ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
ผลจากการที่ เปิดประเด็นชำแหละสัมปทานโครงการ "ลานจอดรถสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ" 2 โปรเจ็กต์ใหญ่ มูลค่ารายได้รวมกันตลอดอายุสัมปทานเกือบ 1,200 ล้านบาท ตามที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) "ทอท." อนุมัติให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ 2 กลุ่ม
สัมปทานฉาวจากแป้งร่ำถึงปาร์คกิ้ง
กลุ่มแรก บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด กำลังจะได้สัมปทานพื้นที่ลานจอดรถระยะยาว (longterm parking) ขนาด 62,380.50 ตารางเมตร สัญญา 15 ปี พ.ศ. 2553-2568 กำลังจะเริ่มเข้าพื้นที่ 1 กันยายน 2553 แต่ถูกตรวจสอบภายในเวลาอันรวดเร็ว จนกระทั่งที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ชุด นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธาน ต้องเปิดประชุมด่วน
พร้อมมีมติยกเลิกฟ้าผ่าเมื่อ 6 กันยายน 2553 และสั่งย้ายผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง คือ นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณา รายได้ ทอท.ลดตำแหน่งเหลือแค่กรรมการคนหนึ่งเท่านั้น ย้ายนายนิรันดรา ธีรนาถสิน ผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ กับนางดวงใจ คอนดี ผู้ช่วย ผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ ออกจากพื้นที่ แต่งตั้งนายอนิรุทธิ์ ถนอมกุลบุตร ผู้อำนวยการดอนเมืองไปรับตำแหน่ง ผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2553
ระหว่างนั้น "ประชาชาติธุรกิจ" เดินหน้าตรวจสอบสัมปทานโครงการลานจอดรถหน้าอาคารผู้โดยสารเอและบีสุวรรณภูมิ พื้นที่ 1.6 แสนตารางเมตร ซึ่งเดิม ทอท.เคยบริหารจัดการเก็บรายได้เองเป็นเวลา 3 ปีเศษ ระหว่างปี 2549-มีนาคม 2553 ภายหลังเปลี่ยนนโยบายเมื่อปลายกุมภาพันธ์ 2553 เปิดให้เอกชนยื่นประมูล โดยมีผู้ชนะคือ กลุ่มร่วมทุน 2 บริษัท คือบริษัท วี ดับเบิ้ลยู ไอ เอ็น จำกัด กับบริษัท สแตนดาร์ด ดีพรอมพ์ จำกัด สัญญา 5 ปี ระหว่าง 30 เมษายน 2553-31 มีนาคม 2558 ตามข้อตกลงจะต้องจ่ายรายได้ขั้นต่ำค่าบริการรับจอดรถเดือนละ 17.5 ล้านบาท ค่าสมาชิกรายเดือน เดือนละ 4.5-5 ล้านบาท และค่าเช่าพื้นที่อีกประมาณเดือนละ 3-5 ล้านบาท
ช่วงก่อนผู้ชนะประมูลเข้าทำสัญญากับ ทอท.เกิดปมขัดแย้งกันภายในระหว่างกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม (ผู้ถือหุ้น) 3 คน ได้แก่ นายธนกฤต เจตกิตติโชค จับคู่กับนายจุมพล ญาณวินิจฉัย มีปัญหากับนายธรรศน์ พจนประพันธ์ ผู้ที่ทำหนังสือแจ้งความตำรวจราชาเทวะกล่าวหานายธนกฤตปลอมแปลงลายมือชื่อตอน นำบริษัทไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด เพื่อนำมาทำสัญญากับ ทอท. เมื่อ 30 เมษายน 2553 แต่นายธรรศน์ทำหนังสือคัดค้านมายัง ทอท.และขอให้สำนักทะเบียนธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบพร้อมมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนบริษัทดังกล่าว
บทเรียนล้ำค่า ทอท.สูญรายได้นับ 100 ล.
ขณะที่มีปมปัญหาขัดแย้งกันภายในบริษัทของกรรมการ 3 คน ทอท.ได้เซ็นสัญญาให้บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด นำคนเข้ามาบริหารลานจอดรถสุวรรณภูมิ ซึ่งเกิดการแบ่งขั้วปาร์คกิ้งฯเป็น 2 ทีม ทีมแรก นายธนกฤตนำคนเข้าไปเก็บเงินสดจากลูกค้าที่นำรถเข้ามาจอดทุกวัน มีรายได้เฉลี่ยวันละ 8 แสนบาท-1 ล้านบาท ทีมสอง นายธรรศน์เป็นเจ้าของเงินที่นำไปค้ำประกันไว้กับธนาคารกสิกรไทย มูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท (ตามข้อตกลงปาร์คกิ้งฯ จะต้องนำเงินไปค้ำประกันสัญญารายได้ 105,930,000 บาท พร้อมหลักประกันสัญญาเช่าพื้นที่อีก 13,568,880 บาท) แต่กลับไม่มีสิทธิ์เข้าไปเกี่ยวข้องและรับรู้รายได้ตั้งแต่แรกที่เริ่มดำเนินงาน
เป็นชนวนให้นายธรรศน์ยกพวกเข้าไปค้นสำนักงานปาร์คกิ้งฯซึ่งตั้งอยู่ในสุวรรณภูมิ เปิดช่องให้นายธนกฤตไปแจ้งความที่สถานีตำรวจราชาเทวะ อ้างถูกชายฉกรรจ์บุกรุกเข้าไปทำลายทรัพย์สิน จึงถือโอกาสนี้ฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายนายธรรศน์พ่วงเข้าไปด้วยเป็นเงิน 55 ล้านบาท จากนั้นปัญหาความขัดแย้งยิ่งปะทุแรงขึ้น ทุกวัน และถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการไม่จ่ายเงินรายได้รายเดือนให้ ทอท.ตามสัญญา แถมยังระงับไม่ให้ ทอท.คืนเงินค่ามัดจำแก่นายธรรศน์ 20 ล้านบาท แต่นายธรรศน์มอบอำนาจให้สำนักงานกฎหมายอรุณอมรินทร์ทำหนังสือขอเงินดังกล่าวคืน หากไม่คืนจะดำเนินคดีกับ ทอท. ขณะนั้น ผอ.นิรันดร์เองโดนหางเลขถูกนายธนกฤตฟ้องด้วยเช่นกัน
ในอีกทางหนึ่งก็มีกลุ่มบริษัท ซันไชน์ คอปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศจะซื้อหุ้นบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด มาตั้งแต่ช่วงเมษายนและพร้อมจ่ายเงินในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยนำบริษัทในเครือ อาทิ บริษัท เจเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด เข้ามาซื้อด้วยเงินประมาณ 40 ล้านบาท โดยรวมแล้วกลุ่มนี้นำเงินมาลงในปาร์คกิ้งเกือบ 200 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้ไม่มีรายงานว่า ได้รับผลตอบแทนกลับคืนหรือไม่
กระทั่งเมื่อ 23 กรกฎาคม 2553 ผอ.นิรันดร์นำมติของคณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท.ซึ่งเสนอให้ส่งหนังสือถึงธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์ ในฐานะผู้ค้ำประกันเงินโครงการลานจอดรถสุวรรณภูมิ ให้โอนเงินจากบัญชีธนาคารเลขที่ ๕๓-๕๒-๐๐๐๘-๐ จ่ายเป็นเงินรายได้รายเดือนแก่ ทอท.รวม 66,928,310.83 บาท เนื่องจากบริษัท ปาร์คกิ้งฯ ไม่เคยโอนรายได้ดังกล่าวให้ ทอท.ตามข้อตกลงสัญญา และเงินที่โอนมาทั้งหมดนี้ก็ครอบคลุมเฉพาะเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2553 เท่านั้น ยังคงค้างจ่ายเดือนสิงหาคม-กันยายน 2553
ตั้งแต่เริ่มให้เอกชนรับสัมปทานโครงการลานจอดรถอาคาร ผู้โดยสารเอและบีสุวรรณภูมิ ปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างกรรมการ 2 คน คือ นายธนกฤตกับนายธรรศน์ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับ ทอท.มาตลอดทุกเดือน เพราะคู่สัญญาไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงแม้สักข้อเดียว
แต่นายนิรันดร์ ธีรนาถสิน ผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานบอร์ด ยังยืนยันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 30 เมษายน 2553 มาจนถึงกลางเดือนกันยายน 2553 เป็นเรื่องภายในของบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ทอท. จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
บอร์ดเจอต้นตอสั่งเลิกสัมปทาน
ต่อมาในการประชุมบอร์ดเมื่อ 23 กันยายน 2553 นายปิยะพันธ์ ประธานบอร์ด แถลงข้อมูลด้วยท่าทีดุดันถึงนโยบายของบอร์ดที่มีต่อสัมปทานโครงการลานจอดรถสุวรรณภูมิที่ให้แก่บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ยังคงเป็นเรื่องถูกต้องตามระเบียบ เพราะเอกชนได้ทำตามข้อตกลง อาทิ จ่ายรายได้คืนมาจนถึงเดือนกรกฎาคม 2553 เริ่มติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อระบบรายงานยอด รายได้ลานจอดรายวันบ้างแล้ว ยกเว้นการนำเงินค้ำประกันไปใส่ในธนาคารให้ครบตามสัญญา หลังจากถูกหักบางส่วนไป (จาก 105 ล้านบาท โดนหักไป 66 ล้านบาท)
เหตุการณ์มาลุกลามใหญ่โต เริ่มจากวันที่ 24 กันยายน 2553 มีกลุ่มชายฉกรรจ์มาล้อมลานจอดสุวรรณภูมิจำนวนนับ 100 คน ซึ่งถูกระบุว่า เป็นทีมของเสธ.ทหารค่ายใหญ่อย่างน้อย 2 ขั้ว คือ เสธ.ห.กับ เสธ.ย.ได้รับคำสั่งจากกรรมการคนละข้างเข้ามายึดกิจการซึ่งกันและกัน และทีมชายฉกรรจ์ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น เรื่อย ๆ ทุกวัน
รวมถึงมีตัวละครกลุ่มใหม่ของเสธ.อีก 3 กลุ่ม (ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับ 2 กลุ่มแรก) คือ เสธ.ข, เสธ.ฮ.และ เสธ.ต.ในจำนวนนี้เป็นตัวแทนของกลุ่มที่อ้างว่า ได้ซื้อหุ้นปาร์คกิ้งจากกรรมการคนหนึ่งไปหมดแล้ว แถมสูญเงินไปเกือบ 200 ล้านบาท โดยไม่ได้อะไรกลับคืน จึงเข้ามาทวงสิทธิ์ด้วยการยึดเคาน์เตอร์เก็บเงินรายวันเสียเองแทนพนักงานปาร์คกิ้งฯของนายธนกฤต
ช่วงวันที่ 28 กันยายน 2553 นายปิยะพันธ์มีคำสั่งให้ฝ่ายบริหาร ทอท.ทำหนังสือเชิญนายธนกฤตกับนายธรรศน์มาชี้แจงพร้อมกัน แต่ทั้งคู่ไม่มา นายธรรศน์ส่งนางแพรว พจนประพันธ์ มารดา มาเป็นตัวแทนเจรจา จากนั้นวันที่ 29 กันยายน นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต นำคณะเดินทางไปเชียงรายได้เจอกับเหล่าชายฉกรรจ์ในลานจอดด้วยตนเอง
จึงเป็นเหตุให้ต้องมีคำสั่งให้ฝ่ายบริหาร ทอท.ประชุมด่วนเพื่อสรุปการยกเลิกสัมปทานลานจอดของบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด มีผล 11 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น