ศาลรัฐธรรมนูญถูกตาชั่ง-ลูกตุ้มแห่งความยุติธรรมเหวี่ยงด้วยจังหวะที่เร่งร้อน
เมื่อปรากฏภาพคลิปวิดีโอ 5 ชุด เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต
ภาพและเสียงทั้ง 5 ตอน ถูกตัดต่อ เชื่อมโยง กระทบภาพลักษณ์แห่งองค์กรอิสระ กระเทือนไปถึงพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค
ชื่อ นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ เลขานุการส่วนตัว ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากนายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ถูกเอ่ยนามทั้งใน-นอกศาล
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 ที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ณ บ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (พุ่ม ศรีไชยันต์) เลขที่ 326 ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ใช้เวลาประชุมกว่า 2 ชั่วโมง ในการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางกระแสข่าวภายนอกที่คาดการณ์ว่า ตำแหน่งดังกล่าวน่าจะเป็นชื่อนายจรัญ ภักดีธนากุล
ขณะที่คนในวงการตุลาการ โดยเฉพาะเพื่อนร่วมรุ่นนิติศาสตร์ (ธรรมศาสตร์) ซึ่งมีบทบาทในองค์กรอิสระมาก่อนหน้า ทำนายฟันธงไว้ก่อนล่วงหน้าว่า ผลการลงมติเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญ ต้องออกมาเป็นนายชัช ชลวร แน่นอน
ด้วยกิตติศัพท์ที่รู้กันในวงการตุลาการว่า "นายชัช" ผู้นี้ไม่ธรรมดา แม้ชื่อเสียงใน วงกว้างจะไม่ได้เป็นที่รู้จักของชาวบ้านร้านตลาดมากเท่ากับ นายจรัญ ภักดีธนากุล ผู้มีอดีตเป็นถึงปลัดกระทรวงยุติธรรม
ระหว่างสุญญากาศอำนาจ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญอยู่บนฤดูการผลัดเปลี่ยนคณะตุลาการชุดใหม่ มีนักกฎหมาย- ทีมงานของตุลาการติดตามเป็นเงาตาม ตัวว่าที่ผู้มีอำนาจ
เมื่อสปอตไลต์ฉายไปจับว่าที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ระหว่างรอการ โปรดเกล้าฯ อำนาจจากทุกฝ่ายต่าง เคลื่อนตัวเข้าหาผู้มีบารมีหมายเลข 1 ในวงการยุติธรรม
ขณะนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเคร่งครัดเรื่องมาตรการการรักษาความปลอดภัยของสำนักงานอย่างยิ่ง ทำให้ "แขก" ของท่านประธานศาลต้องติดต่อผ่าน "เงา" ตามตัวของท่าน ที่ชื่อ นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์
บุคคลที่ต้องการเข้าใกล้ "ประธาน" ได้รับการประสานว่า ให้ติดต่อผ่าน "นายพสิษฐ์"
บทบาท-ภาพลักษณ์ของ "นายพสิษฐ์" เป็นที่ประจักษ์แก่สายสาผู้พบเห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมว่า "มีอำนาจ"
นอกจากหน้าที่ "เลขานุการส่วนตัว" เขามีหน้าที่หลักในวง "แถลงข่าว" กิจการ-คดีของศาลรัฐธรรมนูญด้วย
ภาพที่ถูกฉายซ้ำ คือ "นายพสิษฐ์" นั่งเป็น "ตัวจริง" อยู่ตรงกลางเวที ขนาบซ้าย-ขวาด้วยคนมีตำแหน่งจริง อย่าง "นายเชาวนะ ไตรมาส" เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วย "นายปัญญา อุดชาชน" รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเลขาธิการและรองเลขาธิการ
เท่านั้นยังไม่พอ "นายพสิษฐ์" ในฐานะเลขานุการประธานศาล ยังมักสวมบทเป็นผู้ดำเนินรายการหน้าเวที ด้วยการจัดคิวให้เลขาธิการสำนักงานตอบคำถามนี้ หรือชี้ให้รองเลขาธิการสำนักงานชี้แจงปัญหาโน้นอยู่บ่อยครั้ง
ยังไม่นับรวมข้อมูลอีกชุดที่โจษขานกันว่า "นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์" อดีตเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ จำต้อง ขยับขยายออกจากศาลรัฐธรรมนูญ เพราะ ฤทธิ์เดชของเลขานุการผู้มากบารมีที่ชื่อ "พสิษฐ์"
ข่าวใน-นอกศาลวิจารณ์กันขรมว่า ปฐมเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างอดีตเลขาธิการสำนักงานกับอดีตเลขานุการประธานศาล อาจมาจากเรื่องในตาราง งบประมาณ
นอกจากสถานะบนดิน เปิดหน้า ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เขายังใช้ตำแหน่งเช่นนี้ปฏิบัติการ เชื่อมโยงเครือข่ายไปยัง องค์กรอิสระที่มีคดีเกี่ยวพัน ทั้งจากสำนักงาน กกต. เครือข่ายเพื่อนร่วมรุ่นนิติศาสตร์ของ "นายชัช" ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ
1 ในภารกิจลับของเขา คือการนัดพบ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นทีม กฎหมายในคดียุบพรรค ที่ทั้งฉากและ เนื้อเรื่องถูกถ่ายทอดเพิ่มเติมจากคน ในพรรคเพื่อไทย ไปจนถึงเว็บไซต์สาธารณะ
ปรากฏการณ์ความเสื่อมถูกวิเคราะห์ วิจารณ์จากวงการนักฎหมายว่า การแต่งตั้งบุคคลที่มีบทบาทใกล้ชิดผู้เป็นประมุขหมายเลข 1 แห่งบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์นั้น ย่อมมีความไม่เหมาะสมด้วยเหตุประการทั้งปวง
คดีความที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ส.ส. และ ส.ว. ต่างถูกนำมาถกเถียง สนทนา ตั้งสมติฐานว่า อาจมีเรื่องลึก-ลับ เคลื่อนไหวอยู่เบื้องหลังอีกหรือไม่
ผลการปรากฏตัวของคนใกล้ชิดประธานศาลรัฐธรรมนูญถูกตีความจากนักการเมืองฝ่ายค้าน ด้วยตรรกะที่ไม่เหนือความคาดหมาย ว่าอาจส่งผลให้คดี ยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบทางอ้อม
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
*********************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น