“ศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ตามพระปรมาภิไธย ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกลางกับทุกฝ่าย ไม่มีใครมาก้าวก่ายแทรกแซง ขอให้ประชาชนมั่นใจการทำงานของศาล”
นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแถลงพร้อมตุลาการรวม 5 คนถึงคลิปลับในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทูบ (YouTube) ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เกี่ยวข้องกับคลิปที่ถูกแอบถ่าย และประธานศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งปลดนาย พสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ออกจากการเป็นเลขานุการส่วนตัวประธานศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่ให้ออกจากราชการ และกำลังตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายใน เนื่องจากนายพสิษฐ์มีภาพในคลิป ทำให้ภาพลักษณ์ของศาลรัฐธรรมนูญเสียหาย
นายอุดมศักดิ์กล่าวถึงคลิปภาพ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการพิจารณาคดี รวมถึงคำวินิจฉัยต่างๆ เพราะเป็นคลิปเมื่อปี 2552 ซึ่งประธานศาลรัฐธรรมนูญได้รับรางวัล “นักกฎหมายดีเด่นสัญญา ธรรมศักดิ์” โดย พล.อ.เปรมเป็นผู้มอบรางวัล
อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญได้เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะถือว่าผิดกฎหมาย ผิดอาญาต่อแผ่นดิน คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบภายในเหตุที่เกิดขึ้นอีกทางถ้ามีความคืบหน้าจะแถลงให้สื่อมวลชนทราบ
ปริศนา 5 คลิปฉาว
สำหรับคลิปที่เผยแพร่ทางยูทูบใช้ชื่อว่า “ohmy god3009” มี 5 ตอน ตอนแรกเป็นภาพนิ่งของ พล.อ. เปรม ตอนที่ 2 มีความยาว 8 นาที ตอนที่ 3 มีความยาว 11 นาที ตอนที่ 4 มีความยาว 11 นาที และตอนที่ 5 มีความยาว 11 นาที ซึ่งเนื้อหาของแต่ละตอนเกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ดังนี้
ตอนที่ 2 เป็นคลิปและคำสนทนาของนายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์คดียุบพรรค กับนาย พสิษฐ์ ปรึกษาเรื่องนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะให้การเป็นคุณกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายวรวุฒิ นวโภคิน ที่ปรึกษากรรมาธิการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร ร่วมอยู่ด้วย
ตอนที่ 3 เป็นคลิปตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนปรึกษาหารือเพื่ออ้างคำให้การของนายอภิชาตว่ามีอำนาจทำได้และพ่วงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ตอนที่ 4 เป็นคลิปคำพูดปรึกษาหารือของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ซ่อนนัย หากตัดสินไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์เกรงจะมีข้อครหานินทาเรื่องสองมาตรฐาน
ตอนที่ 5 เป็นคลิปทรรศนะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนที่มีต่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยใช้คำว่า “มัน” ทุกครั้งที่เอ่ยชื่อ และการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
“อภิชาต” ปมสำคัญยุบ ปชป.
มีคำถามสำคัญว่าทำไมจึงพุ่งเป้าไปที่นายอภิชาต ซึ่งคำตอบน่าจะอยู่ที่นายอภิชาตที่มีฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยตำแหน่งเคยลงมติให้ยกคำร้องไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องการขอเบิกตัวมาเป็นพยานคนสำคัญ เพราะประเด็นยุบพรรคประชาธิปัตย์มีการต่อสู้ใน 2 ประเด็นใหญ่ๆคือ อำนาจของผู้ฟ้องคือ กกต. รวมถึงประเด็นข้อเท็จจริงของเงินสนับสนุนพรรคการเมือง 29 ล้านบาท และการใช้เงินบริจาค 258 ล้านบาท
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมือง 2550 มาตรา 95 ระบุว่า หากพบว่าพรรคการ เมืองใดกระทำผิดกฎหมายให้นายทะเบียนพรรคการเมือง โดยความเห็นชอบของ กกต. เสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค ในทางกลับกันถ้านายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่าพรรค การเมืองนั้นไม่มีความผิดก็ไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดหรือขอความเห็นชอบจากที่ประชุม กกต.
คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ กกต. เคยมีมติเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552 หลังที่ประชุมพิจารณาผลการไต่สวนของคณะอนุกรรมการทั้ง 2 คดี โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงาน กกต. แถลงว่า ที่ประชุม กกต. มีมติเสียงข้างมากให้เป็นดุลยพินิจของนายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองที่จะพิจารณาส่งคำร้องยุบพรรคนี้ไปยังอัยการสูงสุดหรือไม่ เท่ากับให้อำนาจชี้ขาดอยู่ที่นายอภิชาตเพียงผู้เดียว ซึ่งนายอภิชาตชี้ขาดให้ยกคำร้องคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท เพราะเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำผิดตามผลการสอบของคณะอนุกรรมการไต่สวน กกต.
แต่หลังจากมีการชุมนุมใหญ่ของม็อบเสื้อแดงที่สำนักงาน กกต. ทำให้นายอภิชาตเปลี่ยนใจรื้อฟื้นคดียุบพรรคประชาธิปัตย์กลับมาหารือในที่ประชุม กกต. ใหม่ จนวันที่ 12 เมษายน 2553 ที่ประชุม กกต. มีมติ 4 ต่อ 1 ประเด็นเงินบริจาค 258 ล้านบาท เสนออัยการ สูงสุดส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค ซึ่ง 1 เสียงที่คัดค้านคือนายอภิชาต ส่วนประเด็นเงินกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาท กกต. มีมติ 5 ต่อ 0 เสียงให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์
วิกฤตศรัทธา
คลิปฉาวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของพรรคประชาธิปัตย์และศาลรัฐธรรมนูญอย่างมาก เพราะคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาว่าใช้เงินจากกองทุนสนับสนุนพรรคการเมืองผิดประเภท 29 ล้านบาท
ภาพที่ปรากฏในคลิปจึงไม่ใช่แค่ตัวละคร 3 คนคือ นายวิรัช นายพสิษฐ์ และนายวรวุฒิ แม้พรรคประชาธิปัตย์และนายวิรัชพยายามชี้แจงว่านายวรวุฒิเป็นผู้ประสานให้นายวิรัชพบกับนายพสิษฐ์ที่ร้านอาหารย่านประชาชื่นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2553 เป็นเพียงการจัดฉากหรือวางแผนเพื่อทำลายพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยากจะปฏิเสธว่านายวิรัชปรึกษาเรื่องการเตรียมการจะให้นายอภิชาตให้การกับศาลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อคดีไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบ
ขณะที่เนื้อหาในคลิปอีกส่วนหนึ่งที่เป็นการปรึกษากันของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปรากฏชัดเจนว่าเกรงคำให้การของประธาน กกต. จะเกิดข้อครหานินทา เรื่องสองมาตรฐาน นอกจากนี้คำพูดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พูดถึง “พรรคเพื่อไทย” ว่า “มัน” ก็ถูกตั้งคำถามว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอคติหรือไม่?
จิ๊กซอว์ล่องหน?
หลังจากปรากฏคลิปฉาวดังกล่าว นายพสิษฐ์ได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปฮ่องกงตั้งแต่วันพุธที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่านาย พสิษฐ์เดินทางก่อนที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย จะออกมาแถลงเรื่องคลิปเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ซึ่งนายพสิษฐ์เป็นจิ๊กซอว์ที่รู้เรื่องดีที่สุดว่าใครเป็นต้นคิด และเชื่อมโยงไปถึงใครบ้าง
เหมือนอย่างที่นายวิรัชออกมาให้สัมภาษณ์โยงไปถึงนายพสิษฐ์ว่าเป็นคนนัดทุกครั้ง และเป็นเพื่อนร่วมรุ่นหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันพระปกเกล้า (ป.ป.ร.) รุ่น 13 กับนายวรวุฒิ แม้จะอ้างว่าไม่เคยขอให้นายพสิษฐ์ช่วยทำอะไร เพราะเชื่อมั่นว่าไม่สามารถโน้มน้าวศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยกล่าวหาพรรคเพื่อไทยว่าจัดฉากถ่ายทำคลิปขึ้นมา
ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งคณะ ทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกับนายวิรัชว่าเข้าไปพัวพันโดยรู้เห็นเป็นใจหรือไม่ แต่นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กลับออกมาท้วงติงว่าไม่เหมาะสมที่จะต้องตรวจสอบ
ดึงศาลกลับที่ตั้ง
ขณะที่นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ตั้งคำถามว่า วันนี้ถึงเวลาหรือยังที่จะดึงผู้พิพากษาหรือตุลาการกลับที่ตั้งด้วยการไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคลิปฉาวว่า ไม่อาจปฏิเสธว่ามีความพยายามล็อบบี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นห่วงสถาบันตุลาการมาก เพราะ ไม่รู้ว่าขณะนี้กำลังเล่นอะไรกันอยู่ และทำไมพัวพันกับองค์กรที่ถือว่าเราต้องยอมรับในคำวินิจฉัยของท่าน
“เรื่องนี้จะต้องเคลียร์กันให้ชัดเจนก่อน เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สั่นสะเทือนทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม” นางสดศรียังกล่าวถึงสมัยที่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่าเคยเตือนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวว่าอย่าให้องค์กรเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะสิ่งไหนที่เป็นเรื่องการเมืองแล้วตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้องก็จะแปดเปื้อนไปด้วย
“อะไรที่เกิดขึ้นในศาลก็ต้องเคลียร์ เพิ่งเคยเจอเป็นครั้งแรก อยู่ศาลมานานไม่เคยเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นเลย เห็นเรื่องแบบนี้แล้วน่ากลัวมาก แล้วเรื่องอย่างนี้หลุดออกไปได้อย่างไร”
นางสดศรีกล่าวอีกว่า ตอนนี้กระแสสังคมกดดันให้ศาลยุบพรรคประชาธิปัตย์ หากศาลไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์อะไรจะเกิดขึ้น ไม่อยากให้สถานการณ์บ้านเมือง เป็นเช่นนี้เลย และศาลจะถูกเล่นงานมากขึ้น ตอนนี้เป็นการตีปลาหน้าไซ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่ยุบจะมีปัญหาทันที
ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย
ดังนั้น การค้นหาความจริงของคลิปฉาวของศาลรัฐธรรมนูญจึงเหมือนเกราะป้องกันศาลรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ไม่เหมือนกรณี 91 ศพในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่มีทั้งพยานบุคคล ภาพถ่าย และคลิปเหตุการณ์มากมาย แต่รัฐบาลยังไม่สามารถให้ความจริงได้ว่าเสียชีวิตอย่างไร และใครยิง อีกทั้งยังพยายามบิดเบือน ด้วยการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไล่ล่าและกวาดล้างคนเสื้อแดง โดยสร้างภาพให้เป็น ผู้ก่อการร้ายและกล่าวหาว่าเป็นเครือข่ายล้มสถาบัน
อย่างล่าสุดที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อ้างว่ามีข้อจำกัดหลายด้าน ทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่าใครเป็นคนร้ายที่ยิงปืนใส่ประชาชนจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ การสอบสวนของดีเอสไอจึงทำได้เพียงสรุปสาเหตุการตาย วิถีกระสุน และรายงานความคืบหน้า รวมทั้งการเสียชีวิตของช่างภาพชาวญี่ปุ่นและอิตาลี ซึ่งสถานทูตต้องการคำตอบว่าใครเป็นคนยิง แต่ดีเอสไอและศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) กลับกล่าวหาและจับกุมคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้าย โดยไม่รู้สึกละอายเลยแม้แต่น้อยที่ภาคประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศประณามว่าเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม เป็นการคุกคามสิทธิมนุษยชนและความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง
สถาบันศาลรัฐธรรมนูญเองจึงต้องพยายามที่จะค้นหาความจริงว่ามีขบวนการพยายามแทรกแซงศาลรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ และมองเข้าไปถึงเนื้อหาสาระในคลิป ว่าจริงหรือไม่ มิใช่เพียงแค่ปลดเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือมีความพยายามเอาผิดคนถ่ายหรือคนที่นำมาเผยแพร่เท่านั้น เพราะความจริงแล้วต่อให้เป็น การจัดฉากก็เหมือนการล่อซื้อยาเสพติดหรือล่อซื้อบริการทางเพศ หากกระทำผิดจริงต้องมีความผิด แม้ตุลาการส่วนใหญ่จะมีคุณวุฒิ วัยวุฒิสูงส่ง ทั้งประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้พิพากษาเองก็เป็นปุถุชน ธรรมดาที่ “กิน-ขี้-ปี้-นอน” มีโลภ โกรธ หลง กิเลส ตัณหา ไม่ใช่ “เทวดา” หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำอะไรก็ไม่ผิด
ที่สำคัญคำพิพากษาของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมหรือศาลรัฐธรรมนูญนั้นปฏิบัติในนาม “พระปรมาภิไธย” ศาลจึงยิ่งต้องระมัดระวังการทำหน้าที่ของตนในการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรม เพราะศาลถือ เป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ในการทำหน้าที่ ต้องแสดงให้เห็นว่าไม่มีอคติหรือตั้งธงใดๆ เพราะหากศาลถูกมองว่าไม่ยุติธรรม ไม่เป็นธรรม หรือไม่ชอบธรรม อาจส่งผลกระทบถึงเบื้องสูง ไม่ใช่แค่สถาบันตุลาการเท่านั้น
วันนี้สังคมไทยจึงต้องกลับมามี “สติ” ไม่ใช่เต็มไปด้วย “อคติ” เหมือนธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้ากล่าวถึง “อคติ 4” หรือ “ความลำเอียง 4” ได้แก่ ฉันทาคติ-อคติเพราะรัก, โทสาคติ-อคติเพราะโกรธ, โมหาคติ-อคติเพราะหลง และภยาคติ-อคติเพราะกลัว
เมื่อคนเรามีอคติ จิตก็จะไม่เที่ยง ไม่ตรง และไม่ตั้งอยู่ในธรรม จึงไม่มีสติที่จะคิดใคร่ครวญไตร่ตรองด้วยหลักเหตุและผล
สังคมไทยวันนี้ต้องตั้งสติแล้วค้นหา “ความจริง” ว่าอะไรผิดอะไรถูก โดยเฉพาะกรณีคลิปฉาวที่รัฐบาลประชาธิปัตย์และศาลรัฐธรรมนูญพยายามหาคนผิดที่ถ่ายคลิปหรือเผยแพร่ แต่ควรค้นหาความจริงของต้น ตอทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีความยุติธรรมอย่างแท้จริง แม้ความจริงนั้นอาจจะกลับมาทิ่มแทงอย่างเจ็บปวดบ้างก็ตาม
มีแต่ “ความจริง” เท่านั้น...ที่จะนำทางไปสู่ความยุติธรรม
อย่ามัวแต่ยก “ความดี” และจัดตั้ง “คนดี” โดยคณะรัฐประหารอยู่อีกเลย
ในทุกสังคมมีทั้ง “คนดี” และ “คนชั่ว” ไม่เว้นแม้แต่คณะผู้พิพากษา ตุลาการ ศาล เศรษฐี ขอทาน อำมาตย์ หรือไพร่...
แต่สังคมจะอยู่อย่างสุขสงบได้ก็ด้วย “คนที่มีใจเป็นธรรม”
“ความยุติธรรม” เท่านั้นที่จะพาสังคมไทยไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์...
มิฉะนั้น... “คลิป” เด็ดกว่านี้คงมีมาอีกเรื่อยๆ...
ถึงวันนั้น...อาจจะสายเกินไป!!
ใช้วิชามาร 3 ตุลาการถอนตัว?
“การที่พรรคประชาธิปัตย์บอกว่า การใช้วิธีชั่วช้าต่างๆเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะ ตำรวจก็ใช้วิธีล่อซื้อแบบนี้เพื่อดักจับผู้ร้าย สิ่งที่สังคมอยากรู้มากที่สุดคือ เนื้อหาการสนทนาในคลิปวิดีโอเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จ มีการพูดเพื่อเจตนาที่จะทำอะไร ส่วน ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการประชุมเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ก็ไม่เห็นมีใครปฏิเสธ คนที่คิดในเรื่องนี้กำลังถูกชักนำให้คิดไปในทางที่ผิดว่าการลอบถ่ายหรือการไปดักฟังเป็นเรื่องผิดหมด ถ้าหากการกระทำที่เขาไปลอบฟังหรือลอบถ่ายมาเป็นความผิด สิ่งที่ไปทำมาก็ถือเป็นหลักฐานว่ามีการกระทำความผิดจริง ประเด็นอยู่ที่ตรงนี้มากกว่า”
นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดตาก และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงคลิปฉาวคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ว่า สิ่งที่ประชาชนอยากรู้คือเรื่องจริงคืออะไร ส่วนที่ว่ามีการหลอกลวงกันหรือหักหลังกันไม่ใช่ประเด็น ประเด็นสำคัญคือเรื่องที่ว่ามีการไปล็อบบี้กันจริงหรือไม่ โดยเฉพาะการพูดว่า ต้องการให้ประธาน กกต. มาให้การศาล ซึ่งไม่ได้พูดระหว่างนายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กับนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังพูดในที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญด้วย
นายพนัสกล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามเบี่ยงเบนประเด็นว่า การลอบถ่ายเป็นความผิด เป็นการกระทำที่ชั่วร้าย ขอยกตัวอย่างกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือตำรวจ ถ้าไปดักฟังโทรศัพท์พวกนักค้ายาเสพติด หรือไปลอบถ่ายภาพวงจรปิด ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อดักถ่ายภาพผู้กระทำความผิด เพราะฉะนั้นการลอบถ่ายหรือการดักฟัง รวมทั้งการวางกับดัก ถ้าหากทำผิดจริง คนผิดจะเอามาอ้างอะไรไม่ได้ เพราะได้ทำผิดจริง
ส่วนกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติปลดนายพสิษฐ์ออกจากตำแหน่งเลขานุการศาลรัฐ ธรรมนูญนั้น การกระทำของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหมือนเป็นการปิดปากพยานมากกว่า เพราะนายพสิษฐ์เป็นผู้ที่รู้เรื่องดีที่สุดถึงเหตุที่มีการทำผิด ใครเป็นคนทำ และใครเป็นต้นคิด นายพสิษฐ์เป็นตัวเชื่อมและตัวโยงคนเดียวที่สำคัญที่สุด และอยากให้สืบสวนให้ดีว่าเบื้องหลังของนาย พสิษฐ์เป็นอย่างไร เพราะอดีตเลขานุการคนนี้ในศาลรัฐธรรมนูญตั้งฉายาว่า “กงกง” ทำตัวเหมือนเป็นร่างทรงของประธานศาลรัฐธรรมนูญ
“ผมได้รับข่าวจากวงในศาลรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้มีตุลาการ 3 คน เช่น นายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทจาร ได้ขอถอนตัวจากองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากก่อนหน้านี้มีตุลาการถอนตัวไปแล้ว 1 คือ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ซึ่งผมไม่รู้ว่าข่าวนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะถ้ามีตุลาการถอนตัวเพิ่มอีก 3 คนจริง จะส่งผลทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถวินิจฉัยตัดสินคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ได้ และจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบในที่สุด”
นายพนัสกล่าวว่า สาเหตุที่มีการใช้วิชามารในลักษณะนี้ เพราะถ้าจะออกไปในแนวการตัดสินคงออกไม่ได้ เนื่องจากเจอแรงบีบและแรงกระแทก ตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากต้องยุบพรรคประชาธิปัตย์สถานเดียว จึงมีการใช้วิชามารโดยอาจให้ตุลาการถอนตัว ซึ่งคดีไม่เชิงโมฆะ แต่จะอ้างว่าเป็นคดีที่ศาลไม่อาจตัดสินได้เพราะองค์คณะไม่ครบ ดังนั้น ถ้ากระแสข่าวการถอนตัวของ 3 ตุลาการเป็นจริง ก็จะต้องดูว่ามีเหตุผลอะไรที่ต้องถอนตัว เพราะถ้าหากไม่มีใครไปคัดค้านจะถอนตัวได้อย่างไร
“ผมคิดว่าเป็นการใช้วิชามารและจะยิ่งส่อให้เห็นชัดเจนว่ามีเจตนาที่ไม่สุจริต ถ้าหากใช้ทุกอย่างแล้วพรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบจะเรียกว่าอะไร ขณะนี้สถาบันตุลาการของประเทศไทยพังไปตั้งนานแล้ว เพียงแต่คนภายนอกไม่รู้อะไรเท่านั้น แต่คนวงในเขารู้นานแล้วว่าสถาบันตุลาการยิ่งกว่ากลวง และเน่าเฟะ”
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น