มติชนออนไลน์
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในการสัมมนาทางวิชาการเมื่อเร็วๆ นี้ เสี่ยใหญ่ของบริษัทค้าขายทางเกษตรกรรมได้เสนอแนะว่า ประเทศไทยควรลดพื้นที่ปลูกข้าวลง จาก 67 ล้านไร่ (หรือ 64 ล้านไร่ในการคำนวณของบางสำนัก) ให้เหลือเพียง 42 ล้านไร่ แล้วหันไปปลูกยางพารา, อ้อย และมันสำปะหลังแทน เพราะพืชทั้งสามตัวนี้มีคู่แข่งในตลาดน้อย จึงเป็นที่ต้องการมากกว่า
ถ้าลดพื้นที่ปลูกข้าวลง ชาวนาก็จะขายข้าวได้ราคาดีขึ้น ซ้ำความเสี่ยงในการผลิตก็จะหมดไป เพราะพื้นที่ซึ่งเหลือสำหรับปลูกข้าวจะอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีชลประทานทั้งสิ้น
ฟังดูดี และน่าทำ ประหนึ่งว่าปัญหาของเกษตรกรจะได้รับการแก้ไขให้หมดไปอย่างง่ายดาย แต่ขอให้พิจารณาข้อเสนอนี้อย่างละเอียดว่า ปัญหาของใครกันแน่ที่จะได้รับการแก้ไข
อันที่จริงข้อเสนอนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งนักวิชาการหรือแม้แต่นักการเมืองได้พูดเรื่องนี้มากว่า 50 ปีแล้ว (คือตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก่อนนโยบายพัฒนาของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เสียอีก) เรียกว่าความพยายามจะสร้างความหลากหลาย (diversification) ด้านการผลิตทางเกษตรกรรมของไทย แทนที่จะผลิตข้าวเป็นหลัก ควรหันไปปลูกพืชอื่นๆ ซึ่งมีราคาดีในตลาด และว่าที่จริงการสร้างความหลากหลายด้านเกษตรกรรม ก็ขยายตัวอย่างกว้างขวางเพื่อตอบสนองการเกษตรเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้น ซึ่งนโยบายพัฒนาของสฤษดิ์นำมา เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่ทำในพื้นที่ซึ่งเปิดใหม่ ไม่ใช่ในท้องนาเดิม
แล้วอะไรเกิดขึ้นแก่เกษตรกรที่หันไปปลูกพืชเศรษฐกิจเหล่านั้นก็ทราบกันดีอยู่แล้ว จะเดินหน้าต่อไปก็มีแต่ความล่มจมซ้ำแล้วซ้ำอีก ครั้นจะถอยหลังกลับก็ไม่มีที่ให้ถอย มีเกษตรกรเพียงน้อยราย เช่น ท่านผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิมเท่านั้น ที่สามารถถอยกลับมาสู่การผลิตแบบพึ่งตนเองได้
โดยสรุปก็คือ การแก้ปัญหาของเกษตรกรไทยด้วยข้อเสนอแบบฉับเดียวเช่นนี้ ยิ่งก่อให้เกิดความทุกข์ยากแก่เกษตรกรมากขึ้นไปอีก เพราะไม่มองปัญหาของเกษตรกรอย่างครบวงจร
ในทุกวันนี้ มีเกษตรกรไทยราว 1.5 ล้านครัวเรือนที่ไม่มีที่ทำกินหรือมีไม่พอ ซ้ำยังมีที่ดินการเกษตรอีก 30 ล้านไร่เศษที่เป็น NPL และ NPA ในธนาคาร ฉะนั้น มาตรการของนักการเมืองที่เอาที่ป่ามาแจกเกษตรกรในรูปต่างๆ จึงไม่ได้แก้ปัญหานี้เลย การที่คนทำเกษตรแต่กลับเข้าไม่ถึงทรัพยากรที่ดิน อันเป็นทรัพยากรการผลิตพื้นฐานเช่นนี้ เป็นปัญหาใหญ่ซึ่งไม่อาจแก้ได้ด้วยการลดพื้นที่ปลูกข้าว แล้วหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น
เกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้สิน เฉลี่ยประมาณ 1.7 แสนบาทต่อราย นับตั้งแต่ปี 2548 ที่รัฐบาลพยายามซื้อหนี้เกษตรกร จนถึงปัจจุบันได้ซื้อไปแล้ว 1.2 หมื่นราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 6.3 ล้านราย เกษตรกรเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ก็เป็นปัญหาใหญ่อีกเช่นกัน แม้มี ธ.ก.ส.มาหลายทศวรรษแล้ว เกษตรกรที่ไร้หลักทรัพย์ก็ยังเข้าไม่ถึง ซ้ำร้ายเกษตรกรที่ได้รับเงินกู้จาก ธ.ก.ส. มักไม่ได้รับเป็นตัวเงิน แต่ต้องรับเป็นปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลงแทน ใครกันเล่าได้ประโยชน์จากการเปิดช่องเล็กๆ นี้ให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินกู้
ในขณะเดียวกัน เกษตรกรไทยก็แทบจะไม่มีอำนาจต่อรองในตลาด เพราะไม่เท่าทันกับการทำธุรกิจแบบเอาเปรียบของบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่บ้าง เพราะไม่มีทุนพอจึงต้องถูกริบพืชผลไปทันทีที่เก็บเกี่ยวบ้าง ฯลฯ ฉะนั้นยิ่งทำเกษตรก็ยิ่งจนลง ในขณะที่เกษตรกรไทยมีหนี้สินล้นพ้นตัว บริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดทางด้านการเกษตร 3 บริษัทแรกได้กำไรประมาณ 1.5 แสนล้านบาทใน พ.ศ.2451
การผลักดันและบังคับโดยทางอ้อมให้การผลิตด้านการเกษตรของไทยกลายเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้น ทำให้เกษตรกรต้องพึ่งทั้งปุ๋ย, ยาฆ่าแมลง และยาปราบวัชพืชอย่างหนัก จากบริษัทที่หากำไรด้านการเกษตร นอกจากทำลายระบบนิเวศของไร่นาอย่างร้ายกาจ จนกระทั่งการลงทุนมีแต่จะต้องเพิ่มขึ้นทุกปีแล้ว ผลสำรวจยังพบว่า 70% ของเกษตรกรไทยมีสารพิษตกค้างในเลือดถึงระดับอันตราย
สถานการณ์ของเกษตรกรไทยเป็นดังกล่าวนี้ จึงไม่มีลูกหลานเกษตรกรใดต้องการสืบทอดอาชีพของบรรพบุรุษอีก แม้ในทุกวันนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ก็มีชีวิตรอดมาได้เพราะเงินที่ลูกหลานซึ่งออกจากภาคเกษตรแล้ว ส่งมาช่วย
(สถิติทั้งหมดนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์)
เกษตรกรไทยตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ก็เพราะ (ถูกชักนำหรือถูกบังคับ) ให้เข้าสู่ตลาดโดยไม่พร้อม ตัวเองก็ไม่พร้อม รัฐก็ไม่ทำให้ตลาดหรือทุนและเงื่อนไขทางธุรกิจพร้อม ซ้ำยังสร้างเงื่อนไขทั้งทางการเมืองและกฎหมายที่ทำให้เกษตรกรต้องแพ้ในการแข่งขันเสมอ ทั้งนี้เพราะนับตั้งแต่เราเปิดประเทศด้วยสนธิสัญญาเบาว์ริงเป็นต้นมา นโยบายการเกษตรของรัฐบาลไทย คือนโยบายที่จะทำเงินจากการส่งออกพืชผล ไม่เคยมีนโยบายการเกษตรเพื่อเกษตรกรเลยจนถึงทุกวันนี้
ข้อเสนอของเสี่ยให้ใช้พื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น นอกจากไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดแล้ว ยังเป็นนโยบายที่ไม่เคยช่วยให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ทำให้บริษัทที่ค้าขายด้านการเกษตร บริษัทส่งออกพืชผลการเกษตร และบริษัทแปรรูปพืชผลการเกษตร รุ่มรวยขึ้นอย่างสุดจะคณานับต่างหาก
หากเราไม่ทำอะไรเลย และไม่จำเป็นต้องมีข้อเสนออะไรจากเสี่ยๆ การเกษตรเลย ในไม่ช้าเกษตรกรรมก็จะหลุดจากมือเกษตรกรรายย่อยไปโดยสิ้นเชิงอยู่แล้ว เวลานี้อายุเฉลี่ยของเกษตรกรไทยคือเกิน 50 ปี แถมอมโรคจากสารเคมีของเสี่ยอีกบานเบอะ ลูกหลานของเขาย่อมดิ้นสุดฤทธิ์ให้พ้นไปจากอาชีพเกษตรกรรม ในที่สุดผู้ที่จะเหลือรอดอยู่ในเกษตรกรรมได้ ก็คือบริษัทของเหล่าเสี่ยๆ และเกษตรกรรวยซึ่งมีอยู่น้อยราย (และไม่แน่ด้วยว่า เกษตรกรรวยจะเหลือรอดไปได้อีกนานเท่าไร หากต้องเผชิญการแข่งขันตรงๆ จากบริษัทยักษ์ใหญ่ ท่ามกลางเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เอื้อต่อเสี่ยจนหมดประตูเช่นนี้)
ถึงตอนนั้นแล้ว เสี่ยจะทำอะไรกับการเกษตร เสี่ยย่อมไม่ลงทุนกับพืชที่มีการแข่งขันสูงเช่นข้าว แต่อาจลงทุนกับพืชที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า เช่น ยางพารา หรือพืชพลังงาน เช่น ปาล์มหรือมันสำปะหลัง จนกว่าราคาข้าวจะเริ่มเขยิบขึ้นมา ถึงตอนนั้นเสี่ยก็อาจไม่จำเป็นต้องเข้ามาเสี่ยงกับการผลิตข้าวโดยตรง หากผลิตโดยการทำเกษตรเชิงพันธสัญญา เพราะข้าวเป็นพืชที่ตอบสนองต่อการเพาะปลูกแบบประณีตได้สูง การลงทุนแบบไร่นาขนาดใหญ่กลับมีผลิตภาพน้อยกว่า นอกจากนี้การทำเกษตรเชิงพันธสัญญาให้กำไรแก่เสี่ยสูงมากด้วย
ถึงตอนนั้นแล้ว ชะตากรรมของคนประมาณ 12 ล้านคนในภาคเกษตรเวลานี้จะเป็นอย่างไร? ส่วนหนึ่งที่ยังคงตกค้างอยู่ในไร่นา คือลูกจ้างของบริษัทยักษ์ใหญ่ ไม่ใช่ลูกจ้างโดยตรงก็เป็นลูกจ้างโดยอ้อมผ่านพันธสัญญาที่ทำไว้กับบริษัท ส่วนที่เหลือซึ่งมีจำนวนมากกว่า ต้องหลั่งไหลเข้าเมือง ไปสู่อาชีพเก็บขยะ, และแรงงานไร้ฝีมือในภาคบริการ, การค้า, การขนส่งและอุตสาหกรรม
กดให้ราคาแรงงานต้องต่ำตลอดไป
ประเทศไทยจะมีความมั่นคงด้านอาหารสักเพียงใดในตอนนั้น ก็ยากที่จะคาดเดาได้ แม้ว่าเงินจากภาคเกษตรของไทยในจีดีพีอาจเพิ่มขึ้นเกิน 20% ก็ตาม
ยิ่งแทนที่จะคิดถึงความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ แต่คิดถึงความมั่นคงด้านอาหารของครอบครัวไทย ก็ยิ่งน่าวิตก
อำนาจต่อรองของเกษตรกรไทยในตลาดนั้นอาจพูดได้ว่าเป็นศูนย์ แต่อำนาจต่อรองทางการเมืองของเกษตรกร (หมายถึงผู้ผลิต ไม่ใช่บริษัท) ก็ยังแทบเป็นศูนย์เหมือนกัน
เขาไม่มีพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองไทยไม่เคยเป็นตัวแทนของคนกลุ่มใด นอกจากนักเลงท้องถิ่นและนายทุนที่จ่ายเงิน "ซื้อ" เป็นคราวๆ ไป เขาแทบจะไม่มีสื่อของตนเอง ที่พอมีอยู่บ้างก็ไม่ "ดัง" พอจะไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะได้ ภาคอุตสาหกรรมและการเงินไม่ได้เชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรม ฉะนั้น จึงไม่เป็นธุระที่จะต่อรองทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของเกษตรกร
และอย่างที่ทราบกันอยู่แล้ว ด้วยอุปสรรคหลายประการ เกษตรกรรายย่อยของไทยไม่ได้รวมตัวกันเพื่อต่อรอง ไม่ว่าจะเป็นการต่อรองในตลาดหรือในทางการเมือง
ฉะนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับอำนาจต่อรองของเสี่ยบริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเกษตรแล้ว จึงเทียบกันไม่ได้เลย หากใครสามารถเปิดบัญชีจ่ายเงินเดือนของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งได้ จะตระหนก เพราะผู้ที่รับเงินเดือนจากบริษัทในฐานะที่ปรึกษาระดับต่างๆ นั้น มีตั้งแต่บุคคลในตำแหน่งสูงมากๆ ไปจนถึงนักการเมืองอีกจำนวนมาก ข้าราชการในกระทรวงเกษตรฯ, ทรัพยากร, คลัง, และพาณิชย์อีกจำนวนมาก รวมแม้แต่บุคคลในอาชีพสื่ออีกหลายฉบับ
ทั้งนี้ ยังไม่นับ "ลูกไร่" จำนวนอีกหลายหมื่นทั่วประเทศ
นโยบายการเกษตรของไทยซึ่งมุ่งมั่นแต่การส่งออก โดยไม่เหลียวแลเกษตรกรตลอดมา กำลังถูกบีบให้แคบลงเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเกษตรมากขึ้นทุกที
***********************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น