--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หมายเหตุเดือนตุลาฯ

บทเรียนความรุนแรง..อำนาจรัฐ!

วันเวลาเวียนมาบรรจบห้วงตุลาฯเดือนแห่งหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยประชาชน ประชาธิปไตย เผด็จการ ความรุนแรงและอำนาจรัฐถูกบรรยายผ่านภาพเหตุการณ์เดือนตุลาคมไว้ได้อย่างน่าครุ่นคิดนัก

ขอลำดับเรียบเรียงวันเวลาผ่านมุมมองของ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่ได้นำเสนอไว้ในงาน 34 ปี 6 ตุลาฯ เมื่อไม่นานมานี้ “ความรุนแรงและอำนาจรัฐ” นั่นคือหัวข้อที่ ถูกนำมาถ่ายทอดโดยการวิพากษ์อย่างวิพากษ์ไว้ได้อย่างแหลมคมยิ่ง

นิยามความรุนแรง

“โดยพื้นฐานแล้วเรามักเข้าใจว่าความรุนแรง คือการทำร้ายร่างกาย การฆ่าฟัน ทำลายชีวิตผู้อื่น แต่ว่าหากเรามองความรุนแรงในแง่ที่กว้างกว่านั้น นั่นก็คือการทำให้มนุษย์หมดโอกาสหรือสูญเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของเขาที่จะเป็นมนุษย์ อย่างสมบูรณ์ที่สุด ความรุนแรงในแง่นี้มีความหมาย กว้างขวางกว่าการทำร้ายร่างกายกว่าการทุบตี หรือฆ่าชีวิตผู้อื่น ซึ่งอาจจะหมายถึงความรุนแรงในแง่เศรษฐกิจ การเมือง การทหาร”

ความรุนแรงทางเศรษฐกิจ

“ประเทศเราเป็นประเทศที่มีปัญหาช่องว่าง ในเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง มีดัชนี ตัวเลขทางเศรษฐกิจมากมาย จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ มีการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศช่วงทศวรรษ 1960 คนจำนวนมากมีช่องว่างทางรายได้ โดยเปรียบเทียบ กับคนที่มีฐานะดี จะไม่ค่อยดีขึ้นเท่าไหร่ ในช่วง 1960-2005 มีตัวเลขของสหประชาชาติที่น่าสนใจมากๆ ที่จะได้เห็นว่า เมื่อเริ่มมีการพัฒนาประเทศ ไทยในช่วงทศวรรรษ 1960 ช่องว่างทางรายได้ของ คนจนกับคนรวยในสังคมไทย ถ้าเทียบเป็นดัชนีประมาณ 0.3 เมื่อพัฒนามาถึงปี 2005 ช่องว่างห่างเพิ่มขึ้นถึง 0.4 แต่ในช่วงที่พัฒนาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งมากขึ้น ซึ่งตัวเลขสวนทางกับ การพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในเวลาเดียวกันของ ประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่พัฒนานานขึ้น ช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยลดลง”

“ตัวเลขที่สองที่น่าสนใจ คือ รายได้ของคนภาคเกษตร มีงานศึกษาจำนวนมากที่แสดงให้เห็น ว่า รายได้ของคนในภาคเกษตรในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมา เทียบเคียงแล้วจะไม่เคยเพิ่มขึ้นเลยอยู่ในอัตราที่คงตัวตลอดเวลา ผลของการที่รายได้ของคนในภาคเกษตรไม่เพิ่มขึ้นเลย ส่งผลให้คนในภาคเกษตรต้องออกมาทำงานเป็นคนงาน หรือแรงงาน รับจ้างในเขตเมือง เป็นคนงานภาคอุตสาหกรรม”

“นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขทางสถิติจำนวนมากที่น่าสนใจ ซึ่งบ่งบอกถึงรายได้ของคนงานภาคอุตสาหกรรม รายได้ของคนจนในเมืองรอบ 30-40 ปี รายได้ที่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้น แต่รายได้ที่แท้จริงไม่เพิ่ม ขึ้นเลย หมายความว่า ในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมา คนงานไทยอาจมีรายได้ขั้นต่ำสูงขึ้น แต่เมื่อเทียบกับ อัตราเงินเฟ้อหรืออัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกๆ ปี ตัวเงินที่คนงานไทยมีในรอบ 30-40 ปีไม่เพิ่มขึ้นเลย นี่คือตัวอย่างความรุนแรงทางเศรษฐกิจ”

“ความรุนแรงทางเศรษฐกิจแบบนี้เป็นสาเหตุ ของปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น ปัญหาคน ไม่มีที่อยู่อาศัยในเมือง กรุงเทพฯ เป็นมหานครอันดับ ต้นๆ ของโลกที่มีคนที่ไร้บ้านอยู่มากที่สุด ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีโสเภณีมากที่สุดในโลก นี่คือ ข้อเท็จจริงที่ทุกคนคงจะรู้กันอยู่แล้ว ตัวเลขของสหประชาชาติบอกว่าประเทศไทยมีโสเภณี 2 ล้านคน มีลักษณะต่างๆ อย่างที่เราเรียกว่า ไซด์ไลน์ ไม่ไซด์ไลน์ ทางตรง ทางอ้อม ทั้งหมดอะไรก็ตามแต่ทั้งหมดมี 2 ล้านคน นี่คงไม่ใช่ตัวเลขที่ปกติแน่นอน นี่คือตัวอย่างความรุนแรงทางเศรษฐกิจ”

ความรุนแรงทางกฎหมาย

“กฎหมายเป็นความรุนแรงชนิดหนึ่ง ซึ่งคนไม่ ค่อยเห็นว่ากฎหมายคือความรุนแรง เรื่องนี้อาจจะ เป็นเรื่องที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ เพราะว่าเราอยู่ในประเทศที่ปกครองด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินมา ค่อนข้างจะนานแล้ว แต่หลายท่านก็เข้าใจว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินเป็นกฎหมายปกติ ที่รัฐบาลออกมาเพราะว่า มีความจำเป็นต้องออก เนื่องจากมีเหตุบางอย่าง แต่ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีลักษณะพิเศษหลายข้อ ข้อหนึ่ง ที่สำคัญมาก คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้การกระทำหลายๆ เรื่อง ซึ่งในสภาวะปกติแล้วไม่ผิด กลายเป็น การกระทำที่ผิด ลองนึกตัวอย่างของคนที่ถูกจับเนื่อง จาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเดือนพฤษภาคม 2553 ได้ปรากฏแล้วว่ามีแม่ค้าคนหนึ่งขนข้าวกล่องจากตลาดไทยไปให้ผู้ชุมนุม ถึงตอนนี้แม่ค้าคนนี้ยังคงติดคุกอยู่ คำถามการขนข้าวกล่องเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตั้งแต่เมื่อไหร่”

“คำตอบคือโดยตัวการกระทำไม่ใช่เรื่องผิด แต่ว่าพอเกิดการกระทำนี้ในเวลาที่กฎหมายบอกว่า กระทำแบบนี้ผิด เลยกลายเป็นความผิดขึ้นมา ลองใช้สามัญสำนึกคิดดูว่า การเอาข้าวมาให้คนกินมันผิด กฎหมายตรงไหน คำตอบคือมันไม่ผิด คนจำนวนมากที่ถูกยิงตายหรือบาดเจ็บ ในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นคนที่โดยปกติการกระทำของ เขาไม่ได้ผิดกฎหมาย เป็นคนที่ใช้สิทธิในการชุมนุมตามปกติ บางคนไม่มีส่วนในการชุมนุมโดยตรง ในหลายๆ พื้นที่ คนที่ถูกจับ อย่างเช่นที่อุบลฯ คนจำนวนหนึ่งถูกจับโดยไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แต่ถูกกฎหมายลงโทษว่าอยู่ผิดที่ผิดเวลา ในสถานการณ์ที่กฎหมายบอกว่าการกระทำแบบนั้นผิด ฉะนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นตัวอย่างความรุนแรง ที่ทำให้การ กระทำโดยตัวมันเองแล้วไม่ผิดกลายเป็นผิด

และผลจากการกระทำแบบนี้ทำให้คนจำนวนมากติดคุก ตายหรือบาดเจ็บ โดยที่ไม่มีใครรับผิดชอบเลยจนถึงปัจจุบัน”

ความรุนแรงทางอุดมการณ์

“ในช่วงที่สังคมไทยเกิดความขัดแย้ง อย่างมาก ในปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ก็จะ เห็นได้ว่าความรุนแรงทางวาทกรรม ความรุนแรงทางอุดมการณ์กลายเป็นข้อขัดแย้ง ในกลุ่มคนต่างๆ อย่างกว้างขวาง อาทิเช่น 112 กรณีโดยจับคนในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับความเชื่อความคิดว่า การเมืองไทยหรือ การปกครองไทย คือการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า ในสังคมไทยปัจจุบันนี้ การนิยามว่าประชาธิปไตยคืออะไร ซึ่งหลายๆ กรณีอาจไม่มีความผิด หลายๆ กรณีอาจเป็นการถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง หรือหลายๆ กรณีอาจเป็นการถูกลงโทษเกินกว่าเหตุก็ได้”

“ประชาธิปไตยคือการเมืองการ ปกครองที่มีสิทธิมนุษยชนเป็นแกนกลาง นอกจากจะมีประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแล้ว อาจจะต้องมี องค์ประกอบอื่นๆ เช่น เป็นการเมืองการปกครองที่เคารพสิทธิเสรีภาพประชาชนขั้นพื้นฐาน เป็นการเมืองการปกครองที่เคารพสิทธิเสรีภาพหรือความเท่าเทียม ทางเศรษฐกิจ ความยุติธรรมต่างๆ ทางสังคมอย่างสมบูรณ์ นี่คือตัวอย่างความรุนแรงทางวาทกรรมว่า ถ้าเราดูประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีวิธีการนิยามประชาธิปไตยต่างๆ มากมาย ในบ้านเราประชาธิปไตยถูกนิยามผ่านกรอบ บางเรื่อง ซึ่งในที่สุดสร้างปัญหาบางอย่าง ซึ่งทำให้คนได้รับความเดือดร้อนโดยที่อาจจะไม่มีเหตุอันควร”

ความรุนแรงยุคจอมพลสฤษดิ์

“งานวิจัยของนักวิชาการชาวต่าง ประเทศ ท่านหนึ่ง พูดถึงความรุนแรงได้น่าสนใจมากๆ โดยเฉพาะการจับคนไปขังในบ้านเรา หรือการหน่วงเหนี่ยวสิทธิเสรีภาพของคนโดยพลการ ท่านได้ศึกษาปรากฏการณ์แบบนี้บางช่วง ช่วงแรกคือสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงที่สองคือสมัย 6 ตุลาฯ 2519 และช่วงที่สามคือเรื่องของคนที่ถูกกล่าวหาในเรื่องของการ ค้ายาเสพติดในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ความรุนแรงในสามช่วงนี้มีลักษณะคล้ายๆ กันคือว่า คนจำนวนมากถูกจับกุม กักขังโดยพลการเป็นเวลายาวนานก่อนที่ศาลจะวินิจฉัยว่าเขาทำผิดอะไร”

“ในกรณีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วง พ.ศ.2501 คนจำนวนมากถูกจับกุมโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา โดยเฉพาะคน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยสังคม ตามที่จอมพล สฤษดิ์ เห็นว่าเขาเป็น คนจำนวนมากถูกจับกุมโดยข้อกล่าวหาว่า เขาเป็นผู้ก่อการร้าย คอมมิวนิสต์ คำสั่งสำนักนายกฯ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ บางฉบับ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ กักขังผู้ต้องสงสัยได้ภายใน 30 วัน และการต่ออายุทำได้โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของศาลโดยไม่มีกำหนดเวลา อันนี้ก็น่าสนใจเหมือนในกรณีที่คนเสื้อแดงโดนจับ โดยที่เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมหรือกักขังคน เหล่านี้ได้ เพียงแต่ว่าในกรณีของประเทศ ไทยในปัจจุบันมีวิธีการที่ซับซ้อนก็คือว่า ในการจับกุมและกักขังโดยทางการพิจารณา ของศาล ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นวิวัฒนาการที่ดีขึ้นหรือแย่ลง เพียงแต่ว่าในยุคของจอมพล สฤษดิ์ กักขังโดยไม่ผ่านการพิจารณาของ ศาล แต่ในปัจจุบันศาลพิจารณาให้กักขังได้”

“น่าสนใจว่าคำสั่งที่ให้จับกุมคนแบบ นี้ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ถูกยกเลิกไปใน สมัยหลัง 14 ตุลาฯ 2516 ซึ่งหมายความว่า เราเป็นประเทศที่มีคนที่ถูกจับกุมกักขังโดย ไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา และไม่ต้องผ่านการ พิจารณาของศาลถึง 16 ปี คำถามที่น่าจะ พิจารณาก็คือว่า ในการยกเลิกคำสั่งนี้ในปี 2516 เกิดขึ้นเพราะเห็นว่าคำสังนี้ขัดกับหลักประชาธิปไตย แล้วคนที่ถูกจับไปในช่วง ที่จอมพลสฤษดิ์ มีอำนาจเป็นเวลา 16 ปีนั้นเป็นร้อยๆ คน จนถึงบัดนี้มีใครชดเชยความสูญเสีย หรือความยุติธรรมให้พวกเขา หรือยัง อย่าลืมว่าเรากำลังพูดถึงกฎหมาย ซึ่งถูกยกเลิกด้วยเหตุผลว่า ขัดกับหลักประชาธิปไตย แสดงว่าในเวลาต่อมาเรารู้ว่ากฎหมายแบบนี้ผิด เมื่อเรารู้ว่ากฎหมายแบบนี้ผิดคนที่ถูกจับไปฟรีๆ ได้มีการชดเชย ความยุติธรรมให้พวกเขาแล้วหรือยัง”

บทเรียน 6 ตุลาฯ มหาวิปโยค

“ในกรณี 6 ตุลาฯ ก็มีเหตุการณ์คล้ายๆ กันก็คือว่า มีคำสั่งคณะปฏิรูปให้อำนาจเจ้าหน้าที่จับกุม และต่ออายุการจับกุมไปเรื่อยๆ โดยอ้างว่า เพื่อให้คนเป็น พลเมืองดี คนที่มีอำนาจจับกุมมีกว้างขวาง มาก ผู้บัญชาการทหารก็จับได้ ผู้บัญชาการตำรวจก็จับได้ ผู้ว่าราชการก็จับได้ ตัวเลข คนที่ถูกจับกุมในช่วง 6 ตุลาฯ ก็ค่อนข้างหลากหลายบางตัวเลขบอกว่า 2,000 บางตัวเลขบอกว่า 10,000 กอ.รมน.บอกว่า บุคคลที่ต้องการจับกุมในช่วย 6 ตุลาฯ อยู่ที่ 60,000 คน ซึ่งไม่ทราบตัวเลขที่แท้จริงของคนที่ถูกจับกุมหลัง 6 ตุลาฯ เท่าไหร่แน่ แต่นี่คือ สภาพของสังคมที่รัฐให้อำนาจคนบางกลุ่ม จับกุมคนอื่นได้อย่างอิสระเสรี ซึ่งเคยเกิด ขึ้นกับประเทศไทยมาแล้วช่วง 6 ตุลาฯ”

“นอกจากนี้ นักวิชาการท่านดังกล่าว ได้พูดถึงการอบรมคนให้เป็นพลเมืองดีไว้น่าสนใจเหมือนกันว่า ถูกทำอะไรบ้างเพื่อให้เป็นพลเมืองดี น่าสนใจตรงที่ผู้ถูกจับกุม บอกว่า เขาไม่ได้ถูกซ้อมหรือทรมาน หมาย ความว่า เขาไม่ได้มองว่าการซ้อม หรือการ ทรมานเป็นปัญหาที่คุกคามเขามากเท่ากับ การถูกอบรมในเรื่องซ้ำๆ ซากๆ คนจำนวน มากที่ถูกจับกุมในช่วงหลัง 6 ตุลาฯ เป็นแค่ครูสอนสังคมศึกษาก็มี เป็นแค่คนที่มีหนังสือบางเล่มที่ในยุคนั้นถือว่าผิดกฎหมายก็มี ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ แม้ผู้ถูกจับกุม ทั้งหมดไม่เผชิญปัญหาจากการซ้อมหรือทรมาน แต่ทุกคนกลับรู้สึกกลัวว่าอาจถูกซ้อมหรือถูกทรมานได้ทุกเมื่อ อันนี้ก็เป็นที่น่าสนใจว่าความรุนแรงทำงานอย่างไร”

คุกคามทางความเชื่อ

“ในด้านหนึ่งความรุนแรงทำให้คนรู้สึกกลัวว่าจะถูกทำร้ายถึงไม่มีการทำร้าย จริงๆ แต่ความรู้สึกกลัวก็ถือเป็นการคุกคาม อยู่อย่างไม่ปกติสุข นอกจากนั้น ก็เป็น การคุกคามด้านความเชื่อ ด้านอุดมการณ์ การถ่ายทอดความเชื่อ หรือความคิดบางอย่างให้คนรู้สึกว่าตัวเองจะต้องเปลี่ยนเพื่อ ให้เป็นพลเมืองดีแห่งชาติอยู่ตลอดเวลา”

“เรื่องแบบนี้คล้ายๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้น กับประเทศไทยยุคปัจจุบันนี้ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนกัน ก็มีการจับคนในลักษณะแบบนี้ มีการจับคนมารับการฝึกใน ศูนย์ที่ทางราชการจัดไว้ พร้อมทั้งได้รับการ อบรม ว่าการเป็นพลเมืองดีคืออะไร ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ถูกต้องคืออะไร ศาสนาอิสลามที่ถูกต้องคืออะไร ส่วนใหญ่จะได้รับ การอบรมเป็นเวลา 30-45 วัน จนกว่าทหารที่เป็นผู้อบรมเห็นว่าคนเหล่านี้พร้อม แล้วที่จะกลับไปสู่สังคมใหม่และใช้ชีวิตอย่างพลเมืองดีของไทยอีกครั้งหนึ่ง นี่คือวิธีการที่คล้ายๆ กับ 6 ตุลาฯ ซึ่งเรื่องแบบนี้ ยังเกิดขึ้นอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”

เผด็จการเร่งปฏิกิริยาต่อต้าน

“การปราบปรามโดยรัฐในที่สุดมัน เป็นเรื่องใหญ่ เพราะมันส่งผลต่อพฤติกรรม ทางการเมืองของคนกลุ่มต่างๆ เพราะทำ ให้คนคิดมากขึ้นในการใช้สิทธิเสรีภาพ ระวังตัวมากขึ้นในการพูดและคิด ทำให้รู้สึก ว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ เป็นเรื่องที่ต้องระวัง หรือถ้าการข่มขู่มีระดับรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นความรุนแรงโดย ใช้กฎหมาย หรือไม่ใช้กฎหมายก็ได้ การข่มขู่ก็อาจทำให้คนตัดสินใจปิดปากเงียบเพื่อป้องกันความเดือดร้อน ฉะนั้น การ ข่มขู่หรือปราบปรามโดยรัฐในลักษณะแบบ นี้ ที่สุดแล้วมันคือศัตรูของสิทธิเสรีภาพโดยตรง เรื่องที่รัฐไม่ค่อยได้คิดคือการข่มขู่ หรือการปราบปรามแบบนี้ ในสังคมที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง การปราบปราม หรือการข่มขู่แบบนี้จะส่งผลให้ประชาชนต่อต้านรัฐ”

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะอันนี้คือปัญหาใหญ่ของประเทศในปัจจุบัน ว่าเราเป็นสังคมที่รัฐมีการใช้ความรุนแรงกับ ประชาชนอย่างสูงโดยเฉพาะหลังปี 2549 เป็นต้นมา ความรุนแรงด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น อย่างมากมาย ความรุนแรงทางกฎหมาย การทหาร การเมืองมีเพิ่มขึ้น และแนวโน้ม จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทีนี้โจทย์ที่รัฐควรคิดคือ รัฐต้องคิดว่าเมื่อรัฐใช้ความรุนแรง รัฐจะสามารถควบคุมสถานการณ์ ควบคุมความ เคลื่อนไหว ควบคุมพฤติกรรมทางการเมืองของประชาชนได้ทั้งหมด ซึ่งถ้าไปดูแบบแผนการต่อสู้ทางการเมืองของคนใน สังคมต่างๆ เราจะเห็นว่าสิ่งที่รัฐเข้าใจในเรื่องนี้มันผิด”

“การควบคุมโดยรัฐ หรือการปราบปรามโดยรัฐ เป็นตัวแปรหนึ่งที่ส่งผลต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนจริง ในขณะเดียวกัน ก็เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ประชาชน ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจรัฐแบบเผด็จการสูงต้องหยุดคิดเพื่อพัฒนาวิธีการ แบบต่างๆ ในการตอบโต้รัฐออกมาด้วย ซึ่งเรื่องนี้ผู้มีอำนาจไม่ค่อยคิดเรื่องดังกล่าว กลับคิดว่าการใช้อำนาจในแบบเผด็จการแล้วจะทำให้คนในสังคมเงียบหรือคนในสังคมจะไม่กล้าพูดอะไรมากขึ้น”

“ลองนึกถึงสังคมไทยช่วงหลัง 6 ตุลาฯ 2519 ซึ่งความรุนแรงทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ขยายตัว การต่อต้านอำนาจรัฐขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง สงครามใน เขตป่าเขาขยายตัวขึ้นมีความหมายครอบคลุมไปถึงการทำร้ายทางกายภาพก็โดยใช้ความรุนแรงดักใจเขา มวลชนที่ทำ งานให้พรรคคอมมิวนิสต์ในเขตเมืองมีมาก ขึ้น เนื่องจากคนที่ไม่ถูกปราบ หรือผู้ที่ไม่มี ส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อได้เห็นถึงความรุนแรงในการปราบก็เกิดต่อต้านขึ้น ฉะนั้น หลัง ความรุนแรงจึงได้มีการพื้นตัว และส่งผลถึงการเมืองและสังคมไทยอย่างรุนแรง”

“ในกรณีพฤษภาคม 2553 ก็อาจจะ คล้ายกันคือ เชื่อว่าเมื่อปราบปรามประชาชนที่ราชประสงค์ไปได้แล้ว การต่อต้าน อำนาจรัฐจะยุติลง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันกลับ ตรงกันข้าม หลังการปราบปรามในช่วงพฤษภาคม 2553 มันมีระยะหนึ่งที่ฝ่ายเสื้อ แดงออกมาพูดอะไร แต่ที่สุดแล้ว มันก็เป็น ประสบการณ์ของฝ่ายที่ถูกปราบให้มีพัฒนาการในรูปแบบของการต่อต้านออกมา”

การฆ่าทางการเมือง

“นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความรุนแรง กับการฆ่าทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ การฆ่าทางการเมืองจะเกิดในสังคม ที่มีความเห็นแตกต่าง ฝ่ายฆ่ากับฝ่ายถูกฆ่า มักมีอำนาจแตกต่างกันมาก ฉะนั้น การฆ่า ทางการเมืองเกิดขึ้นและเกี่ยวข้องอย่างมากกับการเป็นสังคม ซึ่งโครงสร้างอำนาจ ทางสังคมมีความไม่เข้ากันสูง ถ้าเป็นสังคม ที่มีความเท่าเทียมทางอำนาจการฆ่าจะไม่ เกิด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การฆ่าทางการเมืองเกิดขึ้นเมื่อ ฝ่ายที่รู้สึกว่าตัวเองถูกกดขี่หรือรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยกว่ามากๆ เห็นว่า การต่อสู้อย่างสันติไม่มี ทางทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นต่อไปได้แล้ว ก็อาจ จะเกิดการฆ่าทางการเมืองขึ้นมาได้ ทั้งนี้ การฆ่าทางการเมืองเกิดได้จากหลายฝ่าย ฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่าทำก็ได้ ฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่าทำก็ได้ เพียงแต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่าเป็นคน ทำก่อน มีไม่กี่สังคมที่ฝ่ายที่มีอำนาจน้อยเป็นคนทำ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันมี”

“ฉะนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่า หรือป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงทาง การเมืองที่ดีที่สุดคือการขจัดเงื่อนไขที่ทำ ให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเห็นว่า มันไม่มีทาง ออกจากสถานการณ์ที่เขาเผชิญอยู่เลย การขจัดเงื่อนไขแบบนี้เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะหมายถึงว่า เมื่อคู่กรณีทุกฝ่ายเห็นว่า มันมีทางอื่นที่จะออกจากโจทย์ความขัดแย้ง โดยไม่ต้องใช้กำลัง คือทำอย่างไรในสังคม ที่อาจจะเกิดการฆ่า เกิดความรุนแรงทาง การเมือง ให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเห็นว่า การไม่ใช้พละกำลังเป็นเครื่องมือในการออกจาก โจทย์ที่เขาเผชิญหน้าได้นี่เป็นเรื่องสำคัญ”

“สุดท้าย ในขณะที่เราพูดถึงความรุนแรงทางการเมืองจำนวนมาก เรื่องหนึ่ง ที่ต้องยอมรับคือ คนจำนวนมากพูดถึงความ รุนแรง เพื่อเป็นคู่มือในการพูดเรื่องอะไรบางอย่างที่เราพูดไม่ได้ในปัจจุบัน คิดว่าเป็นปัญหาที่ท้าทายว่า ทำอย่างไรเราจะเป็น สังคมซึ่งเดินไปสู่จุดที่เห็นว่า ความรุนแรง ทางการเมืองทุกรูปแบบเป็นเรื่องที่ยอมรับ ไม่ได้”

“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ในช่วง 10 กว่าปี ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในรัฐบาล ใดก็ตาม คิดว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่า เราสามารถพูดถึงความรุนแรงโดยหลุดไปจาก กรอบทางการเมือง หลุดไปจากเหตุผลทาง การเมือง หลุดไปจากอคติทางการเมืองที่มีอยู่รอบตัวเราในปัจจุบันได้หรือเปล่า เพราะตราบใดที่เราหลุดออกจากกรอบนี้ไม่ได้ โจทย์ที่เป็นโจทย์ของสังคมไทยจะไม่ใช่โจทย์ความรุนแรงทางการเมืองเป็นเรื่องผิดถูก แต่กลายเป็นโจทย์ว่าความรุนแรงทางการเมืองถูกใช้โดยใคร ถ้าถูกใช้ในฝ่าย ที่เราเห็นด้วยความรุนแรงนั้นถูก แต่ถ้าความรุนแรงถูกใช้ในฝ่ายที่เราไม่เห็นด้วยความรุนแรงนั้นผิด ตรงนี้ผมคิดว่า มันเป็น ปัญหาที่ท้าทายไม่ใช่เรื่องทางการเมืองอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องทางจริยธรรมด้วย”

จากเหตุการณ์ในอดีตจวบจนปัจจุบัน ภาพความรุนแรงและการใช้อำนาจรัฐ ยังคงเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่สังคมทุกภาคส่วนต้องร่วมกันตีความและบูรณาการปัญหา เพื่อนำไปสู่บทสรุป แห่งทางออกที่เท่าเทียม

ที่มา.สยามธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น