--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

"ไชยยันต์ ไชยพร"เฮ! ศาลพระโขนงตัดสินยกฟ้องคดีฉีกบัตรเลือกตั้ง 2 เมษายน

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549    ณ  หน่วยเลือกตั้ง 62 เขตเลือกตั้งที่ 21 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ แขวง-เขตสวนหลวง กทม. เมื่อเวลา 09.30 น. นายไชยยันต์ ไชยพร อายุ 47 ปี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บัญชีหมายเลข 96 ได้เดินเข้าคูหาลงคะแนน และกาช่องไม่เลือกใคร ก่อนเดินถือบัตรลงคะแนนออกมาให้สื่อมวลชนดู
    
"ผมขอทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง" จากนั้นจึงฉีกบัตรเลือกตั้ง และยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยเลือกตั้ง สน.ประเวศ 2 นาย เดินมาควบคุมตัวแต่โดยดี ทั้งสองฝ่ายต่างยิ้มให้กันอย่างเป็นกันเอง ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากที่มาใช้สิทธิปรบมือโห่ร้องให้กำลังใจ รวมถึงนายยืนยง โอภากุล หัวหน้าวงคาราบาว ซึ่งมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

จากนั้น นายไชยยันต์ขออ่านแถลงการณ์ที่เตรียมมาจำนวน 4 แผ่น ให้ผู้สื่อข่าวฟัง โดยตำรวจทั้งสองคนก็ยินยอมแต่โดยดี มีใจความโดยสรุปว่า "ระบอบทักษิณ" ได้ยักยอก และยึดครองประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิงแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการลงมติรับรองผู้นำเผด็จการเท่านั้น การยุบสภาที่เกิดขึ้นทำไปเพื่อประโยชน์ของคนคนเดียวที่ไม่ยอมรับการตรวจสอบปัญหาคอร์รัปชั่นและผลประโยชน์ที่ทับซ้อนที่ได้กระทำไป ในสถานการณ์เผด็จการจำแลงเช่นนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เล็งเห็น และให้สิทธิพื้นฐานแก่ชนชาวไทยไว้แล้ว ในมาตรา 65 จึงขอปฏิเสธหน้าที่พลเมืองที่กำหนดไว้ในกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อรักษาสิทธิเสรีภาพโดยฉีกบัตรเลือกตั้ง


"คดีนี้ผมจะเรียนต่อเจ้าพนักงานว่า ผมขอสู้คดีในชั้นศาล โดยจะไม่ยอมรับการเปรียบเทียบปรับใดๆ โดยจะขอต่อสู้คดีนำสืบให้ศาลเห็นถึงการใช้อำนาจยุบสภาโดยบิดเบือนจากวิถีทางในรัฐธรรมนูญเป็นลำดับไป และขอยืนยันว่า ผมไม่ได้ป่วยทางจิต" นายไชยยันต์ระบุ


ผ่านมา 4 ปี  คดีนายไชยยันต์ ไชยพรฉีกบัตรเลือกตั้ง ศาลจังหวัดพระโขนง ได้นัดฟังคำพิพากษา  ในวันที่29 ตุลาคม เวลาบ่าย   โดยก่อนหน้านี้ นายไชยยันต์ ได้ร้องขอความเป็นธรรม ต่ออัยการสูงสุด  แต่ที่สุด อัยการ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดพระโขนง เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2553  

ล่าสุด ศาลจังหวัดพระโขนง ได้ตัดสินยกฟ้องนายไชยยันต์ ไชยพร ในคดีฉีกบัตรเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งสร้างความยินดีให้แก่นายไชยยันต์

ก่อนหน้านี้  นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและอดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ผมไม่ได้เป็นพยานในคดีดังกล่าว แต่ได้ให้คำปรึกษานายไชยยันต์ ในการสู้คดี สำหรับแนวทางการต่อสู้คดีมี 2 ประเด็น ประกอบด้วย 1) สู้ตามกฎหมายเลือกตั้งว่าไม่มีความผิด เพราะมีแนวฎีกาว่า บัตรเลือกตั้งที่ห้ามทำให้เสียหาย หมายถึงบัตรที่กาลงคะแนนและอยู่ในหีบบัตรเลือกตั้งแล้ว แต่หากยังไม่ลงคะแนน ก็เป็นบัตรของเรา ซึ่งในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีแนวฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยเอาไว้ 2) สู้ว่าเป็นสิทธิที่ทำได้ ตามรัฐธรรมนูญ เพราะการยุบสภาไม่ถูกต้อง การเลือกตั้งครั้งนั้นไม่ถูกต้อง จึงอยู่ในการต่อสู้แบบอารยขัดขืน ไม่ได้ทำให้ใครเสียหาย "

 แหล่งข่าวในวงการนักกฎหมายมหาชน เปิดเผยว่า  คดีนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในประเด็นกระบวนการยุติธรรมจะเป็น 2 มาตรฐานหรือไม่  เพราะคดีฉีกบัตรเลือกตั้งมีแนวคำพิพากษาที่แตกต่างกันมาก


*******************************************************************************
ที่มา: มติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น