี 2548 อยู่ที่ 41.07 บาท/ดอลลาร์ แต่ล่าสุดเงินบาทเคลื่อนไหวเหนือระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 10 บาท/ดอลลาร์

เมื่อเข้าไปดูในองค์ประกอบของทุนสำรองจะพบว่า การเพิ่มขึ้นของทุนสำรอง หลัก ๆ มาจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งมีที่มาทั้งจากเงินทุนไหลเข้า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และการซื้อดอลลาร์ของ ธปท.เพื่อดูแลค่าเงินบาท โดยเฉพาะเหตุผลข้อหลังเริ่มมีมากขึ้น เนื่องจากหากไปดูการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดพบว่า ในปีนี้เริ่มเกินดุลลดลง โดยปี 2552 มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 2.03 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ครึ่งแรกของปี 2553 เกินดุลบัญชี เดินสะพัดเพียง 6.5 พันล้านดอลลาร์ และตัวเลขล่าสุดในเดือน มิ.ย. เกินดุลบัญชีเดินสะพัดเพียง 700 ล้านดอลลาร์ ส่วนเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาเริ่มขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.1 พันล้านดอลลาร์

จากข้อมูลดังกล่าว ตั้งข้อสังเกตได้ว่า ทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในปีนี้ น่าจะมาจากการที่ ธปท.เข้าแทรกแซงเป็นหลัก ซึ่งบ่งชี้ได้จากยอดคงค้างพันธบัตร ธปท.ที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกัน กล่าวคือ เมื่อ ธปท.เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทต้องนำเงินบาทไปซื้อดอลลาร์ เข้ามาเก็บ ทำให้สภาพคล่องเงินบาทเพิ่มขึ้น แต่เพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ที่ 1.75% ทำให้ ธปท.ต้องดูดซับสภาพคล่องเงินบาทส่วนเกินออกไป ทางหนึ่งคือการออกพันธบัตร ธปท. ทำให้ยอดคงค้างพันธบัตร ธปท.สูงขึ้นต่อเนื่อง

โดยข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่า พันธบัตร ธปท.มียอดคงค้างสูงขึ้นต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2548 มียอดคงค้างเพียง 6.01 แสนล้านบาท แต่ล่าสุด ณ ส.ค. 2553 พบว่ายอดคงค้างถึง 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งที่ยอดคงค้างพันธบัตร ธปท.เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการเข้าแทรกแซงดูแลค่าเงินบาท และนี่คือภาระต้นทุนของการเข้าไปดูแลเงินบาท เนื่องจากพันธบัตรที่ ธปท.ออกมาดูดซับสภาพคล่องจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทมีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย

ดังนั้น หากคำนวณแบบคร่าว ๆ จากยอดคงค้างพันธบัตรที่มีอยู่ 2.2 ล้านล้านบาท ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.75% เพราะฉะนั้น ธปท.มีภาระดอกเบี้ยจ่ายโดยเฉลี่ยน่าจะตกอยู่ประมาณ 3.79 หมื่นล้านบาท

ตัวเลขเหล่านี้ บอกอะไร

ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. เคยอธิบายการทำงานของแบงก์ชาติไว้ก่อนหน้านี้ว่า ธปท. ไม่ได้ปล่อยให้ค่าเงินเคลื่อนไหวเสรี หากดูงบดุลของ ธปท.ปีที่แล้วจะเห็นว่าทุนสำรองเพิ่มขึ้นถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 7-8 แสนล้านบาท นั่นคือ วิธีที่เราพยายามช่วยเหลือให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้

และในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้ช่วยผู้ว่าการท่านนี้ได้สร้างความกระจ่างในบทบาทของ ธปท.อีกครั้ง ด้วยการเปรียบเปรยบทบาทแบงก์ชาติว่า เป็นเสมือนทัพหลังที่ต้องทำงานคู่ขนานไปกับ ทัพหน้าและทัพหลวง ซึ่งหมายถึงภาคธุรกิจเอกชนและรัฐบาล

"ทัพหลังนี่อย่าไปคิดเลยว่า ธปท.จะทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง เป็นประเทศมีรายได้สูง นโยบายการเงินมันน่าเบื่อจริง ๆ มีหน้าที่เพียงแค่สร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินให้มั่นคง มีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพ เพื่อให้ทัพหน้าเดินหน้าต่อไปได้ และเพื่อให้ทัพหน้าสามารถทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตยั่งยืนและนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้ยั่งยืนต่อเนื่อง"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น