--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ทำไมไม่มี..หนึ่งไทยแลนด์?

เมื่อมีหนึ่งมาเลเซีย
“หนึ่งมาเลเซีย ประชาชนมาก่อนและต้องทำเดี๋ยวนี้ยุคข้าราชการรู้ทุกเรื่องได้จบลงแล้ว”

นี่คือคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของมาเลเซีย ท่าน Mohd. Najib bin Tun Abdul Razak หรือเรียกตามสื่อต่างๆว่า ท่านนายกฯ นาจีบ ราซัค เมื่อท่านเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของมาเลเซีย จึงจัดว่าเป็นศักราชใหม่ของการบริหารงานที่เน้นการสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติและให้ความสำคัญกับประชาชนทุกคน

>> มาเลเซียโมเดลเอกภาพคือพลัง

มาเลเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเราที่มีประชากรราว 27 ล้านคน และมีคำขวัญประจำชาติ คือ Bersekutu Bertambah Mutu หรือ “ความเป็นเอกภาพคือพลัง” ทั้งนี้น่าจะเนื่องมาจากประเทศ มาเลเซียมีปัญหาประชากรหลากหลายเชื้อชาติ และในอดีตเคยเกิดสงครามกลางเมือง เนื่องจากการกีดกันทางเชื้อชาติ จึงต้องเน้นการรวมกันเป็นชาติ และมีเอกภาพเป็นสำคัญ

ประชากรส่วนใหญ่ของมาเลเซียเป็นชาวมลายู ร้อยละ 50.4 เรียกว่าเป็นชาวภูมิบุตร (Bumiputra) คือบุตรแห่งแผ่นดิน รวมไปถึงชนดั้งเดิมของประเทศ อีกส่วนหนึ่ง ได้แก่ กลุ่มชนเผ่าในรัฐซาราวัก และรัฐซาบาห์มีอยู่ร้อยละ 11 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญของมาเลเซียนั้น ชาวมลายูนั้นคือมุสลิมและอยู่ในกรอบ วัฒนธรรมมลายู แต่ชาวภูมิบุตรที่ไม่ใช่ชาวมลายูนั้น มีจำนวนกว่าครึ่งของประชากรในรัฐซาราวักและรัฐ ซาบาห์

นอกจากนี้ ยังมีชนพื้นเมืองดั้งเดิมของคาบ สมุทรมลายูอีกกลุ่มหนึ่ง คือ โอรัง อัสลี ส่วนชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนมีร้อยละ 23.7 มีชาวมาเลเซีย เชื้อสายอินเดีย อีกร้อยละ 7.1 ของประชากร รวมทั้งยังมีกลุ่มชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยอาศัยอยู่ใน รัฐทางตอนเหนือของประเทศ และมีคนเชื้อสายชวา และมินังกะเบาในรัฐทางตอนใต้ของคาบสมุทรอย่าง รัฐยะโฮร์ มีชุมชนลูกครึ่งคริสตัง (โปรตุเกส-มลายู) ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และชุมชน ลูกครึ่งอื่นๆ อย่าง ฮอลันดา และอังกฤษส่วนมากอาศัยในรัฐมะละกา ส่วนลูกครึ่งเปอรานากัน หรือชาวจีนช่องแคบ (จีน-มลายู) ส่วนมากอาศัยอยู่ในรัฐมะละกา และมีชุมชนอยู่ในรัฐปีนัง

ประเทศนี้จึงมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อย่างมาก

>> วาระผลัดใบประเทศ

สิ่งที่จะเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้คือ การที่มาเลเซีย กำลังปรับเปลี่ยนประเทศให้เข้าสู่ยุคใหม่ ยุคของความสมานฉันท์ และการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ตลอดจนเสริมสร้างความซื่อตรงของคนในชาติ ที่เป็นนโยบายหลักของท่านนายกฯ นาจีบทำไมนายกฯ ท่านนี้จึงสนใจเรื่องนี้นัก เราลอง มารู้จักท่านสักเล็กน้อย

ท่านนายกฯ นาจีบเกิดวันที่ 23 กรกฎาคม 2496 ที่ปาหัง เป็นบุตรคนโตของอดีตนายกรัฐมนตรี อับดุล ราซัค (จากพี่น้อง 6 คน) เป็นหลานของท่าน ฮุสเซ็นออน นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของมาเลเซีย ท่านมีมรดกที่ดินมากมายในรัฐปาหัง จบปริญญาตรี จากอังกฤษทางด้านเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม ก่อนเข้าสู่การเมืองท่านเคยเป็นนักธุรกิจ เคยทำงาน กับธนาคารกลาง และบริษัทปิโตรแนส ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของมาเลเซีย ในฐานะผู้จัดการกิจการสาธารณะ ท่านเป็นทายาทนักการเมืองที่ ยิ่งใหญ่ ที่มีความรู้ ความสามารถในการบริหารธุรกิจ และมีทรัพย์สมบัติจากบรรพบุรุษมหาศาล แบบที่ไม่ ต้องไปแสวงหาอีกแต่อย่างใด

ท่านนายกรัฐมนตรีนาจีบพยายามลดความตึงเครียดทางการเมืองลงโดยในวันแรกที่ท่านเข้าทำงานได้ยกเลิกการห้ามออกหนังสือพิมพ์สองฉบับ ที่เป็นของผู้นำฝ่ายค้าน และปล่อยนักโทษที่ถูกจับตามกฎหมายความมั่นคง (บางคนเคยรณรงค์ต่อต้าน รัฐ) นอกจากนี้ ท่านยังมุ่งมั่นที่จะลดความยากจนของชาวมาเลเซีย ปรับโครงสร้างสังคมมาเลเซีย ขยายการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาสำหรับทุกคน และส่งเสริมโครงการที่สนองความต้องการของประชาชนด้านการบริการสาธารณะ

>> ปฏิบัติการหนึ่งมาเลเซีย

โครงการแรกที่ดิฉันประทับใจและจะกล่าวถึง คือ “โครงการหนึ่งมาเลเซีย” หรือ “1 Malaysia” เป็นโครงการที่มีการรณรงค์อย่างกว้างขวางในขณะนี้ และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งเป็นโครงการ ที่ประกาศโดยนายกรัฐมนตรีนาจีบเอง

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2551 เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐ และข้าราชการให้ความสำคัญกับการรวมใจเป็นหนึ่งเดียว และมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

โดยมีค่านิยมแปดประการของหนึ่ง มาเลเซีย คือ การมีมานะอุตสาหะ (perseverance) มีวัฒนธรรมของการมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ (a culture of excellence) การยอมรับกัน (acceptance) การมีความจงรักภักดี (loyalty) การศึกษา (education) การอ่อนน้อมถ่อมตน (humility) การมีความซื่อตรง (integrity) และการยึดมั่นในคุณงามความดีหรือมีระบบที่เชื่อในความสำเร็จด้วยตนเองที่ไม่ใช้สิทธิพิเศษ (meritocracy)

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551 หรือวันเดียวหลังจากประกาศโครงการหนึ่งมาเลเซีย ท่านนายกฯ นาจีบ ได้เปิดเว็บไซต์ www. 1Malaysia.com.my ท่านได้ใช้เว็บไซต์นี้ในการประชาสัมพันธ์นโยบายทางการเมือง และจัดให้มีเวทีสำหรับชาวมาเลเซียที่จะอภิปราย กันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรัฐบาล โครงการหนึ่งมาเลเซียนี้ มีการใช้สื่อ สาธารณะอย่างกว้างขวาง รวมทั้งเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์

>> รัฐบาลจิ๋วแต่แจ๋ว

รัฐบาลของท่านนาจีบ กำลังดำเนินโครงการที่เป็นการปรับเปลี่ยนระบบการทำ งานของภาครัฐ ในการให้บริการที่ดีเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและให้มีความโปร่งใสยิ่งขึ้น มีการใช้มาตรการต่างๆ และมีตัวชี้วัดมากมายที่จะแสดงถึงการทำงานที่มีประสิทธิภาพและมีการให้รางวัลหน่วยงานต่างๆ ด้วย นับเป็นช่วงเวลาที่มาเลเซียกำลัง ปฏิรูปตัวเองอย่างแข็งขัน เพราะชาวมาเลเซีย จะเข้าใจคำว่า หนึ่งมาเลเซีย หรือวันมาเลเซีย ได้อย่างดี เพราะหากอ่านตรงตัวก็คือ มาเลเซียเป็นหนึ่งเดียว แม้คนขับแท็กซี่ยังบอกว่า หนึ่งมาเลเซีย เป็นสิ่งที่จะทำให้มาเลเซียไปสู่ความ สำเร็จในเรื่องของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและทุกๆ ด้านได้

ไม่เพียงเท่านั้น ยังสร้างการมีส่วนร่วม ของประชาชนมากมายภายใต้การจัดซื้อจัดจ้างที่เพิ่มโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมาก ขึ้น ทั้งในการพิจารณาและการแสดงความเห็น ต่อการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล

ท่านนายกฯ นาจีบ ยังสัญญาที่จะทำ ให้รัฐบาลจิ๋วแต่แจ๋ว จึงยุบกระทรวงไปสองกระทรวง แต่สร้างกระทรวงพลังงาน เทคโนโลยีสะอาดและน้ำขึ้น แต่คณะรัฐมนตรีของเขามี รัฐมนตรีรวม 28 คนซึ่งน้อยกว่ายุคก่อนๆ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้นำพรรคของชาวจีนในมาเลเซียเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเอกภาพและการดำเนินการอีกด้วย แสดงถึงการยึดมั่น ในการลดความตึงเครียดทางเชื้อชาติและศาสนาอย่างเอาจริงเอาจัง

>> สร้างความเป็นหนึ่งอย่างบูรณาการ

อีกประการหนึ่งที่น่าชื่นชมคือการที่เขา รณรงค์ในการรวมใจเป็นหนึ่งเดียว เป็นการรวมใจการสร้างการเป็นหนึ่งในทุกเรื่องทั้งการ ศาสนา กีฬา เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การเมือง การปกครอง และศิลปวัฒนธรรม เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2510 ที่ผ่านมา คณะนักวิชาการของสถาบันพระปกเกล้าไปศึกษาวิจัยที่กัวลาลัมเปอร์ จึงพบป้ายรณรงค์เรื่องหนึ่งมาเลเซียในด้านต่างๆ เต็มเมืองไปหมดคู่กับการประดับธงชาติที่สวยงามในอาคารต่างๆ ทั้งเอกชน สื่อมวลชน องค์กรต่างๆ และหน่วยงานราชการพากันขานรับเรื่องนี้ทั้งนั้น

แม้ในพิพิธภัณฑ์เองก็มีการจัดนิทรรศ การให้ความรู้เรื่องการพัฒนาด้านต่างๆ ของมาเลเซียทั้งก่อนและหลังการเป็นอาณานิคม การสร้างความเป็นเลิศด้านต่างๆ ได้แสดงให้ เด็กชม แม้กระทั่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเป็นนักบินอวกาศของวิศวกรหนุ่มรูปหล่อ การมีสนามแข่งรถ การค้นพบน้ำมัน และการ มีตึกที่สูงติดอันดับโลก เป็นต้น

>> แผนความซื่อตรงแห่งชาติ

สิ่งที่พลาดไม่ได้อีกเช่นกันคือการไปเรียนรู้เรื่องการทำแผนความซื่อตรงแห่งชาติ ซึ่งเป็นผลงานชิ้นโบแดงของผู้นำชาวมาเลเซีย ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันโดยเฉพาะในสมัยท่านมหาธีร์ เขาก่อตั้งสถาบันความซื่อตรงแห่งชาติ หรือ Malaysian Institute of Integrity (IIM) และทำงานขับเคลื่อนแผนความซื่อตรงแห่งชาติ โดยเฉพาะด้านการรณรงค์เรื่องความซื่อตรง ให้เป็นวิถีชีวิตของคนมาเลเซีย การศึกษาวิจัย การอบรมเผยแพร่เรื่องความซื่อตรงให้กับประชาชนทุกระดับตั้งแต่เด็ก นักเรียน นักศึกษา และข้าราชการ ตลอดจนเอกชน

รัฐบาลมาเลเซียสนับสนุนเรื่องนี้อย่าง จริงจัง จะเห็นได้จากอาคารที่เขาใช้ทำงาน เป็นอาคารเช่าในราคาไม่กี่พันบาท จัดว่าแทบ อยู่ฟรี และมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เป้าหมายของการจัดทำแผนความซื่อตรง เพื่อการลดการทุจริต การประพฤติมิชอบ และการใช้อำนาจมิชอบ การเพิ่มประสิทธิภาพในการ ให้บริการสาธารณะ การลดการทำงานที่ล่าช้า ของราชการ การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในภาคเอกชน และเสริมสร้างความซื่อตรงในสังคม และครอบครัว และการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

ด้วยเหตุนี้เขาจึงมีการจัดตั้งสถาบันนี้ขึ้น และมีกรรมการมาจากหลายภาคส่วนในการมากำหนดนโยบายและการบริหารงานของสถาบัน ทั้งร่วมกันเสริมสร้างค่านิยมแห่งความซื่อตรงให้เกิดขึ้น ในทุกปียังมีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับความซื่อตรงและนำเสนอประเด็นต่อนายกรัฐมนตรี ปีที่แล้วเป็นเรื่องของเยาวชนกับความซื่อตรง เขามีโครงการให้เยาวชนก่อตั้งชมรมความซื่อตรง และทำโครงการเสริมสร้างความซื่อตรงโดยมีเงินให้ทำกิจกรรมเล็กน้อยด้วย ในทุกปียังมีการโต้ วาทีเรื่องความซื่อตรงอีกด้วย

ในโอกาสที่ไปเยือนสถาบันอันทรงเกียรติ แห่งนี้ เราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากท่านดาโต๊ะ ด็อกเตอร์โมฮัมหมัด แทป ซาเลย์ (Datuk Dr. Mohd Tap Salleh) ประธานของสถาบันและยังให้ความรู้แก่พวกเราอย่าง มากมายอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย แม้เป็นช่วงถือศีลอดก็ตาม

>> ปฏิรูปประเทศอย่ามองแค่การเมือง

หลังจากนั้นการส่งเสริมอย่างจริงจังใน เรื่องทำความดีจึงแพร่ไปทั่งในวงการราชการ มีการมอบรางวัลแห่งความเป็นเลิศในการบริการและมีธรรมาภิบาล ทั้งมีรางวัลที่เรียก ว่าหน่วยงานราชการแบบห้าดาวอีกด้วย ดิฉันจึงได้มีโอกาสไปปุตราจายา เมืองหลวงใหม่หรือเมืองราชการเพื่อศึกษาหน่วยงานตัวอย่าง ที่มีการบริการแบบห้าดาวอีกด้วย และต้องยอมรับว่าสุดยอดจริงๆ ในเรื่องการบริการด้วยใจ

ทั้งหนึ่งมาเลเซีย และแผนความซื่อตรง แห่งชาติจนถึงหน่วยงานราชการห้าดาวล้วนน่าสนใจ และนำมาเป็นตัวแบบของการพัฒนา ชาติของเราให้เดินไปสู่ความสมานฉันท์ รวมใจเป็นหนึ่ง สร้างค่านิยมร่วมในเรื่องความซื่อตรงและธรรมาภิบาล เพราะเป็นของจริงที่ต้องปฏิรูป การมองเพียงประเด็นการเมือง สถาบันการเมือง และรัฐธรรมนูญคงไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้

หากยังคงละเลยเรื่องที่เพื่อนบ้านเรา เขามองเห็นและเดินล่วงหน้าไปแล้ว!!!

ที่มา.สยามธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น