--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ถนนประชาธิปไตยไทย หลุมบ่อ+สิงห์สาราสัตว์


37 ปี... เหตุการณ์เลือด “14 ตุลา”
นับย้อนหลังไปเมื่อ 37 ปีที่แล้ว วันนี้ในอดีตคือวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นวันแห่งการต่อสู้เพื่อเรียกร้องซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง จากรัฐบาลทหารที่ถูกมองว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการในขณะนั้น
พลังนักศึกษาซึ่งเป็นแกนนำ ได้รับชัยชนะ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความบอบช้ำของพลังนักศึกษาพอสมควร
แต่นั่นก็คือ สัจจธรรมที่แท้จริงบนถนนประชาธิปไตย

การจะได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นเรื่องยากที่จะให้ผู้กุมอำนาจทางการเมือง นักการเมืองที่ครองอำนาจ หรือแม้แต่กระทั่งเหล่านายทหารที่ร่วมอำนาจกับนักการเมืองทั้งหลายนั้น ไม่มีทางที่จะปล่อยอำนาจในมือโดยง่าย
ไม่ว่ายุคใดสมัยใด

การเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วโลก จึงต้องอาศัยพลังของนิสิต นักศึกษา และประชาชนร่วมมือกัน
14 ตุลาคม 2516 เรื่อยมาจนกระทั่ง 6 ตุลาคม 2519 แม้ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะเดินเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่นักการเมือง และขั้วอำนาจทหารยังไม่เคยยอมแพ้ ไม่เคยศิโรราบอย่างแท้จริง
ดังนั้นแม้ว่าเดือนตุลาคม จะถูกมองว่าเป็นเดือนแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย
เป็นเดือนที่สร้างนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่เรียกว่า “คนเดือนตุลา”

แต่ในความเป็นจริงกลไกของอำนาจทางการเมืองยังคงวนเวียนอยู่กับกลุ่มผลประโยชน์
37 ปี ไม่เคยเปลี่ยนแปลง เพียงแต่เวียนเปลี่ยนกลุ่มอำนาจ เป็นสมบัติที่ผลัดกันชมแค่นั้น
ประเทศไทยไม่เคยห่างหายจากการปฏิวัติรัฐประหาร โดยคณะนายทหาร วนเวียนซ้ำซาก
ในขณะที่วิญญาณเสรีประชาธิปไตยที่แท้จริงก็พยายามที่จะต่อสู้กับเผด็จการทหารและกลไกของกลุ่มอำนาจการเมือง

ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ขึ้นมา
รวมทั้งคงไม่เกิดเหตุการณ์ 10 เมษายน และเหตุการณ์ พฤษภาอำมหิต 2553 ขึ้นมาด้วยเช่นกัน
ซ้ำยังเป็นความรุนแรงที่ปรากฏภาพออกไปทั่วโลก ผ่านสำนักข่าวต่างประเทศ ที่รายงานถึงการเสียชีวิตของประชาชน 90 คน บาดเจ็บกว่า 2,000 คน หายสาบสูญอีกจำนวนหนึ่ง
ซึ่งทำให้เหตุการณ์ 14 ตุลาคม หรือ 6 ตุลาคม ในอดีต แทบจะกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย
เพราะจนวันนี้ทุกอย่างยังเป็นปริศนาที่ดำมืด คดีไม่มีความคืบหน้าว่า ใครหรือกลุ่มใดเป็นคนฆ่าประชาชน ... ใครเป็นคนบงการ ... ใครเป็นคนสั่งฆ่า

แม้แต่กระทั่งคณะกรรมการชุดสะสางเรื่องราวของนายคณิต ณ นคร ที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตั้งขึ้นมา จนขณะนี้ก็ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าแต่อย่างใด
หรือคณะกรรมการชุดของ นายแพทย์ประเวศ วะสี ล่าสุดก็ยังต้องออกมายอมรับว่า เข้ามาทำหน้าที่ได้เพียงวางแนวทางในการปฏิรูปประเทศเท่านั้น
แต่ไม่ได้เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ
ยอมรับกันตรงๆ เลยว่า ทำได้เพียแค่นั้นจริงๆ

ซึ่งก็คงไม่ผิดไปจากความคาดหมายของบรรดานักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งหลายเท่าใดนัก เพราะรู้อยู่แล้วว่า กลไกอำนาจในขณะนี้ ยังคงถูกกุมชะตาอยู่โดยกลุ่มขั้วอำนาจหลายกลุ่ม
ในขณะที่นักการเมืองที่มักกล่าวอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ก็ยังคงแตกแยก แบ่งขั้ว และเออออกับกลุ่มขั้วอำนาจต่างๆ ทำให้กลไกในการทำลายล้างนักการเมืองยังคงเดินหน้าไปได้เรื่อยๆ

และทำให้ประเทศไทยในสายตาของสังคมโลกกลายเป็นเรื่องตลก
จนถึงวันนี้ ประชาธิปไตยของประเทศไทยยังคงลุ่มๆ ดอนๆ
ใครจะเชื่อว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปี 2553 ห่างจากปี 2516 ถึง 37 ปี แต่วันนี้ ยังมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมีหน่วยงาน ศอฉ. คอยกำชับตรวจตราแม้ว่าจะไม่มีการประกาศเคอร์ฟิวส์เหมือนในอดีต แต่ก็ไม่ได้ต่างกันที่ตรงไหนเลย

เสียงสะท้อนประชาธิปไตย ยังถูกกระบวนการตรวจสอบของกลไกอำนาจต่างๆ พยายามจำกัดขอบเขตอย่างเห็นได้ชัดเจน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) ได้มีการจัดงานสัมมนาเรื่อง “กฎหมายกับสื่อทางเลือกภายใต้สถานการณ์ทางการเมือง : จากเว็บไซต์ประชาไทถึงวิทยุชุมชนแปลงยาว”

น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท พูดถึงปัญหาในฐานะสื่อที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดเว็บไซต์ประชาไท และการถูกจับกุมเมื่อวันที่ 24 กันยายน หลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศเป็นเหตุที่ไม่คาดฝัน จนถึงวันนี้ทุกครั้งที่เดินทางออกนอกประเทศแล้วกลับเข้ามาประเทศที่เราคิดว่ากลับบ้านเกิด ความระทึกขวัญล่าสุดที่เดินทางกลับจากต่างประเทศรู้สึกกังวลที่ต้องระแวดระวัง แต่ประสบการณ์ถูกจับกุมที่สนามบินเป็นประสบการล้ำค่า เพียงเพราะมีคนโพสต์ข้อความในเว็บไซต์ประชาไทเมื่อ 2 ปีที่แล้วมีคนไปร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ที่ สภอ.ข่อนแก่น มีหมายจับเมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา และถูกจับกุมหลังเหตุการณ์เกิดไปแล้ว 2 ปี

ทั้งๆ ที่บทสัมภาษณ์ที่ประชาไทลงเผยแพร่ไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาเรื่องคนโพสต์ข้อความ ซึ่งกฎหมายระบุต้องดำเนินคดีกับตัวการไม่ใช่ตัวกลาง !!!

“ส่วนตัวคิดว่ามันมีกฎหมายที่มีลักษณะการบังคับใช้ออกมาในลักษณะควบคุมปราบปรามมากกว่าแต่ที่บังคับใช้เพื่อการคุ้มครองไม่ค่อยได้ผล ซึ่งเว็บไซต์ประชาไทยึดมั่นและทำหน้าที่คือ ยึดมั่นในการทำหน้าที่อิสระไม่ได้มีนักการเมืองแอบแฝง เรื่องความเป็นกลางเรื่องความรอบด้านคิดว่าเป็นมหากาพย์เรื่องยาวของสื่อ เมื่อเวลาผ่านไปมาพูดถึงความเป็นกลางไม่สามารถวัดได้ เพราะเรายังไม่รู้ว่าปลายแต่ละด้านอยู่ตรงไหน เพราะสังคมยังไม่มีเส้นตรงกลาง” น.ส.จีรนุช กล่าว

ไม่น่าเชื่อว่านี่คือชะตากรรมของสื่อในปี พ.ศ.2553 ที่ดูไปแล้วยังแทบไม่ต่างจากในอดีต
การช่วงชิงอำนาจทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ และขั้วอำนาจยังคงวนเวียนอยู่ในสังคมไทย ดัง
นั้น หากจะบอกว่า เดือนตุลาอาถรรพ์

ก็อย่าโทษอาถรรพ์อะไรเลย โทษขั้วอำนาจที่ยังคงเน่าสนิทมา 37 ปี ไม่เปลี่ยนแปลงจะดีกว่า

ที่มา.บางกอกทูเดย์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น