โดย หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน
ในอดีตที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ถูกประณามว่าเหมือนปลิงดูดเลือด และถือเป็นธุรกิจที่มีอิทธิพลอย่างมากกับเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีกำไรมากที่สุด นายแบงก์เหมือนพระเจ้าที่ลูกค้าต้องอ้อนวอนเพื่อให้ช่วยปล่อยสินเชื่อหรือเงินกู้ แม้ดอกเบี้ยจะแพงแค่ไหนก็ตาม แต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้งธนาคารพาณิชย์ก็ไม่ต่างกับหลายธุรกิจที่เต็มไปด้วยของเน่า ทั้งยังมีการกระทำผิดกฎหมายหลายเรื่อง แต่หลังการปฏิรูปสถาบันการเงิน 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ธนาคารพาณิชย์เริ่มกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง แม้การทำธุรกรรมทางการเงินจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และมีการแข่งขันกันสูง แต่กำไรของธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับสูง
ไม่ว่าจะเป็นยุคโลกาภิวัตน์ ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินยังเป็นตัวกลางสำคัญของเศรษฐกิจ วันนี้ระบบการเงินก้าวสู่ยุคอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมง และทั่วทุกมุมโลก
ปัญหาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอร้องแกมบังคับธนาคารพาณิชย์คือการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมต่างๆให้เป็นธรรมและเหมาะสม หลังพบว่าธนาคารพาณิชย์มีรายได้จากค่าธรรมเนียมปีละหลายหมื่นล้านบาท
ผู้อำนวยการด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ศึกษาข้อเท็จจริงของปัญหาโครงสร้างค่าธรรมเนียมและแนวทางการดำเนินนโยบายของ ธปท. ที่ว่าจ้างทีดีอาร์ไอศึกษาเรื่อง “การแข่งขันในการให้บริการโอนเงินเข้าบัญชีระหว่างธนาคารและบริการฝาก ถอน โอนเงินผ่านเอทีเอ็ม” ระบุว่า ธปท. คิดผิดและไม่ควรชดเชยรายได้ให้ใคร เพราะค่าธรรมเนียมเช็คไม่ควรจะมีเพดาน ไม่ใช่เรื่องที่ ธปท. จะตัดสินใจ ยิ่งให้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมใบเช็คจากปัจจุบันที่เรียกเก็บฉบับละ 15 บาท แม้ต้นทุนจะสูงกว่านั้น แต่ควรให้เกิดการแข่งขันทางการค้า โดยการยกเลิกเพดานค่าธรรมเนียมใบเช็ค ไม่เช่นนั้นธนาคารพาณิชย์จะยังฮั้วกันอีก
มาตรา 27 พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ระบุว่า การกำหนดราคาร่วมกันเป็นความผิด โดยห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นกระทำการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในตลาด ทั้งการกำหนดราคาขายสินค้าหรือบริการเป็นราคาเดียวกัน หรือตามที่ตกลงกัน หรือแม้กระทั่งทำความตกลงร่วมกันเพื่อเข้าครอบครองตลาดหรือควบคุมตลาดถือเป็นความผิด ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าธนาคารพาณิชย์มีพฤติกรรมตกลงค่าธรรมเนียมร่วมกันก่อนเสนอให้ ธปท. อาจเข้าข่ายการกำหนดราคาร่วมกันถือเป็นความผิด ประชาชนที่เห็นว่าได้รับความเสียหายควรจะยื่นฟ้อง
แต่ปัญหาที่สำคัญกว่าโครงสร้างค่าธรรมเนียมคือการสะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันปัญหาธรรมาภิบาลในระบบเศรษฐกิจไทยยังเป็นปัญหาใหญ่ หน่วยงานของรัฐไม่เพียงเพิกเฉย แต่ยังไม่เข้าใจอย่างแท้อีกด้วย
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น