--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2553

“โกร่ง”อัดแบงก์ชาติ จี้”มาร์ค”ลาออก!!


ดร.วีรพงษ์ รามางกูร - กรณ์ จาติกวณิช

เงินบาทแข็งพ่นพิษ
เศรษฐกิจไทยวินาศ!

ในโลกประชาธิปไตย การมีความเห็นต่างไม่ใช่รื่องแปลก และเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้
เช่นกันกับในโลกเศรษฐศาสตร์ ที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก จะถูกสั่งสอนมาเหมือนๆกันว่า เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ ดังนั้นเศรษฐศาสตร์ก็มี 2 ด้านให้มองต่างมุมได้เช่นกัน

แต่หากการเมืองที่แบ่งแยกแตกต่างสีกันอย่างเข้มข้น จนยากที่จะปรองดอง แล้วดันลากเอาการมองต่างมุมทางด้านเศรษฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย... จึงกลายเป็นเรื่องที่ดูไม่จืด

เป็นที่น่าสังเกคุว่าในขณะที่รัฐบาลพยายามที่จะบอกว่าเศรษฐกิจกำลังไปได้ดี แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคก็ตาม แต่ก็ยืนยันว่าไม่มีปัญหา ซึ่งเป้นการบริหารประเทศสไตล์ถนัดของพรรคประชาธิปัตย์ยุคที่มี 2 เกลอ อย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการประทรวงการคลัง จับมือเข้าขากันตลอด

แม้ว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ส่งออก จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาผลกระทบค่าเงินบาทแข็งอย่างต่อเนื่อง

แต่ก็ไม่มีรายการตีแสกหน้าตรงๆให้รัฐบาลต้องหงุดหงิดอย่างหนัก
เหมือนกับกรณีที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตรงๆอย่างรุนแรง
ไม่ว่าจะเป็นการเตือนว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.75% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 1.75 %เพื่อให้ค่าเงินอ่อนค่าลง ไม่ใช่คงอัตราดอกเบี้ย

“ต้องลดอย่างรวดเร็ว อย่ากลัวเสียหน้า แม้จะมีคนได้คนเสียแต่ให้นึกถึงประเทศชาติไว้ก่อน”
ขณะเดียวกันธปท.ต้องประกาศกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าแข็งกว่าระดับนี้ประกาศไปเลยว่าจะซื้อหมด อย่าไปกลัวสหรัฐฯเพราะอยากเป็นเด็กดีขององค์การระหว่างประเทศ ธปท.ต้องลดมิจฉาทิฐิ ลดความอวดดี เลิกหลอกลวงประชาชน อย่าแล้งน้ำใจกับประเทศชาติ

“อาจจะเกิดวิกฤตรอบสองได้ เพราะความโง่เขลาของธปท.เพราะขณะนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไม่ได้เป็นไปตามพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การส่งออกที่ดีขึ้นก็ไม่ได้ดีจริง 3-6 เดือนข้างหน้าก็เห็นว่าเป็นอย่างไร เมื่อถึงจุดหนึ่งนักลงทุนต่างชาติรู้ว่าค่าเงินบาทแข็งเกินพื้นฐานของประเทศ แต่พวกเราไม่รู้ ถึงจุดนั้นนักลงทุนเหล่านั้นก็จะทุ่มโจมตีค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง อาจจะกลับมาถึงระดับ 35บาทต่อดอลลาร์ก็ได้ ค่าเงินบาทกำลังจะถูกปั่น ถ้าหากบาทแข็งไปถึง 25 บาทต่อดอลลาร์อาจจะไปถึงวิกฤตต้มยำกุ้งได้”

มุมมองของนายวีระพงษ์ กรณีเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น ถือเป็นเรื่องความเห็นแก่ตัวของธปท.ที่ใจดำ รู้ทั้งรู้ว่ากระแสโลกถูกสหรัฐฯบีบคั้นให้เงินหลายสกุลแข็งค่า เพื่อให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ฉนั้นองค์กรระหว่างประเทศทั้ง ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลกต่างอยู่ภายใต้สหรัฐฯทั้งสิ้น ธนาคารกลางใดที่ปฏิบัติตามองค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้ ก็จะได้รับการสรรเสริญเยินยอว่าเป็นธนาคารกลางที่ดี เป็นผู้ว่าการที่ดี ธปท.ก็คงอยากเป็นอย่างนั้น แทนที่จะให้ประชาชนคนไทยสรรเสริญ

ดังนั้นจึงได้บอกว่าธปท.เห็นแก่ตัวและใจดำกับประชาชนคนไทยและประเทศชาติ เพราะผลกระทบจากค่าเงินบาทกำลังส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจ แม้แต่ภาคอุตสาหกรรมเพราะไม่มีอุตสาหกรรมใดที่จะไม่ผลิตเพื่อการส่งออก เพราะส่งออกที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศถึง 90% ก็ยังได้รับผลกระทบ ขณะที่ธปท.ก็เสนอให้ซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ไม่ใช่เอกชนไม่รู้ แต่ราคาถูกกำหนดโดยต่างประเทศ

ที่หนักคือภาคการเกษตร ไม่เฉพาะอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากภาคเกษตรเท่านั้นยังส่งผลกระทบไปถึงภาคท่องเที่ยวและบริการ วิกฤตครั้งนี้อาจจะหนักกว่าต้มยำกุ้งด้วยซ้ำ เพราะครั้งนี้ลำบากกันท้วนหน้า และเชื่อว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้ หรือแม้ว่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์กัน แต่เชื่อว่าปี 2554 จะเจอปัญหาหนักกว่านี้แน่ เพราะผลกระทบไม่ได้เกิดทันที แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 3-6 เดือนข้างหน้า แม้แต่ผู้นำเข้าก็อาจจะได้รับผลกระทบด้วย

ทุกคนรู้ ยกเว้นพวกธปท.ที่ไม่รู้

“เมื่อเป็นอย่างนี้คนขายมากก็เจ๊งมาก ขายน้อยเจ๊งน้อย ก็คงจะต้องชะลอการผลิตลงในที่สุดก็จะกระทบต่อแรงงานและจ้างงาน เงินปันผล และค่าแรงที่จะปรับขึ้นก็มีปัญหา”

ปัญหาที่น่าห่วงอีกประการหนึ่งในมุมมองของนายวีรพงษ์ก็คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วอาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ตลาดทุนและตลาดหุ้น เพราะจะเห็นว่าราคาหุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งสูงขึ้น ประเด็นนี้ต้องระวังเพราะราคาหุ้นที่มีกำไรทางบัญชีมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นจึงเป็นเพียงภาพลวงตา ไม่ใช่ของจริง ขณะที่ราคาตราสารหนี้ก็ถูกบิดเบือนไป การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. 2 ครั้งที่ผ่านมา คือความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงเพราะสหรัฐยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น
การที่ ธปท.ต้องการจะปัดความรับผิดชอบ ที่จริงไม่ทำอะไรยังจะเสียหายยิ่งกว่าทำผิดเสียอีก ที่สุดเราคงคงต้องระวังตัวเอง เพราะว่าธปท.พูดไม่รู้เรื่องแล้วมีมิจฉาทิฐิ มีอวิชาเข้าสิงการที่ ธปท.ส่งสัญญาณ

ดอกเบี้ยขาขึ้นคงเพราะต้องการรักษาหน้าของตัวเองมากกกว่าประเทศชาติ จะคอยดูหน้าของธปท.กับความฉิบหายยับเยินของประเทศธปท.จะเลือกอย่างไหน เท่าที่ดูผู้ว่าการฯคนใหม่ยิ่งหนักกว่าผู้ว่าฯคนเก่าอีก หยุดพูดได้แล้วว่าค่าเงินบาทเป็นไปตามภูมิภาค แต่ทำไมสิงคโปร์ และอินโดนีเซียเข้าแทรกแซงอย่างหนัก ความจริงคือ เงินบาทแข็งค่าเร็วมากกว่าคนอื่น ไม่ควรจะไปอ้างใครควรจะดูตัวเอง ดูว่าโครงสร้างเศรษฐกิจเราเป็นอย่างไร และทำไมจะต้องเป็นไปตามภูมิภาคยกเว้น จีนกับฮ่องกงหรือยังไง ธปท.บอกว่าบาทแข็งแล้วจะดี จะได้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ไม่จริงเลยเพราะคนกำลังจะเจ๊งจะไปขยายการลงทุนอะไรได้
“5-6 มาตรการที่ธปท.ออกมายังเกาไม่ถูกที่คัน ที่เจ็บใจคือ ธปท.บอกว่า บาทแข็งค่าไม่กระทบส่งออก มีผู้ได้ประโยชน์ ถ้าไม่ต้องการเป็นผู้ว่าดีเด่น ธนาคารกลางดีเด่นขอให้เป็นรางวัลที่คนไทยให้ไม่ได้รางวัลจากต่างชาติ ถ้าคิดได้ ปัญญาก็จะเกิด อวิชชาก็จะหายไป คนไทยไม่ได้กินหญ้าที่ธปท.แนะให้คนไทยเอาเงินไปซื้อดอลลาร์ไปลงทุนในสหรัฐ ขณะที่ตัวเองก็ยังเอาตัวไม่รอดจะให้ไปลงทุนที่ไหน”
อะไรไม่สำคัญเท่ากับการทิ้งท้ายของนายวีรพงษ์ที่ว่า

“ผมขอให้ทุกคนเตรียมตัว ถ้าเปลี่ยนผู้ว่าฯไม่ได้ก็ควรจะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี”
เล่นตอกกันตรงๆขนาดนี้ โดนกันเป็นลูกระนาดตั้งแต่นายกรัฐมนตรี มารัฐมนตรีคลัง ไปจนถึงแบงก์ชาติ จะไม่สะดุ้งกันอย่างไรไหว

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ทั้งแบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรี จะดาหน้ากันออกมารุมนายวีรพงษ์ พร้อมๆกัน

อย่าง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงถึงข้อเสนอที่ให้ธปท.ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ว่าคงทำไม่ได้เหมือนปี2540

ส่วนเรื่องของดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้นมา2ครั้งก่อนหน้านี้เพื่อดูแลตัวเลขเงินเฟ้อตามเศรษฐกิจที่ขยายตัว แต่ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในสัปดาห์หน้ามีเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะฉนั้นการขึ้นดอกเบี้ยจะมีความจำเป็นน้อยลง แต่คงไม่สามารถลดได้ หรือไม่ก็คงไว้ ไม่ขึ้น

“สำหรับข้อเสนอของ ดร.โกร่ง นั้น ท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็ต้องพิจารณาดูว่าผิดหรือถูกด้วย”

เช่นกันกับนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงงกรณีที่นายวีรพงษ์ตำหนิการทำงานของรัฐบาลว่า ยินดีรับทุกความคิดเห็นของนายวีรพงษ์ แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่มีมาตรการใดๆ ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้ จากภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อรัฐบาลสหรัฐส่งสัญญาณชัดเจนว่ายังคงใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มเงินดอลลาร์ในตลาด และจะไม่เพิ่มอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินดอลลาร์ย่อมอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับทุกสกุล ดังนั้น ค่าเงินบาทต้องแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ในเมื่อเราไม่สามารถฝืนที่จะให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้มากกว่านี้ สิ่งที่ทำได้คือเราต้องปรับตัว”

ส่วนนายประสาร ไตรรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้เงินบางยังคงแข็งค่าขึ้น และไม่มีจุดดุลยภาพ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรปยังมีปัญหา ดังนั้นการดำเนินการใดๆ ในขณะนี้ต่อเงินบาทอาจเป็นการสุ่มเสี่ยงและอันตราย โดยเฉพาะข้อเสนอการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ซึ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะจะเป็นการไปสร้างสมดุลที่เป็นดุลยภาพเทียม ซึ่งธปท.คงทำไม่ได้ทั้ง 3 เรื่อง ทั้ง1.ดูแลเสถียรภาพด้านราคา 2.การเคลื่อนย้ายเงินทุน และ3.ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่
“ปัญหาใหญ่มาจากอเมริกาและยุโรปเศรษฐกิจไม่ดี ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียดี ซึ่งไม่รู้ว่าจุดดุลยภาพอยู่ตรงไหน การใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่จะสร้างปัญหา ตลาดไม่ได้เชื่อดุลยภาพเทียมที่เกิดขึ้นมา และทำให้มีต้นทุนสูง และอาจจะมีความเสียหาย ซึ่งเรามีบทเรียนในปี 40”

ผู้ว่าธปท.กล่าวว่า สำหรับเงินบาทแข็งค่าเร็ว ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและส่งออก แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้นำเข้าที่ได้ประโยชน์ ซึ่งขณะนี้ธปท.ก็ดูแลอยู่ โดยเงินบาทยังเกาะกลุ่มภูมิภาคตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันแข็งค่าขึ้นมา 11% ถือว่าเป็นระดับกลาง ๆ และธปท.ยังติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกับเศรษฐกิจ

และแน่นอนว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ระบุว่าจะใช้เวทีการหารือในระดับอาเซียนหรือกลุ่มประเทศ จี 20 จะมีมาตรการออกมาแก้ไขปัญหาค่าเงินที่หลายประเทศกำลังประสบอยู่
“ข้อสำคัญที่สุดที่คิดว่าไม่น่าจะมีใครปฏิเสธได้ คือสภาพพื้นฐานของเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศในเอเชียภูมิภาคนี้และของไทย อย่างไรก็ยากที่จะอ่อนตัวลงในขณะนี้ อันนี้คือความเป็นจริงที่ฝืนยาก”

นั่นคงจะหมายความว่าให้ผู้ส่งออก และบรรดาผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหลาย ต้องอดทนและปรับตัวเอาเอง
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าบรรดาผู้ประกอบการจะอดทนได้นานแค่ไหน

เพราะแม้แต่นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) อดีตมือเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็ยังยอมรับว่า ปัญหาเงินบาทแข็งค่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญด้วย

และยังยอมรับว่า ตราบใดที่เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียยังแข็งแกร่ง ก็ไม่สามารถสกัดเงินไหลเข้าได้ แน่นอนว่าจะทำให้สกุลเงินในภูมิภาคเอเชียแข็งค่าต่อไป วิธีการที่ดีที่สุด คือการบริหารค่าเงินให้มีเสถียรภาพ
“การแข็งค่าของเงินบาทเป็นการแข็งค่าตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลจะต้องจับตาดู และไม่ควรปล่อยให้ค่าบาทแข็งค่ามากเกินไป”นายศุภชัยระบุ

ก็คงต้องจับตาดูว่า ระหว่างค่าเงินบาทแข็งขึ้น กับ ผู้ส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยว สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะเลือกดูแลด้านไหนมากกว่ากัน

ที่มา.บางกอกทูเดย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น