ในสัปดาห์นี้ มีสองเรื่องที่ต้องนำมาวิเคราะห์เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติ เรื่องหนึ่งคือกรณีศาลอุทรณ์มีคำพิพากษาสุดท้ายให้ส่ง นายวิคเตอร์ บูท ชาวรัสเซีย นักค้าอาวุธสงครามข้ามชาติ หรือ “นายหน้าค้าความตาย” ให้สหรัฐตามที่ร้องขอ ในฐานะเป็นคดีอาชญากรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องการเมือง กับเรื่องที่สองคือ กรณีฮุนเซนประกาศว่า ทักษิณถอนตัวออกจากการเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลกัมพูชาและที่ปรึกษาส่วนตัวของฮุนเซน ทำให้บรรยากาศทางการเมืองระหว่างสองประเทศดีขึ้น บางคนอาจมองว่า สองเหตุการณ์เป็นคนละเรื่อง แต่ในเชิงการเมืองระหว่างประเทศ ไม่มีอะไรที่แยกจากกันอย่างเด็ดขาด สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นคนละเรื่องเดียวกันก็ได้
ในกรณีของนายวิคเตอร์ บูทนั้น แม้เป็นคดีอาชญากรรมข้ามชาติ แต่กลายเป็นเกมศักดิ์ศรีระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ไทยเป็นประเทศเล็ก ๆ อยู่ระหว่างเขาควายซี่งถูกกดดันจากยักษ์ใหญ่ทั้งสอง ไทยจะทำอย่างไร วิธีที่ดีที่สุดคือปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไปจนคดีสิ้นสุด แน่นอน ไม่ว่าศาลจะตัดสินสุดท้ายออกมาอย่างไร ย่อมมีฝ่ายหนึ่งพอใจและอีกฝ่ายไม่พอใจ แต่ทุกฝายต้องเคารพคำตัดสินของศาลสถิตยุติธรรมของไทยซึ่งมีมาตรฐานสากลที่ไม่มีใครสามารถแทรกแซง หรือกดดันได้
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะหลังนี้ รัสเซียค่อนข้างเอาใจประเทศไทยและมีความใกล้ชิดกับไทยมาก เพราะรัสเซียต้องการมี “ที่ยืน” ในภูมิภาคนี้ รัสเซียต้องการกลับมามีบทบาทในภูมิภาคนี้อีกครั้งหลังจัดการปัญหาภายในประเทศได้เรียบร้อยพอสมควรแล้ว รัสเซียแสวงหาการสนับสนุนจากไทยโดยเฉพาะช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน นี่เป็นผลประโยชน์สำคัญยิ่งกว่ากรณีของนายบูท แต่ สิ่งที่ต้องวิเคราะห์กันต่อไปคือ เมื่อรัสเซียเสียหน้าเช่นนี้ รัสเซียจะทำอะไรกับไทยหรือไม่อย่างไร
บางคนอาจตั้งคำถามว่า รัสเซียจะใช้คุณทักษิณซึ่งบินไปรัสเซียบ่อยครั้งและมีความใกล้ชิดกับรัสเซียระดับหนึ่ง เป็นเบี้ยกดดันรัฐบาลไทยได้หรือไม่ วิเคราะห์แล้วเห็นว่า รัสเซียไม่น่าทำเพราะรัสเซียน่าจะให้ความสำคัญกับรัฐบาลไทยมากกว่าคุณทักษิณที่โอกาสจะกลับมายิ่งใหญ่ในไทยนั้นน้อยมาก ดีไม่ดีถ้ารัสเซียดีดลูกคิดแล้วตกลงใจว่า ต้องเอารัฐบาลอภิสิทธิ์มากกว่าคุณทักษิณ รัสเซียอาจกดดันไม่ให้คุณทักษิณก่อกวนรัฐบาลไทยต่อไปหากยังคิดทำธุรกิจหรือไปรักษาตัวในรัสเซียด้วยซ้ำ ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ละประเทศรวมทั้งรัสเซียมีทางเลือกหลายทาง ผู้นำจะคิดถึงผลประโยชน์ที่ได้มากกว่า และผลเสียที่น้อยกว่า ทั้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคต
สำหรับปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น มีสองเรื่องหลัก คือ (1) ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา (2) ปัญหาปราสาทพระวิหาร ในเรื่องแรกนั้น ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์เกิดขึ้นเมื่อฮุนเซนแต่งตั้งคุณทักษิณเป็นที่ปรึกษาและไม่ยอมส่งตัวคุณทักษิณตามกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งรัฐบาลไทยถือว่า รัฐบาลกัมพูชาไม่เคารพต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงเรียกเอกอัครราชทูตไทยประจำพนมเปญกลับกรุงเทพ รัฐบาลไทยได้ตั้งเงื่อนไขไว้ว่า หากต้องการให้ไทยส่งทูตกลับพนมเปญ ฮุนเซนต้องเลิกการแต่งตั้งคุณทักษิณเป็นที่ปรึกษา การที่คุณทักษิณไม่ได้เป็นที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชาและฮุนเซนอีกต่อไปจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มโดยฮุนเซนหรือคุณทักษิณก่อนก็ตาม แต่สุดท้ายทั้งสองคนก็เห็นพ้องกัน เท่ากับทำให้เงื่อนไขของรัฐบาลไทยหมดไป ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศกำลังได้รับการฟื้นฟูเข้าสู่ระดับปกติ
มีความเป็นไปได้มากว่า ฮุนเซนน่าจะถูกกดดันจากชาติมหาอำนาจที่มีอิทธิพลต่อกัมพูชาไม่มากก็น้อย และเป็นมหาอำนาจที่ฮุนเซนหรือคุณทักษิณ หรือทั้งสองคนต้องให้ความเกรงใจ เพราะการที่คุณทักษิณเงียบหายไปเป็นเวลานานซึ่งผิดปกติ กับการที่ฮุนเซนประกาศให้ทักษิณพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษา เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มหาอำนาจที่ว่านั้นอาจเป็นชาติเดียวหรือมากกว่าหนึ่งชาติ และอาจเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคหรือนอกภูมิภาคที่ได้ประโยชน์จากความร่วมมือของรัฐบาลไทยในการปราบปรามกลุ่มอาชญากรรมของประเทศนั้นที่มาใช้ไทยเป็นฐานและสร้างความเสียหายให้กับประเทศของเขา ย่อมคิดช่วยเหลือไทยไม่มากก็น้อยในประเด็นที่เป็นปัญหาของไทยหรือที่ไทยร้องขอเป็นการตอบแทน
ดังนั้น ปัญหาระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์และฮุนเซนจึงเหลืออยู่เพียงเรื่องเดียว คือ ปัญหาปราสาทพระวิหาร หากคุณอภิสิทธิ์และฮุนเซนซึ่งจะไปประชุมสุดยอดอาเซมที่กรุงบรัสเซล มีโอกาสที่จะพบปะเจรจากันสองต่อสอง เราหวังว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศน่าจะดีขึ้นอีก หากฮุนเซนมีความจริงใจที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นจริง ฮุนเซนต้องเคารพต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยด้วยการส่งตัวผู้ก่อการร้ายที่ถูกออกหมายจับโดยศาลไทยและหลบหนีไปอยู่กัมพูชากลับมาดำเนินคดีในไทย หรือผลักดันให้ออกจากเขมร
สำหรับเขาพระวิหารนั้น รัฐบาลและคนไทยต้องมีจุดยืนเดียวกัน เขาพระวิหารเป็น “มรดกบาป” ที่ตกทอดมาจากยุคล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส จุดยืนของรัฐบาลไทยและคนไทย คือ (1) ประเทศไทยและประชาชนไม่เคยยอมรับว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ไทยเพียงยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติที่จะต้องปฏิบัติตามพันธะกรณีในกฎบัตรสหประชาชาติเท่านั้น (2) ไทยต้องไม่ละทิ้งข้อสงวนสิทธิ์อันชอบธรรมในเรื่องนี้ ที่จะดำเนินการตามกฎหมายที่จำเป็นที่อาจจะมีขึ้นในภายหน้าเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ตัวปราสาทกลับมาอีกในโอกาสอันควร (3) ไม่มีพื้นที่ทับซ้อนเพราะไม่มีการทับซ้อนของอำนาจอธิปไตย ไทยยืนยันว่า พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของไทย (4) หาทางผลักดันชุมชนเขมรออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม. (5) ไม่ยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเขตแดนทางบกอื่น ๆ และเขตแดนทางทะเล (6) ยืนยันการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีในรูปแบบทวิภาคี (6) เผยแพร่ข้อเท็จจริงและจุดยืนให้คนไทยได้รับทราบ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ช่วงฝรั่งเศสคุกคามประเทศไทยแบบหมาป่ากับลูกแกะ อันส่งผลมายังความอยุติธรรมที่ตามมาหลายประการ
คนไทยควรตระหนักว่า ไทยไม่ได้สู้กับเขมร แต่เราสู้กับฝรั่งเศส และเจ้าลัทธิอาณานิคมทั้งหลายตั้งแต่ปี 2505 และปี 2553 ที่ศาลโลกตัดสินในทางที่เป็นประโยชน์แก่เขมรก็เป็นฝีมือของฝรั่งเศสและนักล่าอาณานิคมทั้งหลาย ภาคประชาชนต้องเปิดโปงพฤติกรรมของฝรั่งเศสซึ่งรังแกไทย ข่มขู่ไทยชนิดที่มหาอำนาจยุโรปอื่นในขณะนั้นยังรับไม่ได้ ให้โลกได้รับรู้ และเรียกร้องให้ฝรั่งเศสขอโทษคนไทย เหมือนที่ญี่ปุ่นขอโทษประชาชนเกาหลีใต้และจีน ที่ได้ฆ่า ข่มขืนคนเกาหลีและคนจีนอย่างเหี้ยมโหดระหว่างสงคราม หรือคล้ายกับออสเตรเลียขอโทษพวกอะบอริจิน แม้ฝรั่งเศสไม่ได้ฆ่าคนไทยอย่างเหี้ยมโหด แต่ฝรั่งเศสข่มขืนใจคนไทยอย่างเหี้ยมโหดโดยเอาดินแดนไปจากคนไทยตามอำเภอใจ
ที่มา.ไทยนิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น